Skip to main content
sharethis

สื่อตะวันตกรายงานเรื่องที่เวียดนามมีการต่อสู้ทางความคิดการเมืองในโลกออนไลน์เพื่อโต้ตอบกลุ่มต่อต้านรัฐบาล พบมีการใช้ทหารมาแสดงตัวให้ดูเหมือนเป็น "ผู้มีอิทธิพลทางความคิด" หรือที่เรียกว่า "Influencers" ในโลกออนไลน์ ซึ่งในที่นี้เป็นหน่วยที่เรียกตัวเองว่า "กองกำลัง 47"

11 ก.ค. 2564 สำนักข่าวต่างประเทศเผยว่าจากการมอนิเตอร์สื่อของรัฐบาลเวียดนามในระดับจังหวัด และการเนื้อหาที่เผยแพร่ผ่านสถานีโทรทัศน์ช่องกองทัพเวียดนาม ทำให้ได้ทราบเรื่องปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลเวียดนามโดยอาศัยวิธีการตั้งหน่วยที่เรียกว่า "กองกำลัง 47" (Force 47) ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นหน่วยงานของกองทัพเวียดนามใช้ต่อสู้ทางสงครามข้อมูลข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต

หน่วยกองกำลัง 47 นี้ประกอบด้วยทหารหลายพันนายของกองทัพเวียดนามที่นอกจากจะต้องปฏิบัติหน้าที่ทั่วไปของทหารแล้วยังถูกสั่งให้ตั้งกลุ่มและคอยเป็นผู้ดูแลกลุ่มในเฟสบุ๊คที่นำเสนอเนื้อหาในเชิงสนับสนุนรัฐบาลและคอยแก้ไขสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็น "มุมมองที่ผิด" ในโลกออนไลน์ ซึ่งในตอนนี้พวกเขามีกลุ่มและเพจในเฟสบุ๊คหลายร้อยเพจ มีการเผยแพร่บทความและโพสต์เนื้อหาสนับสนุนรัฐบาลเวียดนามหลายพันโพสต์

กลุ่มนักวิจัยด้านโซเชียลมีเดียบอกว่ากลุ่ม ๆ นี้อาจจะเป็นกลุ่มส่งอิทธิพลที่ใหญ่ที่สุดและซับซ้อนที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมันก็มีบทบาทสำคัญต่อความขัดแย้งระหว่างเวียดนามกับเฟสบุ๊คที่กำลังทวีความเข้มข้น

ทางเฟสบุ๊คระบุว่าพวกเขาได้ถอดกลุ่มเฟสบุ๊คกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในข่ายของกองกำลัง 47 ออกไป คือกลุ่มที่เรียกว่า E47 กลุ่มนี้ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้สมาชิกที่มีทั้งทหารและไม่ใช่ทหารในการรายงานโพสต์ที่พวกเขาไม่ชอบ เพื่อให้เฟสบุ๊คถอดโพสต์ที่พวกเขาไม่ชอบออกไป ที่เฟสบุ๊คทำการลบกลุ่ม E47 ออกไปเสียเองเนื่องจากข้อหาที่กลุ่ม ๆ นี้ "พยายามประสานงานกันรีพอร์ทเนื้อหาเป็นหมู่คณะ" ซึ่งในเฟสบุ๊คมีนโยบายต่อต้านการวางแผนรุมรายงานแบบนี้

แต่บัญชีผู้ใช้งานของกองกำลัง 47 และกลุ่มปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารอื่น ๆ ยังคงอยู่ และเนื่องจากที่ผู้คนเหล่านี้เป็นผู้ใช้งานที่ใช้ชื่อตามกฎหมายของตัวเองทำให้ไม่ถือว่าละเมิดนโยบายของเฟสบุ๊ค

ในเวียดนามนั้นต่างจากจีนตรงที่ไม่มีการบล็อกการใช้งานเฟสบุ๊ค เป็นประเทศที่มีผู้ใช้งานจำนวน 60-70 ล้านราย นอกจากนี้ยังนับเป็นช่องทางการค้าออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซที่สร้างรายได้ต่อปีให้กับบริษัทเฟสบุ๊ครวมแล้วประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์

ขณะเดียวกันกลุ่มต่อต้านรัฐบาลก็อาศัยช่องทางเฟสบุ๊คในการสื่อสารทำให้ฝ่ายรัฐบาลต้องดิ้นรนในการถอดเนื้อหาที่พวกอ้างว่าเป็น "การต่อต้านรัฐ" ออก

เวียดนามมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา แต่รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ก็นังคงกุมอำนาจสื่อและไม่เปิดโอกาสให้มีการทักท้วงต่อต้าน ในปี 2563 รัฐบาลเวียดนามใช้วิธีการกดดันเฟสบุ๊คให้ยอมตามด้วยการลดความเร็วการเข้าถึงเว็บเฟสบุ๊คลงให้กลายเป็นช้ามาก เพื่อให้เฟสบุ๊คยอมรับการปิดกั้นเนื้อหาทางการเมืองในเวียดนาม ในอีกหลายเดือนต่อมาทางการเวียดนามก็ขู่จะปิดเฟสบุ๊คในเวียดนามถ้าหากพวกเขาไม่ทำการจำกัดเนื้อหาบางส่วนในเวียดนาม

โฆษกของเฟสบุ๊คกล่าวว่าพวกเขามีเป้าหมายจะทำให้สามารถดำเนินการในเวียดนามได้ต่อไปโดยอ้างว่า "เพื่อให้คนสามารถแสดงออกได้ในจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และสามารถติดต่อกับเพื่อนและดำเนินธุรกิจของพวกเขาได้" และบอกว่าจะเปิดให้ตรวจสอบได้อย่างโปร่งใสในเรื่องการตัดสินใจโต้ตอบการพยายามบล็อกเนื้อหาของเวียดนาม

ขณะเดียวกันการที่เวียดนามไม่ได้บล็อกโซเชียลมีเดียอย่างหนักในระดับเดียวกับจีนก็ทำให้กลายเป็นการเปิดทางสำหรับกลุ่มปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารส่งอิทธิพลต่อความคิดเห็นของประชาชนและเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อของรัฐอย่างกลุ่มกองกำลัง 47 ได้

รัฐบาลเวียดนามไม่ได้กำหนดนิยามอย่างชัดเจนว่าอะไรถือเป็น "ความคิดที่ผิด" แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็มีนักกิจกรรม, นักข่าว, บล็อกเกอร์ และผู้ใช้เฟสบุ๊คมากชึ้นเรื่อย ๆ ที่ต้องเผชิญกับข้อหาที่ทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อโทษจำคุกหนักเป็นเวลาหลายปี จากการที่พวกเขาเผยแพร่ข้อความต่อต้านรัฐบาลหรือแสดงความคิดเห็นในเชิงโต้ตอบสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามพยายามส่งเสริม

เมื่อไม่นานนี้มีกรณีการจับกุมตัว Le Van Dung นักกิจกรรมที่มักจะไลฟ์สดในเฟสบุคซึ่งมีผู้ติดตามหลายพันราย โดยที่ทางการอ้างว่าเขาละเมิดกฎหมายมาตรา 117 ของประมวลกฎหมายอาญาเวียดนามที่ระห้ามไม่ให้มีการสร้าง เก็บ หรือเผยแพร่เนื้อหา ที่มีลักษณะต่อต้านรัฐ ถ้าหาก Le Van Dung ถูกตัดสินว่ามีความผิดเขาอาจจะต้องถูกลงโทษจำคุกสูงสุด 20 ปี

ชื่อของกองกำลัง 47 นั้นตั้งขึ้นมาจาก "คำสั่ง 47" ซึ่งเป็นชื่อเอกสารที่ผู้บัญชาการฝ่ายการเมืองของกองทัพเวียดนามออกมาเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2559 ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นการอาศัยช่องทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการจ้าง "ผู้สร้างอิทธิพลทางความคิด" ที่เป็นพลเรือนเรียกว่า "du luan vien" ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่เล็กกว่าและประสบความสำเร็จน้อยกว่า

นักวิจัยจากศูนย์ไซง่อนเพื่อนานาชาติศึกษา Nguyen The Phuong กล่าวว่า du luan vien เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับการฝึกอบรมอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามโดยตรง ไม่ได้เป็นพวกที่อนุรักษ์นิยมจัดเท่าเจ้าหน้าที่กองทัพ ปฏิบัติการของพวกเขาก็ไม่ได้ดีเท่าที่คาดหวังไว้ ขณะที่กองกำลัง 47 มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า เจ้าหน้าที่ทหารมองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของงานที่พวกเขารับเงินเดือน

ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่ากองกำลัง 47 มีจำนวนอยู่เท่าใด นายพลที่เคยทำหน้าที่ดูแลเรื่องนี้ในปี 2560 เคยบอกว่าหน่วยนี้มีสมาชิก 10,000 นาย เป็นไปได้ว่าตัวเลขจริงอาจจะมากกว่านั้น ตัวเลขในกลุ่มของเฟสบุ๊คมีจำนวนผู้ใช้งานอยู่ในกลุ่มของพวกเขาหลายหมื่นราย มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าเมื่อไม่นานนี้กระทรวงข้อมูลข่าวสารของเวียดนามเพิ่งจะประกาศใช้ระเบียบปฏิบัติสำหรับโซเชียลมีเดียที่คล้ายกับคำสั่งกองกำลัง 47 ที่เรียกร้องให้ประชาชนโพสต์เกี่ยวกับ "เรื่องดี ๆ" และสั่งแบนอะไรก็ตามที่กระทบ "ผลประโยชน์ของรัฐ"

มีการตั้งกองกำลัง 47 นี้มาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว สื่อรัฐบาลระบุว่ามีเพจของเฟสบุ๊คอย่างน้อย 15 เพจที่ควบคุมโดยกองกำลัง 47 นี้ ซึ่งเพจเหล่านี้มีผู้ติดตามรวมแล้ว 300,000 ราย ซึ่งนอกจากเฟสบุ๊คแล้วพวกเขายังสร้างอีเมลนิรนามด้วย Gmail และ Yahoo และสร้างบัญชีผู้ใช้งานในยูทูบกับทวิตเตอร์ด้วย

จากการสำรวจของสื่อต่างประเทศระบุว่าพวกเขาสังเกตเห็นเรื่องการใช้ข้อความในเชิงชาตินิยมเพื่อตั้งเป็นชื่อกลุ่มในเฟสบุ๊ค ไม่ว่าจะเป็นชื่อ "ฉันรักสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม" , "เวียดนามในดวงใจฉัน" , "เสียงจากปิตุภูมิ" และ "เชื่อมั่นในพรรค" มีบางกลุ่มที่ใช้ชื่อแสดงตัวของกองกำลัง 47 อย่างเห็นได้ชัดเจนเช่น "ร่วมด้วยช่วยกันกับกองกำลัง 47" , "กองกำลัง 47 ผงาด" แต่ก็มีบางกลุ่มที่ใช้ชื่อแบบที่เห็นได้ไม่ชัดเจนนักเช่น "บัวชมพู"

กลุ่มเหล่านี้มีการโพสต์เนื้อหาหลายอย่าง ส่วนใหญ่เป็นการยกย่องสรรเสริญกองทัพเวียดนาม บิดาแห่งเวียดนามอย่างโฮจิมินห์ หรือหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม Nguyen Phu Trong เนื้อหาแบบอื่นได้แก่การแคบหน้าจอผู้ใช้คนอื่นๆ แล้วขีดฆ่าด้วยกากบาทสีแดงโดยสื่อว่าเป็น "ข้อมูลเท็จ"

เทวี ศิวประกาสัม ที่ปรึกษาด้ายนโยบายเอเชีย-แปซิฟิกขององค์กรสิทธิอินเทอร์เน็ต Access Now กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ในเวียดนามถือว่าเป็นเรื่องน่ากลัวและได้สร้างการลอยนวลไม่ต้องรับผิดให้เพิ่มมากขึ้น เป็นการที่กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งสร้างความจริงของตัวเองขึ้นมาโดยที่ผู้คนอื่นๆ รู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะสามารถพูดได้อย่างเสรีในโลกออนไลน์ อีกทั้งยังขาดแนวความคิดคำนึงถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวของปัจเจกบุคคลด้วย


เรียบเรียงจาก
How Vietnam's 'Influencer' Army Wages Information Warfare on Facebook, US News, 09-07-2021


*ที่มาภาพ Cover จาก Pexels (CC0)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net