Skip to main content
sharethis

อธิบดีกรมควบคุมโรคแถลงตั้งแต่ 1 เม.ย. - 10 ก.ค. 2564 บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ COVID-19 รวม 880 ราย เสียชีวิต 7 ราย ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มแล้วยังป่วย 618 ราย บุคลากรหญิงติดเชื้อสูงสุด 54% เป็น 'พยาบาล-ผู้ช่วยพยาบาล' - ประชุม คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เคาะฉีดวัคซีน 'บูสเตอร์โดส' 12 ก.ค. นี้ ใช้ 'แอสตร้าเซนเนก้า' ส่วน 'ไฟเซอร์' ต้องรออีกระยะหนึ่ง


แฟ้มภาพสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

11 ก.ค. 2564 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงความคืบหน้าวัคซีนบูสเตอร์โดส หรือการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มที่ 3 ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ผู้ปฏิบัตหน้าที่เสี่ยง

นพ.โสภณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เริ่มต้นด้วยการแสดงความเสียใจกับครอบครัวและญาติของ พยาบาล ที่เสียชีวิต หลังติดเชื้อโควิด-19 จากการปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในแผนกดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ต่อเนื่องในช่วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยพยาบาลคนดังกล่าวได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้ว โดยเข็มแรกเดือน เม.ย. เข็มที่ 2 เดือน พ.ค.

นพ.โสภณ กล่าวว่าจากการติดตามข้อมูลการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ ตั้งแต่ 1 เม.ย.-10 ก.ค. 2564 พบว่าติดเชื้อ 880 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง คิดเป็นอัตราส่วน 3 ต่อ 1 โดยเป็นพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล ร้อยละ 54 ส่วนใหญ่อายุ 20-29 ปี ทั้งนี้บุคลากรทางการแพทย์ได้รับการฉีดวัคซีนร้อยละ 97 จากฐานข้อมูลผู้รับวัคซีนโควิด-19 พบว่าในบุคลากรที่ติดเชื้อ 880 คน มีประวัติไม่ได้รับวัคซีน 173 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 และมีผู้เสียชีวิต 7 คน ในจำนวนนี้มี 5 คน ไม่ได้รับวัคซีน และ 1 คนได้รับวัคซีนไม่ครบโดส มีการติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ไปวันเดียว และรายที่เสียชีวิตล่าสุด คือพยาบาลคนที่เป็นข่าว ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ทั้งนี้อัตราการติดเชื้อหลังได้รับวัคซีนครบ 2 โดส และมีโอกาสเจ็บป่วยเสียชีวิต น้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน จากการติดตามการฉีดวัคซีนซิโนแวค 1 เข็ม มีการป่วย 68 คน หรือคิดเป็นอัตราป่วย 308 คนต่อแสนประชากร, การรับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม มีการป่วย 618 คน หรือคิดเป็นอัตรา 91 คนต่อแสนประชากร ส่วนใหญ่ป่วยไม่มีอาการถึง 597 คน ป่วยปานกลาง 19 คน และมีอาการ 1 คนต้องใช้เครื่องออกซิเจน ไฮโฟลว์ และเสียชีวิต 1 คน

ส่วนผู้ที่รับวัคซีนแอสตราเซเนกา 1 เข็ม มีการป่วย 45 คน หรือคิดเป็น 67 คนต่อแสนประชากร ส่วนใหญ่อาการป่วยน้อย 43 คน และป่วยปานกลาง 1 คน ใส่เครื่องเครื่องออกซิเจน ไฮโฟลว์ 1 คน ทั้งนี้ยืนยันว่าคนที่รับวัคซีนมีประโยชน์ช่วยลดความรุนแรงของโรค อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงของเชื้อไวรัสจากอัลฟาเป็นเดลตา ในช่วง มิ.ย. เป็น ก.ค. ทำให้การป้องกันไวรัสด้วยวัคซีนชนิดซิโนแวค ไม่ให้ผลดีเท่าเชื้อเดิม เพราะไวรัสมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้แนวทางการให้วัคซีนก็จะมีการเปลี่ยน เพื่อให้รับกับไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงหลบภูมิคุ้มกัน

ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับซิโนแวค 2 เข็ม ควรได้รับวัคซีนกระตุ้นอีก 1 เข็ม ซึ่งได้เตรียมวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่สัปดาห์หน้านี้ ส่วนที่ประสงค์จะฉีดวัคซีน mRNA "ไฟเซอร์" ต้องรออีกระยะหนึ่ง โดยคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จะประชุมในวันจันทร์ที่ 12 ก.ค. คาดว่าจะให้ความเห็นชอบในการฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดส 

 

ที่มาเรียบเรียงจาก คมชัดลึก | สำนักข่าวไทย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net