Skip to main content
sharethis

รายงานวงเสวนาออนไลน์ปาตานีอัพเดท บ.ก.The Motive ประมวลสถานการณ์การระบาดในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี ขณะที่ 'ปธ.สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ' สรุปเส้นทางการระบาด ระบุเชื้อที่ระบาดในพื้นที่มาจากหลายคลัสเตอร์ ผู้ป่วยรายวันไม่ต่ำกว่า 500 คน และเสียชีวิตสะสมเกือบ 100 คน แต่หากรวมถึงผู้ป่วยที่เสียชีวิตในขณะที่ยังไม่ได้มีการตรวจเชื้อก็น่าจะ 100 กว่าคน

13 ก.ค.2564 เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา เวลา 20.30 น. สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) จัดวงเสวนาออนไลน์ผ่านรายการ "PATANI Update / ปาตานีอัพเดท" ในหัวข้อ "การตระหนักร่วมในการรับมือโรคระบาดโควิด 19" โดยมีผู้ร่วมเสวนา 3 ท่าน หนึ่งในนั้นคือ ซาฮารี เจ๊ะหลง บรรณาธิการข่าว The Motive ซึ่งนำเสนอสถิติของโลก ประเทศไทย กรุงเทพมหานคร และจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี

ซาฮารี เปิดเผยในรายการปาตานีอัพเดตว่า ข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาดโควิดมีให้เข้าถึงมากมายหลายช่องทาง แต่จะเข้าถึงข้อมูลข้อเท็จจริงที่มันน่าเชื่อถือได้ค่อนข้างที่จะยาก หากถามว่าเราสามารถติดตามได้จากที่ไหนบ้าง ตนไม่สามารถชี้ช่องทางได้อย่างแน่ชัดว่ามีช่องทางไหนบ้างที่น่าเชื่อถือ โดยมีการรายงานทุกวันและรวดเร็ว  แม้กระทั่งเว็บเพจของประชาสัมพันธ์จังหวัด หรือสาธารณสุขจังหวัด หรือแม้แต่เว็บเพจของผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ไม่มีการอัพเดตเช่นกัน ทั้งที่เป็นช่องทางการสื่อสารทางการ เหมือนเขาไม่ต้องการที่จะสื่อสารให้ชาวบ้านรับรู้ถึงจำนวนสถิติที่แท้จริงสักเท่าไร

"สำหรับข้อมูลสถิติของผู้ป่วย ICU อาการหนัก ของโลกวันนี้อันดับหนึ่งอยู่ที่ประเทศอินเดียโดยมีผู้ป่วยอาการหนักใกล้เสียชีวิต ถึง 8,944 คน อันดับสองประเทศบราซิลมีจำนวน 8,318 คน และอันดับสามอยู่ที่ประเทศโคลัมเบียมีจำนวน 8,155 คน ซึ่งสามอันดับนี้เห็นจำนวนผู้ป่วยอาการหนักชัดเจนอยู่ที่หลัก 8 พันกว่าคน แต่ที่น่าตกใจประเทศไทยติด 1 ใน 10 ของโลกสำหรับผู้ป่วย ICU อาการหนักใกล้เสียชีวิตอยู่ที่จำนวน 2,685 คน (เป็นข้อมูลสรุปของวันที่ 10 ก.ค.2021)" บรรณาธิการข่าว The Motive รายงานเพิ่มเติมในกรณีสถานการณ์โลกตอนนี้

ซาฮารี เปิดเผยข้อมูลของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ ศบค. ว่า สำหรับข้อมูลการเสียชีวิตในประเทศไทยภายในสัปดาห์นี้ วันนี้ (10 ก.ค.) เป็นวันที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดถึง 91 คน

หากสรุปจำนวนผู้ป่วยสะสมในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.2020 ถึงวันที่ 8 ก.ค.2021 มีจำนวนทั้งสิ้น 326,832 คน รักษาหายแล้ว 240,000 คน และมีผู้เสียชีวิตสะสมทั้งสิ้น 2,625 คน สำหรับผู้ติดเชื้อในระลอกใหม่ หมายถึงที่เกิดจากคลัสเตอร์ใหม่ในปีนี้ (2021) มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด 9,326 คน และย้อนเวลากลับไปดูอีก 4 วันให้หลังจะเห็นภาพชัดเจนว่าตัวเลขกระโดดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ดังนี้

  • วันที่ 9 ก.ค. มีผู้ติดเชื้อสะสม 9,276 คน และเสียชีวิต 72 คน
  • วันที่ 8 ก.ค. มีผู้ติดเชื้อสะสม 7,058 คน และเสียชีวิต 75 คน
  • วันที่ 7 ก.ค. มีผู้ติดเชื้อสะสม 6,519 คน และเสียชีวิต 54 คน
  • วันที่ 6 ก.ค. มีผู้ติดเชื้อสะสม 5,420 คน และเสียชีวิต 57 คน

"จะเห็นว่าภายใน 5 วัน จากยอดจำนวน 5 พันกว่าคนกระโดดขึ้นเป็น 9 พันกว่าคน ซึ่งจำนวนสถิตินี้สามารถบ่งบอกได้ว่าประเทศไทยอยู่ในขั้นวิกฤตหนัก หากใครมองว่าวันนี้ยังไม่ถึงขั้นวิกฤตอีกนั้นก็ลองไตร่ตรองจากข้อมูลสถิติดู" บรรณาธิการข่าว The Motive กล่าว

ซาฮารี กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณะสุขและหน่วยงานด้านการแพทย์ไม่ได้ให้ความสนใจต่อจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดแล้ว พวกเขาพยายามก้าวข้ามไปมุ่งเน้นในเรื่องการรักษาผู้ป่วยอาการหนักที่มีจำนวนถึง 2,685 คนดังที่กล่าวมาตอนต้น เพื่อต้องการลดอัตราการตายในประเทศไทยที่มีผู้ป่วยอาการสาหัส 1 ใน 10 ของโลก ส่วนข้อมูลการประกาศพื้นที่สถานการณ์โควิดวันนี้พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดมีจำนวน 10 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ปัตตานี ยะลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสงขลา ด้านพื้นที่ควบคุมสูงสุดแต่ไม่เข้มงวดมีจำนวนทั้งสิ้น 24 จังหวัด ส่วนพื้นที่ควบคุมอย่างเดียวมีทั้งหมด 25 จังหวัด และพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุดมีจำนวนทั้งสิ้น 18 จังหวัด (จากเดิม 39 จังหวัด)

"ในประเด็นที่น่าตกใจอีกประเด็นหนึ่งคือ ประเด็นการฆ่าตัวตายของประชากรในกรุงเทพมหานครที่เป็นผลพวงมาจากการติดเชื้อโควิด จากข้อมูลสถิติระบุว่า มีการตัวตายภายในเวลา 99 นาที ต่อ 1 คน" ซาฮารี กล่าว พร้อมปิดท้ายด้วยข้อมูลสถิติต่างๆ เกี่ยวกับโรคระบาดโควิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี เฉพาะของวันที่ 10 ก.ค.2021 ดังนี้

  • #จังหวัดปัตตานี มีผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 215 คน ผู้ป่วยสะสมจำนวน 4,281 คน จำนวนที่รักษาหายแล้ว 2,190 คน เสียชีวิตรายวันจำนวน 1 คน และเสียชีวิตสะสม 39 คน
  • #จังหวัดยะลา มีผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 158 คน ผู้ป่วยสะสมจำนวน 3,397 คน จำนวนที่รักษาหายแล้ว 1,617 คน เสียชีวิตรายวันจำนวน 1 คน และเสียชีวิตสะสม 27 คน
  • #จังหวัดนราธิวาส มีผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 90 คน ผู้ป่วยสะสมจำนวน 2,892 คน จำนวนที่รักษาหายแล้ว 2,109 คน เสียชีวิตรายวันจำนวน 0 คน และเสียชีวิตสะสม 20 คน
  • #จังหวัดสตูล มีผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 4 คน ผู้ป่วยสะสมจำนวน 218 คน จำนวนที่รักษาหายแล้ว 87 คน และเสียชีวิตรายวัน 0 คน
  • #จังหวัดสงขลา มีผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 225 คน ผู้ป่วยสะสมจำนวน 6,529 คน จำนวนที่รักษาหายแล้ว 4,680 คน เสียชีวิตรายวันจำนวน 1 คน และเสียชีวิตสะสม 30 คน

'ปธ.สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ' ระบุเชื้อที่ระบาดในพื้นที่มาจากหลายคลัสเตอร์

มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ ประธานสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) และประธาน มูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เปิดเผยว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าครั้งนี้เป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดในประเทศ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อผู้คนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์และสาธารณสุขศาสตร์ออกมายอมรับแล้วว่าไม่สามารถที่จะรับมือกับมันได้

หากเฉลี่ยผู้ป่วยรายวันในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้/ปาตานีมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 500 คนต่อวัน และเสียชีวิตสะสมเกือบจะถึง 100 คนแล้ว หากรวมถึงผู้ป่วยที่เสียชีวิตในขณะที่ยังไม่ได้มีการตรวจเชื้อก็น่าจะได้ 100 กว่าคนในระลอกใหม่นี้ (ระลอกเมษายน) ซึ่งเห็นชัดว่าเราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย เพราะเป็นช่วงสถานการณ์การแพร่เชื้ออย่างหนัก

"อีกประเด็นที่เป็นข่าวลือหนักในพื้นที่ คือ การลือว่าโรคโควิดนี้เป็นโรคที่ภาครัฐกุขึ้นมาเอง บ้างก็ลือว่าเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เป็นโรคที่ไม่มีอยู่จริง ฉะนั้น ประเด็นนี้ผมขอชี้แจงว่า โรคระบาดโควิดนี้มีอยู่จริงโดยไม่มีเรื่องที่ต้องสงสัย ไม่ใช่เรื่องที่กุขึ้นมาเอง มันมีอยู่ทั่วทุกมุมโลกแล้ว" ประธานสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ กล่าว

มูฮำหมัดอาลาดี กล่าวต่อว่า เมื่อปลายปี 2562 โรคนี้เริ่มระบาดที่เมืองจีน บรูไน และรัฐสลังงอ ประเทศมาเลเซีย วันที่ 18 มี.ค.2563 ประเทศมาเลเซียเริ่มประกาศปิดประเทศ หลังมีการระบาดหนักจากคลัสเตอร์งานบรรยายธรรมด้านศาสนา ของกลุ่มนักเผยแพร่ศาสนา หรือ กลุ่มดะวะห์ (ตับลีฆ) ที่จัดงานรวมพลที่รัฐสลังงอ คลัสเตอร์ตัวนี้ถูกนำเชื้อกลับมาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี พร้อมกับคนจังหวัดชายแดนใต้หรือปาตานี ที่ไปร่วมงานที่รัฐสลังงอ ประเทศมาเลเซีย จนระบาดไปทั่วทุกพื้นที่

หลังจากนั้นองค์กรภาคประสังคม (NGOs) ร่วมกับองค์กรด้านการแพทย์มุสลิม อาทิ สมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) ฯลฯ ออกมาร่วมรณรงค์ หามาตรการการป้องกันโดยการเดินสายพบปะหน่วยงานราชการ หน่วยงานด้านศาสนา และกลุ่มคนในพื้นที่ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับความร้ายแรงของไวรัสตัวนี้ รวมไปถึงทางจังหวัดเริ่มประกาศล็อคดาวน์ จนสุดท้ายก็สามารถรับมือกับมันได้

ส่วนการระบาดครั้งที่ 2 นั้น ประธานสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า มาจากคลัสเตอร์ชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศพม่าเพื่อมาทำงานโรงงานที่จังหวัดสมุทรสาคร จนผู้ว่าราชการจังหวัดเองก็ได้รับเชื้อ ป่วยหนักอาการสาหัสต้องรักษาตัวอยู่นานพอสมควร แต่สุดท้ายก็สามารถคลี่คลายได้ และอีกครั้งเป็นการระบาดระลอกใหม่ในช่วงเดือน เม.ย.2564 และระบาดหนักกว่ารอบที่ผ่านๆ มา ซึ่งที่น่าสนใจในรอบนี้ คือ คลัสเตอร์รอบนี้เริ่มมาจากการเที่ยวกลางคืนของกลุ่มรัฐมนตรี กลุ่มนักการเมืองกลุ่มหนึ่งที่ไปเที่ยวผับคริสตัลทองหล่อ กรุงเทพ และเป็นพาหะนำเชื้อออกมากระจายระบาดทั่วกรุงเทพ

ต่อมานักโทษจากเรือนจำนราธิวาสขึ้นไปจัดโครงการแสดงผลงานในงาน To be number one กลับมาก็เริ่มระบาดหนักภายในเรือนจำ มีนักโทษติดเชื้อ 200-300 คน รวมไปถึงผู้คุมเรือนจำด้วย จนกลายเป็นพาหะแพร่เชื้อในจังหวัดนราธิวาส

ด้านจังหวัดยะลาจุดเริ่มต้นของการระบาดมาจากกลุ่มยูทูเบอร์ที่มีเชื้อเดินทางมาจากกรุงเทพเพื่อมาท่องเที่ยวและเยี่ยมญาติที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา จนแพร่เชื้อไปสู่ญาติและสังคมในจังหวัดยะลา อีกส่วนเป็นเชื้อที่มาจากทีมงานข้าราชการ และชุมนุมคนไทยพุทธ ที่เดินทางกลับบ้านช่วงสงกรานต์ และชาวมุสลิมที่เดินทางกลับบ้านช่วงเทศกาลฮารีรายอ และนำเชื้อมาจากจังหวัดต่างๆ กลับมาแพร่เชื้อในพื้นที่ทั่วจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี 

"สรุปได้ว่าในพื้นที่บ้านเราเชื้อไวรัสโคโรน่ามาจากหลายๆ คลัสเตอร์ มีทั้งสายพันธุ์อินเดียและสายพันธุ์แอฟริกา แต่หากเราตั้งข้อสังเกตุจะเห็นได้ว่าไวรัสมันจะมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา มันจะพัฒนาตนเองเพื่อความอยู่รอดของตัวไวรัส ทุกๆ 100 ปีจะมีเชื้อไวรัสต่างๆ เกิดขึ้นอยู่เนื่องๆ หากเราย้อนหาข้อมูลมาอ่าน" ประธานสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ กล่าว 

หมายเหตุ : รายงานชิ้นนี้แปลภาษาและถอดมาจากการเสวนาออนไลน์ของสมัชชาประชาสังคมเพื่อสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) ในหัวข้อ "การตระหนักร่วมในการรับมือโรคระบาดโควิด 19" เมื่อวันเสาร์ ที่ 10 ก.ค.2564 เวลา 20.30 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net