Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทนำ: เมืองเชียงใหม่ในภาวะวิกฤติโควิด-19 และความเปราะบางของแรงงานข้ามชาติ 

1. แรงงานชาวไทใหญ่และทายาท

เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และศูนย์กลางการค้าในดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนมาก่อนยุคอาณานิคม ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 เศรษฐกิจของเชียงใหม่ได้รับอานิสงค์จากแรงงานต้นทุนต่ำจากประเทศเพื่อนบ้าน ไทใหญ่/ไต (Shan) เป็นกลุ่มแรงานข้ามชาติที่มีบทบาทมากที่สุดในเชียงใหม่และภาคเหนือ งานศึกษาที่ผ่านมาต่างชี้ให้เห็นว่าพวกเขามีชีวิตที่เปราะบาง (precarious life) ทั้งในสถานะมนุษย์และพลเมืองทางเศรษฐกิจของรัฐและทุน สภาพการณ์ดังกล่าวเป็นผลมาจากโครงสร้างของรัฐไทยที่ออกแบบมาเพื่อล้อมขังแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านให้ 1) เป็นคนงานไร้ฝีมือและเสี่ยงอันตรายสูง เช่นงานก่อสร้าง หรืองานภาคการเกษตรที่ต้องสัมผัสสารเคมีอันตราย 2) ไม่มีสิทธิ์รวมตัวเป็นกลุ่ม/สหภาพแรงงาน และ 3) ถูกจำกัดสิทธิเข้าถึงสวัสดิการสังคม ตามกฎหมายแรงงานของประเทศไทย แม้จะเข้าเมืองและมีใบอนุญาตทำงานถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม 

นอกจากนี้ชีวิตที่เปราะบางยังหมายถึงสถานะมนุษย์ที่ไร้สถานะพลเมือง เป็นกลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองและไม่มีใบอนุญาตทำงาน Bourdieu (1998) ชี้ว่าปรากฏการณ์เช่นนี้กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกภายใต้บริบทโลกาภิวัตน์และเสรีนิยมใหม่ ซึ่งได้สร้างให้ผู้คนจำนวนมหาศาลกลายเป็นแรงงานที่ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน ขาดศักยภาพในการปกป้องตนเอง มองไม่เห็นความต่อเนื่องของชีวิตและสุดท้ายส่งต่อความจนสู่ทายาทรุ่นต่อไป นอกจากนี้  ความเปราะบางล่อแหลมตามเมืองใหญ่ๆ ในโลก ยังระอุขึ้นจากระบบคิดแบบชาตินิยมสุดโต่ง เกลียดกลัวผู้อพยพทั้งรุ่นเก่าและหน้าใหม่ กระแสเหล่านี้กำลังหวนกลับมาครุกรุ่นทุกมุมโลก และได้บดบังอรรถประโยชน์ของแรงงานข้ามชาติที่ได้ร่วมสร้างเมืองจนมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และทุนทางวัฒนธรรมต่างๆ 

ในกรณีของประเทศไทย แรงงานข้ามชาติที่เป็นหน่วยผลิตสำคัญ แต่กลับไม่ถูกนับรวมในระบบสวัสดิการสังคมและตาข่ายนิรภัยของรัฐไทยนั้น International Organization for Migration (IOM) (2020) ได้ประมาณการณ์ว่ามีไม่น้อยกว่าสี่ล้านคน ในช่วงโควิด-19ระบาด จำนวนแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร 2,494,272  คน ตัวเลขนี้ต่ำกว่าเดือนสิงหาคม ปี 2562  ราวๆ ครึ่งล้านคน (สำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าวในเชียงใหม่, 2562, 2653)

หากกล่าวเฉพาะเชียงใหม่ที่เป็นแหล่งงานใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ สถิติที่น่าสนใจของสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าวในเชียงใหม่ (2562, 2653) คือในเดือนสิงหาคม ปี 2563 พบว่ามีจำนวนแรงงานข้ามชาติอยู่ 101,022 ตำแหน่งทั่วจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งต่ำกว่ากลางปี 2562 อยู่ราวๆ 28, 000 ตำแหน่ง แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ส่วนใหญ่เคลื่อนย้ายมาจากประเทศเมียนมา ที่นอกจากคนไทใหญ่แล้ว ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่น เช่น พม่า กะเหรี่ยง คะฉิ่น และมุสลิมพม่า ตำแหน่งงานที่น้อยลงนั้น ชี้ให้เห็นพลวัตของคนกลุ่มนี้ในห้วงวิกฤติโควิค -19 โดยสามารถสันนิษฐานได้ว่า 1) เกิดจากการโยกย้ายกลับประเทศก่อนที่รัฐบาลไทยประกาศปิดพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน และ 2) เป็นไปได้ว่าแรงงานยังอยู่ในพื้นที่ตามแหล่งงานเดิม แต่กลายเป็นคนเถื่อนเพราะไม่ได้ยื่นเอกสารต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ในกรณีที่สองนี้ความเปราะบางในชีวิตแรงงานและทายาทย่อมทวีความเข้มข้นขึ้น

ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ระยะที่ 1 นั้น ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายแรกๆ ประมาณกลางเดือนมกราคม 2563  ส่วนจังหวัดเชียงใหม่ได้เปิดเผยจำนวนผู้ติดเชื้อ ครั้งแรกในเดือนเมษายน ปีเดียวกัน รัฐบาลตอบโต้โดยออกมาตรการป้องกันหลายระดับ รวมทั้งมาตรการเยียวยาประชาชนกลุ่มเปราะบางด้วยเม็ดงบประมาณถึง 2 ล้านล้านบาทหรือ 14.3 % ของ GDP ในระหว่างพฤษภาคม-สิงหาคม 2563 (จุฑาทิพย์ จงวนิชย์ และคณะ, 2020) เม็ดเงินจากนโยบายเยียวยาและชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ถูกส่งผ่านสู่ประชาชนหลากหลายกลุ่ม เช่น ลูกจ้างและพนักงานในภาคการท่องเที่ยว กลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มเปราะบาง กลุ่มเกษตรกร และผู้ว่างงานที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม รวมทั้งบัณฑิตจบใหม่ที่ว่างงานหรือยังอยู่ในระหว่างหางานทำ อย่างไรก็ตามมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูทั้งหมดมิได้ครอบคลุมแรงงานข้ามชาติ ทำให้ภาพที่ปรากฏเป็นชีวิตที่แขวนอยู่บนเส้นด้าย ต้องขูดรีดตัวเองในระดับที่รุนแรงขึ้นเพื่อความอยู่รอด คำถามสำคัญต่อมาคือการศึกษาของทายาทซึ่งถือเป็นกระบวนการผลิตซ้ำทุนมนุษย์จะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง โรงเรียนและครอบครัวแรงงานข้ามชาติมีกลยุทธ์ตอบโต้ได้มากน้อยเพียงใดอย่างไร 

ในงานชิ้นสำคัญของ Bourdieu (1986) “the Forms of Capital” เสนอแนวคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับการสะสมทุนของปัจเจกในระบบทุนนิยม เช่น ทุนทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและสังคม (economic, cultural and social capitals) ที่ต่างต้องอาศัยเวลารุ่นต่อรุ่น และต้องอาศัยเงื่อนไขในการสร้างผลกำไรจากทุนแบบหนึ่งไปสู่ทุนแบบใหม่/อื่น รวมทั้งสังคมต้องเปิดโอกาสและเงื่อนไขในการผลิตซ้ำของทุนจนทุนมีแนวโน้มยั่งยืนและสืบเนื่องได้ ด้วยกฎของการสะสมทุน  จากข้อเสนอของ Bourdieu (1986) อ่านได้ว่า การลงทุนทางวัฒนธรรมผ่านระบบการศึกษาในทายาทรุ่นที่ 2 ของครอบครัวแรงงานข้ามชาติ จะเป็นไปเพื่อเพิ่มความเป็นมนุษย์ที่เป็นผู้กระทำการในตัวทายาท นำไปสู่ทักษะฝีมือในทุนทางเศรษฐกิจ และเป็นการสะสมทุนทางวัฒนธรรมรูปแบบอื่นๆ เนื่องจากโครงสร้างสังคมไทยเริ่มขยับเข้ามาโอบอุ้มเด็กเหล่านี้มากขึ้น เช่น ภาคธุรกิจไทยมีแนวโน้มเปิดรับเด็กกลุ่มนี้เข้าทำงานในสำนักงาน มีค่าตอบแทนรายเดือนและระบบสวัสดิการ 


2. ทุนมนุษย์ของเด็กข้ามชาติไทใหญ่: พื้นที่วิจัยและวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล

คนไทใหญ่ได้อพยพสู่เชียงใหม่อยู่หลายละลอกตั้งแต่ยุคก่อนอาณานิคม แต่ผู้ที่มีสถานะคาบเกี่ยวระหว่างผู้พลัดถิ่นและแรงงานข้ามชาติปัจจุบันคือกลุ่มที่อพยพโยกย้ายเข้ามาในภายหลัง ตั้งแต่ทศวรรษ 1990  ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ที่ขยายตัวแบบทวีคูณในประเทศไทย และความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อในประเทศเมียนมา นับเป็นมูลเหตุและแรงจูงใจทั้งในเชิงสังคมวิทยาและจิตวิทยา คือเป็นทั้งพลังแห่งความหวังและความหวาดกลัวที่กระตุ้นบีบคั้นให้คนไทใหญ่เคลื่อนย้ายข้ามแดนสู่เมืองไทย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ จนมีแนวโน้มเป็นผู้ย้ายถิ่นถาวรโดยเฉพาะทายาทรุ่นที่ 2 ที่เกิดและเติบโตในประเทศไทยโดยมีพ่อและแม่เป็นผู้อพยพเข้ามาก่อนรายงานจากInternational Organization for Migration (IOM) (2020) ประมาณการณ์ว่าเด็กกลุ่มนี้อยู่ในระบบการศึกษา3-4 แสนคน 

ทายาทรุ่นที่ 2 ในวัยเรียนที่มีอายุ 17 ปีลงมา มักมีชีวิตที่ตัดขาดจากวัฒนธรรมแผ่นดินแม่ เพราะไม่สามารถอ่านและเขียนภาษารัฐชาติ (พม่า) และภาษาชาติพันธุ์ไทใหญ่ได้ นอกจากนี้ พื้นที่โรงเรียนยังเป็นพื้นที่ทางการแรกๆ ที่กล่อมเกลาให้ทายาทรุ่นที่ 2 เป็นไทยเชิงวัฒนธรรม ผ่านการฝึกระเบียบวินัย คำสอนเรื่องความกตัญญูกตเวทีต่อชาติที่มาพึ่งใบบุญ และการใช้ภาษาไทย ส่วนภาษาไทใหญ่นั้นถูกใช้ในวงแคบคือบ้านและชุมชนแคมป์แรงงาน เด็กบริโภครสชาติอาหารและเพลงสะตริงไทใหญ่จากบ้าน ผ่านโทรศัพท์มือถือ ส่วนอาหารไทย และเพลงชาติไทยในสถานศึกษา ละครไทยจากโทรทัศน์ พวกเขาจึงใช้ชีวิตกึ่งกลางระหว่างวัฒนธรรม (in between) ทายาทรุ่นที่ 2 จึงมีชีวิตเสมือนเป็นคนพันทางที่ต้องแสวงหาอัตลักษณ์ตัวตนในโลกคู่ขนาน

Nawarat (2018) ได้สำรวจประชากรวัยเรียนในแคมป์แรงงานในเมืองเชียงใหม่ พบว่ามีเด็กวัยเรียนอยู่ประมาณ 36% ของประชากรในแคมป์ทั้งหมด 246 คน จาก 72 ครอบครัว งานชิ้นนี้วิเคราะห์โอกาสทางการศึกษาของเด็กไทใหญ่ในระบบการศึกษาไทย โดยเสนอว่าครอบครัวแรงงานข้ามชาติไทใหญ่ให้คุณค่าและลงทุนกับการศึกษาของบุตรหลาน ซึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างการศึกษาของไทยที่เปิดกว้างมากขึ้นสำหรับเด็กข้ามชาติ ครอบครัวได้จัดสรรรายได้ลำดับต้นๆ เพื่อการศึกษาของบุตรหลาน เด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาไทยมักมีความหวังที่จะตั้งรกรากอยู่ประเทศไทย รวมทั้งปรารถนาที่จะใช้การศึกษาเพื่อไต่เต้าสู่การเป็นพลเมืองทางวัฒนธรรมและพลเมืองทางเศรษฐกิจ ทว่าด้วยข้อจำกัดของทุน เด็กที่อยู่รอดในระบบศึกษามีจำนวนลดลงตามลำดับและคงอยู่ ไม่ถึง 3% ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนชาย งานศึกษาชิ้นอื่นๆ ที่ว่าด้วยข้อจำกัดในการใช้การศึกษาเพื่อสะสมทุนมนุษย์ในกลุ่มเด็กข้ามชาติที่เกิดและเติบโตในประเทศไทย เช่น  Petchot (2014) และ Chan (2019) ต่างระบุทำนองเดียวกัน

ดังนั้นทุนมนุษย์ในเด็กทายาทรุ่นที่ 2 ของแรงงานข้ามชาติไทใหญ่ในห้วงวิกฤติโควิด-19 มีความเปราะบางล่อแหลมหรือไม่อย่างไร จึงเป็นโจทย์สำคัญที่บทความวิจัยนี้ให้ความสนใจ บทความนี้ต้องการวิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้นจากนโยบายการจัดการศึกษาออนไลน์ของรัฐไทยที่มีต่อการการศึกษา/สะสมทุนมนุษย์ของทายาทรุ่นที่ 2 โดยใช้กรณีศึกษาจากโรงเรียนเทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “การปรับตัวของเยาวชนไทใหญ่ผ่านการศึกษาในประเทศไทย”   การวิเคราะห์จะใช้ข้อมูลการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลัก (key informant) จำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) ผู้แทนสถานศึกษา (ผู้อำนวยการโรงเรียนหรือครูที่ผู้อำนวยการโรงเรียนมอบหมาย 11 คน 2) ผู้ปกครองเด็กระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  และ 3) เด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  ข้อมูลภาคสนามระยะที่ 1 จัดเก็บระหว่างเดือนสิงหาคมและกันยายน ปี 2020


นโยบายกึ่งปิดประเทศ ปิดโรงเรียน และการเรียนออนไลน์ในวิกฤติโควิค -19 

รัฐบาลตั้งรับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิค-19 ระยะที่ 1 โดยใช้ พรก. ฉุกเฉิน ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 มาตรการเข้มข้นมีทั้งการรักษาระยะห่างทางสังคม การปิดแหล่งท่องเที่ยว สถานศึกษา สนามบิน และด่านข้ามแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โรงเรียนเป็นพื้นที่แรกๆ ที่รัฐบาลมีมาตรการสั่งงดเว้นการดำเนินกิจกรรม เช่น ห้ามใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภทเพื่อจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก เว้นแต่เป็นการดำเนินการสื่อสารแบบทางไกลหรือด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ คำสั่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สถานศึกษาขั้นพื้นฐานทุกระดับจะกำหนดเปิดภาคการศึกษาที่ 1 จากนั้นจึงเลื่อนให้วันที่ 1 กรกฎาคม  2563 เป็นวันเปิดภาคการศึกษาที่ 1 ของปี 2563 แทน นอกจากนี้ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2563 ได้กำหนดให้บ้านเป็นพื้นที่จัดการเรียนรู้ทดแทนโรงเรียน แต่หากดูในประวัติศาสตร์การศึกษาสมัยใหม่หลายศตวรรษ รัฐไทยได้ลิดรอนอำนาจบ้านออกจากการเรียนรู้ของเด็กไปแล้วค่อนข้างเบ็ดเสร็จ นอกจากนี้บ้านในกลุ่มคนยากจนกำลังเผชิญกับปัญหาความเปราะบางล่อแหลมอื่นๆ อันเนื่องมาจากนโยบายตั้งรับการระบาดของเชื้อโควิด-19 จนคาดว่าไม่อาจสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง การถกเถียงเรื่องความไม่พร้อมของบ้านและการซ้ำเติมความด้อยคุณภาพทางการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็กกลุ่มเปาะบางจึงเป็นประเด็นถกเถียงในวงกว้างผ่านเวทีเสวนาออนไลน์ต่างๆ 

การเรียนออนไลน์ซึ่งเป็นนโยบายทางการศึกษาเร่งด่วนของประเทศ (กรุงเทพธุรกิจ, 2020) มีความหมายครอบคลุมอย่างน้อยสองประการดังนี้ 1) การจัดการเรียนการสอนผ่านระบบการเรียนทางไกล (Distancing learning) ผ่านสัญญาณดาวเทียม (Distancing Learning Television Station- DLTV) และ 2) การประยุกต์ดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน ที่ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียน โดยอนุมานว่าบ้านของเด็กเป็นพื้นที่จัดการเรียนรู้ ดิจิทัลแพล็ตฟอร์ม (Digital platforms) ที่กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานรัฐเริ่มเช่าชื้อมาใช้ในระยะนั้นมีตั้งแต่  Zoom, Google classroom, Google hangout (สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2563) กล่าวให้ถึงที่สุดการใช้แพล็ตฟอร์มเหล่านี้เพื่อการเรียนการสอนก่อนการระบาดโควิด-19 ปรากฏอยู่น้อยมาก โรงเรียนจึงนำวิธีการเรียนออนไลน์ลักษณะนี้มาใช้อย่างทุลักทุเล บางสถานศึกษาไม่สามารถนำมาปรับใช้ได้ เสียงสะท้อนเหล่านี้มารอบทิศทาง ทั้งครู ผู้ปกครองและนักเรียน ทั้งในกรุงเทพและส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะเสียงจากโรงเรียนและบ้านของคนกลุ่มเปราะบางล่อแหลม ส่วนวิธีการเรียนทางไกลนั้นเริ่มใช้ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศตั้งแต่ปี 2539  ริเริ่มโดยมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ รัชกาลที่ 9 (Distance Learning Foundation under the Royal Patronage) มูลนิธิใช้วิธีการเรียนทางไกลสำหรับโรงเรียนชายแดนและพื้นที่ห่างไกล ซึ่งตำรวจตะเวนชายแดนมีบทบาทเป็นครู ต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้นำมาปรับใช้ในโรงเรียนขยายโอกาสอื่นๆ ที่มีครูไม่ครบชั้น การเรียนทางไกลหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “เรียนกับครูตู้” (นักเรียนนั่งเรียนอยู่หน้าจอโทรทัศน์ระบบอะนาล็อก) ได้ขยายสู่พื้นที่โรงเรียนในเมืองอย่างรวดเร็วในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 กระทรวงศึกษาธิการเร่งเพิ่มทั้งเนื้อหาและช่องทางถ่ายทอดจาก 3 ช่องเป็น 17 ช่อง ระบบการเรียนออนไลน์ในสองลักษณะนี้ได้เริ่มทดสอบความพร้อมเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 จากนั้นจึงพบว่ามีปัญหาในหลายมิติ ทั้งด้านทรัพยากรที่กระทรวงศึกษาไม่สามารถผลิตได้ทัน เช่น แบบเรียน สื่อ และโรงเรียนขาดแคลนอุปกรณ์รับส่ง รวมทั้งการเข้าถึงคลื่นความถี่ ปัญหาเหล่านี้ยังไม่นับรวมการวิเคราะห์ต้นทุนของกลุ่มครอบครัวต่างๆ เนื่องจากโรงเรียนมิได้เป็นปลายน้ำของการเรียนรู้อีกต่อไป

ปัญหาระบบนิเวศการเรียนรู้ใน “บ้าน” มีการถกเถียงหลายระนาบ ทั้งบ้านที่มีอันจะกินและบ้านที่ขาดแคลน บ้านในเมืองและพื้นที่ห่างไกล  “บ้าน” ของกลุ่มเด็กเปราะบางได้รับความสนใจจากสาธารณะในวงกว้าง เนื่องจากระยะที่ผ่านมาพบความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเด่นชัดและซ้ำซาก ทั้งมิติการเข้าถึงและอยู่รอด รวมทั้งคุณภาพของการศึกษา นโยบายการเรียนออนไลน์ที่ให้ความสำคัญเพียงการกระจายเนื้อหาสู่เด็กและบ้านจึงสะท้อนนัยของการทอดทิ้งเด็กกลุ่มเปราะบางโดยรัฐ เนื่องจากโครงข่ายคลื่นความถี่ยังไม่ครอบคลุมหมู่บ้านในชนบทไทยถึง 41% หรือประมาณ 30,635 หมู่บ้านทั่วประเทศ ส่วนบ้านและเพิงพักในเมืองใหญ่ที่โครงข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึงได้กลับขาดต้นทุนในการรองรับ เช่น ไม่มีค่าใช้จ่ายในการชื้ออุปกรณ์ต่างๆ และค่าบริการสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง จากรายงานของ International Telecommunication Union -ITU) ในปี 2018 ระบุว่า ครอบครัวไทยเพียง 21 % ที่มีคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (Laptop) ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของครัวเรือนทั่วโลก ที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่บ้านอยู่ที่ 49 %   (อ้างถึงใน Rattanakhamfu, 2020: 2) ในขณะเดียวกันข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ คือ สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้ยืนยันความขาดแคลนของอุปกรณ์ดิจิทัลในหมู่เด็กนักเรียนยากจน นอกจากนี้ สำนักงานฯ ยังได้ระบุอีกว่ากลุ่มนักเรียนที่จัดอยู่ในกลุ่ม “เด็กยากจนและยากจนแร้นแค้น” นั้นอยู่ในสถานศึกษาราวๆ 35 % หรือประมาณ 1,696433 คน เด็กกลุ่มนี้มีรายได้เฉลี่ยวันละ 42 บาท ซึ่งไม่เพียงพอแม้แต่อาหารตามหลักโภชนาการ (สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา, 2561) ดังนั้นเด็กจากครัวเรือนยากจน ซึ่งในประเทศไทยกลุ่มคนยากจนได้ขยับตัวเพิ่มสูงขึ้นจาก 9 ล้าน เป็น17 ล้านคน (BBC News, 2563) ในระยะแรกของการระบาดโควิด-19 นั้นย่อมขาดแคลนทรัพยากรอันเป็นต้นทุนในการลงทุนเพื่อเรียนออนไลน์ ตั้งแต่การเข้าไม่ถึงโครงข่ายคลื่นความถี่ อุปกรณ์ดิจิทัล เช่น คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ แล็ปท็อบ แท็บแล็ต และโทรศัพท์แบบ Smartphone และต้นทุนค่าบริการสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เป็นต้น ข้อถกเถียงเรื่องบ้านของเด็กกลุ่มนี้ยังรวมถึงระบบนิเวศที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ เช่น ขาดพื้นที่ส่วนตัว มีเสียงรบกวนตลอดเวลา และพ่อแม่ไม่มีเวลาดูแล 


บทวิเคราะห์

1. โรงเรียนเทศบาลนครเชียงใหม่และผู้เรียน 


เทศบาลนครเชียงใหม่มีพื้นที่ให้บริการคลอบคลุม 40 ตารางกิโลเมตร ประชากรตามทะเบียนราษฎร์มีประมาณ  130,000 คน แต่คาดว่าเมืองมีประชากรแฝงอีกจำนวนไม่น้อย ทั้งแรงงานข้ามชาติและทายาท แรงงานชาวไทยจากพื้นที่อื่น นักเรียนนักศึกษาที่เข้ามาศึกษาในเมืองใหญ่ โดยไม่มีการย้ายสำมะโนครัว ส่วนโรงเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีอยู่มากกว่า 50 แห่ง โดยมี 11 แห่งอยู่ภายใต้สังกัดเทศบาลนครเชียงใหม่ (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย) ในขณะที่อีก 24 แห่ง เป็นโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน (ไทย-นานาชาติ) สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ

โรงเรียนเทศบาลทั้ง 11 แห่ง ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ หากแต่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กถึงกลาง ตั้งอยู่ในวัด รองรับนักเรียนตั้งแต่ 100 ถึง 500 คน โรงเรียนเทศบาลมีปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษาที่เด็กมักมีผลสัมฤทธิ์รั้งท้ายเด็กในโรงเรียนประเภทอื่นๆ หากแต่เป็นสถาบันที่รองรับเด็กจากครอบครัวกลุ่มเปราะบาง ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจและไร้สถานะความเป็นพลเมือง (ไทย) ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา อีกนัยหนึ่งโรงเรียนเทศบาลได้ขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กทุกคนตามนโยบายของประเทศไทยที่ผูกพันกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. 1989 และปฏิญญาโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน (World’s Declaration on Education for All 1990) ปัจจุบันโรงเรียนเทศบาลจำนวน 3 จาก 11 แห่งได้จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ที่เหลือให้บริการจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนได้รับการสนับสนุนงบประมาณรายหัวจากส่วนกลางประมาณ 1,700 บาทต่อคนต่อปีการศึกษา และได้รับงบประมาณอีกส่วนหนึ่งจากเทศบาลที่จัดสรรในรูปของการส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้

โรงเรียนทั้ง 11 แห่งมีนักเรียนหญิงชายในสัดส่วนค่อนข้างสมดุล ในช่วงวิกฤติโควิด-19 จำนวนเด็กได้ลดลงเล็กน้อย แต่บางสถานศึกษามีเด็กเพิ่มขึ้น พลวัตการลื่นไหลของเด็กเช่นนี้เชื่อมโยงกับวิกฤติเศรษฐกิจในยุคโควิด-19 ที่สะท้อนร่องรอยการถดถอยของทุนมนุษย์ในเด็ก ซึ่งคาดว่าอาจมีเพิ่มมากขึ้นหากประเทศไทยยังเข้าไม่สามารถถึงวัคซีนในระยะเวลาอันใกล้ ข้อมูลภาคสนามเผยว่าเด็กจากโรงเรียนเอกชนจำนวนหนึ่งได้ย้ายมาเรียนในโรงเรียนเทศบาล ส่วนเด็กทายาทแรงงานข้ามชาติในโรงเรียนเทศบาลได้ย้ายออกไปอยู่ในพื้นที่ชานเมือง และชายแดนของประเทศไทยหรือนอกประเทศ ข้อมูลส่วนนี้สะท้อนกลยุทธ์การตอบโต้วิกฤติและการปรับตัวของครอบครัวคนจนเมืองในเชียงใหม่ ทั้งนี้วิกฤติโรคระบาดและมาตรการของประเทศไทยส่งผลให้เกิดการหดตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในหลายระนาบ จากรายงานของธนาคารโลกในเดือนกันยายน ปี 2563 ชี้ว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross domestic Production-GDP) ดิ่งติดลบอย่างน้อย 8 % ซึ่งถือว่าต่ำสุดในภูมิภาคเอเชีย มีคนว่างงานเพิ่มขึ้นหลายล้านตำแหน่ง จำนวนคนจนเพิ่มขึ้นเป็น 16 ล้านคน (BBC News, 2563) กล่าวได้ว่า การถดถอยทางเศรฐกิจข้างต้นเกิดขึ้นท่ามกลางมาตรการด้านสาธารณสุขที่ประสบผลสำเร็จอย่างน่าพึงพอใจ และมีมาตรการเยียวยาที่ได้ใช้เม็ดเงินไปถึง 2 ล้านล้านบาทระหว่างเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2563 

เด็กในสถานศึกษาทั้ง 11 แห่งมีความหลากหลาย ทั้งทายาทรุ่นที่ 2 แรงงานไทใหญ่ที่มากกว่า 50% และเด็กในท้องถิ่นที่มีทั้งจากกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงของภาคเหนือ เช่น กะเหรี่ยง อาข่า ลาหู่ ม้ง เย้า ที่ได้ติดตามพ่อแม่เข้ามาทำงานในตัวเมืองเชียงใหม่ บ้างก็เกิดในเมืองเชียงใหม่ และอีกบางส่วนคือเด็กคนเมืองเหนือ ส่วนความแตกต่างทางศาสนาและความเชื่อของเด็ก ปรากฏว่านับถือพุทธเป็นกลุ่มใหญ่ ที่เหลือคือคริสต์ ผี และอิสลาม เป็นที่น่าสังเกตว่าปริมาณเด็กมุสลิมพม่าได้เพิ่มขึ้นในระยะสิบปีที่ผ่านมา เช่นในโรงเรียนวัดดอนจั่น ที่มีเด็กอิสลามถึง 108 คน (22.7 %) จาก 481 คน ผู้แทนสถานศึกษาต่างเผยว่านักเรียนของตนเป็นกลุ่มเด็กยากจน ส่วนน้อยที่มีฐานะปานกลางค่อนข้างต่ำ นอกจากความยากจนทางเศรษฐกิจของผู้ปกครอง เด็กจำนวนหนึ่งยังมีความยากจนลักษณะอื่นๆ อีกด้วยโดยเฉพาะเด็ก “คนเมือง” เช่น ความไม่สมบูรณ์ของครอบครัว ตั้งแต่พ่อแม่หย่าร้างจนกลายเป็นเด็กกำพร้า มีปู่ย่าตายายเลี้ยงดู รวมทั้งเป็นเด็กที่มีผลการเรียนอ่อน อุปนิสัยค่อนข้างต่อต้าน ส่วนเด็กที่เป็นทายาทรุ่นที่ 2 นั้นสถานศึกษามีมุมมองว่าเป็นเด็กที่มีความรับผิดชอบ ตั้งใจเรียน เชื่อฟังครูและกฎระเบียบสถานศึกษา รวมทั้งมีความอดทนสูง 


2. กลยุทธ์การสอนออนไลน์ในโรงเรียนของคนจนเมือง 

ตามนโยบายของกระทรวงศึกษา การเรียนแบบออนไลน์และทางไกลในช่วงการระบาดโควิด-19 ระลอกแรก เน้นในเด็กระดับประถมศึกษาปีที่ 3 ขึ้นไป เนื่องจากอายุและพัฒนาการของเด็กเริ่มมีความสามารถในการเรียนด้วยตนเองได้ ส่วนเด็กในระดับประถมศึกษาปีที่ 1-2 และเด็กชั้นอนุบาลที่มีอายุระหว่าง 4-6 ปีให้ผู้ปกครองดูแลตามศักยภาพ 

2.1 กลยุทธ์การสอนออนไลน์ตามนโยบายในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 

ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อที่เด็กจะขยับเข้าสู่ชั้นมัธยมต้น โรงเรียนที่มีคุณภาพการศึกษาสูงจะใช้การสอบแข่งขันในการรับเข้า เด็กหัวกะทิของโรงเรียนเทศบาลจึงมักขยับขยายในช่วงชั้นหลังระดับชั้นปีที่ 6 เช่นกัน ข้อมูลที่เปิดเผยได้ในแต่ละสถานศึกษา พบว่าเด็กระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 - 6 ประมาณ 15-20 % ที่มีโทรศัพท์มือถือประเภท Smartphone ส่วนใหญ่เป็นเด็กระดับ ป.5-ป.6 ส่วนที่เหลือมักใช้ร่วมกับผู้ปกครอง แต่ Smartphone ที่เด็กและครอบครัวมีใช้ในชีวิตประจำวันยังมีศักยภาพจำกัดในการใช้งานเพื่อการเรียนแบบเข้มข้น เช่น หกถึงแปดชั่วโมงตามตารางเรียนที่กระทรวงกำหนด ดังนั้น Smartphone ที่รองรับการเรียนออนไลน์ต้องมีความเสถียรในการรองรับคลื่นความถี่ ครูเผยว่าจากการสำรวจ ครอบครัวจำนวนมากยังมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณเพื่อหาชื้อ Smartphone ที่มีศักยภาพสูง ยิ่งไปกว่านั้นยังรวมถึงค่าบริการสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ข้อมูลของครูสอดรับกับข้อมูลของผู้ปกครองที่จะกล่าวต่อไป ส่วนอุปกรณ์ดิจิทัลอื่นๆ เช่น โทรทัศน์ดิจิทัล คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และ แท็บเล็ต นั้นแทบไม่ปรากฏในกลุ่มเด็กข้ามชาติ ครูประเมินว่าค่าใช้จ่ายของครอบครัวเพื่อเข้าถึงสัญญาญอินเตอร์เน็ตเพื่อการศึกษาออนไลน์นั้นไม่น้อยกว่า 500 บาทต่อเดือนซึ่งอาจเป็นต้นทุนที่สูง จากการสังเกตพบว่าทุกโรงเรียนมีอุปกรณ์เครื่องรับโทรทัศน์เชื่อมต่อสัญญาญดาวเทียมกับแม่ข่ายการเรียนทางไกลอยู่จำนวนหลายเครื่อง แม้ไม่ครบทุกชั้นเรียน โทรทัศน์ระบบดิจิทัลประเภทนี้รัฐจัดสรรให้ตามนโยบายเรียนออนไลน์ อย่างน้อย 2 เครื่องต่อโรงเรียน แต่โทรทัศน์ระบบดิจิตอลไม่มีในบ้านของเด็ก โทรทัศน์ในสถานศึกษาจึงไม่สามารถตอบสนองนโยบายการเรียนออนไลน์ได้ 

ภาพที่สะท้อนให้เห็นในโรงเรียนเทศบาลคือการปรับตัวตามมีตามเกิด การเรียนออนไลน์ที่แต่ละสถานศึกษาประยุกต์ในระดับชั้นป 6 คือการใช้แพล็ตฟอร์มไลน์เพื่อสื่อสารกับเด็ก เช่น การสั่งงานและนัดหมายรับส่งชิ้นงาน ข้อมูลจากสถานศึกษาไม่ปรากฏว่าครูใช้แพล็ตฟอร์ม อื่น เช่น Facebook Google classroom หรือ Zoom Meeting ในการสอน ครูจัดทำเอกสารรายวิชาตามที่พอจะทำได้ เช่น ถ่ายเอกสารหนังสือเรียน คู่มือแบบฝึกหัดพร้อมใบงานแล้วเย็บเล่มนำส่งให้เด็กไปเรียนด้วยตัวเอง บางโรงเรียนครูนัดให้เด็กมารับใบงานและมาส่งชิ้นงานที่โรงเรียน พร้อมรับเอกสารชิ้นงานสำหรับสัปดาห์ถัดไป บางโรงเรียนให้เด็กมารับชิ้นงานทุกๆ 2 สัปดาห์ บางโรงเรียนไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด ผู้อำนวยการสถานศึกษายอมรับว่าภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับนโยบายการเรียนออนไลน์ในช่วงพฤษภาคมถึงมิถุนายน คือการที่ไม่สามารถประยุกต์ใช้สอนได้จริง ด้วยข้อจำกัดของทุกฝ่าย มิหนำซ้ำหลายสถานศึกษาพบว่าครูต้องนำเงินส่วนตัวมาเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดทำเอกสารให้เด็กเรียนที่บ้าน ผู้นำสถานศึกษายอมรับว่าการเรียนรู้ของเด็กในห้วงโควิด-19 ถดถอย แม้สถานศึกษาได้ชดเชยหลังการเปิดภาคเรียนโดยการเพิ่มเวลาเรียนอีกวันละหนึ่งชั่วโมงในตอนเย็นก็ตาม บางโรงเรียนจัดให้เด็กมาเรียนในวันเสาร์ จำนวนสองครั้งในหนึ่งเดือน แต่นั่นก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีโดยเฉพาะในระยะยาว การถดถอยทางการศึกษายังสะท้อนผ่านการเรียนในยุคโควิด-19 ที่เน้นการบรรยายจากครู แต่ลดการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน เช่น การเรียนผ่านกิจกรรม การเข้าค่าย การเรียนรู้นอกสถานศึกษา และการทดลองต่างๆ เนื่องจากโรงเรียนยังต้องปฏิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม ข้อมูลจากเด็กสะท้อนอย่างตรงไปตรงมาว่าพวกเขาส่วนใหญ่อยู่บ้าน โดยมิได้เรียนออนไลน์แต่อย่างใด

2.2 กลยุทธ์การสอนออนไลน์ตามนโยบายในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 

ผู้นำสถานศึกษาเผยว่าเด็กในระดับนี้มีความปรารถนาจะเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น จากการสำรวจเบื้องต้น เด็กส่วนใหญ่มีโทรศัพท์มือเป็นของตนเอง แต่ไม่ถึง 10% ที่มีคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่บ้านและแท็บเล็ต รวมทั้งมีโทรทัศน์ระบบดิจิทัลที่รับสัญญาณดาวเทียมเพื่อเรียนทางไกลกับบทเรียนที่ทางกระทรวงศึกษาธิการได้จัดเตรียมไว้ทั้งหมด 17 ช่วง สถานีแม่ข่ายเหล่านี้ได้ถ่ายทอดทุกวิชา ทุกระดับชั้น กำหนดตารางเรียนเสมือนเด็กอยู่ในห้องเรียนจริงตามเวลาเรียนปกติของเด็กคือแปดชั่วโมงต่อวัน เด็กที่มีเพียงโทรศัพท์ Smartphone ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากหน้าจอเล็กมองภาพไม่ชัดเจน อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงสัญญาญอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ปัญหาข้างต้นประสบในเด็กกลุ่มอื่นอยู่บ้างเช่นกัน เนื่องจากผู้ปกครองทยอยกันตกงาน สถานศึกษาหนึ่งแห่งที่เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์โดยใช้ Platform อาทิ Microsoft Team Google hangout และ Zoom กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้ครบถ้วนทุกวิชา ครูส่วนใหญ่ทำได้เพียงจัดทำเอกสารให้เด็กไปศึกษาด้วยตนเองที่บ้าน ไม่ต่างจากชั้น ป. 6

ข้อมูลจากภาคสนามเผยให้เห็นการปรับตัวอย่างทุลักทุเลของเด็กทายาทรุ่นที่ 2 และครอบครัว ด้วยข้อจำกัดข้างต้น เช่น กรณีหนึ่งย้ายไปเรียนกับ “ครูตู้” แทน กรณีต่อมา ผู้ปกครองลงทุนชื้อโทรทัศน์ดิจิทัล ส่วนกรณีที่สาม อาศัยเรียนผ่านมือถือร่วมกับเพื่อน เป็นต้น นอกจากนี้ในกลุ่มเด็กระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ยังมีความกังวลกับข้อจำกัดด้านทรัพยากรของ “บ้าน” มากกว่าเด็กในระดับชั้นป 6 กรณีหนึ่งเล่าว่าในสถานการณ์ที่ไม่มีโรคระบาดพวกเขาอาจไปเรียนร่วมกับเพื่อนที่มีอุปกรณ์ดิจิทัลได้ แต่เมื่ออยู่ท่ามกลางการระบาดโควิด-19 เด็กมีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตรวมหมู่ สภาพจิตใจของเด็กในระดับนี้ค่อนข้างบอบซ้ำ เนื่องจากเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เด็กคาดหวังจะเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องผ่านการคัดเลือก แต่การเรียนทางไกลไม่มีครูคอยช่วยเหลือเพื่อทำความเข้าใจบทเรียน ทำให้เด็กกังวลกับการเรียนรู้ของตน เด็กที่เรียนผ่านมือถือร่วมกับเพื่อน ยอมรับว่าไม่เข้าใจบทเรียน การเรียนไม่ต่อเนื่อง เหนื่อยล้าและเบื่อหน่าย จนท้อถอยและถดถอยเรื่องการเรียน อย่างไรก็ตามเด็กเชื่อว่าโรงเรียนและครูจะไม่ปล่อยให้พวกเขาเรียนซ้ำชั้น 


3. ผู้ปกครอง: กลยุทธ์การเรียนออนไลน์และเพื่อการมีชีวิตรอด

3.1 ชีวิตและงานของแรงงานไทใหญ่ท่ามกลางโควิด-19


ดังที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านถูกนโยบายของรัฐไทยจัดวางให้เป็นแรงงานชั่วคราว อยู่นอกกฎหมายประกันสังคม และบริการสาธารณสุขพื้นฐาน รัฐไทยออกเอกสารเข้าเมืองประเภททำงานครั้งละ 2 ปี ข้อมูลภาคสนามจาก 13 ครอบครัว ซึ่งอยู่ในไทยมาไม่น้อยกว่า 10 ปี ผู้ปกครองส่วนใหญ่เข้ามาตั้งแต่วัยหนุ่มสาว บางคนกลับไปตั้งครอบครัวที่รัฐฉานแล้วโยกย้ายมาอีกครั้ง บางคนตั้งครอบครัวที่นี่และใช้ชีวิตลื่นไหลปรับเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ เนื่องจากการจ้างงานแบบชั่วคราวและได้ค่าตอบแทนน้อยในภาคการผลิตและบริการ เช่น รับจ้างเข็นรถส่งสินค้าและบริการในตลาดสดต่างๆ อย่าง ตลาดเมืองใหม่ ตลาดวโรรส ตลาดต้นลำไย ทำความสะอาดตลาดสด รับจ้างทำความสะอาดพืชผักและตัดแต่งมัดห่อ ร้อยพวงมาลาลัยดอกไม้สด ช่วยจัดวางสินค้าตามแผง บางครอบครัวรับจ้างร้อยและขายพวงมาลัยดอกไม้สดตามวัด พื้นที่สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสี่แยกไฟแดง ผู้ปกครองจำนวนหนึ่งทำงานเป็นแม่บ้านในสถานบันเทิง คลับบาร์ โรงแรม เป็นผู้ดูแลหอพัก รับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้าและกระเป๋าผ้าส่งจำหน่ายไปยังตลาดขายส่งที่กรุงเทพฯ อีกส่วนหนึ่งมีอาชีพจำหน่ายอาหารไทใหญ่ และขายของที่ระลึกตามริมฟุตบาทในย่านการท่องเที่ยว ครอบครัวที่ผันตัวเองมาเป็นผู้ประกอบการรายย่อยมีสองครอบครัวซึ่งทั้งสามีและภรรยาอพยพมาประเทศไทยตั้งแต่วัยหนุ่มสาว

ในช่วงโควิค-19 ระลอกแรก ผู้ปกครองแรงานข้ามชาติที่ให้ข้อมูลในฐานะผู้แทนหน่วยครอบครัว มีทั้งเสียงผู้หญิงและผู้ชาย สามารถแบ่งได้เป็นสามกลุ่มตามระดับของผลกระทบดังนี้ กลุ่มแรก (3 ราย) พบว่าภรรยาตกงานส่วนสามียังคงมีงานทำ รายได้สองแรงลดลงเหลือแรงเดียว พอประคับประคองชีวิตให้อยู่รอดแบบวันต่อวัน พวกเขายังมีที่พัก อาหารยังชีพและหน้ากากอนามัย กลุ่มที่สอง (3 ราย) พบว่ารายได้ของสามีภรรยาลดลงเหลือประมาณหนึ่งในสามจากภาวะปกติ เนื่องจากนายจ้างลดเวลาทำงาน ส่วนกลุ่มที่เหลือ (7 ราย) แทบไม่มีรายได้เพราะไร้การจ้างงานทั้งคู่ ผู้ปกครองกลุ่มแรกทำงานเป็นผู้ดูแลหอพัก กลุ่มที่สองเป็นยามรักษาความปลอดภัยและแม่บ้านโรงแรม กลุ่มที่สามหารายได้จากการรับจ้างรายวันทั่วไป สองครอบครัวในกลุ่มนี้ เขยิบฐานะเป็นผู้ประกอบการรายย่อยขายอาหารริมฟุตบาท มีสภาพพอประทังชีวิตเช่นกัน โดยเล่าว่าก่อนหน้านี้เคยมีรายได้ 500-1000 บาทต่อวัน 

ทุนทางเศรษฐกิจของครอบครัวเด็กก่อนเกิดโควิค-19 นั้นมีรายได้รวมกันประมาณ 20,000 บาทในแต่ละเดือน รายได้แม้เล็กน้อยทว่ามีเงินออมสำหรับการผลิตซ้ำทุนทางสังคมและวัฒนธรรมเช่นการศึกษาของบุตร และส่งกลับไปยังบ้านเกิดในรัฐฉานเป็นครั้งคราว นอกจากนี้ยังเป็นทุนหล่อเลี้ยงกำลังแรงงานเพื่อการทำงานในวันถัดไป ได้แก่ ค่าเช่าที่พักตั้งแต่ 2000-3500 บาทต่อเดือน อยู่รวมกันทั้งครอบครัวเฉลี่ยประมาณ 3.4 คน ค่าอาหาร ค่าน้ำค่าไฟ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกเล็กน้อย รายได้อีกส่วนจัดเก็บเป็นเงินออมในการต่ออายุบัตรทำงานและเอกสารเข้าเมือง (passport) ด้วยจำนวนรายจ่ายหลากหลายประเภท ปรากฏว่าก่อนหน้าวิกฤติโควิด-19 นั้น พ่อหรือแม่พยายามหางานพิเศษทำเท่าที่โอกาสจะเอื้ออำนวย เช่น ในวันหยุดหรือช่วงค่ำ เป็นต้น 

การหดตัวทางเศรษฐกิจในเมืองเชียงใหม่ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 แรงงานในกลุ่มท่องเที่ยวและบริการถูกลดเวลางานลง เช่น แรงงานชายได้รับงานสองถึงสามวันในหนึ่งสัปดาห์ ส่วนในภาคส่วนอื่นๆ แหล่งรายได้เริ่มหดหาย ครอบครัวจึงนำเงินออมมาประคองความอยู่รอด อย่างไรก็ตามในงานวิจัยนี้ผู้ปกครองเด็กแสดงท่าทีและความใฝ่ฝันที่จะอดทนอยู่ในเมืองเชียงใหม่จนกว่าเด็กจะสำเร็จการศึกษาและเข้าสู่ตลาดแรงงานได้โดยตัวพวกเขาเอง เด็กในระดับ ป.6 และม.3 ได้วาดฝันอนาคตในประเทศไทย เช่น เรียนต่อในระดับอาชีวศึกษา อุดมศึกษา และทำงานในสายงานที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิต เช่น ครู แพทย์ พยาบาล นักขับเครื่องบิน ศิลปิน และเจ้าของธุรกิจ แม้จะยังมองไม่เห็นหนทางแต่ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นถึงการวางตำแหน่งแห่งที่ของเด็กทายาทรุ่นที่ 2 ที่ต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย บางคนระบุตัวตนในฐานะพลเมืองไทยเพราะ “เกิดที่นี่ พูดไทยและเรียนโรงเรียนไทย” 

จากการบอกเล่าของครูและครอบครัวเด็ก แรงงานครอบครัวอื่นๆ สร้างกลยุทธ์การเอาตัวรอดหลากหลายรูปแบบซึ่งกระทบต่อการศึกษาของเด็ก เช่น เริ่มขยับขยายออกจากชุมชนใจกลางเมืองเชียงใหม่ไปยังแถบชานเมืองอย่างอำเภอหางดง อำเภอสันทราย ซึ่งมีระยะห่างจากเมืองชั้นในประมาณ 15-20 กิโลเมตร มีบางครอบครัวได้ย้ายมาอยู่รวมกันในพื้นที่ห้องเช่าเล็กๆ เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านที่พัก บางครอบครัวเล่าว่าแรงงานโสดที่ตกงานกำลังผันตัวเองเป็นคนไร้บ้าน กลยุทธ์ข้างต้นน่าจะส่งผลต่อการศึกษาของเด็กในระยะยาว แม้ว่าการเอาเด็กออกจากโรงเรียนและย้ายกลับประเทศจะเป็นทางออกสุดท้ายก็ตาม

งานวิจัยอื่นก่อนหน้านี้ (จารุวรรณ ไพศาลธรรม, 2559; Anansuchartkul, 2011; Nawarat, 2018) วิเคราะห์วิธีคิดและกลยุทธ์การลงทุนทางการศึกษาของทายาทแรงงานข้ามชาติ ต่างชี้ว่าแรงงานข้ามชาติทุ่มเทลงทุนทางการศึกษาของทายาท อีกนัยยะเป็นการสร้างทุนทางวัฒนธรรมที่คาดหวังการเลื่อนสถานะทางสังคมของครอบครัวผ่านรุ่นที่ 2 กลยุทธ์ปรากฏทั้งในรูปแบบการทุ่มเทตัวเงินและทรัพยากรอื่นๆ การลงทุนประเภทที่สอง คือการปลูกฝังลักษณะนิสัย (habitus) เด็กให้คล้อยตามกฎระเบียบโรงเรียน เช่น แต่งกายสะอาดสะอ้าน ผู้ปกครองทุ่มเทเข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียน การอุทิศเหล่านี้ทำให้โรงเรียนเห็นอกเห็นใจเด็กที่เป็น”คนอื่น” ท่ามกลางวิธีคิดแบบแยกเขาแยกเรา งานเหล่านี้ชี้ว่าครอบครัวยังสนับสนุนทางการศึกษาของเด็ก โดยบ่มเพาะอุปนิสัยรักการเรียนผ่านเรื่องเล่าต่างๆ เช่น ความยากลำบากของตนในอดีตและปัจจุบัน ความหวังในชีวิตที่ดีกว่าการทำงานหนัก เป็นต้น ในงานของ Yosso (2005) เสนอมิติทุนที่เรียกว่า “community cultural wealth”ของชุมชนแรงงานข้ามชาติในสหรัฐอเมริกาที่ชี้ว่าความมั่งคั่งทางวัฒนธรรมของชุมชน คือทุนทางวัฒนธรรมที่เด็กได้สะสมเพื่อสร้างแรงขับทางการศึกษาของพวกเขา เช่นเดียวกันในการศึกษานี้ครูในโรงเรียนเทศบาลเผยให้เห็นถึงทุนเหล่านี้โดยย้ำเสมอว่า “ผู้ปกครองไทใหญ่สนใจการศึกษาของลูกมากกว่าผู้ปกครองคนไทย คนเมือง… ส่วนเด็ก ใส่ใจการศึกษา เคารพระเบียบวินัย มีความหวังและอดทนสูง” 

3.2 โทรทัศน์ดิจิทัล Smartphone หรือหน้ากากอนามัย

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าแรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 ถาโถมระลอกแรก ส่งผลสะเทือนต่อการเรียนรู้ของเด็กมิใช่น้อย ในบรรดา 13 ครอบครัว มีเพียงหนึ่งครอบครัวเท่านั้นที่สามารถลงทุนชื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่ที่สามารถรับสัญญาณดาวเทียมได้เพื่อใช้ประโยชน์ในการเรียนทางไกลของบุตร ซึ่งอยู่ในชั้นม.3 ส่วนครอบครัวอื่นๆ ไม่พบการซื้ออุปกรณ์อื่นใดเพื่อการเรียนออนไลน์ ครอบครัวส่วนใหญ่ระบุว่ารู้สึกกังวลกับการเรียนของลูก ทว่าค่าใช้จ่ายที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ คือ ค่าเช่าที่พักอาศัย อาหาร และหน้ากากอนามัย นี่คือสภาพชีวิตที่หายใจอยู่บนความเป็นความตาย เพราะต้องรักษาชีวิตให้รอดจากความอดยากและการเจ็บป่วยของสมาชิกในครอบครัว นอกจากนี้ยังหวาดหวั่นต่อท่าทีเบียดขับของสังคมไทยจากมาตรการความช่วยเหลือต่างๆ คุณแม่รายหนึ่งเล่าว่า “…ระยะนี้…ต้องเก็บเงินซื้อหน้ากากผ้าและเจลล้างมือ…กว่าหลายร้อยบาทต่อเดือน” “ให้ลูกเก็บตัวอยู่บ้าน พ่อแม่ออกไปชื้อของกินของใช้ที่จำเป็นให้” 

ดังที่กล่าวข้างต้นว่าแรงงานข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานของรัฐไทย เมื่อเจ็บป่วย ครอบครัวต้องรับการรักษาจากคลินิกเอกชน หน่วยงานรัฐและเทศบาลที่บริจาคหน้ากากอนามัยและสิ่งของอุปโภคบริโภคต่างๆ ในวิกฤติโควิด-19 มักจะนึกถึงคนไทยเป็นหลัก ข้อมูลเรื่องแรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือได้รับการพูดถึงในวงกว้าง ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ เช่นกัน เช่นในรายงานขององค์กรยูนิเซฟและเครือข่าย (UNICEF, 2563) ส่วนตาข่ายนิรภัยชุมชนนั้นแม้จะครอบคลุมแต่จำกัดด้วยทรัพยากร เช่น พบว่าประชาสังคมไทยจำนวนไม่น้อยแสดงจุดยืนทางเมตตาธรรมสร้างตาข่ายนิรภัยชุมชนเฉพาะกลุ่มเฉพาะจุด (วัด โบสถ์ มัสยิด แคมป์คนงาน หอพัก เป็นต้น) ระดมทรัพยากรช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ เช่น เครือข่ายนักวิชาการเพื่อแรงงานข้ามชาติ ครอบครัวที่ให้ข้อมูลระบุว่า ได้รับสิ่งของบริจาคจากชุมชนและสถาบันศาสนาอยู่หนึ่งถึงสองครั้งซึ่งจะถูกใช้หมดในเวลาเพียงหนึ่งถึงสองสัปดาห์ (สิ่งของที่ได้รับ เช่น ไข่ไก่ 10 ฟอง ข้าวสาร 2 กิโลกรัม ปลากระป๋อง นมกล่อง บะหมี่สำเร็จรูป หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ อาหารแห้งอื่นๆ) ส่วนการตั้งโต๊ะแจกอาหารหรือตู้บริจาค เช่น ตู้ปันสุข คุณแม่อย่างน้อยสามรายเล่าถึงประสบการณ์ว่าเข้าถึงได้ยากเพราะไม่ทราบข่าว อยู่ห่างไกลแหล่ง หรือบางแห่งเน้นช่วยเหลือเฉพาะชุมชนคนไทย


 ข้อท้าทาย: นโยบายเรียนออนไลน์ในวิกฤติโควิด-19 และผลกระทบต่อทุนมนุษย์ของทายาทแรงงานรุ่นที่ 2 

1. จุดตัดระหว่างการมีชีวิตรอดและการเรียนออนไลน์


เป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจ ที่คนจนเมืองกลุ่มใหม่ ได้หยิบเลือกกลยุทธ์การเอาชีวิตรอดมาก่อนการลงทุนทางการศึกษาเพื่อความมั่นคงในอนาคต คาดว่าเป็นการจัดลำดับความสำคัญของครัวเรือน ที่ไร้ต้นทุนทั้งทางเศรษฐกิจและสวัสดิการ ทุกครอบครัวลงทุนเรื่องสุขภาพทั้งในรูปเม็ดเงินเฝ้าระวังการติดเชื้อ และรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด  จัดชื้อหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์ล้างมือในอัตราที่สูง ทว่าไม่มีการลงทุนทางการศึกษา เช่น โทรทัศน์ดิจิตอล โทรศัพท์มือถือ และบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง นอกจากนี้หลายครอบครัวยังระบุว่า พ่อแม่เป็นผู้ออกไปหาอาหารและสิ่งของจำเป็นให้เด็ก ทั้งหมดนี้เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อสู่เด็ก พ่อแม่ที่ให้ข้อมูลแสดงความวิตกกังวลค่อนข้างสูงต่อการแพร่เชื้อและป้องกันการติดเชื้อในทุกวิถีทาง

กลยุทธ์ประนีประนอมในการลงทุนทางการศึกษามาสู่การเอาชีวิตรอดในลักษณะนี้ วิเคราะห์ได้ว่ามิใช่ทางเลือกของปัจเจกแต่สะท้อนปัญหาในระดับโครงสร้างของระบบทุนนิยมไทย ที่จัดวางแรงงานทางเศรษฐกิจให้อยู่ในตำแหน่งแห่งที่ที่แทบเปลือยเปล่า ไม่มีเกราะคุ้มกันและไร้พลังต่อรองกับระบบ แม้ประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์ให้ความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก (World Health Organization -WHO) มาโดยตลอด ตามธรรมนูญของ WHO นั้น การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับ โดยไม่คำนึงถึงชนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคม เพศสภาพและการจำแนกมนุษย์ในลักษณะอื่น เช่น เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ความเชื่อ และอุดมการณ์ทางการเมือง  

นโยบายสาธารณสุขที่กีดกั้นพลเมืองทางเศรษฐกิจที่มิได้เป็นพลเมืองไทย สะท้อนว่าสิทธิขั้นพื้นฐานในการมีชีวิตรอดของมนุษย์บางกลุ่มเช่นคนจนที่มีอัตลักษณ์ทับซ้อนกับความเป็นคนพลัดถิ่น คนข้ามชาติ และแรงงานต่างด้าวนั้นกำลังถูกละเมิดสิทธิ ทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นกำลังสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่แตกต่างจากพลเมืองไทยคนอื่นๆ กรณีของเด็กนั้นรัฐไทยได้เข้าร่วมเป็นรัฐภาคีสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งตามหลักสากลแล้วรัฐภาคีมีพันธสัญญาเรื่องการสร้างหลักประกันทั้งในเรื่องการศึกษาและการมีชีวิตรอดให้กับเด็กทุกคน ไม่จำเพาะแต่พลเมืองของตน การกีดกันและการปฏิเสธการเข้าถึงบริการสาธารณะสุขในระยะโควิด-19 นี้ชี้ให้เห็นถึงภัยคุกคามต่อสิทธิของเด็ก การออกแบบนโยบายสาธารณสุขลักษณะนี้ได้ผลักภาระให้ครอบครัวแรงงานข้ามชาติแบกรับการมีชีวิตรอดของเด็กตามลำพัง ซึ่งนับว่าเป็นประเด็นที่ควรได้รับการทบทวนอย่างเร่งด่วน ในระบบสวัสดิการที่ยังอยู่ภายใต้วิธีคิดแบบชาตินิยมในขณะที่ประเทศต้องพึ่งพาแรงงานทางเศรษฐกิจจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเข้มข้น

ด้วยแง่มุมข้างต้น อาจวิเคราะห์ได้ว่าในมุมของครอบครัว การประนีประนอมคือการซ้ำเติมความล่อแหลมเปราะบางลงสู่เด็ก เพราะการเข้าถึงการศึกษาในประเทศไทยนับเป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มทุนมนุษย์ (human capital) และเพิ่มทุนการเป็นผู้กระทำการ (human agent) ลงในตัวเด็ก  ในระยะสั้นนั้นเด็กเข้าถึงทักษะทางภาษาของเจ้าบ้านที่เป็นทุนทางวัฒนธรรมได้คอยเกื้อหนุนพ่อแม่สำหรับสื่อสารในชีวิตประจำวัน และการเข้าถึงเอกสารราชการและอื่นๆ ทักษะทางภาษาของทายาทเหล่านี้นอกจากได้ช่วยบรรเทาความหวาดกลัวของผู้อพยพเมื่อต้องเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในสังคมเจ้าบ้านแล้ว ภาวะความแปลกแยกเป็นอื่นย่อมลดน้อยลงด้วย สำหรับระยะยาว การลงทุนทางการศึกษาจะนำไปสู่โอกาสทางเศรษฐกิจที่เปิดกว้างมากขึ้นเด็กทายาทรุ่นที่ 2 ที่ผ่านระบบการศึกษาไทยจึงย่อมมีทุนทางวัฒนธรรม เช่น ภาษาไทย วุฒิการศึกษา เครือข่ายทางสังคม (การเป็นศิษย์ของโรงเรียน/วิทยาลัย/มหาวิทยาลัย) ซึ่งองค์ประกอบสำคัญของทุนทางวัฒนธรรม (cultural capital) และทุนทางสังคม (social capital) ที่จะช่วยโอบอุ้มชุบชีวิตระยะยาวของเด็กและครอบครัว การสะสมบ่มเพาะทุนเหล่านี้จึงต้องมีความต่อเนื่อง ในครรลองของผู้อพยพรวมทั้งครอบครัวคนไทใหญ่นั้น การลงทุนทางการศึกษาของลูกเป็นปฏิบัติการที่พวกเขามองเห็นเป้าหมาย และครอบครัวได้ทุ่มเทการเพิ่มทุนเหล่านี้มาโดยตลอด อีกนัยหนึ่ง การเพิ่มทุนเหล่านี้มีความคาดหวังว่าพรมแดนทางวัฒนธรรมระหว่างไทยและไทใหญ่จะพร่าเลือนมากขึ้นในอนาคต บทบาทของโรงเรียนอีกนัยยะหนึ่งจึงเป็นพื้นที่สร้างความพร่าเลือน ความยืดหยุ่นทางวัฒนธรรมระหว่างเด็กไทใหญ่ในรุ่นที่ 2 กับสังคมไทยและท้องถิ่นเชียงใหม่

2. นโยบายการเรียนออนไลน์: รัฐและบ้าน

จุดอ่อนด้านนโยบายการเรียนออนไลน์ในยุคโควิด-19  ระยะที่ 1 นั้น ปฏิเสธมิได้ว่าเกิดจากรัฐมิได้วิเคราะห์วงจรการเรียนรู้ของผู้เรียนจากต้นน้ำถึงปลายน้ำคือบ้านและผู้เรียน โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรเปราะบางต่างๆ การทุ่มเทงบประมาณจำนวนมหาศาลของรัฐจึงแทบสูญเปล่า เช่นผลิตองค์ความรู้ป้อนสู่ระบบการเรียนทางไกล และเสริมศักยภาพหน่วยงานรัฐคือโรงเรียน โดยจัดชื้ออุปกรณ์โทรทัศน์ดิจิทัลรวมทั้งแพล็ตฟอร์มต่างๆ และขยายช่องทางการเรียนทางไกล 

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกประชาคมอาเซียนด้วยกัน ปรากฏว่านโยบายการเรียนออนไลน์โดยใช้บ้านเป็นฐานจัดการเรียนรู้ได้ถูกจัดการในรูปแบบที่แตกต่างจากประเทศไทยค่อนข้างมาก สิงคโปร์ได้วิเคราะห์ชนชั้นทางเศรษฐกิจของบ้านและผู้เรียน ก่อนการระบาดโควิด-19 ระยะที่  1 รัฐบาลได้เข้ามาอุดหนุนครัวเรือนให้สามารถเข้าถึงอุปกรณ์และเทคโนโลยีดิจิทัลตามระดับชนชั้นทางเศรษฐกิจ เช่น ครัวเรือนรายได้สูงไม่ได้รับการอุดหนุนในการเข้าถึงดิจิทัลเทคโนโลยีโดยตรง ส่วนครัวเรือนรายได้น้อยและยากจน รัฐมีนโยบายตั้งแต่ลดและยกเว้นค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และจัดหาอุปกรณ์เช่นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะมือสองให้ทุกครัวเรือน ในระยะการแพร่ระบาด รัฐบาลเพิ่มการอุดหนุนเด็กตั้งแต่อายุ 12 ปี ขึ้นไปและกลุ่มเด็กพิเศษ รวมถึงมีการยกเว้นค่าบริการสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้สถานศึกษาและเด็กเป็นเวลาสามปี  นอกจากนี้รัฐยังอุดหนุนงบประมาณเพื่อให้ทุกครัวเรือนใช้บ้านเป็นฐานการทำงานและเรียนรู้ โดยสนับสนุนให้เอกชนผลิตคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะราคาถูก และอุดหนุนครัวเรือนให้เข้าถึงคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะมือสอง (The Strait Times, 2021) เป็นต้น 

ดังนั้นจึงวิเคราะห์ได้ว่าการเข้าไม่ถึงการเรียนออนไลน์ของทายาทแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นพลเมืองทางการศึกษากลุ่มหลักของเมืองเชียงใหม่นั้นเป็นจุดอ่อนของนโยบายการเรียนออนไลน์ของไทย ซึ่งได้ซ้อนทับลงไปในชีวิตชายขอบของการเป็นคนจนเมืองที่เข้าไม่ถึงส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสวัสดิการอย่างเป็นธรรม อันเป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมไทยก่อนที่วิกฤติโควิด-19 ระบาด  และปฏิเสธมิได้ว่าวิกฤติโควิด-19  ได้เพิ่มความเข้มข้นของปัญหาและสร้างผลกระทบระยะสั้นและระยะยาวต่อการสะสมทุนมนุษย์ในกลุ่มเด็กข้ามชาติ  ที่ตกอยู่ฐานล่างของสังคม ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นข้อท้าทายในเชิงนโยบายสาธารณะ ดังที่รับรู้กันว่าประเทศไทยได้ประกาศยุทธศาสตร์ “การศึกษา 4.0” มาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 ซึ่งยุทธศาสตร์การศึกษา 4.0 นี้มีจุดเน้นสำคัญในเรื่องการนำเข้าความรู้ที่ลื่นไหลอยู่ในแพล็ตฟอร์มและแอ็พพลิเคชันต่างๆ บนโลกออนไลน์สู่การเรียนรู้ของเด็ก รวมทั้งการใช้แพล็ตฟอร์มและแอ็พพลิเคชันออนไลน์มาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน การขยายคลื่นความถี่ความเร็วสูงสู่พื้นที่ชนบท ซึ่งกรณีศึกษานี้ได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่าเพดานความสำเร็จของนโยบายข้างต้นยังอยู่ในระดับที่น่ากังวล

 

เอกสารอ้างอิง
ภาษาไทย

กรุงเทพธุรกิจ. (2563, พฤษภาคม, 7). เดินหน้าทดสอบ 'เรียนออนไลน์' 18 พ.ค. แต่บ้าน 20% ที่ไม่พร้อมต้องทำอย่างไร. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/879275  
จารุวรรณ ไพศาลธรรม. (2559). แนวทางการจัดการศึกษาของบุตรหลานแรงงานข้ามชาติ (ไทใหญ่) ในเมืองเชียงใหม่. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์).
จุฑาทิพย์ จงวนิชย์ และคณะ. (2563, เมษายน 1). มาตรการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก COVID-19: เพียงพอหรือยัง?. สืบค้นจาก https://waymagazine.org/economic-and-side-effect-by-covid-19.  
สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา. (2561). เด็กยากจน 1.69 ล้านคน พวกเขาและเธออยู่ที่ไหน?. สืบค้นจาก https://www.eef.or.th/เด็กยากจน/
สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2563). สพฐ. ร่วมมือเปิดตัว DEEP แพรตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการศึกษาไทย ยุคใหม่. สืบค้นจาก https://www.obec.go.th/archives/304818.
สำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว. (2562; 2563). สถิติสถานการณ์แรงงานต่างด้าวประจำเดือนสิงหาคม  2563 และ 2563. กรุงเทพฯ: กรมจัดหางาน สำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว ประเทศไทย.
BBC News. (2563, กันยายน, 29). โควิด-19: ธนาคารโลกคาดสิ้นปีเศรษฐกิจไทยติดลบอย่างน้อย 8.3% ต่ำสุดในภูมิภาคอาเซียน ด้าน ครม.มีมติต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีกหนึ่งเดือน. สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-54338090.  
UNICEF Thailand. (2563, สิงหาคม, 7). ความช่วยเหลือเพื่อชุมชนแรงงานข้ามชาติ: ปกป้องคุมครองผู้เปราะบางในช่วงเวลาวิกฤติ. สืบค้นจาก https://www.unicef.org/thailand/th/stories/
ภาษาอังกฤษ
Bourdieu, P. (1986). The forms of capital. In Richardson, J., Handbook of theory and research for the sociology of education (pp. 241-258). Westport: Greenwood.
Bourdieu, P. (1998). Acts of resistance: Against the new myths of our time. New York: The New Press.
Chan, O. N. (2019). Challenges of upper secondary and vocational education for Myanmar migrants in Thailand. The first international development forum in Thailand “Well-being, social inclusion and sustainable development” (pp. 1-16). Retrieved from https://www.gsid.nagoyau.ac.jp/ja/files/Thailand_Forum%20Proceedings_19Nov2019.pdf#page=4
International Organization for Migration (IOM). (2020). IOM Thailand assistance to migrant children. Retrieved from https://thailand.iom.int/sites/default/files/Infosheets/IOM%20Infosheet%20-%20Assistance%20to%20Migrant%20Children.pdf
Nawarat, N. (2018). Education obstacles and family separation for children of migrant workers in Thailand: a case from Chiang Mai. Asia Pacific Journal of Education, 38(4), 488-500.
Pemika, S. (2017). Thailand’s labor security and the future of education for the offspring of migrant workers. Journal of Criminology and Forensic Science, 3(2), 1-10. Retrieved from https://so02.tci-thaijo.org/index.php/forensic/article/view/187690
Petchot, K. (2014). 17 the right to education for migrant children in Thailand: Liminal legality and the educational experience of migrant children in Samut Sakhon. Migration, Gender and Social Justice (pp. 307-323). Berlin: Springer.
Rattanakhamfu, S. (2020). Covid-19 emphasizes the need to bridge the digital divide and reduce online educational inequality. Retrieved from https://tdri.or.th/en/2020/05/covid-19-emphasizes-the-need-to-bridge-the-digital-divide-and-reduce-online-educational-inequality/
The Strait Times. (2021). Covid-19 pandemic shows children's well-being and success depend on more than just what happens in school. Retrieved from https://www.straitstimes.com/opinion/pandemic-shows-inequality-begins-at-home-for-students-learning
The Strait Times. (2021). MOE lends 3,300 devices to students who need them for home-based learning amid Covid-19 pandemic. Retrieved from https://www.straitstimes.com/politics/3300-devices-loaned-by-moe-to-students-who-need-them-for-home-based-learning-amid-covid-19
Wikipedia. (2014). Shan State. Retrieved from https://en.wikipedia.org/wiki/Shan_State
Yosso, T. J. (2005). Whose culture has capital? A critical race theory discussion of community cultural wealth, Race Ethnicity and Education, 8(1), 69-91. DOI: 10.1080/1361332052000341006

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ศ.ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศพหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มหาสิทยาลัยเชียงใหม่

หมายเหตุ: โครงการวิจัยได้รับการรับรองจริยธรรมวิจัยในคนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในเดือนกรกฎาคม ปี 2563   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net