89 ปีการอภิวัฒน์สยาม 2475 & เชคอินคณะราษฎรในพระนครศรีอยุธยา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เนื่องในโอกาสที่ปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ.2564 นี้เป็นปีที่ 89 ของการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ.2475 ดูจะเป็นปีที่วุ่นวายสับสนอลหม่านไม่น้อย เพราะนอกจากจะอยู่ในยุคของรัฐบาลฟาสซิสต์แบบประยุทธ์แล้ว ยังมาเจอโรคห่าระบาดหนัก จนเกิดยุคเข็ญ ประชาชนซวยสุดในรอบ 200 ปีนับแต่เหตุการณ์อหิวาตกโรคระบาดในสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นต้นมา

ไม่ต้องพูดถึงว่า 89 ปีนั้นเป็นระยะเวลายาวนานเพียงใด ถ้าเป็นชีวิตคนก็อยู่ในวัยเกษียรณวัยชรา รอเวลาลมหายใจสุดท้าย และเป็นช่วงเวลาที่บางคนก็มีโอกาสได้เห็นลูกหลานเติบโตสืบทอดมรดกของตน แต่บางคนก็ไม่มีโอกาสเช่นนั้น แต่ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่า “ระบอบประชาธิปไตยไทย” อยู่ในภาวะใดในระหว่างทาง 2 แพร่งดังกล่าว เพราะตลอดเวลา 89 ปีที่ล้มลุกคลุกคลานมายังไง 2475 ก็ยังคงอยู่กับเราเสมอมา

“24 มิถุนายน 2564” เช่นเดียวกับปีก่อนๆ คือเป็น “วันชาติทิพย์” ไม่ใช่วันหยุดราชการ หากใครหยุดงานไปกินไปเที่ยวในวันดังกล่าวนี้ถือว่า ท่านได้ทำตามขนบธรรมเนียมสากลของวันชาติ ไม่ต้องพูดถึงการจัดงานฉลองของรัฐบาลหรือหน่วยงานราชการใด ส่วนองค์กรภาคเอกชนก็คงเงียบเหงาเพราะนอกจากการเมืองก็คือผลกระทบจากโควิด-19 อีก

การณ์นี้ผู้เขียนมีช่องยูทูบชื่อ @Walking History ที่เปิดไว้เป็นชาติแล้วแต่ยังไม่ได้อัพโหลดคลิปวีดีโอใดๆ จึงได้คิดตรีมมานำเสนอเนื่องในวาระ 89 ปีการอภิวัฒน์สยาม โดยแบ่งออกเป็น 10 ตอน ใช้ชื่อชุดแต่ละตอนว่า “เชคอินคณะราษฎรในอยุธยา” แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในย่านตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาที่จะสามารถพบเห็นมรดกของคณะราษฎรที่เป็นรูปธรรมได้ เมื่อยุคห่าระบาดสิ้นสุดแล้วได้ไปเที่ยวเชคอิน ถ่ายรูปกัน
เหตุที่เลือกนำเสนอมรดกคณะราษฎรที่อยุธยานั้น นอกจากเพราะเป็นสนามการศึกษา (Fieldwork) ของผู้เขียนมานานจนรู้จักมักคุ้นกับสถานที่ต่างๆ เหล่านี้เป็นอย่างดีแล้ว ยังมีเหตุผลสำคัญอีก 6 ประการ ดังนี้ 

(1) เพราะอยุธยาเป็น “พื้นที่ประวัติศาสตร์” ที่ถูกใช้อ้างอิงโดยนักประวัติศาสตร์อนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยม-ชาตินิยม มาตลอดช่วงที่ผ่านมา การแสดงให้เห็นว่าอยุธยามีมิติที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎร แถมยังเป็นอย่างที่เป็นในปัจจุบันนี้เพราะรัฐบาลคณะราษฎร จึงมีความสำคัญในแง่ของการช่วงชิงพื้นที่ประวัติศาสตร์ดังกล่าวนี้ให้กลับคืนมาเป็นของอีกฝั่งหนึ่ง

(2) แนวคิดเรื่องการอนุรักษ์โบราณสถาน-ศิลปวัตถุ แม้แต่ในอยุธยาซึ่งเป็นชุมชนที่มีความตื่นตัวในหมู่ประชาชนเกี่ยวกับการอนุรักษ์ค่อนข้างมาก ก็ยังคงจำกัดอยู่แต่เฉพาะมรดกทางวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยา นั่นเป็นอยุธยาในมุมของประวัติศาสตร์กระแสหลักแบบออเจ้า โดยหลงลืมไปว่าอยุธยามิได้มีแค่ 417 ปีนั้น และช่วงสมัยคณะราษฎรก็เป็นช่วงสำคัญที่มีความเปลี่ยนแปลงและสร้างสิ่งต่างๆ เอาไว้ไม่น้อยเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นช่วงที่มีการบูรณะปรับปรุงโบราณสถานหลายแห่งในอยุธยา อาทิ วิหารพระมงคลบพิตร, วัดพระศรีสรรเพชญ์, วัดพระราม, วัดมหาธาตุ, พระราชวังหลวง, วัดภูเขาทอง เป็นต้น แม้แต่กรมศิลปากรเองก็เป็นหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ที่ก่อตั้งในยุคสมัยคณะราษฎร แต่เช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นๆ กรมศิลปากรกลับ identify ตัวเองย้อนกลับไปที่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สิ่งของที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร มักมุ่งเน้นของในประวัติศาสตร์ตามลำดับยุคสมัย เช่น ก่อนประวัติศาสตร์-ทวารวดี-เขมรพระนคร-สุโขทัย-อยุธยา-รัตนโกสินทร์ ไม่มีสมัยคณะราษฎร การชี้ให้เห็นคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นรูปธรรมในช่วงนี้จึงยังคงมีความสำคัญในเชิงวิพากษ์ต่อมุมมองการอนุรักษ์แบบที่หน่วยงานเกี่ยวข้องยึดถือปฏิบัติกันในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ถือเป็นจุดกำเนิดตั้งต้นของหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ของไทยอย่างอยุธยาด้วย

(3) เพราะอยุธยาเป็นที่ที่ให้กำเนิดคณะราษฎรคนสำคัญอยู่ 3 คนด้วยกัน คือ นายปรีดี พนมยงค์ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และนายเฉลียว ปทุมรส ซึ่งคนหลังนี้ไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงนัก เพราะชะตาชีวิตที่ตกเป็น “แพะ” ในคดีสวรรคตรัชกาลที่ 8 โดยตรีมเรื่อง “เชคอินคณะราษฎร” แม้จะมุ่งเน้นนำเสนอศิลปะ-สถาปัตยกรรมสมัยคณะราษฎร แต่เนื้อเรื่องก็กล่าวถึงบทบาทบุคคลควบคู่กันไปด้วย นอกจากบุคคลทั้งสามข้างต้นยังมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีบทบาทในการพัฒนาชุมชนเมืองพระนครศรีอยุธยา ทำให้อยุธยากลายเป็นเมืองของคณะราษฎร เช่นเดียวกับลพบุรี เพชรบูรณ์ ราชบุรี ชัยภูมิ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ฯลฯ 

(4) ช่วงสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้นำรัฐบาล ทั้งสมัย ป. 1 (พ.ศ.2481-2487) และ ป.2 (พ.ศ.2491-2500) ต่างก็เป็นช่วงที่มีการพัฒนาปรับปรุงเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาเป็นอันมาก และเหลือมรดกอยู่ทั้งสองช่วงด้วยกัน นั่นเป็นเพราะสิ่งที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับคณะราษฎรทำในอยุธยา มักจะเป็นสิ่งที่ยังมีฟังก์ชั่นการใช้งานอยู่ถึงปัจจุบัน เพราะมุ่งเน้นสร้างสิ่งซึ่งมีประโยชน์ใช้สอยในทางโลกย์หรือเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน ศาลากลาง โรงพัก ถนน สะพาน ฯลฯ 

(5) เมื่อเป็นความเคลื่อนไหวระดับสังคมหมู่มาก จึงไม่ได้มีแต่เฉพาะสิ่งของที่สร้างทำโดยคณะราษฎรหรือมีความเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนจากรัฐบาลคณะราษฎร โดยเฉพาะปรีดี พนมยงค์ กับจอมพล ป. พิบูลสงคราม เท่านั้น ยังมีการสร้างสรรค์เป็นของคนในท้องถิ่น ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของวัด เจดีย์ โรงเรียน ถนน ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่ยังมีฟังก์ชั่นการใช้งานอยู่ถึงปัจจุบัน

(6) ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ ได้มีการทำลายศิลปะ-สถาปัตยกรรมของคณะราษฎรไปหลายชิ้นหลายอย่าง อาทิ การหายไปอย่างลึกลับของหมุดคณะราษฎร การทุบอาคารศาล การหายสาบสูญของอนุสาวรีย์ปราบกบฏที่แยกบางเขน การย้ายสวนสัตว์ดุสิต ฯลฯ ราวกับธานอสดีดนิ้ว แต่ชนชั้นนำผู้อยู่เบื้องหลังการสูญหายของสิ่งของเหล่านี้ก็ไม่อาจทำให้ความทรงจำของสังคมที่มีต่อคณะราษฎรและ 2475 สูญหายไปด้วย การแสดงให้เห็นว่ามรดกคณะราษฎรยังมีอยู่ที่อื่นทั้งในอยุธยาและจังหวัดอื่นๆ คือสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นหาใช่การยึดอำนาจของคนไม่กี่คน หากแต่เป็นความเคลื่อนไหวระดับสังคมหมู่มาก ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในเฉพาะกรุงเทพฯ ตลอดช่วงที่ผ่านมาเนื้อหาประวัติศาสตร์ของ 2475 และคณะราษฎรเองยังมักจำกัดอยู่แต่ในกรุงเทพฯ จากที่ผู้เขียนศึกษามาเชื่อว่าการทำลายมรดกคณะราษฎรในต่างจังหวัดโดยเฉพาะในอยุธยา จะเป็นเรื่องไม่ง่ายเหมือนอย่างในกรุงเทพฯ เพราะเป็นของมีฟังก์ชั่นและล้วนยังมีเจ้าของอยู่ทั้งสิ้น

คลิปวีดีโอในซีรีส์ “เชคอินคณะราษฎรในอยุธยา” มีทั้งหมด 10 ตอน นำเสนอเรื่องราวสถานที่ต่างๆ คือ ตอนที่ 1 วงเวียนเจดีย์นักเลง วัดสามปลื้ม, ตอนที่ 2 สะพานปรีดี-ธำรง, ตอนที่ 3 ตึกศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (หลังเก่า) และสนามราษฎร์, ตอนที่ 4 อนุสรณ์สถานบ้านปรีดี พนมยงค์, ตอนที่ 5 วัดพนมยงค์, ตอนที่ 6 คุ้มขุนแผน, ตอนที่ 7 วิหารพระมงคลบพิตร, ตอนที่ 8 บึงพระรามและพระที่นั่งเย็น (ตึกดิน), ตอนที่ 9 กำแพงรามเกียรติ์ วัดพนัญเชิง, ตอนที่ 10 โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย (อยว.) ตึกโรงพักเก่า สภ.พระนครศรีอยุธยา วัดญาณเสน วัดมณฑป ทั้งนี้โดยมีหนังสือ “อยุธยา: จากสังคมเมืองท่านานาชาติสู่มรดกโลก” เป็นคู่มือนำชม (ต้องขอสารภาพว่า แม้ผู้เขียนเป็นผู้เรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ขึ้น แต่ก็ลืมไปหมดแล้วว่าเขียนอะไรไปบ้าง เพราะผ่านมาหลายปี การใช้หนังสือเล่มนี้ส่วนหนึ่งจึงเป็นการฟื้นฟูความจดจำรำลึกของผู้เขียนด้วย) 

การพัฒนาปรับปรุงเมืองพระนครศรีอยุธยาโดยคณะราษฎรแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงระยะแรกเริ่มในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยที่ 1 (พ.ศ.2481-2487) และช่วงระยะที่สอง สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยที่ 2 (พ.ศ.2491-2500) เพราะเหตุใด ทำไม คณะราษฎรจึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาปรับปรุงเมืองพระนครศรีอยุธยา แม้ในช่วงหลังรัฐประหาร พ.ศ.2490 ซึ่งถือเป็นจุดสิ้นสุดของอุดมการณ์คณะราษฎรในฐานะกระแสหลักของการพัฒนาในตลอดช่วงหลัง 2475 เป็นต้นมาจนตลอดทศวรรษ 2480 เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกเป็นสมัยที่ 2 ก็ได้รื้อฟื้นแผนพัฒนาปรับปรุงเกาะเมืองตั้งแต่เมื่อครั้งสมัยปรีดี พนมยงค์ มีบทบาทสำคัญในช่วงทศวรรษ 2480 ผู้เขียนได้เคยอภิปรายไว้ในบทที่ 5 ของหนังสือ “อยุธยา : จากสังคมเมืองท่านานาชาติสู่มรดกโลก” ดังความต่อไปนี้

“การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ได้ส่งผลทำให้การปกครองระบอบมณฑลเทศาภิบาลที่มีมาตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 5 สิ้นสุดลง โดยรัฐบาลได้ออก “พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2476” มาบังคับใช้แทน ซึ่งเป็นระบบที่ให้แต่ละจังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยงานบริหารส่วนภูมิภาคที่แยกออกจากกัน และมีผู้ว่าราชการบริหารส่วนจังหวัดเป็นผู้บริหาร ขึ้นตรงต่อส่วนกลางที่กรุงเทพฯ ไม่มีสมุหเทศาภิบาลหรือข้าหลวงเทศาภิบาลคอยกำกับดูแลอยู่ในภูมิภาคอีกต่อไป และเรียกชื่อจังหวัดอย่างเป็นทางการว่า “จังหวัดพระนครศรีอยุธยา”... 

การปรับปรุงพัฒนาเมืองอยุธยาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 นั้น อยู่ภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยนั้น ซึ่งเป็นชาวอยุธยาโดยกำเนิด ซึ่งได้มีการพัฒนาเมืองจาก “เมืองโบราณ” ให้ก้าวสู้เมืองสมัยใหม่ โดยแผนพัฒนาเมืองเริ่มต้นขึ้นใน พ.ศ.2481 ด้วยการยกเลิกการสงวนสิทธิที่ดิน ผ่านการออกกฎหมายโอนพื้นที่เกาะเมืองอยุธยาจำนวนกว่า 4,500 ไร่ มาเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลัง

จากนั้นจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการปรับปรุงเกาะเมืองอยุธยาขึ้น โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นประธาน จัดทำแผนพัฒนาเกาะเมืองอยุธยา และได้มีการสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ตัดถนนรอบเกาะเมือง เรียกว่า “ถนนอู่ทอง” สร้างสะพานปรีดี-ธำรง ใช้ข้ามแม่น้ำป่าสัก เพื่อเชื่อมการคมนาคมทางบกระหว่างเกาะเมืองกับทางหลวงจังหวัด สร้างโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ตัดถนนโรจนะ (ภายหลังบางช่วงเปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนปรีดี พนมยงค์”) สร้างศาลากลางจังหวัด ซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ สร้างโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย สร้างแนวป้องกันน้ำท่วม เป็นต้น... 

หลังจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 (ระหว่างพ.ศ.2491-2500) รัฐบาลได้สนับสนุนการพัฒนาเกาะเมืองอยุธยาสืบเนื่องต่อมา ด้วยเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ 

(1)   เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมการฉลองกึ่งพุทธกาล หรือ 25 พุทธศตวรรษ จึงมีการบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานในเกาะเมืองอยุธยาหลายแห่ง

(2)   สืบเนื่องจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เปิดสัมพันธไมตรีทางการทูตกับพม่า นายพลอูนุได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2498 และได้มาเยี่ยมชมเมืองอยุธยา พร้อมเข้าสักการะพระมงคลบพิตร ก่อนกลับได้มอบเงินจำนวนกว่า 2 แสนบาทให้แก่รัฐบาล เพื่อเป็นทุนในการบูรณะวิหารพระมงคลบพิตร จนนำมาสู่การบูรณะโบราณสถานครั้งใหญ่ในสมัยนั้นควบคู่กัน

(3)   แนวคิดทางชาตินิยมของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ต้องการทำให้อยุธยาเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่แสดงออกถึงอัตลักษณ์ความเป็นชาติของไทย โดยได้อนุมัติงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนกว่า 30 ล้านบาท เพื่อให้กระทรวงวัฒนธรรมดำเนินการบูรณะเมืองพระนครศรีอยุธยา

ดังนั้นช่วงระยะ พ.ศ.2499-2500 จึงเป็นช่วงเวลาที่มีการบูรณะโบราณสถานสำคัญในพระนครศรีอยุธยาเป็นอันมาก เช่น การบูรณะเจดีย์ประธานทั้งสามองค์ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระราชวังโบราณ วัดพระราม วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ เจดีย์ภูเขาทอง พระที่นั่งเย็นในบึงพระราม เจดีย์วัดสามปลื้ม เป็นต้น 

นอกจากการบูรณะโบราณสถานแล้ว รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังได้มุ่งเน้นสนับสนุนให้อยุธยาเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ โดยการปรับปรุงสถานที่ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว เช่น การสร้างถนนขนานคลองนายก่าย แล้วปลูกต้นมะขามเรียงรายไปตามถนน จนทำให้ได้ชื่อว่า “ถนนคลองมะขามเรียง” รวมถึงบูรณะถนนป่าตอง แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ถนนศรีสรรเพชญ์” 

นอกจากนี้ยังได้มีการดำเนินการซ่อมแซมถนนอีก 5 สาย ได้แก่ ถนนป่าพร้าว ถนนตลาดเจ้าพรหม ถนนบางเอียน ถนนโรจนะ ถนนรอบเกาะ (ถนนอู่ทอง) รวมถึงยังมีนโยบายสร้างความเจริญของเมืองให้อยู่ที่ถนนโรจนะเหมือนกับถนนราชดำเนินกลางในกรุงเทพฯ ด้วยการสร้างตึกแถบขึ้นจำนวน 20 ห้อง ที่เชิงสะพานปรีดี-ธำรง และให้เจดีย์วัดสามปลื้มซึ่งตั้งอยู่ในวงเวียนกลางถนนเป็นศูนย์กลางของย่านนี้ เหมือนอย่างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯ และยังมีการสร้างตึกแถวชั้นเดียวจำนวน 42 ห้อง ที่บริเวณบึงพระราม เปิดให้ประชาชนเช่าเพื่ออยู่อาศัยและค้าขาย ส่วนที่บึงพระรามได้มีการขุดลอกและมอบหมายให้เทศบาลเมืองพระนครศรีอยุธยาเป็นผู้ดูแล เพื่อให้เป็นสวนพฤกษชาติและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน 

การบูรณะและปรับปรุงเกาะเมืองอยุธยาในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม นับว่าสร้างความเปลี่ยนแปลงอันเป็นพื้นฐานให้กับการเป็นเมืองท่องเที่ยวและอุทยานประวัติศาสตร์ที่สำคัญของไทย ควบคู่กับความเจริญเติบโตของเมืองแบบสมัยใหม่ จนทำให้อยุธยาได้กลับฟื้นจากการเป็นเมืองโบราณสู่เมืองสมัยใหม่ ท่ามกลางซากปรักหักพังของอดีต ก่อนที่บทบาทในด้านดังกล่าวนี้จะถูกถ่ายโอนไปให้เป็นความรับผิดชอบหลักอย่างเป็นทางการของกรมศิลปากรต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน” 


วงเวียนเจดีย์นักเลง วัดสามปลื้ม ลอกแบบผังวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ถนนราชดำนินกลาง กรุงเทพฯ 

 
สะพานปรีดี-ธำรง (ปรีดี พนมยงค์+หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์) ข้ามแม่น้ำป่าสัก
ถูกขนาบข้างด้วยสะพานสมเด็จพระนเรศวรกับสะพานสมเด็จพระเอกาทศรถ

 
ตึกศาลากลางหลังเก่า ด้านหน้า (จากซ้ายไปขวา) มีประติมากรรมรูปพระเจ้าอู่ทอง
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระสุริโยทัย สมเด็จพระนเรศวร
สมเด็จพระนารายณ์ และสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ สื่อแทนหลัก 6 ประการของคณะราษฎร 

 
คุ้มขุนแผน อดีตบ้านหลวงของปรีดีกับท่านผู้หญิงพูนศุข 

 
วิหารพระมงคลบพิตร สภาพปัจจุบันซึ่งเป็นผลจากการบูรณะสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม  

 
อนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ ภายในมีพิพิธภัณฑ์จัดแสดงสิ่งของเกี่ยวกับปรีดี พนมยงค์
และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ 

 
วัดพนมยงค์ วัดประจำตระกูลของปรีดี พนมยงค์ ภายในมีที่บรรจุอัฐินายเสียง พนมยงค์ บิดาของปรีดี 

 
“บึงพระราม” หรือ “หนองโสน” หรือ “บึงชีขัน” เริ่มปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะ
ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม 

 
“ตึกดิน” หรือ “พระที่นั่งเย็น” สร้างขึ้นใหม่ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม บนซากฐานอิฐเก่าสมัยอยุธยา
 
 
พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 8 และตึกสิริมงคลานันท์ ในโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย (อยว.) 

 
อาคารโรงพักเก่า ใน สภ.พระนครศรีอยุธยา เป็นอาคารรุ่นเดียวกับตึกศาลากลางหลังเก่า
และตึกสิริมงคลานันท์ที่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย 

 
กำแพงประติมากรรมปูนปั้นเล่าเรื่องรามเกียรติ์ วัดพนัญเชิง
สร้างแล้วเสร็จสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูงสงคราม 

 
ซุ้มประตูพานรัฐธรรมนูญเปล่งรัศมีพร้อมข้อความสนับสนุนคณะราษฎรและการอภิวัฒน์ 2475 ณ วัดญาณเสน 

 
ซุ้มเรือนแก้วปทุมรส สถานที่บรรจุอัฐิประจำตระกูลปทุมรส อัฐินายเฉลียว ปทุมรส
ก็เคยบรรจุอยู่ที่นี่ก่อนจะย้ายไปที่อื่น  

 

ลิงค์อ้างอิง
1) @Walking History ep.07 เชคอินคณะราษฎรในอยุธยา (ตอนที่ 1) วงเวียนเจดีย์นักเลง วัดสามปลื้ม (Online) https://www.youtube.com/watch?v=pCQl59EZyaA&t=1s (เผยแพร่เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564) 
2) @Walking History ep.08 เชคอินคณะราษฎรในอยุธยา (ตอนที่ 2) สะพานปรีดี-ธำรง (Online) https://www.youtube.com/watch?v=d20cUyqHDtI&t=7s (เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564) 
3) @Walking History ep.09 เชคอินคณะราษฎรในอยุธยา (ตอนที่ 3) ตึกศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาหลังเก่าและสนามราษฎร์ (Online) https://www.youtube.com/watch?v=8iLKf6MuEqQ&t=22s (เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564) 
4) @Walking History ep.10 เชคอินคณะราษฎรในอยุธยา (ตอนที่ 4) อนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ (Online)  https://www.youtube.com/watch?v=ZvspMk5ZIrY&t=19s (เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564) 
5) @Walking History ep.11 เชคอินคณะราษฎรในอยุธยา (ตอนที่ 5) วัดพนมยงค์ (Online) https://www.youtube.com/watch?v=ImK5n6DoICA&t=22s (เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564) 
6) @Walking History ep.12 เชคอินคณะราษฎรในอยุธยา (ตอนที่ 6) คุ้มขุนแผน (Online)  https://www.youtube.com/watch?v=XI-fn3gQU2g&t=288s (เผยแพร่เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564) 
7) @Walking History ep.13 เชคอินคณะราษฎรในอยุธยา (ตอนที่ 7) วิหารพระมงคลบพิตร (Online) https://www.youtube.com/watch?v=LosPOgciACs&t=14s (เผยแพร่เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564) 
8) @Walking History ep.14 เชคอินคณะราษฎรในอยุธยา (ตอนที่ 8) บึงพระรามและพระที่นั่งเย็น (ตึกดิน) (Online) https://www.youtube.com/watch?v=b1XIkTzE1Eo&t=15s (เผยแพร่เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564) 
9) @Walking History ep.15 เชคอินคณะราษฎรในอยุธยา (ตอนที่ 9) กำแพงรามเกียรติ์ วัดพนัญเชิง (Online) https://www.youtube.com/watch?v=usDD08m0JoI&t=467s (เผยแพร่เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564) 
10) @Walking History ep.16 เชคอินคณะราษฎรในอยุธยา (ตอนที่ 10) โรงเรียน โรงพัก และวัดหลัง 2475 (Online) https://www.youtube.com/watch?v=UrVSLkvHVkA&t=861s (เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564) 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท