ฟังเสียงสะท้อนปัญหาจากคนวงการก่อสร้าง หลัง ศบค.สั่งปิดแคมป์ แต่การเยียวยาไม่ทั่วถึง

ประชาไทตระเวนคุยกับคนวงการก่อสร้างทั้งบริษัทก่อสร้าง และแรงงานทั้งไทยและเทศ โดยพวกเขามาร่วมสะท้อนปัญหาหลากหลายประเด็น และข้อเสนอถึงรัฐ หลัง ศบค. มีมติสั่งล็อกดาวน์แคมป์คนงานฟ้าผ่า แต่ผ่านมาแล้ว 15 วัน การเยียวยากลับมาช้าเหลือคณานับ และไม่ทั่วถึง  

รัฐบาลสัญญาว่าเยียวยาอะไรบ้าง ในกรณี ‘ล็อกดาวน์’ แคมป์คนงาน  

เพื่อให้เข้าใจปัญหาของคนที่ทำงานก่อสร้างขณะนี้ อาจต้องเกริ่นถึงการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 25) เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 64 ก่อนว่าสาระสำคัญของ พ.ร.ก.ตัวนี้ ส่งผลอย่างไรต่อบริษัทก่อสร้างและคนงานอย่างไร รวมถึงทางกระทรวงแรงงาน สัญญามาตรการเยียวยาหลังประกาศอะไรไว้บ้าง   

ย้อนไปเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 64 เวลา 01.00 น. เว็บไซต์พระราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศลงนามโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 26 มิถุนายน ระบุ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 25) ซึ่งลงนาม โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

หนึ่งในสาระสำคัญ คือการสั่งหยุดทำงานก่อสร้างพร้อมปิดแคมป์คนงานเพื่อตรวจหา และควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ 10 จังหวัด แบ่งเป็นชายแดนภาคใต้ 4 จังหวัด กรุงเทพฯ-ปริมณฑล อีก 6 จังหวัด มีผลบังคับใช้ 28 มิถุนายน-27 กรกฎาคม 2564

แผนการช่วยเหลือของภาครัฐต่อแรงงานภาคการก่อสร้าง แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก 1) เป็นมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือคนงานก่อสร้างโดยจะมีการจ่ายเยียวยาให้ โดยมีเงื่อนไขต้องเป็นแรงงานตามรายชื่อที่นายจ้างรับรอง ต้องอาศัยในแคมป์คนงานก่อสร้าง โดยสำนักงานประกันสังคม จะจ่ายให้เป็นเงินสด 50 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทุกวัน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท โดยจ่ายทุก ๆ 5 วัน และมีอาหารให้วันละ 3 มื้อ 

2) ในระหว่างล็อกดาวน์ แรงงานจะได้รับการตรวจคัดกรองโควิด-19 ทุกคนแบบ 'แยงจมูก' หรือ swab test และถ้าพบว่าติดเชื้อโควิด-19 จะมีการส่งโรงพยาบาลในเครือประกันสังคมต่อไป 

ขณะที่ทาง รมว.กระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มว่า ทางกระทรวงแรงงานกำลังปรึกษากับทางรัฐบาลดำเนินการนำวัคซีนโควิด-19 เข้าไปฉีดในแคมป์ และจะมีการประเมินทุก 15 วัน เคสบายเคส ถ้าแคมป์ไหนแรงงานทุกคนได้รับวัคซีนแล้ว ก็สามารถนำเอกสารมายื่น เพื่อทำเรื่องเปิดแคมป์    

อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยกับบริษัทก่อสร้าง และสำรวจแคมป์ก่อสร้างย่านสีลม และทองหล่อ ผู้สื่อข่าวประชาไท พบว่า ผ่านมา 15 วัน การช่วยเหลือจากภาครัฐเรื่องเงินเยียวยา (ทั้งที่แรงงาน และนายจ้าง ควรได้ตั้งแต่ 2 ก.ค.) และมาตรการตรวจโควิด-19 เชิงรุกในพื้นที่แคมป์ เหมือนยังเดินทางมาไม่ถึงผู้ได้รับผลกระทบบางราย 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘พิธา’ พรรคก้าวไกล เสนอ 3 หลัก จัดการโควิด-19 ในแคมป์ก่อสร้าง

[Live]คุยกับสหภาพคนทำงานว่าด้วยผลกระทบจากการปิดแคมป์คนงานก่อสร้างและข้อเสนอต่อรัฐบาล

ฟังเสียง บ.ก่อสร้างที่ต้องหยุดงานกระทันหัน-พร้อมแบกค่าใช้จ่ายทั้งหมดเพื่อดูแลคนงาน

การสั่งหยุดโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ และปิดแคมป์คนงานนานถึง 30 วัน นำมาซึ่งผลกระทบต่อบริษัทก่อสร้าง และเพื่อฟังเสียงจากคนที่ทำงานบริษัทก่อสร้างตัวจริง ผู้สื่อข่าวประชาไทจึงลงพื้นที่สำรวจบริเวณแคมป์ก่อสร้างย่านสีลม และทองหล่อ พร้อมคุยกับพนักงานบริษัทก่อสร้าง และแรงงาน เพื่อขอให้พวกเขาร่วมสะท้อนความรู้สึก และปัญหาหลังการประกาศปิดแคมป์

ที่แรกที่ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ คือ แคมป์คนงานก่อสร้าง ถนนสีลม เป็นแคมป์ขนาดใหญ่ อาคารแบบล็อกดาวน์ (2 ชั้น) และรั้วสร้างด้วยสังกะสี เป็นระบบปิด ทางเข้า-ออกมีทางเดียว ฝั่งตรงข้ามมีเต็นท์ของเจ้าหน้าที่เทศกิจ และทหารตั้งอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้แรงงานสามารถออกมาข้างนอกโดยพลการ 

ที่นั่นผู้สื่อข่าวมีโอกาสสัมภาษณ์ตัวแทนบริษัทก่อสร้างเจ้าของแคมป์ดังกล่าว คือ ภาดล ศิลปภักดี โดยเขามาร่วมแบ่งปันเรื่องผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์แคมป์ฯ และข้อเรียกร้องที่อยากให้รัฐพิจารณา

เบื้องต้น ภาดล ระบุว่า หลังการประกาศใช้มาตรการปิดแคมป์คนงาน ส่งผลให้บริษัทต้องหยุดทำงาน และขาดรายได้ทันที ประกอบกับทางบริษัทมีคนงานประมาณ 3,000 คนต้องดูแล ในช่วงที่รอการเยียวยาแ ละการช่วยเหลือค่าอาหาร 3 มื้อแก่แรงงาน บริษัทเอกชนคือผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดูแลคนงานและผู้ติดตาม ซึ่งเสียเป็นล้านบาทแล้วเหมือนกัน 

บรรยากาศแคมป์ก่อสร้างย่านสีลม
 

ภาดล แจงให้ฟังว่า บริษัทดูแลคนงานเป็น อาหาร 3 มื้อ มื้อละ 40 บาท รวมเป็น 120 บาทต่อคนต่อวัน ถ้าวันไหนคนงานอยากทำอาหารเอง ทางบริษัทจะซื้อข้าวสาร อาหารแห้ง และของสดไปให้แรงงานจัดการกันเองภายในแคมป์ 

อย่างไรก็ดี มีการบริจาคสิ่งของช่วยเหลือจากประชาชน และเดเวลอปเปอร์ ทำให้ช่วยแบ่งเบาภาระของบริษัทไปได้บ้าง ขณะที่เรื่องการเยียวยา ให้ทางฝ่ายทรัพยากรบุคคลประสานไปที่ทางเขตแล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะได้รับการช่วยเหลือเมื่อใด

สำหรับการเข้ามาตรวจเชิงรุกภายในแคมป์ที่กระทรวงแรงงานกล่าวไว้ ภาดล ระบุว่า ก่อนมีมาตรการปิดแคมป์คนงาน ภาครัฐมีเข้ามาตรวจให้ แต่ในเดือน ก.ค. ยังไม่มีเข้ามา แต่เนื่องด้วยทางบริษัทมีความจำเป็น ซึ่งไม่สามารถรอภาครัฐได้ ต้องการรีบกลับไปเปิดไซต์ก่อสร้าง เพื่อส่งมอบงานให้ทันตามกำหนด บริษัทจึงเลือกหนทางจ้างแพทย์จากข้างนอกเข้ามาทำการตรวจแบบ swab test ให้คนงานภายในแคมป์ โดยมีค่าใช้จ่ายการตรวจคิดเป็น 2,000 บาทต่อคน

ขณะที่เรื่องวัคซีน ทางบริษัทให้แรงงานข้ามชาติในประกันสังคม มาตรา 33 ไปฉีดวัคซีนทั้งหมดแล้ว ขณะที่แรงงานที่ไม่ได้อยู่ใน ม. 33 จะมีการจองฉีดซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ให้ 

นอกจากนี้ พนักงานบริษัทก่อสร้างย่านสีลม เสนอว่า ในกรณีที่บริษัทไหนคนงานได้รับการฉีดวัคซีนทั้งหมดทุกคนแล้ว เขาอยากให้รัฐบาลพิจารณาผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์แคมป์คนงานก่อนกำหนด 30 วัน เนื่องจากคำสั่งนี้บังคับใช้ยาวนานเกินไป และบริษัทมีงานที่คงค้างไว้ ต้องทำให้ทันตามกำหนดส่งมอบงาน  

"ทางเขตบางรัก ระบุว่า ครบ 15 วัน จะมาประเมินอีกครั้งหนึ่ง ก็อาจจะมาสุ่มตรวจดูที่แคมป์ว่ามีคนติดเพิ่มไหม คนที่อยู่ในแคมป์ และก็ถ้ามีคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน และยังไม่ติดเชื้อเขาก็จะฉีดวัคซีนใ ห้" ภาดล กล่าว

"เราเข้าใจว่าตอนนี้มันวิกฤตมันเกิดกันทั่ว คือ อยากให้ (ผู้สื่อข่าว - รัฐบาล) เข้ามาดูแลให้รวดเร็วทั่วถึง มันคงค่อนข้างยาก ก็คืออยากให้เขาเข้ามาดูแลให้เร็วที่สุด แต่ตอนนี้ก็ต้องช่วยเหลือตัวเองไปก่อน เท่าที่มีกำลังทำได้" พนักงานบริษัทก่อสร้าง ย่านสีลม ทิ้งท้าย 

ลำบากจนต้องเปิดรับบริจาค

พนักงานบริษัทก่อสร้างอีกเจ้าที่ประชาไทสัมภาษณ์ คือ บุ๋ม เธอเป็นพนักงานหญิง จากบริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่งย่านทองหล่อ จังหวัดกรุงเทพฯ ทางผู้สื่อข่าวได้รับเบอร์ติดต่อเธอจากเฟซบุ๊ก โดยเธอขอรับสิ่งของบริจาคทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง และอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือแคมป์คนงานก่อสร้าง 

บุ๋ม พนักงานบริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่งย่านทองหล่อ

เธอ กล่าวว่า เหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้เธอเปิดรับบริจาค เนื่องจากเธอต้องการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล ของบริษัทที่ต้องดูแลคนงานกว่า 3,000 คน (ซึ่งยังไม่รวมผู้ติดตาม) ในระหว่างรอการเยียวยาจากรัฐที่ยังมาไม่ถึง  

เพื่อให้เห็นปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เธออธิบายเพิ่มว่า เธอเป็นเหมือนคนดูแลแคมป์คนงานของบริษัท ซึ่งบริษัทก่อสร้างของเธอจะมีหลายไซต์ก่อสร้าง และหลายแคมป์คนงาน บางแคมป์จะมีแรงงานตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงพันคน ขึ้นอยู่กับขนาดโครงการก่อสร้าง แต่โดยรวมแล้วมีแรงงานราว 3,000 ชีวิตที่อยู่ในความดูแลของบริษัท ส่วนของบุ๋มได้รับหน้าที่ดูแลในแคมป์แรงงานย่านทองหล่อ 

ระบบการจ่ายเงินของบริษัทนั้น ทางบริษัทจะมีการถัวเฉลี่ยเงินให้แต่ละแคมป์เพื่อดูแลคนงาน แต่การหยุดก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ชนิดกระทันหัน ทำให้งานไม่เดิน เมื่อไม่มีงาน ก็จะไม่สามารถเบิกเงินกับทางผู้จ้างงาน หรือ owner นั่นทำให้บริษัทต้องเป็นผู้ออกเงินเองเพื่อดูแลคนงานทั้งหมดขณะนี้
 
เธอ กล่าวต่อว่า ตีว่าวันหนึ่งตกวันละ 100 บาทต่อคนต่อวัน แรงงาน 3,000 ชีวิต ค่าดูแลตกวันละ 300,000 บาทต่อวัน ยังไม่รวมผู้ติดตามที่ทางบริษัทดูแลด้วย 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้บุ๋มตัดสินใจเปิดขอรับบริจาคนั้น เพราะว่าเงินเยียวยาที่กระทรวงแรงงานสัญญาว่าจะให้ทุก 5 วันนั้นไม่มาตามนัด และถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ต่อไปคือไม่มีการช่วยเหลือ เธอคาดว่าบริษัทไม่น่าจะรับภาระช่วยเหลือคนงานไหว  

"ไม่ได้เข้าข้างอะไร แต่อยู่กับความเป็นจริง พูดตามที่เห็น พอวันที่ 5 มันมีหลายคนเข้ามาหาเรา ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ แต่เขาเข้ามา เขาก็แค่มาดู มาถ่ายรูป และก็ไป พอเราถามเรื่องมาตรการเยียวยาล่ะคะ อันนี้ล่ะคะ บางทีเราไม่ได้อยู่ที่แคมป์ เราก็ให้น้องถามหน่วยราชการที่มา เขาก็บอกว่ารอก่อนนะ รอคำสั่ง ตามคำสั่งเลยครับ มันไม่มีความชัดเจนอะไรให้เราเลย" บุ๋ม กล่าว พร้อมระบุว่า ความช่วยเหลือที่เธอได้จากรัฐอย่างมากมีเพียงถุงยังชีพ และฟ้าทะลายโจรเพียงถุงเดียวเท่านั้น 

หลังเปิดรับบริจาค มีประชาชนติดต่อมาทางหลังไมค์ และแห่แหนมาช่วยที่แคมป์มากมายเพื่อบริจาคอาหาร ซึ่งบรรเทาเรื่องการขาดแคลนอาหารไปได้มาก แต่เธอยืนยันว่า ไม่ได้อยากรับบริจาคถ้าไม่ถึงที่สุด 

"เขา (ผู้สื่อข่าว - แรงงาน) ไม่อยากได้เงินบริจาคจากคนอื่น เขาอยากทำงานแลกเงิน เขาอยากได้เงินจากแรงเขามากกว่า" บุ๋ม กล่าว 

อีกเรื่องที่น่ากังวลใจคือ เรื่องแรงงานข้ามชาติที่ไม่อยู่ในประกันสังคม มาตรา 33 บุ๋ม แจงว่า แรงงานในแคมป์มี 2 ส่วนหลักๆ คือแรงงานของทางบริษัท ซึ่งกลุ่มนี้มีประกันสังคม ม. 33 และกลุ่มแรงงานที่มากับผู้รับเหมารายย่อยที่ บ.จ้างมาทำงานอีกที ซึ่งแรงงานข้ามชาติของผู้รับเหมารายย่อยเป็นแรงงานถูกกฎหมาย มีใบอนุญาตทำงาน แต่ไม่อยู่ในประกันสังคม ม. 33 ซึ่งจะทำให้เขาขาดสิทธิ์การรักษา-ตรวจโควิด-19 ไม่ได้รับวัคซีน และไม่ได้เงินเยียวยา และถ้าไม่ทำงาน พวกเขาก็จะไม่มีรายได้ ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้ทางบริษัทก็มีการช่วยเหลือโดยเฉพาะด้านอาหาร และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจโควิด-19 โดยปกติ ต้องเสีย 1,800 บาทต่อคน โดยบริษัทช่วยออกให้ครึ่งหนึ่ง หรือ 900 บาท

สำหรับการเข้ามาตรวจเชิงรุก พนักงานบริษัทก่อสร้างย่านทองหล่อ ระบุยังไม่มีใครเข้ามาตรวจเลย 

"ยังไม่เห็นเลย บ.อื่นเห็นไหม ไม่ทราบ แต่เท่าที่คุยกับทุกแคมป์ยังไม่มีมานะ มีแต่ว่า MD (มาจาก Managing Director หรือกรรมการผู้จัดการ) ฉีดวัคซีนให้คนงานข้ามชาติ และไปจองฉีดวัคซีนตามแอพฯ ให้กับคนงานคนไทย" บุ๋ม กล่าว  

นอกจากนี้ เมื่อสอบถามว่าภาครัฐช่วยเหลือบริษัทก่อสร้างอย่างไรต่อกรณีบริษัทเจอแรงงานติดเชื้อโควิด-19 ภายในแคมป์คนงาน บุ๋ม ระบุว่า ถ้ามีแรงงานติดเชื้อโควิด-19 ในแคมป์ บริษัทต้องดูแลเอง เพราะเคยมีกรณีแคมป์อื่นๆ ของบริษัทได้รับรายงานมีแรงงานติดโควิด-19 40 คน แต่พอติดต่อไปที่ภาครัฐให้เขามารับตัวแรงงานไปรักษาที่โรงพยาบาล ปรากฏว่าเจอปัญหาเตียงเต็ม และไม่มีโรงพยาบาลให้รักษา 

"คนติดโควิด-19 40 คนเขาไม่มีเตียง เขาเป็นแรงงานต่างด้าวไม่มีประกันสังคม และไม่มีเตียง...ต้องนอนอยู่ที่แคมป์มา 14 วันจนเกือบหาย รักษาตามอาการ ตรวจวัดไข้ ทำกันเองในแคมป์เอง" บุ๋ม ระบุ

ความชัดเจนคือสิ่งที่ไม่มีในการจัดการแคมป์ก่อสร้างของ รบ.

ในฐานะที่เป็นคนวงการก่อสร้าง บุ๋ม มองว่า เธอเห็นด้วยกับมาตรการนี้ 80% ถ้าเกิดแคมป์ก่อสร้างเป็นคลัสเตอร์ใหญ่แล้วสั่งปิด แต่การสั่งปิด ต้องมาพร้อมมาตรการรองรับที่ชัดเจนยิ่งกว่านี้ ขั้นตอนการเยียวยาเป็นอย่างไรบ้าง และได้เงินเมื่อไร คนงานที่เขาหยุดงานจะได้ทราบว่า เขาจะได้อะไรบ้าง และทราบว่าจะวางแผนใช้ชีวิตอย่างไรต่อไป ซึ่งตอนนี้มาตรการรองรับขาดความชัดเจนไปหมด มีแต่เจ้าหน้าที่โยนไป-มา อย่างที่กล่าวไปข้างต้น  

บรรยากาศหน้าแคมป์แรงงานก่อสร้าง ย่านทองหล่อ
 

หากเรื่องไหนที่ยังอยากให้รัฐช่วยนั้น บุ๋ม เสนอว่า 'ตรวจเชิงรุก ฉีดวัคซีน และมีมาตรการผ่อนผันให้โครงการก่อสร้างกลับมาทำงานก่อนกำหนดครบ 30 วัน' ซึ่งเธอมองว่าถ้าทำได้ตามนี้การก่อสร้างจะกลับมาเดินเครื่องได้ไวยิ่งขึ้น และรัฐสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายการเยียวยาได้ด้วย

"ยังไม่มีกระทรวงสาธารณสุขเข้าในแคมป์คนงานสักแคมป์ swab แยงจมูก ยังไม่มีตอนนี้ คิดว่าตอนนี้ถ้ามีการตรวจเชิงรุก เราชอบเลยนะ ...ถ้าสมมติประกาศเลยว่าจะมีเงินเข้ามา 7 วัน สาธารณสุขจะเข้ามาตรวจจมูกคุณ จะมีการฉีดวัคซีนวันนั้นวันนี้ เราจบเลยนะ แล้วมันจะไปไว แล้วเราเปิดงานได้เร็วขึ้น" 

"คุณควรลงพื้นที่มาสำรวจเองว่า ถ้าแคมป์ไม่มีคนงานติดโควิด-19 คือตรวจหมดแล้วไม่มีติด ฉีดวัคซีนและให้เขาทำงานได้เลย สมมติว่าประมาณ 500 กว่าแคมป์ที่โดนสั่งปิด คุณเข้าไปสำรวจเชิงรุกเลย ฉีดวัคซีนจบ โอเคทำงานได้ หายไปละ 1 แคมป์ คุณหมดค่าใช้จ่ายเขาทำงาน คุณไม่ต้องจ่ายเยียวยาให้เขา ที่เหลือคุณก็ทำอีก" พนักงานบริษัทก่อสร้าง ย่านทองหล่อ ทิ้งท้าย 

‘สนทนาผ่านกำแพงสังกะสี’ ฟังเสียงจากแรงงานก่อสร้างต่อมาตรการล็อกดาวน์แคมป์

นอกจากเสียงจากฝั่งบริษัทแล้ว จากการลงสำรวจแคมป์ก่อสร้างย่านทองหล่อ ทำให้ผู้สื่อข่าวประชาไทมีโอกาสสัมภาษณ์แรงงานทั้งไทย กัมพูชา และเมียนมา เพื่อสอบถามมุมมอง ความเห็น และปัญหาจากฝากฝั่งแรงงานต่อมาตรการของรัฐครั้งนี้

ห่วงแต่คนที่บ้าน เสียงจากแรงงานชาวกัมพูชา

วี แรงงานชาวกัมพูชา เดินทางมาทำงานก่อสร้างที่ไทยตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว หลังจากมีมาตรการปิดแคมป์คนงาน วี ระบุว่า ช่วงแรก ๆ มีความลำบากบ้าง แต่หลังจากบริษัทก่อสร้างเข้ามาช่วย และมีประชาชนมานำข้าวสาร-อาหารแห้งมาบริจาคให้ก็ไม่ได้รู้สึกลำบากแล้ว ซึ่งตนอยากขอบคุณผู้ที่มาบริจาค อาหารในแคมป์ที่ได้ทานจะเป็นไข่สด และอาหารสดมาทำอาหารภายในแคมป์อีกที

วี แรงงานชาวกัมพูชา จากแคมป์แรงงานก่อสร้างย่านทองหล่อ
 

สำหรับเรื่องสภาพความเป็นอยู่ในแคมป์ วีระบุว่า ด้วยความที่อากาศค่อนข้างร้อนอบอ้าว ส่วนใหญ่ใช้เวลาพักอยู่ด้านนอกมากกว่าในห้อง

ความรู้สึกวันแรกที่มีการปิดไม่ให้ออกข้างนอก วี เผยว่า รู้สึกอึดอัดเหมือนกัน แต่ตนกังวลเรื่องเงิน เพราะว่ามีคนข้างหลังต้องดูแล  

“อยากทำงานอยู่ เราต้องส่งเงินให้ลูก กินนม กินอะไรอยู่บ้าน พ่อ-แม่เลี้ยงลูก เขาก็แก่แล้ว ลำบาก” แรงงานชาวกัมพูชา กล่าว 

วี ระบุด้วยว่า ถ้าสมมติรัฐบาลขยายเวลาล็อกดาวน์ออกไป ตนกังวลว่า “คิดว่าไม่ได้ทำงาน ก็ไม่มีเงินส่งทางบ้าน ทางบ้านก็เดือดร้อนด้วย ก็ไม่มีเงินเรา อยู่นี่เราก็ อยู่ดีกินดีก็จริง แต่ลูกอยู่บ้าน ต้องใช้เงินให้ลูก และก็อยากให้รัฐบาลเปิดให้ทำงาน เพื่อคนที่บ้าน ห่วงแต่คนที่บ้าน อยากให้รัฐบาลเปิดให้พวกผมทำงานเร็ว ๆ” 

แรงงานชาวเมียนมาร่วมสะท้อนความเห็นเรื่องมาตรการ 

บอย เป็นแรงงานชาวพม่าเชื้อสายไทใหญ่ ที่ไม่อยู่ในประกันสังคม ม. 33 เขามาจากเมืองตองจี รัฐฉาน เข้ามาในไทยเพื่อทำงานเมื่อประมาณ 7-8 ปีที่แล้ว โดยบอย อาศัยในแคมป์คนงาน ย่านทองหล่อ กับลูกสาว ซึ่งบอยตั้งชื่อว่า ‘ปีใหม่’ เนื่องจากเกิดในวันขึ้นปีใหม่พอดี

ตอนมีการประกาศไม่ให้แรงงานออกนอกแคมป์ บอย รู้สึกว่า คำสั่งกระทันหันไปหน่อย แต่เขาก็ทำตามประกาศ เพราะกลัวและไม่กล้าไปไหน 

แต่ถ้ามีธุระข้างนอก หรือต้องออกไปด้วยเหตุจำเป็น สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่แคมป์ได้ โดยทางแคมป์จะมาถามว่าสัปดาห์นี้มีใครต้องออกไปไหนบ้าง ก็สามารถส่งชื่อ-เหตุผลที่ต้องออกจากแคมป์ จากนั้น เจ้าหน้าที่แคมป์จะส่งให้ทางเขต 

บอย ระบุว่า ตนมีต้องพาลูกสาวไปหาหมออยู่ ก็ยังสามารถไปได้อยู่  

บอย กล่าวต่อว่า ตนกังวลนิดหน่อยเรื่องการปิดแคมป์คนงาน เนื่องจากไม่ได้ปิด 4-5 วัน แต่ปิดเป็นเดือน ซึ่งทำให้ตนขาดรายได้ และไม่มีเงินส่งให้ที่บ้าน 

"อยากออกไปทำงานแล้วเหมือนกัน ดีกว่าอยู่ในนี้...แคมป์เราก็ไม่มีปัญหาเรื่องโควิด-19 แล้ว อยากทำงาน" แรงงานชาวไทใหญ่ กล่าว  

ระหว่างสัมภาษณ์บอย สอง แรงงานชาวเมียนมา เพื่อนของบอย ซึ่งกำลังอุ้มน้องปีใหม่ ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการล็อกดาวน์ครั้งนี้  

"มันหยุดมา 4-5 วันแล้ว การใช้จ่าย ต้องไปเชื่อ (ติดเงินกับทางร้านขายของภายในแคมป์ และมาจ่ายทีหลังเมื่อมีเงิน) ทางบ้าน พ่อ-แม่ก็ขอมา เราก็ต้องโอนให้ เพราะว่าเศรษฐกิจที่พม่าก็ยิ่งแย่อยู่แล้วตอนนี้ เลี้ยงลูก เลี้ยงพ่อ เลี้ยงแม่ และไม่ได้ปิดแค่ 4-5 วัน แต่ปิดเป็นเดือน และไม่มีอะไรเข้ามาช่วยเหลือตอนนี้ แม้แต่ข้าวยังมีคนมาบริจาคนิดหน่อยๆ"  

"เรารับภาระหลายอย่าง พ่อ-แม่อยู่ข้างหลัง เขาก็โทร.มา ผมหยุดงานอยู่แบบนี้ เราลำบากแล้ว พ่อ-แม่ยิ่งลำบาก เราทำงานได้ค่าจ้างรายวัน เราก็ไม่มีเงินอะไรมากมาย ถ้าเราหยุดงาน อนาคตข้างหน้าก็ไม่มีแล้ว วันหนึ่งทำงาน 300-400 บาท" สอง กล่าว 

สอง แรงงานชาวเมียนมา จากแคมป์คนงานก่อสร้างย่านทองหล่อ
 

สำหรับข้อความที่อยากฝากถึงภาครัฐ บอยทิ้งท้ายว่า ตนรู้สึกว่าปัญหามันไม่ใช่ที่แคมป์คนงาน แต่มันเกี่ยวกับการจัดการของรัฐบาล

"ถ้าเกิดล็อกแคมป์คนงาน มันก็เพิ่มอยู่เรื่อยๆ ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่แคมป์คนงานหรอกครับผมว่า มันอยู่ที่เขาควบคุมไม่ได้เฉยๆ คนงานเป็นระเบียบ จริงๆ ระหว่างไซต์ กับแคมป์คนงาน จะมีรถของทางบริษัทมารับไป-กลับแคมป์ไซต์ก่อสร้างตลอด ไม่ให้ออกนอกทางเลย" บอย ทิ้งท้าย  

รายได้ไม่มี รายจ่ายเท่าเดิม-หวังรัฐช่วยพักชำระหนี้

ถัดจากแรงงานชาวเมียนมาที่มาร่วมแสดงความเห็น คนสุดท้ายที่ผู้สื่อข่าวได้สนทนา เป็นแรงงานชาวไทยจากแคมป์แรงงานก่อสร้างย่านทองหล่อ ชื่อ ‘อนุชา’ ชาวชัยภูมิ 

อนุชา แรงงานชาวชัยภูมิ จากแคมป์แรงงานก่อสร้างย่านทองหล่อ

ปกติ อนุชา ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย จป. หรือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน และถือเป็นผู้ที่ดูแลเรื่องสุขลักษณะภายในแคมป์ โดยเขาระบุถึงผลกระทบจากการล็อกดาวน์แคมป์ฯ ครั้งนี้ ส่งผลต่อรายได้เขาทันที รายได้ลดลง สวนทางกับรายจ่ายที่เท่าเดิม ไม่มีเงินส่งให้คนทางบ้าน อีกทั้ง ยังมีเรื่องหนี้สินที่ทางเจ้าหนี้ไม่ได้พักชำระให้ด้วย  
 

"ต้องผ่อนรถยนต์ ผ่อนอะไร ตอนนี้ผมก็ยังผ่อนอยู่ ยังทวงอยู่" อนุชา กล่าว พร้อมระบุว่า ตอนล็อกดาวน์รอบแรกมีมาตรการช่วยพักชำระหนี้อยู่ แต่รอบสามไม่มีช่วยอะไรเลย 

อนุชา กล่าวต่อว่า การถูกล็อกดาวน์ส่งผลต่อสภาพจิตใจเขาเช่นกัน เหมือนคนที่ติดคุก ไม่มีอิสระอะไร 

"คือเราอย่างว่าเนอะ เคยไปนู่นไปนี่ได้ ทำงานได้ พอเราอยู่อย่างนี้ เหมือนติดกับ เหมือนติดคุก ไม่ต่างกันเลย ออกไปไหน มาไหนไม่ได้" 

"ก็ฝากถึงทางภาครัฐ ช่วยเข้ามาดูแลนิดหนึ่ง ค่าเยียวยาดูแลพวกเรา ค่าใช้จ่ายก็ยังมีอยู่ ถึงจะอยู่อย่างนี้ แต่ค่าใช้จ่ายเราไม่ได้ลดละลงเลย เพราะเราไม่ได้อยู่แค่ตัวคนเดียว เรามีทางบ้านต้องดูแล พ่อ แม่ ลูก" 

"เรื่องพักชำระหนี้อยากให้มีมาก ๆ เลย เขายังตามทวงอยู่อย่างนี้ ไฟแนนซ์เขาไม่ยอมหยุด" อนุชา ทิ้งท้าย

หมายเหตุ ผู้ถ่ายภาพประกอบข่าวชิ้นนี้คือ ธนพล เลิศจตุพร นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และบุรภัทร จันทร์ประทัด บัณฑิตสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท