จะล็อคดาวน์ไปนานเท่าไหร่ดี

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

รัฐบาลประกาศล็อคดาวน์ กทม. ปริมณฑล และ 4 จังหวัดชายแดนใต้ที่มีการระบาดหนัก รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงจากเก้าพันกว่ารายเมื่อสองวันที่แล้วเป็นแปดพันกว่ารายในวันนี้ ผมได้รับคำถามจากหลายๆ คนว่าล็อคดาวน์เที่ยวนี้จะได้ผลไหม จะต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ตัวเลขจึงจะลดลงให้เห็น เช่นติดเชื้อสักวันละสี่ห้าพันก็ยังดี

ผู้คนเริ่มชินชากับตัวเลขคิดว่าวันละสี่ห้าพันน่าจะพอรับได้ ตอนล็อคดาวน์รอบแรกตัวเลขวันละร้อยเศษๆ เราตื่นเต้น รีบล็อคดาวน์ แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเรามีตัวเลขหกพันรัฐบาลก็ยังสองจิตสองใจ จนตัวเลขถึงเก้าพันเมื่อวานซืนจึงตัดสินใจได้ จิตใจของมนุษย์เรามีการปรับระดับที่ตนเองทนได้ (threshold) สูงตามสถานการณ์ครับ 

ก่อนอื่น อย่าถือตัวเลขที่รายงานเป็นสรณะมาเกินไป ถ้าระบบรายงานไม่สมบูรณ์ตัวเลขก็จะต่ำกว่าความเป็นจริง พอผมพูดอย่างนี้ พวกเราก็จะสงสัยว่ามีการสั่งการให้บิดเบือนตัวเลขเพื่อซ่อนความไร้สมรรถภาพหรือเปล่า สมัยก่อนเราซ่อนตัวเลขโรคระบาดบางโรค เพื่อไม่ให้กระทบการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร เช่น อหิวาตกโรค หรือไข้หวัดนก ปัจจุบันไม่น่าจะมีนโยบายนั้นแล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อไข้หวัดใหญ่ 2009 เข้ามา ทีแรกเราก็ตื่นเต้นว่าไข้หวัดนี้จะมาล้างโลก ต้องสอบสวนโรคอย่างเข้มงวดมาก ไปสักพักหนึ่งก็พบว่าระบาดไปทั่วโดยเฉพาะตามโรงเรียนต่างๆ แต่ไม่ค่อยมีใครมีอาการรุนแรง อัตราตายต่ำ ระบบสอบสวนโรคและระบบรายงานก็ค่อยๆ จางหายไป 

แต่การสอบสวนโรคโควิดจางหายไม่ได้ เรายังต้องสอบสวนโรคอย่างเข้มข้น แต่ก็หลีกเลี่ยงการรายงานที่ต่ำกว่าความเป็นจริงไม่ได้ เหตุผลมีอยู่ว่า ถ้ามีผู้ป่วยในประเทศสักวันละ 100 รายเหมือนปีกลาย แต่ละรายมีผู้สัมผัสราว 20 คน เราก็สามารถติดตามเอาผู้สัมผัสมาตรวจหาว่ามีเชื้อหรือไม่ได้ครบถ้วนทุกคน ถึงแม้ตัวเลขหลังการสอบสวนอาจจะเพิ่มเป็น 200 ราย แต่ทั้งหมดนี้โดนกักตัวเรียบร้อยแล้ว ในที่สุดเชื้อก็หยุดแพร่กระจาย  แต่ในตอนนี้มีผู้ป่วยวันละเกือบหมื่นราย เจ้าหน้าที่จะต้องสอบสวนผู้สัมผัสโรคราวสองแสนคนต่อวัน กำลังคนด้านการสอบสวนโรคมีไม่พอ จึงจำเป็นต้องมีผู้สัมผัสโรคที่ยังไม่ได้ติดตามอยู่อย่างมาก และจะมากทบทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ 

ในช่วงที่มีการระบาดจนไม่รู้ว่าผู้ป่วยใหม่แต่ละรายติดจากใคร เราไม่สามารถพึ่งการสอบสวนโรคในการยับยั้งการแพร่กระจายอีกต่อไปแล้ว และเราก็ไม่สามารถเชื่อตัวเลขรายงานว่าเป็นตัวเลขที่แท้จริงในชุมชนได้เช่นกัน

นอกจากนี้ วิธีการตรวจวินิจฉัยก็จะมีผลต่อจำนวนตัวเลขอย่างมาก อีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ การตรวจหาเชื้อก็จะเปลี่ยนไปจากวิธี RT-PCR ซึ่งตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส ไปเป็นวิธีตรวจ antigen ซึ่งเป็นสารโครงสร้างของไวรัสก่อนแล้วตามด้วย RT-PCR ในรายที่จำเป็น

วิธี RT-PCR ตรวจโดยวิธีเพิ่มปริมาณรหัสพันธุกรรมที่มีอยู่ในสิ่งส่งตรวจโดยวิธีทวีคูณหลายๆ รอบ จนได้มากถึง สิบยกกำลังสี่สิบ เท่า (ซึ่งมากกว่า อสงไขย เพราะอสงไขยเท่ากับโกฎิยกกำลังยี่สิบ หรือ สิบยกกำลังยี่สิบเจ็ดเท่านั้น) ขณะที่วิธี antigen ไม่ได้ขยายอะไรเลย ดังนั้นผู้แพร่เชื้อระยะแรกที่สามารถตรวจพบด้วย RT-PCR จึงอาจจะตรวจไม่พบ antigen อยู่หลายวัน แต่ในที่สุดสักวันหนึ่งก็คงจะตรวจพบได้ 

ดังนั้น ถ้าในระยะต่อไปทุกคนที่จะต้องตรวจด้วย RT-PCR ถูกเปลี่ยนเป็นตรวจด้วย antigen หมด จำนวนตัวเลขก็จะสะดุดเพิ่มช้าไปสักสองสามสี่ห้าวัน คือ ตรวจได้เฉพาะคนที่แพร่โรคได้สองสามสี่ห้าวันแล้ว แล้วหลังจากนั้นตัวเลขรายงานก็เพิ่มต่อไปตามปรกติ

แต่เหตุการณ์ก็คงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการตรวจด้วย antigen ต้นทุนถูก ใช้เวลาสั้น และกำลังจะแจกให้ครัวเรือนตรวจกันเอง ในไม่ช้าคนที่เดิมเข้าไม่ถึงการตรวจใดๆ เลย ก็จะเข้าถึงการตรวจด้วย antigen และจะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก

การตรวจด้วย antigen นอกจากจะมีผลลบลวง คือ antigen ยังมีปริมาณน้อยในระยะแรกและตรวจไม่พบแล้ว ยังมีผลบวกลวงอีกด้วย 

ผลลบลวงน่ากลัวครับ เพราะคนที่ถูกตรวจอาจจะย่ามใจไม่ระมัดระวัง แพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว คนอยู่ในกลุ่มเสี่ยงแต่ตรวจ antigen แล้วได้ผลลบจึงควรตรวจซ้ำเป็นระยะๆ ทุก 3-4 วัน วันท้ายๆ มีไวรัสออกมาเขรอะก็จะให้ผลบวก 

ส่วนผลบวกลวงเราก็หวังว่าจะมีไม่มาก พวกนี้คือคนที่ไม่มีเชื้อแต่ตรวจผิดว่ามี พวกเค้าจะโดนจับส่งไปอยู่รวมกับคนที่ผลบวกจริงและในที่สุดก็จะติดเชื้อทั้งๆ ที่เดิมไม่ติด ดังนั้นก่อนคุณหมอจะจับใครไปไว้กับพวกมีเชื้อต้องให้แน่ใจว่าเรามีผลบวกจาก RT-PCR ไม่ใช่ผลบวกจาก antigen นะครับ 

ถ้าไม่มีอาการมาก เป็นผลบวกปลอมและไม่โดนจับไปปนกับผู้ติดเชื้อ อยู่บ้านคนเดียวไม่มีใครเกี่ยวข้อง ร่างกายแข็งแรงดี บวกปลอมไม่มีอันตรายกับใครในด้านการแพร่โรค แต่ตัวเองและครอบครัวจะเสียกำลังใจไปเปล่าๆ เท่านั้นเอง

กลับมาเรื่องสถิติการติดเชื้อระดับประชากร ถ้าทางสาธารณสุขยังยืนยันว่าจะรายงานเฉพาะผลบวกจาก RT-PCR ปัญหาความสับสนข้างบนก็จะน้อยลงหน่อย อย่างไรก็ตาม ผมคาดว่าถ้าใช้ antigen อย่างกว้างขวางตัวเลขรายงานน่าจะก้าวกระโดดแน่นอน เพราะห้องปฏิบัติการเดิมต้อง RT-PRC ทุกราย (ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ติดเชื้อ) เสียเวลามาก ทำให้คนมีเชื้อจริงเข้าไม่ถึงการตรวจ ตอนนี้กำลังจะใช้ RT-PCR ตรวจเฉพาะคนที่ตรวจพบ antigen เป็นส่วนใหญ่ ภาระงานตรวจ RT-PCR จะลดลง คนที่ติดเขื้อในชุมชนจะมีโอกาสถูกตรวจพบโดย RT-PCR มากขึ้น

ผมเล่าเรื่องข้างบนเพื่อให้พวกเราเห็นว่าเมื่อการติดเชื้อระบาดลุกลามไปมาก ระบบต่างๆ เปลี่ยนไป การแปลผลตัวเลขต้องระวัง อย่ายึดตัวเลขรายงานเป็นสรณะ ตัวเลขแกว่งระหว่างวัน แกว่งลงก็อย่าเพิ่งดีใจ แกว่งขึ้นก็อย่าเพิ่งใจแป้ว ให้ดูแนวโน้มเป็นหลัก

ถ้าโรคสงบลงจริง เราก็จะเห็นตัวเลขรายงานซึ่งถูกบ้างผิดบ้างนี้ลดลงอย่างแน่นอน คำถาม คือ เราเริ่มล็อคดาวน์เต็มที่วันนี้ อีกสักกี่วันที่เราจะเห็นผล เมื่อปีกลายนี้ล็อคดาวน์ไปสองสัปดาห์ก็พอรู้สึกได้ว่าดีขึ้น พอครบสองเดือนโรคก็สงบ

ปีนี้น่าจะไม่เหมือนเดิมครับ เชื้อของปีกลายเป็นสายพันธุ์จีน หรือ G เมื่อต้นปีนี้เป็นสายพันธุ์อังกฤษ หรือแอลฟาซึ่งติดต่อง่ายกว่าสายพันธุ์จีน 70% ในไตรมาสสามปีนี้เราเผชิญกับสายพันธุ์อินเดียเดลต้าซึ่งแพร่ได้ดีกว่าอังกฤษอีก 40% สรุปแล้วปีนี้เราเจอเชื้อที่แพร่ได้เก่งกว่าปีกลาย 1.7 x 1.4 = 2.38 เท่า

เชื้อแพร่ได้ดีกว่าเดิม 2.38 เท่า มาตรการเราทำได้ดีกว่าเดิม 2.38 เท่าหรือเปล่า? ถ้าดีขึ้นได้ 2.38 เท่าจริง ก็ควรจะมีผลคล้ายๆ ปีกลาย คือภายในสองสัปดาห์น่าจะเห็นผลว่าตัวเลขติดเชื้อรายใหม่ไม่เพิ่มแล้ว ถ้าทำได้ดีขึ้นไม่ถึง 2.38 เท่า แต่ยังดีอยู่ ตัวเลขก็จะลดลงช้าลง ถ้าทำได้ดีไม่พอก็จะอาจจะไม่ลดลงเลยเหมือนอย่างที่มาเลเซียกำลังเผชิญอยู่ 

ข้อควรคำนึงอีกอย่างหนึ่ง คือ จำนวนมวลประชาที่ติดเชื้อปีนี้มากกว่าปีกลายเป็นร้อยเท่า ถึงแม้โรคจะลดลงได้ก็ยังจะไม่สะเด็ดน้ำอย่างง่ายๆ 

แล้วเราจะทำอย่างไรดี ประการแรก เราเสียกรุงแล้ว อย่าให้เสียประเทศ หัวเมืองหลายหัวเมืองของเรายังรบเก่ง ตัวอย่างที่ผมชื่นชมเมื่อเดือนที่แล้ว คือ เชียงใหม่ เปิ้นทำจับไดบ่ฮู้ แม้ไม่ต้องมีวัคซีน เปิ้นก็”เอาอยู่” แต่เราต้องไม่ลืมว่าตอนนั้นที่เชียงใหม่ปราบได้เป็นสายพันธุ์อังกฤษ ตอนนี้สายพันธุ์เดลต้าอินเดียมาให้ทดสอบแล้ว ระวังให้ดีก็แล้วกันเด้อ เปิ้นจะเก่งอย่างจีนที่เอาอยู่ได้โดยไม่อาศัยวัคซีนหรือเปล่านะ พวกเราต้องคอยดูแลให้กำลังใจ เราต้องช่วยกันป้องกันหัวเมืองต่างๆ ในประเทศให้ได้ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีวัคซีน

เอาเป็นว่า กทม. ต้องมีวัคซีนไม่งั้นจะแย่ลงเรื่อยๆ วัคซีนจะทำให้เราควบคุมได้ดีขึ้นจนถึง 2.38 เท่าหรือเปล่า ผมคำนวณอย่างง่ายๆ ว่าถ้าเราล็อคดาวน์ได้เท่าปีกลายเท่านั้น มีวัคซีนมาช่วย เราต้องลดการแพร่เชื้อจากคนติดเชื้อไปสู่คนรับเชื้อลด 2.38 เท่า เอา 1 หารด้วย 2.38 ได้ 0.42 คือต้องขอวัคซีนที่มีประสิทธิผลในการป้องกัน 1-0.42 = 58% ฉีดให้ประชากร กทม. ให้ครอบคลุมได้ 100% เราก็จะพอจะเอาอยู่ ขอย้ำว่า 100% ไม่ใช่ 70% ที่เคยตั้งเป้ากัน

การฉีดวัคซีนให้ได้ครบถ้วนเหมือนการปลูกต้นไม้ถี่ๆ กันลมกันน้ำหลาก ความถี่ของต้นไม้สำคัญมาก ถึงแม้ต้นไม้แต่ละต้นจะปล่อยให้ลมหรือน้ำพัดผ่านได้ มันก็จะช่วยชะลอความแรงของกระแส เมื่อปลูกแน่นไปหมด น้ำหลากก็จะกลายเป็นน้ำไหลริน เป็นวิธีการธรรมชาติที่ป่าซับน้ำหลากและพายุ ถ้ามีต้นไม้แข็งแรงเพียงไม่กี่ต้นปลูกไว้ห่างๆ ไม่ว่าจะแข็งแรงเพียงไรก็ไม่มีผลในการต้านกระแสเลย

จะว่าประสิทธิผลของวัคซีนไม่สำคัญก็ไม่ได้แน่นอน ถ้าวัคซีนมีประสิทธิผลต่ำกว่านี้ เช่น ต่ำกว่า 50% ต่อให้ฉีดประชากรจนครบ 100% ก็ไม่สามารถระงับการระบาดได้ ศึกครั้งนี้จึงใหญ่หลวงนัก ต้องได้ทั้งวัคซีนดี และต้องฉีดให้ครบ จึงจะพอรักษากรุงไว้ได้

ถ้าวัคซีนมีไม่พอจะฉีดใครก่อน ตอนนี้ได้ข่าวว่าเราฉีดชาว กทม ไปแล้วกว่าหนึ่งในห้าหรือ 20% ของประชากร กทม. และได้ข่าวอีกเช่นกันว่าฉีดผู้สูงอายุได้ครอบคลุมถึง 50% ถ้าความเข้าใจของผมผิดพลาดก็ขออภัย เราฉีดผู้สูงอายุใน กทม. ให้ครบ 100% จะลดการใช้เตียงไอซียูได้มั้ย อันนี้ต้องดูโครงสร้างอายุของชาว กทม. ด้วย ถ้า กทม. มีประชากรส่วนใหญ่มากๆ อยู่ในวัยกลางคน ฐานขนาดใหญ่นี้จะเป็นตัวคูณที่สำคัญ ถ้าคนแก่เสี่ยงต่อการใช้เตียงไอซียูเป็น 3 เท่าของคนวัยกลางคน แต่คนวัยกลางคนมีจำนวน 4 เท่า และไม่ได้รับการป้องกัน เตียงไอซียูก็จะต้องใช้สำหรับบริการคนวัยทำงานจนเต็มแน่นไปหมด ในการวางแผน จะพิจารณาเฉพาะอัตราเสี่ยงสัมพัทธ์ (relative risk) เพียงอย่างเดียวไม่ดูโครงสร้างประชากรก็จะแก้ปัญหาไม่ได้

นอกจากประชากรวัยกลางคนและแรงงานอาจจะมีฐานกว้างแล้ว ที่สำคัญเขาจะเป็นทั้งคนแพร่เชื้อ และคนสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจ ถ้าคนวัยกลางคนแรงงานแพร่เชื้อได้มากกว่าคนสูงอายุได้ตีซะว่า 3 เท่า เราฉีดคนกลุ่มนี้คนเดียวมีผลต่อการระบาดเท่ากับฉีดผู้สูงอายุ 3 คน การฉีดวัคซีนให้คนวัยแรงงานจึงเป็นการป้องกันผู้สูงอายุในทางอ้อม พร้อมๆ กับการป้องกันการผลิตของประเทศด้วย

หวังว่าข้อเขียนของผมจะไม่สร้างความวิตกกังวลให้ผู้อ่านมากเกินไป ถ้าผมทายได้ถูก พวกเราอ่านแล้วจะได้เตรียมตัว เช่น เข้มงวดในการล็อคดาวน์แยกตัวเองมากขึ้น ยอมรับวัคซีนมากขึ้น ถ้าผมทายผิด เรื่องไม่ร้ายแรงอย่างที่คาดก็ไม่เป็นไรหรอกครับ อ่านมาแล้วเครียดมาแล้วจนเคยชิน ต่อไปเจอความจริงดีกว่าที่ทายไว้ก็จะได้มีความสุขมากขึ้น

 

ที่มา: Facebook Viroj NaRanong

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท