Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา รมว.ต่างประเทศของสหรัฐฯ ร่วมประชุมทางไกลกับ รมว.การต่างประเทศของประเทศสมาชิกในอาเซียน เรียกร้องให้อาเซียน มีมาตรการร่วมกันกดดันกองทัพพม่า ยุติความรุนแรงภายในประเทศ ฟื้นคืนกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย และปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด ขณะที่ตัวแทนกองทัพพม่าเข้าร่วมประชุมด้วย

การประชุมระดับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ-อาเซียน เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 64 (ที่มา Khit Thit Media)

16 ก.ค. 64 สำนักข่าวอิระวดี รายงานเมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ แห่งสหรัฐฯ เข้าร่วมประชุมนัดพิเศษกับรัฐมนตรีการต่างประเทศชองชาติสมาชิกอาเซียน ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 64 เรียกร้องให้อาเซียน มีมาตรการร่วมกัน กดดันกองทัพพม่า ให้ยุติความรุนแรง ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด และคืนประชาธิปไตยให้กับชาวพม่า 

ขณะที่ วันนาหม่องลวิน สมาชิกสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ตัวแทนจากกองทัพพม่าเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย 
 
บลิงเคน "เรียกร้องให้อาเซียนมีมาตรการร่วมกันในการเรียกร้องให้กองทัพพม่ายุติความรุนแรง รื้อฟื้นกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในพม่า และปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด" เนด ไพร์ซ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แห่งสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์

ที่ผ่านมา สหรัฐฯ และชาติยุโรป ถือเป็นกลุ่มประเทศที่ออกมาแถลงกดดันกองทัพพม่ามากที่สุดนับตั้งแต่ พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 64

ในวันทำรัฐประหาร กองทัพพม่าควบคุมตัวนักการเมืองจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี หลายราย รวมถึง อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และหัวหน้าพรรคเอ็นแอลดี และวินมยิ้ด ประธานาธิบดีพม่าด้วย 

ในสัปดาห์นี้ (12 ก.ค.-16 ก.ค. 64) กองทัพพม่าตั้งข้อหาทุจริตคอร์รัปชันแก่อองซานซูจี เพิ่มอีก 4 คดี ทำให้ตอนนี้ อองซานซูจี ถูกกองทัพพม่าดำเนินคดีด้วยกันทั้งสิ้น 10 คดี และถ้าเกิดเธอถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง เธออาจต้องใช้ชีวิตในคุกนานถึง 75 ปี 

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ AAPP รายงานตัวเลขผู้ถูกจับกุมด้วยคดีทางการเมือง นับตั้งแต่กองทัพพม่าทำรัฐประหารจนถึงวันที่ 15 ก.ค. 64 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,762 ราย อยู่ในการควบคุมตัวของตำรวจ หรือตัดสินโทษแล้ว 5,269 ราย 

อิระวดี อ้างสำนักข่าว เอพี ระบุว่า บลิงเคน เรียกร้องให้อาเซียนดำเนินมาตรการทันที เพื่อกดดันให้กองทัพพม่ารับผิดชอบต่อฉันทามติ 5 ข้อในที่ประชุมผู้นำอาเซียน สมัยพิเศษ เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 64 เพื่อคลี่คลายวิกฤตการเมืองในพม่า ซึ่งทั้ง 5 ข้อ ประกอบด้วย  

1) หยุดยั้งการใช้ความรุนแรงในประเทศพม่าโดยทันที และขอเรียกร้องทุกฝ่ายให้ใช้ความยับยั้งชั่งใจขั้นสูงสุด 

2) ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้กระบวนการเจรจาอย่างสร้างสรรค์ ในการแก้ปัญหาวิกฤติพม่าอย่างสันติ เพื่อประโยชน์ของประชาชน 

3) ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนจะทำหน้าที่เป็นคนกลางประสานงานการเจรจา โดยมีผู้ช่วยเลขาธิการอาเซียนให้ความช่วยเหลือ 

4) อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ผ่านศูนย์ประสานงานเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ หรือ AHA 

5) ผู้แทนพิเศษ และคณะผู้แทนของอาเซียน จะเดินทางเยือนประเทศพม่า เพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในวิกฤตการณ์ครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ระบุว่า นี่คงเป็นเรื่องผิดพลาดอย่างมหันต์ ถ้าจะคาดหวังว่าการประชุมครั้งนั้นจะสามารถแก้ไขวิกฤตในพม่า เพราะว่าประเทศสมาชิกอาเซียน ยึดมั่นสองหลักการของ ‘วิถีอาเซียน’ คือ หลักไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน และหลักฉันทามติ คือทุกมติของอาเซียนต้องได้รับความเห็นชอบจากชาติสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ 

มากกว่านั้น นักวิเคราะห์มองด้วยว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศมีระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมมากกว่าประชาธิปไตย ดังนั้น การที่พวกเขาจะไม่กระตือรือร้นต่อการกดดันกองทัพพม่า จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด  

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 พ.ค.64 สำนักข่าวอัลจาซีรา เคยรายงานว่า กองทัพพม่ายังไม่ตกลงให้ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียน เดินทางเยือนพม่าจนกว่าสถานการณ์ภายในประเทศจะกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง พร้อมแสดงความกังวลว่า การเยือนของอาเซียน อาจเป็นการกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงต่อชีวิตของผู้ประท้วง และชนกลุ่มน้อย  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กองทัพพม่าแปะป้าย NUG เป็นกลุ่มก่อการร้าย-ยังไม่อนุญาตให้ผู้แทนอาเซียนเยือนจนกว่าประเทศจะมีเสถียรภาพ

ในเวลาเดียวกัน หนังสือพิมพ์ "Global New Light of Myanmar" ของทางการพม่า พาดหัวหน้าหนึ่งถึงการเข้าร่วมประชุมสหรัฐฯ-อาเซียนของ วันนาหม่องลวิน ระบุว่า "รัฐมนตรีแห่งสหภาพเข้าร่วมประชุมสหรัฐฯ-อาเซียนผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์" 

หนังสือพิมพ์รายงานด้วยว่า "ระหว่างการประชุม วันนาหม่องลวิน รัฐมนตรีแห่งสหภาพ แสดงความรู้สึกยินดีที่สหรัฐฯ สนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 พร้อมทั้งเรียกร้องให้สหรัฐฯ สนับสนุนโครงการริเริ่มเพื่อตอบสนองต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ของอาเซียน และสนับสนุนโครงการริเริ่มเพื่อการบูรณาการอาเซียน (IAI)"

โครงการริเริ่มเพื่อการบูรณาการอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration หรือ IAI) เป็นโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาค โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อสนับสนุนความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน ได้แก่ เวียดนาม ลาว เมียนมา และกัมพูชา เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และลดช่องว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจในบรรดาสมาชิก 10 ประเทศ 

 

แปลและเรียบเรียงจาก

US Urges ASEAN to Hold Myanmar ‘Accountable’ to Jakarta Consensus 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net