กะเหรี่ยงบางกลอยยื่น กสม. ขอสอบละเมิดสิทธิ 28 ชาวบ้านถูกดำเนินคดี

กะเหรี่ยงบางกลอย จ.เพชรบุรี ยื่นหนังสือ กสม. อีกฉบับ ขอสอบกรณีรัฐละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ด้าน ครม. เห็นชอบดัน ‘มรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน’ รัฐมนตรีทรัพยากรฯ ยันดันมรดกโลกต่อ ชี้ ‘สิทธิมนุษยชน’ ไม่เกี่ยวกับมรดกโลกทางธรรมชาติ

กะเหรี่ยงบางกลอยยื่น กสม. ตรวจสอบการละเมิดสิทธิ

15 ก.ค. 2564 พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ผู้แทนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ยื่นหนังสือผ่านภาคี #SAVEบางกลอย ไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอให้พิจารณาตรวจสอบเรื่องร้องเรียนในกรณีการละเมิดสิทธิชุมชน สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิในการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากร และสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ภายหลังถูกจับกุมดำเนินคดีเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2564

ในหนังสือดังกล่าวระบุเกี่ยวกับข้อเท็จจริงความเป็นมาของชุมชนซึ่งถูกกระทำจากหน่วยงานรัฐในการบังคับให้ต้องละทิ้งถิ่นที่อยู่ดั้งเดิม อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิม ภายหลังถูกอพยพลงมา 2 ระลอกในช่วงปี 2539 และช่วงปี 2553-2554 จนเกิดเป็นการอพยพกลับขึ้นไปที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดินอีกครั้งเมื่อต้นปี 2564 จนถูกจับกุมดำเนินคดี ต่อมา ประชาชนชาวบางกลอยเริ่มเจ็บป่วย ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดสารอาหารและการที่ไม่อาจที่จะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารเลี้ยงชีพได้ เนื่องจากพื้นที่บ้านบางกลอยล่าง-โป่งลึก ไม่มีที่ทำกินให้ และที่อยู่อาศัยก็เป็นพื้นดินที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกพืชผักทำสวนทำไร่แต่อย่างใด

“การกลับขึ้นไปที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นความผิด เพราะพวกข้าฯ ไม่ได้ต้องการให้อุทยานเอาที่ดินมาแบ่งให้พวกข้าฯ พวกข้าฯ เพียงต้องการกลับไปทำไร่หมุนเวียนเลี้ยงครอบครัวในบริเวณที่ทำกินเดิมของบรรพบุรุษ หรือเรียกว่า ไร่ซาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ทราบดีและเคยยินยอมให้บรรพบุรุษเราทำกินมาก่อนแล้ว พวกข้าฯ ไม่ประสงค์ที่จะบุกเบิกผืนป่าใหม่ที่จะต้องมีการตัดโค่นทำลายต้นไม้ใหญ่ ดังนั้น ถ้าหน่วยงานราชการจะจัดที่ดินบริเวณบ้านโป่งลึกให้ พวกข้าฯ ไม่ต้องการ เพราะเป็นการเปิดป่าใหม่ ต้องโค่นต้นไม้ใหญ่ ไม่ใช่ที่เดิมของพวกข้าฯ  ถ้าอุทยานจะจัดที่ใหม่ ก็เท่ากับต้องให้พวกข้าฯ ไปทำลายป่า การทำไร่หมุนเวียนในไร่ซากเดิมของพวกข้าฯ ไม่เป็นการทำลายป่า เพราะไม่ได้ทำให้ป่าไม้เสียหายไป แต่กลับทำให้ป่าไม้อุดมสมบูรณ์มากกว่าเดิม” แถลงการณ์ระบุ

นอกจากนั้น แถลงการณ์ยังระบุข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการจับกุม ควบคุมตัว และการดำเนินคดี ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ไม่น่าจะชอบด้วยหลักการสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย ตั้งแต่กระบวนการจับกุม กระบวนสอบการ การแจ้งข้อกล่าวหา จนถึงกระบวนการฝากขัง และในวันที่ได้รับการปล่อยตัว ศาลจังหวัดเพชรบุรีมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวด้วยเงื่อนไข “ห้ามผู้ต้องหากลับเข้าไปในพื้นที่ที่ถูกจับ และพื้นที่อุทยานที่ไม่ได้รับอนุญาต”

“พวกข้าฯ เห็นว่า เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากพบว่า ในการสอบสวนไม่มีการจัดล่ามแปลภาษาให้ ไม่อนุญาตให้ทนายความหรือบุคคลที่พวกข้าฯ ไว้วางใจร่วมรับฟังการสอบสวน นอกจากนี้ ในจำนวน 22 คน ที่ถูกนำตัวเข้าเรือนจำกลางเพชรบุรี เขากลิ้ง มี 1 คน เป็นเยาวชน เท่ากับว่า ในการที่เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลต่อศาลเพื่อออกหมายจับก็ดี การที่เจ้าหน้าที่นำตัวฝากขังเข้าเรือนจำก็ดี เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการตรวจสอบให้ถูกต้อง และเยาวชนถูกดำเนินคดีโดยใช้หลักกฎหมายที่ไม่ชอบ เนื่องจากจะต้องใช้กระบวนการดำเนินคดีกับเยาวชนไม่ใช่เหมือนกันบุคคลอื่นที่เป็นผู้ใหญ่รวมทั้งการนำตัวไปขังที่เรือนจำด้วย” แถลงการณ์ระบุ

ท้ายแถลงการณ์ระบุว่า ข้าพเจ้ากับพวกจึงเรียนมาเพื่อขอให้ท่านได้โปรดพิจารณาตรวจสอบเรื่องร้องเรียนในกรณีการละเมิดสิทธิของข้าพเจ้ากับพวก ในเรื่องของสิทธิชุมชน สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิในการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากร และสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เพื่อขอให้มีการสั่งการให้ระงับการดำเนินคดีข้าพเจ้ากับพวกต่อไป เพื่อให้เกิดการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อไป

ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความและผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ในนามทนายความที่ช่วยเหลือด้านคดีความของชาวบางกลอย เห็นว่า จากการที่ กสม. เปิดเวทีพบภาคประชาสังคม ทำให้มีความหวังว่า  กสม. จะกลับมาเป็นองค์กรคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอีกครั้ง โดยเฉพาะในกรณีการละเมิดสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ที่บางกลอยที่ กสม. มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้

“อยากให้ กสม. ตรวจสอบเรื่องการจับกุม การควบคุมตัว การฝากขัง ว่ามีการดำเนินการโดยชอบหรือไม่ แต่ที่สำคัญอยากให้ตรวจสอบเรื่องการดำเนินคดีกับชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการไม่มีที่ดินทำกินเพระาถูกบังคับเอาตัวลงมาจากพื้นที่ดั้งเดิมของตน ซึ่งจะเป็นการรับรองสิทธิของชุมชนและชนเผ่าพื้นเมือง ที่จะต้องได้รับการคุ้มครองมากกว่าที่จะต้องมาถูกดำเนินคดี” ทนายความกล่าว

ด้าน ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รับเรื่องร้องเรียนไว้ และย้ำว่าจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อไปเพื่อช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง

ครม. ไฟเขียวดันต่อ ‘กลุ่มป่าแก่งกระจาน’ ขึ้นทะเบียนมรดกโลก

13 ก.ค. 2564 มีความคืบหน้าจากการประชุมคณะรัฐมนตรี ภายใต้วาระที่ 26 เรื่อง องค์ประกอบและท่าทีของราชอาณาจักรไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 มีมติเห็นชอบต่อการกำหนดท่าทีของราชอาณาจักรไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ในระหว่างวันที่ 16-31 ก.ค. นี้ ที่ประเทศจีน

“หากคณะผู้แทนไทยเห็นว่า (ร่าง) ข้อมติไม่มีผลดีต่อไทยในการนำเสนอพื้นที่ฯ เป็นแหล่งมรดกโลก เห็นชอบให้คณะผู้แทนไทย ชี้แจงทำความเข้าใจและ โน้มน้าว คณะกรรมการมรดกโลก องค์กรที่ปรึกษา และศูนย์มรดกโลก เกี่ยวกับสถานการณ์ และวิถีชีวิตชุมชนใน พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน และสนับสนุนราชอาณาจักรไทยในการผลักดันการขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นมรดกโลก รวมทั้ง ขอปรับแก้ (ร่าง) ข้อมติที่จะส่งผลต่อผลการดำเนินงานในอนาคต” มติ ครม. 13 ก.ค. 2564 ต่อการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน

นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้ สีหศักดิ์ พวงเหตุแก้ว ทำหน้าที่กรรมการในคณะกรรมการมรดกโลกและหัวหน้าคณะผู้แทนไทยด้วย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นที่ปรึกษา

‘วราวุธ’ ย้ำ สิทธิมนุษยชนไม่เกี่ยวกับมรดกโลกทางธรรมชาติ ยันเดินหน้าต่อ

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ผ่านมติชนออนไลน์ ยืนยันว่าการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของป่าแก่งกระจานนั้น ไม่เกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชน และยังไม่เห็นหนังสือข้อเสนอให้ชะลอการเสนอ “แก่งกระจานมรดกโลก” ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

กรณีที่ พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ลงวันที่ 12 ก.ค. เสนอให้รัฐบาลชะลอการเสนอขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติออกไปก่อน จนกว่าปัญหาสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยจะคลี่คลาย นั้น

15 ก.ค. 2564 วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ยังไม่เห็นหนังสือดังกล่าว แต่จะรับทราบ และไปดูรายละเอียดเพื่อจะนำมาพิจารณาอีกทีหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ขอเรียนว่า การที่ป่าแก่งกระจานจะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกหรือไม่นั้น ไม่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด เพราะเรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติเป็นเรื่องของการดูแลทรัพยากร สำหรับเรื่องของสิทธิมนุษยชน ก็ไม่ใช่ว่าไม่สำคัญ แต่จะอยู่อีกภาคส่วนหนึ่ง ที่ทางยูเนสโกก็ทำเช่นเดียวกัน ไม่เกี่ยวกับเรื่องมรดกโลกทางธรรมชาติ

เมื่อถามว่า ประเทศไทยจะรับมืออย่างไรกับเรื่องที่ทางไอยูซีเอ็นเหมือนจะตั้งแง่กับประเทศไทย เรื่องสิทธิมนุษยชน กับคุณสมบัติการขึ้นเป็นมรดกโลก ตนกล่าวว่า ทุกคนก็ต้องทำงานในกรอบของตัวเอง กรอบของไอยูซีเอ็นคือ เรื่องของอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ในประเด็นนี้สิทธิมนุษยชนประเทศไทยก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เราอยู่ระหว่างการดำเนนการที่เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และได้ชี้แจงให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ทราบแล้วเป็นระยะว่าทำอะไรไปบ้าง ก็น่ายินดีว่า หลายๆ ประเทศก็เข้าใจในประเด็นนี้และพร้อมจะสนับสนุนประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท