Skip to main content
sharethis

17 ก.ค. 2564 ไทยติดเชื้อเพิ่ม 10,082 คน เป็นสถิติรายวันสูงสุด สะสม 391,989 คน เสียชีวิตเพิ่ม 141 คน เป็นสถิติรายวันสูงสุดเช่นเดียวกัน สะสม 3,240 คน - คปภ.งัดกฎเหล็ก ทุกบริษัทประกันห้ามบอกเลิกกรมธรรม์ช่วงโควิด

17 ก.ค. 2564 ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมของประเทศไทยพบจํานวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ เพิ่มขึ้น 10,082 ราย แบ่งออกเป็นติดเชื้อใหม่ในประเทศ 9,955 ราย ติดเชื้อในเรือนจำ-ที่ต้องขัง 127 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 141 คน ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในช่วงการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ตั้งแต่ 1 เม.ย. - 17 ก.ค. 2564 มีจำนวน 363,126 ราย เสียชีวิตสะสม 3,146 คน ส่วนผู้ติดเชื้อสะสมนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดเมื่อต้นปี 2563 มีจำนวน 391,989 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 3,240 คน ทำให้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยู่ในอันดับที่ 58 ของโลก

ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 รายงานเพิ่มเติมว่า ยอดผู้หายป่วยจากโควิด-19 ในประเทศ ผู้หายป่วยรายใหม่วันนี้ 6,327 ราย ผู้หายป่วยสะสม 250,758 ราย (ตั้งแต่ 1 เม.ย. - 17 ก.ค. 2564)

รพ.รามาธิบดี พบบุคลากรติดเชื้อสะสม 300 ราย ประกาศงดรับผ่าตัดนัดล่วงหน้า 

เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2564 โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ออกประกาศสถานการณ์การทำงานของแพทย์-พยาบาล ระบุว่า กำลังขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่จะดูแลผู้ป่วย การให้บริการใกล้ถึงขั้นเกินขีดความสามารถ จึงของดผ่าตัดที่นัดล่วงหน้า งดบริการห้องฉุกเฉิน ลดตรวจผู้ป่วยนอก แต่นัดตรวจทางไกลแทน

โดย รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงและแพร่กระจายเป็นวงกว้าง มีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่รับไว้ดูแล 1,000 ราย ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) กว่า 350 ราย ผู้ป่วยรอค้างเข้ารักษาในโรงพยาบาลกว่า 200 รายและรอค้างที่ห้องฉุกเฉินเป็นจำนวนมาก ภายใต้มาตรการที่เข้มงวดในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

ขณะนี้บุคลากรที่ปฏิบัติงานภายในคณะฯ ติดเชื้อสะสมกว่า 300 ราย ทำให้โรงพยาบาล ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่จะดูแลผู้ป่วย การให้บริการใกล้ถึงขั้นเกินขีดความสามารถที่จะสามารถดูแลประชาชน ดังนั้น โรงพยาบาลรามาธิบดึ จึงขอประกาศมาตรการ ดังต่อไปนี้

1. งดผ่าตัดที่นัดล่วงหน้า (Elective Case) ทุกประเภท ยกเว้นกรณีเร่งด่วน

2. งดการให้บริการที่ห้องฉุกเฉิน ยกเว้นในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น

3. ลดการมาตรวจที่หน่วยตรวจผู้ป่วยนอก นัดตรวจทางไกล Telemedicine และรับยาทางไปรษณีย์

โรงพยาบาลรามาธิบดี มีความห่วงใยประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่าน ขอให้ท่านปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19 และปฏิบัติตามมาตรการDMHTT อย่างเข้มงวดและสม่ำเสมอ

รศ. นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปี

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี

ประกาศ ณ วันที่ 16 ก.ค. 2564

คปภ.งัดกฎเหล็ก ทุกบริษัทประกันห้ามบอกเลิกกรมธรรม์ช่วงโควิด

จากกรณีบริษัทสินมั่นคงประกันภัย ประกาศแจ้งบอกเลิกประกันภัย COVID-19 เจอ จ่าย จบ หรือ COVID 2 in 1 พร้อมคืนเงินลูกค้าภายใน 15 วัน นับแต่วันที่กรมธรรม์ประกันภัยสิ้นผลบังคับ 

เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2564 นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ลงนามในคำสั่งนายทะเบียน เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัทในกรมธรรม์ประกันภัยระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย

โดยมีสาระสำคัญ ระบุว่า ตามที่มีสถานการณ์ COVID-19 เพื่อความเป็นธรรมและเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้เอาประกันภัยจากสถานการณ์ COVID-19 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 นายทะเบียนจึงออกคำสั่งให้ กรมธรรม์ประกันภัยที่บริษัทได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน หรือกรมธรรม์ประกันภัยที่บริษัทได้ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัยก่อนวันที่มีคำสั่งนี้ และยังคงมีผลใช้บังคับ ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัท โดยมีผลตั้งแต่ 16 ก.ค.2564 เป็นต้นไป

ขณะที่นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกฎหมายและคดีสำนักงานสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย กล่าวว่า หากบริษัทประกันภัย ฝ่าฝืนคำสั่งนี้ อาจเป็นความผิดตาม มาตรา 29 ซึ่งจะมีระวางโทษปรับไม่เกิน 300,000 บาท และผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกที่จะให้บริษัทรับผิดตามแบบที่นายทะเบียนได้สั่งให้มีการปรับปรุง หรืออาจจะเข้าข่ายเป็นความผิดฐานประวิงการจ่ายสินไหม ตามมาตรา 36 ซึ่งจะมีระวางโทษ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท และปรับรายวัน วันละไม่เกิน 20,000 บาท

ทั้งนี้ หากผู้เอาประกันภัย ยังคงประสบปัญหาดังกล่าว ติดต่อร้องเรียนที่สายด่วนประกันภัย หมายเลขโทรศัพท์ 1186

หมอธีระ ย้ำจุดยืนไม่เห็นด้วยวัคซีนไขว้ชนิด ร้องรัฐเร่งจัดหา-นำเข้า วัคซีนประสิทธิภาพสูง

17 ก.ค. 2564 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นกรณีการบริหารจัดการวิกฤตโควิด และการบริหารจัดการวัคซีน ระบุว่า

“ยืนยันว่าหากผมออกแบบนโยบายด้วยตัวเลือกที่มีในประเทศตอนนี้ จะใช้ Sinopharm สำหรับอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และ Astrazeneca สำหรับอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ไม่เล่นแร่แปรธาตุ พอวัคซีนบริจาคมาถึง Pfizer จะนำไปใช้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ฉีดให้ครบ 2 เข็ม และหากมีเหลือเพียงพอ ก็กระจายให้กลุ่มเสี่ยงต่างๆ ตามลำดับ”

“มุ่งทุกทางเพื่อนำเข้า mRNA vaccines (Pfizer/Biontech, Moderna) เป็นวัคซีนหลักของประเทศ และ Protein subunit vaccine (Novavax), Ad26 vector vaccine (Johnson&Johnson) และ Sinopharm เพื่อนำมาใช้เป็นทางเลือกเสริมสำหรับช่วงอายุต่างๆ และสำหรับคนมีข้อจำกัดที่จะรับ mRNA vaccines ส่วน Astrazeneca นั้นใช้เสริมเป็นทางเลือกเฉพาะกลุ่มอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป นี่คือนโยบายวัคซีนของประเทศที่เหมาะสม”

ก่อนหน้านี้ รศ.นพ.ธีระ แสดงความเห็นเรื่องวัคซีน ไขว้ชนิด ระบุว่า
…ไขว้…

1. ระดับภูมิขึ้น จะขึ้นได้นานเพียงใด?

2. ยังไม่เห็นข้อมูลว่าจะมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อได้หรือไม่? มากน้อยเพียงใด? และจะป้องกันได้นานเพียงใด?

3. คำถามเรื่องประสิทธิผลในการป้องกันการป่วย ลดความรุนแรง และลดอัตราตาย เฉกเช่นเดียวกับข้อ 2

4. ผลไม่พึงประสงค์ทั้งแบบทั่วไป และแบบรุนแรง จะมีมากน้อยเพียงใด?

การนำวิธีที่ยังมีความไม่กระจ่างทางวิชาการหลายด้านหลายประเด็นไปใช้ในคนหมู่มากในสังคมผ่านกระบวนการนโยบายนั้นถือว่าเป็นความเสี่ยงต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตได้

“ขอแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว และเรียกร้องให้รัฐนำวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงมาให้ประชาชนทุกคนตามมาตรฐานสากล”

ในระหว่างที่รอการนำเข้าวัคซีนต่างๆ จำเป็นต้องให้มีการฉีดมาตรฐานสากลให้แก่ประชาชนในสังคม สิ่งที่ทำได้คือ

1. Sinopharm 2 เข็มสำหรับคนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป

2. Astrazeneca 2เข็มสำหรับคนอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป

3. วัคซีน Pfizer ที่ได้รับบริจาคมา 1.5 ล้านโดส ควรนำไปฉีดให้บุคลากรด่านหน้า เหมือนเป็นการฉีดใหม่ ให้ครบตามข้อบ่งชี้ในการใช้ของวัคซีนที่ขึ้นทะเบียน และให้สำหรับกลุ่มเสี่ยงต่างๆ

4. ยกเลิกการจัดซื้อจัดหาวัคซีนเดิมที่มีปัญหา

เชียงใหม่คุมเข้ม ห้ามรวมกลุ่มเกิน 50 คน เหตุโควิดระบาดสูงขึ้น

นายกนก ศรีวิชัยนันท์ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวระสโควิด-19 ในลักษณะเป็นกลุ่มมีเพิ่มมากขึ้นและต่อเนื่อง คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ออกคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ที่ 80/2564

เรื่อง มาตรการควบคุมการจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมาก เนื่องจากพบการนำเข้าของโรคติดเชื้อโควิด-19 และเกิดการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ลักษณะกลุ่มก้อนขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง การควบคุมเป็นไปด้วยความยากลำบาก

ดังนั้น คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ให้มีความเข้มงวดเพิ่มมากขึ้น ในเรื่องการจัดงานประเพณีนิยม หรือกิจกรรมรวมกลุ่มให้จำกัดผู้เข้าร่วมไม่เกิน 50 คน

เว้นแต่มีความจำเป็นต้องยื่นเหตุผลต่อผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ เพื่อเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพิจารณาอนุมัติ หากฝ่าฝืนคำสั่ง มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 17-31 ก.ค. 2564

นอกจากนั้นขอเน้นย้ำเรื่องคำสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ เรื่องห้ามบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านและบริเวณต่อเนื่อง สำหรับร้านอาหาร ที่มีใบอนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อนุญาตให้ผู้ใช้บริการดื่มในร้านได้ถึงเวลา 21.00 น. และให้ปิดร้านเวลา 22.30 น.

ส่วนร้านทุกประเภท สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในเวลา 11.00-14.00 น. และ เวลา 17.00-21.00 น. โดยเริ่มกำหนดใช้ตั้งแต่วันที่ 1-31 ก.ค. 2564 และจากการออกคำสั่งที่มีผลบังคับใช้เฉพาะร้านอาหารและร้านค้าทั่วไป แต่ไม่มีผลบังคับใช้กับผู้ใช้บริการทำให้ยังคงพบการฝ่าฝืนคำสั่ง คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่จึงออกคำสั่งเพิ่มเติม เรื่องมาตรการควบคุมส่วนบุคคลในการบริโภคสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านและบริเวณต่อเนื่อง หากพบฝ่าฝืนเกินก่าเวลา 21.00 น. มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท มีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 5-31 ก.ค. 2564

อย่างไรก็ตามทางชุดปฏิบัติการพิเศษฝ่ายปกครอง ยังคงทำหน้าที่อย่างเข้มงวดในการออกตรวจสอบในแต่ละพื้นที่ ที่ผ่านมาสามารถจับกุมร้านอาหารและผู้ใช้บริการได้ประมาณ 50 ราย โดยนำตัวส่งดำเนินคดีทั้งหมด จากการทำงานอย่างเข้มงวดตามมาตรการคำสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อ ทำให้พบการกระทำผิดน้อยลง ซึ่งการดำเนินการนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้

อธิบดีกรมควบคุมโรคชี้ต้องยกระดับมาตรการควบคุมโรค จำกัดการเดินทาง เคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล และเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์และมาตรการป้องกันโควิด-19 ว่า สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ยังพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์เดลตา ที่มีการระบาดไปแล้วใน 111 ประเทศทั่วโลก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง ประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตขยายวงกว้างในระดับสูงมาก จนกระทบขีดความสามารถทางการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งในพื้นที่กรุงเทพ และปริมณฑล รวมถึงในต่างจังหวัด ที่มีผู้ติดเชื้อเดินทางกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก วันนี้ (17 ก.ค.) มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10,082 ราย เสียชีวิต 141 ราย ส่วนใหญ่มากกว่า 70% เป็นผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการติดเชื้อของการระบาดในระลอกนี้แตกต่างจากก่อนหน้านี้มาก เพราะพบการระบาดแพร่เชื้อในครอบครัว คนรู้จัก เพื่อนบ้าน ติดไปถึงผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังในบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ ทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรง จนถึงขั้นเสียชีวิต และจนถึงวันนี้ยังมีการลักลอบเล่นการพนัน รวมกลุ่มเพื่อนจัดปาร์ตี้ที่บ้านและนอกบ้าน เป็นความเสี่ยงที่ทำให้การแพร่ระบาดของโรคไม่ลดลง

ทั้งนี้ ต้องขอบคุณทุกความร่วมมือของหน่วยงาน องค์กร และประชาชนทุกคนที่ยังให้ความร่วมมือเป็นส่วนใหญ่ ถึงเวลาที่ทุกครอบครัวจำเป็นต้องปกป้องผู้ที่ทุกท่านรักและตัวท่านเอง ด้วยตัวของท่านเอง ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย งดออกจากบ้าน WFH ให้ได้มากที่สุด ลดความเสี่ยงจากการไปติดเชื้อนอกบ้าน และไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่นต่อ ทั้งนี้ เวลาอยู่บ้านต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เมื่อพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัว รับประทานอาหารแยกกัน ทำความสะอาดอุปกรณ์ หรือจุดที่สัมผัสร่วมกันบ่อยๆ เช่น ตู้เย็น ลูกบิดประตู ราวบันได โต๊ะอาหาร ฯลฯ เราทุกคนต้องช่วยกันปกป้องผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังในบ้านของเรา หากพบการติดเชื้อจะได้ป้องกันอาการที่รุนแรงจนอาจจะเสียชีวิตได้ จำเป็นต้องพาผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังไปฉีดวัคซีน ซึ่งขณะนี้กรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล ได้เตรียมพื้นที่และได้รับวัคซีนเพื่อฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงจำนวนมาก ในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ในหลายจุด

สถานการณ์โรคในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคตะวันออก ยังพบการระบาดในโรงงานและสถานประกอบการต่างๆ ผู้ประกอบการต้องร่วมมือกันกับคนงานเพื่อลดความรุนแรงของสถานการณ์ที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก มีการแพร่เชื้อไปยังชุมชนรอบๆ ทำให้จะต้องมีมาตรการที่เคร่งครัดที่เรียกกว่า บับเบิ้ลแอนด์ซีล คือ การอยู่ในสถานประกอบการและที่พักเท่านั้น การเดินทางจะต้องไม่แวะตามจุดต่างๆ การอยู่ในสถานประกอบการต้องมีการกำกับอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์โรคในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่งพบผู้ติดเชื้อเดินทางกลับจากกรุงเทพ และจังหวัดปริมณฑลจำนวนมาก ทำให้โรงพยาบาลต้องรับผู้ป่วยที่มากขึ้นอย่างรวดเร็วในสัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องขอความร่วมมือทุกท่านงดเดินทางข้ามจังหวัด และเพิ่มการดูแลรักษาโดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่มีอาการหรืออาการน้อยให้เข้าระบบการจัดการรักษาดูแลที่บ้าน หรือ การจัดการรักษาโดยชุมชน ซึ่งขณะนี้ได้มีความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะในกรุงเทพ หลายหน่วยงานได้เริ่มดำเนินการเป็นรูปธรรมแล้ว

จากสถานการณ์ในขณะนี้คาดการณ์ว่า หากยังไม่ทำมาตรการอะไรที่เพิ่มเติมกว่านี้ จะทำให้มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจำนวนมากไปอีกอย่างน้อย 3-4 เดือน ทำให้ต้องมีการยกระดับมาตรการเพื่อป้องกันควบคุมโรคโดยเฉพาะการจำกัดการเดินทาง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการลดการแพร่ระบาดของโรค นอกจากนี้ทุกท่านต้องเคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคลและเร่งรัดความครอบคลุมในการฉีดวัคซีน เพื่อลดการป่วยหนักและการเสียชีวิตในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยความร่วมมือจากประชาชนทุกคน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังมีระดับสูงมาก กลับมาคลี่คลายดีขึ้นได้ในเร็ววัน

 

ที่มาเรียบเรียงจาก: ThaiPBS [1] [2] | เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ [1] [2] | มติชนออนไลน์ | สำนักข่าวไทย





 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net