Skip to main content
sharethis

'ก้าวไกล' แนะกองทัพเรือใช้ยุทโธปกรณ์บนผิวน้ำ-การเจรจาทางการทูต รักษาผลประโยชน์ทางทะเล ไม่จำเป็นต้องมี 'เรือดำน้ำ' ในงบฯ 2565 - กมธ.งบฯ เพื่อไทย ค้านพิจารณางบกลาโหมผ่านระบบออนไลน์ 19 ก.ค. นี้ ชี้เป็นการปิดประตูตีแมว เพื่อแอบผ่านงบประมาณซื้อเรือดำน้ำเพิ่ม 2 ลำ มูลค่า 22,500 ล้านบาท - กองทัพเรือรับเดินหน้าเสนอจัดซื้อเรือดำน้ำตามปกติ

18 ก.ค. 2564 นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ครุภัณฑ์ ไอซีที ในกมธ.พิจารณางบประมาณ 2565 ระบุว่าการที่กองทัพเรือเสนอซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 โดยให้เหตุผลว่า เป็นการเสนอตามหน้าที่นั้น ส่วนตัวไม่เห็นด้วยถึงความจำเป็นที่ประเทศไทย หรือกองทัพเรือจะต้องมีเรือดำน้ำ เพราะการรักษาผลประโยชน์ทางทะเล สามารถทำได้หลายวิธี เช่น ยุทโธปกรณ์บนผิวน้ำ หรือการเจรจาทางการทูต

“ด้วยความที่เราได้จัดซื้อเรือดำน้ำลำแรกไปแล้ว ก่อนที่จะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะส่งมอบให้ในปี 2566 ส่วนสิ่งที่จะตามมาเพิ่มเติม คือ สิ่งปลูกสร้างที่เกี่ยวข้องกับเรือดำน้ำ เช่น ท่าจอดเรือดำน้ำ โรงซ่อมเรือดำน้ำ คลังเก็บขีปนาวุธเรือดำน้ำ และการซื้อเรือสนับสนุนเรือดำน้ำ ใช้งบประมาณเกือบ 1 หมื่นล้านบาท หลายโครงการอนุมัติเป็นกฎหมายไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อเกิดกรณีไม่ให้ซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ทางกองทัพเรือก็จะอ้างว่า มีความจำเป็นต้องซื้อเรือดำน้ำเพิ่ม เพื่อดำเนินการให้ครบ และเกิดความคุ้มค่า”

อย่างไรก็ตาม หากพูดในมุมของคนที่อยากได้เรือดำน้ำ ชุดความคิดที่จะซื้อต่อ ก็จะโต้เถียงยาก แต่ยืนยันว่าสามารถชะลอการซื้อลำที่ 2-3 ออกไปได้แน่นอน เพราะความเสี่ยงภัย และภัยคุกคามของประเทศขณะนี้ ไม่มีความเร่งด่วนที่ต้องมีเรือดำน้ำ ความเสี่ยงภัยขณะนี้ คือ ด้านสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชน ฉะนั้นงบประมาณที่จะผูกพันไปอีก 6-7 ปีข้างหน้า จากการซื้อเรือดำน้ำนั้น คือ 2.2 หมื่นล้านบาท ที่ต้องทยอยจ่าย จึงยังไม่ควรต้องเริ่มการผูกมัดในปีงบประมาณนี้

ส่วนกรณีที่กมธ.ชุดใหญ่ นำประเด็นโควิด-19 มาใช้เป็นข้ออ้าง ให้หน่วยงานของกองทัพ สามารถชี้แจงผ่านระบบการประชุมออนไลน์ ซึ่งตามข้อบังคับสามารถทำได้ แต่ตนคิดว่า ในทางปฏิบัติการเข้าชี้แจง โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหม ที่เป็นหน่วยงานรับงบประมาณที่สังคมให้ความสนใจอย่างมาก ประธาน กมธ.ควรจะสั่งให้หน่วยงานเข้ามาชี้แจงที่สภา เพื่อให้เกิดความสง่างาม และได้ตรวจสอบกันอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการส่งมอบเอกสารเพิ่มเติม เมื่อปีก่อนๆ มีเอกสารชี้แจงที่ระบุว่าเป็น ความลับทางราชการไม่สามารถเปิดเผยได้ เมื่อชี้แจงที่ประชุมเสร็จแล้วก็จะมาเก็บเอกสารกลับไปทันที ดังนั้น ยืนยันว่า สำหรับกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการแต่ละเหล่าทัพ จำเป็นต้องเข้ามาชี้แจงด้วยตัวเองที่สภา เพราะสังคมจดจ้อง และสนใจ ส่วนหน่วยงานอื่นที่อยู่ต่างจังหวัด หรือเดินทางลำบาก เราก็รับฟังได้

กมธ.งบฯ เพื่อไทย ค้านพิจารณางบกลาโหมผ่านระบบออนไลน์ 19 ก.ค. นี้

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 พร้อมด้วย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร โฆษกคณะกรรมาธิการฯ และกรรมาธิการงบประมาณฝั่งเพื่อไทย แถลงข่าวถึง การประชุมงบประมาณในวันนี้ว่าได้มีการหารือแนวทางการเข้าชี้แจงงบประมาณสำหรับผู้บริหารของกระทรวง และผู้บริหารของหน่วยงานรับงบประมาณ

โดยกรรมาธิการงบประมาณฝั่งพรรคเพื่อไทยเห็นว่าผู้บริหารกระทรวง และผู้บริหารของหน่วยรับงบประมาณมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าชี้แจงงบประมาณต่อที่ประชุมงบประมาณที่รัฐสภา ขณะที่กรรมาธิการฝ่ายรัฐบาลนำโดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ได้อ้างแนวทางในการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ในขณะนี้ว่าควรให้ผู้บริหารกระทรวงและผู้บริหารหน่วยรับงบประมาณสามารถชี้แจงงบประมาณผ่านระบบออนไลน์ได้ ซึ่งพรรคเพื่อไทยเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควรเนื่องจากแต่ละกระทรวงได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวนมาก เช่น กระทรวงศึกษาธิการในปี 2565 ได้รับการจัดสรรงบประมาณกว่า 3 แสน 3 หมื่นล้านบาท และเมื่อพิจารณาภายในห้องประชุมงบประมาณใหญ่แล้วสามารถเปิดให้ผู้บริหารกระทรวงสามารถทำได้ เนื่องจากมีการจัดสถานที่ และห้องประชุม เป็นไปตามความเหมาะสมและตามแนวทางการป้องกัน โควิด-19

ทางด้านนายนายยุทธพงศ์ กล่าวถึงกรณีที่ให้หัวหน้าส่วนราชการชี้แจงงบประมาณผ่านระบบออนไลน์นั้นมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม และอาจถูกครหาในเรื่องความไม่โปร่งใสได้ เช่นในวันนี้อยู่ระหว่างการพิจารณางบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ กว่า 3 แสน 3 หมื่นล้านบาท แต่หัวหน้ากระทรวงระดับซี 11 กลับชี้แจงงบประมาณผ่านเพียงระบบออนไลน์ ซึ่งจุดนี้มองว่าเป็นความผิดปกติ จะเปรียบเสมือนการปิดประตูตีแมวหรือไม่

เนื่องจากวันจันทร์ที่ 19 ก.ค. นี้จะเป็นการพิจารณางบประมาณในส่วนของกระทรวงกลาโหมประจำปี 2565 กว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็นงบประมาณของกองทัพบก 1 แสนล้านบาท / กองทัพเรือ 4 หมื่นล้านบาท / กองทัพอากาศ 4 หมื่นล้านบาท / และกองบัญชาการกองทัพไทย 2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ในงบประมาณของกระทรวงกลาโหมปี 2565 ยืนยันว่ายังคงมีงบประมาณในการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนอยู่ 2 ลำ มูลค่า 22,500 ล้านบาท ดังนั้นข้ออ้างและข้อจำกัดเกี่ยวกับโควิด-19 ที่ไม่ให้ผบ.เหล่าทัพเดินทางมาสภาเพื่อชี้แจงงบประมาณนั้นจะเป็นวิธีในการพิจารณาผ่านงบประมาณซื้อเรือดำน้ำได้

ซึ่งก่อนหน้านี้ในการพิจารณางบประมาณในส่วนของกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่เห็นมีปัญหายังสามารถเปิดให้ผู้บริหารกระทรวงเข้าชี้แจงงบประมาณที่สภาได้ตามปกติ แต่พอมาถึงคิวในการพิจารณางบประมาณในส่วนของกลาโหมกรรมาธิการงบประมาณฝ่ายรัฐบาลกลับไม่ยอมให้ผบ.เหล่าทัพชี้แจงงบฯผ่านออนไลน์ โดยอ้างสถานการณ์โควิด-19 โดยกรรมาธิการงบประมาณฝั่งเพื่อไทย พยายามที่จะคัดค้านในประเด็นดังกล่าวแล้วแต่ฝ่ายรัฐบาลกลับไม่ยอม

ทั้งนี้ จึงเป็นความพยายามที่จะผ่านงบประมาณซื้อเรือดำน้ำจากจีน 2 ลำ ท่ามกลางความอึดอยากหิวโหยของพี่น้องประชาชนคนไทย ที่มีคนตายและยอดผู้ติดเชื้อโควิดเกือบ 1 หมื่นรายต่อวัน แต่รัฐบาลกลับไม่สนใจจะซื้อเรือดำน้ำให้ได้

กองทัพเรือรับเดินหน้าเสนอจัดซื้อเรือดำน้ำตามปกติ 

พล.ร.อ.เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยถึงกรณีที่ คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 หรือ กมธ.งบฯ 2565 โดยพรรคฝ่ายค้าน คัดค้านตั้งงบประมาณจัดซื้อเรือดำน้ำ ลำที่ 2-3 ว่าการเสนอจัดซื้อเรือดำน้ำ กองทัพเรือทำตามหน้าที่ที่ต้องเสนอทุกปี เป็นขั้นตอนตามปกติ เช่นเดียวกับกระทรวง ทบวง กรมอื่นๆ ส่วนจะผ่านหรือไม่ผ่านนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกรรมาธิการฯ และรัฐสภา ไม่ได้มีวาระซ่อนเร้น

ขณะเดียวกันโฆษกกองทัพเรือ ยังตอบคำถามกรณีถูกโจมตีว่า มีการจัดซื้ออาวุธในห้วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากประเทศกำลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 โฆษกกองทัพเรือชี้แจงว่า เป็นหน้าที่ที่ต้องนำเสนอ ไม่ว่าจะเสนอเมื่อไร ปีไหนก็ต้องรอการพิจารณาในขั้นตอนของกรรมาธิการฯ ซึ่งฝ่ายค้านก็ต้องทำหน้าที่ กองทัพเรือก็ต้องทำหน้าที่ หากเห็นว่ายังไม่ถึงเวลาก็ไม่เป็นไร กองทัพมีแผนพัฒนาเพื่อดำรงความพร้อมตามหน้าที่ ที่ต้องทำ เมื่อเว้นไปก็จะมีผลกระทบ เนื่องจากโครงการเป็นลักษณะของแพ็กเกจ เมื่อจัดหาลำหนึ่งมาแล้ว จำเป็นต้องมีลำที่ 2-3 เพื่อนำมาหมุนเวียน ช่วงซ่อมบำรุง ซึ่งมีปัจจัยหลายๆ อย่างเข้ามาประกอบ⁣

“เป็นหน้าที่ที่เราต้องเสนอขึ้นไป ไม่ว่าเสนอปีไหนก็โดน และไม่ใช่เพิ่งโดน ก็โดนมาตลอด จะเลือกจากประเทศใดไหน เยอรมนี สวีเดน จีน ก็โดนโจมตี” พล.ร.อ.เชษฐา กล่าว

 

ที่มาเรียบเรียงจาก: กรุงเทพธุรกิจ | เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย | ไทยรัฐออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net