นิธิ เอียวศรีวงศ์: อนาธิปไตยและความสงบในปารีส

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในความเคลื่อนไหวชาตินิยมของเอเชีย กระแสความคิดหนึ่งที่ขาดหายไปในประวัติศาสตร์นิพนธ์ คือความคิดในกลุ่ม อนาธิปัตย์ เพราะไม่มีสักชาติเดียวในเอเชียที่กู้เอกราชและสถาปนาความเป็นชาติขึ้นได้ด้วยวิถีอนาธิปัตย์ อนาธิปไตยประสบความล้มเหลวในเอเชีย เช่นเดียวกับในยุโรป 

แต่อนาธิปไตยเป็นพลังสำคัญในการเคลื่อนไหวของนักชาตินิยมเอเชียจำนวนมาก ผู้นำการเคลื่อนไหวชาวอินเดีย, จีน, เกาหลี, อินโดนีเซีย, เวียดนาม, พม่า, รัฐอาหรับที่ตกอยู่ใต้อำนาจของจักรวรรดิออตโตมาน, อังกฤษหรือฝรั่งเศส ต่างพยายามใช้การก่อวินาศกรรม โดยเฉพาะการลอบสังหาร หรือการปล้นสะดมและสังหารเจ้าหน้าที่รัฐอาณานิคมในถิ่นห่างไกล เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายของตนเอง 

แม้ในกรณีที่ยังไม่ทันวางระเบิดใคร ก็ปลุกปั่นให้ประชาชนลุกขึ้นมาใช้ความรุนแรงโดยตรงกับเจ้าอาณานิคม ผ่านสิ่งพิมพ์บ้าง การปราศรัยบ้าง และผ่านการตั้งสมาคมลับเพื่อสะสมสมาชิก 

อนาธิปัตย์เป็นกลุ่มที่สร้างความหวาดหวั่นให้แก่รัฐบาลของรัฐในยุโรปเป็นอย่างยิ่ง เพราะในยุโรปเองก็ถูกวางระเบิด, ลอบวางเพลิง, ลอบสังหาร สิ่งที่ถือกันว่าเป็น “เสาหลัก” ของรัฐอยู่บ่อยๆ ดังนั้น อนาธิปัตย์ในยุโรปจึงถูกปราบปรามและควบคุมอย่างเด็ดขาดที่สุดเท่าที่กฏหมายและการเบี้ยวกฎหมายในยุโรปจะอนุญาต 

ในอาณานิคมเอเชีย อานุภาพของกฎหมายยิ่งมีน้อยกว่าในยุโรป ดังนั้น รัฐอาณานิคมจึงใช้วิธีปราบปรามเหล่า อนาธิปัตย์อย่างเด็ดขาดรุนแรงกว่า จำนวนมากของคนเหล่านี้จึงพากันหนีไปซ่องสุมกันในต่างประเทศ 

แต่จะหนีไปไหน? ไม่ง่ายเหมือนกัน เพราะหากหนีไปยังอาณานิคมของมหาอำนาจอื่น ก็มีความร่วมมือปราบปรามนักกู้ชาติกันอย่างใกล้ชิดระหว่างอังกฤษ, ฝรั่งเศส, สเปน และสหรัฐ อาจถูกหาเรื่องดำเนินคดีเพื่อเก็บไว้ในคุกหรือถูกส่งตัวกลับ 

มีประเทศที่ไม่ตกเป็นอาณานิคมในเอเชียเหลืออยู่ไม่กี่ประเทศ ที่สำคัญซึ่งเป็นแหล่งกบดานของนักอนาธิปัตย์เอเชียคือญี่ปุ่น, จีน และสยาม แต่ทั้งจีนและสยามต่างก็ตกอยู่ภายใต้การกำกับของจักรวรรดินิยม ไม่อาจอำนวยความปลอดภัยได้จริง ส่วนญี่ปุ่นเป็นที่ปลอดภัยในระยะแรก แต่เมื่อญี่ปุ่นรู้สึกภัยคุกคามของนักอนาธิปัตย์เกาหลีและไต้หวันซึ่งตกเป็นของญี่ปุ่นแล้ว ญี่ปุ่นกลับหันไปเป็นสมาชิกสมาคมปราบนักกู้ชาติร่วมกับเจ้าอาณานิคมอื่น แลกเปลี่ยนข้อมูลกันรวมทั้งขับไล่นักอนาธิปัตย์ต่างชาติออกไปจากบ้านตนเอง 

น่าประหลาดอยู่ตรงที่ว่า พื้นที่ปลอดภัยกว่าของนักอนาธิปัตย์เอเชียคือมหานาครของยุโรป มีอย่างน้อยสองเหตุผลที่เป็นเช่นนั้น รัฐบาลยุโรปจำเป็นต้องอาศัยกฎหมายหรือเงาของกฎหมายในการผดุงอำนาจของตนเองมากกว่ารัฐบาลอาณานิคม และการหลบหนีข้ามแดนในยุโรปทำได้ง่ายกว่า เช่น จากอังกฤษไปฝรั่งเศส หรือฝรั่งเศสไปเยอรมนี จนในช่วงหนึ่ง เบอร์ลินกลายเป็นศูนย์รวมของนักชาตินิยมอนาธิปัตย์อินเดีย 

ควรกล่าวไว้ด้วยว่า แม้ตกอยู่ใต้การควบคุมของมหาอำนาจจักรวรรดินิยม ทั้งจีนและสยามก็เป็นที่ลี้ภัยหรือปฏิบัติการที่พออาศัยเหมือนกัน เพราะความกว้างใหญ่ไพศาลของจีน ความเสื่อมสลายของอำนาจรัฐบาลกลาง และเขตนิคม “เช่า” ของตะวันตกตามชายฝั่งทะเล อันมีผู้คนเข้าออกพลุกพล่าน อำนวยให้นักอนาธิปัตย์สามารถหลบภัยได้สะดวก แต่ไม่เหมาะที่จะตั้งเป็นฐานปฏิบัติการถาวร เพราะต้องหยุดอยู่กับที่ในเมืองใดเมืองหนึ่ง 

นักอนาธิปัตย์เวียดนาม เคยลอบเข้าไปในเขตนิคมเช่าของฝรั่งเศส แล้วโยนระเบิดลงบนโต๊ะอาหารซึ่งจัดขึ้นเพื่อเลี้ยงรับรองผู้ว่าการทั่วไปอินโดจีน แต่พลาดเป้า 

ตำบลบ้านดงในพิจิตร เคยเป็นเป้าหมายของนักชาตินิยมอนาธิปัตย์เวียดนาม ในการขนประชาชนเวียดนามไปตั้งภูมิลำเนา เพื่อสร้างกองกำลังอิสระขึ้น สำหรับปฏิบัติการก่อกวนฝรั่งเศสในอินโดจีน ที่กล่าวถึงนักอนาธิปัตย์ที่บ้านดงในที่นี้ ไม่ได้หมายรวมการเคลื่อนไหวของ “ลุงโฮ” ซึ่งสู้เดินทางมาเชื่อมต่อกับชาวเวียดนามที่พิจิตรเช่นกัน เพราะลุงโฮไม่เห็นด้วยกับวิธีการของพวกอนาธิปัตย์ 

บ้านดงเป็นที่ปลอดภัย เพราะอยู่ลึกเข้ามาจากชายแดนในอิสาน จึงไม่เป็นที่จับตาของตำรวจลับฝรั่งเศส ในขณะที่รัฐบาลสยามก็ไม่แข็งแกร่งพอจะตรวจตราการเคลื่อนไหวทางการเมืองในระดับชุมชนหมู่บ้านได้ 

(ข้อมูลเกี่ยวกับอนาธิปัตย์ที่กล่าวข้างต้นได้จาก Tim Harper, Underground Asia) 

การเคลื่อนไหวของนักชาตินิยมอนาธิปัตย์แทบไม่ถูกกล่าวถึงในประวัติศาสตร์นิพนธ์ของเอเชียเลย นักชาตินิยมที่ประสบความสำเร็จ เช่น คานธี-เนห์รู, ซุนยัตเซน, ลุงโฮ, ซูการ์โน-ฮัตตา, ตุนกูอับดุลราห์มัน และอองซาน โด่งดังจนกลบชื่อเสียงของนักชาตินิยมอนาธิปัตย์ไปจนหมด 

อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน กล่าวว่า (Under Three Flags) หลังการประชุมสากลครั้งที่สองของฝ่ายสังคมนิยม แนวคิดสังคมนิยมกลับอ่อนกำลังลงในเขตมหานาคร (metropolis) ของยุโรป แนวคิดที่เข้ามาแทนที่คืออนาธิปไตย และยุโรปต้องเผชิญกับการเคลื่อนไหวของฝ่ายอนาธิปัตย์มาจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 อาจารย์เบนต้องการชี้ให้เห็นว่า เราจะเข้าใจวีรบุรุษฟิลิปปินส์คือโฮเซ่ ริซาล ได้ ก็ต่อเมื่อพิจารณาความเป็น “สากล” ของอนาธิปไตยซึ่งแวดล้อมชีวิตและแนวคิดของเขา 

อย่างไรก็ตาม หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 แนวคิดอนาธิปไตยเสื่อมความนิยมลงในยุโรป เหตุผลสำคัญก็เพราะชัยชนะของฝ่ายสังคมนิยมหรือพรรคบอลเชวิกที่ยึดครองรัสเซียได้สำเร็จ นักชาตินิยมอนาธิปไตยเอเชียที่อยู่ในยุโรปจำนวนมาก หันไปหาโซเวียต บ้างก็ด้วยความศรัทธาต่อแนวทางปฏิวัติของฝ่ายสังคมนิยม บ้างก็เพราะไม่มีแหล่งทุนเหลืออยู่อีกแล้วหลังการล่มสลายของเยอรมนี 

การเปลี่ยนแนวคิดจากสังคมนิยมแนวอนาธิปไตยมาสู่สังคมนิยมแนวคอมมิวนิสต์ อาจทำให้นักชาตินิยมเหล่านี้ต้องเปลี่ยน “จุดยืน” ทางการเมืองไม่มาก อย่างที่เราพึงคิดจากความต่างของสองลัทธิการเมืองในปัจจุบัน 

ความไม่ไว้วางใจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐอาณานิคมหรือรัฐสังคมนิยม ก็ยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เพราะในระยะแรกบอลเชวิกก็ไม่ได้ไว้วางใจ “รัฐประชาชาติ” เช่นกัน เลนินมองการเคลื่อนไหวชาตินิยมเอเชียเป็นเพียงเครื่องมือที่จะบ่อนทำลายศัตรูของคอมมิวนิสต์ หรือเป็นขั้นตอนหนึ่งที่ต้องผ่านไปก่อนจะเกิดการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ขึ้นได้ 

ความเป็นสากลที่ข้ามชาติ เชื่อมโยงปัจเจกในลัทธิอนาธิปไตยให้ดิ้นรนเป็นอิสระจากรัฐ ก็ไม่แตกต่างจากแนวทางของพรรคบอลเชวิกที่ต้องการเชื่อมโยง “ชนชั้น” ข้ามชาติ เพื่อดิ้นรนให้เป็นอิสระจากการขูดรีดทางชนชั้น (ซึ่งอาศัยรัฐเป็นเครื่องมือ) ดังนั้น อย่างน้อยความเป็นสากล (internationalism) ล้วนมีความสำคัญไม่ต่างจากกันในสองลัทธิ 

ความต่างที่สำคัญไม่ได้อยู่ที่หลักการ แต่อยู่ที่วิธีการ นักอนาธิปัตย์เอเชียในช่วงนั้น (ที่จริงรวมยุโรปด้วย) ต่างยอมรับว่ารัฐเข้มแข็งและสมบูรณ์ด้วยกลไกการกำกับควบคุมที่อาจใช้ความรุนแรงได้อย่างไม่บันยะบันยัง วิธีเดียวที่จะต่อสู้กับรัฐคือการก่อวินาศกรรมหรือการลอบสังหารบุคคลสำคัญของระบอบปกครอง แม้มีการปลุกระดมมวลชนเข้าร่วม ก็ต้องทำอย่างจำกัดเพื่อความปลอดภัย จึงเป็นองค์กรมวลชนที่ปิดลับมีสมาชิกที่พร้อมจะเสียสละอย่างเต็มที่อยู่ไม่มากนักเท่านั้น (และนี่คือสิ่งที่ลุงโฮไม่เห็นด้วย) 

พรรคบอลเชวิกใช้วิธีการที่แตกต่างในการนำไปสู่การปฏิวัติ คือปลุกระดมมวลชนอย่างกว้างขวางที่สุด แม้แต่ความไม่พอใจของมวลชนต่อรัฐอาจเกิดขึ้นโดยขาดสำนึกทางชนชั้นอย่างสิ้นเชิง ก็ต้องฉวยใช้ความไม่พอใจนั้นให้เป็นประโยชน์แก่การเคลื่อนไหวมวลชน 

ดังนั้น การเปลี่ยนข้างของนักชาตินิยมอนาธิปัตย์เอเชียในช่วงนี้ จึงไม่ทำให้รู้สึกเหมือนเปลี่ยน “ขั้ว” ทางการเมืองมากนัก 

ในช่วงทศวรรษ 1920 ปารีสกลายเป็นแหล่งชุมนุมใหญ่ของนักปฏิวัติทั่วโลก ทั้งสายอนาธิปไตยเดิม, สายคอมมิวนิสต์, สายฟื้นฟูระบอบเก่า (ก่อนอาณานิคมหรือก่อนปฏิวัติฝรั่งเศส), สายศาสนา ฯลฯ ต่างลี้ภัยบ้าง อพยพบ้าง เข้ามาอยู่ในปารีสกันหนาตา 

คนเหล่านี้เชื่อมโยงกัน “ข้ามชาติ” โดยเป็นสมาชิกของชมรมอ่านหนังสือ, ชมรมปฏิวัติ, ชมรม ฯลฯ นานาชนิดที่คนเหล่านี้สร้างขึ้น กลุ่มหัวรุนแรงในยุโรป, เอเชีย, ละตินอเมริกา หรือแม้แต่แอฟริกา เดินสวนกันในชมรมและแหล่งมั่วสุมเหล่านี้ รู้จักกัน ถกเถียงกัน เป็นเพื่อนกัน หรืออาฆาตมาดร้ายกัน อยู่เป็นปกติ 

ทศวรรษ 1920 คือช่วงที่ผู้นำคณะราษฎรจำนวนไม่น้อยเข้าไปอยู่ที่ปารีส ถึงอยู่ในหัวเมืองอื่น ก็เดินทางเข้าปารีสทั้งจากในฝรั่งเศสและประเทศอื่นอยู่เสมอ จนสามารถเกาะกลุ่มกันเพื่อร่วมวางแผนปฏิวัติสยามขึ้นได้ 

สิ่งที่น่าประหลาดใจ (แก่ผมเป็นอย่างน้อย) ก็คือ นักปฏิวัติไทยในรุ่นนั้น ห่างไกลจากบรรยากาศ “หัวรุนแรง” ของปารีสมาได้อย่างไร ประวัติของแกนนำคณะราษฎรในยุโรป เท่าที่มีการเผยให้รู้กันในเวลาต่อมา ไม่ได้เอ่ยถึงความเคลื่อนไหว “ใต้ดิน” เหล่านี้ด้วยซ้ำ ไม่ต้องพูดถึงการทำความรู้จักคุ้นเคยกับนักเคลื่อนไหวชาติอื่น หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องการปฏิวัติชาติบ้านเมือง 

ระหว่างการใช้ความรุนแรงกับความเปลี่ยนแปลงด้วยความสงบ เหตุใดนักปฏิวัติไทยในรุ่นนั้นจึงเลือกอย่างหลังได้ง่ายเช่นนั้น ท่ามกลางบรรยากาศชัยชนะของพรรคบอลเชวิกในรัสเซีย และความสำเร็จของฝ่ายอนาธิปไตยที่การลอบสังหารที่ซาราเอโวก่อให้เกิดสงครามโลกที่ทำให้รัฐใหญ่ทั้งหมด ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายชนะหรือแพ้ แทบล่มสลายลง 

เขาเล่ากันว่า (จริงหรือไม่ผมก็ไม่ทราบ) เกิดข้อถกเถียงกันในหมู่แกนนำคณะราษฎรที่ปารีสว่า หากได้ชัยชนะแล้ว จะทำอะไรกับพวกเจ้าดี ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ เสนอว่า ฆ่าทิ้งให้หมด นักเรียนกฎหมายปรีดี พนมยงค์ แย้งว่า เราทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเราถือพุทธ 

ร.ท.แปลกก็ไม่ได้กล่าวอะไรอีก เหมือนยอมรับเป็นมติ ง่ายๆ แค่นั้นเองหรือ? 

ปัญหาเรื่องจะจัดการอย่างไรกับชนชั้นนำเดิมหลังการปฏิวัติ เป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมากในหมู่นักปฏิวัติทั่วโลก ไม่เกี่ยวโดยตรงกับประเด็นทางศีลธรรมด้วย เพราะหากไม่ขจัดออกไป ก็ต้องมีที่ให้คนเหล่านี้ยืน จะยืนตรงไหนอย่างไร ย่อมมีผลต่อเป้าหมายของการปฏิวัติด้วย 

ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า การปฏิวัติสยามไม่ใช่การปฏิวัติมวลชน การเลือกวิถีความสงบไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้การปฏิวัติไม่กลายเป็นปฏิวัติมวลชน การปฏิวัติของคานธีเป็นการปฏิวัติมวลชนแน่ แม้มวลชนอาจไม่ได้ผลอะไรจากการปฏิวัติมากนัก แต่หากไม่มีมวลชนที่พร้อมจะบ้าเลือด (อย่างสันติวิธี?) อังกฤษคงจับคานธีแขวนคอไปนานแล้ว เชื่อมือนักกฎหมายอังกฤษเถิด 

แกนนำคณะราษฎรเลือกใช้วิธีรัฐประหารในการปฏิวัติ เหตุผลที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ อธิบายก็คือ รัฐสยามมีกลไกและกำลังในการขจัดการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างพร้อมมูล แต่ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้เอง ที่นักชาตินิยมอินเดีย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย และจีนเลือกวิถีทางอนาธิปไตย คือก่อวินาศกรรมและลอบสังหาร ซึ่งแม้ไม่มีมวลชนหนุนหลังอย่างไพศาล แต่ก็ต้องอาศัยการสนับสนุนของคนจำนวนไม่น้อยเช่นกัน 

ทําไมบรรยากาศการปฏิวัติด้วยความรุนแรงในปารีสเมื่อทศวรรษ 1920 จึงไม่มีผลสะเทือนต่อนักชาตินิยมสยาม ที่กำลังศึกษาในฝรั่งเศสขณะนั้น 

ผมคิดว่าเหตุผลสำคัญก็คือ นักเรียนไทยในฝรั่งเศส (และยุโรปทั้งหมด) คือนักเรียนทุนที่รัฐสยามเป็นผู้ส่งไป ไม่มี (หรือผมไม่เคยได้ยินว่ามี) ปัญญาชนไทยที่ต้องอพยพหลบหนีออกต่างประเทศ แล้วเร่ร่อนไปถึงยุโรปสักคน ทุกคนล้วนมีอนาคตอยู่กับรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม แม้เขาจะพอใจมากหรือไม่มากกับอนาคตนั้นก็ตาม แต่อนาคตของทุกคนคือรัฐสยาม 

กระบวนการทำให้ทันสมัยภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใต้ฉายาอำนาจของจักรวรรดินิยมตะวันตกชะงักงันลง หรือกระจายผลดีแก่จำนวนคนที่จำกัดลงทุกขณะ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนระบอบปกครองเสียใหม่เพื่อประโยชน์สุขของคนหมู่มาก รัฐสยามยังมีความจำเป็น เพราะยังเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการทำให้ทันสมัย ความสงบมีความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง เพื่อรักษารัฐสยามเอาไว้ให้เป็นเครื่องมือที่ดีของการทำให้ทันสมัย 

โดยเฉพาะความทันสมัยด้านพลังการผลิต (ซึ่งถูกละเลยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตลอดมา) รัฐคือเครื่องมือสำคัญที่จะปรับพลังการผลิตของสยาม ดังจะเห็นได้จากเค้าโครงเศรษฐกิจของท่านรัฐบุรุษอาวุโส และนโยบายรัฐวิสาหกิจในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม 

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_441019

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท