Skip to main content
sharethis

เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม ออกแถลงการณ์ย้ำแก้โควิด19 วัคซีนต้องฟรีและถ้วนหน้า เสนอเก็บภาษีความมั่งคั่งเศรษฐีที่เป็นคน 1% ตัดงบอาวุธ 3 เหล่าทัพ เพิ่มงบสวัสดิการประชาชน

19 ก.ค.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ค.64)เวลา 11.00 น. เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ We Fair ประกอบด้วย นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ สมชาย กระจ่างแสง ธนพร วิจันทร์ และนุชนารถ แท่นทอง อ่านแถลงการณ์รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า แก้โควิด 19 วัคซีนต้องฟรีและถ้วนหน้า เสนอเก็บภาษีความมั่งคั่งเศรษฐี 1% ตัดงบอาวุธ 3 เหล่าทัพ เพิ่มงบสวัสดิการประชาชน

โดยมีข้อเสนอ เร่งรัดนำเข้าวัคซีนและเปิดเผยสัญญา 1. การนำเข้า วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ให้ได้เร็วที่สุด โดยใช้เป็นวัคซีนหลักเพื่อนำมาฉีดฟรีและถ้วนหน้าสำหรับทุกคน 2. การจัดหาชุดตรวจ Rapid Antigen Test ฟรีและถ้วนหน้าสำหรับทุกคน 3. เปิดเผยสัญญาการสั่งซื้อวัคซีน AstraZeneca และ Sinovac รวมถึงวัคซีนอื่นๆ ทุกขั้นตอนการดำเนินการ

ส่วนกรณียกระดับล็อคดาวน์นั้น We Fair เสนอว่า ต้องยกระดับเยียวยาเร่งด่วน ประกอบด้วย การเยียวยาประชาชนที่มีอายุเกิน 18 ปี  มาตรการด้านสาธารณูปโภคและที่อยู่อาศัย ลดค่าใช้จ่าย อย่างน้อย 6 เดือน มาตรการด้านหนี้สิน/สินเชื่อ พักการชำระหนี้สินและดอกเบี้ย 1 ปี และมาตรการแรงงาน  กรณีนายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานหรือราชการสั่งปิด ให้นายจ้างและรัฐร่วมจ่ายเงินให้ลูกจ้างรวมเป็น 100% 

ทั้งนี้ We Fair ยังเสนอสร้างรัฐสวัสดิการ ปรับงบ 2565 ตัดงบอาวุธ และเก็บภาษีคนรวย นั้น ด้วย โดยมีรายละเอียดของแถลงการณ์ดังนี้

แถลงการณ์รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า แก้โควิด19 วัคซีนต้องฟรีและถ้วนหน้า เก็บภาษีความมั่งคั่งเศรษฐี 1% ตัดงบอาวุธ 3 เหล่าทัพ เพิ่มงบสวัสดิการประชาชน

เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair)

วันที่ 19 กรกฎาคม 2564

เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) มีความเห็นต่อวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 403,386 คน ผู้เสียชีวิต 3,341 คน นับเป็นโศกนาฎกรรมของสังคมไทยที่เกิดขึ้นจากการบริหารประเทศที่ผิดพลาดล้มเหลวจากรัฐบาลประยุทธ ที่ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่เป็นการสร้างความสิ้นหวังรวมหมู่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีไม่ควรรับผิดชอบเพียงการลดเงินเดือน 3 เดือน กล่าวคือ

1) ความล้มเหลวในการควบคุมการแพร่ระบาด 1.1) ความสับสนในการบริหารสถานการณ์ ไม่สามารถประสานการทำงานร่วมของหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขาดการตอบสนองการแก้ไขปัญหาอย่างมีบูรณาการ 1.2) ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อการตรวจคัดกรองและจัดหาวัคซีนที่ดีด้วยตนเอง 1.3) งบประมาณเงินกู้ด้านสาธารณสุข นับตั้งแต่เงินกู้รอบแรก จนถึงเดือนมิถุนายน 2564 ใช้ไปเพียง 11,621 ล้านบาท (26.1%)

2) ความล้มเหลวในการบริหารจัดการวัคซีน 2.1) ความไร้วิสัยทัศน์พึ่งพาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในสัดส่วนที่สูง การไม่เข้าร่วมโครงการ Covax  2.2) วัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิผลต่ำในการสร้างภูมิคุ้มกันการติดเชื้อสายพันธ์เดลต้า 2.3) อัตราการฉีดวัคซีนเท่าที่เป็นอยู่จะครบทั้งหมดปลายปี 2565 และหากเพิ่มเป็น 5 แสนโดส/วัน จะใช้เวลาถึงกลางปี 2.4) การจัดลำดับความสำคัญการกระจายวัคซีน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงและบุคลากรการแพทย์ ไม่เกิดขึ้นจากระบบอภิสิทธิ์ชน พรรคร่วมรัฐบาลแย่งบทบาทกัน หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนไม่มีกลไกติดตามที่กำหนดไว้

3) ความล้มเหลวในมาตรการเยียวยา 3.1) การเยียวยาไม่ถ้วนหน้า ไม่คำนึงถึงสิทธิ เน้นพิสูจน์ความยากจน ไม่ทันสถานการณ์ กีดกันคนเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี การเข้าถึงสวัสดิการด้วยการชิงโชคเป็นโปรโมชั่นบนความทุกข์ยากและความตายของประชาชน 3.2) มาตรการเชิงสงเคราะห์ ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ การจัดสรรเงินไม่เพียงพอต่อผลกระทบ 3.3) 3.4) การปัดภาระการเยียวยาโดยหลีกเลียงการประกาศล็อคดาวน์ ทำให้แรงงานและผู้ประกอบการไม่ได้รับการช่วยเหลือ

เครือข่าย We Fair มีข้อเสนอในวิกฤตการณ์โควิด-19 ภายใต้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงที่ประเทศไทยมีมหาเศรษฐีพันล้านดอลลาร์ จำนวน 52 คน สูงกว่าอิตาลี ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ โดยความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นหลายเท่าในช่วงโควิด-19 อาทิ นายธนินท์ เจียรวนนท์ มีมูลค่าทรัพย์สิน 18,100 ล้านดอลลาร์ ในทางกลับกันคนไทยนับล้านคนตกอยู่ในภาวะว่างงาน ภาระหนี้สินครัวเรือนพุ่งถึง 90% ของจีดีพี โดยมีข้อเสนอแนวทาง“รัฐสวัสดิการ” ดังต่อไปนี้

1. เร่งรัดนำเข้าวัคซีนและเปิดเผยสัญญา

1.1) เร่งรัดการนำเข้า วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ให้ได้เร็วที่สุด โดยใช้เป็นวัคซีนหลักเพื่อนำมาฉีดฟรีและถ้วนหน้าสำหรับทุกคน และเพื่อเป็นวัคซีนฉีดกระตุ้นเข็ม 3 แก่บุคลากรทางการแพทย์

1.2) การจัดหาชุดตรวจ Rapid Antigen Test ฟรีและถ้วนหน้าสำหรับทุกคน เนื่องจาก ชุดตรวจราคา 300-400 บาท เทียบเท่าค่าแรงขั้นต่ำถือว่าสูงเกินไป ในขณะที่เยอรมันนีมีขายตามร้านขายยาในราคา 0.80-4 € (ประมาณ 20-150 บาท) ในเดนมาร์กมีจุดรับตรวจด้วย Rapid Test และ PCR ฟรี รวม 613 แห่งทั่วประเทศ สามารถเข้าไปตรวจได้โดยไม่ต้องนัดหมาย และหลายประเทศใช้ชุดตรวจ Rapid Test เพื่อแยกผู้ติดเชื้อให้เร็วที่สุด หากได้ผลบวกจะตรวจแบบ PCR ซ้ำ Rapid Test จึงเป็นอุปกรณ์ที่ต้องแจกจ่ายให้ถึงประชาชน ทั้งแจกฟรี จำหน่ายราคาถูก และจัดส่งถึงบ้าน

1.3) เปิดเผยสัญญาการสั่งซื้อวัคซีน AstraZeneca และ Sinovac รวมถึงวัคซีนอื่นๆ ทุกขั้นตอนการดำเนินการ เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นถึงความจริงใจในการแก้ปัญหาการระบาดอย่างแท้จริง

2. ยกระดับล็อคดาวน์ต้องยกระดับเยียวยาเร่งด่วน

2.1) การเยียวยาประชาชนที่มีอายุเกิน 18 ปี  ด้วยเงินรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic income หรือ UBI) เดือนละ 5,000 บาท อย่างน้อย 3 เดือน

2.2) มาตรการด้านสาธารณูปโภคและที่อยู่อาศัย ลดค่าใช้จ่าย อย่างน้อย 6 เดือน ได้แก่ ค่าไฟฟ้า ค่าประปา ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าทางด่วน ค่าโดยสาร ค่าเช่าบ้าน ค่าหน่วยกิตมหาวิทยาลัย ในกรณีที่ดินทำกิน/ที่อยู่อาศัย ห้ามการไล่-รื้อในกรณีที่ไม่มีค่าเช่าบ้าน รวมทั้งห้ามขับไล่ประชาชนออกจากที่ดินรัฐ ในช่วงที่ไม่สามารถรวมตัวเช่นสถานการณ์ปกติได้

2.3) มาตรการด้านหนี้สิน/สินเชื่อ พักการชำระหนี้สินและดอกเบี้ย 1 ปี ได้แก่ หนี้สินบุคคล บ้าน รถ การศึกษา กยศ. และยุติการคำนวณดอกเบี้ย ระงับการฟ้องคดีล้มละลายบุคคลและนิติบุคคลขนาดเล็ก

2.4) มาตรการแรงงาน (1) กรณีนายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานหรือราชการสั่งปิด ให้นายจ้างและรัฐร่วมจ่ายเงินให้ลูกจ้างรวมเป็น 100% (2) ผู้ประกันตน มาตรา 33 กรณีนายจ้างสั่งหยุดงานชั่วคราวโดยมิใช่เหตุสุดวิสัยแต่เป็นเหตุอื่นตามมาตรา 75 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้าง 75% โดยให้รัฐจ่ายส่วนต่างอีกจำนวน 25% (3) การลดเงินสมทบประกันสังคม มาตรา 39 และ 40 โดยรัฐจ่ายสมทบแทน (4) สนับสนุนแรงงานอิสระ แรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคม มาตรา 39 และ 40 โดยรัฐจ่ายสมทบให้ช่วงโควิดและส่งเสริมให้เข้าสู่ประกันสังคมทั้งหมด

3. สร้างรัฐสวัสดิการ ปรับงบ 2565 ตัดงบอาวุธ และเก็บภาษีคนรวย

3.1) การสร้างรัฐสวัสดิการ จากงบประมาณประจำปี 2565 จำนวน 3.1 ล้านล้านบาท โดยจัดลำดับความสำคัญเพื่อแก้ไขวิกฤติการณ์โควิด การตัดงบประมาณอาวุธ และเพิ่มงบประมาณสวัสดิการประชาชน ดังนี้

(1) การตัดงบประมาณอาวุธ จะทำให้มีวัคซีน Pfizer สำหรับประชาชนกว่า 28 ล้านคน 1) เรือดำน้ำ 2 ลำ (22,500 ล้านบาท) ได้วัคซีน 18.5 ล้านคน 2) รถยานเกราะStryker 20 คัน (1.8 พันล้านบาท) รถถังหลัก VT-4 10 คัน (1.9 พันล้านบาท) ได้วัคซีน 3.04 ล้านคน 3) เครื่องบินโจมตี AT-6TH 8 ลำ (4.5 พันล้านบาท) ดาวเทียม#Microsat 2 ดวง (1.4 พันล้านบาท) จรวดต่อสู้อากาศยาน (2.2 พันล้านบาท) ได้วัคซีน 6.65 ล้านคน

(2) เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า เด็กแรกเกิด 0-6 ปี กว่า 4.2 ล้านคน ได้เงินอุดหนุนจำนวน 600 บาท/เดือน เฉพาะครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาท/ปี ทำให้เด็กได้รับเงินเพียง 1.4 ล้านคน รัฐต้องจัดเงินอุดหนุนเด็กแบบถ้วนหน้า ซึ่งจะใช้งบประมาณ 30,533.98 ล้านบาท จากงบเดิม 13,074 ล้านบาท

(3) ประกันสังคมคนทำงานถ้วนหน้า แรงงานนอกระบบ แรงงานอิสระ แรงงานภาคเกษตร กว่า 20 ล้านคน เข้าถึงประกันสังคม มาตรา 40 เพียง 3.3 ล้านคน รัฐควรจูงใจให้แรงงานอิสระ 17 ล้านคน เข้าสู่ประกันสังคม โดยจ่ายเงินสมทบให้ 3 เดือน เดือนละ 100 บาท ใช้งบประมาณการ 5,100 ล้านบาท

(4) บำนาญผู้สูงอายุถ้วนหน้า ผู้สูงอายุ 12.04 ล้านคน รัฐต้องพัฒนาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600-1000 บาท เป็นเงินบำนาญ โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจน ทั้งนี้ หากเพิ่มเงินเบี้ยยังชีพเท่ากัน 1,000 บาท ตามนโยบายพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ จะใช้งบประมาณ 144,480 ล้านบาท จากงบเดิม 80,970 ล้านบาท

(5) เงินคนพิการถ้วนหน้า คนพิการ 2 ล้านคน ได้รับเบี้ยพิการ 800 บาท ส่วนคนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้เพิ่ม 200 บาท โดยมีคนพิการ 8.8 แสนคน ได้รับ 800 บาท รัฐต้องพัฒนาเบี้ยความพิการโดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจน ทั้งนี้ หากเพิ่มเบี้ยยังชีพ 1,000 บาท จะใช้งบ 24,000 ล้านบาท จากงบเดิม 19,023 ล้านบาท

3.2). การปฏิรูประบบภาษี

(1) การปฏิรูประบบภาษี ได้แก่ (1) การปรับปรุงการลดหย่อนและการยกเว้นภาษี ซึ่งมีลักษณะที่ผู้มีรายได้น้อยอุดหนุนและเอื้อประโยชน์ให้ผู้มีรายได้สูง (2) การจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีที่ดิน ภาษีเงินได้ (3) การจัดเก็บภาษีผลได้จากทุน (Capital Gains Tax) (4) ภาษีมรดก

(2) ภาษีความมั่งคั่งคนรวย 1% การจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน เป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับธนาคารโลกที่แนะนำให้รัฐบาลปรับขึ้นอัตราภาษีเงินได้สำหรับผู้ที่มีฐานะร่ำรวย เพื่อนำไปช่วยชำระหนี้มูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท จากการประเมินของ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี การเก็บภาษีความมั่งคั่งที่อัตรา 3.5% กับมหาเศรษฐี 10 อันดับแรก จะเก็บภาษีได้ประมาณการ 125,000 ล้านบาท มหาเศรษฐี 50 อันดับแรก จะเก็บได้ประมาณการ 185,000 ล้านบาท

สถานการณ์โควิด-19 ทำให้สังคมไทยได้บทเรียนว่า “สวัสดิการถ้วนหน้า” สามารถเยียวยาผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลหลายประเทศไม่เพียงมีมาตรการเยียวยา แต่มีนโยบายสวัสดิการสังคมตามแนวคิดรัฐสวัสดิการ การเข้าถึงสิทธิเสมอกันไม่แบ่งแยก การพัฒนาหลักประกันสุขภาพ ประกันสังคมคนทำงาน ระบบบำนาญผู้สูงอายุ รวมทั้งระบบเงินเดือนถ้วนหน้า เพื่อรองรับประชาชน นับตั้งแต่ความเดือดร้อนอันดับแรก ได้แก่ หน้ากากอนามัย รายได้ที่สูญเสีย ชุดตรวจโรค วัคซีนที่มีคุณภาพ จนถึงเตียงในการรักษาพยาบาล 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net