Skip to main content
sharethis

ประชาไทสรุปเสวนา "‘ความเจ็บปวด’ จากปิดแคมป์ถึงยุบช่องทางสาธารณสุขของแรงงานข้ามชาติ" จัดโดยสหภาพคนทำงาน ร่วมฟังเสียงความเจ็บปวดของแรงงานก่อสร้างจากการปิดแคมป์แรงงานในสถานการณ์ Covid-19 ที่ขาดการช่วยเหลือจากรัฐบาล จนทำให้พวกเขาต้อง 'ดูแลกันเอง' 

ภาพการเสวนาหัวข้อ ‘ความเจ็บปวด’ จากปิดแคมป์ถึงยุบช่องทางสาธารณสุขของแรงงานข้ามชาติ’
 

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 64 ศบค. มีมติถึงมาตราการปิดแคมป์คนงาน หยุดโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ และห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือเข้มข้น ได้แก่ กรุงเทพฯ ปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้ (สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) เป็นเวลานานถึง 30 วัน โดยเริ่มวันแรก วันที่ 28 มิ.ย. 64

นอกจากนี้ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีมาตรการเยียวยาสำหรับแรงงานก่อสร้างที่อยู่แคมป์แรงงาน เป็น 50% ของรายได้ ทุกวัน โดยจะจ่ายให้ทุก 5 วัน และมีอาหาร 3 มื้อให้ อย่างไรก็ตาม ผ่านมากว่า 23 วัน การเยียวยายังตกหล่นอยู่มาก มีแคมป์คนงานหลายแคมป์ที่ไม่มีได้การเยียวยาและช่วยเหลือ หลายที่ขาดแคลนอาหาร ยา และของใช้สำหรับเด็กอ่อน  
 
เพื่อให้เห็นปัญหาความทุกข์ของแรงงานก่อสร้างที่ถูกล็อกดาวน์ในแคมป์มากขึ้น เมื่อ 17 ก.ค. 64 ประชาไท สรุปเสวนาหัวข้อ ‘ความเจ็บปวด’ จากปิดแคมป์ถึงยุบช่องทางสาธารณสุขของแรงงานข้ามชาติ’ จัดโดยสหภาพคนทำงาน (Workers’ Union) โดยผู้มีร่วมเสวนา ประกอบด้วย 

  1. ศิววงศ์ สุขทวี สมาชิก Migrant Working Group 
  2. LEE ANATAWAT สมาชิกกลุ่มคนดูแลกันเอง 
  3. เอ ตัวแทนแรงงานข้ามชาติ
  4. ธี คางย์มินลวิน คนทำงานเรื่องแรงงานข้ามชาติจากมูลนิธิรักษ์ไทย 

ขณะที่ ธนพร วิจันทร์ สมาชิกสหพันธ์แรงงานก่อสร้างฯ เป็นพิธีกรดำเนินรายการเสวนาครั้งนี้ 

ไม่มีข้าวทาน-เข้าไม่ถึงการตรวจ

ธี เปิดหัวข้อการพูดคุยด้วยเรื่องของแคมป์คนงานในสมุทรปราการ “รัฐบาลไม่เคยชี้แจงให้ชัดเจนว่าจะสั่งปิดแคมป์ถึงเมื่อไหร่ จากการลงพื้นที่ทำงานเราถึงกับน้ำตาไหล เพราะว่าบางแคมป์มีไข่เหลือเพียงไม่กี่ฟอง แทบไม่มีใครมาดูแลเลย และไปไหนก็ไม่ได้มีทหารมาเฝ้าตลอด 'ใครจะกล้าไปไหน'

“เรื่องที่น่าเศร้ายิ่งกว่านั้นคือ บางแคมป์มีการวิ่งหนีเอาตัวรอด เพราะว่าไม่มีรายได้ไม่มีอะไรกิน ยังไงก็ต้องหนี ทั้งๆ ที่คนที่สั่งปิดน่าชี้แจงว่าใครเป็นคนรับผิดชอบในเรื่องของอาหารการกิน ไม่ใช่ปล่อยให้แรงงานช่วยเหลือกันเอง แต่นี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ ฉะนั้น จากที่เราเคยช่วยเหลือได้อย่างปกติ จึงกลายเป็นเรื่องที่อยากลำบาก อีกทั้งเรื่องของการตรวจโควิดไม่ต้องพูดถึงแรงงานข้ามชาติเลย เพราะขาดแรงงานไทยยังเข้าไม่ถึงการตรวจ ประกันสังคมยังไม่มีเลย ถ้าคนกลุ่มนี้ติดเชื้อขึ้นมาใครจะดูแลตรงนี้ ซึ่งนี่คือสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น” ธี กล่าว 

วิภาพร เสริมว่า "เท่าที่ทราบมาคือบางแคมป์ข้าว 1 กล่องต้องแบ่งกันกินทั้งครอบครัว"

"ก่อนหน้าที่จะมีการสั่งปิดแคมป์ แรงงานยังพอเก็บผักบุ้งหรือตกปลาแถวนั้นกินได้ แต่พอมีการสั่งปิดก็ทำเหมือนเดิมไม่ได้เพราะเจ้าของที่ไม่ให้ทำ ทีนี้ก็ไม่รู้ว่าจะไปหากินกันที่ไหน กรณีแบบนี้มีเยอะมากไม่รู้ว่ารัฐบาลรู้บ้างหรือเปล่า" ธี กล่าว

วิภาพร กล่าวเพิ่มว่า ช่วงแรกๆ ที่มีการสั่งปิดแคมป์จะเห็นได้ว่าแค่ 'น้ำ' แรงงานข้ามชาติยังไม่มีจะกินเลย ต้องกด SOS ขอความช่วยเหลือผ่านสื่อมวลชน ซึ่งถ้าพูดตามความจริง สิ่งเหล่านี้ค่อนข้างย้อนแย้งกับการที่รัฐบาลเคยบอกว่าต้องให้นายจ้างรู้และดูแลให้ครอบคลุมที่สุด แต่ในความเป็นจริงยังมีอีกหลายจุดที่ยังไม่ได้รับการดูแล

เอ ตัวแทนของแรงงานข้ามชาติ ร่วมสะท้อนปัญหาการช่วยเหลือของรัฐช่วงล็อกดาวน์แคมป์แรงงาน ระบุว่า “ตั้งแต่มีการสั่งปิดแคมป์มันเกิดผลกระทบมากมาย โดยเฉพาะพวกเราที่เป็นแรงงานข้ามชาติเชื้อโควิดยิ่งระบาดมากขึ้น เพราะว่าที่อยู่อาศัยของเรามีห้องน้ำน้อย เราก็ต้องใช้ห้องน้ำร่วมกันการอาบน้ำมันก็อยู่ในอ่างเดียวกัน ทีนี้เราไม่รู้ว่าใครติดเชื้อบ้าง ไปๆ มาๆ เราเลยติดเชื้อด้วยกันหมดเลย ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน 

"อีกปัญหาที่เราต้องเจอคือ เรื่องอาหารที่ไม่พอกินและทางนายจ้างบริษัทก็ไม่ดูแลพวกเราด้วยตรงนี้มันลำบากมาก อย่างตอนที่ผม (ผู้สื่อข่าว - เอ) ลงเอาอาหารไปให้แรงงานบางที่ไม่มีอาหารกินเกือบ 2 อาทิตย์ นายจ้างยังไม่มาดูแลพวกเขาเลย บางคนต้องเก็บผักบุ้งมากินกับน้ำปลาก็มี ตรงนี้ทำให้เราเจ็บปวดมากๆ ที่การปิดแคมป์ทำให้ลำบากทั้งหมด และโรคระบาดก็ยิ่งระบาดมากขึ้นเรื่อยๆ บางคนเขากลัวก็เลยหนีกลับบ้านพอหนีกลับบ้านเขาก็ติดเชื้อจากการเดินทาง และเชื้อก็ติดไปถึงคนที่บ้าน เพราะเขากลัวว่ารัฐบาลจะไม่ดูแลหากติดเชื้อขึ้นมา ซึ่งในความเป็นจริงก็เป็นแบบนั้น ‘พอติดเชื้อขึ้นมาก็ไม่มีใครดูแล' อีกทั้งตอนนี้รัฐบาลยังมาสั่งปิดศูนย์สาธารณสุขของแรงงานข้ามชาติอีก ทั้งๆ ที่ควรเปิดให้เราได้ตรวจสุขภาพจะได้รู้ว่าตัวเองมีเชื้อโรคหรือไม่ ? พอจะไปตรวจบางที่ก็ไม่รับ ไปตรวจอีกที่เขาบอกว่าเราติดเชื้อ ทีนี้กลายเป็นว่าเรากระจายเชื้อโดยไม่รู้ตัวและไม่รู้ว่าไปรับเชื้อมาจากไหน"
 
เอ กล่าวด้วยว่า "ทำไมทางรัฐบาลถึงประกาศออกมาอย่างนี้ เราก็เป็นมนุษย์ เราก็อยากได้ความเท่าเทียมในฐานะมนุษย์เหมือนกัน รวมไปถึงอยากให้นายแจ้งบริษัทผันมาดูแลพวกเราบ้าง เหมือนที่พวกเราทำรายได้ให้กับบริษัทเป็นหลักแสนหลักล้าน"

วิภาพร ยังตั้งข้อสังเกตุว่า ประเด็นที่ เอ กล่าวมานั้นน่าสนใจ เพราะว่าตัวระบบที่ไม่ให้พี่น้องแรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงการตรวจ มันไปสร้างความเสี่ยงให้กับการกระจายเชื้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะระบบอาจจะกำลังมีปัญหา

ปกกมล พิจิตรศิริ ผู้รายงานบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เป็นนักศึกษาวิทยาลัยสหวิทยาการ สาขาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net