Skip to main content
sharethis

ในเวทีเสวนา “16 ปี ภาวะฉุกเฉินของประเทศไทย จากจังหวัดชายแดนใต้สู่การจัดการโควิด-19” อดีต กสม.วิจารณ์การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐว่ารวบอำนาจเข้ามาจัดการสถานการณ์โควิด-19 แต่กลับแย่กว่าเดิมอีกทั้งรัฐยังขาดความรับผิดชอบ "อาดิลัน" ส.ส.พปชร.ชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นกฎหมายที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิ ทางด้านภาคประชาสังคมเสนอแก้ไขนิยามและจำกัดอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่มีอย่างกว้างขวาง

ฝ่ายสื่อสารของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมรายงานเวทีเสวนาประเด็นการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2564 ในชื่อเวที “16 ปี ภาวะฉุกเฉินของประเทศไทย จากจังหวัดชายแดนใต้สู่การจัดการโควิด-19” โดยเป็นการร่วมจัดระหว่างคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ร่วมกับคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) ได้จัดเสวนาออนไลน์ภายใต้ชื่อ

ในเวทีมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินของประเทศต่างๆ เมื่อเปรียบเทียบกับการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา มาจนถึงการใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ล้มเหลวในการแก้ปัญหาทั้งบริบทในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา บริบทในความขัดแย้งทางการเมือง และบริบทการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากเป็นการใช้ยาไม่ตรงกับโรค รัฐมีแนวโน้มว่าได้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อปิดบังความจริง และเอาผิดกับคนที่เห็นต่างจากรัฐ ผ่านการออกข้อบังคับเพื่อควบคุมข่าวสารและข้อเท็จจริง เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจริงๆ ประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขพื้นฐานที่ดี และเคยจัดการกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ในการระบาดระลอกแรก จากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมโรค แต่พอระยะที่ 2-3 กลับถดถอย เพราะรัฐเลือกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาใช้ และส่งผลให้เกิดการรวบอำนาจเด็ดขาด ฝ่ายบริหารขาดความรับผิดชอบและจิตสำนึก รวมทั้งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างจากการทำงานตามระบบราชการ ซึ่งไม่สอดคล้องกับกับการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ประชาชนถูกจำกัดในเรื่องการเข้าถึงระบบสาธารณสุข เนื่องจากโรงพยาบาลเต็ม และการบริหารวัคซีนก็ยังไม่มีความแน่นอน เป็นผลให้ประชาชนติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจากผู้นำไร้วิสัยทัศน์ในการจัดการกับโรคระบาด

ศ.กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ และศาสตราภิชานคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอแนวทางให้ 1) การประกาศใช้ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องดีกว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2) ถ้าจะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องแจ้งให้องค์การสหประชาชาติรับทราบทุกครั้งว่าจะมีระยะเวลาและจำกัดสิทธิข้อใดบ้าง 3) การจำกัดสิทธิในการแสดงออกยังต้องสามารถกระทำได้ และรัฐต้องมีดุลพินิจที่มากพอในการรับมือกับข่าวเท็จ 4) การตอบกลับข่าวเท็จ (Fake News) ต้องมาจากประชาชน ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐ และต้องไม่ใช้กฎหมายพิเศษกำหนดโทษต่อประชาชน 5) ต้องไม่มีการปรับแก้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ โดยนำมาตราบางส่วนจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาปรับเข้ากับ พ.ร.บ.โรคติดต่อ 6) พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องมีข้อบัญญัติที่ชัดเจน มีการกำหนดกรอบเวลาว่า จะสามารถขยายระยะเวลาได้หรือไม่ โดยพิจารณาถึงความมั่นคงของมนุษย์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด 7) เจ้าหน้าที่จะต้องพยายามไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 8) พยายามมุ่งสู่การปฏิรูปให้ได้ ต้องมีการทบทวนกฎหมายความมั่นคงทั้งหมด 9) เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องใช้เหตุผลในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวถึงปัญหาของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่า เป็นกฎหมายที่ไม่มีการกำหนดคำนิยามที่ชัดเจน บริบทขอบเขตในการตีความกว้างมากเกินไปว่าสถานการณ์ฉุกเฉินหมายถึงอะไร และเป็นผลให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจมากและใช้อำนาจในทางมิชอบ หากจะแก้ไข ต้องแก้ที่นิยาม “ความมั่นคง” “สถานการณ์ฉุกเฉิน” เพราะปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวยังให้สิทธิเจ้าหน้าที่สามารถใช้ดุลพินิจได้กว้างขวาง โดยอ้างเรื่องความมั่นคงของชาติ และต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล และการแบ่งแยกอำนาจอย่างชัดเจน เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวทำให้ประชาชนถูกจำกัดสิทธิมากกว่าปกติ และไม่มีองค์กรใดทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร พรก.ฉบับนี้ฝ่ายบริหารก็มีอำนาจประกาศขยายการใช้อำนาจของตนเอง

ผอ.ผสานวัฒนธรรมยังเสนออีกว่า ปัญหาการละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่ ต้องมีการกำหนดเรื่องตรวจสอบโดยระบบตุลาการที่เป็นอิสระและมีประสิทธิภาพ และกฎหมายต้องระบุให้ชัดเจนว่าการกระทำละเมิดสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของศาลได้ เพื่อป้องกันการกระทำผิดและทำให้คนผิดลอยนวล ซึ่งรัฐไทยต้องทบทวนกฎหมายเพื่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขให้สอดรับกับหลักการสากลและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หากยังมีนำการควบคุมตามอำนาจพรกฉุกเฉินขั้นร้ายแรงและนำชาวบ้านไปซักถามเพื่อดำเนินคดีทางคดีอาญาก็ต้องอนุญาตให้พบทนาย แจ้งข้อหา เพราะผิดกับเจตนารมย์ที่เขียนไว้ให้ควบคุมตัวเพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ใช่ไปซักถามเรื่องข้อกล่าวอ้างเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วเพื่อให้ได้พยานหลักฐานดำเนินคดีอาญา

สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล กล่าวว่า ในหลายประเทศทั่วโลก การประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสถานการณ์ใดๆ ก็ตามส่งผลกระทบความอยู่รอดของชาติ ขณะที่ประเทศไทยนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกที่ 1 ซึ่งถือว่านำมาใช้เร็วเกินไป และถือเป็นการใช้อำนาจพิเศษ แต่ขาดแนวคิดในเรื่องการจัดการปัญหา กล่าวคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควรเป็นกฎหมายให้รัฐทำงานเร็วขึ้น ไม่ใช่ช้าลง อีกทั้งการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รัฐสมาชิกจำเป็นต้องแจ้งให้องค์การสหประชาชาติรับทราบ ขณะที่ปัญหาที่เกิดขึ้นต้องมีการเยียวยา แต่กลับริบอำนาจศาลปกครอง ทำให้ยากสำหรับผู้เสียหาย รวมทั้งการกำหนดโทษทางอาญาที่ไม่ได้สัดส่วน และตัวบทกฎหมายไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาข่าวเท็จ (Fake News) องค์การสหประชาชาติเคยพูดชัดว่า รัฐไม่ควรแก้ปัญหาด้วยการนำตัวคนกระทำการส่งต่อข่าวเท็จมาลงโทษ แต่รัฐควรออกมาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงให้มากขึ้น

อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า รัฐมีความพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด แต่ปัญหาอยู่ที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ใช่กฎหมายคุ้มครองสิทธิ แต่เป็นกฎหมายที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิคนในพื้นที่ประกาศใช้กฎหมาย ต้องได้รับการแก้ไข และเราต้องยอมรับว่ามันมีการละเมิดสิทธิตลอด ข้อหนึ่งที่เราห่วงกังวลคือ การกักตัวและเชิญตัวไปกักตัวตามกฎหมายพิเศษ จึงเสนอว่า ควรต้องมีการบันทึกภาพเสียง 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วันที่กฎหมายอนุญาตให้มีการกักตัว เจ้าหน้าที่ต้องบันทึกตั้งแต่วินาทีแรกที่นำตัวบุคคลไปกักขัง การสอบสวน และการซักถามต้องมีหลักฐานภาพและเสียงที่ชัดเจน ไม่ใช่แค่เพื่อยืนยันสิทธิประชาชน แต่เมื่อมีการร้องเรียน จะได้มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า ไม่มีการละเมิดสิทธิระหว่างการกักตัว

รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ความสำเร็จเดียวของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่พบคือ การจัดการเพื่อกีดกันการชุมนุม ซึ่งขณะนี้ ทาง ส.ส.ฝ่ายค้านได้กดดัน และใช้กลไกต่างๆ เพื่อตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการใช้กฎหมายดังกล่าว แต่ยอมรับว่า ถึงอย่างนั้นก็ไม่สามารถตอบสนองได้ เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้ให้อำนาจสภาผู้แทนราษฎรในการตรวจสอบ เป็นเหตุให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้

ขณะนี้ พรรคก้าวไกลเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยมีรายละเอียดว่า การบังคับใช้ พ.ร.ก.จำเป็นจะต้องผ่านมติเห็นชอบสภาผู้แทนราษฎร และจะประกาศใช้ได้ไม่เกิน 30 วัน ยกเลิกอำนาจในการกำหนดห้ามนำเสนอข่าวและให้อิสระกับสื่อมวลชน รวมทั้งยกเลิกข้อยกเว้นที่ไม่ให้เจ้าหน้าที่รับผิดและการควบคุมตัวต้องเป็นไปตามอำนาจปกติ คือ ควบคุมได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง ซึ่งวาระดังกล่าวได้ถูกเสนอไปตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ตอนนี้อยู่ในวาระสภาผู้แทน แต่ความหวังที่จะผ่านเป็นเรื่องยาก และที่ผ่านมาข้อเสนอของส.ส.ฝ่ายค้านยังไม่เคยถูกนำมาพิจารณา แต่อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องนำข้อมูลดังกล่าวมาอภิปรายให้สังคมรับรู้ เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไข

ภาพเหตุการณ์ตำรวจใช้รถเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดใช่ผู้ชุมนุมที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2564 แฟ้มภาพ

ทั้งนี้ในใบแจ้งข่าวของทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยังมีการแถลงถึงการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 ด้วยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดกองกำลังอารักขาและควบคุมฝูงชน (คฝ.) ได้ทำการใช้รถจีโน่ฉีดน้ำ และปาระเบิดแก๊สน้ำตา เพื่อสลายการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกและกลุ่มแนวร่วม1 ขณะกำลังเคลื่อนขบวนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล บริเวณแยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศ แม้ภายหลังกลุ่มผู้ชุมนุมจะเคลื่อนตัวไปปักหลักอยู่บริเวณแยกนางเลิ้ง ใกล้กับทำเนียบรัฐบาลได้สำเร็จ โดยหน้าบริเวณสะพานชมัยมรุเชษฐ์และภายในโรงเรียนราชวินิตมัธยม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดคฝ. จำนวนมากได้เดินหน้าออกมาเพื่อกดดันบังคับผู้ร่วมชุมนุมให้ถอยกลับ เป็นเหตุให้มีการปะทะกันระหว่างการ์ดของผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาและปืนกระสุนยางยิงใส่ประชาชน ทำให้ผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง อย่างน้อยหนึ่งรายได้รับบาดเจ็บจากการใช้อาวุธปืน ต่อมาแกนนำการชุมนุมได้ประกาศยุติการชุมนุม เวลา 18.30 น. ทั้งที่ไม่มีสัญญาณหรือท่าทีว่าจะมีการชุมนุมด้วยความรุนแรงแต่อย่างไร

โดยการสลายการชุมนุมครั้งนี้ ถือเป็นการสลายการชุมนุมครั้งที่ 6 ในรอบปี 2564 และถือเป็นอีกครั้งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ครบมือกับประชาชนผู้ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของตนผ่านการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานพึงกระทำได้ในสังคมเสรีประชาธิปไตย ทั้งที่การชุมนุมเป็นการเรียกร้อง 3 ข้อเรียกร้องคือ 1) ประยุทธ์ออกไป 2) ลดงบประมาณสถาบันกษัตริย์และกองทัพ และ 3) นำเข้าวัคซีน mRNA มาเป็นวัคซีนหลักให้กับประชาชน เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ที่กำลังแพร่ระบาดและคร่าชีวิตประชาชนวันละเกือบ 100 คน ในขณะนี้

ทางมูลนิธิจึงมีความเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา มีการใช้อำนาจโดยมิชอบ ไม่ได้สัดส่วน เกินความจำเป็น และแอบแฝงไปด้วยวัตถุประสงค์ทางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะการปราบปรามการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านการชุมนุมโดยสงบของประชาชนด้วยการใช้การฉีดน้ำอย่างแรง การใช้แก๊สน้ำตา และการใช้อาวุธสงครามที่แม้จะอ้างว่ามีการใช้กระสุนยาง และการประกาศเตือน ก็ตาม

“การชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา ยังไม่มีการใช้ความรุนแรงจากฝ่ายผู้ชุมนุมแต่อย่างไร การประกาศว่า จะสลายการชุมนุมและเริ่มใช้มาตรการต่างๆ นั้นเป็นการกระทำโดยพลการที่รุนแรงเกินสัดส่วน และเกินความจำเป็น เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพการชุมนุมของประชาชน ซึ่งเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย” พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net