Skip to main content
sharethis

คุยกับเพจ ‘กลุ่มคนดูแลกันเอง’ กลุ่มอาสาสมัครช่วยแคมป์คนงาน ที่ระบุว่า สิ่งที่ทำไม่ใช่การทำบุญ แต่คือการตอบแทนเหล่าแรงงานที่สร้างประเทศ และอยากผลักให้ประเด็นแรงงานเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของการต่อสู้ทางการเมือง

 

 

ประกาศคำสั่งที่ 25 ให้ล็อกดาวน์แคมป์คนงานก่อสร้างใน 10 จังหวัด เป็นเวลา 1 เดือน เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 (ที่รัฐบาลคุมไม่ได้) ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน-27 กรกฎาคม 2564 คือจุดเริ่มต้นของการลอยแพแรงงานก่อสร้าง

แม้รัฐจะประกาศเยียวยาร้อยละ 50 ของค่าจ้างสำหรับผู้ประกันตน ตามรายชื่อที่นายจ้างรับรอง ตลอดเวลาการปิดแคมป์ แต่ในทางปฏิบัติ “ฟ้าทลายโจรถุงเดียว” คือคำตอบของแคมป์คนงานแห่งหนึ่งย่านทองหล่อในช่วงแรกของการปิดแคมป์

แย่ไปกว่านั้นคำสั่งนี้ออกข่าวเย็นวันศุกร์ แต่ระบุให้มีผลในวันจันทร์ของอาทิตย์ถัดมา แรงงานไม่ว่าจะไทยหรือข้ามชาติไม่ทันมีเวลาได้เตรียมตัว ติดอยู่ในแคมป์ แบบไม่มีงาน ไม่มีเงิน

ในพื้นที่กรุงเทพฯ จากข้อมูล ณ วันที่ 27 มิ.ย. 64 มีแคมป์ก่อสร้าง รวม 575 แคมป์ แต่จากคำบอกเล่าของ นิรัช ตรัยรงคอุบล ผู้ประสานงานเพจ 'กลุ่มคนดูแลกันเอง' เล่าว่ายังมีแคมป์ที่ไม่ได้ลงทะเบียนอีกรวมๆ แล้วประมาณ 800-1,200 แคมป์หรือมากกว่านั้น

100,000 คนคือจำนวนคร่าวๆ ของคนงานในแคมป์ทั้งหมด

17 คน คือจำนวนทีมงานทั้งหมดของเพจ ‘กลุ่มคนดูแลกันเอง’ ที่ทำหน้าที่อย่างแข็งขัน เป็นตัวกลางประสานระหว่างแคมป์คนงานที่ถูกสั่งปิดใน กทม. กับคนที่อยากช่วยเหลือหรืออยากบริจาคอาหาร สิ่งของ ยารักษาโรค ของใช้ประจำวัน รวมถึงลงไปช่วยเหลือแต่ละแคมป์ตามแรงของแต่ละคน

 

เมื่อรัฐไร้ความรับผิดชอบ ‘กลุ่มคนดูแลกันเอง’ จึงเกิดขึ้น

นิรัช เล่าว่า เขาคือเจ้าของร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลตั้งแต่ครั้งแรก ร้าน ‘ตำตำ ส้มตำพัทยา’ ของเขารายได้หดหาย และต้องปิดกิจการสาขาพัทยา 

นิรัชตามข่าวและพบว่าคนงานกำลังจะอดตายอยู่ในแคมป์ ด้วยความเป็นเจ้าของร้านอาหารเขาจึงเริ่มจากการทำอาหารไปแจกจ่ายแก่คนงานในแคมป์ จากแคมป์แรกก็นำมาสู่แคมป์ถัดๆ ไป ไม่ว่าแคมป์ไหนก็มีสภาพขาดแคลนปัจจัยสี่ 

เมื่อเขาโพสต์เรื่องราวเหล่านี้บนเฟซบุ๊ก เพื่อนๆ หลายคนให้ความสนใจ และยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ 

“เรื่องมันมาพีคตรงช่วงที่โรงงานหมิงตี้ระเบิด” นิรัชเล่า

วันที่โรงงานหมิงตี้หรือกิ่งแก้วเกิดระเบิด นิรัชได้รับแจ้งว่าแคมป์คนงานที่อยู่ห่างจากโรงงานเพียง 5 กิโลเมตรไม่ได้รับการอพยพ แม้ในตอนแรกมีคำสั่งให้อพยพคนในรัศมี 5 กิโลเมตร แต่ต่อมาขยายการอพยพไปถึงระยะ 10 กิโลเมตร เมื่อถามก็ได้คำตอบจากเจ้าหน้าที่ซึ่งคุมแคมป์เพียงว่า “มันอยู่ตั้งไกล ตั้ง 5 กิโล มันไม่ถึงหรอก” และเมื่อดับเพลิงได้แล้ว คำตอบก็ออกมาว่า “ดับแล้วนี่ ไม่ต้องเอาออกมาก็ได้”

ความไม่แยแสของรัฐ ยิ่งผลักดันให้ ‘กลุ่มคนดูแลกันเอง’ ตื่นตัวและเริ่มขยายการช่วยเหลือแคมป์คนงานทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล เริ่มมีการทำฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ สำรวจและปักหมุดแผนที่แคมป์คนงานใน กทม. จนเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างผู้ที่อยากช่วยเหลือกับแคมป์คนงานแต่ละแห่ง ใครใกล้ที่ไหนก็ไปช่วยที่นั่น เกิดเป็นเพจ ‘กลุ่มคนดูแลกันเอง’ ชื่อตรงตัวที่บอกว่าเราจะดูแลกันเองในเมื่อรัฐไม่สนใจไยดี และทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในระยะเวลาอันรวดเร็วตรงข้ามกับการเยียวยาของรัฐบาล

“ชื่อชัดเจนมาก ๆ ว่า เออ เรามาดูแลกันเอง คอนเซ็ปต์แรกที่เราตั้งมาเราหวังว่าจะรีบทำงานนี้ให้เร็วที่สุด ให้จบเร็วที่สุด เพราะที่เราทำอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา หนึ่งคือมันไม่ไหว มันใช้พลังงานเยอะ สองคือเราไม่ได้ต้องการจะเอาของไปให้เขาเพื่อเป็นการทำบุญ แต่เราแค่อยากจะให้เขารอดพ้นในแต่ละวันไปได้ ทั้งความหิว ความเจ็บป่วย ในกลุ่มนี้ภาคที่เป็นสหภาพแรงงานก็ผลักดันกับทางกระทรวงแรงงาน พม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) แล้วก็ ส.ส. ในพื้นที่ให้มารับผิดชอบเรื่องนี้

“ถ้าถามว่าทีมต้องการอะไรมากที่สุด คือต้องการให้ทุกคนกดดันให้รัฐเข้ามาดูแลตรงนี้ให้ได้ หน้าที่ของเขา เพราะเราเสียภาษีจ้างให้เขามาดูแล

 

“เรารู้สึกว่ารัฐก็ปล่อยตายประมาณหนึ่ง และก็รู้สึกว่าตอนนี้คือเหมือนอยู่ในเกม survivor (เอาตัวรอด) ใครรอด ก็รอด ใครไม่รอดก็บอกว่า คนนี้มันไม่ดูแลตัวเอง มันก็เลยตาย หรือไม่ก็บอกว่าโรคแทรกซ้อนมันก็เลยตาย รัฐก็ไม่เคยรับผิดชอบอะไรอยู่แล้วจากที่ทุกคนรู้” นิรัชกล่าว

 

ไม่ใช่ทำบุญ แต่คือการตอบแทนเหล่าแรงงานที่สร้างประเทศ

“เราขอบคุณทุกคนที่ช่วย ที่อินกับเราในเรื่องนี้ แต่โดยส่วนตัวเราไม่ได้มองว่าสิ่งนี้คือการทำบุญ เราไม่ได้มองว่าเขาเป็น object (วัตถุ) ในการทำบุญของเรา หรือทำแล้วเรารู้สึกดี แต่ถ้าใครจะคิดแบบนี้ เราไม่ได้ติดขัด แต่สิ่งที่เราเชื่อคือว่าเรามองความเป็นมนุษย์คนหนึ่งมาก ๆ คือไม่ว่ามันจะมีบุญหรือไม่มีบุญ แต่มันมีชีวิตที่มีลมหายใจอยู่จริง แล้วมันก็มีความอดอยากอยู่จริง แล้วมันก็จะมีคนหิวอยู่จริง ความหิวมันน่ากลัว แล้วมันแย่นะ

“หลังจากที่แคมป์ได้รับของแล้ว เขาก็ส่งข้อความมาว่า ขอบคุณพี่มากเลย พวกหนูไม่อดตายแล้ว ลูกหนูมีนมกินแล้ว ขอบคุณมาก วิธีการตอบของเราทุกแคมป์เหมือนกันเลยคือ เราจะบอกว่านี่คือสิ่งตอบแทนทุกคน ที่ทุกคนทำงานหนักแต่ได้เงินน้อย ไม่มีแรงงาน ไม่มีบ้าน ไม่มีแรงงาน ไม่มีสะพาน ไม่มีแรงงาน ไม่มีถนน ไม่มีนักศึกษาปริญญาตรีแม้กระทั่ง ปวช. ปวส. หรือเด็กจบนอกมาทำงานเหล่านี้ 

 

“เพราะฉะนั้นช่วงนี้คือช่วงที่เราจะสามารถตอบแทนทุกคนได้ในฐานะที่ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประเทศนี้ขึ้นมา ไม่มีแรงงานก็ไม่มีประเทศนี้ เพราะฉะนั้นระลึกไว้เสมอว่านี่ไม่ใช่การทำบุญ ทุกคนกรุณามีศักดิ์ศรีในตัวเองว่าทุกคนไม่ได้รับสิ่งของเหล่านี้เพื่อให้เรารู้สึกว่าเราได้บุญมากขึ้น นี่คือในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่เห็นมนุษย์คนหนึ่งเดือดร้อนแล้วอยากจะเข้าไปช่วยเหลือ 

“เราแชร์เรื่องนี้กับคนรอบตัวเราแล้วก็ทีมเรา แล้วเราก็เชื่อว่าในทีมหลาย ๆ คนก็คิดแบบนี้ เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่เขาทำคือเขาเห็นมนุษย์คนหนึ่งเจ็บแล้วก็ตายไม่ได้ เรารู้สึกว่าแบบนี้มันดีกับเรามากกว่า เราไม่ได้คาดหวังแม้กระทั่งว่าเขาต้องมาขอบคุณเรา ซาบซึ้งเรา คาดหวังแค่ว่าเขาไม่ตาย จบ แค่นั้น ส่วนเขาจะรู้สึกยังไง เขาจะถ่ายทอดยังไง นั่นไม่ใช่สิ่งที่เรากำหนดได้ และเราก็ไม่สนใจด้วย” นิรัชกล่าว

 

 
 

สภาพในแคมป์: บางคนหายป่วยอาจกลับไปติดได้ บางคนท้องเกือบหาที่คลอดไม่ได้

นิรัชเล่าว่า สภาพทั่วไปน่าจะตรงกับภาพจำของคนส่วนใหญ่ เป็นสังกะสีสีเงิน ล้อมรอบที่พัก หลังคาก็เป็นสังกะสี ซึ่งทำให้อากาศร้อนอบอ้าว ถ้าดีขึ้นมาหน่อยจะคล้ายอาคารน็อคดาวน์ หรือมี 2 ชั้น หรือบางแคมป์ก็เป็นตู้คอนเทนเนอร์เล็ก ๆ ข้างหน้าแคมป์จะมีเจ้าหน้าที่ ทหารบ้าง ตำรวจบ้าง เฝ้าอยู่ บางแคมป์ไม่มีคนเฝ้า แต่จะมีคนเวียนไปทุก 2 ชั่วโมง 

สิ่งที่เหมือนกันคือสภาพความเป็นอยู่ที่อดอยากขัดสน บางพื้นที่จำนวนคนเยอะมาก แต่ของที่มีไม่เพียงพอ

“แย่สุด เท่าที่เห็นคือจะมีสภาพนี้ ฝนตกมาทีหนึ่งน้ำก็ท่วม ท่วมก็ต้องลุกขึ้นมายืน นอนไม่ได้ เพราะว่าน้ำท่วม นี่คือป่วยอยู่นะ ป่วยแต่ว่าต้องหนีฝนก่อน ถ้าฝนลงก็ รอให้น้ำมันแห้ง พื้นมันแห้ง แล้วค่อยกลับไปนอนต่อ” นิรัชเล่า

นิรัชยกตัวอย่างบรรยากาศในแคมป์ว่า 

“แคมป์ที่วิภาวดี 20 มีแรงงาน 190 คน ติดโควิด 70 คน มีการแยก 70 คนที่ติดออกมาอยู่ในเต็นท์ แบบเต็นท์งานวัด ที่นอนยกสูงขึ้นนิดหน่อย ปูด้วยผ้ายางหรือเสื่อน้ำมัน บางคนติดตั้งแต่แรกไม่รู้หายหรือยัง แต่อาจกลับไปเป็นอีกเพราะว่าอยู่ในกลุ่มเดิม บางแคมป์ติดปุ๊บก็แค่แยกที่นอน แต่ยังประกอบอาหารจากที่เดียวกัน ใช้ภาชนะบางอย่างร่วมกัน อยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน”

อีกแคมป์แถวอ่อนนุช มีแรงงานร้อยกว่าคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติ แคมป์นี้มีแรงงานท้องแก่ 4 คน หลังจากทางกลุ่มช่วยเหลือเรื่องอาหารการกิน จึงพบว่ามีแรงงานหญิงคนหนึ่งที่ต้องคลอดลูก

“ผู้รับเหมาบอกว่าเมื่อคืนเพิ่งจะหารถพยาบาลให้กับแรงงานผู้หญิงคนหนึ่งไปคลอดลูก เราก็บอกว่าทำไมไม่มาหาเรา มันลำบากไหม เขาบอกว่าลำบากมากๆ เลย กว่าจะออกไปจากแคมป์ที่มีทหารเฝ้าข้างหน้า ทหารที่อยู่ข้างหน้าแคมป์ก็เป็นคนพาไปโรงพยาบาล โรงพยาบาลบอกว่าไม่รับ ให้ไปหาที่อื่นแทน เขาก็ไปตระเวนหากันทั้งคืน ผู้หญิงจะคลอดลูกอยู่แล้ว ไม่มีใครรับ เลยกลับมาที่แคมป์ก่อน ทหารก็เลยไปที่โรงพยาบาลเอง ไปกดดันว่ารับเดี๋ยวนี้ ไม่ไหวแล้ว เด็กจะพุ่งตัวออกมาอยู่แล้ว โรงพยาบาลนั้นก็เลยรับ

 

“ผ่านไป 3 วัน แรงงานไปคลอดลูกแล้วออกจากโรงพยาบาลไม่ได้เพราะว่าไม่มีเงินจ่าย แล้วถ้าไม่ออกภายในสองทุ่มของวันนี้ก็จะชาร์จอีกคืนหนึ่งค่านอน เราก็รีบขับไปหาเขาแล้วดำเนินเรื่องค่าใช้จ่ายให้ ซึ่งเป็นเงินที่เรารวมจากคนอื่น ๆ เราบอกเขาว่าอันนี้ไม่ใช่เงินเรา มีแต่คนอยากจะช่วย แต่เขาอาจจะไม่ได้สะดวกที่จะมา เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งหมดกำลังใจ ทุกคนเห็นอยู่ว่าเราเดือดร้อน น้องเขาก็ขอบคุณ 

“เราถามเขาว่ากลับยังไง เขาก็บอกว่ากลับแท็กซี่ เราถามว่าแล้วมีเงินเหรอ เขาบอกว่าไม่มี คือมันเป็นเหมือนกับการคิดต่อไปว่าเดี๋ยวกลับแท็กซี่ แล้วเดี๋ยวเงินค่อยว่ากันอีกทีว่ายังไง คือมันคิดไกลไม่ได้ คิดเป็นแค่รายชั่วโมงหรือรายของวันนี้ เราก็เลยให้เขา 200 บอกว่าอันนี้ก็เป็นเงินทุกคนเหมือนกันที่ฝากเรามา” นิรัชเล่า

 

เมื่อเป็นหรือตายเท่ากันอะไรก็เกิดขึ้นได้

ไม่ใช่ไม่เหนื่อย แต่ทั้งทีมโหมงานหนักอย่างต่อเนื่อง เพราะตระหนักว่านี่คือสิ่งที่มนุษย์ควรทำให้แก่มนุษย์ด้วยกันเอง ไม่ใช่แค่เรื่องปัจจัย 4 แต่การแสดงให้เห็นว่าเราไม่ทอดทิ้งกันก็สำคัญ

“พอเราทำแล้วเรามานั่งคิด หนึ่ง คือเราทำมันไปทำไมวะ เหนื่อยก็เหนื่อย นอนวันละ 3-4 ชั่วโมง ใจหนึ่งมันห่วงเขาในฐานะเพื่อนมนุษย์อยู่แล้ว แต่อีกใจหนึ่งมันก็ต้องเซฟตัวเองด้วย ว่าเราจะต้องไม่อ่อนแอเวลาทำอะไรมากไป แต่เราก็คิดขึ้นมาได้ว่าความจนมันน่ากลัว ความหิวมันน่ากลัว 

“คำถามก็คือว่าถ้าสมมติว่าแคมป์แคมป์หนึ่งที่มีสเกล 500 คน ได้รับอาหารแต่ไม่เพียงพอ และมีผู้ติดเชื้อด้วย เมื่อไรก็ตามที่มนุษย์รู้สึกว่าเป็นหรือตายเท่ากัน เขาจะทำอะไรบางอย่างโดยที่มันอาจก้าวข้ามเส้นไป มันคือสัญชาตญาณล้วน ๆ 500 คนในแคมป์สามารถพังออกมาแล้วก่อจลาจลได้ อันนี้คือสิ่งที่เราคิด และถ้าเกิดขึ้นจริง ไม่โทษเลยนะ เป็นเรา ถ้าเราไม่มีชอยส์ แล้วเรากำลังใกล้ตาย เราก็ทำ เราก็คงคิดในหัวว่าอยู่ไปกูก็ตาย ออกไปถ้าโดนจับหรือโดนยิงกูก็ตาย แต่ออกไปแล้ววิ่งเข้าไปในโรงพยาบาลเผื่อเขาจะจับเราไปรักษาดูบ้าง 

“เด็กที่เรียนประวัติศาสตร์มาจะรู้ว่าฝรั่งเศส รัสเซีย แล้วก็จีน สามประเทศนี้ปฏิวัติเพราะว่าชนชั้นกรรมาชีพ ความจน ความหิว นี่บวกโรคระบาดด้วย ถ้ามองในระยะยาวเกิดการจลาจล คำถามคือใครรับผิดชอบ มีมาตรการรองรับหรือเปล่า รัฐไทยก็ไม่เคยปฏิบัติต่อคนชนชั้นล่างได้ดีอยู่แล้ว ในทางกลับกัน แค่ให้เขามีปัจจัย 4 ที่เพียงพอ มีที่อยู่อย่างดี มีอาหารกิน มียารักษาโรค หรือมีชีวิตที่เขารู้สึกว่าอย่างน้อยเขามีความหวัง แล้วเขาไม่จำเป็นต้องหนีออกไปข้างนอก ถ้าแค่พื้นฐานระดับนี้รัฐไทยไม่สามารถทำได้ เราก็ไม่รู้แล้วเหมือนกันว่ามันจะสามารถเกิดอะไรขึ้นได้” นิรัชตั้งคำถาม

 
 
 
 

ไม่ใช่แค่ปัจจัย 4 แต่สิ่งจรรโลงใจก็สำคัญ

นิรัชพบว่าแรงงานส่วนใหญ่ที่เขาพูดคุยด้วย ไม่ได้ขออะไรนอกเหนือไปจากปัจจัยพื้นฐาน แค่มีข้าวกิน มียารักษาโรค มีแพมเพิสให้ลูก มีนมให้ลูก ก็พอแล้ว 

“เราว่าเขาเคยชินกับการโดนปฏิบัติแบบนี้อยู่แล้ว แล้วเขาก็รู้สึกว่าเขาไม่จำเป็นต้องเรียกร้องอะไรไปมากกว่านี้ เพราะเขารู้คุณค่าของตัวเองว่าเขาไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้หรอก มันจะมีความเกรงใจ มันจะมีความ ‘ได้เท่านี้ก็พอค่ะพี่’ อะไรอย่างนี้ 

“พอมีข้อกังวลว่าคนเฮกันบริจาค อาหารจะเหลือหรือเปล่า เราก็เลยบอกว่าถ้ามันเหลือก็น่าเสียดาย แต่เหลือดีกว่าขาด เหลือก็แค่ทิ้ง คำถามคือปกติเราชนชั้นกลางไม่เคยทิ้งอาหารเหรอ เพราะฉะนั้นถ้าอาหารมันจะเหลือในแคมป์ นี่อาจจะเป็นความห่วงใยจากคนภายนอกที่เขาได้รับเยอะที่สุดแล้วเท่าที่เขาเคยอยู่ในประเทศนี้มา เพราะฉะนั้นคือช่างมันเถอะ ช่างมัน ช่างแม่มัน ให้มันเหลือไปก่อน ดีกว่าขาด

“เราสั่งคุกกี้มาจากเชียงใหม่ เป็นคุกกี้ที่มีรูปดอกไม้ น่ารักมาก แล้วก็แจกจ่ายไปให้คนในแคมป์ มันจะต้องมีคนด่าเราแน่นอนว่าของสิ่งนี้ไม่ใช่ของจำเป็น แต่เรารู้สึกว่ามนุษย์มันก็ต้องการสิ่งที่บันเทิงใจหรือศิลปะในการฟื้นฟูตัวเองด้วย ในสภาพแบบนี้ คือเราบอกกับตัวเองว่า Entertainment (ความบันเทิง) เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์ยังคงมีความเป็นมนุษย์อยู่ 

 

“เราเชื่อว่าเวลาเขาเห็นเขาจะรู้สึกว่า โห นี่ไม่ใช่สิ่งที่เขาคาดว่าจะได้ และมันสวยงาม แล้วความสวยงามมันจรรโลงใจได้ อย่างน้อย 30 วันที่เขาอยู่ในแคมป์ เราไม่รู้ว่าเขาจะเห็นสิ่งสวยงามอะไรบ้างที่จะผ่านตาเขา แต่การมีคุกกี้ที่เป็นขนม รสหวาน และมีดอกไม้ด้วย เราเชื่อว่าตรงนี้มันสามารถสร้างความสุขให้กับเขาได้จริง ๆ 

“เราก็แชร์เรื่องนี้ไป ทุกคนก็เก็ต คือไม่มีใครว่าเราเลย แล้วทุกคนก็พยายามส่งขนม ส่งนิทานเด็ก ส่งอะไรอย่างนี้ไปให้นอกเหนือจากปัจจัย 4 เพราะสิ่งพวกนี้ทำให้เราเห็นคุณค่าในตัวเองผ่านความสวยงามของศิลปะ ซึ่งเราก็พยายามหย่อนตรงนี้ไปเรื่อย ๆ เท่าที่เราจะทำได้”

 

แรงงาน ต้องเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของการต่อสู้ทางการเมือง

นิรัชมองว่าถ้าจะมีอะไรประสบความสำเร็จในการเคลื่อนไหวของกลุ่ม ก็คงเป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนที่ไม่เคยรับรู้ว่าแคมป์แรงงานที่มีคนอดอยาก อาจอยู่ใกล้บ้านเขามากกว่าที่คิด

“จากบ้านของคุณ ปักหมุดไป 2 กิโล และลากเป็นวงกลม อาจจะมีแคมป์คนงานอยู่ประมาณ 3 แคมป์ก็ได้โดยที่คุณไม่รู้ตัวมาก่อน อยู่มาหลายปีแล้วด้วย ทองหล่อมีแคมป์ได้ เอกมัยมีแคมป์ได้ อันนี้เป็นเรื่องปกติมาก มันทำให้เรารับรู้ว่าพวกเขาอยู่ในสังคมจริงๆ เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นสมการของสังคม เป็นสิ่งประกอบโครงสร้างสังคมขึ้นมา และเขาควรจะได้รับการรับรู้ ว่ามันมีคนที่กำลังทำงานหนัก และก็ได้เงินน้อยอยู่

“อีกเรื่องคือทุกคนได้เห็นความเลวร้ายที่รัฐกระทำต่อผู้ใช้แรงงาน เขาถูกปฏิบัติไม่เหมือนคน แค่ตั้งคำถามว่าเอาแม่คุณ เอาพ่อคุณ อากง อาม่า อาเจ๊ก อะไรของคุณมาอยู่ในแคมป์นี้ไหม ถ้ารู้สึกว่าไม่ได้ คนงานในแคมป์ก็ไม่ควรอยู่อย่างนี้ได้เหมือนกัน

สิ่งที่นิรัชมองว่ายังขาดไป คือประเด็นเรื่องแรงงานยังไม่ใช่สิ่งที่สังคมกระแสหลักพูดถึงกันอย่างกว้างขวางเท่าประเด็นอื่น กระทั่งม็อบต่อต้านรัฐบาลเองก็ยังไม่ได้พูดถึงสวัสดิการ และความยากลำบากของแรงงานมากเท่าที่ควร

“กระบวนการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตย แรงงานเป็นอีกอันที่ควรต้องหยิบมาอยู่ในสมการ เพราะว่าเขาจะเป็นตัวทดลองที่ดีที่สุดของทุกนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการ สาธารณสุข บัตรทอง รายได้ขั้นต่ำ เบี้ยยังชีพ เรียนฟรี เขาเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีตัวเลือก เป็นกลุ่มแรกที่ต้องรับสิ่งเหล่านี้ อย่างเรามี สิทธิ 30 บาท แต่เรามีเงิน ไปโรงพยาบาลเอกชนก็ได้ อยากจะทำธุรกิจอะไรบางอย่าง ก็ไปกู้ธนาคารก็ได้ แต่ชนชั้นแรงงาน เขาต้องไปหาเงินมาจากที่อื่น นโยบายเวิร์กไม่เวิร์ก มันสามารถวัดกันตรงนี้ได้เลย 

 

“เราไม่ได้เชื่อว่าทุกคนต้องรวยเท่ากัน ทุกคนต้องจนเท่ากัน และชนชั้นแรงงานต้องหายไปจากสังคมไทย โดยส่วนตัวไม่ได้เชื่ออย่างนั้น แต่เชื่อในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เชื่อในรัฐสวัสดิการ เชื่อในการที่เราเคารพกัน ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์คนหนึ่งมากกว่า” 

ไอเดียหนึ่งที่นิรัชและกลุ่มเพื่อนๆ คุยกันคือการทำม็อบในแคมป์คนงาน แทนการไปตามสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์แบบเดิม ตระเวนไปพูดวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตามแคมป์คนงานต่างๆ แทน

“เราบอกในแคมป์ว่า ถ้าแคมป์เปิดแล้ว และมีม็อบ ชวนกันมาเยอะๆ เลยนะ เราคุยกับเพื่อนว่าเจ้าหน้าที่ไปเร็วเสมอถ้ามีเพนกวิน นักข่าวไปเร็วเสมอถ้ามีเพนกวิน งั้นก็เอากวิ้นขึ้นรถเลย ไปลูกไป วันนี้ 15 แคมป์ บอกม็อบ สวัสดีครับ ในม็อบเป็นไงบ้าง ให้มันเป็นแบบดาวกระจาย ตื่นตัว เชื่อว่ายังไงก็จึ้ง”

 

ปัญหาแรงงานคือเรื่องใกล้ตัว 

นิรัชเล่าว่าทั้งทีมไม่ได้มีเป้าหมายที่จะทำงานในระยะยาว และอยากยุบกลุ่มให้เร็วที่สุดหากทุกคนช่วยกดดันให้ภาครัฐยื่นมือเข้ามาจัดการตามหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ 

“พูดตามตรงตอนนี้คือไม่หวังแล้ว ทุกคนเลิกหวังก่อน ทุกคนด่ามันได้แล้ว และทุกคนก็แอ็กทีฟเถอะ หยุดคาดหวัง เพราะว่าหวังมา 7 ปีแล้ว ไม่รู้จะหวังอะไรแล้ว ตอนนี้น่าจะเป็นความอดทนเฮือกสุดท้ายที่เราจะมีต่อรัฐบาล ซึ่งเราหมดไปนานแล้ว ไม่เคยมีด้วยซ้ำ ถ้าใครมีโอกาส หรือมีอำนาจ หรือมีอาวุธในมือ ไม่ว่าจะเป็นมีเดียหรืออะไร แอ็กทีฟเถอะ เพื่อตัวเราเอง ทุกอย่างมันคือการเมืองและการเมืองมันเอฟเฟกต์หมด คุณคิดว่าแคมป์แรงงานไม่ใช่การเมืองเหรอ ไม่จริงอะ ถ้าคิดว่ามันไม่เกี่ยว ลองเอาแรงงานพม่า กัมพูชา ลาว ออกไปจากประเทศดู เส้นพระราม 2 ถนน คอนโดฯ ที่เราอยู่ บ้านที่เราอยู่ คนไทยสร้างเหรอ หรือคนจบปริญญาตรีสร้างเหรอ อย่าคิดว่ามันเป็นเรื่องไกลตัวสิ” นิรัชกล่าวทิ้งท้าย

 

*ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2564 เพจ กลุ่มคนดูแลกันเอง ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ขอปิดรับการบริจาค "ชั่วคราว" เพื่อปรับเปลี่ยนระบบการรับบริจาคให้ดีขึ้นกว่าเดิม

"ขอให้พวกท่านใจเย็นรอ ทางเราคิดว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ยังต้องดูแลกันเองกันต่อไป เพราะรัฐบาลมันดูแลพวกเราไม่ได้ แต่เราจะไม่ดูแลกันเองตลอดไปแน่นอน ระหว่างรอนี้ ขอให้ท่านจงร่วมกดดันรัฐบาลและหน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบตรงนี้ไปพลางๆ ก่อน"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net