Skip to main content
sharethis

เจ้าของรถแท็กซี่ที่ขับชนกำแพงข้างวัดโสมมนัส ใกล้กับจุดที่ผู้ชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา ยืนอยู่ ออกโรงชี้แจง ‘ไม่ได้ตั้งใจขับชนผู้ชุมนุม แต่เป็นอุบัติเหตุ’ เผยลูกชายขับรถไม่แข็ง วอนกลุ่มคนทุบรถช่วยแสดงความรับผิดชอบ เพราะรถคันนี้คือเครื่องมือทำมาหาเลี้ยงชีพ อีกทั้งครอบครัวยังขาดรายได้เพราะโควิด-19

20 ก.ค. 2564 จากกรณีที่ประชาไทรายงานข่าวเหตุการณ์การชุมนุม #ม็อบ18กรฎา ผ่านทางทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า '18.47 น. ที่บริเวณแยกเทวกรรม มีรถแท็กซี่คันหนึ่งขับมาพุ่งชนกลุ่มการ์ด ทำให้ประชาชนและกลุ่มการ์ดรุมทุบรถแท็กซี่ได้รับความเสียหาย' นั้น ต่อมามีผู้ใช้งานทวิตเตอร์รายหนึ่งชี้แจงข้อเท็จจริงแก่ประชาไทว่าเหตุการณ์ในคลิปนั้นเป็นอุบัติเหตุ ผู้ขับรถแท็กซี่ไม่ได้ตั้งใจขับรถพุ่งชนกลุ่มการ์ดหรือผู้ชุมนุม พร้อมระบุว่าพี่ชายของตนเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าว และเป็นผู้อาสาขับรถแท็กซี่ออกจากที่เกิดเหตุแทนคนขับรถ

ด้วยเหตุนี้ ผู้สื่อข่าวประชาไทจึงติดต่อกลับไป เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์เพิ่มเติม โดย กวินวัชร์ (ไม่เปิดเผยนามสกุล) ผู้ร่วมชุมนุมที่เห็นเหตุการณ์ พร้อมช่วยระงับเหตุและอาสาขับรถแท็กซี่แทนคนขับ เปิดเผยว่า จุดเกิดเหตุอยู่ที่ซอยข้างวัดโสมมนัส ถ.กรุงเกษม ใกล้แยกเทวกรรม ซึ่งตนจอดรถอยู่บริเวณนั้นพอดี กวินวัชร์เล่าว่าก่อนเหตุดังที่เห็นในคลิป ผู้ชุมนุมฝ่าแนวรั้วกั้นเข้ามาใกล้แนวตำรวจ ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม โดยผู้ชุมนุมบางส่วนเป็นกลุ่มวัยรุ่นได้มายืนหลบแนวการปะทะบริเวณหน้าปากซอยดังกล่าว ระหว่างนั้นมีแท็กซี่สีชมพูคันหนึ่งขับมาจะเลี้ยวเข้าซอยดังกล่าว ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้เปิดทางให้ ต่อมา แท็กซี่สีเขียว-เหลืองขับตามเข้ามา แต่เลี้ยวพลาดพุ่งชนกำแพงบริเวณปากทางเข้าซอย ซึ่งมีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนยืนอยู่ ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมตกใจ และคิดว่าแท็กซี่คันดังกล่าวตั้งใจขับเข้ามาพุ่งชน จึงเกิดเหตุชุลมุนขึ้นตามที่เห็นในคลิป

กวินวัชร์ เล่าต่อว่าตนพยายามเข้าไประงับเหตุ และอาสาขับรถแท็กซี่คันดังกล่าวออกจากที่เกิดเหตุแทนคนขับรถ หลังจากนั้นตนได้สอบถามกับชายเสื้อขาวผู้ขับรถแท็กซี่คันดังกล่าวถึงสาเหตุที่ขับรถเช่นนั้น ซึ่งชายคนขับรถบอกกับกวินวัชร์ว่า เขาได้ยินเสียงคล้ายปะทัดเลยรู้สึกตกใจ และเผลอเหยียบคันเร่ง ทำให้รถพุ่งเข้าหากลุ่มวัยรุ่นที่ยืนอยู่บริเวณปากซอย

กวินวัชร์บอกว่าเมื่อได้ยินเสียงรถชน ตนจึงวิ่งเข้าไปดูที่เกิดเหตุเพื่อตรวจสอบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ซึ่งตนยืนยันว่าไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ หลังจากนั้นตนจึงพยายามวิ่งเข้าไปบริเวณประตูฝั่งคนขับ เพราะได้ยินเสียงตะโกนว่า ‘คนขับกำลังจะหนี’ แต่เมื่อตนเข้าประชิดฝั่งคนขับ ชายเสื้อขาวผู้ขับรถแท็กซี่คันดังกล่าวได้หันมาหาตนและบอกกับตนด้วยอาการสั่นกลัวว่า “พี่ ผมขับรถไม่แข็ง ผมไม่ได้ตั้งใจ” ขณะเดียวกัน คนขับรถก็ได้รับบาดเจ็บถึงขั้นเลือดออก เพราะถูกกลุ่มวัยรุ่นรุมทำร้าย และทุบตีรถจนได้รับความเสียหาย จากนั้นไม่นาน อร (นามสมมติ) มารดาของคนขับรถแท็กซี่เขียว-เหลือง ก็วิ่งออกมาช่วยระงับเหตุ ซึ่งกวินวัชร์บอกว่า อร คือคนขับรถแท็กซี่สีชมพูคันที่ขับเข้าซอยไปก่อนหน้านี้

"ทีนี้มันก็มีคนตั้งคำถามว่า 'อ้าว ขับไม่แข็งแล้วทำไมถึงมาขับแท็กซี่' ผมก็ได้เข้าไปดูในโซเชียลมาแล้ว ก็คือว่ารถเขียว-เหลืองคันนี้เป็นรถที่แม่น้องเอาไว้ใช้หากิน แต่คันสีชมพูเป็นรถที่หมดสภาพการเป็นรถสาธารณะแล้ว คือมันเป็นรถที่สามารถเอามาวิ่งใช้เป็นส่วนบุคคลได้แล้ว ไม่สามารถวิ่งเป็นรถรับจ้างได้แล้ว จังหวะนั้น ด้วยความที่น้องกลัวว่ารถจะถูกทำลายเพราะว่ามีการปาข้าวของ กลัวว่ารถจะโดนลูกหลง ก็เลยบอกแม่ เพราะแม่ก็ไปร่วมชุมนุมอยู่ด้วย ว่าให้มาขยับรถดีกว่า พอมาขยับรถแล้วมันก็อย่างที่ผมบอก" กวินวัชร์กล่าว พร้อมชี้แจงว่าซอยดังกล่าวเป็นซอยที่ให้เดินรถทางเดียว ซึ่งบังคับเดินรถออกมาสู่ ถ.กรุงเกษม เท่านั้น แต่เนื่องจากในตอนนั้น ถนนเส้นอื่นรอบพื้นที่ปิดหมด ทำให้ 2 แม่ลูกตัดสินใจขับรถสวนเลนเพื่อนำรถเข้าไปจอดในที่ปลอดภัย ห่างจากแนวปะทะ

ภาพจุดเกิดเหตุบริเวณซอยข้างวัดโสมมนัส ถ.กรุงเกษม ซึ่งกำหนดให้เดินรถทางเดียวออกสู่ ถ.กรุงเกษม เท่านั้น
(บันทึกภาพจาก Google Map วันที่ 20 ก.ค. 2564 เวลา 17.33 น.)
 

"แม่น้องเขาก็ตกใจ กลัว ทั้งคู่มีอาการกลัว แม่น้องเขาบอกว่าไม่ได้อยากให้เรื่องทั้งหมดมันเป็นอย่างนี้ เพราะมันมีหลายคนโจมตีหาว่าเขาเป็นสลิ่ม แต่จริงๆ เขาไม่ได้เป็นสลิ่ม เขาก็เป็นคนที่ได้รับผลกระทบเหมือนเรานี่แหละ แล้วเขาก็ไม่ต้องการประยุทธ์แล้ว เขาเป็นคนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาล และเขาก็บอกว่าจริงๆ คุณแม่ไม่ได้ต้องการอะไร ไม่ได้ต้องการเอาเรื่องกับเด็กๆ เลย ขอแค่ว่าอย่างน้อยมีใคร หรือมีน้องๆ ช่วยกันคนละนิดคนละหน่อยได้ไหม เพราะค่าซ่อมรถค่อนข้างสูง เขาไม่ค่อยมีรายได้ และรถเขาก็ไม่สามารถใช้งานได้" กวินวัชร์กล่าว พร้อมระบุว่าช่วงที่เกิดเหตุยังมีรถอีก 2-3 คันที่จอดอยู่บริเวณนั้นได้รับความเสียหายจากการขว้างปาสิ่งของระหว่างการปะทะของเจ้าหน้าที่ตำรวจและกลุ่มผู้ชุมนุม

กวินวัชร์ บอกว่า หากในการชุมนุมมีเหตุปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ ตนไม่อยากให้เกิดความเสียหายของทรัพย์สินของประชาชนคนอื่นๆ ในบริเวณนั้น เพราะผู้รับผิดชอบความเสียหายหลังจากนั้นคือเจ้าของทรัพย์สิน

"แม่น้องก็บอกตลอดว่าไม่อยากจะเอาเรื่องเลยนะ และถ้าน้องคนไหนได้รับบาดเจ็บจากเหตุแท็กซี่ชน ให้มาลงบันทึกประจำวันได้เลย แล้วเอาใบแจ้งความมายื่นที่แม่ได้เลย แม่ยินดีที่จะรับผิดชอบ เพราะรถของเขามีประกันชั้น 3 ซึ่งคุ้มครองคู่กรณี แต่ไม่คุ้มครองคนทำประกัน" กวินวัชร์กล่าว

กวินวัชร์กล่าวเพิ่มเติมว่านอกจากคลิปวิดีโอความยาว 54 วินาทีที่ประชาไทรายงานไปแล้วนั้น ยังมีภาพหรือคลิปจากผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียรายอื่นที่ระบุว่าคนขับแท็กซี่ตัวจริงคือคนที่สวมหมวกนิรภัย ซึ่งหมายถึงตน แต่จริงๆ แล้วตนเป็นเพียงคนที่อาสาช่วยขับรถออกจากที่เกิดเหตุแทนคนขับแท็กซี่เท่านั้น นอกจากนี้ กวินวัชร์ยังเผยว่าทางครอบครัวของคนขับแท็กซี่เครียดมาก และฝากขอโทษ เพราะไม่ได้ตั้งใจให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้

ผู้สื่อข่าวประชาไทได้ติดต่อไปยัง อร (นามสมมติ) มารดาของคนขับแท็กซี่คันเกิดเหตุ ซึ่งเธอเล่าเหตุการณ์ตรงกับที่กวินวัชร์เล่า พร้อมบอกว่าบุตรชายของเธอ (คนขับแท็กซี่สีเขียว-เหลือง) บอกว่าบริเวณแยกเทวกรรมมีการเผาอะไรบางอย่าง เกรงว่ารถของตัวเองที่จอดไว้หน้าวัดโสมมนัส ใกล้แยกเทวกรรม อาจจะได้รับความเสียหาย จึงรีบมาย้ายรถ โดยเธอให้บุตรชายขับรถแท็กซี่สีเขียว-เหลืองซึ่งเป็นรถเกียร์อัตโนมัติ เพราะบุตรชายขับรถไม่เก่ง ส่วนเธอขับรถแท็กซี่สีชมพู ซึ่งเป็นเกียร์ธรรมดา

อรเล่าว่าเธอได้ยินเสียงดังโครมหลังจากที่ขับรถเข้าไปในซอยแล้ว เมื่อหันกลับมาดูก็พบว่าบุตรชายของเธอขับรถชนกำแพงบริเวณปากซอย และกำลังถูกรุมทุบตี ทำให้เธอวิ่งเข้ามาพยายามจะระงับเหตุ พร้อมตะโกนบอกกลุ่มคนที่กำลังทุบรถและทุบตีบุตรชายของเธอให้หยุด เพราะนี่ไม่ใช่การตั้งใจขับรถชน แต่เป็นอุบัติเหตุ และเธอไม่ใช่กลุ่มคนที่สนับสนุนรัฐบาลหรือทหารแต่อย่างใด

จากคลิปของประชาไท กวินวัชร์คือชายที่ใส่หมวกนิรภัย ส่วนอรคือหญิงที่อยู่ข้างๆ
 

“ณ ตอนนั้นไม่มีใครฟังใครหรอกค่ะ เพราะว่ามันเป็นวัยรุ่น พี่ก็ถาม[กลุ่มคนที่ทุบรถ]ว่าน้องมาจากไหนลูก เขาก็ตอบว่า ‘เด็กช่างครับ เด็กช่าง’ เมื่อคุยกันเสร็จ รู้เรื่องว่าเราไม่ได้เป็นอะไรกัน เขาก็เลยหยุดทุบ แล้วก็มีหินกับขากล้องอยู่ในรถ แล้วตอนนั้นลูกพี่ก็หัวแตก ถ้าลูกพี่เปิดประตูออกมาเขาก็คงจะเสียชีวิต ณ ตอนนั้น เพราะว่าเขาอารมณ์ร้อนกันมาก” อรกล่าว พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าจากคลิป พบว่ามีชายใส่ผ้าพันคอสีแดงหรือสีเขียว ซึ่งคล้ายกับกลุ่มการ์ดของผู้ชุมนุมในวันนั้น แต่ไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงได้ว่ากลุ่มชายที่ทุบรถเป็นกลุ่มการ์ดของผู้ชุมนุมจริงหรือไม่

อร ระบุว่า หลังเกิดเหตุ เธอได้เข้าไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.นางเลิ้ง เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยเธอบอกว่าหากกลุ่มคนที่รุมทุบรถและทำร้ายร่างกายบุตรชายของตนออกมาขอโทษก็พร้อมจะถอนแจ้งความ

“ถ้าน้องเขาซ่อมรถให้พี่ หรือว่าถ้าน้องเขามาขอโทษ พี่ก็จะให้ลูกพี่ขอโทษ ต่างคนต่างขอโทษกัน พี่ก็จะยกเลิกแจ้งความ เพราะว่าพี่ก็เป็นฝ่ายผู้ชุมนุมเหมือนกัน พี่ไม่ใช่สลิ่ม” อรกล่าว พร้อมขอความเห็นใจให้บุคคลที่ทุบรถของเธอให้ช่วยแสดงความรับผิดชอบช่วยออกค่าซ่อมรถ เพราะรถแท็กซี่คันนี้เป็นเครื่องมือในการทำมาหาเลี้ยงชีพ ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 เช่นนี้ยิ่งทำให้เธอและครอบครัวขาดรายได้

“พี่ไม่ต้องการอะไร แค่ช่วยซ่อมรถ และให้พี่ได้ทำงานเท่านั้นแหละ” อรกล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net