Skip to main content
sharethis
  • ‘พิจารณ์’ ข้องใจ ประธาน กมธ.งบ 65 สั่งผ่านวาระ ‘งบกลาโหม’ แบบชวนงง คาใจงบ กอ.รมน. 7.9 พันล้านบาท ยังไม่ชี้แจง เผย เลื่อนซื้อ ‘เรือดำน้ำ’ แค่เบี่ยงประเด็น ของจริงคือสอดไส้ซื้ออากาศยานไร้คนขับ 4,100 ล้านและโครงการอื่นอีกเพียบ
  • ‘พิธา’ เผย กรมโยธาฯ ทุ่มสร้าง ‘เขื่อนกัดเซาะชายฝั่ง’ กิโลเมตรละ 100 ล้านบาท แลกปกป้อง ‘ถนนเลียบทะเล’ กิโลเมตรละ 8.4 ล้านบาท แถมแก้ปัญหาไม่ได้ 
  • ‘ศิริกัญญา’ สับต่อ เน้น ‘โครงสร้างแข็ง’ เพราะงบสูงแต่ไม่อิงข้อมูลวิชาการ ถามอีก ส่อขวางทางน้ำ ขออนุญาตกรมเจ้าท่าแล้วหรือยัง

20 ก.ค.2564 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นต่อการพิจารณางบประมาณกระทรวงกลาโหมในวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ในฐานะคนที่ติดตามงบประมาณกระทรวงกลาโหม รู้สึกข้องใจกับการผ่านงบกลาโหมเป็นอย่างมาก เนื่องจากภายหลังเกิดการถกเถียงกันในที่ประชุมกรรมาธิการ ประธานกลับสั่งปิดการประชุมและให้ผ่านการพิจารณางบกลาโหมไปแบบงงๆ ทั้งที่หลายคำถามที่พรรคก้าวไกลขอให้ชี้แจง กองทัพยังไม่ชี้แจง รวมถึง กอ.รมน. ซึ่งมีงบประมาณเกือบ 7.9 พันล้านบาท

“ผมคิดว่าประธานกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ ซึ่งเป็นคนจากรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐต้องตอบคำถามเพื่อนกรรมาธิการ และตอบคำถามสังคมให้ได้ว่าการรวบรัดผ่านการพิจารณากลาโหมในครั้งนี้ มีอะไรไม่โปร่งใสหรือไม่ และทำไมเฉพาะหน่วยงานนี้จึงเห็นประธานกรรมาธิการออกมาทำหน้าที่ปกป้องหน่วยงานมากเป็นพิเศษกว่ากระทรวงอื่นๆ”

เมื่อถามถึงความไม่โปร่งใสในงบประมาณกองทัพ พิจารณ์ให้ความเห็นว่า ในการพิจารณางบประมาณครั้งนี้ คนมักให้ความสนใจไปที่เรือดำน้ำลำที่ 2 และ ลำที่ 3 ซึ่งแน่นอนว่าไม่ควรทำในช่วงเวลานี้ แต่การตัดงบเรือดำน้ำที่ตั้งในปีนี้จะช่วยประหยัดงบประมาณปีนี้ได้เพียง 900 ล้านบาทเท่านั้น เพราะกองทัพเรือใช้วิธีการดาวน์น้อย ผ่อนนาน ตั้งงบปีแรกให้น้อยแล้วผูกพันงบประมาณไปจ่ายในอนาคต เป็นภาระอีก 6-7 ปี

“แต่เมื่อกองทัพยอมถอยเลื่อนงบประมาณเรือดำน้ำแล้ว กลับกลายเป็นคนให้ความสนใจเฉพาะงบประมาณเรือดำน้ำแล้วละเลยความโปร่งใสของงบประมาณส่วนอื่นไป งบประมาณของกองทัพ 2.03 แสนล้านบาทนี้ ยังมีงบประมาณอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่โปร่งใสและชวนให้ตั้งคำถาม ทั้งงบประมาณที่สิ้นเปลือง สอดไส้งบของส่วนราชการอื่น และมีงบที่ไม่ใช่ภารกิจ กรณีงบประมาณที่สิ้นเปลือง เช่น โครงการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างบ้านพักทหารซึ่งมีทุกเหล่าทัพ งบสร้าง-ซ่อมบ้านพักของกองทัพอากาศ 344 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 40% ของงบก่อสร้างในแผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคงที่มีงบทั้งหมด 878 ล้านบาท, โครงการอาคารพักข้าราชการกองเรือดำน้ำในพื้นที่กองเรือยุทธการ วงเงินงบประมาณ 294 ล้านบาท ก็มีความน่าสงสัย เพราะมีการประกาศจัดซื้อจัดจ้างและและยกเลิกถึง 3 ครั้งด้วยกัน โดยใช้วิธีการประกาศเชิญชวน, โครงการก่อสร้างบ้านผู้บริหารระดับสูง จำนวน 4 หลัง มูลค่า 30 ล้านบาท ตกแล้วราคาหลังละประมาณ 7 ล้านกว่าบาท และยังมีโครงการก่อสร้างอาคารพักขนาด 32 ครอบครัว พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก จำนวน 4 หลัง มูลค่า 174 ล้านบาท รวม 2 โครงการ มูลค่ารวม 348 ล้านบาท”

“สรุปแล้วสร้างบ้านพักไม่พอ หรือกำลังพลมากเกินไปกันแน่ อย่างในกรณีของกองทัพบก ชี้แจงว่ายังมีกำลังพลอีก 5หมื่นกว่านาย ที่ยังไม่มีบ้านพัก สะท้อนให้เห็นถึงความใหญ่เทอะทะอุ้ยอ้ายของกำลังพล เป็นภาระจากทั้งงบบุคลากร และงบสวัสดิการ การที่กองทัพต้องจัดสวัสดิการที่ดีให้กำลังพลเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่เมื่อกำลังมีขนาดใหญ่โตเกินไป จึงกลายเป็นภาระงบประมาณที่อาจเกินความจำเป็น”

“งบก่อสร้างบ้านพักอีกก้อนที่น่าสงสัย เป็นงบประมาณผูกพันสำหรับก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยสูง 13 ชั้น จำนวน 175 ห้องพร้อมที่จอดรถ ตั้งอยู่ที่ถนนอู่ทองนอกให้กับข้าราชบริพารภายใต้สังกัดส่วนราชการในพระองค์และครอบครัว วงเงินก่อสร้าง 620.5 ล้านบาท และมีค่าจ้างที่ปรึกษาตลอด 4 ปี เพื่อดูแลโครงการนี้อีก 21.7 ล้านบาท ทำให้มูลค่าโครงการทั้งหมดคิดเป็นงบประมาณ 642.2 ล้านบาท โดยปีงบประมาณ 65 มีงบประมาณที่ตั้งใว้ 283 ล้านบาท”
.
พิจารณ์ ยังตั้งคำถามว่าเหตุใดงบประมาณการสร้างอาคารที่พักให้กับข้าราชบริพารและครอบครัว จึงอยู่ในงบประมาณของสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม ทั้งที่ไม่ได้เป็นสวัสดิการสำหรับบุคลากรในสังกัดของตนเอง ตาม พ.ร.บ. ส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 กำหนดให้มีการถ่ายโอนภารกิจ กำลังพล และงบประมาณไปให้ส่วนราชการในพระองค์ไปทั้งหมดแล้ว ทำไมจึงยังมีการตั้งงบประมาณส่วนนี้ และมีงบประมาณอื่นในผลผลิตสนับสนุนการถวายความปลอดภัยรวมกันอีก 1,296 ล้านบาท ซึ่งตัวแทนจากสำนักปลัดฯ ได้ชี้แจงว่าได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ มาตรา 5 วรรคท้าย ที่ได้บัญญัติว่า ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่สนับสนุนภารกิจของส่วนราชการในพระองค์ตามที่ได้รับแจ้ง แต่ไม่เคยมีการแสดงเป็นเอกสารให้กรรมาธิการได้เห็นเลยว่ามีการแจ้งขอการสนับสนุนงบประมาณและโครงการจริงหรือไม่

สุดท้าย พิจารณ์ตั้งคำถามกับโครงการจัดซื้อจัดจ้างอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรือดำน้ำ ที่ถึงแม้ว่าในปีนี้ กองทัพเรือจะแถลงข่าวออกมาว่าเลื่อนออกไปก่อน แต่ที่กองทัพเรือเลื่อนซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และลำที่ 3 ในปีนี้ ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีงบประมาณสำหรับเรือดำน้ำ 

ในปี 2565 ยังมีการตั้งงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับเรือดำน้ำ 10 กว่ารายการ  รวมงบประมาณ 3,760 ล้านบาท มีรายการที่ตั้งใหม่ด้วย คือโครงการสร้างระบบสื่อสารควบคุมบังคับบัญชาเรือดำน้ำ งบประมาณผูกพัน 3 ปี วงเงิน 300 ล้านบาท และในการจัดซื้อจัดจ้างยังมีข้อพิรุธอย่างมาก เช่น โครงการก่อสร้างท่าจอดเรือดำน้ำระยะ ที่ 1 พบว่าตั้งงบประมาณไว้ที่ 900 ล้านบาท แต่มีการประกาศจัดซื้อจัดจ้างแบบแล้วยกเลิกถึง 5 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรก ประกาศให้มีการจัดซื้อจัดจ้างแบบวิธีการคัดเลือก ในครั้งที่ 2 ให้เปลี่ยนเป็นวิธีแบบเฉพาะเจาะจง แล้วต่อมาก็ประกาศยกเลิก แล้วก็มาประกาศใหม่เป็นครั้งที่ 3 ให้จัดซื้อแบบเฉพาะเจาะจง  แล้วก็มีการยกเลิก ต่อมาก็มาประกาศใหม่เป็นครั้งที่ 4 ให้จัดซื้อแบบเฉพาะเจาะจง แล้วก็ได้มีการประกาศยกเลิกอีกครั้ง และพอมามาประกาศใหม่เป็นครั้งที่ 5 ให้จัดซื้อแบบเฉพาะเจาะจง ถึงได้ผู้ชนะ เป็นบริษัทจากประเทศจีน China Shipbuilding Offshore International Co.,Ltd. (CSOC) ซึ่งบริษัทนี้เป็นบริษัทเดียวกันกับผู้ขายเรือดำน้ำ และเมื่อดูเนื้องานแล้วเป็นงานโยธา งานทั่วไป เหตุใดจึงไม่เปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนไทย สามารถเข้าแข่งขัน เชื่อได้ว่าอาจกำหนดตั้งแต่ TOR ทำให้บริษัทไทยไม่สามารถเข้าหลักเกณฑ์

นอกจากโครงการนี้ ยังมีกรณีโครงการก่อสร้างโรงซ่อมเรือดำน้ำ วงเงินงบประมาณเกือบ 958 ล้านบาท ก็มีการประกาศและยกเลิกถึง 4 ครั้งด้วยกัน ถึงได้ผู้ชนะการประมูลแบบเฉพาะเจาะจง และมีโครงการอาคารพักข้าราชการกองเรือดำน้ำในพื้นที่กองเรือยุทธการ ที่ได้พูดไปแล้ววงเงินงบประมาณ 294 ล้านบาท ก็มีการประกาศและยกเลิกถึง 3 ครั้งด้วยกัน โดยใช้วิธีการประกาศเชิญชวน ในชั้นกรรมาธิการได้มีการถามถึงข้อพิรุธในกรณีที่กล่าวมาทั้งหมดเกี่ยวกับเรือดำน้ำ กองทัพเรือกลับเลี่ยงตอบถึงความไม่โปร่งใสนี้

พิจารณ์ ให้ความเห็นว่า การที่กองทัพเรือออกข่าวว่าจะเลื่อนการซื้อเรือดำน้ำออกไปเป็นการเบี่ยงความสนใจของสังคมให้ไปโฟกัสที่เรือดำน้ำ แล้วสอดไส้ผ่านงบประมาณอื่นได้ง่ายขึ้น เรายังเห็นมีตั้งซื้ออาวุธ มูลค่าสูงของกองทัพเพิ่มเติมในปีนี้ เช่น อากาศยานไร้คนขับ มูลค่าโครงการรวม 4,100 ล้านบาท ซึ่งเป็นการตั้งงบปี 65 จำนวน 820 ล้านบาท แล้วที่เหลือผูกพันงบประมาณไปอีก 4 ปี ผมจึงอยากถามว่าในภาวะที่ประชาชนกำลังยากลำบากจากวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ กองทัพกลับยังตั้งซื้ออาวุธเป็นปกตินั้นมีความเหมาะสมหรือไม่” 

“ผมคิดว่าถ้าประเทศมีเงิน เศรษฐกิจดี เก็บภาษีเข้าเป้า อยากซื้ออาวุธก็ว่ากันไป แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้รอไปก่อน เพราะซื้อแบบนี้ผูกพันไป 4 ปี คิดง่ายๆ ปีละพันล้าน มันใช่เรื่องไหมที่ต้องซื้อเวลานี้ ประชาชนป่วย เป็นหนี้เป็นสินตกงาน แต่กองทัพจะซื้อให้ได้”

“เวลาที่คุณเอาทหารมาบริหารประเทศ และนำเอาความมั่นคงทางการทหารมาเป็นอันดับแรก ก็จะคำนึงถึงความพร้อมในการป้องกันประเทศ ก็จะมีการจัดซื้ออาวุธ มีการตั้งโรงงานผลิตทุกอย่าง แบตเตอรี่ ยางรถยนต์ กระสุนปืน ผลิตสินค้าที่กองทัพคิดว่าเป็นยุทธภัณฑ์ทุกอย่างยันแป้งป้องกันสังคัง ซึ่งต้องกล่าวด้วยว่าสินค้าที่กองทัพผลิตเองมีราคาสูงกว่าการจัดซื้อจากภายนอกมาก”

“แต่ในทางกลับกันคุณไม่มีความพร้อมด้านสาธารณสุข คุณไม่มีเตียง ICU รองรับ คุณไม่มีเครื่องช่วยหายใจ ถ้าเปรียบเป็นสงคราม คุณแพ้สงครามแล้ว ประชาชนตายเป็นใบไม้ร่วงแล้ว เพราะฉะนั้นต้องหยุดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ได้แล้ว ผมขอเรียกร้องไปยังกรรมาธิการงบประมาณว่าต้องพิจารณางบประมาณให้ละเอียดมากขึ้น ถี่ถ้วนมากขึ้น เพื่อให้งบประมาณแผ่นดินทุกบาทกลับไปถึงประชาชนอย่างแท้จริง” พิจารณ์ กล่าว

'เพื่อไทย' แฉ ไม่ใช่แค่เรือดำน้ำ มีโครงการใหม่ ซื้อยานไร้คนขับ กว่า 4 พันล้าน

สำหรับอากาศยานไร้คนขับสอดคลองกับที่ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษก กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สั่งถอนการสั่งซื้อเรือดำน้ำ ว่า แม้ทางกองทัพเรือจะสั่งถอนการจัดซื้อเรือดำน้ำไปแล้ว แต่ก็ยังมีอีกโครงการ ที่ตนมีเอกสารลับมาเปิดเผย เป็นโครงการใหม่ ชื่อว่าโครงการอากาศยานไร้คนขับ ฐานบินชายฝั่ง วงเงินกว่า 4,100 ล้าน ทั้งนี้ ตนได้ตั้งข้อสังเกตถึงคุณภาพของเรือดำน้ำที่ซื้อมาจากประเทศจีน และเชื่อมโยงไปยังคุณภาพการผลิตวัคซีนของจีน ซึ่งขอยืนยันว่ากมธ.สัดส่วนพรรคฝ่ายค้าน ไม่เพียงแค่ตรวจสอบการของงบประมาณของกองทัพเรือเท่านั้น แต่จะพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบในงบประมาณของกองทับบกและกองทัพอากาศ

“งบประมาณของกระทรวงกลาโหมในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ยังไม่จำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบันควรที่จะตัดทิ้งออกไป ไม่ใช่แค่เพียงแค่ชะลอ และตนจะขอเอาชีวิตเข้าแลกในการตรวจสอบงบกองทัพต่อไป” ยุทธพงศ์ กล่าว

‘พิธา’ เผย กรมโยธาฯ ทุ่มสร้าง ‘เขื่อนกัดเซาะชายฝั่ง’ กิโลเมตรละ 100 ล้านบาท แลกปกป้อง ‘ถนนเลียบทะเล’ กิโลเมตรละ 8.4 ล้านบาท แถมแก้ปัญหาไม่ได้ 

วันนี้ (20 ก.ค.64)ที่อาคารรัฐสภา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตั้งคำถามต่อหน่วยงานรับงบประมาณ ‘กระทรวงมหาดไทย’ ในกรณีของ ‘กรมโยธาธิการและผังเมือง’ ถึงแนวคิดและความจำเป็นในโครงการด้านการสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งใช้งบประมาณเยอะมาก แต่นอกจากไม่ได้แก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนแล้ว ยังได้สร้างปัญหาใหม่ด้วย 

“ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมีอยู่จริง เพราะเวลาผมไปในพื้นที่ได้คุยกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ในการแก้ปัญหามีแนวคิดว่าการสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งเป็นการต่อสู้กับธรรมชาติ แต่ก็มีแนวคิดอื่นที่แย้งว่า การแก้ไขด้วยวิธีสร้างเขื่อนแบบนี้จะไปสร้างปัญหาในอีกมิติอื่นๆด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่า ตั้งแต่ยกเลิกการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)ในเดือนธันวาคม ปี 2556 งบประมาณด้านนี้ก็เพิ่มขึ้นในทุกปีอย่างมีนัยยะสำคัญขึ้นเป็น 500% ปี 57 ใช้งบประมาณ 170 ล้านบาท ถึงปีปัจจุบัน งบประมาณปี 65 ตั้งไว้สูงถึง 1,080 ล้านบาท สำหรับการสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง คำถามก็คือการสร้างเขื่อนแบบนี้เป็นการแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหากันแน่” พิธา กล่าว

หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวต่อไปว่า วิธีที่จะตอบปัญหาดังกล่าวได้ จำเป็นต้องยกตัวอย่างพื้นที่ที่มีโครงการสร้างเขื่อนฯ จริงมาเปิดเผยให้เห็น ได้แก่ พื้นที่ตำบลเพ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ซึ่งแบ่งเป็น 4 พื้นที่ 1.ชุมชนบ้านเพ ซึ่งเป็นชุมชนประมง ที่อยู่อาศัย ตลาดและท่าเรือ 2.หาดสวนสน ซึ่งเป็นหาดท่องเที่ยว 3.หาดสวนสน ซึ่งเป็นที่จอดเรือ และ 4.หาดดวงตะวัน ซึ่งเป็นรีสอร์ทและหาดท่องเที่ยว

“กรณีหาดดวงตะวันได้มีการจะสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพร้อมปรับภูมิทัศน์ความยาว 786 เมตร วงเงินงบประมาณรวม 78.6 ล้านบาท หมายความว่าได้ใช้งบประมาณสร้างเขื่อนคิดเป็นกิโลเมตรละ 100 ล้านบาท แต่มีข้อมูลอีกหนึ่งชุดที่เป็นงบประมาณสร้างถนนใหม่เลียบทะเลโดยกรมทางหลวงชนบทปี 2565 พบว่าใช้งบประมาณสร้างถนนกิโลเมตรละ 8.4 ล้านบาท ทั้งหมดนี้จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า เรากำลังขี่ช้างจับตั๊กแตนหรือไม่ คือสร้างเขื่อนกิโลเมตรละ 100 ล้านบาท เพื่อมาปกป้องถนนที่ใช้งบประมาณสร้างประมาณ 8.4 ล้านบาท” พิธา ระบุ

พิธา กล่าวต่อไปว่า ในกรณีของหาดดวงตะวันนั้น เนื่องจากมีการทำปากน้ำ เลยทำให้สมดุลของทรายและของน้ำเปลี่ยนไป ทำให้เกิดปัญหาทรายฝั่งหนึ่งมีจำนวนเยอะ ทรายอีกฝั่งหนึ่งน้อย วิธีการแก้ของกรมโยธาฯคือการถมหิน และเมื่อถมหินก็เกิดการกัดเซาะ จึงต้องตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดยิ่งแก้แต่ปัญหากลับยิ่งเพิ่ม แทนที่จะแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เหตุใดจึงไปแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุของปลายเหตุ ด้วยการไปสร้างเขื่อนป้องกัน เพราะถ้าหากแก้ที่ต้นเหตุ คงต้องไปแก้โดยการย้ายทรายจากฝั่งที่เกินมาถมฝั่งที่ขาด เนื่องจากระหว่างทรายและหินมีความสามารถในการดูดซับคลื่นทะเลไม่เท่ากัน ดังนั้นอาจจะไม่ต้องถมหินตั้งแต่แรกหากมีการย้ายทราย และหากไม่ถมหินก็จะไม่นำไปสู่การกัดเซาะชายฝั่งและกัดเซาะถนน และไม่ต้องสร้างเขื่อนมาปกป้องถนน 

“หาดดวงตะวันเกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรงชัดเจนหลังการสร้างกองหิน หรือแม้กระทั่งในกรณีของพื้นที่ชุมชนบ้านเพ มีการสร้างเขื่อนกั้นทะเลตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งเมื่อเอาของแข็งไปใส่กลางทะเลก็นำไปสู่ปัญหาที่ตามมา ไม่ว่าความเร็วของคลื่น ความลึกของทะเลที่เปลี่ยนไป การเข้าออกของน้ำทะเลก็เปลี่ยนไป ทำให้น้ำอ้อมและพัดขยะไปบริเวณชุมชนบ้านเพ ตรงนั้นเลยกลายเป็นพื้นที่น้ำเน่าเสียตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แล้วก็ไม่มีการคิดรอบด้านพอ เอางบประมาณไปจัดการให้กับพี่น้องประชาชน การนำเขื่อนไปกั้นทะเล เป็นการใช้วิธีโครงสร้างแข็ง ที่อาจจะช่วยคนกลุ่มหนึ่งคือป้องกันท่าเรือได้ แต่ไปสร้างปัญหาเพิ่มให้กับประชาชน ประมงพื้นบ้าน ทำให้มีปัญหาเรื่องสิทธิชุมชน เรื่องของสิทธิประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันได้รับผลกระทบมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน”

พิธา ยังได้กล่าวกับหน่วยงานว่า ประการแรก ขอให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ทบทวนโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล ปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งทะเล หมู่ที่ 3 หาดดวงตะวัน ตำบลแกลง อำเภอเมืองระยอง ที่เป็นงบผูกพันปี 64 แต่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง ซึ่งโครงการนี้เห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นชัดเจน 

ประการที่สองเป็นกลุ่มโครงการที่จะขอให้ทางกรมโยธาฯชะลอไปก่อน เนื่องจากเป็นการตั้งงบประมาณก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เช่น โครงการฟื้นฟูบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบ้านผาแดง หาดทรายรี-ชุมพร งบประมาณทั้งโครงการ 42.7 ล้านบาท โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งพื้นที่ชายฝั่งทะเลชุมชนบางกะไชย แหลมสิงห์-จันทบุรี งบประมาณทั้งโครงการ 88 ล้านบาท โครงการฟื้นฟูบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลหาดดงตาล สัตหีบ-ชลบุรี งบประมาณทั้งโครงการ 48 ล้านบาท 

ประการที่สาม ขอรายละเอียดเอกสารเพิ่มเติมในโครงการเขื่อนกัดเซาะชายฝั่งที่ผูกพันใหม่ในงบปี 65 ทั้ง 6 โครงการ และโครงการเขื่อนกัดเซาะชายฝั่งที่ภาระผูกพัน 41 โครงการ โดยเหตุผลที่ต้องขอรายละเอียดและต้องการให้ทางหน่วยงานชี้แจงเพิ่มเติมเพราะต้องการเห็นว่า ในเอกสารมีการแยกแยะแต่ละพื้นที่แต่ละโครงการหรือไม่ว่า เป็นการกัดเซาะ ‘แบบชั่วคราว’ หรือเป็นการกัดเซาะ ‘แบบชั่วโครต’ เพราะการกัดเซาะแบบชั่วคราว เป็นการกัดเซาะในบางฤดูกาลเท่านั้น แต่การกัดเซาะแบบชั่วโคตรอาจเกิดจากปัจจัยด้านโลกร้อน หรือเหตุปัจจัยอื่นๆที่จะก่อให้เกิดการกัดเซาะถาวร หากแยกแยะว่าเป็นการกัดเซาะแบบไหนก็จะสามารถแก้ไขได้อย่างตรงจุด เพราะวิธีการที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาจะแตกต่างกันออกไป

‘ศิริกัญญา’ สับต่อ เน้น ‘โครงสร้างแข็ง’ เพราะงบสูงแต่ไม่อิงข้อมูลวิชาการ ถามอีก ส่อขวางทางน้ำ ขออนุญาตกรมเจ้าท่าแล้วหรือยัง

ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานกรรมาธิการ กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นเดียวกันว่า กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่งมีงานศึกษาถึงความรุนแรงการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งเป็นการศึกษาย้อนหลัง 50 ปี ทำให้ทราบว่าพื้นที่ใดมีการกัดเซาะระดับวิกฤต พื้นที่ใดกัดเซาะระดับรุนแรง พื้นที่ใดเป็นการกัดเซาะระดับปานกลาง ซึ่งจะทำให้ทราบว่าพื้นที่ใดเหมาะสม-ไม่เหมาะสมในการสร้างโครงสร้างแข็งป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง

“ปีนี้เสนอมาเพิ่ม 6 โครงการที่เป็นโครงการใหม่ ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่จำเป็นต้องใช้โครงสร้างแข็งในการป้องกันคลื่น แต่สามารถใช้โครงสร้างอ่อนอื่นๆแก้ปัญหาได้ เช่น ถมทราย ปักไม้ไผ่ที่สามารถรื้อถอนง่าย และไม่สร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยโครงการดังกล่าวมีทั้งที่ ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา จ. นครศรีธรรมราช, ปากแตระ อ.ระโนด จ. สงขลา, หาดดงตาล อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี, บางกระไชย อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี”

นอกจากนี้ ศิริกัญญา ยังตั้งคำถามถึงความซ้ำซ้อนในหน้าที่ระหว่างกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม และกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ในการสร้างโครงสร้างเขื่อนแข็ง โดยปีที่แล้ว มี 12 เขื่อนที่ตั้งงบในปี 64 และยังไม่ได้เบิกจ่ายเลยแม้แต่เพียงบาทเดียว ซึ่งจะพิจารณาลดงบประมาณปี 65 เพื่อชดเชยของปี 64 ที่ทำไม่เสร็จต่อไป

สำหรับปีนี้มีการสร้างเขื่อนริมตลิ่งมีทั้งสิ้น 199 โครงการ มูลค่ารวม 12,000 ล้านบาท เบิกจ่ายในปี 65 จำนวน 2,350 ล้านบาท ขณะที่ปี 64 มีการจัดทำ 180 เขื่อน มีมูลค่าค่อนข้างมาก แต่ละโครงการมีขนาดเล็ก ความยาวไม่เกิน 500 เมตรเท่านั้น แต่มีจำนวนมากและใช้งบประมาณสูง จึงอยากตั้งคำถามว่าการก่อสร้างเหล่านี้ได้คุยคณะกรรมการน้ำและขออนุญาติกรมเจ้าท่าหรือไม่ เพราะสิ่งปลูกสร้างเหล่ามีผลกระทบกับการขวางเส้นทางน้ำได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net