Skip to main content
sharethis

จนท.ทหารพม่าโทรไปหลอกแพทย์อาสาว่าตนเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนที่จะล่อให้มาหาที่บ้าน และจับกุม ซึ่งมีรายงานว่ามีแพทย์ถูกจับ 3 ราย ก่อนที่ทหารจะบุกไปที่ทำการของแพทย์อาสาที่เขตดะโก่งเหนือ ในนครย่างกุ้ง และจับกุมแพทย์เพิ่มอีก 2 ราย รวมเป็น 5 ราย ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนทำไมถึงโดนจับ แต่คาดเป็นเพราะว่าแพทย์เหล่านี้เข้าร่วม CDM และปฏิเสธทำงานให้ทหารพม่า 

ภาพไม่เกี่ยวกับเนื้อหา โดยเป็นภาพบุคลากรทางการแพทย์ที่เมืองท่าขี้เหล็ก ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 64 (ที่มา Tachilek News Agency)

20 ก.ค. 64 สำนักข่าวอิระวดี และ Myanmar Now รายงานตรงกันวันนี้ (20 ก.ค.) ระบุ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 64 เจ้าหน้าที่ทหารพม่าแสร้งเป็นผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อล่อให้แพทย์อาสามาหาที่บ้าน และทำการจับกุม โดยผู้ถูกจับกุมเป็นแพทย์อาสา 3 ราย ก่อนที่เจ้าหน้าที่รัฐจะบุกไปที่สำนักงานที่แพทย์อาสาทำงานที่เทศบาลดะโก่งเหนือ นครย่างกุ้ง และจับกุมอีก 2 ราย รวมทั้งหมด 5 ราย โดยเป็นนายแพทย์ 3 ราย และแพทย์หญิง 2 ราย  

แพทย์อาสาที่ถูกจับ ภายหลังทราบว่าทำงานให้กลุ่มแพทย์ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 นามว่า “Covid-19 Prevention and People’s Benefit Group” ซึ่งตั้งอยู่ในเขตดะโก่งเหนือ นครย่างกุ้ง 

โกชันเล หัวหน้ากลุ่ม "Covid-19 Prevention and People’s Benefit Group" ให้สัมภาษณ์กับ Myanmar Now ต่อกรณีข้างต้น ระบุว่า เวลาประมาณ 10.00 น. มีสายโทรศัพท์โทร.เข้ามาที่สำนักงาน ระบุว่ามีผู้ป่วยโควิด-19 อาการหนักอาศัยอยู่เขตโอ๊กกะหล่าปะใต้ ในนครย่างกุ้ง ต้องการความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขโดยด่วน เมื่อได้ยินดังนั้น ทางกลุ่มให้คนขับรถพยาบาล พร้อมด้วยแพทย์อีก 3 คน มุ่งตรงไปยังบ้านของผู้ป่วยรายนั้น แต่เมื่อไปถึงแล้ว กลายเป็นว่าไม่เจอผู้ป่วยโควิด-19 แต่เจอเจ้าหน้าที่ทหารพม่า และจากนั้น แพทย์อาสาทั้ง 3 ราย ถูกจับกุมที่บ้านหลังนั้น     

"ตอนที่ไปถึง แพทย์ต้องขึ้นไปที่ชั้น 2 ของบ้าน"

"คนขับรออยู่ในรถพยาบาล เมื่อแพทย์ขึ้นไปถึงชั้น 2 ประตูทั้งหมดถูกปิดลง ไม่มีผู้ป่วยโควิด-19 มีแต่เจ้าหน้าที่รัฐ" หัวหน้ากลุ่ม ระบุ 

คนขับรถที่รออยู่ในรถพยาบาลเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงรายงานสถานการณ์มาที่สำนักงานของกลุ่มที่ตั้งอยู่ในเขตดะโก่งเหนือ ทำให้แพทย์อาสาที่เหลือสามารถไหวตัวทัน หลบหนีก่อนที่จะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบุกมายังสำนักงาน 

อย่างไรก็ตาม โกชันเล ระบุว่า มีแพทย์อาสา 2 รายกำลังให้คำปรึกษากับผู้ป่วยผ่านช่องทางออนไลน์ในสำนักงาน ทำให้หนีไม่ทัน เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐบุกเข้ามา

มีรายงานเพิ่มว่า ระหว่างที่เจ้าหน้าที่บุกค้นสำนักงาน ได้ทำการยึดถังออกซิเจน ขนาด 40 ลิตร จำนวน 20 ถัง และถังออกซิเจน ขนาด 15 ลิตร จำนวน 12 ถัง ยาและชุดป้องกันเชื้อโรคมูลค่า 3.2 จ๊าด หรือคิดเป็น 1,950 ดอลลาร์สหรัฐ

เบื้องต้น ยังไม่ทราบว่าแพทย์อาสาที่ถูกจับกุมทั้งหมดถูกพาตัวไปที่ไหน ทั้งนี้ นับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา แพทย์ที่เข้าร่วมการขบวนการอารยขัดขืน หรือเรียกชื่อเล่นว่า CDM นั้น จะปฏิเสธทำงานให้โรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของทหารพม่าอีกที แต่พวกเขาจะมาทำงานร่วมกับศูนย์การแพทย์ชุมชน หรือกับองค์กรเพื่อสังคม เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยแทน และเป็นทางเลือกให้ผู้ประท้วงที่ไม่อยากไปใช้บริการของโรงพยาบาลรัฐมาเข้ารับการรักษาที่นี่ได้ด้วย ซึ่งอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทหารพุ่งเป้าจับกุมไปที่แพทย์อาสาที่ทำงานตามแหล่งชุมชนเหล่านี้  

เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา กลุ่ม Covid-19 and People’s Benefit Group ร่างแผนช่วยเพื่อจัดเตรียมความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชน และในเดือน ก.ค. 64 พวกเขาโพสต์เบอร์ติดต่อในบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อให้ผู้ป่วยโควิด-19 สามารถติดต่อมาขอความช่วยเหลือได้ 

"ผมคิดว่าทหารพม่าน่าจะได้ข้อมูลมาจากกลุ่มเฟซบุ๊กของเทศบาล เราไม่ได้ประกาศในกลุ่มสาธารณะเลย เราประกาศข้อมูลเฉพาะในกลุ่มของเขตเทศบาลหลายๆ แห่ง เช่น โอ๊กกะหล่าปะใต้ หรือดะโก่งเหนือ" โกชันเล ระบุ

ทั้งนี้ สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพม่าไม่ค่อยสู้ดีนัก อรรวี แตงมีแสง อดีตผู้สื่อข่าวอาเซียน และเจ้าของเพจ Natty in Myanmar โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อ 19 ก.ค. 64 อ้างข้อมูลจากทางการพม่าเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 64 ระบุ มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ เพิ่มจำนวน 5,189 ราย จากจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 234,710 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 281 ราย (ยอดผู้เสียชีวิตสะสม คือ 5,218 ราย) 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากทหารพม่ามีอาจน้อยกว่าความเป็นจริง เมื่อองค์กรการกุศล ซึ่งทำงานในนครย่างกุ้งมา 3 ปีแล้ว ออกมาเปิดเผยข้อมูลศพที่ถูกส่งเข้ามาประกอบพิธีเผาศพที่สุสานว่า อาจมีจำนวนมากถึงประมาณ 600 รายต่อวันเลยทีเดียว ซึ่งจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นสูงมากเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตถูกส่งไปที่สุสาน เฉลี่ย 100 ศพต่อวันเท่านั้น  

อาสาสมัครสังคมสงเคราะห์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ระบุว่า เนื่องด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่ย่ำแย่ ทำให้โรงพยาบาลรัฐไม่สามารถอำนวยความช่วยเหลือทางการแพทย์ให้กับประชาชนได้อย่างเพียงพอ ซึ่งกลุ่มแพทย์ชุมนุมเหล่านี้คือผู้ที่กำลังช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ที่ตกหล่นจากสาธารณสุขของรัฐ 

"โรงพยาบาลรัฐ ไม่ได้เตรียมการให้บริการทางด้านสาธารณสุขได้อย่างเพียงพอเลย ดังนั้น เราจึงพยายามช่วยเหลือให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เราช่วยเหลือด้านสาธารณสุขให้กับสาธารณชน ถ้าเรารอการให้บริการทางการแพทย์จากทางการพม่าอย่างเดียว เราก็จะเห็นคนตายมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น" โกชันเล ระบุ 

มากกว่านั้น ข่าวรายงานจับกุมแพทย์อาสาทำให้สาธารณชนโกรธอย่างมาก พร้อมแสดงความกังวลต่อท่าทีของรัฐที่เข้าจับกุมแพทย์อาสา แทนที่จะร่วมกันทำงาน อาจทำให้การควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ในพม่าเลวร้ายลงไปอีก   

หลังจากมีข่าวที่ทหารพม่าหลอกแพทย์อาสาไปจับกุมที่บ้าน ทำให้แพทย์อาสารายอื่น และกลุ่มสังคมสงเคราะห์ โพสต์ข้อความ ของดบริการเยี่ยมผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้านเป็นการชั่วคราว ขณะที่ยังไม่มีรายงานจากเจ้าหน้าที่รัฐว่าทำไมต้องจับกุมแพทย์อาสา  

 

แปลและเรียบเรียง

Junta lures, arrests community doctors by posing as Covid-19 patients

Myanmar Junta Arrests Doctors After Luring Them With Fake COVID ‘Emergency’

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net