Skip to main content
sharethis

เปโดร คาสติลโล ได้รับชัยชนะอย่างเป็นทางการในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเปรูล่าสุด หลังจากที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการนับคะแนนที่ฝ่ายเคย์โกะ ฟูจิโมริ ฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาและขอให้ยกเลิกผลคะแนนในพื้นที่คนจน แต่ผลการเลือกตั้งล่าสุดคาสติลโลก็ยังเป็นฝ่ายชนะ ทำให้เขาเป็นคนรากหญ้าคนแรกที่ได้เป็นผู้นำเปรู แต่ก็มีนักวิเคราะห์กังวลว่ากลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองที่ฝังรากอยู่ในเปรูจะหาวิธีเล่นงานขวัญใจคนจนอย่างคาสติลโลหรือไม่

หลังจากการนับคะแนนผลการเลือกตั้งที่กินเวลายาวนานที่สุดในรอบ 40 ปีของเปรู ผู้แทนที่เป็นอดีตครูชนบทและได้รับการสนับสนุนจากคนจนคนรากหญ้าในท้องถิ่นชนบทอย่าง เปโดร คาสติลโล ก็ได้รับการประกาศให้เป็นผู้ชนะในการเลือกตั้ง โค่นล้มพรรคฝ่ายขวาที่ครองตำแหน่งมายาวนานในเปรูลงได้

หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ผ่านมามากกว่า 1 เดือนแล้ว เจ้าหน้าที่ด้านการเลือกตั้งของเปรูเพิ่งจะประกาศผลคะแนนการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยที่ผลอย่างเป็นทางการระบุว่าคาสติลโล เอาชนะนักการเมืองฝ่ายขวา เคย์โกะ ฟูจิโมริ ด้วยคะแนนเสียง 44,000 เสียงเท่านั้น

คาสติลโลเป็นผู้แทนที่มีภาพลักษณ์ถือดินสอที่ใหญ่เท่าไม้เท้าเป็นสัญลักษณ์ของพรรคเปรูลิเบร (พรรคเปรูเสรี) เขาทำให้วลีคำขวัญ "ไม่ควรมีคนจนในประเทศร่ำรวยอีกต่อไป" กลายเป็นวลีดัง

เศรษฐกิจของเปรูที่เป็นแหล่งผลิตแร่ดีบุกที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโรคระบาด โควิด-19 เช่นกัน ทำให้มีประชาชนยากจนเพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวน 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด นอกจากนี้ความขาดแคลนทางด้านสาธารณสุขก็ทำให้เปรูรับมือกับโรคระบาดได้แย่ จากสถิติในเว็บองค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2564ระบุว่าเปรูมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงมากอยู่ที่ประมาณ 195,000 ราย และมีกรณีผู้ติดเชื้อมากกว่า 2 ล้านราย

คาสติลโลหาเสียงด้วยการให้สัญญาว่าจะใช้รายได้จากภาคส่วนการทำเหมืองแร่มาพัฒนาบริการสาธารณะให้ดีขึ้นรวมถึงในด้านการศึกษาและด้านสาธารณสุขด้วยจากวิกฤตโรคระบาดทำให้เห็นว่าสองภาคส่วนนี้ยังขาดแคลน นอกจากนี้คาสติลโลยังเคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อต่างประเทศเกี่ยวกับความช่วยเหลือด้านการคมนาคมส่วนบุคคลว่า "ผู้ที่ไม่มีรถอย่างน้อยก็ควรจะมีจักรยานสักหนึ่งคัน"

มีการตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงใกล้การเลือกตั้งครั้งตัดสิน คาสติลโลก็เริ่มพูดเบาลงเกี่ยวกับข้อเสนอการทำให้กิจการเหมืองแร่และก๊าซธรรมชาติจากบรรษัทนานาชาติกลายมาเป็นของรัฐ แต่เน้นพูดเรื่องการขึ้นภาษีกำไรจากกิจการเหล่านี้หลังจากที่ราคาดีบุกเพิ่มสูงขึ้นเป็นประมาณ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน (ราว 330,000 บาท)

นักประวัติศาสตร์ เซซิเลีย เมนเดซ ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียซานตาบาร์บาราระบุว่าคาสติลโลถือเป็นคนชนชั้นรากหญ้าคนแรกของเปรูที่ได้เป็นประธานาธิบดี ก่อนหน้านี้ผู้นำมักจะเป็นคนที่มาจากชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ กลุ่มวิชาชีพหรือทหาร จนถึงตอนนี้กลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิมในเปรูมักจะต้องเผชิญปัญหาการขาดแคลนบริการสาธารณะที่ดีถึงแม้ว่าเปรูจะเป็นดาวรุ่งในทางเศรษฐกิจของละตินอเมริกาในช่วงราว 20 ปีที่ผ่านมา

มีชาวเปรูหลายร้อยคนจากพื้นที่ต่างๆ มาร่วมปักหลักชุมนุมที่หน้าศาลการเลือกตั้งของเปรูที่กรุงลิมาเป็นเวลามากกว่า 1 เดือนแล้วเพื่อรอการประกาศผลการเลือกตั้ง มีบางส่วนที่ไม่ได้เป็นพวกเดียวกับพรรคการเมืองของคาสติลโลแต่ก็เห็นด้วยกับที่นักวิชาการพูด เช่น มารูจา อินควิลา นักสิ่งแวดล้อมที่มาจากเมืองใกล้กับทะเลสาบติติกากา ทะเลสาบที่มีความสำคัญทางตำนานต่อชาวอินคากล่าวว่า "คาสติลโลจะไม่เหมือนกับนักการเมืองคนอื่นๆ ที่ไม่ทำตามสัญญาและไม่ยอมปกป้องคนจน"

เมื่อเทียบคาสติลโลกับคู่แข่งคือฟูจิโมริ เคย์โกะแล้ว เธอทั้งเป็นอดีตสมาชิกรัฐสภา อีกทั้งยังเป็นคนที่ได้รับการสนับสนุนจากนักธุรกิจระดับชนชั้นนำด้วย ยิ่งไปกว่านั้นเธอยังเป็นลูกสาวของอดีตประธานาธิบดีจอมเผด็จการของเปรู อัลแบร์โต ฟูจิโมริ ซึ่งขณะนี้ยังถูกคุมขังจากคดีสังหารหมู่ประชาชนในสมัยที่เขายังเป็นประธานธิบดีช่วงทศวรรษ 1990

นอกจากนั้น เคโกะเองก็ยังมีคดีที่อยู่ระหว่างพิจารณาจากการถูกกล่าวหาว่ามีการคอร์รัปชันรับเงินจากบริษัทก่อสร้างสัญชาติบราซิลจำนวน 1.2 ล้านดอลลาร์เพื่อใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2554 และปี 2559 และข้อหาฟอกเงินด้วย ซึ่งเมื่อเดือนที่ผ่านมาอัยการในคดีขอให้ศาลถอนประกันเนื่องจากเห็นว่าเธอไปเจอกับพยานในคดีซึ่งเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขประกันตัวแต่ศาลยกคำร้องเนื่องจากเห็นว่าไม่มีมูล

การที่คาสติลโลกกลายเป็นดาวรุ่งทางการเมืองในเปรูจากคนที่ไม่เป็นที่รู้จักเลยนั้น มีผู้คนในเปรูก็มีความเห็นต่อคาสติลโลต่างกันออกไป สำหรับนักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม มาริโอ บาร์กัส โยซา ผู้มีผลงานแปลเป็นภาษาไทยชื่อเรื่อง "ยัญพิธีเชือดแพะ" กล่าวว่าคาสติลโล "แสดงให้เห็นถึงประชาธิปไตยและเสรีภาพในเปรูที่เคยขาดหายไป" ขณะที่ทหารเกษียณอายุแล้วกลับส่งจดหมายให้ผู้นำกองทัพเปรูว่าอย่าเคารพต่อผลการเลือกตั้งที่คาสติลโลได้รับชัยชนะ

ก่อนหน้านี้มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการนับคะแนนหลังการเลือกตั้งเปรูมาก่อน โดยที่ฟูจิโมริเคยกล่าวหาว่าคาสติลโลโกงการเลือกตั้งทั้งที่ไม่มีหลักฐานใดๆ ยืนยันในเรื่องนี้ รวมถึงขอให้มีการยกเลิกคะแนนเสียงหลายพันเสียงจากชุมชนที่ส่วนมากเป็นชนพื้นเมืองและคนยากจน ข้อพิพาทที่มาจากฟูจิโมริทำให้การนับคะแนนในเปรูเกิดความช้าไปเป็นเดือน แต่อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมาฟูจิโมริก็บอกว่าเธอจะยอมรับในชัยชนะของคาสติลโล

สตีเวน เลวิตสกี นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเมืองละตินอเมริกากล่าวว่าถึงแม้คาสติลโลจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งแต่ตำแหน่งแห่งที่ของเขาในทางการเมืองอยู่ในตำแหน่งที่เสี่ยงมากเพราะ "มีกลุ่มอำนาจทางการเมืองในเปรูแทบทั้งหมดที่ต่อต้านเขา" ซึ่งถ้าหากคาสติลโลพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ออกมาในสมัยของ อัลแบร์โต ฟูจิโมริ ปี 2536 โดยไม่ได้แสวงหาฉันทามติ ไม่มีพันธมิตรในใจกลางเกมการเมือง มันจะกลายเป็นเรื่องอันตรายจนอาจถูกอ้างความชอบธรรมในการก่อรัฐประหารต่อเขาได้

คาสติลโลไม่เคยมีประวัติทำงานในตำแหน่งทางการเมืองมาก่อน ที่ผ่านมาเขาทำงานเป็นครูสอนโรงเรียนประถมมากว่า 25 ปีในพื้นที่ชนบท เขาขึ้นปราศรัยด้วยรองเท้าแตะทำจากยางและหมวกปีกกว้างซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายของเกษตรกรในชุมชนของเขาที่เด็กกว่าร้อยละ 40 ประสบปัญหาขาดแคลนสารอาหาร ไม่ได้รับอาหารที่ดีเพียงพอ

ลิเลีย ปาเรเดส ภรรยาของคาสติลโลที่ทำงานเป็นครูเช่นกันเล่าว่าคาสติลโลมีวัยเด็กที่ยากแค้น เขาต้องเดินระยะทางไกลด้วยรองเท้าแตะเพื่อที่จะมาโรงเรียน เขาเข้าชั้นเรียนพร้อมกับแบกถุงผ้าขนสัตว์ที่มีสมุดบันทึกและอาหารกลางวันในนั้นซึ่งมักจะเป็นมันหวานหรือไม่ก็แป้งนึ่งสอดไส้ห่อใบตองที่เรียกว่าทามาเลสซึ่งพอผ่านไปหลายชั่วโมงก็จะเย็นแล้ว

คาสติลโลเคยเล่าว่าชีวิตของเขามาจากการทำงานสมัยเด็กกับพี่น้องอีก 8 คน และจำได้ว่าพ่อแม่ที่ไม่ได้รับการศึกษาของเขาถูกปฏิบัติจากเลวร้ายเพียงใดจากผู้ให้เช่าที่ดินทำการเกษตร เขาร้องไห้เมื่อนึกถึงเรื่องที่เจ้าของที่ดินจะยึดเอาพืชผลที่ดีที่สุดไปถ้าหากพวกเขาไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า "คุณคอยมองสิ่งที่คุณเก็บเกี่ยวมาถูกช่วงชิงไป ในขณะที่คุณกุมท้องของคุณไว้ด้วยความหิวโหย คุณจะไม่ลืมสิ่งนั้นเลย คุณจะไม่สามารถให้อภัยมันได้ด้วย"

ในปี 2560 คาสติลโลเคยนำการหยุดงานประท้วงของกลุ่มครูในเปรูเพื่อเรียกร้องค่าแรงที่ดีขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีความคืบหน้ามากนักแต่เขาก็ได้นั่งโต๊ะเจรจากับ คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติ และข้าราชการระดับสูงในตอนนั้น

France 24 ระบุว่า ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมาชาวเปรูมีอดีตประธานาธิบดีที่มีประสบการณ์ทางการเมืองและมีปริญญาจากมหาวิทยาลัยแต่ก็ไม่มีใครที่แก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันได้เลย มีกรณีการทุจริตและการจับกุมคนระดับผู้นำในเรื่องนี้เกิดขึ้นในเปรูมาโดยตลอด
 

เรียบเรียงจาก

Wielding a giant pencil, rural teacher Pedro Castillo declared Peru's new president, France 24, 20-07-2021

Court rejects call to return Keiko Fujimori to jail for graft

สถิติ COVID-19 เปรู วันที่ 20 ก.ค. 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net