องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเผยสวัสดิภาพ 'ไก่ฟาร์ม' ของฟาสต์ฟู้ดแบรนด์ดังในไทย 'แย่มาก' สวนทางอันดับโลก

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) เปิดเผยผลการประเมินด้านการดูแลสวัสดิภาพไก่ของบริษัทฟาสต์ฟู้ดชั้นนำระดับโลก อาทิ KFC, McDonald’s และ Burger King

21 ก.ค. 2564 รายงาน The pecking order 2021 เผยผลจัดลำดับการดำเนินงานด้านสวัสดิภาพไก่ของบริษัทฟาสต์ฟู้ดทั่วโลก รวมถึงนโยบายที่ใส่ใจในการเร่งปรับปรุงสวัสดิภาพสัตว์พร้อมเปิดเผยข้อมูลขั้นตอนการเลือกสรรซัพพลายเออร์รวมถึงขบวนการผลิตอาหาร โดยในปีนี้ รายงานพบการดำเนินงานด้านสวัสดิภาพสัตว์ของบริษัทฟาสต์ฟู้ดชั้นนำหลายแห่งยังคงต่ำกว่ามาตรฐาน และอยู่ในเกณฑ์น่ากังวล แม้มีข้อสันนิษฐานว่า ต้นตอของโควิด-19 อาจมาจากการติดเชื้อจากสัตว์สู่คนที่สะท้อนเชื่อมโยงอย่างชัดเจนระหว่างเศรษฐกิจโลก ความเป็นอยู่ของสัตว์ และสุขภาพมนุษย์

เนื้อไก่ที่ถูกนำมาผลิตเป็นอาหารและเสิร์ฟในร้านฟาสต์ฟู้ดชื่อดัง ล้วนแล้วแต่มาจากฟาร์มไก่เชิงอุตสาหกรรมที่ยังคงเลี้ยงไก่ในพื้นที่คับแคบ ภายใต้สภาพแวดล้อมย่ำแย่ เช่น ขาดแสงจากธรรมชาติ โดยไก่เนื้อจำนวนมากต้องทุกข์ทรมานจากอาการขาพิการ หรือโรคอุ้งเท้าอักเสบ ฟาร์มระดับอุตสาหกรรมแบบเข้มข้นในปัจจุบัน มักใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นในการเลี้ยงดูไก่เนื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่นำไปสู่การเกิดเชื้อดื้อยา หรือ “วิกฤตซูเปอร์บั๊กส์” ที่คร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 700,000 รายต่อปี และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงอีกในอนาคตอันใกล้ แต่ไม่ใช่แค่ไก่เนื้อในฟาร์มอุตสาหกรรมเท่านั้นที่ต้องทุกข์ทรมาน แต่สุขภาพของมนุษย์ก็กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงเช่นเดียวกัน  การเพิกเฉยต่อการพัฒนามาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ของบริษัทฟาสต์ฟู้ดชั้นนำระดับโลก ถือเป็นเรื่องน่าตกใจ เนื่องจากผู้บริโภคต้องซื้อเนื้อไก่จากร้านอาหารที่ยังคงปล่อยให้ไก่จำนวนมากต้องถูกเลี้ยงในระบบที่โหดร้ายทารุณโดยไม่จำเป็น

 

รายงาน The pecking order ประเมินบริษัทฟาสต์ฟู้ดจากข้อมูลสาธารณะของแต่ละบริษัทใน 3 ด้านหลัก ได้แก่

  1. การบริหารจัดการและนโยบาย (ความร่วมมือจากภาคธุรกิจ) – นโยบายระบุความสำคัญของหลักสวัสดิภาพไก่ต่อการดำเนินธุรกิจ
  2. ความพยายาม (วัตถุประสงค์กับเป้าหมาย) – กำหนดกรอบเวลาการทำงานเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และคำมั่นสัญญาในการพัฒนาสวัสดิภาพไก่ที่บริษัทได้ให้ไว้
  3. ความโปร่งใส (การรายงานผลการดำเนินงาน) – จัดทำรายงานผลการดำเนินงาน และแนวทางการทำงานด้านสวัสดิภาพไก่ที่ชัดเจน

ในปีนี้ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้จัดทำการประเมินของบริษัทฟาสต์ฟู้ดในทั้งหมด 14 ประเทศเป็นครั้งแรก เพื่อสะท้อนความพยายามของแต่ละบริษัทในการยกระดับสวัสดิภาพไก่ที่แท้จริงในแต่ละพื้นที่ที่มีการดำเนินธุรกิจ บริษัทฟาสต์ฟู้ดที่ได้รับการประเมิน ได้แก่ Burger King, Domino’s, KFC, McDonald’s, Nando’s, Pizza Hut, Starbucks และ Subway โดยรายงาน The pecking order 2021 พบว่า

การพัฒนาด้านสวัสดิภาพสัตว์ของประเทศแถบยุโรปรุดหน้า

  • KFC เป็นเพียงบริษัทเดียวที่ถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 3 (Tier 3) หรือ ‘กำลังดำเนินงาน’ เนื่องจากพบความพยายามในการยกระดับคุณภาพชีวิตไก่ในฟาร์มที่สอดคล้องกับข้อกำหนดของ Better Chicken Commitment ของตลาดยุโรปทั้งหมด 7 แห่ง[i] อีกทั้งยังมีการจัดทำรายงานการดำเนินงานด้านสวัสดิภาพสัตว์ของสาขาในทวีปยุโรปตะวันตก นอกจากนั้น KFC ยังเป็นเพียงบริษัทเดียวที่ไต่ขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ 1 (Tier 1) หรือ ‘เป็นผู้นำ’ ในหลายประเทศ (เช่น เดนมาร์ก, เนเธอร์แลนด์, สวีเดน และสหราชอาณาจักร)
  • สาขาของ Burger King, Nando’s และ Pizza Hut ในสหราชอาณาจักรพบว่า ยังปฏิบัติตามข้อกำหนดของ Better Chicken Commitment ตั้งแต่การประเมินปีที่แล้ว ในขณะที่บางบริษัทย่อยในแต่ละประเทศของ Domino’s ประกาศร่วมลงนามใน Better Chicken Commitment แล้ว อาทิ Domino’s (Domino’s Pizza Enterprises) ในประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก เบลเยี่ยม และลักเซมเบิร์ก

การจัดการด้านสวัสดิภาพไก่ยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า

  • บริษัทหลายร้อยแห่งร่วมลงนามใน Better Chicken Commitment ในอย่างน้อยหนึ่งประเทศ ซึ่งการร่วมลงนามดังกล่าว มาจากสาขาในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปเป็นส่วนใหญ่ โดยมีอีกหนึ่งสาขาจากประเทศออสเตรเลีย ในขณะที่สาขาในทวีปลาตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชีย ต่างยังไม่ประกาศร่วมลงนาม
  • แม้ว่า McDonald’s จะสามารถขยับขึ้นมาจากลำดับ ‘แย่’ มาอยู่ที่ ‘เริ่มลงมือ’ แต่ยังไม่มีสาขาไหนของ McDonald’s มีท่าทีประกาศร่วมลงนามใน Better Chicken Commitment ซึ่งแตกต่างจากบริษัทคู่แข่งอื่น

รายละเอียดเกี่ยวกับสัดส่วนของไก่เนื้อที่ได้รับการเลี้ยงดูในระบบที่มีการจัดการด้านสวัสดิภาพสัตว์ยังมีอยู่อย่างจำกัด

  • บริษัทที่ร่วมลงนามใน Better Chicken Commitment ในทวีปอเมริกาเหนืออย่าง Burger King (สาขาในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา) รวมถึง Starbucks และ Subway (สาขาในสหรัฐอเมริกา) กลับมีข้อมูลรายงานด้านการจัดการสวัสดิภาพสัตว์เพียงเล็กน้อย หรือไม่มีเลย นับตั้งแต่มีการจัดทำรายงาน The pecking order ครั้งแรกใน พ.ศ.2561

เหมือนดาว คงวรรณรัตน์ ผู้จัดการโครงการสัตว์ฟาร์ม กล่าวว่า "ปีนี้เป็นปีแรกที่องค์กรฯ ได้มีการเพิ่มการเปิดเผยข้อมูลของแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดในแต่ละประเทศรวมถึงประเทศไทย โดยมีทั้ง KFC ประเทศไทย และแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดอื่นๆ ซึ่งเรามองว่า ข้อมูลการจัดอันดับนี้ คือโอกาสทองที่แบรนด์ฟาสต์ฟู้ดต้องรีบคว้าไว้ และประกาศนโยบายเพื่อพัฒนาสวัสดิภาพไก่ นอกจากจะสะท้อนภาพผู้นำด้านภาพลักษณ์ที่ดีด้านจิตสำนึกที่รับผิดชอบต่อสังคมแล้ว ยังสอดคล้องกับกระแสผู้บริโภคและความต้องการของประชาชนที่ได้ร่วมลงชื่อสนับสนุนผ่านโครงการ Change for Chickens ขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (ประเทศไทย) เกือบ 20,000 คน อีกด้วย"

เหมือนดาว คงวรรณรัตน์ ผู้จัดการโครงการสวัสดิภาพไก่
 

การเดินหน้าพัฒนางานด้านสวัสดิภาพไก่อย่างจริงจังของ KFC, Burger King, Pizza Hut และ Nando’s ในประเทศอื่นๆ ที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่ถือเป็นสัญญานที่ดี อย่างไรก็ตาม เรายังมีความกังวลใจอย่างมากต่อวิธีการจัดการด้านสวัสดิภาพไก่โดยรวมในปัจจุบัน ผลการประเมินของบริษัทฟาสต์ฟู้ดพิสูจน์ให้เห็นว่า การจัดการด้านสวัสดิภาพไก่สามารถทำได้จริง แต่เส้นทางยังคงอีกยาวไกลสำหรับบริษัทหลายแห่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตของไก่เนื้อในฟาร์ม เพราะแม้แต่บริษัทฟาสต์ฟู้ดชั้นนำระดับโลกก็ยังต้องปรับปรุงแนวปฏิบัติเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตสัตว์ต่อไป

Jonty Whittleton ผู้จัดการฝ่ายแคมเปญสากล (Global Campaign Head) องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า "บริษัทฟาสต์ฟู้ดเจ้าดังหลายแห่ง ยังคงปิดกั้นโอกาสให้ไก่นับล้านตัวมีคุณภาพชีวิตที่ดี อาทิ ได้รับแสงแดดจากธรรมชาติที่เพียงพอ เติบโตในอัตราธรรมชาติ หรือแม้แต่โอกาสในการแสดงพฤติกรรมตามสัญชาตญาณของสัตว์ บทเรียนจากวิกฤตโควิด-19 คือ สอนให้เราตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างสวัสดิภาพสัตว์และสุขภาพของมนุษย์ทั่วโลก การดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิมไม่ควรเกิดขึ้นอีกต่อไป ผลประโยชน์ทางธุรกิจมีแต่จะยิ่งซ้ำเติมระบบการเลี้ยงดูสัตว์ที่โหดร้าย เราต้องยุติวงจรแห่งความทุกข์ทรมานนี้เสียที"

ปีนี้เป็นอีกครั้งที่ KFC แสดงศักยภาพในการเป็นผู้นำด้านสวัสดิภาพสัตว์ใน 8 ประเทศในทวีปยุโรป นับตั้งแต่มีการร่วมลงนามใน Better Chicken Commitment ใน พ.ศ.2562 คาดว่าน่าจะมีไก่นับล้านตัวได้รับประโยชน์จากการประกาศร่วมลงนามครั้งนี้ ขณะเดียวกันสาธารณชนและผู้บริโภคต่างคาดหวังให้ KFC ประเทศไทย ไม่นิ่งเฉยต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตไก่  ซึ่งสอดคล้องกับประชากรโลกที่ได้หันมาให้ความสนใจเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมในการผลิตอาหาร บริษัทฟาสต์ฟู้ดจึงควรแสดงความจริงใจในการยกระดับคุณภาพชีวิตสัตว์ ถึงเวลาแล้วที่บริษัทฟาสต์ฟู้ดต้องร่วมกันลงมือเปลี่ยนแปลง บริษัทที่ยังนิ่งเฉยต่อเรื่องนี้ จะไม่เพียงแค่สร้างความทุกข์ทรมานแก่สัตว์ แต่อาจเสี่ยงเสียชื่อเสียงได้" 

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกขอเรียกร้องให้บริษัทฟาสต์ฟู้ดชั้นนำระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง KFC ประเทศไทย ควรเร่งออกมาแสดงความผู้นำและยกระดับคุณภาพชีวิตของไก่เนื้อทุกตัวที่ต้องถูกนำมาผลิตเป็นอาหารเสิร์ฟในร้านตัวเอง บริษัททั้งหมดที่ได้รับการประเมินในรายงาน The pecking order มีโอกาสและพลังในการขับเคลื่อนภารกิจยกระดับคุณภาพชีวิตไก่นับล้านตัวอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.worldanimalprotection.or.th/The-Pecking-Order-2021

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจัดทำรายงาน The pecking order เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนภารกิจปฏิรูปอุตสาหกรรม ฟาสต์ฟู้ด เพื่อหยุดยั้งวงจรการทารุณกรรมสัตว์และความทุกข์ทรมานทุกรูปแบบ ตลอดห่วงโซ่การผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ทั่วโลก ด้วยการสนับสนุนให้บริษัทฟาสต์ฟู้ดหันมาเลือกรับซื้อเนื้อไก่จากฟาร์มที่มีการจัดการด้านสวัสดิภาพสัตว์ขั้นสูงมากกว่าฟาร์มเชิงอุตสาหกรรมแบบเข้มข้นที่พบ เห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกสนับสนุนให้บริษัทในอุตสาหกรรมผลิตอาหารปรับปรุงนโยบายเพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายระดับสากลที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตไก่นับล้านตัว โดยบริษัทจะปฏิบัติตามนี้

  • เลือกใช้ไก่ที่เติบโตในอัตราธรรมชาติ
  • จัดให้มีพื้นที่ที่ไก่สามารถขยับเขยื้อนร่างกาย และแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ ไม่ควรใช้กรงในการเลี้ยงเด็ดขาด
  • ปล่อยให้ไก่ได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ เช่น การเกาะคอน หรือวัสดุให้ไก่ใช้ยึดเกาะ ได้รับแสงจากธรรมชาติ และจัดหาวัสดุจิกกัดที่เหมาะสมแก่ไก่
  • เลือกใช้วิธีการฆ่าไก่อย่างมีมนุษยธรรม หลีกเลี่ยงการใช้ตะขอแขวนสัตว์ปีก (Shackle) หรือสัมผัสสัตว์ที่ยังไม่หมดสติก่อนฆ่า

ในปัจจุบัน มีไก่เนื้อในฟาร์มเชิงอุตสาหกรรมทั่วโลกมากกว่า 5 หมื่นล้านตัว ยังต้องทนทุกข์ทรมานจากการเลี้ยงดูที่ปราศจากหลักสวัสดิภาพสัตว์ พวกมันใช้ชีวิตเพียง 40 วัน และถูกนำส่งโรงเชือด ในขณะที่ยังเป็นเพียงลูกไก่เท่านั้น ในขณะที่ยังมีชีวิต พวกมันต้องทนใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่คับแคบ ย่ำแย่ และมืดมิด พวกมันมีโอกาสใช้ชีวิตระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น หากเพียงแต่พวกมันถูกมองว่าเป็นสัตว์ที่มีชีวิต ลมหายใจ และมีนิสัยอยากรู้อยากเห็น ไก่เนื้อเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับการคัดเลือกและพัฒนาด้วยความรวดเร็ว ส่งผลให้พวกมันมีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับหัวใจ ปอด และขา ท้ายที่สุด พวกมันต้องใช้ชีวิตด้วยความทุกข์ทรมาน และเจ็บปวดจากอาการขาพิการ โรคอุ้งเท้าอักเสบ หรือแม้แต่ภาวะหัวใจล้มเหลว  บริษัทผลิตอาหารที่ยังคงเพิกเฉยต่อวิกฤตสวัสดิภาพสัตว์จะยังต้องเผชิญกับแรงกดดันต่อไปจนกว่าจะลงมือแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจัดทำรายงาน The pecking order เป็นประจำทุกปีเพื่อติดตามความคืบหน้าในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบริษัทฟาสต์ฟู้ดชั้นนำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท