Skip to main content
sharethis

กยศ. เตรียมปรับโครงสร้างหนี้ผู้กู้ยืม ผ่อนได้สูงสุด 30 ปี พร้อมปรับลำดับตัดชำระหนี้-เงื่อนไขการผ่อนชำระ

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกองทุนได้มีมติเห็นชอบแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ ปรับเปลี่ยนลำดับตัดชำระหนี้และเปลี่ยนเงื่อนไขการผ่อนชำระสำหรับผู้กู้ยืมกลุ่มก่อนฟ้องคดีเพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่ค้างชำระและลดปัญหาหนี้ค้างชำระของกองทุนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดังนี้

1. ปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระหนี้ที่ยังไม่ถูกฟ้องคดี หากไม่สามารถผ่อนชำระเงินคืนตามสัญญา กองทุนจะให้ผู้กู้ยืมทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้โดยขยายระยะเวลาผ่อน และเปลี่ยนเงื่อนไขเพื่อให้มีระยะเวลาในการผ่อนชำระมากขึ้น สามารถผ่อนได้สูงสุด 30 ปี แต่ในการชำระเงินงวดสุดท้ายผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ และมีส่วนลดเบี้ยปรับโดยให้ชำระในงวดสุดท้าย ทั้งนี้ ผู้กู้ยืมสามารถแจ้งความประสงค์ขอปรับโครงสร้างหนี้ได้ที่แอปพลิเคชั่น กยศ.Connect หรือทางเว็บไซต์ https://wsa.dsl.studentloan.or.th ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2564 เป็นต้นไป

2.ปรับเปลี่ยนลำดับตัดชำระหนี้ สำหรับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระเงินคืนกองทุนที่ยังไม่ถูกฟ้องคดี จากเดิมที่ใช้วิธีการตัดเบี้ยปรับ ดอกเบี้ย และเงินต้น กองทุนจะปรับเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่ โดยจะนำเงินที่ได้รับชำระไปตัดเงินต้น ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ

3.ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการผ่อนชำระเงินคืน สำหรับผู้กู้ยืมรายใหม่ และผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างปลอดหนี้และยังไม่ครบกำหนดชำระหนี้ จากเดิมที่ผ่อนชำระเป็นรายปี กองทุนจะปรับให้ผ่อนชำระเป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือน และเพิ่มระยะเวลาการผ่อนชำระจากเดิมไม่เกิน 15 ปี เป็นไม่เกิน 30 ปี ขึ้นอยู่กับยอดหนี้ของผู้กู้ยืมแต่ละราย ทั้งนี้ในการชำระเงินงวดสุดท้ายผู้กู้ยืมจะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์

นอกจากนั้น กองทุนยังมีแนวทางแบ่งเบาภาระของผู้ที่ถูกหักเงินเดือน โดยสามารถขอปรับลดจำนวนเงินที่หักเหลือเพียง 10 บาทต่อเดือน มีผลตั้งแต่เดือน ส.ค. 2564-มิ.ย. 2565 ทั้งนี้ ผู้กู้ยืมสามารถแจ้งความประสงค์ขอปรับจำนวนเงินดังกล่าวผ่านแอปพลิเคชั่น กยศ.Connect แต่ยังคงมีหน้าที่ไปชำระส่วนต่างตามจำนวนเงินงวดที่ต้องชำระตามเงื่อนไขของสัญญา

ทั้งนี้ หากผู้กู้ยืมยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ในสถานการณ์นี้ กองทุนได้ลดเบี้ยปรับให้เหลือเพียง 0.5% รวมทั้งชะลอการฟ้องคดี บังคับคดี ยกเว้นคดีที่จะขาดอายุความ และงดการขายทอดตลาดไว้จนถึงสิ้นปีนี้

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 22/7/2564

ชื่นชมแรงงานไทยหาเงินเข้าประเทศ กกจ. ส่งแรงงานไทย 384 คน ทำงานเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์-สวีเดน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า มอบหมายให้นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) ตรวจเยี่ยมพร้อมให้กำลังใจแรงงานไทย จำนวน 384 คน ก่อนเดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ป่า และทำงานในตำแหน่งคนงานตามฤดูกาล (Seasonal Work) ในประเทศฟินแลนด์ และประเทศสวีเดน ณ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ด้วยเครื่องบินของสายการบิน QATAR AIRWAYS เที่ยวบิน QR 833

นายไพโรจน์ กล่าวว่า รมว.แรงงาน มีความห่วงใย ต้องการให้แรงงานไทยที่จะเดินทางเก็บผลไม้ป่าทำงานในตำแหน่งคนงานตามฤดูกาล (Seasonal Work) ในประเทศฟินแลนด์ และประเทศสวีเดน จำนวน 384 คน แบ่งเป็นฟินแลนด์ จำนวน 296 คน สวีเดน จำนวน 88 คน มีความปลอดภัย ขอให้ทุกคนตั้งใจทำงาน ตั้งใจเรียนรู้ และดูแลสุขภาพให้ดี หากรู้จักเก็บออม เมื่อกลับมาจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้ตนเองและครอบครัวได้ ที่สำคัญขอให้ทุกคนภูมิใจในตัวเอง ในสถานการณ์ที่ประเทศอยู่ในช่วงวิกฤตินี้ ทุกคนคือฮีโร่ ที่นำรายได้กลับเข้าสู่ประเทศไทย

ทั้งนี้สำหรับฤดูกาลเก็บผลไม้ป่าปี 2021 มีเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์และสวีเดน จำนวน 8,200 คน โดยเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ จำนวน 3,000 คน เดินทางแล้ว 1,112 คน และเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในสวีเดน จำนวน 5,200 คน เดินทางแล้ว 833 คน ซึ่งจะทยอยเดินทางตั้งแต่ต้นเดือน ไปจนถึงสิ้นเดือน ก.ค.64 จนครบจำนวนตามเป้าหมาย

ที่มา: เดลินิวส์, 22/7/2564

สหภาพไรเดอร์เรียกร้องฟู้ดแพนด้า งดเก็บค่า GP 1 เดือน จ่ายค่าตอบแทนไม่ต่ำกว่า 25 บาท

กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า สหภาพไรเดอร์ ได้ออกแถลงการณ์และข้อเรียกร้อง ถึงบริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ ประเทศไทย (ฟู้ดแพนด้า) ระบุว่า ตามที่มีประเด็นข่าวการปลดพนักงานส่งอาหาร (ไรเดอร์) ของบริษัทฯ ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า “ไรเดอร์” ที่เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 จนเกิดปรากฏการณ์ #แบนFoodpanda โดยมีผู้ใช้หลายรายได้ลบบัญชีผู้ใช้ของฟู้ดแพนด้าทิ้ง รวมถึงมีร้านค้าหลายร้าน ประกาศถอนตัวออกจากฟู้ดแพนด้า ซึ่งต่อมาแม้ว่า ทางบริษัทฯ จะได้มีการออกแถลงการณ์ออกมาขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ผลกระทบที่ทางไรเดอร์ได้รับนั้น ยังคงดำรงอยู่ และต้องมีไรเดอร์จำนวนมาก เข้ามาร่วมรับชะตากรรมจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของบริษัทในครั้งนี้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องรวมถึงร้านค้าต่างๆ ที่เป็นคู่สัญญากับบริษัทด้วย ดังนั้น บริษัทจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไรต่อผลกระทบนี้

สหภาพไรเดอร์ เป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของพี่น้องไรเดอร์จากบริษัทแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย มีสมาชิกเป็นพี่น้องไรเดอร์จากกว่า 15 จังหวัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์ หรือประเด็นปัญหาต่างๆ ของพี่น้องไรเดอร์ เพื่อติดต่อและประสานกับบริษัทแพลตฟอร์ม และหน่วยงานรัฐ เพื่อให้เกิดการหารือร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมแพลตฟอร์มส่งอาหาร เพื่อลดข้อพิพาทขัดแย้งและช่วยให้เกิดข้อตกลงร่วมกันที่จะนำไปสู่ความพึงพอใจของทุกฝ่าย โดยบทบาทที่ผ่านมาของสหภาพไรเดอร์ ได้แก่ การเป็นองค์กรที่ช่วยประสานระหว่างกลุ่มพี่น้องไรเดอร์จากบริษัทไลน์แมนกว่า 15 จังหวัด ซึ่งมีการรวมตัวประท้วงในช่วงวันที่ 1-14 มิถุนายน 2564 หลังจากบริษัทลดค่ารอบการส่งอาหารลงเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา รวมทั้งสหภาพไรเดอร์ยังได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมหารือกับกระทรวงแรงงาน และคณะกรรมาธิการแรงงานของสภาผู้แทนราษฎรหลายครั้ง เพื่อให้เข้ามามีส่วนรับรู้และร่วมแก้ไขถึงประเด็นปัญหาและความขัดแย้งที่ผ่านมาระหว่างบริษัทแพลตฟอร์มหลายๆ บริษัท กับ ไรเดอร์

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม สหภาพไรเดอร์ได้รับการติดต่อจากพี่น้องไรเดอร์ที่ส่งอาหารให้กับบริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (แอปพลิเคชัน ฟู้ดแพนด้า) ให้เข้ามาช่วยเหลือและประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงความเดือดร้อนที่ไรเดอร์ได้รับ ไม่ว่าจะเป็นความเดือดร้อนระยะสั้น สืบเนื่องจากข่าวที่ปรากฏในสื่อต่างๆ หลังจากเหตุการณ์ความไม่พอใจของผู้บริโภคและร้านค้าถึงท่าทีของบริษัทต่อไรเดอร์ที่ร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ที่ผ่านมา หรือความเดือดร้อนระยะยาว สืบเนื่องจากเงื่อนไขในการส่งอาหารที่ไรเดอร์มองว่าไม่เป็นธรรม ดังที่ไรเดอร์จากฟู้ดแพนด้าได้รวมตัวกันยื่นข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 โดยทางสหภาพไรเดอร์ ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในองค์กรที่ลงนามเรียกร้องให้บริษัทเคารพสิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองของไรเดอร์ และได้ร่วมหารือกับกลุ่มผู้บริโภคหลายๆ กลุ่ม รวมทั้ง กลุ่มเยาวชนปลดแอก ซึ่งเป็นผู้เรียกร้องให้มีมาตรการตอบโต้บริษัท โดยสหภาพและกลุ่มหรือองค์กรต่างๆ มีความเห็นอกเห็นใจไรเดอร์ที่ได้รับผลกระทบ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มองว่า บริษัทจำเป็นต้องมีการประกาศการเคารพเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง และมีการปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานในการทำงานของไรเดอร์ ทางกลุ่มและองค์กรต่างๆ จึงจะมีการพิจารณาถึงการยุติมาตรการตอบโต้บริษัทตามทีผ่านมา

ทางสหภาพไรเดอร์จึงขอเรียกร้องให้บริษัทได้ปรับเปลี่ยนสัญญา สภาพการจ้าง การทำงาน ให้เกิดความเป็นธรรมกับไรเดอร์ และร้านค้า เพื่อแสดงความรับผิดชอบที่เป็นรูปธรรมมากกว่าคำขอโทษ โดยมีข้อเสนอดังนี้

1. ขอให้บริษัทจ่ายค่าตอบแทนให้กับไรเดอร์ไม่ต่ำกว่า ออเดอร์ละ 25 บาท ทั่วประเทศ

2. ขอให้บริษัทยกเลิกการเก็บเงินค่าอุปกรณ์การทำงาน ได้แก่ ชุดทำงานและกล่องใส่อาหาร โดยไรเดอร์สามารถนำชุดทำงานเก่าและกล่องใส่อาหารที่ชำรุด มาแลกของใหม่จากบริษัทได้ ปีละ 1 ชุด

3. ขอให้บริษัทฯ ลดราคา ค่า GP จากเดิม 30% ให้เหลือ 15% และงดเก็บค่า GP กับร้านค้าเป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-31 ส.ค. 2564

ทางสหภาพไรเดอร์เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า หากทางบริษัทได้ตกลงตามข้อเสนอทั้งสามข้อนี้ จะช่วยทำให้ทุกส่วนฝ่าย ได้เห็นถึงเจตนาและความจริงใจในการแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ และหันกลับมาใช้บริการของท่านดังเดิม

ย้อนกลับไปในการชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าราษฎร เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา ได้มีตัวแทนกลุ่มสหภาพไรเดอร์ ขึ้นเวทีปราศรัยบนรถปราศรัยที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ระบุว่า ถ้าการเมืองดี ไรเดอร์จะไม่ถูกลดค่ารอบ ไรเดอร์จะมีสวัสดิการที่ครบถ้วนทุกคน ทุกวันนี้ทำงานบนความเสี่ยง สวัสดิการไม่มีเลย วันนี้ไรเดอร์อำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภค อยากทานอะไรก็ได้ทาน อยากกินอะไรก็ได้กิน สั่งได้เพียงแค่ปลายนิ้ว แตัวันนี้ไรเดอร์กลับถูกลดค่ารอบ สวัสดิการนับจากจำนวนงาน ถามหน่อยว่าวันนี้จากงานชิ้นแรกถึงงานชิ้นที่ร้อย ความเสี่ยงของพวกเราเริ่มตั้งแต่ชิ้นแรกแล้ว แต่วันนี้เรากลับไม่ได้รับการเยียวยา ไม่ได้รับการดูแลจากบริษัท แล้ววันนี้ถ้าการเมืองดี รัฐบาลดี วันนี้เราจะต่อรองอำนาจกับบริษัทได้ วันนี้กลายเป็นว่ารัฐบาลนี้มันเป็นรัฐบาลแห่งทุน มันไม่ใช่รัฐบาลของแรงงาน แล้วคน 99% คือ แรงงาน วันนี้ถ้ารัฐบาลที่เป็นปรปักษ์กับแรงงาน ก็คือ รัฐบาลที่เป็นปรปักษ์กับพวกเรา ไรเดอร์เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เป็นอาชีพที่น่าทำมาก ค่ารอบเริ่มต้นที่ 91 บาท ขบวนการทุนทำให้แรงงานและไรเดอร์อ่อนแอลงไปหมด เริ่มปรับลดค่ารอบลงเรื่อยๆ จาก 91 บาท ล่าสุดเหลือ 33 บาท นั่นแสดงให้เห็นแล้วว่า พวกนายทุนพยายามจะทำให้แรงงานอ่อนแอ แล้วยิ่งแรงงานอ่อนแอมันยิ่งปกครองง่าย วันนี้เราจะลุกขึ้นสู่กับอำนาจที่มันกดขี่ หรือจะอยู่เฉยๆ ให้มันกดขี่ ทุกคนเลือกได้ การลดค่ารอบทำให้ไรเดอร์อ่อนแอลงเรื่อยๆ ทุกคนต้องทำงานมากขึ้่น วันนี้ถ้าทุกคนไม่ลุกขึ้นมาสู้ จะถูกการเมืองเลวบีบบังคับให้เป็นแรงงานที่ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่มีชีวิตที่ดี

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 21/7/2564

วธ.แจ้งศิลปินพื้นบ้านขึ้นทะเบียนประกันสังคม ม.40 รับเยียวยา

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่าตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2564 และ 20 ก.ค. 2564 เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน กลุ่มแรงงาน และผู้ประกอบการอันเนื่องมาจากข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 28) โดยได้มีมาตรการการเยียวยาและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการยกระดับมาตรการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือพื้นที่สีแดงเข้มตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ออกประกาศล็อกดาวน์ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.จนถึง 2 ส.ค.2564 รวม 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา, สงขลา , ฉะเชิงเทรา, ชลบุรีและพระนครศรีอยุธยา โดยจ่ายเงินชดเชยตามมาตรการเยียวยาให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 และมาตรา 40

ซึ่งในส่วนของมาตรา 40 นั้นรัฐบาลจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 5,000 บาทต่อคน จำนวน 1 เดือน ซึ่งผู้ลงทะเบียนต้องไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ 40 ก่อนวันที่ 28 มิ.ย. 2564 มีอายุ 15-65 ปี สามารถเลือกจ่ายเงินสมทบเพื่อรับสิทธิประโยชน์ได้ ทั้งการได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีประสบอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วย การรับสิทธิทุพพลภาพตลอดชีวิต และการสงเคราะห์บุตร เป็นต้น และให้ไปขอขึ้นทะเบียนที่สำนักงานประกันสังคมทุกพื้นที่ และเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม ตามความสมัครใจภายในวันที่ 30 ก.ค. 2564 นี้

สำหรับการจ่ายเงินช่วยเหลือตามมาตรการเยียวยาให้แก่ผู้ประกันตน มาตรา 40 มี 9 กิจการ ซึ่งมีกิจการที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกระทรวงวัฒนธรรมเป็นกิจการประเภทกิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ ได้แก่ กิจกรรมการสร้างสรรค์ทางศิลปะ ความบันเทิง การแสดงโชว์เพื่อความบันเทิงและนันทนาการ พิพิธภัณฑ์ หอสมุด และการดำเนินงานเกี่ยวข้องกับโบราณสถานและอาคารทางประวัติศาสตร์ เป็นต้น ครอบคลุมถึงผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เกี่ยวกับงานด้านวัฒนธรรม อาทิ ศิลปินลิเก หมอลำ ลำตัด โนรา ช่างฟ้อน สะล้อ ซอและซึง รวมถึงศิลปินที่เป็นช่างฝีมือด้านศิลปหัตถกรรม เช่น การทอผ้า จักสานแกะสลักไม้ และเครื่องปั้นดินเผา ตลอดจนผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม ดังนั้น วธ.จึงได้มอบหมายสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครและสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด (สวจ.) 13 จังหวัดในพื้นที่สีแดงเข้มเร่งประชาสัมพันธ์ทุกช่องทางและให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เกี่ยวกับงานด้านวัฒนธรรมในทุกกลุ่มอาชีพที่มีความประสงค์ขึ้นทะเบียนเพื่อเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ภายในวัน เวลาที่กำหนด เพื่อให้ได้รับสิทธิเยียวยาและช่วยเหลือตามมาตรการของรัฐบาลต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 21/7/2564

พบแรงงานล้งผลไม้ขนาดใหญ่ใน จ.นครศรีธรรมราช ติดเชื้อโควิด-19 ต่อเนื่อง ล่าสุด ยอดรวมมากกว่า 50 รายแล้ว

21 ก.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อ หรือทีมสก๊อต มูลนิธิไต้เต็กเซี่ยงตึ๊งนครศรีธรรมราช เข้าปฏิบัติการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จากล้งผลไม้ของบริษัทส่งออกผลไม้ระหว่างประเทศแห่งหนึ่ง ใน ต.ท่างิ้ว อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช หลังจากมีผลการตรวจ PCR ยืนยันพบผู้ป่วยติดเชื้อในกลุ่มแรงงานที่ถูกกักตัวอยู่ในล้งแห่งนี้เพิ่มอีก 10 ราย เพื่อเคลื่อนย้ายไปยังโรงพยาบาลสนาม ทำให้มียอดสะสมของผู้ติดเชื้อเฉพาะในกลุ่มแรงงานล้งผลไม้แห่งนี้เพียงจุดเดียวสูงกว่า 50 รายแล้ว

ขณะที่เจ้าหน้าที่กองสาธารณสุขเทศบาลตำบลท่างิ้ว สาธารณสุขอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ได้เร่งเข้าคัดแยกแรงงานที่ยังไม่พบเชื้อ รวมทั้งคัดแยกสอบสวนโรคผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้กักกันตัวเองไว้ต่างหาก เนื่องจากมีแนวโน้มว่าแรงงาน จำนวน 96 คน ที่ถูกเคลื่อนย้ายมาพร้อมกัน และมาทำงานในล้งแห่งนี้อาจจะติดเชื้อทั้งหมด และยังพบว่ามีการเคลื่อนย้ายเชื่อมโยงกับกลุ่มแรงงานจากล้งใน อ.ท่าศาลา เจ้าหน้าที่ยังต้องปฏิบัติการสอบสวนโรค และควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง พร้อมยอมรับว่ามีความหนักใจในการเคลื่อนย้ายแรงงาน เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับก่อนการเข้าพื้นที่

ด้านนายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่า ขณะนี้มีเตียงรองรับผู้ป่วยได้ 1,100 เตียง อนุมัติให้ได้เพิ่มรวม 2,000 เตียง และเปิดให้ทุกโรงพยาบาลทั้ง 23 แห่ง สามารถรับผู้ป่วยได้ กรณีผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดที่ป่วยมาแล้วไม่มีเตียง ขณะนี้ จ.นครศรีธรรมราช รับมาแล้วทั้งหมด 14 แห่ง และวันนี้สามารถขยายโรงพยาบาลของตัวเองเป็นโรงพยาบาล Hospitel ได้จำนวนหนึ่ง โรงพยาบาลปากพนัง เตรียมเปิดโรงพยาบาลสนาม โดยใช้ศูนย์พักพิงผู้ประสบอุทกภัย รวมถึงโรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ และโรงพยาบาลหัวไทร ก็พร้อมที่จะเปิดเป็นโรงพยาบาลสนาม โดยสามารถเพิ่มปริมาณการรองรับผู้ป่วยที่เดินทางกลับภูมิลำเนาได้เพิ่มขึ้น

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 21/7/2564

ฉีดวัคซีนคนงานแคมป์ กทม. แล้ว 1 หมื่นคน เหลืออีก 7 หมื่นคน

21 ก.ค. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ประกันตนมาตรา 33 ในแคมป์คนงานที่มารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ณ อาคารลุมพินีทาวเวอร์ ถนนวิภาวดี แขวงจอมพล เขตจตุจักร กทม. โดยมี นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) นายแพทย์สุรพันธ์ ทวีวิกยการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกษมราษฎร์อินเตอร์เนชันแนล และนางสาวบุปผา เรืองสุด ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย

นางธิวัลรัตน์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และท่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน กำหนดให้การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาตินั้น

กระทรวงแรงงานดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่คนงานในแคมป์ไปแล้วกว่า 10,000 คน ที่เหลือประมาณ 70,000 คน เป้าหมายดำเนินการ 3,000 คนต่อวัน จากแคมป์งานในพื้นที่ กทม. 611 แคมป์ คนงาน 83,082 คน เป็นคนไทย 32,471 คน ต่างด้าว 50,611 คน

“ในวันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มอบหมายให้ดิฉันและคณะลงพื้นที่จุดบริการฉีดโควิด-19 แคมป์คนงานอาคารลุมพินีทาวเวอร์ ถ.วิภาวดี กทม. เพื่อตรวจเยี่ยมการให้บริการฉีดวัคซีน รวมทั้งให้กำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ จุดฉีดนี้มีศักยภาพการฉีด 1,000 คนต่อวัน ซึ่งคนงานที่มาฉีดในวันนี้ผ่านการตรวจคัดกรองโควิดแล้ว เป็นคนงานของบริษัท เวิลด์ คอนสตรัคชั่น แอน เอนยิเนียริ่ง จำกัด บริษัท ธาศิริ คอนสตรัคชั่น จำกัด บริษัท พรีบิลท์ จำกัด มหาชน บริษัท เจ แอนด์ เค กรุ๊ป เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และบริษัท อิตาเลี่ยนไทย

ซึ่งการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในแคมป์คนงาน เป็นหนึ่งในมาตรการที่กระทรวงแรงงาน ให้การป้องกันรักษา โดยเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ประกันตนตามนโยบายรัฐบาล เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในกลุ่มคนงาน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 21/7/2564

ครม.เคาะกรอบวงเงิน 'เยียวยา' นายจ้าง-ม.33 พื้นที่ควบคุมสูงสุด 13,505 ล้าน

20 ก.ค. 64 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยคณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบวงเงิน โครงการ "เยียวยา" นายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่จังหวัดชานแดนภาคใต้ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ รวมทั้งสิ้น 10 จังหวัด

สำหรับกิจการที่ได้รับผลกระทบ 9 สาขา จากเดิมที่ได้เห็นชอบไปแล้ว 2,519.38 ล้านบาทเพิ่ม เป็น 13,504 .696 บาท หรือเพิ่มขึ้น 10,985.316 ล้านบาท

ส่วนอีก 3 จังหวัดที่ ศบค. ได้มีประกาศเพิ่มเติม ได้แก่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และอยุธยานั้น ครม.ได้เห็นชอบในวันนี้ให้ขยายพื้นที่เยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการโควิด เพิ่มเติมจาก 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด และจะนำกรอบวงเงินที่เพิ่มขึ้นนำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาต่อไป

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 20/7/2564

ประกันสังคมจ่ายเยียวยาว่างงาน-แคมป์ก่อสร้างรอบแรก 138 ล้านบาท

20 ก.ค. 2564 นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ โฆษกสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2564 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง งดการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม

ได้แก่ กทม. ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม เป็นเวลา 1 เดือน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.-27 ก.ค. 2564 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในคลัสเตอร์แคมป์คนงานนั้น ได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) สังกัดกระทรวงแรงงานดูแลค่าใช้จ่ายเงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างแทนผู้ประกอบการ ตามสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเพราะเหตุสุดวิสัย เนื่องจากถูกปิดตามคำสั่ง ศบค. ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง โดยจะจ่ายให้ทุก 5 วัน

นายนันทชัยกล่าวว่า สปส.ได้จ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 จำนวนร้อยละ 50 ของค่าจ้างให้แก่คนงานในแคมป์ที่ถูกสั่งปิดไปแล้วจำนวน 25,310 ราย เป็นเงินจำนวน 119,778,307.60 บาท

นอกจากการจ่ายเงินว่างงานตามที่รัฐบาลสั่งปิดดังกล่าวแล้ว สปส.ยังได้จ่ายเงินว่างงานกรณีสุดวิสัยให้แก่ผู้ประกันตนทั้งใน 5 กิจการ จำนวน 3,266 ราย จำนวน 19,169,289.10 บาท รวมทั้งสิ้นจำนวน 28,576 ราย เป็นเงินทั้งสิ้นรวม 138,947,596.70 บาท

นายนันทชัยกล่าวในตอนท้ายว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงแรงงานให้ความช่วยเหลือดูแลแคมป์คนงาน โดยการนำอาหารกล่องไปส่งมอบให้คนงานในแคมป์ตามโครงการปันน้ำใจร้านค้าสู่แรงงานมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท และเครื่องอุปโภคบริโภค ข้าวสารอาหารแห้งของใช้ที่จำเป็น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ที่ภาคเอกชนร่วมบริจาคให้กระทรวงแรงงานนำไปส่งมอบผ่านสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่คนงานในแคมป์ต่าง ๆ รวมมูลค่า 12,5431,000 บาท

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 20/7/2564

ลูกจ้างชุมนุมสหกรณ์สวนปาล์มน้ำมันที่กระบี่ ยื่นขอเงินชดเชยหลังถูกเลิกจ้าง

ลูกจ้างของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมัน กระบี่ จำกัด ได้ทยอยเดินทางมาที่ศูนย์ราชการกระทรวงแรงงานจังหวัดกระบี่ ถ.ท่าเรือ ต.ไสไทย อ.เมือง จ.กระบี่ เพื่อยื่นเอกสารขอเงินชดเชยจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง หลังจากถูกเลิกจ้าง และยังไม่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง คาดว่าจะมีลูกจ้างของชุมนุมชาวสวนปาล์ม เข้ายื่นเอกสารขอเงินชดเชยค้าจ้างไม่ต่ำกว่า 300 คน

นายสนอง ปานแดง อายุ 57 ปี กล่าวว่า ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์ม ทั้ง 2 แห่งปิดกิจการลง ลูกจ้างแต่ละคนไม่ได้รับเงินค่าจ้างและเงินสะสมการเป็นสมาชิกคืน ทั้งในช่วงของการปิดชั่วคราว 4 เดือน และหลังปิดชั่วคราว 4 เดือน จนปิดอย่างถาวรก็ไม่ได้รับเงินชดเชยใดๆ โดยวันนี้พนักงานและลูกจ้างเกือบ 100 คน ได้ทยอยเข้ายื่นเอกสารขอเงินชดเชยหลังจากสหกรณ์ฯ ได้เปิดดำเนินกิจการใหม่ แต่ไม่รับพวกตนเข้าทำงาน มีประมาณ 300 ราย

ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดกระบี่ ได้ประกาศหยุดกิจการโรงงานสกัดปาล์มน้ำมัน ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย.63 โดยทางผู้บริหารชุมนุมสหกรณ์ฯ อ้างว่า ทางสหกรณ์ขาดสภาพคล่องทางการเงินขาดทุนอย่างหนักไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ทำให้พนักงานที่ทำงานอยู่ในโรงงานสกัดปาล์มน้ำมันของชุมนุมสหกรณ์ฯทั้งในพื้นที่ อ.อ่าวลึก และ อ.คลองท่อม 2 โรงกว่า 300 คน ต้องตกงานกะทันหัน

ล่าสุด เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ทางจังหวัดได้จัดหาเงินทุนมาลงทุนใหม่เป็นเงินหลายสิบล้านบาท ทำให้ชุมนุมฯ สามารถเดินเครื่องหีบสกัดน้ำมันปาล์มและรับซื้อผลปาล์มจากเกษตรกรได้อีกครั้ง แต่รับพนักงานเข้าทำงานเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 19/7/2564

'กลุ่มแม่ค้าหาบเร่' สนองนโยบาย 'เหมาข้าวกล่องแจกแคมป์คนงาน'

16 ก.ค. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน มอบหมายให้ นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการแจกจ่ายอาหาร และตรวจเช็กคุณภาพอาหารก่อน ถูกลำเลียงไปยังสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-10 เพื่อแจกจ่ายไปยังแคมป์คนงาน ที่ถูกสั่งปิดตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

นายไพโรจน์ กล่าวว่า ท่านนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยบรรดากลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ผู้ขับขี่รถรับจ้าง และร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคของ ศบค.จึงได้สั่งการกระทรวงแรงงานให้ความช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอย และผู้ประกอบการร้านอาหารให้มากที่สุด ทั้งย้ำเตือนให้ดูแลแรงงานทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม

ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงแรงงาน ได้มีการเชิญประธานชมรมหาบเร่แผงลอยกรุงเทพมหานคร สมาคมผู้ขับขี่รถรับจ้างแห่งประเทศไทย และสมาคมภัตตาคารไทย รวมถึงบรรดาร้านค้าบริเวณแคมป์ก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบมาพูดคุยเพื่อรับฟังสภาพปัญหาที่กระทรวงแรงงาน จนเกิดความคิดช่วยเหลือผู้ค้ากลุ่มดังกล่าว พร้อมบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาหารแก่แรงงานภายในแคมป์ที่ถูกปิดตามคำสั่งปิดสถานที่ก่อสร้างไปพร้อมกัน โดยกระทรวงแรงงานจะเป็นผู้สนับสนุนค่าอาหาร และรับอาหารจากกลุ่มผู้ค้าไปแจกจ่ายให้แรงงานในแคมป์ก่อสร้าง จนครบกำหนดตามประกาศ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 12-27 กรกฎาคม 2564 โดยท่าน รมว.แรงงาน ได้ให้กรมการจัดหางานรับผิดชอบดูแลในเรื่องนี้

“ในวันนี้ผมได้รับการสั่งการจากท่าน รมว.แรงงาน ให้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการแจกจ่ายอาหาร และตรวจเช็กคุณภาพอาหาร ณ บริเวณถนนข้าวสาร ก่อนถูกลำเลียงไปยังสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-10 เพื่อแจกจ่ายไปยังแคมป์คนงานที่ถูกสั่งปิดตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยผู้ค้าแต่ละรายจะนำส่งอาหารที่ได้รับการจัดสรรตามโควตาของชมรมหาบเร่แผงลอย มายังจุดรวบรวมอาหารกล่องบริเวณถนนข้าวสาร เพื่อตรวจสอบรายการอาหารและคุณภาพบรรจุภัณฑ์ แล้วจึงลำเลียงส่งต่อไป ทั้งนี้กรมการจัดหางานจะให้ความช่วยเหลือด้านอาหารวันละ 1 มื้อ ตั้งแต่วันที่ 12-27 กรกฎาคม 2564 เป้าหมายแคมป์คนงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 520 แห่ง 750,000 กล่อง และปริมณฑล จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนครปฐม จังหวัดสมุทรปราการ รวมจำนวน 797 แห่ง 500,000 กล่อง โดยมีผู้ร่วมโครงการ ได้แก่ ชมรมหาบเร่แผงลอยกรุงเทพมหานคร สมาคมผู้ขับขี่รถรับจ้างแห่งประเทศไทย สมาคมภัตตาคารไทย และร้านค้าบริเวณแคมป์ก่อสร้าง รวม 132 แห่ง” นายไพโรจน์ กล่าว

ด้านคุณญาดา พรเพชรรัมภา ประธานชมรมหาบเร่แผงลอยกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า พวกเราในนามผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ร่วมโครงการกับกระทรวงแรงงาน ต้องฝากขอบคุณไปถึงท่านรัฐมนตรี สุชาติ ชมกลิ่น ที่ท่านมีโครงการนี้ขึ้นมาซึ่งเป็นประโยชน์กับกลุ่มหาบเร่แผงลอยจริง ๆ ทำให้ผู้ค้ามีรายได้ และขอให้กระทรวงแรงงาน มีโครงการดีๆ ในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อไป

ด้าน คุณศศนนท ฮุ้ย เป็นผู้ค้าขายที่ถนนข้าวสาร กล่าวว่า พอรู้ว่า มีออเดอร์ทำของไปแคมป์ ก็ดีใจมากจนพูดไม่ถูก ก็คือดีใจ อยากขอบคุณท่านรัฐมนตรีแรงงาน และก็รัฐบาล ที่ให้ความช่วยเหลือทางเรา ได้มีกินมีใช้ 3 เดือนมานี้ เราไม่มีกินเลย เราลำบาก แล้วคุณญาดา ก็นำโควตามาช่วยพวกเรา ให้มีกิน มีใช้จ่ายกันไป ก็ดีใจมาก อยากขอให้มีโควตานี้นานๆ หน่อย ถ้ามันมีก็ดี

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 16/7/2564

กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจ่าย 1.6 ล้านบาท ให้ พนง.วายเอ็มพี เพรส แอนด์ ดายส์ 85 คนที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้ชดเชย

เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2564 นางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวหลังเป็นประธานการมอบเงิน กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง แก่ลูกจ้างในจังหวัดชลบุรี ว่า จากนโยบายและข้อสั่งการของนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้เร่งรัดดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างกรณีถูกเลิกจ้างและนายจ้างยังไม่จ่ายค่าชดเชย โดยนำเงินจาก กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง มาจ่ายเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกจ้างก่อน แล้วไปดำเนินการเรียกเก็บเงินจากนายจ้างมาคืนกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างต่อไป

โดยในวันนี้ได้มอบเงินให้แก่ลูกจ้าง บริษัท วายเอ็มพี เพรส แอนด์ ดายส์ (ไทยแลนด์) จำกัด จำนวน 85 คน เป็นเงิน 1,629,600 บาท ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี จากกรณีที่ บริษัท วายเอ็มพี เพรส แอนด์ ดายส์ (ไทยแลนด์) จำกัด นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง จำนวน 351 คน และยังไม่จ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างและค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้าง

ทั้งนี้ ลูกจ้างได้ทยอยยื่นคำร้องที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดชลบุรี พนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างและค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้าง และลูกจ้างใช้สิทธิขอรับเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ซึ่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้อนุมัติจ่ายให้แก่ลูกจ้างบริษัทดังกล่าวไปแล้วจำนวน 230 คน เป็นเงิน 4,529,280 บาท เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564

รวมอนุมัติเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างให้แก่ลูกจ้าง บริษัท วายเอ็มพี เพรส แอนด์ ดายส์ (ไทยแลนด์) จำกัด จำนวนรวม 315 คน เป็นเงิน 6,158,880 บาท พร้อมนี้ กรมยังได้มอบอาหารและสิ่งของอุปโภค รวมถึงหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับลูกจ้างบริษัทฯ ดังกล่าวด้วย

รองอธิบดี กสร. กล่าวเสริมว่า กรณีนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ในอัตราดังต่อไปนี้คือ (1) 30 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวัน สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 3 ปี (2) 50 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวัน สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี (3) 70 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวัน สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี ขึ้นไป

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 16/7/2564

สปส. ระบุยังมีแรงงานอิสระที่ไม่สมัคร ม.40 กว่า 20 ล้านคน รอดู ครม. อนุมัติกลุ่มสมัครใหม่

เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2564 น.ส.ลัดดา แซ่ลี้ ผู้อำนวยการสำนักสิทธิประโยชน์ และรองโฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวผ่านเฟสบุ๊คไลฟ์ของสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. เพื่ออธิบายข้อสงสัยของประชาชนประเด็นต่าง ๆ ให้มีความเข้าใจตรงกันว่า

เงินที่จะจ่ายให้ผู้ประกันตนมี 2 ส่วน คือ 1. เงินประกันสังคมช่วยเยียวยากรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ที่รัฐสั่งปิด 9 กิจการ (1.กิจการก่อสร้าง 2.กิจการที่พักแรงบริการด้านอาหาร 3.กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ 4.กิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ

5.สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 6.สาขาขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ 7.สาขากิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 8.สาขากิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ 9.สาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร) ใน 10 จังหวัด (กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา) ขอย้ำว่าส่วนนี้เป็นเงินทางฝั่งกองทุนประกันสังคมที่ผู้ประกันตนจ่ายสะสมมา

โดยนายจ้างต้องขึ้นทะเบียน e-service เพื่อแจ้งว่าไม่สามารถจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างตามมาตรา 33 โดยระบุให้ชัดเจนว่าลูกจ้างมีกี่คน และหยุดงานตั้งแต่วันที่อะไรถึงวันที่อะไร ส่วนลูกจ้างมีหน้าที่กรอกแบบ สปส.2-01/7 และแนบสมุดปัญชีออมทรัพย์ ส่งให้นายจ้างรวบรวมเพื่อนำส่ง สปส. ภายใน 3 วันหลังจากที่ยายจ้างลงทะเบียน e-service แล้ว เพื่อจะได้รับเงินโดยเร็ว ซึ่งเงินกองทุนประกันสังคมจะจ่าย 50% กรณีว่างงานสูงสุด 90 วัน ทั้งคนไทยและต่างชาติที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ส่วนนายจ้างมาตรา 33 ได้รับ 3,000 บาทต่อคน ลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน

2. เงินเยียวยาตามมติ ครม. เป็นส่วนเงินกู้ของรัฐบาล แต่มาใช้ฐานข้อมูลประชาชนในมาตราต่าง ๆ ของ สปส. เพื่อช่วยเหลือเร่งด่วนแก่กลุ่มแรงงานไทยและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุด 10 จังหวัด โดยลูกจ้างมาตรา 33 ที่ได้รับเงินจากประกันสังคมเยียวยาให้ 50% ของรายได้ (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) และส่วนเงินกู้ของรัฐบาลจ่ายสมทบให้ลูกจ้างสัญชาติไทยอีก 2,500 บาทต่อคน (รวมแล้วได้สูงสุด 10,000 บาท)

สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ 40 ซึ่งเป็นกลุ่มฟรีแลนซ์และอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการล็อคดาวน์ครั้งล่าสุดนี้ รัฐบาลจะเยียวยา 5,000 บาท แต่ทั้งนี้ผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนในมาตรานี้มาก่อนวันที่ 28 มิ.ย. 2564 ให้รีบสมัครก่อน 30 ก.ค. 2564 เพื่อ สปส. จะได้ส่งข้อมูลนำเข้า ครม. พิจารณาต่อไป

ดังนั้น ผู้ประกันตนมาตรา 33 ไม่ต้องกังวลว่า จะเสียเปรียบ เนื่องจากไม่ได้ใช้กองทุนเงินประกันสัมคมไปจ่ายให้มาตราอื่น ๆ เพราะส่วนนั้นเป็นเงินกู้ของฝั่งรัฐบาล

น.ส.ลัดดา อธิบายว่า หากต้องการสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 สามารถทำได้ผ่าน 7 ช่องทาง ได้แก่ 1.สมัครด้วยตนเองที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ 2.สายด่วนประกันสังคมหมายเลข 1506 3.เซเว่นอีเลฟเว่น ทุกสาขา 4.ธนาคาร ธกส. ทุกสาขา 5. Big C ซูเปอร์เซ็นเตอร์ 6.เครือข่ายประกันสังคมทั่วประเทศ 7.สมัครผ่านเว็บไซต์ประกันสังคม

แต่ต้องยอมรับว่าระบบสมัครมาตรา 40 ออนไลน์มีความติดขัด เพราะมีคนเข้าไปสมัครพร้อมกันจำนวนมาก จึงขอให้กระจายใช้ช่องทางอื่น ๆ ที่เราเตรียมไว้ให้ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่สำนักงาน เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 น่าเป็นห่วง โดยเมื่อวานนี้ สปส.เขตพื้นที่ 12 เขต ใน 10 จังหวัด มีคนเดินทางไปสมัครมาตรา 40 ที่สำนักงานประมาณ 3 พันกว่าคนต่อเขต

“ทั้งนี้ จากที่เปิดรับผู้สมัคร มาตรา 40 มาหลายปี มีแรงงานนอกระบบหรือแรงงานอิสระสมัครเพียง 3 ล้านกว่าคน จากจำนวนแรงงานนอกระบบในไทยทั้งหมด 23 ล้านคน เท่ากับว่ายังมีผู้ประกอบอาชีพอิสระอีกมาก (กว่า 20 ล้านคน) ที่ไม่ได้สมัครมาตรา 40”

น.ส.ลัดดา กล่าวด้วยว่า ตอนนี้เราใช้ข้อมูลผู้ประกันตนมาตราต่าง ๆ เพื่อส่งให้รัฐในโครงการเยียวยา สิ้นสุดวันที่ 28 มิ.ย. 2564 ก่อน แต่ก็ได้มีการขยายกรณีที่นายจ้างที่มาขึ้นทะเบียนใหม่ หรือผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่มาขึ้นทำเบียนใหม่ ช่วง 29 มิ.ย.–30 ก.ค. 2564 ซึ่งต้องรอการอนุติของ ครม. อีกทีว่า จะจ่ายกลุ่มผู้มาสมัครใหม่หรือไม่ จ่ายแบบใด และอย่าไร แต่อย่างไรก็ตาม ทางรัฐได้อนุมัติตามหลักการแล้วสำหรับผู้ประกันตนที่สมัตรก่อน 28 มิ.ย. ได้รับเงินแน่นอน ไม่ต้องเข้าระบบสมัครใด ๆ แต่ขอให้ผูกบัตรประชาชนกับพร้อมเพย์ไว้ เพื่อรับเงิน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 16/7/2564

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net