Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จากที่เรียนปรัชญากับอาจารย์ที่เป็นเปรียญลาพรต คำพูดที่ได้ยินบ่อยมาก คือ “พุทธะต่างจากนักปรัชญาตะวันตกตรงที่ปฏิบัติได้แล้วจึงสอนคนอื่น ดังนั้น พุทธะจึงเป็นคนที่พูดอย่างไร ทำอย่างนั้น ผิดกับนักปรัชญาตะวันตกที่เสนอความคิดอย่างหนึ่ง แต่ทำอีกอย่าง ความคิดของพวกเขาอาจสวยงาม แต่พฤติกรรมอาจสำมะเลเทเมา” คิดว่าหลายๆ คนที่เคยเรียนปรัชญากับอดีตนักบวชก็คงได้ฟังมาคล้ายๆ กันนี้

แต่มุมมองเช่นนั้นคือความจริงเสมอไปหรือ จากหลักฐานคลาสสิกในคัมภีร์พุทธศาสนาคือ เมื่อพุทธะจะแสดงปาฏิหาริย์แข่งเดียรถีย์ กษัตริย์ “ท้วง” ว่า “ท่านบัญญัติกฎห้ามสาวกทำปาฏิหาริย์ไว้แล้วไม่ใช่หรือ” พุทธะกลับตอบว่า “ถ้าคนอื่นขโมยมะม่วงในสวนของมหาบพิตร ย่อมผิดกฎ แต่มหาบพิตรกินมะม่วงของตนเองย่อมไม่ผิดจริงไหม อาตมภาพก็บัญญัติกฎสำหรับสาวกเท่านั้น” อุปมานี้พุทธะเปรียบเทียบตนเองเสมือนเป็นกษัตริย์ปกครองคณะสงฆ์ และอุปมานี้ก็เข้าทำนองว่า “กษัตริย์คือผู้บัญญัติกฎสำหรับใช้กับคนอื่นๆ แต่ตนเองไม่จำเป็นต้องทำตามกฎนั้น” นี่คือจารีตอำนาจแบบกษัตริย์โดยแท้

ทว่าเมื่อโสกราตีสถูกตัดสินประหารชีวิต ด้วยข้อหามอมเมาเยาวชนและนำเสนอเทพองค์ใหม่ ระหว่างถูกขังคุกรอการประหาร มีคนอาสาจะพาหลบหนีไปลี้ภัยที่เมืองอื่น แต่โสกราตีสปฏิเสธการช่วยเหลือนั้น และยืนยันว่า “เมื่อผมเป็นชาวเอเธนส์ ผมก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของชาวเอเธนส์สิ” การกระทำของโสกราตีสช่างสอดคล้องกับคำสรรเสริญพุทธะในภาษาบาลีว่า “ยถาวาที ตถาการี” แปลว่า “ตถาคตคือผู้ที่พูดอย่างไร ทำอย่างนั้น” แต่จากกรณีตัวอย่าง อาจแปลใหม่ว่า “โสกราตีสคือผู้ที่พูดอย่างไร ทำอย่างนั้น” 

ที่แปลกใจอีกอย่างคือ นักปรัชญาพุทธบ้านเราเขียนในหนังสือของเขาเองว่า “พุทธะคิดเรื่องใหญ่ๆ แต่นักปรัชญาสมัยใหม่คิดเรื่องเล็กๆ” (ซึ่งก็ไม่รู้เหตุผลว่าจะเปรียบเทียบทำนองนี้ทำไม) แต่จากหลักฐานที่เราเห็นได้คือ พุทธะเสนอทางแก้ปัญหาด้วยการแก้กิเลสในจิตใจของบุคคลและวางแนวปฏิบัติทางศีลธรรมแบบศาสนา ขณะที่นักปรัชญาเสนอปรัชญาศีลธรรมและปรัชญาการเมืองที่ให้รากฐานแก่ศีลธรรมโลกวิสัยและระบบการเมืองประชาธิปไตยและสังคมนิยมแบบโลกวิสัย 

แต่กว่าสังคมสมัยใหม่จะเป็นสังคมโลกวิสัยอย่างที่เห็นทุกวันนี้ นักปรัชญาต่อสู้ทางความคิดกับศาสนามายาวนาน เริ่มตั้งแต่ปรัชญากรีกยุคคาสสิกที่โสกราตีสตั้งคำถามว่า อะไรที่เป็นความดีหรือความบริสุทธิ์ เป็นเพราะว่าเทพเจ้าโปรดปรานมัน หรือเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ดีหรือบริสุทธิ์ในตัวมันเองยู่แล้วเทพจึงโปรดปราน คำถามเช่นนี้ชวนคิดว่า ที่คนเชื่อกันว่าการบูชาเทพต่างๆ เป็นการกระทำที่ดีเพราะว่าตนกำลังทำสิ่งที่เทพโปรดปรานนั้นมันใช่ “ความดี” จริงหรือไม่ 

เหมือนในบ้านเราปัจจุบันที่มีคนบางกลุ่มเห็นข้อความในเฟซบุ๊คที่พวกเขาคิดว่า “หมิ่นเบื้องสูง” แล้วพวกเขาก็ยกพวกไปบ้านของคนโพสต์และบังคับให้เขากราบขอขมาต่อรูปภาพ “เทพสมมติ” โดยเชื่อว่าการกระทำเช่นนั้นเป็น “ความดี” เพราะเป็นการแสดงความจงรักภักดีที่เชื่อว่าเทพสมมติจะโปรดปราน 

ท่ามกลางความจริงของยุคสมัยที่ประชาชนถูกละเมิดเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จากการอ้างศรัทธาในเทพสมมติ ทั้งโดยกฎหมายและกฎหมู่เช่นนี้ นักปรัชญาพุทธบ้านเราก็ “เตือนสติ” เสมอว่า ฝ่ายประชาธิปไตยควรใช้ “ความนุ่มนวล” ในการวิจารณ์เทพสมมติ

แต่ในหนังสือ “Secularism: A very Short Introduction” ของ Andrew Copson พูดถึงแนวคิดฆราวาสนิยมหรือโลกวิสัย (secularism) ที่เรารู้กันในปัจจุบันว่า คือแนวคิดที่ยืนยันการแยกสถาบันศาสนาออกจากสถาบันต่างๆ ของรัฐ และไม่ให้สถาบันต่างๆ ทางศาสนามีอิทธิพลในพื้นที่ทางการเมือง (political sphere) และยืนยันเสรีภาพทางความคิดเห็น, มโนธรรม, ศาสนา, การเปลี่ยนศาสนา, การประกาศความเชื่อของตนเองภายในขอบเขตที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพบุคคลอื่น, รัฐต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อพลเมืองจากพื้นฐานของโลกทัศน์แบบศาสนาหรือแบบไม่มีศาสนา แต่รัฐต้องปฏิบัติต่อพลเมืองทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเขาจะมีความเชื่อแบบศาสนาใดๆ หรือมีความเชื่อแบบไม่มีศาสนาก็ตาม

ทว่ากว่าที่จะมาถึงอุดมคติแบบโลกวิสัยที่ว่านี้ Copson ย้อนสำรวจหาความหมายของ secularism ว่า เริ่มเห็นได้ตั้งแต่อารยธรรมกรีกยุคคลาสสิก นั่นคือ ศาสนาพหุเทวนิยมแบบกรีกไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองในแบบที่บงการความเป็นไปทางสังคม (อย่างที่พบในอารยธรรมเมโสโปเตเมียและอียิปต์ตามคำอธิบายของเบอร์ทรันด์ รัสเซลล์) และนักปรัชญา เช่นอาริสโตเติลเสนอไอเดียทางศีลธรรมและการเมืองแบบทางโลกว่า รัฐมีหน้าที่ทำให้พลเมืองบรรลุถึงการมีชีวิตที่ดีมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ไอเดียชีวิตที่ดีที่สุดหรือเป้าหมายสูงสุดของชีวิตเป็นไอเดียทางโลก ไม่เกี่ยวกับศาสนา ชีวิตที่ดีและสังคมที่ดีสร้างขึ้นจากศีลธรรมของมนุษย์ ไม่ใช่ถูกกำหนดให้มาโดยอำนาจของเทพใดๆ

ในยุคกลาง นักปรัชญาคริสต์ เช่นออกุสติน, อไควนัส พยายามจะแบ่งแยกอำนาจศาสนจักรกับอำนาจรัฐ แต่ยังถือว่ารัฐที่ดีต้องเป็นรัฐคริสเตียน และอำนาจรัฐด้อยกว่าอำนาจศาสนจักร ยุคปฏิรูปศาสนาโดยมาร์ติน ลูเธอร์ เสนอว่าศาสนจักรควรอยู่ใต้การปกครองของรัฐ แต่อำนาจรัฐเน้นเรื่องทางโลก ไม่ควรเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของศาสนจักร ขณะที่ศาสนจักรก็ไม่ใช่ตัวแทนของพระเจ้าในการอภัยบาป แต่ละบุคคลมีเสรีภาพตีความคำสอนในไบเบิลด้วยตนเอง ทว่าเมื่อเขาเห็นว่าเกิด “คำสอนนอกรีต” แพร่หลายมากขึ้น เขาก็เรียกร้องให้รัฐเข้ามาแทรกแซง

ในยุคเรืองปัญญา (the Enlightenment) นักปรัชญาต่างๆ ล้วนให้ความสำคัญกับปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนา มีการแชร์ระหว่างไอเดียแบบคริสต์ยุคปฏิรูปศาสนาที่ยืนยันความเสมอภาค “ในสายตาของพระเจ้า” (in the eye of God) กับความเสมอภาค “ในสายตาทางโลก” (in the eye of the world) และยืนยันว่าเป้าหมายทางศาสนากับเป้าหมายของรัฐต่างกัน เป้าหมายของศาสนาเป็นเรื่องของชีวิตในโลกหน้า แต่เป้าหมายของรัฐคือเสรีภาพและความรุ่งเรืองของชีวิตปัจเจกบุคคลในโลกนี้ กฎหมายของรัฐจึงชอบธรรมที่จะใช้กับพลเมืองทุกคน แต่กฎของศาสนจักรจะใช้กับพลเมืองทุกคนไม่ได้ เรื่องการลงโทษต่อบาปของมนุษย์เป็นเรื่องของพระเจ้ากับปัจเจกบุคคลที่เชื่อในเรื่องดังกล่าวโดยตรง รัฐและศาสนจักรจะแทรกแซงไม่ได้ 

นักปรัชญาเสรีนิยมเช่น ล็อค, รุสโซ, คานท์, มิลล์ ฯลฯ ล้วนแต่ยืนยันการแยกศาสนากับรัฐ ยืนยันเสรีภาพทางศาสนาและขันติธรรมระหว่างศาสนา โดยเฉพาะจอห์น รอลส์ เสนอไว้ในหนังสือ “เสรีนิยมทางการเมือง” (Political Liberalism) เพื่อแก้ปัญหาสำคัญว่า ในสังคมเสรีประชาธิปไตย หรือระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญที่พลเมืองมีความเชื่อแตกต่างหลากหลาย มีทั้งความเชื่อแบบศาสนา และความเชื่อแบบไม่มีศาสนา หรือปรัชญาต่างๆ จะมีหลักเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันอย่างไร

ตามคำอธิบายของรอลส์ คำสอนหรือความเชื่อแบบศาสนาต่างๆ และความเชื่อแบบไม่มีศาสนาหรือปรัชญาต่างๆ นั้น มีทั้งแบบมีเหตุผล (reasonable) และไม่มีเหตุผล ความเชื่อแบบมีเหตุผลคือความเชื่อที่เข้ากันได้หรือไปด้วยกันด้วยกับ “เหตุผลสาธารณะ” (public reason) ในสังคมประชาธิปไตย ความเชื่อที่ไม่มีเหตุผลคือความเชื่อที่ขัดกับเหตุผลสาธารณะ เช่น ความเชื่อแบบเผด็จการอำนาจนิยมทางการเมืองและทางศาสนา 

ตัวอย่างที่ช่วยให้เข้าใจข้อเสนอขอรอลส์ เช่น ความเชื่อที่ว่า “มนุษย์เสมอภาคกันในสายตาของพระเจ้า” หรือ “พระเจ้าสร้างเรามาให้มีสิทธิเท่าเทียมกัน” ย่อมเป็นความเชื่อทางศาสนาที่เข้ากันได้กับเหตุผลสาธารณะ เพราะไม่ขัดกับ “หลักการต่างตอบแทนที่ยุติธรรม” ระหว่างพลเมืองเสรีและเสมอภาคในสังคมประชาธิปไตย เราจึงอ้างความเชื่อดังกล่าว (หรือที่คล้ายกัน) มาอภิปรายถกเถียงในเรื่องสาธารณะหรือผลประโยชน์ส่วนรวมต่างๆ ได้ เพราะการแบ่งปันผลประโยชน์ต่างๆ ทางโลกที่ยุติธรรมก็ยืนยันความเสมอภาคของพลเมืองทุกคนเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

แต่ความเชื่อที่ว่า “การทำแท้งเป็นบาป เพราะขัดพระประสงค์ของพระเจ้า” ย่อมไปกันไม่ได้กับเหตุผลสาธารณะ เพราะถ้ารัฐออกกฎหมายห้ามทำแท้งด้วยเหตุผลว่ามันเป็นบาปเพราะขัดพระประสงค์ของพระเจ้า เหตุผลเช่นนี้ย่อมขัดกับหลักการต่างตอบแทนที่ยุติธรรมระหว่างพลเมืองเสรีและเสมอภาคที่มีความแตกต่างหลากหลายทางความเชื่อ การออกกฎหมายด้วยเหตุผลอิงความเชื่อของศาสนาใดศาสนาหนึ่งเช่นนี้ จึงไม่สามารถอธิบายได้อย่างสมเหตุสมผลว่ามันยุติธรรมกับคนศาสนาอื่นๆ และคนไม่มีศาสนาอย่างไร ดังนั้น ความเชื่อเรื่องทำแท้งเป็นบาปจึงควรเป็น “เหตุผลส่วนตัว” ของปัจเจกบุคคลมากกว่า ไม่ควรนำมาเป็นเหตุผลสาธารณะที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความยุติธรรมสาธารณะโดยตรง

อย่างไรก็ตาม การที่รอลส์ยืนยันว่า มีคำสอนศาสนาบางอย่างที่มีเหตุผลและเข้ากันได้กับเหตุผลสาธารณะที่ยึดโยงกับหลักความยุติธรรมสาธารณะ ก็เพราะรอลส์ยืนยันระบอบเสรีประชาธิปไตยอยู่ก่อนแล้ว คือเขายืนยันระบอบเสรีประชาธิปไตยและการแยกศาสนากับรัฐอยู่ก่อน จึงเสนอหลักการว่าจะมีแนวทางให้ความเชื่อต่างๆ มีส่วนร่วมในการอภิปรายปัญหาของสังคมส่วนรวมบนเหตุผลสาธารณะที่ยึดโยงกับหลักความยุติธรรมสาธารณะในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างไร

ผิดกับบรรดาผู้รู้พุทธศาสนาทั้งพระและฆราวาสในบ้านเราที่พยายามตีความ และยืนยันว่าพุทธศาสนาเป็นประชาธิปไตย หรือมีหลักคำสอนพุทธศาสนาที่ตีความได้ว่าสนับสนุนเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน พร้อมๆ กับยืนยันระบบที่ไม่แยกศาสนากับรัฐในสังคมไทย ซึ่ง “ย้อนแย้ง” พอๆ กับการยืนยันประชาธิปไตยควบคู่กับการยืนยันสถานะและอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ของสถาบันกษัตริย์นั่นเอง   

 

ที่มาภาพ: https://www.bloggang.com/data/v/vinitsiri/picture/1287294034.jpg

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net