Skip to main content
sharethis

23 ก.ค. 2564 ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทำสถิติสูงสุดอีกครั้งที่ 14,757 คน เสียชีวิต 114 คน พบสัดส่วนการติดเชื้อกระจายไปยังต่างจังหวัดเกินครึ่งหลังมาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่ กทม. อัตราการติดเชื้อค่อนข้างสูง ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงเตียงเกือบพัน ศบค. ยันพยายามเต็มที่ เร่งพัฒนาระบบแยกกักตัว

ทุบสถิติอีกวัน ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 14,575 คน

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 23 ก.ค. 2564 ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,575 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 13,490 คน ติดเชื้อจากต่างประเทศ 13 คน และติดเชื้อภานในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 1,072 คน เสียชีวิต 114 คน ผู้ป่วยยืนยันสะสมทั้งหมด 467,707 คน เสียชีวิตสะสม 3,811 คน

ผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ทั้งหมด 143,744 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 3,984 คน ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 900 คน ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม 3,583,759 คน คิดเป็นร้อยละ 5.49 ของประชากรไทย

สถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 23 ก.ค. 2564

สถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 23 ก.ค. 2564

ในส่วนของผู้เสียชีวิต กระจายตัวในหลายจังหวัด สูงสุดที่กรุงเทพมหานคร 49 ราย ค่ากลางอายุของผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 64 ปี โดยอายุน้อยที่สุดอายุ 14 ปี มีรายงานผู้เสียชีวิตที่บ้าน 3 ราย

คนเดินทางหลังล็อกดาวน์ เชื้อกระจายหนักต่างจังหวัด

สำหรับสัดส่วนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ พบว่า ก่อนหน้านี้กรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวมกันเป็นสัดส่วนส่วนใหญ่ของผู้ติดเชื้อ ปัจจุบันแม้ผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะไม่ลดจำนวนลง แต่ปริมาณผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยสัดส่วนผู้ติเชื้อในต่างจังหวัดคิดเป็นร้อยละ 55 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด ขณะที่กรุงเทพมหานครมีสัดส่วนที่ร้อยละ 23 และปริมณฑลร้อยละ 22

สัดส่วนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่

สัดส่วนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่

จากรายงานของกรมควบคุมโรคยังพบว่า ผู้ติดเชื้อในหลายจังหวัดเดินทางกลับจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล นำไปสู่การสัมผัสติดเชื้อภายในครอบครัวและชุมชน ได้แก่ จ.อุบลราชธานี จ.สระบุรี จ.ตาก จ.ขอนแก่น จ.อุตรดิตถ์ จ.สระแก้ว จ.สุราษฎร์ธานี จ.ลำปาง จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ จ.ชัยภูมิ จ.สุรินทร์ จ.พังงา จ.กระบี่ และ จ.สตูล

ด้านศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) รายงานว่า หลังบังคับใช้ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับล่าสุด พบผู้เดินทางข้ามพื้นที่เกินแสนคน

กทม. อัตราการติดเชื้อสูง ผู้ป่วยเข้าระบบรักษาไม่ได้เกือบพัน

นอกจากนี้ ผลการตรวจเชิงรุกที่กรุงเทพมหานคร พบว่า อัตราการติดเชื้อสูงถึงร้อยละ 11 จากจำนวนที่ได้รับการตรวจทั้งหมด หากเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง อัตราการติดเชื้อจะสูงขึ้นไปอีกถึงร้อยละ 15 ส่วนผู้ที่มีอาการตามนิยามโรคจะพบอัตราการติดเชื้อสูงถึงร้อยละ 25

ด้านสถานการณ์การรอจัดสรรเตียงในกรุงเทพมหานคร พบว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยรอเตียงเพิ่ม 868 คน นำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาสำเร็จ 121,457 คน โดยผู้ช่วยโฆษก ศบค. ยอมรับว่า ยังมีผู้ป่วยที่เข้าไม่ถึงระบบการดูแลรักษา แต่อยากให้เห็นว่ากำลังเร่วงกระบวนการทำงานอย่างที่สุด และจะรีบจัดสรรเตียงให้ผู้ป่วยอีก 868 คนโดยเร็ว

สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

หากจำแนกตามอาการของผู้ที่รอจัดสรรเตียงในนระบบ พบผู้ป่วยระดับสีแดง 70 คน โดยในจำนวนนี้ 40 คน รอจัดสรรเตียงมามากกว่า 1 วัน กลุ่มอาการสีเหลืองรอจัดสรรเตียง 1,285 คน ในจำนวนนี้ 788 คนรอจัดสรรเตียงมากกว่า 2 วัน

ปริมาณผู้ติดเชื้อรอจัดสรรเตียง จำแนกตามระดับอาการ

ปริมาณผู้ติดเชื้อรอจัดสรรเตียง จำแนกตามระดับอาการ

กลุ่มไม่มีอาการ-อาการเล็กน้อยเน้นแยกกักที่บ้าน

อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ติดเชื้อระดับสีเขียว คือ กลุ่มที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย ไม่มีอาการในระบบทางเดินหายใจ และผู้ป่วยอายุน้อย เมื่อได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ และมีอาการในระดับนี้จะยังไม่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากแนวปฏิบัติขะนี้เน้นให้ดูแลตนเองที่บ้าน หรือแยกกักที่บ้าน (home isolation)

พญ.อภิสมัย ย้ำด้วยว่า การตรวจด้วย antigen test kit ทำให้ทราบผลเร็วขึ้น หากมีผลเป็นบวก แม้จะยังไม่ได้รับการยืนยันด้วยการด้วยแบบ RT-PCR ก็ขอให้แยกกักตัวทันที สำหรับผู้ที่เข้ารับการตรวจและมีผลเป็นบวก สามารถแจ้งขอเข้า home isolation ได้ที่โรงพยาบาลที่เข้ารับการตรวจ โดยโรงพยาบาลจะมีคู่มือการแยกกักตัวที่บ้าน

กรณีตรวจเชื้อผ่านคลินิกเอกชน หรือภาคเอกชนและ NGO ที่ไม่มีโรงพยาบาลต้นสังกัด สามารถติดต่อขอเข้า home isolation ที่หมายเลข 1330 กด 14 หรือสิทธิประกันสังคม โทร 1506 กด 6 นอกจากนี้ กสทช. ยังจะจัดหมายเลขให้สำนักงานเขต 50 หมายเลข เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงระบบได้มากขึ้น

ส่วนค่าใช้จ่ายในการแยกกักสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นผู้ดูแล ไม่ว่าจะค่าเอ็กซเรย์ปอด ค่ารถพยาบาลกรณีต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และค่าอาหาร 3 มื้อ พร้อมมีอุปกรณ์สำหรับดูแลตนเองที่บ้าน

กรณีมีข้อจำกัด เช่น มีเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุ หรือสภาพบ้านไม่พร้อมต่อการแยกกักตัวที่บ้าน ยังมีช่องทางการแยกกักตัวในชุมชน หรือศูนย์พักคอย หรือ community isolation ที่จะช่วยได้ โดยมีผู้ป่วยเข้าระบบนี้แล้ว 1,862 คน ในกรุงเทพมหานครเปิดแล้ว 22 เขต กำลังจะเปิดเพิ่มอีก 14 เขต และตระเตรียมสถานที่เพื่อเปิดเพิ่มอีก 14 เขตที่เหลือ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสภากาชาดไทยและภาคประชาสังคม หรือ NGO โดยมีโรงพยาบาลพี่เลี้ยง 25 โรงพยาบาลที่เข้ามาดูแลเรื่องความปลอดภัย

วัคซีนไฟเซอร์ให้แพทย์-กลุ่มเสี่ยงก่อน

สำหรับแผนการกระจายวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคจากต่างประเทศ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงว่า ที่ประชุม ศบค. มุ่งเน้นให้กระจายไปยัง 4 กลุ่ม ได้แก่

1. กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือ booster dose

2. กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และหญิงมีครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป

3. กลุ่มชาวต่างชาติสูงวัย หรือมีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค

4. กลุ่มคนไทยที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ ได้แก่ นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา และนักการทูต โดยกลุ่มนี้ลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีนได้ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนและสุขภาพบางรัก และสถาบันบำราศนราดูร โดยกระทรวงการต่างประเทศกำลังสำรวจจำนวนผู้ต้องการวัคซีน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net