Skip to main content
sharethis

23 ก.ค. 2564 สธ. เร่งฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ศบค. เผยจัดสรรไฟเซอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนกลุ่มเสี่ยงก่อน ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติแจง เข้าร่วม COVAX ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง อภ.ลงนามสัญญาโมเดอร์นา สภากาชาดย้ำฉีดให้กลุ่มเปราะบางเท่านั้น

ตัวเลขติดเชื้อ ตจว. พุ่งสูง กทม. เริ่มชะลอตัว คาดสัปดาห์หน้าผู้เสียชีวิตลดลงต่ำกว่าร้อย

เอชโฟกัสรายงานว่า นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านทางเพจเฟซบุ๊กกระทรวงสาธารณสุขว่า สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ในประเทศไทยสัปดาห์นี้ พบว่า มีรายงานผู้ติดเชื้อรายวันเป็นหลักหมื่นรายตลอดทั้งสัปดาห์ ล่าสุดวันที่ 23 ก.ค. 2564 ติดเชื้อ 14,575 ราย เสียชีวิตรายใหม่ 114 ราย เป็นการระบาดในวงกว้าง

นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ชี้ว่า ถ้าดูแนวโน้มการติดเชื้อระดับประเทศจะเห็นว่า รายงานติดเชื้อรายใหม่อยู่ในลักษณะขาขึ้นสูงมากเพิ่มเป็น 2-3 เท่าในทุกสัปดาห์ แต่หากแยกเป็นรายพื้นที่พบว่า การติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นมากที่ต่างจังหวัด ขณะที่กรุงเทพมหานครยังติดเชื้อสูงแต่เริ่มชะลอตัว เป็นผลจากมาตรการที่เราพยายามช่วยกันก็จะช่วยชะลอการติดเชื้อต่างๆ ลงมาได้มากขึ้น

สำหรับการเสียชีวิต 114 ราย ครึ่งหนึ่งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร อีกส่วนหนึ่งอยู่ที่จังหวัดปริมณฑลซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม ทั้งนี้ แนวโน้มจำนวนการเสียชีวิตในประเทศไทยในช่วง 1 เดือนย้อนหลัง มีการเสียชีวิตต่ำกว่า 50 รายต่อวัน แต่ขณะนี้ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 100 รายต่อวัน เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้น

เมื่อสัดส่วนผู้ติดเชื้อมากขึ้น จะมีบางส่วนมีอาการมาก อาการรุนแรง ก็จะทำให้จำนวนการเสียชีวิตในขณะนี้เป็นแนวโน้มขาขึ้นในแต่ละสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาข้อมูลจากกรุงเทพมหานครพบว่า การติดเชื้อเริ่มชะลอตัว แนวโน้มผู้เสียชีวิตก็เชื่อว่าสัปดาห์ถัดมาไม่น่าจะสูงไปกว่า 100 ราย

เร่งฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค

นอกจากนี้ นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า จากจำนวนวัคซีนที่เราสามารถจัดหามาได้สามารถฉีดได้ประมาณวันละ 300,000 โดส ต่อวัน มีทั้งแอสตราเซเนกา และซิโนแวค ปัจจุบันฉีดวัคซีนสะสม 15,388,939 โดส

เมื่อจำแนกตามกลุ่มเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ 1. ลดป่วยรุนแรง ลดการติดเชื้อ 2. ปกป้องระบบสุขภาพ 3. กลับเข้าสู่การใช้ชีวิตประจำวัน ที่ผ่านมายุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนจะให้บุคลากรสาธารณสุขสามารถดำเนินการควบคุมโรคได้ รักษาพยาบาลได้ วันนี้ฉีดครอบคลุม 100% ของเป้าหมาย เป้าหมายที่ 2 ที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อลดเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยงอายุ 60 ปี ขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ซึ่งจากข้อมูลมีผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคที่เป็นเป้าหมายจำนวน 5,350,000 ราย ขณะนี้ฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 แล้วจำนวน 1,252,063 ราย คิดเป็น 23.4% ฉีดครบ 2 เข็ม 232,385 ราย คิดเป็น 4.3% ส่วนผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป กลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 12,500,000 ราย ฉีดเข็มที่ 1 แล้ว 2,414,399 ราย คิดเป็น 19.3% ฉีดครบ 2 เข็มแล้ว 156,999 คิดเป็น 1.3%

“ในสถานะที่เรามีวัคซีนจำกัด การจะฉีดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก็ต้องปกป้องคนที่หากติดเชื้อและมีโอกาสที่อาการจะรุนแรงและเสียชีวิต คือผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ก็อยากจะสื่อสารให้พี่น้องประชาชนว่าในขณะนี้กระบวนการต่างๆ ในแง่การจัดลำดับความสำคัญของผู้ที่จะได้รับวัคซีน แน่นอนว่า พี่น้องประชาชนที่สมัครใจจะฉีดวัคซีนนั้นจะได้รับการฉีดทั้งหมด แต่กลุ่มที่อยากให้เป็นกลุ่มเป้าหมายเพื่อลดการเสียชีวิตได้ฉีดก่อน คือผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งคนกลุ่มนี้หากติดเชื้อ จากสถิติบ้านเรา ติด 10 คน เสียชีวิต 1 คน แต่หากเป็นคนทั่วไป ที่ไม่มีโรคประจำตัว อายุ 20-59 ปี ติดเชื้อ 1 พันคนมีโอการเสียชีวิต 1 คน จะเห็นว่าโอกาสมากกว่ากัน 100 เท่า จึงขอความร่วมมือให้นำพาผู้สูงอายุ และผู้ป่วยมาฉีดวัคซีน เพื่อเป้าหมายที่ช่วยคุมโควิดระยะถัดไป เราคงสามารถจัดการได้อย่างราบรื่น โควิดไม่ได้น่ากลัวจนเราไม่สามารถควบคุมได้ แต่ยังมีสิ่งที่เราต้องเรียนรู้และดำเนินการต่อ” นพ.ทวีทรัพย์ กล่าว

ขณะที่ ศบค. แถลงแผนการกระจายวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคจากต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นไปยัง 4 กลุ่ม ได้แก่

1. กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือ booster dose

2. กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และหญิงมีครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป

3. กลุ่มชาวต่างชาติสูงวัย หรือมีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค

4. กลุ่มคนไทยที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ ได้แก่ นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา และนักการทูต โดยกลุ่มนี้ลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีนได้ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนและสุขภาพบางรัก และสถาบันบำราศนราดูร โดยกระทรวงการต่างประเทศกำลังสำรวจจำนวนผู้ต้องการวัคซีน

ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติแจง เข้าร่วม COVAX ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

เอชโฟกัสยังรายงานด้วยว่า นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงข่าวออนไลน์ โครงการความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและองค์การอนามัยโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่าด้วยการรับมือและความพร้อมในการจัดการโรคระบาดในประเทศไทย

ช่วงหนึ่ง นพ.นคร ตอบคำถามประเด็นการเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ว่า มีความเข้าใจผิดและอาจนำไปปนกันระหว่าง โคแวกซ์ AMC (Advance Market Commitment: AMC) และโคแวกซ์ SFP (Self-financing participant) ซึ่งประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศในส่วนของโคแวกซ์ AMC 92 ประเทศ เนื่องจากเราเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง (Upper Middle Income)

เวลาที่มักมีคำเปรียบเทียบว่า อาเซียนเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์แล้วได้วัคซีน ต้องแยกประเทศอาเซียนเป็น 2 กลุ่ม อย่างโคแวกซ์ AMC เป็นประเทศที่ทำสัญญาจองล่วงหน้า ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ส่วนโคแวกซ์ SFP ประเทศที่สั่งซื้อวัคซีนด้วยเงินทุนของประเทศตนเอง ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน รวมทั้งไทย ดังนั้น หากเราไม่มีความเข้าใจส่วนนี้ก็จะนำไปผสมกัน และคิดว่าเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์แล้วได้วัคซีนฟรี ซึ่งไม่ใช่ เพราะต้องจ่ายเงิน

ทั้งนี้ เมื่อดูโครงการโคแวกซ์ ข้อมูล ณ วันที่ 22 ก.ค. 2564 ได้ส่งมอบวัคซีนไปแล้วจำนวน 136 ล้านโดส ใน 136 ประเทศ ซึ่งเมื่อหารแล้วแต่ละประเทศได้รับวัคซีนประเทศละ 1 ล้านโดส ดังนั้น เหตุผลเดิมที่ไทยไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ตั้งแต่ต้น เพราะต้องจ่ายเงินเอง และต้องรอรับวัคซีนที่ไม่รู้ได้เมื่อไหร่ และเหตุการณ์เชิงประจักษ์ ณ เวลานี้ มีการส่งมอบวัคซีน 136 ล้านโดสใน 136 ประเทศ เหตุผลจึงเหมือนเดิม ไม่ได้ว่าเราตัดสินใจ ไม่ได้จองวัคซีนโคแวกซ์แล้วผิดพลาด

ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติชี้แจงเหตุผลที่พิจารณาเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ว่า เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป การที่ผู้ผลิตได้ส่งมอบวัคซีนให้แก่ประเทศรายได้สูง ที่จองไว้จนเกินพอ และมีการบริจาคออกมา เริ่มมีซัพพลายด์ที่เกินพอจากประเทศที่จองเกินล่วงหน้า แต่ซัพพลายด์จริงที่จะเกิดขึ้นใหม่ยังขาดอยู่ เพียงแต่เราวิเคราะห์สถานการณ์ปี 2565 ดูทิศทางแล้วว่า บริษัทผู้ผลิตวัคซีน หลังจากจัดส่งให้กับประเทศรายได้สูงจนเกินพอ ต่อไปก็จะกลับมาดูในส่วน Global Solidarity จะเกิดขึ้นในปีหน้า ไม่ใช่ปีนี้ จึงต้องพูดกันตรงๆ จะได้เข้าใจ ไม่อย่างนั้นจะคิดว่าเรากลับไปกลับมา ซึ่งคนละเรื่อง

ดังนั้น ปีหน้า เมื่อตรวจสอบดูแนวโน้มผู้ผลิตหลายราย ที่เป็นรายใหญ่ๆ จะเริ่มส่งมอบให้กับโครงการโคแวกซ์ เรียกว่าน่าจะส่งมอบเป็นหลัก จากการตรวจสอบผู้ผลิตรายใหญ่ 2-3 เจ้า จึงเป็นที่มาของการร่วมโครงการโคแวกซ์

นพ.นคร กล่าวว่า เราไม่ได้มุ่งหวังปีนี้ เพราะผู้ผลิตส่งไม่ทันอยู่แล้ว แต่เรามุ่งปีหน้า เพื่อเพิ่มช่องทางการนำเข้ามาของวัคซีนปีหน้า ดังนั้น การเข้าร่วมโคแวกซ์ ณ เวลานี้ จึงเป็นการบริหารความเสี่ยงสำหรับอนาคตในปีหน้า หากผู้ผลิตวัคซีนมุ่งเน้นส่งวัคซีนให้โคแวกซ์ ประเทศไทยก็จะมีช่องทางเข้าถึงวัคซีนในปี 2565 เป็นการบริหารตามสถานการณ์เปลี่ยนแปลง

ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติย้ำว่า สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ทำการวิเคราะห์และสื่อสารไปตั้งแต่ต้นปี 2564 ยังเป็นเหมือนเดิม และสถานการณ์ก็เป็นเหมือนที่บอก เพราะประเทศที่เข้าร่วมยังได้วัคซีนล่าช้า 136 ล้านโดส ใน 136 ประเทศ

องค์การเภสัชกรรมลงนามสัญญาซื้อขายวัคซีนโมเดอร์นา 5 ล้านโดส

เอชโฟกัส รายงานว่า 23 ก.ค. 2564 นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า วันนี้องค์การเภสัชกรรม และบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จํากัด ในนามบริษัท แซดพี เทอราพิวติกส์ ซิลลิค ฟาร์มา ประเทศไทย ลงนามในสัญญาซื้อ-ขายอย่างเป็นทางการในการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นา จำนวนประมาณ 5 ล้านโดส โดยมี นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ร่วมเป็นสักขีพยาน

วัคซีนทั้งหมดจะทยอยนำเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 ต่อเนื่องไตรมาส 1 ปี 2565 เป็นไปตามช่วงเวลาเดิมที่กำหนดไว้

ขณะเดียวกันโรงพยาบาลต่างๆ รวมทั้งสภากาชาดไทย ชำระเงินค่าวัคซีนครบถ้วนตามที่ได้รับการจัดสรร หลังจากนี้องค์การเภสัชกรรมจะชำระเงินให้แก่ บริษัท ซิลลิก ฟาร์มา จํากัด ต่อไป เพื่อให้ความมั่นใจว่าวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา จำนวนประมาณ 5 ล้านโดสนี้ จะเข้ามาประเทศไทยอย่างแน่นอน

“องค์การเภสัชกรรมได้ปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ในการเป็นหน่วยงานภาครัฐทำหน้าที่จัดซื้อจัดหาวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา เพื่อให้ประชาชนได้มีวัคซีนทางเลือกเพิ่มขึ้น โดยนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 องค์การเภสัชกรรม ได้มุ่งมั่น ทุ่มเท ดำเนินการในทุกภารกิจทั้งด้านยา วัคซีน และเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ในการป้องกันต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนระบบสาธารณสุขไทย เพื่อให้ประเทศไทยได้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้” นพ.วิฑูรย์ กล่าว

สภากาชาดย้ำ วัคซีนโมเดอร์นา อบจ. ต้องฉีดให้กลุ่มเปราะบางเท่านั้น

ด้านสำนักข่าวไทย รายงานว่า เตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทยกล่าวว่า ได้ปิดรับการขอจัดสรรวัคซีนโมเดอร์นาตั้งแต่เที่ยงวันที่ 22 ก.ค. 2564 โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หลายจังหวัดยื่นขอรับการจัดสรร จนเกินกว่า 1 ล้านโดสที่สภากาชาดไทยสั่งซื้อ ทั้งนี้ ยืนยันว่า ทุก อบจ. ต้องทำแผนการฉีดวัคซีนฟรีที่รับรองโดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานเสนอมาด้วย โดยกลุ่มเป้าหมายต้องเป็นกลุ่มเปราะบาง 5 กลุ่ม จึงมั่นใจว่า จะป้องกันการนำไปฉีดให้ผู้บริหาร อบจ. และครอบครัวตามข่าวได้แน่นอน

เตชกล่าวต่อว่า วัคซีนที่จะมาถึงไตรมาส 4 ของปีนี้ 1 ล้านโดส ทางสภากาชาดไทยจะจัดสรรให้หน่วยงานสังกัดสภากาชาดไทยคือ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สถานเสาวภา สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สถานีกาชาดในต่างจังหวัด รวมทั้งเหล่ากาชาดจังหวัด 100,000 โดส เพื่อนำไปฉีดให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายในกรุงเทพและต่างจังหวัด จัดสรรให้โรงพยาบาลในสังกัดของรัฐ 150,000 โดสให้นำไปฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งจัดสรรให้ อบจ. 750,000 โดสเพื่อนำไปฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งรวมแล้วฉีดให้ได้ 500,000 คนเท่านั้น ขณะที่คนด้อยโอกาสในประเทศไทยมีประมาณ 11 ล้านคน

เลขาธิการสภากาชาดไทยกล่าวว่า ขณะนี้สภากาชาดไทยมีกำลังที่จะช่วยรัฐเพียงเท่านี้ แต่ข่าวดีคือ ในปีหน้าทางโมเดอร์นาจะผลิตวัคซีนรุ่น 2 ที่ต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ออกมา ซึ่งสภากาชาดไทยได้ประสานกับบริษัทผู้นำเข้าเพื่อจัดซื้อแล้ว โดยในปีหน้า บริษัทที่นำเข้าสามารถทำสัญญากับสภาพกาชาดไทยได้โดยตรง ซึ่งจะทำให้การจัดหาวัคซีนมาช่วยเหลือประชาชนทำได้คล่องตัวขึ้น

ทางด้านชูพงศ์ คำจวง นายก อบจ.สกลนคร แถลงยืนยันว่า อบจ. ได้ขอรับการจัดสรรวัคซีนจากสภากาชาดไทยเพื่อนำมาฉีดให้แก่กลุ่มเปราะบางตามที่กำหนด ไม่ได้จะนำมาฉีดให้หัวหน้าส่วนราชการและครอบครัวตามที่เป็นข่าว ส่วนหนังสือที่ปรากฏออกมานั้น เป็นการสำรวจรายชื่อบุคลากร อบจ. ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 เท่านั้น นอกจากนี้ การทำอนุมัติแผนฉีดวัคซีนว่า จะฉีดให้ใครเป็นจำนวนเท่าไรเป็นอำนาจของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ไม่ใช่อำนาจของ อบจ.

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยนรายงานด้วยว่า ทางสภากาชาดไทยจะจัดสรรวัคซีนให้ อบจ. ที่แจ้งขอรับมา 38 จังหวัดซึ่ง อบจ. สกลนครไม่ได้รับการจัดสรรแต่อย่างใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net