Skip to main content
sharethis

ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 14,260 ราย สะสม 481,967 ราย หายสะสม 327,789 ราย เสียชีวิต 119 ราย สะสม 3,930 ราย - ราชกิจจานุเบกษา ประกาศขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถึง 30 ก.ย. 2564

24 ก.ค. 2564 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงาน สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,260 คน จำแนกเป็น ติดเชื้อใหม่ 13,605 คน ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 655 คน ผู้ป่วยสะสม 453,104 คน (ตั้งแต่ 1 เม.ย.) หายป่วยกลับบ้าน 7,637 คน หายป่วยสะสม 300,363 คน (ตั้งแต่ 1 เม.ย.) เสียชีวิต 119 คน ขณะที่เว็บไซต์ worldometers รายงานว่า (ข้อมูลเวลา 08.50 น.) ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อแล้ว 194,008,586 คน เสียชีวิตสะสม 4,159,491 คน หายป่วยสะสม 176,115,464 คน

ผู้ป่วยอาการน้อย รักษาตัวที่บ้าน โทร 1330 กด 14

กรุงเทพมหานคร (กทม.) กำหนดแนวทางดูแลแยกกัก รักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ติดเชื้อโควิดที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย ที่มีความพร้อมในการรักษาตัวที่บ้าน โดยต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ผู้ป่วยที่จะทำการแยกกัก รักษาตัวที่บ้าน ให้โทรแจ้งสายด่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 1330 กด 14

ผู้ป่วยต้องมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ดังนี้ เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย (กลุ่มสีเขียว) มีอายุน้อยกว่า 60 ปี มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีภาวะอ้วน (น้ำหนักน้อยกว่า 90 กก.) ผู้ป่วยและคนที่พักอาศัยอยู่ด้วยกันไม่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง (ระยะ 3,4,5) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ และที่พักอาศัยโดยรวมต้องมีพื้นที่สำหรับผู้ป่วยแยกกักตัวโดยเฉพาะ

นอกจากผู้ป่วยรายใหม่ที่เป็นกลุ่มสีเขียว จะสามารถแยกกักรักษาตัวแบบ Home Isolation ได้แล้ว ผู้ป่วยที่เข้าพัก ณ โรงพยาบาลสนาม Hospitel และโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษามาแล้ว 7-10 วัน สามารถกลับบ้าน แล้วแยกกักรักษาตัวตามแนวทางของ Home Isolation ได้เช่นกัน ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถึง 30 ก.ย. 2564

เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 13) โดยมีรายละเอียดดังนี้

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.2563 และได้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินคราวที่ 12 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ก.ค.2564 นั้น

ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกภาคส่วน ทั้งการค้นหาและการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ การเร่งเสริมสร้างศักยภาพการให้บริการด้านสาธารณสุขเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโดยการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม การจัดระบบการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อที่แยกกักตัวที่บ้านและแยกกักตัวในชุมชน การเร่งจัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อผู้ป่วย

เร่งรัดจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้ได้จำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และกำหนดให้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้สามารถฉีดวัคซีนได้กว้างขวางมากที่สุด เพื่อป้องกันโรคและลดอาการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต รวมถึงเร่งรัดผลิตยารักษาโรคขึ้นภายในประเทศ และจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางของบุคคล เพื่อสกัดกั้นการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด และอยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขสามารถรองรับได้

อย่างไรก็ตาม โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้กลายพันธุ์และสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วกว่าเดิมโดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภูมิภาคหลายจังหวัดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

ในลักษณะการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ กรณีจึงจำเป็นที่จะต้องคงไว้ซึ่งมาตรการที่เข้มข้นในการเฝ้าระวังและสอบสวนโรค รวมทั้งการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเพื่อความมั่นคงปลอดภัยด้านสุขภาพและชีวิตของประชาชน และสาธารณสุขของประเทศ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตามมติเมื่อวันที่ 20 ก.ค.2564 จึงให้ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีกคราวหนึ่ง

สำหรับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปควบคู่กัน

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2564 จนถึงวันที่ 30 ก.ย.2564 

นอกจากนี้ ในวันเดียวกันยังมีการเผยแพร่ประกาศ เรื่อง การให้ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับ และ ประกาศเรื่อง การให้ประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2564

เพิ่มอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ เป็นกรรมการเฉพาะกิจ

ขณะเดียวกันเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ยังได้เผยแพร่คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 11/2564 เรื่อง เพิ่มเติมองค์ประกอบคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยมีรายละเอียดดังนี้

ตามที่ได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 7 /2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ลงวันที่ 5 พ.ค.2564 นั้น เพื่อให้การบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID- 19 ในเรื่องที่เกี่ยวข้องทางการแพทย์และสาธารณสุขเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 วรรคสอง ของคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 5/2563 เรื่อง การจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ลงวันที่ 25 มี.ค.2563 นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จึงมีคำสั่งให้เพิ่มเติมองค์ประกอบคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยให้มี อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเป็นกรรมการ

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ชาย 80 ปีเสียชีวิตที่อนุสาวรีย์ชัยฯ ตรวจเบื้องต้นพบติดเชื้อโควิด

แพทย์นิติเวชโรงพยาบาลรามาธิบดี และเจ้าหน้าที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เข้าตรวจสอบบริเวณ Victory Point เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หลังได้รับแจ้งว่ามีผู้เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ

จากการตรวจสอบพบว่าผู้เสียชีวิตเป็นชายอายุ 80 ปี นอนเสียชีวิตอยู่ข้างที่นั่ง โดยมีกระเป๋าสัมภาระอยู่ด้วย แพทย์จึงตรวจหาเชื้อ COVID-19 ด้วยวิธี Rapid Test ผลพบว่าติดเชื้อ COVID-19 จึงได้กั้นพื้นที่และเก็บศพไปชันสูตรต่อที่โรงพยาบาลรามาธิบดี

ร้อยตรีวิสิษฐ สมบุญ ผู้ดูแล Victory Point เกาะพญาไท เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากผู้ค้าในพื้นที่ว่าพบเห็นชายคนคนหนึ่งล้มลงหลังจากนั่งดื่มน้ำในบริเวณดังกล่าว จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาตรวจสอบ โดยคาดว่าเป็นคนเร่ร่อนที่มาพักบริเวณนี้ตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา ก่อนจะพบว่าเสียชีวิต

“เพิ่งเคยเห็นคนนี้มานอนพักที่นี่ ไม่ทราบว่ามาจากที่ไหน ซึ่งปกติแล้วบริเวณนี้ก็จะมีคนเร่ร่อนมาพักอยู่เป็นประจำ แม้ว่าจะแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการ แต่ก็ยังมีคนมาพักอาศัยอยู่เรื่อย ๆ”

ขณะที่แพทย์นิติเวช โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยหลังการชันสูตรพลิกศพเบื้องต้น พบว่าผู้เสียชีวิตไม่มีบาดแผลตามร่างกาย แต่ต้องไปชันสูตรอย่างละเอียดอีกครั้ง ส่วนการตรวจเบื้องต้นที่พบติดเชื้อ COVID-19 นั้น ต้องไปตรวจสอบต่อที่โรงพยาบาล ส่วนในกระเป๋าสัมภาระพบยารักษาโรคประจำตัวโรคเบาหวาน และความดัน รวมทั้งเสื้อผ้าจำนวนหนึ่ง หลังจากนี้ต้องประสานติดตามญาติผู้เสียชีวิตต่อไป

กรมราชทัณฑ์ รายงานสถานการณ์โควิด-19 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 655 ราย หายป่วยเพิ่ม 121 ราย เสียชีวิต 1 ราย

นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถาน พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 655 ราย (พบในเรือนจำสีแดง 623 ราย และพบในห้องแยกกักโรคผู้ต้องขังรับใหม่ 32 ราย) หายป่วยเพิ่ม 121 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมยังมีผู้ต้องขังติดเชื้อที่อยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ 5,631 ราย ในวันนี้ สถานะเรือนจำยังคงเดิมเหมือนเมื่อวาน คือ เรือนจำสีขาวที่ไม่พบการแพร่ระบาด 112 แห่ง และเรือนจำสีแดงจำนวน 22 แห่ง ทั้งนี้ มีที่สิ้นสุดการระบาดแล้ว 8 แห่ง แต่อยู่ระหว่างการตรวจประเมินตามมาตรการสาธารณสุขเพื่อปรับสถานะเป็นเรือนจำสีขาว สำหรับผู้ติดเชื้อที่ยังอยู่ระหว่างการรักษา แบ่งเป็นกลุ่มสีเขียว 83.7% สีเหลือง 15.9% และสีแดง 0.4% มีผู้ป่วยที่รักษาหายสะสมแล้ว 37,063 ราย หรือ 86% ของผู้ติดเชื้อสะสม 43,099 ราย มีจำนวนผู้เสียชีวิตรวม 48 ราย หรือ 0.1% ของผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด

นายอายุตม์ กล่าวว่า ผู้เสียชีวิต 1 รายในวันนี้ เป็นผู้ต้องขังชายอายุ 65 ปี มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง ต่อมลูกหมากโต ตรวจพบเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 และเข้ารักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ด้วยอาการเหนื่อย หายใจเร็ว X-ray พบปอดอักเสบ ให้การรักษาด้วยยาFavipiravir Dexamethasone ยาโรคประจำตัว และ Oxygen ความเข้มข้นสูง HFNC แต่ผู้ป่วยเหนื่อยเพิ่มมากขึ้น ตรวจเพาะเชื้อพบมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ฉีดยาปฏิชีวนะระดับสูง ยังเหนื่อยหายใจเร็ว ประสานญาติร่วมพิจารณาแนวทางการรักษา ให้การรักษาประคับประคองตามความประสงค์ และเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ผู้ป่วยซึมลง ประสานแจ้งญาติรับทราบอาการ จนกระทั่งเวลา 23.24 นาฬิกา ผู้ป่วยวัดสัญญาณชีพไม่ได้และเสียชีวิตอย่างสงบ กรมราชทัณฑ์ ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปมา ณ โอกาสนี้

สภากาชาดไทยเผยชื่อ อบจ.38 จว. ได้รับจัดสรรโมเดอร์นาให้กลุ่มเป้าหมาย

นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทยกล่าวว่า สภากาชาดไทยพิจารณาจัดสรรวัคซีนโมเดอร์นาให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สั่งจองยังสำนักบริหารกิจการเหล่ากาชาดเข้ามาแล้ว รวม 38 จังหวัด ประกอบด้วย อบจ. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ เชียงใหม่ ชลบุรี ราชบุรี อุดรธานี สระบุรี มหาสารคาม สิงห์บุรี ลำพูน กระบี่ แพร่ สมุทรสาคร เพชรบูรณ์ นครปฐม ร้อยเอ็ด นครนายก พะเยา กาฬสินธุ์ พระนครศรีอยุธยา น่าน นราธิวาส ศรีสะเกษ สุพรรณบุรี อุทัยธานี เชียงราย สุโขทัย อ่างทอง ภูเก็ต อุตรดิตถ์ มุกดาหาร ตาก ชุมพร พังงา ลพบุรี สุรินทร์ และปัตตานี

ทั้งนี้ ทุกแห่งได้นำเสนอแผนการฉีดวัคซีนตามกลุ่มเป้าหมายที่สภากาชาดไทยกำหนด และผ่านการพิจารณาจากผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดได้เซ็นกำกับรับรองส่งมายังสภากาชาดไทย ตลอดจนชำระเงินเพื่อบริจาคเข้ากองทุนจัดหาวัคซีนและยารักษาโรคโควิด-19 เพื่อประชาชนของสภากาชาดไทย 1,100 บาทต่อโดสแล้ว

นายเตชกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้กำหนดอัตราต่อโดสที่ 1,300 บาท เป็นค่าวัคซีนที่จัดซื้อรวมกับค่าบริหารจัดการ โดยคำนวณจากราคาที่เจรจากับบริษัทนำเข้าในเดือนเมษายน แต่ราคาที่ตกลงกันล่าสุด จนนำไปสู่การลงนามสัญญาจัดซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรมถูกลงกว่าเดิม คาดว่า เป็นเพราะปริมาณที่วัคซีนที่ทุกบริษัทผลิตได้เพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถเปิดเผยราคาวัคซีนที่จัดซื้อเนื่องจากมีข้อตกลงระหว่างคู่สัญญาซื้อขายไม่ให้ทั้ง 2 ฝ่ายเปิดเผยข้อมูลของคู่ค้า (Non-disclossure Agreement-NDA)

ทั้งนี้ ยืนยันว่า อบจ. ต้องนำวัคซีนไปฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ตามที่สภากาชาดไทยกำหนด 5 กลุ่ม ตามลำดับ ได้แก่ 1) คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง สตรีตั้งครรภ์ ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อน 2) ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อน 3) บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล ในถิ่นทุรกันดาร 4) ผู้ที่ทำงานประจำอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูผู้สอนในโรงเรียนอนุบาล หรือครู อาจารย์ ผู้ที่ทำหน้าที่ สอนหนังสือในโรงเรียน ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อน 5) บุคลากรที่ต้องออกปฏิบัติงานสัมผัสประชาชน ตามโครงการฉีดวัคซีนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อน และบุคคลที่ยังไม่สามารถรับการฉีดวัคซีนได้ เนื่องจากติดขัดระเบียบหรือกฎหมาย โดยไม่คิดมูลค่าและห้ามนำไปจำหน่ายโดยเด็ดขาด ซึ่งคาดว่า สภากาชาดไทยจะทยอยจัดสรรวัคซีนได้ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไป


ที่มาเรียบเรียงจาก Thai PBS [1] [2] [3] | สำนักข่าวไทย [1] [2]



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net