โฆษกกลุ่มตอลีบันในอัฟกานิสถานกล่าวแสดงจุดยืน หลังสหรัฐฯ ถอนทัพออกจากประเทศ

โฆษกกลุ่มติดอาวุธตอลีบันในอัฟกานิสถานให้สัมภาษณ์ต่อสื่อต่างประเทศ เปิดเผยว่ากลุ่มของพวกเขามีจุดยืนอย่างไรหลังจากที่กองทัพสหรัฐฯ ถอนทัพออกจากประเทศ

เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ค. 2564 สุฮาอิล ชาฮีน โฆษกของกลุ่มติดอาวุธตอลีบันในอัฟกานิสถานกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวต่างประเทศระบุว่ากลุ่มตอลีบันไม่ต้องการยึดกุมอำนาจผูกขาดเอาไว้แต่เพียงผู้เดียว แต่ก็ยืนกรานว่าจะไม่มีสันติภาพในอัฟกานิสถานจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ที่ได้มาจากการเจรจา และจนกว่าประธานาธิบดี อัชราฟ กานี จะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง

ชาฮีนซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกทีมเจรจากล่าวถึงจุดยืนของกลุ่มตอลีบันที่มีต่อประเทศอัฟกานิสถานในชวงที่ประเทศอยู่ในภาวะล่อแหลม

มีการตั้งข้อสังเกตว่าหลังจากที่กองทัพสหรัฐฯ และกองกำลังของนาโต (องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ) ถอนทัพออกจากอัฟกานิสถาน กลุ่มตอลีบันก็มีการรุกคืบยึดครองอาณาเขตต่างๆ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างรวดเร็ว มีการยึดกุมพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการข้ามผ่านเขตแดนและกำลังสือเค้าว่าจะรุกคืบไปยังหัวเมืองต่างๆ โดยที่ในตอนนี้สหรัฐฯ และนาโตมีการถอนทัพไปแล้วมากกว่าร้อยละ 95 และอาจจะถอนทัพเสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ส.ค. นี้

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นายพล มาร์ค มิลเลย์ ของกองทัพสหรัฐฯ กล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวของเพนทากอนว่าตอลีบันกำลังส่งแรงเคลื่อนไหวในเชิงยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจจะยึดอำนาจอัฟกานิสถานได้ แต่ก็อาจจะไม่ได้ถึงขั้นไม่อาจยับยั้งได้

ผู้คนจำนวนมากในอัฟกานิสถานกลัวการกลับมามีอำนาจอีกครั้งของกลุ่มตอลีบันจากความทรงจำภายใต้การปกครองของตอลีบันเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วซึ่งกลุ่มตอลีบันปฏิเสธไม่ให้ผู้หญิงได้รับการศึกษา กีดกันไม่ให้ผู้หญิงทำงาน มีชาวอัฟกานิสถานหลายพันคนที่สามารถขอวีซ่าได้และมีทุนรอนมากพอเริ่มหนีออกจากอัฟกานิสถานแล้วเพราะกลัวว่าความรุนแรงจะทำให้ประเทศอยู่ในภาวะโกลาหล

ในการให้สัมภาษณ์ชาฮีนกล่าวว่ากลุ่มตอลีบันจะวางอาวุธและเจรจากับรัฐบาลก็ต่อเมื่อรัฐบาลอัชราฟ กานี พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ชาฮีนบอกว่ากลุ่มตอลีบันไม่เชื่อในการผูกขาดอำนาจเพราะรัฐบาลใดก็ตามที่พยายามผูกขาดอำนาจไว้อยู่ฝ่ายเดียวในอัฟกานิสถานในอดีตจะไม่เป็นรัฐบาลที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งชาฮีนโยงกรณีที่กลุ่มตอลีบันเคยยึดอำนาจเป็นเวลาประเทศ 5 ปีมารวมกับเรื่องการผูกขาดอำนาจด้วย เขาบอกว่า "ดังนั้นแล้วพวกเราไม่ต้องการที่จะซ้ำรอยสูตรเดิมอีก"

แต่จากท่าทีของชาฮีนแล้ว เขาก็ดูจะไม่ยอมประนีประนอมกับข้อเรียกร้องให้กานีพ้นจากตำแหน่ง มีการเรียกประธานาธิบดีกานีว่าเป็น "พวกกระหายสงคราม" และกล่าวหาว่ากานีอาสัยการกล่าวปราศรับในช่วงพิธีอีดิลอัฎฮาในการให้สัญญาว่าจะรุกคืบต่อต้านกลุ่มตอลีบัน

ชาฮีนบอกว่ากานีไม่มีความชอบธรรมในการปกครองประเทศ เนื่องจากกรณีข้อกล่าวหาโกงการเลือกตั้งในปี 2562 ที่กานีบอกว่าตัวเองเป็นฝ่ายชนะ โดยที่หลังจากการเลือกตั้งอับดุลลาห์ อับดุลลาห์ คู่แข่งของกานีก็ประกาศตนว่าเป็นผู้ชนะเช่นกัน จนกระทั่งต่อมามีการทำข้อตกลงประนีประนอมโดยให้อับดุลลาห์กลายเป็นเบอร์สองของรัฐบาลและเป็นประธานสภาสมานฉันท์แห่งชาติ กานีมักจะบอกว่าเขาจะยังคงอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะตัดสินว่าใครเป็นรัฐบาลถัดไป

นอกจากกลุ่มตอลีบันแล้วคนอื่นๆ ก็วิจารณ์กานีว่าแค่ต้องการพยายามอยู่ในอำนาจ เรื่องนี้ทำให้เกิดความเห็นแย้งกันระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลเองด้วย

เมื่อสุดสัปดาห์ก่อนหน้านี้อับดุลลาห์ได้เป็นประธานตัวแทนจัดการประชุมหารือกับกลุ่มตอลีบันซึ่งจบลงด้วยการสัญญาว่าจะมีการหารือต่ออีกในครั้งถัดไปและมีการให้ความสนใจมากขึ้นกับการคุ้มครองพลเรือนและโครงสร้างพื้นฐาน

ชาฮีนบอกว่าการหารือดังกล่าวเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่ก็บอกว่ารัฐบาลยังคงเรียกร้องซ้ำๆ ให้มีสัญญาหยุดยิงในขณะที่กานียังคงอยู่ในอำนาจ นั่นเทียบเท่ากับเป็นการเรียกร้องให้ตอลีบันยอมศิโรราบ ทำให้ชาฮีนมองว่ารัฐบาลไม่ได้ต้องการการปรองดองแต่อยากให้พวกเขายอมแพ้ สำหรับกลุ่มตอลีบันแล้วพวกเขาจะยอมหยุดยิงก็ต่อเมื่อมีรัฐบาลใหม่ที่ "เป็นที่ยอมรับได้สำหรับพวกเขาและสำหรับชาวอัฟกันคนอื่น" เท่านั้น

สำหรับเรื่องสิทธิสตรีแล้ว ชาฮีนบอกว่าภายใต้รัฐบาลใหม่ผู้หญิงจะได้รับอนุญาตให้ทำงาน ไปโรงเรียนได้ รวมถึงอนุญาตให้มีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ยังคงกำหนดให้ต้องสวมฮิญาบ แล้วก็ยังคงกำหนดให้ต้องมีญาติฝ่ายชายคอยอยู่ด้วยกันกับผู้หญิงถ้าหากพวกเธอจะออกจากบ้าน

ถึงแม้โฆษกตอลีบันจะสัญญาว่าจะให้ผู้หญิงทำงานและเรียนหนังสือได้ แต่ก็มีรายงานที่ระบุเนื้อหาไปในทางตรงกันข้ามว่าในพื้นที่ๆ มีตอลีบันยึดครองอยู่มีการจำกัดไม่ให้ผู้หญิงเรียนหนังสือหรือแม้กระทั่งเผาโรงเรียน นอกจากนี้ยังมีวิดีโอที่นำเสนอภาพโหดเหี้ยมของตอลีบันที่สังหารทหารคอมมานโดที่พวกเขาจับตัวไว้ได้

ในเรื่องนี้ชาฮีนแก้ต่างว่าเป้นเพราะผู้บัญชาการตอลีบันบางคนละเลยคำสั่งจากผู้นำที่ห้ามไม่ให้มีพฤติกรรมในเชิงกดขี่หรือพฤติกรรมรุนแรง แล้วก็มีหลายคนที่ถูกนำตัวขึ้นศาลทหารตอลีบันเพื่อลงโทษ แต่ชาฮีนก็ไม่ได้ให้ข้อมูลระบุเจาะจงเป็นรายกรณี นอกจากนี้ยังกล่าวหาว่าวิดีโอเป็นของปลอมมาจากการตัดต่อหลายวิดีโอเข้าด้วยกัน

ชาฮีนบอกว่าตอลีบันไม่ได้มีแผนการจะเดินหน้าบุกเมืองหลวงกรุงคาบูลและจนถึงตอนนี้ก็ยับยั้งตัวเองไม่ให้เข้ายึดหัวเมืองต่างๆ ของแต่ละจังหวัด แต่ชาฮีนก็เตือนว่าจากที่พวกเขามีกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ได้มาจากการยึดครองเขตต่างๆ กองกำลังตอลีบันก็มีประสิทธิภาพมากพอที่จะยึดหัวเมืองเหล่านั้นได้

ชาฮีนบอกว่าความสำเร็จบนสมรภูมิส่วนใหญ่ของตอลีบันมาจากการเจรจามากกว่าการสู้รบ พื้นที่ที่พวกเขายึดครองมาได้มาจากการที่พวกเขาเจรจาพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่เหล่านั้นและทำให้กองกำลังในพื้นที่นั้นๆ เข้าร่วมกับพวกเขา พื้นที่เหล่านั้นไม่ได้ถูกยึดครองเพราะการสู้รบ ถ้าพวกเขาพยายามชนะได้ด้วยการสู้รบทางกำลังทหารมันจะยากมากที่จะสามารถยึดพื้นที่ 194 เขตได้ภายในเวลาแค่ 8 สัปดาห์

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาทางการสหรัฐฯ ดำเนินการโจมตีทางอากาศเพื่อสนับสนุนรัฐบาลอัฟกานิสถานในเมืองกันดาฮาร์ทางตอนใต้ซึ่งมีกองกำลังตอลีบันรวมกลุ่มกันอยู่ การที่เขตต่างๆ ถูกยึดครองโดยกลุ่มตอลีบันอย่างรวดเร็วบอกกับการแถลงในเชิงละเหี่ยใจของรัฐบาลอัฟกานิสถานก็ทำให้กลุ่มหัวหน้ากลุ่มติดอาวุธต่างๆ ที่เป้นพันธมิตรกับสหรัฐฯ คืนชีพอีกครั้งโดยที่กลุ่มเหล่านี้มีประวัติความรุนแรงมาก่อน ซึ่งสำหรับชาวอัฟกันที่อิดหนาระอาใจกับสงครามยาวนานมากกว่า 40 ปี ก็ทำให้เกิดความกังวลว่าสงครามกลางเมืองอาจจะกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง

ชาฮีนบอกว่า "คุณก็รู้ ไม่มีใครหรอกที่อยากให้เกิดสงครามกลางเมือง รวมถึงผมด้วย" ชาฮีนบอกว่าตอลีบันมีเป้าหมายที่จะทำให้ชาวอัฟกันที่กลัวกลุ่มติดอาวุธของพวกเขารู้สึกมั่นใจในตัวของพวกเขามากขึ้น ในขณะที่ทางการสหรัฐฯ สัญญาว่าจะเคลื่อนย้ายล่ามกองทัพสหรัฐฯ หลายพันคนออกจากอัฟกานิสถาน ชาฮีนบอกว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องกลัวตอลีบันและปฏิเสธว่าไม่ได้ข่มขู่คุกคามล่ามเหล่านั้น แต่ก็บอกว่าถ้าหากใครที่อยากย้ายไปเป็นผู้ลี้ภัยที่ประเทศตะวันตกพวกเขาก็ปล่อยให้เป็นการตัดสินใจส่วนบุคคลเพราะเช้าใจว่าเศรษฐกิจอัฟกานิสถานจนมาก

ชาฮีนยังให้สัมภาษณ์ปฏิเสธอีกว่าตอลีบันไม่ได้ข่มขู่คุกคามนักข่าวและองค์กรภาคประชาสังคมของอัฟกานิสถานที่เพิ่งจะมีขึ้นไม่นานแต่ก็ต้องเผชิญกับกรณีการถูกสังหารหลายสิบกรณีในช่วงปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่ากลุ่มก่อการร้ายไอซิสจะอ้างว่าเป็นผู้ก่อเหตุ แต่รัฐบาลอัฟกานิสถานก็กล่าวหาว่าตอลีบันเป็นผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่ ขณะที่ฝ่ายตอลีบันก็กล่าวหาว่ารัฐบาลอัฟกานิสถานก่อเหตุเพื่อทำลายชื่อเสียงของพวกเขา ซึ่งสือตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลกานีมีการจับกุมผู้ก่อเหตุสังหารได้น้อยมากและไม่ค่อยเปิดเผยเรื่องความคืบหน้าการสืบสวนสอบสวนคดีเหล่านี้

ชาฮีนกล่าวว่านักข่าวรวมถึงคนที่มาจากสื่อตะวันตกไม่มีอะไรจะต้องกลัวทั้งจากรัฐบาลและจากกลุ่มตอลีบัน พวกเขาไม่ได้ส่งจดหมายข่มขู่คุกคามแต่อย่างใตและอนุญาตให้สื่อเหล่านี้ยังคงทำงานที่อัฟกานิสถานต่อไปได้ในอนาคต

เรียบเรียงจาก
Taliban: ‘No one wants a civil war’ in Afghanistan, Aljazeera, 23-07-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท