Skip to main content
sharethis

เก็บตก กมธ.งบ 65 ‘ก้าวไกล’ เผย 4 พฤติกรรมสุดพิรุธส่อแวว ‘ทุจริต’ จวกประธานทำหน้าที่เหมือนเป็นองครักษ์ของเหล่าทัพ กังขาสำนักงบฯ ไม่กล้าเเตะงบ ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ ชี้ถ้าตรวจความผิดปกติจัดซื้อจัดจ้างถี่ถ้วน หลายโครงการสามารถประหยัดงบประมาณแผ่นดินยามวิฤตได้อีกมาก

25 ก.ค. 2564 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่าสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ ส.ส.จังหวัดฉะเชิงเทราและโฆษกพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ได้ออกมาแถลงถึงผลความคืบหน้าและข้อสังเกตเกี่ยวกับความผิดปกติในการพิจารณางบประมาณที่ผ่านมา

ปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า การจัดสรรงบของรัฐบาลให้หน่วยงานราชการต่างๆมีความล้มเหลวและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง ในวิกฤตที่พี่น้องประชาชนต้องเผชิญความยากลำบาก แต่ยังเห็นการใช้งบประมาณอย่างฟุ่มเฟือย เช่น กระทรวงต่างประเทศ ของบจัดซื้อรถให้ทูต คันละ 3-4 ล้าน ถึง 14 คัน ของบซื้อชุดผ้าม่าน เครื่องอุ่นจาน และการปรับปรุงสนามเทนนิสให้กับสถานทูตในสเปน ขณะที่กระทรวงวัฒนธรรม ยังคงของบเพื่อจัดงาน Fashion week ในกรุงเทพฯ ทั้งที่กำลังอยู่ในวิกฤตโควิด-19 เป็นต้น 

"เรายังตั้งข้อสังเกตว่ามีการใช้อำนาจทางการเมืองเข้าไปแทรกแซงการทำงานของข้าราชการกระทรวงต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ฐานเสียงหรือพรรคพวกตัวเอง เช่น การจัดสรรวัคซีนให้จังหวัดบุรีรัมย์มากเป็นพิเศษ และยังมีการทำงานของกรรมาธิการฝั่งรัฐบาลมีการปิดกั้นไม่ให้พูดในบางประเด็น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องกองทัพ และงบที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีกรรมาธิการหลายท่าน โดยเฉพาะประธานในที่ประชุมที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นองครักษ์ของเหล่าทัพต่างๆ"

ปกรณ์วุฒิ ยังได้เรียกร้องให้การพิจารณางบประมาณควรเป็นไปอย่างเปิดเผยโปร่งใส มีการจัดทำเป็นรูปแบบไฟล์ spreadsheet หรือ Excel เพื่อให้สามารถนำไปวิเคราะห์ได้ในหลายมิติและสะดวกรวดเร็ว ควรต้องส่งล่วงหน้าและอัพโหลดไฟล์ดิจิทัลขึ้นเว็บไซต์ให้ดาวน์โหลดได้เป็นสาธารณะ รวมทั้ง การประชุมทั้งหมด ควรต้องมีการถ่ายทอดสดในช่องทางออนไลน์และบันทึกเก็บไว้ เพื่อให้ประชาชนได้จับตาพฤติกรรมต่างๆของหน่วยงานราชการและกรรมาธิการเอง เพราะในหลายครั้ง เหตุการณ์ไม่ชอบมาพากลต่างๆเกิดขึ้นจากสาเหตุที่ว่า ผู้ที่กระทำรู้ว่าไม่มีใครจับตาดูอยู่ หากมีการถ่ายทอดสดออกไป เชื่อว่า พฤติกรรมเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นน้อยลง

"ปัจจุบัน กรรมาธิการงบประมาณได้พิจารณาหน่วยงานครบทุกหน่วยงานแล้ว จากการทำงานอย่างหนักของกรรมาธิการทุกท่าน ณ วันที่ 24 ก.ค. 2564 เราได้ทำการรีดไขมันของงบประมาณที่ฟุ่มเฟือยไปแล้ว 9 อนุกรรมาธิการ เป็นเงิน ประมาณ 24,000 ล้านบาท ไม่รวม งบครุภัณฑ์ของกองทัพเรือ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ถูกแขวน ตัวเลขนี้ยังไม่ใช่ตัวเลขสุดท้าย เพราะยังมีขั้นตอนการขออุทธรณ์งบอีกในสัปดาห์หน้า พรรคก้าวไกลจะพิจารณานำงบประมาณส่วนนี้ไปจัดสรรคืนโดยให้ลำดับตามความสำคัญ ไม่สามารถนำไปทุจริตได้ และเพื่อเป็นสวัสดิการแก่ประชาชน เช่น กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา, กองทุนประกันสังคม หรือในส่วนอื่นๆ เช่น เงินชดเชยภาษีที่ดินให้กับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำไปกระจายคืนให้เทศบาลตำบลและอบต. และภาษีที่ดินที่เทศบาลนครและเทศบาลเมือง 200 กว่าเทศบาลต่อไป" ปกรณ์วุฒิ ระบุ 

ขณะที่ จิรัฏฐ์ ในฐานะอนุกรรมาธิการงบประมาณได้ตั้งข้อสังเกตเช่นเดียวกันว่า การพิจารณางบประมาณในชั้นอนุกรรมาธิการพบความไม่โปร่งใสหลายประการ ยกตัวอย่างเช่น ราคาจัดซื้อจัดจ้างที่หน่วยงานเสนอมาส่วนใหญ่แพงกว่าท้องตลาดมาก บางรายการแพงกว่า 3-4 เท่า ส่วนใบเสนอราคาที่นำมาแสดงจำนวนมากเป็นใบเสนอราคาที่ไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีลายเซ็น ไม่มีรายละเอียด บริษัทที่อ้างถึงไม่ได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับครุภัณฑ์ที่จะขาย และที่น่าเกลียดคือ มีการนำใบเสนอราคาที่จัดทำขึ้นมาใหม่เพื่อให้ กมธ. พิจารณา

"หน้าที่หลักของ ส.ส. กลับเป็นการนั่งเช็คราคาโดยพบว่าจับไปตรงไหนก็เจอ ทั้งที่ความจริงหน้าที่ อนุกรรมาธิการ ควรเป็นการพิจารณาความเหมาะสมของโครงการ ไม่ใช่การนั่งตรวจสอบความผิดปกติของราคาจัดซื้อ เราคิดว่าถ้าสำนักงบประมาณทำงานตรวจสอบการจัดซื้ออย่างถี่ถ้วน จะทำให้อนุกรรมาธิการได้ทำงานตามหน้าที่ที่ควรทำ และจะสามารถช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้อีกจำนวนมาก ความผิดปกติของการจัดซื้อจัดจ้าง จะมีการเปิดเผยรายละเอียดให้ทราบในครั้งต่อไป" 

จิรัฏฐ์ กล่าวต่อไปว่า ในประเด็นของหน่วยงานที่มีภารกิจซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น ตนคิดว่าหลายหย่วยงานควรถูกควบรวมกันหรือควรยุบลงไป เพื่อลดงบประมาณ อาทิ กรมหม่อนไหม ภารกิจควรจะอยู่ภายใต้กระทรวงเกษตร ไม่จำเป็นต้องมีการยกระดับถึงระดับกรม ,ศูนย์คุณธรรม มีภารกิจในการรายงานสถานการณ์คุณธรรมประจำปี แต่ของบมาเยอะพอสมควร โดยอ้างว่าการที่จะเปลี่ยนให้คุณธรรมเป็นตัวเลขนำมาวิจัยเป็นเรื่องยาก ซึ่งตนเห็นด้วยว่ามันเปลี่ยนเป็นตัวเลขไม่ได้อยู่เเล้วแต่ไม่จำเป็นต้องทำให้เปลืองงบประมาณเช่นกัน ส่วนหน่วยงานอย่าง กอ.รมน. ที่มีภารกิจระบุไว้ ทั้งการจัดการเฝ้าระวังโควิด แก้ปัญหายาเสพติด ดูแลเเรงงานข้ามชาติ จัดการพืชผลเกษตรตกต่ำ จัดการหาแหล่งน้ำให้เกษตรกร เป็นภารกิจซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นมากๆ เเละยังของบเพื่อทำ big data ก็ยิ่งซ้ำซ้อนเข้าไปใหญ่ หน่วยงานนี้ยังไม่ควรสังกัดขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ควรสังกัดกระทรวงกลาโหม อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่า กอ.รมน. กลับมีมีอิสระในการจัดสรรงบประมาณมากกว่าหน่วยงานอื่น ทั้งที่เป็นภารกิจซ้ำซ้อนจึงคิดว่าไม่มีความจำเป็นต้องมี 

ในเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติ กลับกลายเป็นว่าทำให้งบประมาณสูงขึ้นกว่าปกติ เพราะยุทธศาสตร์ได้ไประบุสิ่งที่ให้หน่วยงานราชการทำ อาทิ ในเรื่องยาเสพติด กลายเป็นทุกหน่วยงานต้องทำเหมือนกันหมด จึงเป็นการทำอย่างซ้ำซ้อนเเละสิ้นเปลืองงบประมาณ อีกประเด็นหนึ่งคือ เรื่องของหน่วยงานที่มีรายได้นอกงบประมาณ เเล้วก็มาขอจัดสรรงบประมาณในสภา ทั้งที่ควรสามารถลดภาระงบประมาณของประเทศได้ ตั้งเเต่ที่ประชุมมา มีแค่กรมที่ดินที่นำเอาเงินคงเหลือไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เเละลดภาระการเงินการคลังของประเทศ 

“ปัญหาที่สำคัญคือ เราพบว่า สำนักงบประมาณไม่กล้าเเตะงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตัวอย่างเช่น เมื่อหน่วยงานที่มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในพระราชดำริ หรือเฉลิมพระเกียรติใดก็ตาม เมื่อจะถูกตัดลดงบไป อนุกรรมาธิการกลับใช้วิธีตัดลดงบแบบตัดทั้งหน่วยงาน ไม่ใช่ตัดตามโครงการที่ยังไม่จำเป็น กลายเป็นหน่วยงานต้องไปเกลี่ยปรับลดเอาเองว่าจะปรับลดงบโครงการอะไร จำนวนเท่าไหร่ ปัญหาก็คือเมื่อสำนักงบประมาณไม่กล้าตัดลบงบที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ซึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ผลที่ตามมาคือกลายเป็นทำให้โครงการอื่นถูกตัดลดงบลงมากกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งถ้าโครงการเหล่านั้นเป็นโครงการมีผลกระทบกับประชาชนแต่ไปถูกตัดลดมากว่าปกติก็เป็นอะไรที่ไม่ถูกต้อง ควรเป็นเรื่องที่เราจะต้องหารือกันว่าจะเเก้ปัญหานี้อย่างไร แต่ในชั้นอนุกรรมาธิการกลับเร่งรีบในการให้ผ่านงบประมาณแบบนี้ไปอย่างผิดปกติ”

จิรัฏฐ์ ยังชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติในการชี้แจงงบประมาณอีกว่า บางหน่วยงานใช้ใบเสนอราคาที่ไม่มีลายเซ็นเลย เเต่ในที่ประชุมกลับให้ผ่านโดยไม่เอาประเด็นไปหารือเเละไม่มีการซักถามใดๆต่อ ตนจึงขอสรุปว่าโครงการที่เสนอเข้ามาในชั้นอนุกรรมาธิการเป็นการปรับลดก็เป็นเเบบล่ำซำ ไม่ได้จัดลดให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเเพร่ระบาดของไวรัสโคนา เเต่เป็นการจัดทำงบประมาณแบบปกติ จึงเสียความรู้สึกทุกครั้งเห็นภาพของคนที่นอนตายอยู่ข้างถนนอย่างอนาถา โดยที่หน่วยราชการกลับขอซื้อแต่สิ่งของที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน บางหน่วยงานยังขอไปซื้อแอร์มา 365 ตัว แต่ไม่มีงบประมาณสำหรับจ่ายค่าไฟ ต้องโอนงบประมาณค่าสาธารณูปโภคไปใช้จ่ายค่าไฟ หรือการที่กรมประชาสัมพันธ์ของบไปจัดทำเเอปพลิเคชั่นต้านเฟคนิวส์ 50 ล้าน ซึ่งก็ไปซ้ำซ้อนกับของกระทรวงดีอีเอสที่มีอยู่เเล้ว เป็นต้น 

ด้าน สุรเชษฐ์ ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงพฤติกรรมที่ผิดปกติและน่าเคลือบแคลงสงสัย ใน 4 ประเด็น ได้แก่  ‘การเข้าห้องเย็น’ หรือ การเรียก ‘หัวหน้าหน่วยงาน’ ไปเจรจากันนอกรอบ ไม่ว่าจะเป็นก่อนหรือหลังการชี้แจงในคณะอนุ กมธ. อาจเจรจากันในเรื่องการปรับลดงบประมาณ หรือพูดคุยกันตามประสาคนรู้จัก หรืออาจมีการเรียกรับผลประโยชน์อื่นใด ไม่มีใครทราบได้ เพราะเป็นการเจรจากันในทางลับ

‘การขู่เชือดหนัก’ คือ การที่มี อนุ กมธ. บางท่านขู่ว่าจะตัด 20% บ้าง 50% บ้าง พอข้าราชการเจอแบบนี้ก็กลัว เปิดโอกาสให้มีการเรียกเคลียร์ที่อาจนำมาซึ่งการเจรจาต่อรองบางอย่างได้

‘ของข้าใครอย่าแตะ’ เป็นอีกพฤติกรรมที่หมายถึงการที่กรรมาธิการบางท่าน ทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์งบประมาณของหน่วยงานมากอย่างผิดปกติ หลายกรณี แม้ตัวโครงการจะฟังดูดี แต่ยังมีบางรายการที่พอปรับลดได้ เช่น ค่าเช่าคอมพิวเตอร์ที่มักแพงเกินจริง ค่าเครื่อง Fax ที่แทบไม่มีคนใช้แล้ว ค่าอบรม สัมมนา เดินทางไปต่างประเทศที่ควรลด-ละ-เลิก ในช่วงสถานการณ์แบบนี้ แต่หลายกรมกลับมี ส.ส. ที่เป็นอนุฯไปทำหน้าที่เหมือนองครักษ์มาปกป้องแบบของข้าใครอย่าแตะ ทั้งที่ความเป็นจริงต้องแตะได้หมด เพราะ ส.ส. มาทำหน้าที่เพื่อประชาชน ไม่ได้มาตัดงบเพื่อเอามาแบ่งกัน

สุดท้าย คือ ‘การขอทอนคืน’ หลายครั้งที่พรรคก้าวไกลทำการบ้านมาอย่างดี เพื่อปรับลดไขมันส่วนเกิน จนหน่วยงานเถียงไม่ออก เนื่องจากหลักฐานชัดเจนว่าปรับลดได้ และหน่วยงานก็ยอมปรับลดแล้ว แต่กลับมี กมธ. บางคน อยากเอาใจหน่วยงาน เสนอให้ไม่ต้องปรับลดเลยแล้วใช้เสียงข้างมากดันให้ผ่านไป พฤติกรรมแบบนี้ทำให้มีข้อสงสัยเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะเป็นผู้เเทนราษฎร ส.ส. ควรทำหน้าที่เพื่อพิทักษ์งบประมาณเเละภาษีของประชาชน จึงอยากให้เป็นรัฐโปร่งใสมากขึ้น เพื่อเป็นทางออกในการตรวจสอบงบประมาณต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net