Skip to main content
sharethis

ตายเหมือนมีเครื่องบินตกทุกวัน ‘วิโรจน์’ ชี้ เป็นหนี้ชีวิตที่ ‘ประยุทธ์’ ต้องชดใช้ แนะ ศบค.เร่งทำ 3 ข้อ เพื่อประคับประคองสถานการณ์จากการบริหารบกพร่องร้ายแรง ย้ำ ต้องอย่าทำให้ระเบียบราชการและการรอคอยมาเข่นฆ่าประชาชน 

 

26 ก.ค. 2564  ที่ทำการพรรคก้าวไกล วิโรจน์ ลักขณาอดิสร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงข้อเสนอแนะในการประคับประคองสถานการณ์โควิด 19 เพื่อลดอัตราการติดเชื้อ และการสูญเสียชีวิตของประชาชน จากกรณีที่รัฐบาลบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดที่บกพร่องอย่างร้ายแรง โดยข้อเสนอดังกล่าวส่งตรงไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ทั้งนี้ วิโรจน์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ล่าสุด มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นวันละ 14,000-15,000 ราย และเป็นการเพิ่มขึ้นมากกว่า 10,000 รายต่อวัน ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาถึง 10 วันแล้ว โดยการระบาดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพียงแค่ระยะเวลา 15 วัน จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากระดับ 7,000 เป็น 14,000 รายต่อวัน โศกนาฏกรรมที่น่าเสียใจที่สุด ก็คือ การเสียชีวิตของประชาชนที่มากกว่า 100 คนต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับประเทศนี้ ต้องประสบกับอุบัติเหตุเครื่องบินตกทุกวัน

“ประชาชนจำนวนมากต้องดิ้นรนหาที่ตรวจวินิจฉัยโรคเอง ต้องต่อคิวตากฝน นอนรอบนฟุตบาท หลายคนต้องป่วยตายคาบ้านระหว่างรอเตียง หลายคนต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนออกมาสูดอากาศภายนอกครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะล้มลงนอนตายกลางถนน เพราะเข้าไม่ถึงการรักษา เด็กตัวเล็กๆ อายุไม่กี่ขวบ หลายชีวิตต้องเป็นกำพร้า ต้องพนมมือไหว้ขอให้ผ้าห่มให้กับพ่อแม่ของพวกเขาอย่างไร้เดียงสาว่า ที่พ่อแม่ของพวกเขาตัวเย็น เพราะเป็นร่างที่ไร้ลมหายใจไปแล้ว และต่อแต่นี้ไปเด็กอีกหลายคนจะไม่มีโอกาสที่จะกอดพ่อแม่ของพวกเขาอีก หลายคนต้องสูญเสียพ่อแม่ ทั้งๆ ที่อยากจะทดแทนพระคุณของท่านให้มากกว่านี้ ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่อยากจะทำร่วมกันกับพวกเขา จะไปกุมมือดูใจเป็นครั้งสุดท้าย จะขอเปิดโลงดูหน้าให้คลายความคิดถึงก่อนที่จะจากลากันชั่วชีวิตก็ทำไม่ได้ กี่ครอบครัวที่ต้องสิ้นเนื้อประดาตัว ธุรกิจที่ทุ่มเทมาทั้งชีวิตต้องมาพังทลาย พร้อมกับหนี้สินที่ล้นพ้นตัว เงินที่เก็บหอมรอมริบมาทั้งชีวิตต้องหายวับไปกับตา ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล และเป็นหนี้ชีวิตที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องชดใช้”

วิโรจน์ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องการบริหารจัดการ การจัดหา และจัดฉีดวัคซีน แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ได้กล้าหาญที่จะออกมากล่าวคำขอโทษกับประชาชนด้วยตนเอง แต่เหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าการออกมาขอโทษประชาชนของผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และเปลี่ยนการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ COVAX Facility เมื่อวันที่ 21 ก.ค. การที่คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ มีมติให้จัดหาวัคซีนที่สามารถตอบสนองต่อเชื้อกลายพันธุ์ได้จำนวน 120 ล้านโดส ในปี 2565 พร้อมกับเร่งรัดให้จัดหาวัคซีนภายในปีนี้ ให้ได้ 100 ล้านโดส เมื่อวันที่ 14 ก.ค. การที่ อนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทำหนังสือถึง AstraZeneca เพื่อขอให้เขางส่งมอบวัคซีนให้ได้เดือนละ 10 ล้านโดส เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา ตลอดจนการยื่นข้อเสนอซื้อวัคซีน Pfizer เพิ่มเติมอีก 50 ล้านโดส เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ก็คือ การที่รัฐบาลได้สารภาพผิดโดยพฤตินัย เพราะจำนนต่อหลักฐาน ซึ่งประชาชนและสังคมก็ได้พิพากษา พล.อประยุทธ์ ,อนุทิน และรัฐบาลนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“เรื่องของการบริหารจัดการด้านวัคซีน ก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลจะสำนึกในบาปบุญคุณโทษ ที่ได้ก่อกรรมทำเข็ญเอาไว้กับประชาชน และเร่งใช้ความสามารถทางการทูต และการเร่งรัดติดตามอื่นๆ เพื่อนำเอาวัคซีนที่มีประสิทธิผลต่อสถานการณ์การระบาด มาฉีดให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด

“อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าว แม้ว่ารัฐบาลจะกลับเนื้อกลับตัวได้แล้ว ก็ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ สิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ มีมากกว่าผู้ที่หายป่วยกลับบ้านถึงวันละ 5,000-8,000 ราย สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การประคับประคองให้จำนวนผู้ติดเชื้อชะลอตัวลง และลดอัตราการเสียชีวิตของประชาชนให้น้อยลงกว่าที่เป็นอยู่นี้ให้ได้ หากรัฐบาลไม่ดำเนินการใดๆที่มีประสิทธิภาพ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่อาจเพิ่มขึ้นมากกว่าวันละ 20,000 ราย ซึ่งจะทำให้ระบบสาธารณสุขล้มเหลว และอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าวันละ 200 คน”

วิโรจน์ ยังกล่าวถึงข้อเสนอแนะต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. จำนวน 3 ข้อ ดังต่อไปนี้

ข้อที่ 1 : เร่งใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ตรวจประชาชนให้มากที่สุด และจัดสรรให้ประชาชนทุกคน โดยเฉพาะประชาชนที่พักอาศัยในพื้นที่สีแดง สามารถนำเอาบัตรประชาชนมาขอรับ เพื่อนำไปใช้ตรวจวินิจฉัยตนเองโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ได้สัปดาห์ละ 1 ชุด โดยสามารถลงทะเบียนขอรับผ่านทางไปรษณีย์ หรือขอรับด้วยตนเอง ได้ที่หน่วยงานท้องถิ่น หรือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย  เช่น สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข พร้อมจุดบริการเสริมต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล องค์กาบริหารส่วนจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ในต่างจังหวัด ทั้งนี้เพื่อลดภาระของกระทรวงสาธารณสุขลง เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุข ได้นำเอาสรรพกำลังไปทุ่มเทดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหนักอย่างเต็มศักยภาพ

นอกจากนี้ ให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาอุดหนุน เพื่อให้ราคาของชุดตรวจ Antigen Test Kit อยู่ที่ไม่เกินชุดละ 50 บาท และเร่งจัดหามาให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อได้ตามร้านขายยามาตรฐานทั่วไป

การเพิ่มการตรวจอย่างอย่างครอบคลุม ต่อเนื่อง ตรวจ ตรวจ แล้วก็ตรวจ จะเป็นบันไดขั้นแรกที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่จะช่วยลดการแพร่ระบาดลง โดยผู้ที่พบว่าตนเองติดเชื้อ จะได้กันตัวเองออกจากคนในครอบครัว และชุมชน และเข้าสู่กระบวนการรักษาให้เร็วที่สุด

ข้อที่ 2 : ให้รัฐบาลกระจายอำนาจจากกระทรวงสาธารณสุขให้กับหน่วยงานท้องถิ่น และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียว และเหลืองอ่อน เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถทุ่มเท ดูแลรักษาผู้ติดป่วยในกลุ่มสีเหลือง สีแดง และผู้ป่วยในภาวะวิกฤติได้ โดยให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ ดังนี้

2.1. เร่งจัดทำศูนย์พักคอยเพื่อติดตามอาการ หรือ Community Isolation Center ให้มากที่สุด โดยใช้พื้นที่วัด ศาสนสถาน โรงเรียน ค่ายทหาร และสวนสาธารณะ ตลอดจนสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว และเหลืองอ่อน ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 70-75% ที่ไม่สามารถกักตัวรักษาตนเองที่บ้านได้ โดยให้มีขีดความสามารถในการรองรับผู้ติดเชื้อในระดับ 150,000-200,000 ราย กระจายเป็นจุดต่างๆ อย่างครอบคลุม ในระดับแขวงเขต ตำบล และอำเภอ

2.2. ให้รัฐบาลกระจายอำนาจให้กับหน่วยงานท้องถิ่น หรือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ในการดูแลศูนย์พักคอยเพื่อติดตามอาการ เช่น ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้สำนักอนามัย ศูนย์บริการสาธารณสุข และสำนักเทศกิจ ทำหน้าที่ดูแล และในพื้นที่ต่างจังหวัดให้ อบต. และอบจ. เป็นผู้ดูแล เป็นต้น

2.3. สำหรับผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ และไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาล หากพบว่ากักตัวมาเป็นระยะเวลา 10 วันแล้ว ไม่มีอาการของโรค และสภาพปอดปกติ ให้ผู้ป่วยกลับไปกักตัวรักษาตนเอง หรือทำ Home Isolation ที่บ้าน หากที่บ้านไม่เอื้ออำนวย ให้ผู้ป่วยมาพักที่ศูนย์พักคอยเพื่อติดตามอาการ หรือ Community Isolation Center จนครบ 14 วัน เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับโรงพยาบาล ในการดูแลผู้ป่วยในกลุ่มสีเหลือง สีแดง และผู้ป่วยในภาวะวิกฤติ ซึ่งนอกจากจะทำให้ประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้โรงพยาบาลสามารถที่จะดูแลผู้ป่วยในภาวะวิกฤติจากโรคอื่น เช่น โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้ด้วย ซึ่งเป็นการแก้ไขไม่ให้ระบบสาธารสุขของประเทศล้มเหลวไปมากกว่านี้

2.4. ให้โรงพยาบาลรับผู้ป่วยในกลุ่มที่เปลี่ยนจากสีเขียว เป็นสีเหลือง จากศูนย์พักคอยติดตามอาการ Community Isolation Center หรือ Home Isolation หรือกรณีใดๆ มารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ภายใต้การกำกับดูแลของโรงพยาบาล โดยห้ามมิให้ปฏิเสธ

“ปัจจุบันต้องยอมรับได้แล้วว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่อาจที่จะรับภาระที่หนักอึ้งนี้ ได้โดยลำพังอีกต่อไป ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงควรมีหน้าที่ ที่มุ่งไปที่กลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองซึ่งมีอยู่ราวๆ 20% และกลุ่มผู้ป่วยสีแดง และผู้ป่วยในภาวะวิกฤติซึ่งมีอยู่ราวๆ 5% สำหรับกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว และสีเหลืองอ่อน ซึ่งมีอยู่ราวๆ 75% ให้หน่วยงานท้องถิ่น และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้แบ่งเบา ทำงานส่งต่อผู้ป่วยระหว่างกันอย่างบูรณาการ”

ข้อที่ 3. ให้รัฐบาลตรวจสอบอุปสรรคหน้างานอย่างเร็วที่สุด โดยเฉพาะข้อจำกัดที่ทำให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงยาต้านไวรัสอย่างล่าช้า เร่งแก้ไขระเบียบ ลดขั้นตอน และลดงานเอกสารงานธุรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลและการเข้าถึงยาลง ในกรณีที่จำเป็น ก็ต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการแก้ไขปัญหาคอขวดที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ที่เริ่มมีอาการ ตลอดจนผู้ติดเชื้อที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว ได้เข้าถึงยา Favipiravir ได้เร็วที่สุด โดยการวินิจฉัยของแพทย์ ภายใน 4 วันนับจากวันที่เริ่มมีอาการ ซึ่งเป็นไปตามแนวเวชปฏิบัติ ของกรมการแพทย์ ฉบับวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 แต่ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถทำได้เป็นการทั่วไป นี่คือ สิทธิการมีชีวิตรอดของประชาชน ซึ่งไม่ควรต้องสูญเสียไป จากระบบงานธุรการ ที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤติ

“ผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว และสีเหลืองอ่อน ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 75% ควรลงทะเบียน โดยได้รับหมายเลขผู้ป่วยนอก (HN) หรือหมายเลขผู้ป่วยใน (AN) โดยเร็วที่สุด งานเอกสารที่ไม่จำเป็นให้ยกเลิก งานเอกสารที่จำเป็นให้ทำตามหลังได้ สำคัญที่สุด เมื่อประชาชนพบว่าตนเองติดเชื้อ จากการตรวจโดยใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ประชาชนควรเข้าถึงการรักษาได้ทันที แพทย์สามารถจ่ายยา Favipiravir และยารักษาตามอาการได้โดยทันที การตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR และการตรวจวินิจฉัยอื่นๆ ตลอดจนการตระเตรียมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำ Home Isolation การทำ Community Isolation หรือการรับเข้ารักษาที่โรงพยาบาล หากจำเป็นให้ดำเนินการตามหลัง เป็นคู่ขนาน ไม่ควรต้องให้การเข้าถึงยาต้านไวรัส ซึ่งมีระยะเวลาเพียงแค่ 4 วัน นับจากวันที่เริ่มมีอาการ ต้องมารอคอยกับกระบวนการงานธุรการเหล่านี้ หากรัฐบาลไม่แก้ไขระเบียบคอขวด ที่ทำให้ประชาชนต้องเสียเวลารอคอย กว่างานธุรการจะแล้วเสร็จ ผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว ก็จะเปลี่ยนเป็นกลุ่มสีเหลืองเข้ม และมีภาวะปอดอักเสบ ซึ่งการให้ยาต้านไวรัส เมื่อมีภาวะปอดอักเสบแล้ว คณะแพทย์หลายท่านยืนยันว่าก็จะคาดหวังประสิทธิผลในการรักษาได้ยาก และทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะเสียชีวิตเพิ่มขึ้น และต้องมีระยะเวลาครองเตียงที่ยาวนานขึ้น ซึ่งจะเป็นภาระของระบบสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น”

วิโรจน์ ยังแนะนำว่า รัฐบาลควรจะแก้ไขกฎระเบียบ ให้อาสาสมัครต่างๆ ที่ช่วยประสานหาเตียงให้กับผู้ติดเชื้อ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ศูนย์พักคอยติดตามอาการ Community Isolation Center สามารถที่จะประสานงานกับโรงพยาบาล เพื่อลงทะเบียนให้กับผู้ติดเชื้อได้ และสามารถรับยาที่แพทย์สั่ง มาจ่ายให้กับผู้ป่วยที่อยู่ในศูนย์พักคอยติดตามอาการ รวมทั้ง ‘นำส่งยาที่แพทย์สั่ง’ ให้กับผู้ติดเชื้อที่ทำ Home Isolation หรืออยู่ระหว่างการรอเตียง เพื่อลดโอกาสการเสียชีวิต ให้น้อยลงที่สุดเท่าที่จะทำได้

ทั้งนี้ ในส่วนข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาศูนย์ล้างไตให้กับผู้ป่วยโควิด-19 การหารือกับ กสทช. ร่วมกับค่ายโทรศัพท์มือถือต่างๆ ให้งดเว้นการตัดสัญญาณโทรศัพท์ และสัญญาณอินเตอร์เน็ต ที่ค้างชำระค่าบริการในช่วงนี้ ซึ่งการระบาดของโรคอย่างรุนแรง เนื่องจาก กระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การประสานงานเพื่อหาเตียง หรือการติดตามอาการผู้ป่วยที่ทำ Home Isolation ล้วนจำเป็นต้องใช้สัญญาณโทรศัพท์ หรือสัญญาณอินเตอร์เน็ต ทั้งสิ้น

“ในท้ายที่สุด ที่อยากฝากรัฐบาลก็คือ ยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่จำเป็น เช่น ยา Favipiravir ยา Remdesivir หรือยาที่จำเป็นต้องใช้ในห้อง ICU เช่น ยา Nimbex, Propofol หรือ Midazolam รัฐบาลต้องดูแลไม่ให้สต๊อกยา และเวชภัณฑ์เหล่านี้ขาดแคลน และถ้าเป็นไปได้ รัฐบาลต้องมีวิสัยทัศน์ ในการพิจารณานำเข้ายาต้านไวรัสประเภทอื่นที่ผ่านการรับรองมาแล้ว เช่น ภูมิคุ้มกันสังเคราะห์ ที่เรียกว่า Monoclonal Antibody เพื่อให้แพทย์เลือกใช้ในการรักษาชีวิตของประชาชน นี่ไม่ใช่เวลาที่รัฐบาลจะมาประหยัดงบประมาณในส่วนนี้ ต่อให้ยาเหล่านี้จะมีราคาแพง แต่เมื่อเทียบกับชีวิตของประชาชนแล้ว ถือว่าไม่แพง และถ้ารัฐบาลมีความเป็นห่วงเรื่องงบประมาณจริง รัฐบาลก็ควรเร่งจัดหา และกระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีนมาตั้งแต่ต้น เพราะค่าวัคซีน นั้นเมื่อเทียบกับค่ายา เงินเยียวยา และความเสียหายย่อยยับทางเศรษฐกิจถือว่าถูกกว่ามาก แต่รัฐบาลก็มิได้นำพา ปล่อยปละละเลย จนเกิดข้อบกพร่องอย่างร้ายแรง อย่างที่เป็นอยู่นี้”

ก่อนจบการแถลง วิโรจน์ ย้ำอีกครั้งว่า ก่อนที่วัคซีนที่มีคุณภาพจะมาถึงเต็มแขนประชาชน อย่างทีนายอนุทินเคยสัญญาไว้ งที่รัฐบาลต้องทำโดยทันที ก็คือ การประคับประคองสถานการณ์ เพื่อไม่ให้สถานการณ์การระบาดของโรค และการสูญเสียชีวิตของประชาชน ลุกลามไปมากกว่านี้ จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาข้อเสนอหลักทั้ง 3 ข้อ พร้อมกับข้อเสนอแนะอื่นๆ และเร่งนำไปปฏิบัติด้วย อย่าให้ระเบียบต้องทำให้ประชาชนรอคอย และอย่าให้การรอคอยเข่นฆ่าประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net