Skip to main content
sharethis

คนทำงานสาธารณสุขสัญญาจ้างในมาเลเซียผละงานประท้วงหลายพันราย หลังมาตรการล็อกดาวน์เป็นเวลาหลายเดือนไม่ได้ช่วยทำให้ผู้ป่วย COVID-19 ลดลง รวมถึงมีกลุ่มที่ประท้วงเรียกร้องปรับสภาพเงื่อนไขการจ้างงานที่ทำให้หมอสัญญาจ้างอยู่ในสภาวะไม่มั่นคงด้านการงาน

ในมาเลเซียเมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ผ่านมามีการผละงานประท้วงแบบที่เรียกว่า "ฮาทัล" ของกลุ่มแพทย์สัญญาจ้างที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบที่พวกเขาบอกว่าเป็นการปิดกั้นความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและทำให้พวกเขาไม่มีความมั่นคงทางการงานด้วยการทำให้พวกเขาอยู่ภายใต้การจ้างานชั่วคราวเป็นเวลานานมาก

แพทย์ผู้ประท้วงเหล่านี้มอบหมายงานให้กับเพื่อนร่วมงานก่อนที่จะเริ่มประท้วงในช่วง 11 โมงตอนสายของวันที่ 26 ก.ค. มีการถือป้ายประท้วงและมีการตั้งข้อสังเกตจากสื่อว่ามีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่มมากขึ้นตามโรงพยาบาลต่างๆ ในวันนี้

นอกจากนี้การผละงานประท้วงของกลุ่มคนทำงานสาธารณสุขยังมีสาเหตุมาจากเรื่องการที่รัฐบาลมาเลเซียสั่งล็อกดาวน์ต่อเนื่องมาเป็นเวลานานแต่ก็ไม่ได้แก้ปัญหาการระบาดของ COVID-19 แต่อย่างใด มีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิม โดยมีกรณีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น และทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องโหมงานหนัก

จากสถิติเมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมามาเลเซียมีกรณีผู้ติดเชื้อรายวัน 17,045 ราย และผู้เสียชีวิต 92 ราย ในโซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยภาพและวิดีโอของโรงพยาบาลที่ต้องรับมือผู้ป่วยอย่างหนักและบุคลากรทางการแพทย์ต้องตรากตรำจากผู้ป่วยจำนวนมากขนาดนี้

นอกจากรูปภาพของผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลแล้ว ยังมีภาพของประชาชนที่ต่อคิวยาวเป็นเวลาหลายชั่วโมงหลังรับการตรวจพบว่ามีเชื้อ COVID-19 ที่ศูนย์ตรวจโรคซึ่งอยู่ในสภาพที่แออัดหนาแน่นและไร้สุขอนามัย เดิมทีแล้วศูนย์นี้มีไว้ดูแลผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการหรือมีสัญญาณโรคไม่มาก แต่ในตอนนี้ศูนย์ได้กลายเป็นแหล่งรักษากรณีที่อาการแย่กว่า

การประท้วงผละงานแบบวอลก์เอาท์ในครั้งนี้เกิดขึ้นในโรงพยาบาลประมาณ 15-20 แห่งทั่วมาเลเซีย มีผู้ประท้วงหลายพันคนถึงแม้ว่าผู้บังคับบัญชาจะข่มขู่คุกคามพวกเขาว่าจะดำเนินมาตรการทางวินัยกับผู้ที่เข้าร่วมการผละงานประท้วง ผู้ประท้วงส่วนใหญ่สวมชุดสีดำถือป้ายประกาศและโปสเตอร์ พวกเขาผละงานในเวลาเดียวกันแม้จะอยู่ในต่างโรงพยาบาลกัน โดยที่การประท้วงเกิดขึ้นในหลายเมืองของมาเลเซีย เว้นแต่ที่ศูนย์ประชุม Maeps เซอร์ดัง ซึ่งเป็นสถานที่กักตัวควบคุมโรคยกเลิกการประท้วงหลังจากที่ตำรวจขู่ว่าจะจับกุมพวกเขา

นอกจากการข่มขู่จากตำรวจแล้ว ยังมีการห้ามสื่อมาเลเซียนำเสนอข่าวเหล่านี้นอกเหนือจากกรมข้อมูลข่าวสารของรัฐสลังงอร์เท่านั้น แม้แต่สื่อทางการอย่าง RTM และ Bernama ก็ห้ามนำเสนอ

ระบบหมอสัญญาจ้างในมาเลเซียนั้น เป็นระบบที่ทำให้หมอสัญญาจ้างรัฐบาลในระดับผู้นอยเสี่ยงจะสูญเสียหน้าที่การงานหลังจากที่หมดสัญญาจ้างเวลา 5 ปีแล้ว ทำให้พวกเขาไม่มีข้อได้เปรียบมากเท่าหมอที่อยู่ในตำแหน่งงานประจำ รวมถึงไม่มีความเท่าเทียมด้านโอกาสในความก้าวหน้าเลือกความถนัดเฉพาะทางของตัวเอง รัฐบาลมาเลเซียประกาศว่าจะขยายสัญญาจ้างในพวกเขาอีก 4 ปี แต่ก็ยังไม่ยอมจัดให้พวกเขาได้รับงานในตำแหน่งถาวรอยู่ดีทำให้กลุ่มผู้ประท้วงเรียกสิ่งที่รัฐบาลทำว่า "ครึ่งๆ กลางๆ" และ "แค่หยอดคำหวานให้ฟังเหมือนจะดูดี"

โฆษกของกลุ่ม "หมอสัญญาจ้างผละงานประท้วง" (Hartal Doktor Kontrak) ที่เรียกตัวเองว่าหมอมูฮัมหมัดกล่าวว่า ในวันนี้พวกเขาไม่ได้มีเจตนาอยากจะชุมนุมหรือประท้วงแต่แค่ต้องการเรียกร้องให้สิทธิความเท่าเทียมกับหมอสัญญาจ้างด้วยการให้สถานะการจ้างงานถาวร ได้มีโอกาสศึกษาต่อแบบคนอื่นๆ พวกเขาจำนวนมากล้วนแต่เป็นผู้ที่ช่วยต่อสู้กับภัยโรคระบาด COVID-19 มาตั้งแต่ต้น แต่ก็เริ่มเหนื่อยล้าจากระบบที่มีอยู่ในตอนนี้

เรียบเรียงจาก

Contract medical officers walk out nationwide in support of Hartal, call for immediate reform, The Star, 26-07-2021

Malaysia doctors strike, parliament meets as COVID strain shows, Aljazeera, 26-07-2021

Docs on strike: Hundreds walk out of govt hospitals nationwide, Malaysiakini, 26-07-2021

ที่มาของภาพประกอบ: Azam Mektar

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net