ขุนศึก ศักดินา ออกญา พญาครุฑ: ‘ระบอบอุมถัมภ์เครื่องราชฯ’ ในการเมืองไทย-กัมพูชา

รู้จักโครงสร้างระบบอุปถัมภ์ในสังคมการเมืองไทย-กัมพูชายุคใหม่ที่มีทั้งความเหมือนและต่าง ซึ่งประกอบสร้างขึ้นจากตำแหน่ง ‘ศักดินา’ ยุคเก่า ผ่านระบบเกียรติยศ ทั้งการมอบตำแหน่ง ‘ออกญา’ และ ‘เครื่องราชอิสริยาภรณ์’ ในฐานะเครื่องมือขยายอำนาจ ของเครือข่ายสถาบันกษัตริย์และผู้นำประเทศ

  • ฮุน เซน นายกฯ กัมพูชารื้อฟื้นตำแหน่ง ‘ออกญา’ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสร้างเครือข่ายนักธุรกิจและขยายอิทธิพลทางการเมือง ด้วยการมอบตำแหน่งให้คนที่บริจาคเงินแก่รัฐ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16.3 ล้านบาท)
  • ประชาชนเรียกร้องให้ฮุน เซน ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ได้รับตำแหน่ง ‘ออกญา’ หลังหลายคนมีส่วนพัวพันคดีทุจริต ค้ามนุษย์ และยาเสพติด
  • ย้อนรอยระบบศักดินาเก่า ระบบเกียรติยศในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และสถาบันกษัตริย์ของไทย-กัมพูชาว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
  • เจาะเครือข่ายอำนาจใน ‘ระบอบอุปถัมภ์ยุคใหม่’ ภายใต้ศักดินาหน้าเก่า โดยสุภลักษณ์ กาญจนขุนภักดี อดีตบรรณาธิการบริหารเดอะเนชั่น และอาสา คำภา เจ้าของวิทยานิพนธ์ “ความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย”

27 ก.ค. 2564 หลังจากที่ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ประกาศให้การแก้ไขปัญหาทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ และจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย (RFA) รายงารว่า นักวิเคราะห์การเมืองชาวกัมพูชา เสนอแนวทางป้องกันและปราบปรามปัญหาทุจริตด้วยการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอรับตำแหน่งออกญาโดยละเอียด

‘ออกญา’ คือ ตำแหน่งหรือบรรดาศักดิ์ของขุนนางชั้นสูงในระบบศักดินาของอาณาจักรขอม ซึ่งต่อมา อาณาจักรอยุธยารับมาปรับใช้ในระบบราชการ ตำแหน่งออกญามีบรรดาศักดิ์เทียบเท่ากับตำแหน่งพระยา และสามารถเทียบเท่ากับตำแหน่งอธิบดีหรือปลัดกระทรวงในระบบราชการปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งออกญาในปัจจุบันไม่ถือว่าเป็นตำแหน่งข้าราชการและไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่เป็นเพียงคำนำหน้าชื่อหรือตำแหน่งเกียรติยศที่รัฐบาลกัมพูชามอบให้ประชาชนผู้บริจาคเงินให้รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐ อย่างน้อย 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16.3 ล้านบาท)

รัฐบาลกัมพูชามีอำนาจในการพิจารณาว่าผู้บริจาครายใดเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งออกญา เมื่อพิจารณาแล้วก็จะนำรายชื่อทั้งหมดขึ้นทูลเกล้าฯ แก่กษัตริย์กัมพูชา เพื่อขอให้กษัตริย์ลงพระปรมาภิไทยรับรองในพระราชกฤษฎีกาแต่งตั้ง จึงจะถือว่าบุคคลเหล่านั้นได้รับตำแหน่งออกญาอย่างสมบูรณ์ และสามารถใช้คำว่า ‘ออกญา’ เป็นคำนำหน้าชื่อได้

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์การเมืองกัมพูชา ระบุว่า ผู้ยื่นขอรับตำแหน่งออกญาส่วนใหญ่มักเป็นนักธุรกิจหรือนักลงทุนชาวกัมพูชาที่ประสบความสำเร็จและมีทรัพย์สินจำนวนมหาศาล ออกญาบางคนใช้ตำแหน่งเพื่อกระทำการทุจริตหรือปกปิดการกระทำที่ทุจริตของตนเอง เช่น มีส่วนร่วมในการค้าประเวณี หรือใช้ตำแหน่งเป็นข้ออ้างเพื่อไม่ให้ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เป็นต้น แต่ชาวกัมพูชาไม่ค่อยชื่นชมบุคคลที่ได้รับตำแหน่งออกญามากนัก เพราะที่ผ่านมา นักธุรกิจหลายคนที่ได้รับตำแหน่งนี้มักมีข่าวเสื่อมเสีย และไม่ได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการทำประโยชน์ให้สังคม แต่กลับใช้เพื่อหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง นอกจากนี้ นักวิเคราะห์การเมืองกัมพูชายังเผยกับเรดิโอฟรีเอเชียอีกว่านักธุรกิจเจ้าของตำแหน่งออกญาบางคนมีส่วนพัวพันกับการขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินทำกินและอยู่อาศัย การค้าไม้เถื่อน การทำเหมืองทราย การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และการค้ายาเสพติด

คุณสมบัติของ 'ออกญา'

รายงานอย่างไม่เป็นทางการระบุว่าผู้ได้รับตำแหน่งออกญาและเนี้ยะออกญา (เทียบได้กับตำแหน่งเจ้าพระยา) ของกัมพูชามีน้อยกว่า 1,000 คน โดยเกณฑ์การมอบตำแหน่งออกญาโดยพิจารณาจากเงินบริจาคแก่รัฐบาล เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยครั้งแรกของกัมพูชาใน พ.ศ.2537 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ (UN) เกณฑ์ดังกล่าวระบุว่าประชาชนที่บริจาคเงินขั้นต่ำ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3,000,000 บาทให้แก่รัฐบาลกัมพูชา สามารถขอรับตำแหน่งออกญาได้ แต่ใน พ.ศ.2560 รัฐบาลกัมพูชาปรับจำนวนเงินขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 5 เท่า

“การเมืองเขมรมันเป็นการเมืองแบบ real politics จริงๆ คือผลประโยชน์และอำนาจ มันไม่มีอุดมการณ์อะไรหรอก อุดมการณ์คืออำนาจ เขาสามารถกำจัดคู่แข่งได้โดยไม่คำนึงถึงหลักการอะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ตำแหน่งออกญา ถ้าเขา (ฮุน เซน) ให้ เขาก็จับคุณติดคุกได้ถ้าคุณต่อต้านเขา หรือการคอรัปต์ชันของคุณ กินไม่แบ่ง เจอแน่”

นักวิเคราะห์การเมืองกล่าวว่าคณะทำงานควรพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอรับตำแหน่ง ไปจนถึงประวัติส่วนตัว และที่มาที่ไปของรายได้ ก่อนจะตัดสินใจแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งออกญา พร้อมระบุว่าคนที่สมควรได้รับตำแหน่งออกญา คือ คนที่สร้างมาตรฐานทางศีลธรรมและประพฤติตนเป็นตัวอย่างให้กับคนทั่วไป ทั้งในเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันและการวางตัวในสังคม ไม่ใช่คนที่ข่มขืนใจประชาชนแล้วไล่ฟ้องเอาผิดหรือให้ร้ายประชาชน

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์การเมืองกัมพูชาเปิดเผยว่านักธุรกิจชาวกัมพูชาและออกญาบางคนที่มีทรัพย์สินซุกไว้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ถูกรัฐบาลอเมริกันอายัดทรัพย์สินเหล่านั้นไว้ ในขณะเดียวกัน ก็มีนักธุรกิจกัมพูชาบางคนที่ร่ำรวยจากการทำธุรกิจผิดกฎหมาย ได้นำเงินเหล่านั้นมาบริจาคเงินให้กับรัฐบาลกัมพูชา โดยระบุว่าเป็นเงินช่วยเหลือด้านสังคมและมนุษยธรรม

‘สมเด็จ’ และ ‘ออกญา’ ในกัมพูชายุคใหม่

แม้ว่าตามหลักแล้ว กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชาจะเป็นผู้พระราชทานตำแหน่งออกญาให้กับบุคคลที่บริจาคเงินช่วยเหรือรัฐ แต่ผู้มีอำนาจเต็มในการตัดสินใจ ‘เลือก’ ว่าใครสมควรได้รับตำแหน่งดังกล่าว คือ รัฐบาลกัมพูชา หรืออาจจะเรียกได้ว่าผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจที่แท้จริง คือ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี ส่วนกษัตริย์มีหน้าที่เพียงลงนามรับรองเท่านั้น

ผศ.ธีระ นุชเปี่ยม, วินิสสา อุชชิน และดิเรก หงษ์ทอง อธิบายเรื่องการให้ตำแหน่ง ‘ออกญา’ แก่ผู้บริจาครายใหญ่ของรัฐ ในบทที่ 2 ของรายงานวิจัยเรื่อง “โครงการชนชั้นนำและแรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: องค์ประกอบ โครงสร้าง และพลวัตในยุคเปลี่ยนผ่าน” เผยแพร่เมื่อเดือน มิ.ย. 2562 โดยระบุว่าเป็นการสร้างเครือข่ายชนชั้นนำกัมพูชา ผ่านการร่วมมือทางการเมืองและธุรกิจในลักษณะ “เกื้อกูลและต่างตอบแทน” จนอาจกล่าวได้ว่า ‘ออกญา’ คือตำแหน่งที่มีไว้เพื่อมอบให้นักธุรกิจที่ต้องการสร้างความสัมพันธ์กับรัฐบาลกัมพูชา หรือในทางปฏิบัติก็หมายถึงสร้างความร่วมมือกับพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ของฮุน เซน ซึ่งครองอำนาจเป็นรัฐบาลมายาวนานเกือบ 3 ทศวรรษ

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี อดีตบรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น (The Nation) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองกัมพูชา กล่าวว่า กัมพูชายุคใหม่ไม่มีระบบศักดินา เพราะถูกยกเลิกไปในสมัยเขมรแดง แต่คำนำหน้าชื่อ เช่น ตำแหน่งสมเด็จ หรือออกญา รวมถึงระบบเครื่องราชอิสยริยยศทั้งหลายได้รับการฟื้นฟูกลับขึ้นมาใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปโดยการควบคุมของสหประชาชาติ (UN) เมื่อ พ.ศ.2536 ซึ่งคำนำหน้าชื่อต่างๆ ของกัมพูชาไม่ได้มีความเชื่อมโยงใดๆ กับตำแหน่งขุนนางในอดีต หากจะเทียบให้เห็นภาพในบริบทของไทยก็คงคล้ายกับการเรียกเติมคำว่า ‘ท่าน’, ‘คุณหญิง’ หรือ ‘ท่านชาย’ นำหน้าชื่อเพื่อเป็นการให้เกียรติเท่านั้น

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี อดีตบรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น (The Nation)
 

“ระบอบเขมรแดง จนมาถึงช่วงรอยต่อของฮุน เซน หรือเฮง สัมริน มันได้รื้อโครงสร้างอะไรเก่าๆ ไปหมดแล้ว และมันก็สร้างเครือข่ายของพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ขึ้นมา มันก็เหมือนพรรคการเมืองทั่วๆ เป็นกลไกของรัฐ จนเกือบจะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ มันจะซ้อนๆ กัน เป็นพรรคที่เขาเรียกว่าพรรคที่ปกครองประเทศ หรือ Ruling Party” สุภลักษณ์กล่าว พร้อมระบุว่าการตั้งคำนำหน้าชื่อลักษณะนี้ในสังคมยุคใหม่ เป็นการเน้นย้ำระบอบชนชั้นในสังคมกัมพูชาให้ชัดเจนขึ้น เหมือนลำดับชั้นในระบบข้าราชการ

“อาจจะเรียกได้ว่า[สมเด็จ]เป็น ‘ราชทินนาม’ หรือชื่อที่กษัตริย์ตั้งให้ซึ่งมันเป็นชื่อในระบบการปกครองเดิมของเขมรที่บ้านเราไปรับมาอีกที คำว่า ‘สมเด็จ’ ที่นำหน้าชื่อฮุน เซน อาจจะเหมือน ‘สมเด็จเจ้าพระยา’ ในสมัยอยุธยา คือเขาเป็นขุนนาง เขาไม่ใช่เจ้า” สุภลักษณ์อธิบาย พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่าตำแหน่ง ‘ออกญา’ ในระบบใหม่เป็นการนำคำเก่ามาใช้เพื่อยกย่องคนในเครือข่ายของตนเองให้มียศศักดิ์ ซึ่งเป็นการสร้างชนชั้นในสังคมอีกรูปแบบหนึ่ง

กษัตริย์กัมพูชาต้องมาจากการเลือกของฝ่ายพลเรือน

สุภลักษณ์ กล่าวว่า กัมพูชายุคใหม่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) เช่นเดียวกับไทย ซึ่งผู้ที่มีส่วนช่วยร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของกัมพูชา คือ ศ.ชัยอนันต์ สมุทวณิช อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยในขณะนั้น ชัยอนันต์ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการร่างรัฐธรรมนูญของที่ปรึกษาพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ในประเทศกัมพูชา

แม้กัมพูชาและไทยจะมีระบอบการปกครองของกัมพูชาแบบเดียวกัน แต่ก็มีส่วนต่างในรายละเอียด นั่นคือ กษัตริย์กัมพูชาไม่สามารถเลือกผู้สืบราชสันตติวงศ์ได้ด้วยตัวเอง แต่เป็นหน้าที่ของกรมปรึกษาราชบัลลังก์ (Royal Council of the Throne) ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 7 คนจากฝ่ายพลเรือนและสังฆราช 2 องค์ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นสมาชิกลำดับที่ 1 และประธานรัฐสภา เป็นสมาชิกลำดับที่ 2 หมายความว่าฝ่ายพลเรือนมีอำนาจหน้าที่เต็มในการกำหนดว่าใครคือกษัตริย์องค์ต่อไป อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญของกัมพูชาระบุไว้ว่าผู้มีสิทธิ์สืบราชบัลลังก์กัมพูชาต้องมาจากสายสกุลนโรดมหรือสีสุวัตถิ์เท่านั้น ตัวเลือกรัชทายาทจึงจำกัดอยู่เพียงไม่กี่คน ด้วยเหตุนี้ อาจกล่าวได้ว่าสถาบันกษัตริย์ของกัมพูชามีความคล้ายคลึงกับสถาบันกษัตริย์ของมาเลเซียมากกว่าไทย เพราะตำแหน่งกษัตริย์ของกัมพูชาต้องมาจากการเลือกตั้งเช่นเดียวกับมาเลเชีย ไม่ใช่การสืบตำแหน่งโดยสายเลือด

เครื่องราชอิสริยยศแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา

 

รัฐธรรมนูญกัมพูชาฉบับ พ.ศ.2536 ทำให้พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุทรงกลับมาขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์และประมุขแห่งกัมพูชาอีกครั้ง ทั้งยังมีการรื้อฟื้นระบบเครื่องอิสริยยศ ซึ่งเป็นเครื่องหมายของศักดินาในระบอบเก่ากลับมาใช้ ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักคณะรัฐมนตรีกัมพูชา ระบุว่าเครื่องอิสริยศกัมพูชามี 4 ตระกูลหลัก ได้แก่ ตระกูลมาตุภูมิ ตระกูลราชบัลลังก์ ตระกูลการป้องกันประเทศ และตระกูลผสม โดยเครื่องอิสริยยศตระกูลมาตุภูมิซึ่งมีลำดับศักดิ์สูงสุดจากทั้ง 4 ตระกูล สามารถแบ่งเป็น 3 ประเภทย่อย คือ เครื่องอิสริยยศชาตูปการ ซึ่งมีชาวกัมพูชาเพียง 4 คนที่ได้รับเครื่องอิสริยยศนี้ นั่นคือ ฮุน เซน, เจีย ซีม, สมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ และสมเด็จพระสังฆราชบัวคลี่

ประเภทต่อมาในตระกูลนี้ คือ เครื่องอิสริยยศพระราชาณาจักรกัมพูชา ซึ่งมอบให้แก่ข้าราชการทหารและพลเรือนระดับสูงของกัมพูชา รวมถึงประมุขหรือบุคคลสำคัญของต่างประเทศ ตัวอย่างบุคคลที่ได้รับเครื่องราชอิสริยยศประเภทนี้ เช่น พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี กษัตริย์องค์ปัจจุบันของกัมพูชา, ฮอ นำฮง รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา, พล.อ.เตีย บัญ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, พล.อ.ฮุน มาเนต ผู้บัญชาการทหารบกและบุตรชายคนโตของฮุน เซน, พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, พล.อ.เปรม ติณสูลานน์ และ
คิมอิลซอง ประธานาธิบดีคนแรกของเกาหลีเหนือ เป็นต้น ส่วนประเภทสุดท้ายในตระกูลนี้ คือ เครื่องอิสริยยศเอกราชแห่งชาติ ซึ่งมอบให้กับทหารระดับสูง

นอกจากเครื่องอิสริยยศทั้ง 4 ตระกูลหลักแล้ว กัมพูชายังมีเครื่องอิสริยยศตระกูลพิเศษ นั่นคือ เครื่องอิสริยยศลำดับสหไมตรี ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาเป็นผู้มีอำนาจเต็มในการมอบให้แก่บุคคลสำคัญจากต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือด้านการทูต โดยคนไทยที่ได้รับเครื่องราชอิสริยยศตระตระกูลนี้มี 2 คน คือ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และสุเกียรติ เสถียรไทย รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลของทักษิณ

ตำแหน่ง ‘ออกญา’ และภาพสะท้อนเครือข่ายชนชั้นนำกัมพูชา

สุภลักษณ์ กล่าวว่า ผู้ดำรงตำแหน่ง ‘ออกญา’ โดยทั่วไปไม่ได้มีอำนาจในทางการเมืองเหมือนกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นหรือหัวคะแนน แต่เรียกให้เข้าใจง่ายๆ คือชื่อเรียกของ “ระบอบอุปถัมภ์” ซึ่งนักธุรกิจที่อยู่ในเครือข่ายผลประโยชน์และความคุ้มครองของระบบอุปถัมภ์ภายใต้ระบอบฮุน เซน โดยสุภลักษณ์ระบุว่ากลุ่มออกญารุ่นแรกที่มีความสนิทชิดเชื้อกับฮุน เซนเป็นอย่างดี มีเพียง 10 คนเท่านั้น

“ออกญารุ่นใหม่ๆ คนรวยรุ่นใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะเข้ามาทางเครือข่ายของลูกๆ เขา (ฮุน เซน) คือตอนนี้ฮุน เซน พยายามจะถ่ายโอนอำนาจให้ลูก เพราะเขาก็รู้ตัว่าเขาแก่แล้ว ซึ่งลูกก็ไม่ใช่ลูกของเขาเท่านั้นนะ หมายถึงลูกของรัฐมนตรีหลายคน เขาก็เกี่ยวดองกัน เพราะฉะนั้นเครือข่ายออกญาก็จะอยู่ในกลุ่มนี้” สุภลักษณ์กล่าว พร้อมระบุว่าการที่ฮุน เซนมอบตำแหน่งออกญาหรือเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจให้คนในเครือข่ายในลักษณะนี้ หมายความว่าในอีกทางหนึ่ง เขาก็สามารถ ‘ให้โทษ’ กับกลุ่มคนที่ท้าทายอำนาจของเขาเช่นกัน

“การเมืองเขมรมันเป็นการเมืองแบบ real politics จริงๆ คือผลประโยชน์และอำนาจ มันไม่มีอุดมการณ์อะไรหรอก อุดมการณ์คืออำนาจ เขาสามารถกำจัดคู่แข่งได้โดยไม่คำนึงถึงหลักการอะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ตำแหน่งออกญา ถ้าเขา (ฮุน เซน) ให้ เขาก็จับคุณติดคุกได้ถ้าคุณต่อต้านเขา หรือการคอรัปต์ชันของคุณ กินไม่แบ่ง เจอแน่” สุภลักษณ์กล่าว

นอกจากนี้ สุภลักษณ์ยังให้ความเห็นเรื่องที่นักวิเคราะห์การเมืองเรียกร้องให้ฮุน เซน ตรวจสอบคุณสมบัติผู้รับตำแหน่งออกญา หรือเรียกร้องให้สังคายนาระบบออกญานั้นเป็นไปได้ยาก ตราบใดที่ฮุน เซนยังครองอำนาจอยู่ เว้นเสียแต่ว่ามีผู้ที่ได้รับตำแหน่งออกญานำชื่อของฮุน เซน ไปแอบอ้างจนได้รับความเสียหายจำนวนมาก หากเป็นเช่นนั้น ก็อาจมีการสังคายนาระบบออกญาครั้งใหญ่ แต่คงไม่ถึงขั้นยกเลิกระบบดังกล่าว เพราะการคงไว้ซึ่งตำแหน่งออกญานั้น ‘ให้คุณ’ กับระบอบฮุน เซนมากกว่าให้โทษ

“การทุจริตในเขมรเรียกได้ว่าเป็นคัลเจอร์ (culture) เหมือนกับของไทย พอมีอำนาจก็ใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์ คนที่ได้ตำแหน่งออกญาก็ใช้ตำแหน่งออกญาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ คล้ายๆ ว่าเขามีแบ็กอัป (backup) ดี งานของรัฐก็จะอยู่ในมือของเครือข่ายคนเหล่านี้ทั้งนั้น” สุภลักษณ์กล่าว พร้อมอธิบายว่านักลงทุนต่างชาติหลายกลุ่มที่ต้องการเข้าไปลงทุนในกัมพูชา บางครั้งก็ต้องใช้เส้นสายของเครือข่ายออกญาเพื่อเปิดทางให้สามารถเข้าไปลงทุนได้ จึงอาจกล่าวได้ว่า ‘ออกญา’ คือเรื่องของผลประโยชน์ทางธุรกิจโดยแท้

“ถ้าใครได้ตำแหน่งออกญาและสามารถอ้างชื่อฮุน เซนได้ คนก็จะเกรงใจ เพราะกลัว เพราะฉะนั้นระบอบแบบนี้ดูเหมือนจะไปได้ดี ตราบใดที่ไม่มีอะไรโปร่งใส มันค้ำจุนให้ระบอบที่มีการทุจริตแบบนี้ยังคงอยู่ได้” สุภลักษณ์กล่าว

จาก 'ออกญา' สู่ เครื่องราชฯ ไทย

เกณฑ์การขอรับตำแหน่งออกญาของกัมพูชานั้นคล้ายกับการขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของไทย ซึ่งเป็นระบบเกียรติยศที่สืบเนื่องมาจากโลกยุคเก่า ในอดีต กษัตริย์ไทยสามารถพระราชทานบรรดาศักดิ์หรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามพระราชอัธยาศัยให้แก่ข้าราชบริพาร ข้าราชการ หรือบุคคลทั่วไปที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ แต่หลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง พ.ศ.2475 กษัตริย์สามารถพระทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามอัธยาศัยได้ในบางตระกูล ในขณะที่อำนาจบางส่วนในการให้เครื่องราชอิสยาภรณ์ถูกถ่ายโอนมายังรัฐบาล โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ทำเรื่องเสนอชื่อบุคคลทั่วไปหรือข้าราชการที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามระเบียบกฎเกณฑ์ และขอให้กษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิภัยเพื่อพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ข้าราชการหรือบุคคลนั้นๆ ต่างจากกัมพูชา ที่รัฐบาลมีอำนาจเต็มในการกำหนดว่าใครคือผู้ที่สมควรได้รับตำแหน่งเกียรติยศหรือเครื่องราชอิสริยยศ

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่มีสิทธิ์ขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่สำนักนายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการขอพระราชทานให้แก่ประชาชนมีอยู่ 3 ตระกูลหลัก ได้แก่ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก (แถบแดง) เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย (แถบน้ำเงิน) และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ (แถบเขียว) ส่วนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่กษัตริย์มีอำนาจเต็มในการพระราชทานแก่ประชาชนทั่วไป (ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการฝ่ายใน) คือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า (แถบชมพู)

 

ช้างเผือก-มงกุฎไทย: เครื่องหมายแห่งข้าราชการ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ 2 ตระกูลแรก คือ ตระกูลช้างเผือกและมงกุฎไทยจะมอบให้ข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานรัฐ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฯ พ.ศ.2536 โดยเครื่องราชอิสริยาภรณ์ลำดับชั้นสูงสุดในทั้ง 2 ตระกูลนี้ คือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.) และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.) ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม สำนักนายกรัฐมนตรีอาจเสนอชื่อผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้ง 2 ตระกูลเป็นกรณีพิเศษให้แก่บุคคลที่มีผลงานประจักษ์ โดยที่บุคคลนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการก็ได้

ตัวอย่างบุคคลที่ไม่ใช่ข้าราชการประจำ แต่เคยดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการการเมือง และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น ม.ป.ช. ซึ่งเป็นลำดับชั้นสูงสุดของฝ่ายพลเรือน เช่น เจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้รับพระราชทานเมื่อ พ.ศ.2539 และธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ได้รับพระราชทานเมื่อ พ.ศ.2548 เนื่องจากทั้ง 2 คนนี้เคยดำรงตำแหน่ง ส.ว. ในปี 2535 ส่วนบุคคลที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนแต่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น ม.ป.ช. เช่น ม.จ.ภีศเดช รัชนี อดีตประธานมูลนิธิโครงการหลวง เป็นต้น

ดิเรกคุณาภรณ์: แด่ผู้ทำประโยชน์แก่สาธารณะ พระราชอำนาจนำผ่านระบบเกียรติยศ

สำหรับบุคคลที่ไม่ใช่ข้าราชการ หรือเป็นบุคคลที่ไม่เข้าข่ายพิจารณาขอรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามระเบียบสำนักนายกฯ พ.ศ.2536 แต่ประสงค์จะขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สามารถดำเนินการยื่นขอพระราชทานได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ พ.ศ.2538 โดยต้องเป็นบุคคลที่กระทำความดีความชอบแก่หน่วยงานราชการในระดับกรมขึ้นไป หรือนิติบุคคลที่มีฐานะเทียบเท่ากรม (ตามประกาศแนบท้ายของ พ.ร.ฎ.) ซึ่งวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจกรรมและผลงานต้องเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยหัวหน้าหน่วยงานนั้นๆ จะเป็นผู้นำชื่อเสนอต่อกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงฯ จะเป็นผู้นำชื่อเสนอต่อสำนักนายกรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ ผู้ขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ สามารถบริจาคเงิน ที่ดิน หรือทรัพย์สินเพื่อประโยชน์สาธารณะ มูลค่า 100,000 บาทขึ้นไป และหากทรัพย์สินที่นำมาบริจาคมีมูลค่า 30,000,000 บาทขึ้นไป สามารถขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.) ซึ่งเป็นลำดับชั้นสูงสุดในตระกูลนี้ได้

ตัวอย่างบุคคลที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 1 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.) ซึ่งเป็นลำดับชั้นสูงสุดที่ประชาชนทั่วไปสามารถขอรับได้ เช่น อาทิวราห์ คงมาลัย หรือตูน บอดี้สแลม จากการทำโครงการ ‘ก้าวคนละก้าว’ วิ่งระดมทุนช่วยเหลือโรงพยาบาล 11 แห่งที่ขาดแคลนทั่วประเทศ โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้เสนอชื่อ นอกจากนี้ยังมีนวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการบริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และอดีตผู้จัดการฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย, ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เจ้าของกรุงเทพดุสิตเวชการและบางกอกแอร์เวย์, ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เป็นต้น

อาสา คำภา นักวิจัยชำนาญการ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า เครื่องราชฯ ตระกูลดิเรกคุณากรณ์ เป็นเครื่องราชฯ ที่เกิดขึ้นใหม่ใน พ.ศ.2534 ซึ่งเขาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับว่าการเกิดขึ้นของเครื่องราชฯ ตระกูลนี้มาจากแนวคิดเรื่องอุดมคติชาติพันธุ์ไทย และพระราชอำนาจนำ (Hegemony) ในสมัย ร.9 โดยในช่วง พ.ศ.2520-2530 พระราชอำนาจนำได้มีการขยายตัวมากขึ้นผนวกกับการขยับฐานะทางชนชั้น จึงเริ่มมีกลุ่มคนหน้าใหม่ที่อยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเกียรติยศนี้มากขึ้น เป็นเหตุให้สถาบันกษัตริย์ต้องเพิ่มเครื่องราชฯ ดิเรกคุณาภรณ์ขึ้นมา เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับคนหน้าใหม่จำนวนมากที่ไม่ใช่ข้าราชการและไม่ใช่กลุ่มคนใกล้ชิดของวัง ซึ่งอาสาให้ความเห็นว่าเครื่องราชฯ ตระกูลดิเรกคุณาภรณ์ช่วยให้สถาบันสามารถจัดความสัมพันธ์กับกลุ่มคนหน้าใหม่ในระบบเกียรติยศนี้ได้ง่ายขึ้น

อาสา คำภา นักวิจัยชำนาญการ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 

ตราจุลจอมเกล้า: เครื่องหมายสายวัง

อาสา ให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างระหว่างสถาบันกษัตริย์ ข้าราชการ และประชาชน ผ่านการพระราชทานเครื่องเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยอ้างอิงจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกที่เขาเคยศึกษาไว้เมื่อ พ.ศ.2562 ในหัวข้อ “ความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย พ.ศ.2495-2353” ซึ่งเขาระบุว่าเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของไทยยึดโยงกับสถาบันกษัตริย์โดยตรงมาตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยเฉพาะบรรดาตำแหน่งทางราชการ แต่ความสำคัญของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ค่อยๆ ลดลงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 และได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งหลังจากนั้น

อาสา กล่าวว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงการปกครองแต่ระบบการบริหารส่วนใหญ่ยังคงยึดโยงอยู่กับข้าราชการจากระบอบเดิม ทำให้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลช้างเผือกและมงกุฎไทยยังคงมีความสำคัญ แต่ตระกูลเครื่องราชฯ ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น คือ “ตระกูลจุลจอมเกล้า” ซึ่งถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งในต้นรัชสมัยของ ร.9 และมีความยึดโยงอยู่กับสถาบันกษัตริย์แบบเก่ามากกว่าเครื่องราชฯ ตระกูลอื่นๆ เพราะในอดีต เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้จะสงวนไว้ให้กับกลุ่มคนที่มีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์เท่านั้น

อาสา กล่าวว่า การพระราชทานเครื่องราชฯ ตระกูลจุลจอมเกล้าขึ้นอยู่กับพระราชอัธยาศัยของกษัตริย์ โดยคนส่วนใหญ่ที่ได้จะเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์ เช่น พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร หรือข้าราชการฝ่ายใน เป็นต้น อีกทั้งจำนวนสำรับของเครื่องราชตระกูลนี้ยังมีจำกัด เช่น ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) มีเพียง 50 สำรับ ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) มีเพียง 300 สำรับ ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การพระราชทานเครื่องราชฯ ตระกูลนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ข้าราชการในวัง แต่บุคคลระดับนักธุรกิจใหญ่ของประเทศอย่าง ธนินท์ เจียวรนท์ และเจริญ สิริวัฒนภักดี ก็เคยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) มาแล้ว หรือทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยก็เคยได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ ตระกูลนี้ ในลำดับชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.)* ซึ่งมีลำดับสูงกว่าชั้น ท.จ. ส่วนลำดับชั้นปฐมจุลจอมเจ้า (ป.จ.)** ซึ่งสูงกว่าชั้น ท.จ.ว. ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ได้รับพระราชทานคือเชื้อพระวงศ์ แต่ก็มีบุคคลที่ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์เคยได้รับพระราชทานเช่นกัน อาทิ สุเมธ ตันติเวชกุล เลชาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา, พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เลขาธิการสำนักพระราชวังคนปัจจุบัน และพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นต้น

* ทักษิณ ชินวัตร ถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยทั้งหมดในวันที่ 29 มี.ค. 2562
** ลำดับชั้นสูงสุดของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้า คือ ชั้นปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ (ป.จ.ว.) ซึ่งพระราชทานให้เฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น

อนาคตของเกียรติยศจากระบอบเก่าในโลกยุคใหม่

เมื่อถามถึงแนวโน้มความสำคัญของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในอนาคต อาสา มองว่า ในมุมมองของคนรุ่นใหม่อาจจะให้ความสำคัญกับการได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์น้อยลง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นรูปแบบของระบอบเก่า ไม่มีความยึดโยงกับค่านิยมในสังคมยุคใหม่ ทำให้ความสำคัญของสิ่งนี้ค่อยๆ จางลงไปเรื่อยๆ แต่ทั้งนี้ อาสากล่าวเสริมว่าการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับข้าราชการหรือประชาชนในอนาคตอาจไม่จำเป็นต้องกระทำผ่านการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้เสมอไป แต่กระทำผ่านรูปแบบอื่น เช่น การมอบเหรียญตรา หรือการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในบางหน่วยงาน เป็นต้น

อาสา ให้ความเห็นทิ้งท้ายว่า การได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไม่ได้ส่งผลอะไรต่อพฤติกรรมหรือภาพลักษณ์ของบุคคลนั้นๆ ทั้งกรณีของไทยหรือกัมพูชา เห็นได้จากนักการเมืองบางคนที่มีข่าวเสียหาย เช่น เคยมีประวัติพัวพันกับยาเสพติด แต่เมื่อได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ลำดับสูงทันที ในขณะที่ข้าราชการประจำต้องใช้เวลาปฏิบัติงานอย่างยาวนานกว่าจะยื่นขอพระราชทานได้ แต่ในทางกลับกัน อาสามองว่าการได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้าอาจส่งผลกับความประพฤติของผู้ที่ได้รับ เพราะต้องระวังในเรื่องการกระทำที่อาจส่งผลเสียต่อสถาบันกษัตริย์ เนื่องจาก “ตราจุลจอมเกล้า” เป็นสิ่งที่กษัตริย์พระราชทานให้โดยตรง

ที่มา:

  • Cambodia Takes a Look at Royal ‘Oknha’ Nobleman Titles After Scandals
  • รายชื่อสมาชิกวุฒิสภา ตั้งแต่ปี 2475 - 22 มีนาคม 2535
  • เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา.
  • อาสา คำภา. (2562). ความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย (ปริญญานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต). เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
  • อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ และคณะ. (2562). โครงการชนชั้นนาและแรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: องค์ประกอบ โครงสร้าง และพลวัตในยุคเปลี่ยนผ่าน. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท