“ชัยวัฒน์” แจ้งความทนายปู่คออี้-บิลลี่ข้อหาแจ้งความเท็จ หลังแก่งกระจานได้เป็นมรดกโลกเพียง 1 วัน

ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานแจ้งความทนายความของปู่คออี้ ข้อหาแจ้งความเท็จเป็นคดีอาญากรณีเผาไล่รื้อบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย สมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ ชี้กรณีเผาไล่รื้อชุมชนกะเหรี่ยงศาลปกครองเคยตัดสินเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ชดใช้ค่าเสียหายไปแล้ว

แฟ้มภาพ

27 ก.ค.2564 เนชั่นทีวีรายงานว่า ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เข้าแจ้งความร้องทุกข์ และให้ดำเนินคดีกับวราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความของปู่คออี้ มีมิ ในคดีเผาไล่รื้อหมู่บ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน และทนายความในคดีอุ้มหายบิลลี่ (พอละจี รักจงเจริญ)

ชัยวัฒน์แจ้งวราภรในหลายข้อหา ได้แก่ แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย, แจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย, รู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น, แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้มีการกระทำความผิด, แจ้งข้อความตามมาตรา 172 หรือมาตรา 173 เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น และกระทำความผิดตามมาตรา 174 ในกรณีแห่งข้อหาว่าผู้ใดกระทำความผิดที่มีระวางโทษถึงประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 172, 173, 174 วรรค 2 และ 181 และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ชัยวัฒน์อ้างว่าเหตุที่ทำให้มาแจ้งความคือ เมื่อ19 ต.ค.2558 คออี้และวราภรณ์ ผู้รับมอบอำนาจจากคออี้ ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์และให้ดำเนินคดีอาญากับตนที่ในขณะนั้นเป็นหัวหน้าอุทยานฯ และพวก ในกรณีเผาไล่รื้อหมู่บ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจานเมื่อวันที่ 5-9 พ.ค.2554 ทำให้ที่อยู่อาศัย ยุ้งฉาง และทรัพย์สินของชาวบ้านได้รับความเสียหาย ซึ่งไม่เป็นความจริง ชัยวัฒน์ยังอ้างอีกว่าในช่วงวันดังกล่าวนั้นปฏิบัติการตามยุทธการตะนาวศรี ครั้งที่ 4 ตามแผนการผลักดันชนกลุ่มน้อยไม่ให้มีการบุกรุกป่าของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานทั้งหมด 7 จุด และมีเพิงพักร้างไม่มีผู้อยู่อาศัยแล้วจึงได้ทำการเผาไป 7 หลังใน 6 จุดและมี 1 จุดที่ถูกรื้อถอนไปก่อนแล้ว

นอกจากนั้นชัยวัฒน์ยังอ้างอีกทั้งยังมีพยานหลักฐานว่าการเผาเพิงพักเหล่านั้นไม่ได้กระทำในวันที่ 5-9 พ.ค.2554 ตามที่ได้มีการกล่าวอ้าง การแจ้งความร้องทุกข์ของคออี้ และวราภรณ์ ผู้รับมอบอำนาจ จึงเป็นการแจ้งความเท็จ

ศาลปกครองสูงสุดเคยตัดสินเผาบ้านกะเหรี่ยง 98 หลังไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทางด้านสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเปิดเผยผ่านเพจถึง กรณีที่ชัยวัฒน์อ้างถึงปฏิบัติการดังกล่าวบริเวณบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 4-9 พ.ค.2554 โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำโดยชัยวัฒน์ ในฐานะหัวหน้าอุทยานฯ ในขณะนั้นและพวก เผาไล่รื้อหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงรวมแล้วมีบ้านพักและยุ้งฉางที่ถูกเผาไหม้กว่า 98 หลัง

แฟ้มภาพ

ศาลสั่งจ่าย 'ปู่คออี้กับพวก' เพิ่มเป็น 50,000 แต่ไม่ให้กลับที่เดิม- 'ชัยวัฒน์' ยันไม่ขอโทษ

ต่อมาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2555 คออี้ มีมิ และพวกรวม 6 คน ได้ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นจำเลยที่ 1 และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นจำเลยที่ 2 ในฐานะหน่วยงานซึ่งกำกับดูแลอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และชัยวัฒน์ หัวหน้าอุทยานฯ ในขณะนั้นต่ศาลปกครอง และในวันที่ 7 ก.ย.2559 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่าการเผาบ้านและยุ้งฉาง เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การเผาทำลายเครื่องใช้ส่วนตัว เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้กรมอุทยานฯ ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คนคนละ 10,000 บาท ซึ่งในกรณีนี้ได้มีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาล

จนกระทั่งในวันที่ 6 ตุลาคม 2559 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ชดใช้ค่าเสียหายต่อผู้ฟ้องคดีรายละ 50,000 บาท รวมถึงคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดยังพิพากษาษายืนยันการมีอยู่ของบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ว่าเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งมีอยู่ก่อนที่พื้นที่นี้จะถูกประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

แก่งกระจานได้เป็นมรดกโลก ทั้งที่รัฐไทยยังถูกกังขาละเมิดสิทธิ

นอกจากนั้นสมาคมนักกฎหมายฯ ยังระบุอีกว่า การแจ้งความดำเนินคดีครั้งนี้ของอดีตหัวหน้าอุทยานแก่งกระจานเกิดขึ้นหลังจาก คณะกรรมการมรดกโลกมีมติรับรองการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติเพียงวันเดียว(26 ก.ค.64) ที่ผ่านมารัฐบาลไทยพยายามเสนอชื่อกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกถึง 3 ครั้งแต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากคณะกรรมการมรดกโลกมีข้อท้วงติงเกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่แก่งกระจาน เช่นในกรณีการบังคับให้สูญหายบิลลี่ หรือ พอละจี รักจงเจริญ เป็นต้น คณะกรรมการมรดกโลกจึงมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลไทยดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนให้ครบถ้วนก่อน

ในการประชุมครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 4 รัฐบาลไทยมีความเห็นอ้างว่าได้มีความพยายามแก้ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่แก่งกระจานตามข้อเสนอแนะแล้ว แต่กลับยังมีข้อสงสัยจากองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่แก่งกระจานเอง ถึงการแก้ปัญหาของรัฐบาลไทย เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ยังคงมีการดำเนินคดีกับชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิม รวมถึงในวันนี้ ยังมีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อทนายความ ผู้ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแก่งกระจานอีกด้วย

สมาคมนักกฎหมายฯ ระบุอีกว่าที่ผ่านมา ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานได้ดำเนินการส่งข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการมรดกโลก ในกรณีการเสนอชื่อกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกของรัฐบาลไทย และได้มีข้อเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก ดังนี้

1. ขอให้เลื่อนการพิจารณาอนุมัติข้อเสนอการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกของรัฐบาลไทย ออกไปจนกว่าจะได้มีมาตรการที่แน่นอนชัดเจนถึงการยอมรับในสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงในการดำรงชีวิตตามวิถีดั้งเดิมของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิถีการทำเกษตรกรรมในผืนป่าอย่างยั่งยืนหรือวิถีไร่หมุนเวียน อันเป็นรากฐานของวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงทั้งหมด รวมตลอดทั้งสร้างกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการผืนป่าที่เสนอเป็นมรดกโลกด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการอย่างเป็นภาคีที่เท่าเทียม

2. ขอให้คณะกรรมการมรดกโลกเพิ่มเติมปรับปรุงข้อกำหนดและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยในกระบวนการจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกับชุมชนท้องถิ่นพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยง โดยอาศัยแนวทางของการรับรองคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองตามพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องการคุกคามการดำรงอยู่ของชุมชนพื้นเมืองและปัญหาการดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้ที่สมาชิกของชุมชนพื้นเมืองถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม

สมาคมนักกฎหมายฯเห็นว่า การแก้ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่แก่งกระจานอย่างยั่งยืนและแท้จริง และจะทำให้กลุ่มป่าแก่งกระจานถูกรับรองเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติอย่างสง่างาม คือการเคารพวิถีชีวิตดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่ รวมถึงการยุติการใช้กระบวนการยุติธรรมหรือกฎหมายละเมิดสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ และทนายความ ผู้ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงดั้งเดิมเสมอมา สนส.จึงหวังว่ารัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องจะแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิในพื้นที่เหล่านี้อย่างแท้จริงต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท