Skip to main content
sharethis

ครม.อนุมติหลักการและให้มหาดไทยพัฒนาระบบยืนยันตัวตนด้วยใบหน้า โดยมีดีอีเอสให้คำปรึกษาพร้อมให้สำนักงบประมาณสนับสนุนเงินพัฒนาระบบรวมถึงติดตั้งซอฟต์แวร์และระบบปัญญาประดิษฐ์

แฟ้มภาพ

27 ก.ค.2564 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลไทยเผยแพร่รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี เรื่อง แนวทางการพัฒนาระบบรองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ ดิจิทัลไอดี (Digital ID) ด้วยการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (Face Verification Service – FVS) โดยอนุมัติให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ดำเนินการพัฒนาระบบโดยมีกระทรวงเศรษฐกิจเพื่อเศรษฐฏิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นที่ปรึกษาในการพัฒนา 

โดยในการพัฒนาระบบนี้ให้สำนักงบประมาณสนับสนุนงบประมาณให้กับมหาดไทยในการพัฒนาทำระบบ  FVS ไปจนถึงการติดตั้งซอฟต์แวร์และระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) การจัดหาอุปกรณ์และพื้นที่จัดเก็บข้อมูลสำหรับการให้บริการ และการทดสอบประสิทธิภาพและความมั่นคงปลอดภัยของระบบ ตลอดจนการพัฒนาเกณฑ์มาตรฐาน และข้อตกลงการให้บริการของระบบ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นใดเพื่อการบริหารงานและการให้บริการ

มติที่ประชุมครั้งนี้ สืบเนื่องมาจาก มติประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการใช้งานระบบการพิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของประเทศ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 มอบหมายสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) และ สพร. สนับสนุนการดำเนินงานของกรมการปกครองในการพัฒนาระบบดิจิทัลไอดี สำหรับประชาชนต่อไป อีกทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ ดีอีเอสและ มท. หาข้อยุติและแนวทางข้อกฎหมายเพื่อพัฒนาระบบดิจิทัลไอดี เพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมที่ต้องมีการพิสูจน์และยืนยันตัวตน

จากนั้น 28 เม.ย.2564 ในการประชุมระหว่าง ดีอีเอสและ มท. เกี่ยวกับแนวทางพัฒนาระบบ FVS ซึ่งเป็นระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้า โดย มท.จะดำเนินการพัฒนาให้มีระบบ FVS และเป็นผู้กำหนดมาตรการในการดูแลข้อมูลด้วยระดับความมั่นคงปลอดภัยขั้นสูง ซึ่งหน่วยงานของรัฐและเอกชนสามารถใช้บริการระบบ FVS ได้ โดยต้องมีมาตรฐานการทำงานตามที่ มท. กำหนด โดยในการพัฒนาระบบให้ดีอีเอสเป็นที่ปรึกษา

ในรายงานการประชุมระบุว่า ระบบ FVS ที่ มท.พัฒนาจะมีกลไกการทำงานที่ใช้เทคโนโลยีในการระบุตัวบุคคลด้วย การเปรียบเทียบภาพใบหน้าที่ผู้รับบริการถ่ายส่งเข้าระบบกับฐานข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือที่ดูแลโดย มท. ซึ่งได้แปลงเป็นแม่แบบชีวมิติ (Biometric template) ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะบุคคลด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีความแม่นยำตามเกณฑ์มาตรฐานสากล และแจ้งผลในรูปแบบของร้อยละของความถูกต้องของภาพถ่ายกับฐานข้อมูลภาพใบหน้า
อีกทั้งรายงานยังระบุว่าหากพัฒนาระบบดังกล่าวตามมาตรฐานได้สำเร็จจะช่วยลดต้นทุนด้านการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของหน่วยงานภาครัฐและธุรกิจเอกชน และยกระดับความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์ตัวตนดิจิทัลให้เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ทุกภาคส่วนในการทำธุรกรรม

ทั้งนี้ในประเทศไทย ประเด็นระบบการยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าถูกตั้งคำถามจากองค์กรสิทธิมนุษยชนเนื่องจากระบบยืนยันตัวตนด้วยใบหน้านี้ถูกบังคับใช้ไปพร้อมกับการสแกนลายนิ้วมืออย่างจริงจังในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นที่แรกๆ เพื่อใช้ในการออกซิมโทรศัพท์รวมไปถึงการบังคับให้เจ้าของเบอร์ที่มีอยู่แล้วต้องไปยืนยันตัวตนด้วยเช่นกันโดยหากไม่ดำเนินการก็จะถูกตัดสัญญาณโทรศัพท์ ซึ่งการดำเนินการนี้ที่ผ่านมา กสทช.เพียงแต่ประกาศให้ใช้กับผู้ที่ขอเปิดเบอร์ใหม่เท่านั้นในพื้นที่อื่นๆเท่านั้น แต่ยังปรากฏอีกว่ามีเอ็นจีโอที่เคยเดินทางไปในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ได้รับข้อความจากค่ายโทรศัพท์ให้ไปลงทะเบียนยืนยันตัวตนด้วยและถ้าไม่ดำเนินการก็จะถูกตัดสัญญาณโทรศัพท์เช่นกัน

นอกจากนั้นมติอนุมัติการพัฒนาระบบยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าครั้งนี้ยังออกมาในสถานการณ์ที่การประกาศใช้พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลพ.ศ. 2562 (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2564 ถูกเลื่อนออกไปอีก 1 ปี โดยเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 ครม.อ้างว่าเอกชนและหน่วยงานรัฐและประชาชนที่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามกฎหมายฉบับนี้มีรายละเอียดที่ซับซ้อน และต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อให้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีประสิทธิภาพ อีกทั้งการกำหนดโทษปรับทางปกครอง ความรับผิดทางแพ่งและทางอาญาในสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นการเพิ่มภาระและความยากลำบากให้กับทุกกลุ่มที่อยู่ภายใต้การบังคับใช้ของกฎหมายฉบับนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net