Skip to main content
sharethis

28 ก.ค. 2564 ชุมชน-ระบบนิเวศสองฝั่งโขงเดือดร้อนหนัก เขื่อนจีน-เขื่อนไซยะบุรีปิดเปิดอย่างไร้กติกา ทำเอาปริมาณน้ำสุดผันผวน ภาคประชาชนชี้แม่น้ำไม่เป็นไปตามธรรมชาติ คาดการณ์ระดับน้ำไม่ได้

สำนักข่าวชายขอบ รายงานว่า กระทรวงทรัพยากรน้ำ สาธารณรัฐประชาชนจีน ส่งหนังสือถึงคณะทำงานร่วมของกรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้างแม่น้ำโขง (LMC) จากกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ ไทย และเวียดนาม พร้อมสำเนาถึงสำนักเลขาคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรน้ำแม่น้ำล้านช้างแม่น้ำโขง ลงวันที่ 28 ก.ค. 2564 เพื่อแจ้งเตือนการลดการระบายน้ำจากเขื่อนจิงหง

ในหนังสือดังกล่าวมีสาระสำคัญระบุว่า ปริมาณน้ำที่ไหลออกจากสถานีไฟฟ้าพลังน้ำจิงหง (Jinghong Hydropower) จะค่อยๆ ลดลงจาก 900-1,300 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็น 700 ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.- 30 ส.ค. 2564 เนื่องจากการก่อสร้างรับสายส่งไฟฟ้า

“หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อท่าน และหากมีการเปลี่ยนแปลงการระบายน้ำอย่างมีนัยยะสำคัญ ท่านจะได้รับแจ้งอย่างทันการ” หนังสือระบุ และลงนามโดยนาย Zhong Yong ที่ปรึกษากรมความร่วมมือระหว่างประเทศ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงทรัพยากรน้ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม่น้ำโขงช่วงท้ายน้ำจากเขื่อนจิงหง บริเวณพรมแดนไทย-ลาว ด้าน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย หลังจากมีฝนตกหนักต่อเนื่อง พบว่า แม่น้ำโขงเพิ่มระดับขึ้นสูงสุด 6.6 เมตรในวันที่ 22 ก.ค. 2564 ต่อมาน้ำลดระดับลงอย่างรวดเร็วเหลือ 4.16 เมตร ก่อนเพิ่มขึ้นอีกเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2564 เป็น 4.59 เมตร และเพิ่มขึ้นเป็น 4.75 เมตร ในวันที่ 28 ก.ค. 2564 ซึ่งถือว่ามีความผันผวนและระดับน้ำต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสาร ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ กล่าวว่าเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบน 11 แห่งในจีน ทำให้วัฏจักรฤดูกาลของแม่น้ำโขงเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ในช่วงนี้ควรจะเป็นช่วงที่น้ำโขงเพิ่มระดับขึ้นและหลากสู่พื้นที่ชุ่มน้ำและลำน้ำสาขา ให้ปลาและสัตว์น้ำได้อพยพมาขยายพันธุ์ แต่กลับเกิดสถานการณ์น้ำโขงผันผวน และมีระดับน้ำต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของฤดูฝนหลายปีติดต่อกัน

เพียรพอกล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่เขื่อนต่างๆ ทางตอนบนกักเก็บน้ำในฤดูฝน ทำให้ลดการระบายน้ำลงมาตอนล่าง เท่ากับว่าฤดูน้ำหลากของแม่น้ำโขงอาจไม่มีอีกแล้วหากเขื่อนในจีนยังถูกใช้งานในลักษณะนี้ แม้จะมีการแจ้งเตือนแต่ก็ไม่เพียงพอ หลักการคือ ต้องมีการปรึกษาหารือ และร่วมบริหารเขื่อนให้สอดคล้องกับฤดูกาล คำนึงถึงความต้องการของระบบนิเวศและประชาชนที่อาศัยอยู่ท้ายน้ำ ทั้งเมียนมาร์ ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งแนวทางนี้ยังไม่เห็นว่ามี 

ด้านแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาว ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งอยู่ท้ายน้ำของเขื่อนไซยะบุรี ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) พบว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2564 นครชัย แสงมณี นายอำเภอเชียงคาน ออกประกาศด่วนว่า อ.เชียงคาน ได้รับรายงานจากสถานีอุทกวิทยาที่ 3 เชียงคานว่า เขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว ปล่อยน้ำออกจากเขื่อน เนื่องจากปริมาณน้ำมีความจุเกินปริมาณที่ต้องกับเก็บไว้ สูงถึง 10 เมตร จึงปล่อยน้ำออก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกระทบต่อผู้อยู่อาศัยตามแนวริมน้ำและผู้ประกอบอาชีพประมง

นายอำเภอเชียงคานยังกล่าวด้วยว่า จาการเฝ้าระวังสังเกต พบว่า ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 12 เซนติเมตรต่อชั่วโมง จึงออกประกาศเตือนให้ประชาชนในพื้นที่เตรียมเฝ้าระวังระดับน้ำและขนย้ายทรัพย์สินสิ่งของสำคัญไปยังสถานที่ปลอดภัย

สมพร แก้วมาลา คนหาปลาสมาชิกกลุ่มประมงเชียงคาน จ.เลย กล่าวว่าระดับน้ำโขงเพิ่มขึ้นสูงตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค. 2564 โดยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแทบไม่ทันตั้งตัว

“น้ำขึ้นแบบนี้ไม่ใช่ตามธรรมชาติ ไม่เป็นไปตามฤดูกาล เราไม่รู้และคาดการณ์แทบไม่ได้เลย เมื่อมีการแจ้งเตือนมา ว่าจะมีการระบายน้ำจากเขื่อน คนหาปลาก็พากันมาเก็บเครื่องมือหาปลา มาเฝ้าเรือ และเรือนแพ แต่หากจะให้ดีที่สุดคือระกับน้ำโขงควรเป็นไปตามฤดูกาล ก่อนหน้านี้เราเคยเจอเหตุการณ์ที่แม่น้ำโขงลดระดับลงทันที ทำให้เรือ และเรือนแพ ค้างอยู่ริมฝั่ง สร้างความเสียหายมาก” สมาชิกกลุ่มประมงเชียงคาน กล่าว

 

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2564 ผู้บริหารบริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงวันที่ 25 ก.ค. 2564 เริ่มมีปริมาณน้ำไหลเข้าและผ่านโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี จำนวน 8,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยเป็นปริมาณน้ำไหลผ่านโรงไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงวันที่ 1-24 ก.ค. 2564 ที่มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 3,588 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เนื่องจากอิทธิพลพายุโซนร้อนเจิมปากา

ประกอบกับเขื่อนน้ำอู มีการระบายน้ำออกจากเขื่อนตามที่ทางเขื่อนน้ำอูได้ประกาศแจ้งเตือนมาก่อนหน้านี้ โดยคาดการณ์ว่าในวันที่ 27 ก.ค. 2564 จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านโรงไฟฟ้าประมาณ 7,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และทยอยลดลงเรื่อยๆ เป็น 6,400 และ 5,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

“โรงไฟฟ้าจึงบริหารจัดการโดยการปล่อยน้ำผ่านโรงไฟฟ้าตามปริมาณน้ำจริงที่ไหลเข้าโรงไฟฟ้าตามธรรมชาติออกสู่ท้ายน้ำ เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีไม่ใช่เขื่อนประเภทกักเก็บน้ำ ไม่มีความสามารถในการกักเก็บน้ำและไม่มีอ่างเก็บน้ำ แต่เป็นโรงไฟฟ้าแบบน้ำไหลผ่าน หรือ Run-of-River กล่าวคือปริมาณน้ำที่ไหลเข้าโรงไฟฟ้าจะเท่ากับปริมาณน้ำที่ไหลออกจากโรงไฟฟ้าเสมอโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงการไหลตามธรรมชาติของแม่น้ำโขง”ผู้บริหารเขื่อนไซยะบุรี กล่าว

หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวว่า กรณีที่มีฝนตกตอนบนแม่น้ำโขง และไหลผ่านเขื่อนต่างๆ เกี่ยวข้องกับการระบายน้ำของเขื่อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรณีเขื่อนไซยะบุรีนั้น น้ำต้องผ่านเขื่อนและสามารถควบคุมการระบายน้ำได้ ซึ่งในสภาพธรรมชาติก่อนที่จะมีเขื่อนนั้น แม่น้ำไหลตามธรรมชาติ แต่ในเวลานี้น้ำโขงถูกบีบด้วยช่องแคบที่เป็นบานประตูเขื่อน อัตราการไหลและความแรงก็มากกว่าตามธรรมชาติ การที่บริษัทชี้แจงว่าว่าไซยะบุรีเป็นเขื่อนน้ำไหลผ่าน ตนเองเห็นว่าเขื่อนทำให้แม่น้ำโขงต่างจากการไหลของน้ำตามธรรมชาติ ความรุนแรงของน้ำมากกว่าการที่ไม่มีเขื่อน

“ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการเตือนว่าน้ำจากเขื่อนจะระบายลงมาเท่าไหร่ แม้ว่าจะมีความพยายามตกแต่งคำใดๆ ก็ตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาชนริมแม่น้ำโขงนั้นต่างไปจากสภาพธรรมชาติโดยสิ้นเชิง จะบอกว่าไม่มีอ่างเก็บน้ำ แต่น้ำปริมาณมากถูกกักไว้ ผลกระทบคือเกิดภาวะน้ำนิ่ง ยาวไปถึงเมืองหลวงพระบาง ซึ่งครั้งนี้แม่น้ำโขงที่หลวงพระบางได้รับผลกระทบจากน้ำที่ระบายจากเขื่อนบนแม่น้ำอูด้วย อัตราการเร่งของการปล่อยน้ำจากเขื่อนทำให้การไหลของน้ำเปลี่ยนไป” หาญณรงค์กล่าว และว่าคนริมโขงเห็นชัดเจนว่าน้ำโขงทำไม่เปลี่ยนแปลงแบบนี้ ตอนนี้แม่น้ำโขงขึ้นลงขึ้นอยู่กับเขื่อน ยกระดับขึ้นรุนแรง และลดลงแบบกระชาก

“ตอนนี้แม่น้ำโขงถูกควบคุมโดยบริษัทเจ้าของเขื่อนโดยสิ้นเชิง ไม่ใช่แม่น้ำโขงแล้ว ตามธรรมชาติหากน้ำขึ้นก็เกิดจากฝน รับได้ เตรียมตัวได้ ทำใจได้ แต่วันนี้เห็นชัดเจนว่าเกิดผลกระทบข้ามพรมแดน ต่อจังหวัดทั้ง 7 ทางท้ายน้ำของเขื่อน” หาญณรงค์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net