สธ.แก้คำสั่ง รายงานผลบวกจาก ATK เป็น Probable case-ก้าวไกลหวั่นอำพรางตัวเลข

28 ก.ค. 2564 ก้าวไกลติง คำสั่ง สธ. ให้ใช้แอนติเจนเทสต์คิต (ATK) ตรวจเชิงรุกแทน RT-PCR หากพบผลบวกไม่ต้องรายงานในระบบ อาจปกปิดจำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริง ด้าน สธ. เผยลงนามแก้ไขคำสั่งให้รายงานผลบวกจากการตรวจด้วย ATK เป็นกลุ่มที่มีความน่าจะเป็นผู้ป่วย (Probable case) ต้องตรวจยืนยันด้วย RT-PCR จึงจะรายงานเป็นผู้ป่วยยืนยัน (Comfirmed case)

ทีมสื่อพรรคก้าวไกลรายงานว่า จากกรณีหนังสือ สธ 0211.021/15965 ลงวันที่ 23 ก.ค. 2564 ที่ระบุในตอนหนึ่งว่า ให้ยกเลิกการทำการตรวจคัดกรองเชิงรุก (Active Case Finding) ด้วยวิธี RT-PCR โดยให้ใช้ Antigen Test Kit (ATK) ซึ่งให้ผลเร็วกว่าแทน และหากพบผลเป็นบวก จะยังไม่นับรวมเป็นผู้ป่วย ไม่ต้องรายงานในระบบโรคติดเชื้อนั้น

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในการใช้ ATK ที่ทราบผลภายในระยะเวลาเพียง 30 นาที เพื่อตรวจคัดกรองเชิงรุก จะทำให้สามารถแยกเอาผู้ติดเชื้อออกจากครอบครัวและชุมชน รวมถึงเพื่อให้เขาสามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้โดยเร็ว ทั้งยังเป็นการสกัดกั้นการระบาดของโรค และลดอัตราการเสียชีวิตของประชาชนได้ ซึ่งพรรคก้าวไกลได้เสนอแนวคิดนี้มาโดยตลอด เพราะเป็นวิธีที่จะทำให้รัฐบาลสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ผู้ติดเชื้อสามารถเข้าถึงยาต้านไวรัสและยารักษาโรคตามอาการต่างๆ ตามการวินิจฉัยของแพทย์ได้ โดยที่ไม่ต้องรอผลตรวจจากวิธี RT-PCR ซึ่งหลายกรณีต้องใช้เวลารอคอยนานกว่า 3 วัน

"จากแนวเวชปฏิบัติของกรมการแพทย์เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2564 ระบุชัดว่าผู้ติดเชื้อหากได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ภายใน 4 วันนับจากวันเริ่มมีอาการ ผู้ป่วยจะมีแนวโน้มตอบสนองต่อการรักษาได้ดี หมายความว่าโอกาสที่จะเปลี่ยนจากผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียวเป็นกลุ่มสีเหลือง หรือกลายเป็นผู้ป่วยสีแดงที่มีอาการหนัก ก็จะลดลง รวมถึงโอกาสที่จะเสียชีวิตก็จะลดลงตามไปด้วย และในแนวเวชปฏิบัติฉบับนี้ ยังระบุอีกด้วยว่า ผู้ที่ตรวจด้วยชุด ATK แล้วพบผลเป็นบวก จะต้องได้รับการรักษาเสมือนผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ระหว่างที่รอตรวจวินิจฉัยยืนยันด้วยวิธี RT-PCR หรือการวินิจฉัยอื่นๆ"

อย่างไรก็ตาม ตามสภาพการณ์จริงในปัจจุบัน แม้มีสถานพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์จำนวนหนึ่งได้ปรับระบบงานธุรการ โดยเฉพาะระบบการจ่ายยา เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงยา Favipiravir ได้เร็วขึ้นแล้ว แต่ยังพบว่าโรงพยาบาลในสังกัดอื่นๆอีกเป็นจำนวนมากไม่ยึดตามแนวปฏิบัตินี้ ทำให้กว่าแพทย์จะพิจารณาจ่ายยา Favipiravir ได้ แม้ผู้ติดเชื้อจะรู้ผลจากการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK แล้วก็ตาม แต่การจ่ายยายังคงต้องรอคอยงานเอกสารธุรการการลงทะเบียน และการตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งกินระยะเวลาการรอคอยที่ยาวนาน ทำให้ผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มที่มีโรคประจำตัว มีอาการหนักขึ้น และเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะเสียชีวิต

“ในประเด็นดังกล่าวนี้พรรคก้าวไกล จึงขอเรียกร้อง ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. และนายกรัฐมนตรี ให้เร่งสั่งการอย่างเป็นทางการเพื่อทำให้ระบบการจ่ายยา และระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่ต่างสังกัดก็ต่างทำ แบบที่เป็นอยู่" วิโรจน์กล่าว

ทั้งนี้ วิโรจน์ กล่าวว่า หากไม่วางแผนอย่างเป็นระบบเพื่อให้ผู้ติดเชื้อ กันตัวเองออกจากครอบครัวและชุมชนได้อย่างรวดเร็ว และเข้าถึงยา และการรักษาตามการวินิจฉัยของแพทย์อย่างทันท่วงที การควบคุมการระบาด ก็จะขาดประสิทธิภาพ กลายเป็นภาระของระบบสาธารณสุข และการสูญเสียชีวิตของประชาชนก็จะเพิ่มมากขึ้นจากการที่กลุ่มผู้ป่วยสีเขียวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และแดง

"เรื่องหนึ่งที่น่าเป็นกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับหนังสือ สธ 0211.021/15965 ก็คือ เมื่ออ่านดูในข้อที่ 5 เนื้อหาในคำสั่งนี้เหมือนมีเจตนาที่จะไม่บันทึกผลตรวจจากชุดตรวจ ATK ในสารบบเลย จึงอาจเข้าข่ายเป็นพฤติกรรมที่พยายามปกปิดอำพรางจํานวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริง ซึ่งนอกจาก จะเป็นการปกปิดข้อเท็จจริงกับประชาชนแล้ว ยังจะเกิดความเสียหายอย่างมากกับการตัดสินใจเชิงนโยบายในอนาคต” วิโรจน์ กล่าว

ทั้งนี้ โฆษกพรรคก้าวไกลยังได้เสนอให้กระทรวงสาธารณสุข จัดทำระบบรายงานการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้ชัดเจนโดยแบ่งออกมาเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1. รายงานการตรวจ และผลการตรวจด้วยวิธี RT-PCR

2. รายงานการตรวจ และผลตรวจด้วยชุดตรวจ ATK อย่างเดียว โดยไม่ได้ยืนยันซ้ำด้วยวิธี RT-PCR

3. รายงานการตรวจ RT-PCR ยืนยันผลตรวจจากชุดตรวจ ATK เพื่อที่ประชาชนจะได้ทราบถึงอัตราการเกิด False Positive

สุดท้าย โฆษกพรรคก้าวไกลยืนยันว่า การที่จะประคับประคองสถานการณ์ในช่วงวิกฤติระหว่างการรอคอยวัคซีนที่มีคุณภาพสูงต่อเชื้อกลายพันธุ์เพื่อนำมาฉีดให้กับประชาชน ต้องอาศัยความรวดเร็ว และความจริงเท่านั้นที่จะนำพาประชาชนผ่านพ้นวิกฤตไปได้ และเกิดความสูญเสียที่น้อยที่สุด แต่ถ้ารัฐบาลยังคงใช้การปกปิดอำพราง และยังคงยึดติดกับระบบรัฐราชการรวมศูนย์ ที่มีแต่ความเชื่องช้า ต่างสังกัดต่างทำไม่มีมาตรฐานเดียวกัน ก็จะเป็นการก่อกรรมทำเข็ญกับประชาชนแบบไม่สิ้นสุดและจะทำให้ประชาชน โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อย ต้องล้มตายเป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่ควรจะเป็น ซึ่งยืนยันได้ว่านี่ไม่ใช่ความโชคร้ายของพวกเขาเอง แต่เกิดจากเป็นความบกพร่องอย่างอำมหิตของรัฐบาล

ด้านเอชโฟกัสรายงานว่า นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ Hfocus ว่า คำสั่ง สธ 0211.021/15965 ลงวันที่ 23 ก.ค. 2564 สืบเนื่องเดิมการตรวจหาเชื้อโควิดต้องทำด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งใช้เวลารอนาน กว่าจะทราบผลประมาณ 24-72 ชั่วโมง ทำให้การควบคุมโรคและการวางแผนการรักษาล่าช้า บางคนไปรอนอนที่บ้าน บางคนจากอาการสีเขียวกลายเป็นสีเหลือง สีแดง และการจะเข้ารักษาใน รพ. ก็ต้องมีผลตรวจ RT-PCR เพื่อยืนยันการเข้ารักษา แต่ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้น ประกอบกับการตรวจ RT-PCR ใช้เวลานาน จึงมีนโยบายให้ตรวจแบบแอนติเจนเทสต์คิต หรือ ATK มาช่วย เพราะจะทำให้ทราบผลรวดเร็ว

“สธ. จึงสนับสนุนให้ใช้ ATK ถ้าผลบวก ก็ให้พิจารณา ทำ Home Isolation (การกักตัวที่บ้าน) ได้เลย แต่บางกรณีไม่ใช่รักษาที่บ้านได้ อาจต้องรักษาในชุมชนหรือโรงพยาบาล ฯลฯ กลุ่มนี้ต้องมีการยืนยันด้วยวิธีการทำ RT-PCR ซึ่งกลุ่มนี้เราจะเรียกว่า Probable case หรือกลุ่มสงสัยว่าจะเป็น หรือกลุ่มน่าจะเป็น แต่อาจไม่เป็นก็ได้ เพราะการตรวจแอนติเจนเทสต์คิตเป็นการตรวจเร็วแบบเบื้องต้น ดังนั้น เราจะแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสงสัยว่าจะป่วย คือ Probable case ส่วนอีกกลุ่มที่ต้องทำ RT-PCR และผลเป็นบวก จะเรียกว่า Confirm case หรือผู้ป่วยโควิด-19" รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าว

อย่างไรก็ตาม นพ.ธงชัย กล่าวว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนจึงลงนามประกาศแจ้งกับทางผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ในวันที่ 28 ก.ค. 2564

ใจความสำคัญเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อสั่งการให้ชัดเจนขึ้นระบุว่า ตามที่หนังสือที่อ้างถึง ข้อสั่งการข้อ 5 ให้ยกเลิกการทำ Active Case Finding (ACF) โดยการทำ RT-PCR และให้ใช้ Antigen test self-test Kits แทนในการคัดกรองเบื้องต้น โดยกรณีที่ผู้ป่วยพบผลเป็นบวก จะเป็นกลุ่ม Probable case ซึ่งยังไม่นับเป็นกลุ่มป่วย ไม่ต้องรายงานในระบบการรายงานโรคติดเชื้อโควิดนั้น

เพื่อให้สอดคล้องกับนแวทางในการปฏิบัติตามที่กรมวิชาการกำหนด สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงขอยกเลิกคำสั่งข้อ 5 ตามข้อสั่งการข้างต้น และให้ใช้ ข้อความแทน ดังนี้

ข้อ 5 การดำเนินการ Active Case Finding (ACF) ให้ดำเนินการดังนี้

5.1 ปรับให้ใช้ Antigen test Kit (ATK) เข้ามาใช้เสริมหรือแทน RT-PCR ในกรณีที่มีข้อจำกัด

5.2 กรณี Antigen test Kit (ATK) ให้ผลบวก ให้รายงานเป็น Probable case ตามระบบรายงานที่กำหนด และหากเคสดังกล่าวได้รับการตรวจยืนยันด้วย RT-PCR ให้รายงานผู้ป่วยยืนยันเป็น confirmed case ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท