Skip to main content
sharethis

รมว.ดีอีเอส เผย เตรียมตั้งคณะทำงานเฉพาะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานศูนย์ต้านข่าวปลอม ด้าน กสทช. หนุนนโยบายรัฐ จัดการ Fake News ที่สร้างความเข้าใจผิด พร้อมขอ ปชช.ช่วยเช็กก่อนแชร์ข่าว ไม่งั้นอาจทำให้รัฐบาลแก้ไขวิกฤตโควิด-19 ล่าช้า 

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) (ที่มา เพจเฟซบุ๊ก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)

29 ก.ค. 64 สำนักข่าว เดอะ สแตนดาร์ด และประชาชาติธุรกิจ รายงานตรงกันวันนี้ (29 ก.ค.) ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ ครั้งที่ 4/2564 มีการพิจารณาแต่งตั้ง คณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ แก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ มีการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยครอบคลุมด้านการปกครอง ภาษี และสังคม  

หน้าที่หลักของคณะทำงานชุดนี้ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำมาตรการปกครอง มาตรการทางภาษี และมาตรการสังคม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ และทันเหตุการณ์ อีกทั้ง สนับสนุนการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว และมีการประสานงานกับศูนย์ต่อต้านประจำแต่ละกระทรวงอย่างใกล้ชิด  

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบรายงานสถิติการดำเนินงานระงับข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ไม่เหมาะสมในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2564 โดยจากการที่ดีอีเอสยื่นคำร้องและแจ้งความดำเนินคดี มีคำสั่งศาลให้ระงับแล้ว 8 คำสั่ง รวม 94 ยูอาร์แอล อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาล 8 คำร้อง รวม 145 ยูอาร์แอล และมีการแจ้งความดำเนินคดีผู้กระทำความผิดนำเข้าข้อมูลไม่เหมาะสม รวม 54 ยูอาร์แอล/บัญชีรายชื่อ

ขณะที่ผลการดำเนินงานด้านการป้องกันปราบปรามในช่วงเดียวกัน ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ตรวจสอบการกระทำความผิด และดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการเสนอข่าวอันไม่เป็นความจริงตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีจำนวนทั้งสิ้น 35 ยูอาร์แอล

"อีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาข่าวปลอมคือความร่วมมือร่วมใจของประชาชนและผู้ใช้โซเชียลมีเดีย อยากให้ช่วยกันแจ้งเบาะแสเข้ามายังศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม โดยสามารถแจ้งมาได้ที่บัญชีไลน์ทางการของศูนย์ ซึ่งปัจจุบันสมาชิกจำนวน 2,409,640 บัญชี ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกันต่อต้านข่าวปลอมกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมที่ไลน์ @antifakenewscenter เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม" รมว.ดีอีเอส กล่าว  

กสทช. หนุนนโยบายจัดการ Fake News ของรัฐ 

29 ก.ค. 64 สำนักงาน กสทช. รายงานวันนี้ (29 ก.ค.) ระบุว่า นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า จากมติคณะรัฐมนตรีเรื่อง การจัดการเรื่องข่าวปลอม ซึ่งกำลังเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดความสับสนส่งผลกระทบต่อสังคมในขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาโควิด ที่หน่วยงานภาครัฐกำลังเร่งแก้ไขสถานการณ์อย่างเต็มที่นั้น สำนักงาน กสทช. ตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาข่าวปลอม (Fake News) ว่าเป็นปัญหาที่สำคัญ ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายในสังคม จากการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ บิดเบือน หรือจงใจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดจากหลายฝ่าย จนส่งผลกระทบต่อการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ของรัฐบาล สำนักงานฯ พร้อมสนับสนุนนโยบายในการจัดการข่าวปลอม (Fake News) ของรัฐบาล โดยสำนักงานฯ จะตรวจสอบและแก้ไขข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ทันที และจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่กระทำผิดเพราะข่าวปลอมดังกล่าวจะสร้างความเสียหายให้กับสังคม

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล (คนขวา) รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ กสทช.

สำนักงาน กสทช. อยากขอให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบที่มาของข้อมูลข่าวสารที่ได้รับ ความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสาร ก่อนที่จะเชื่อ หรือเผยแพร่ไปยังคนรอบข้าง หรือสาธารณะ เพราะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในปัจจุบัน ข่าวสารที่มีข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง นอกจากจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และอาจทำให้การแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของรัฐบาลเป็นไปด้วยความล่าช้า และหากประชาชนพบเห็นข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. และสำนักงาน กสทช. แต่ไม่แน่ใจในข้อเท็จจริง หรือพบว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม ขอให้สอบถามและแจ้งข้อมูลดังกล่าวมายังสำนักงานฯ ที่ Call Center ของสำนักงาน กสทช. หมายเลขโทรศัพท์ 1200 (โทร.ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย) เพื่อสำนักงานฯ จะได้ดำเนินการจัดการกับข่าวปลอม และผู้สร้างข่าวปลอมนั้นต่อไป

"สำนักงาน กสทช. พร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการจัดการข่าวปลอม ที่สร้างความเสียหายให้กับสังคม ก่อให้เกิดความสับสนในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ประเทศของเรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้" นายไตรรัตน์ ทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net