Skip to main content
sharethis

6 เดือนแรกปี 2564 COVID-19 กระทบจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ 'ท่องเที่ยว-โรงแรม-การบิน'

แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการของจ๊อบไทย (JobThai) ในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์มหางาน สมัครงาน และหาบุคลากรออนไลน์ เปิดเผยถึงข้อมูลการหางาน สมัครงาน จากการรวบรวมข้อมูลในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 พร้อมวิเคราะห์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบกับตลาดแรงงานไทย พบว่า ในเดือนมกราคม - มิถุนายน 2564 มีผู้ต้องการหางาน สมัครงาน เพิ่มขึ้นกว่าปี 2563 โดยมีผู้ใช้งานสะสมมากกว่า 13 ล้านคน เติบโตขึ้น 17% และมีการสมัครงาน 9.6 ล้านครั้ง เติบโตขึ้น 8% ด้านองค์กรมีการเปิดรับพนักงานรวมทั้งหมด 772,145 อัตรา เพิ่มขึ้น 13.70% ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาหลายองค์กรมีการเปิดรับบุคลากรโดยสามารถทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) หรือทำงานทางไกล (Remote Working) 11,036 อัตรา เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3-4 ปี 2563 18.70% นอกจากนี้ องค์กรยังมีมาตรการลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเปลี่ยนมาสัมภาษณ์งานทางออนไลน์มากถึง 78,101 อัตรา เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3-4 ปี 2563 ถึง 208.10%

สำหรับข้อมูลความต้องการแรงงานและความต้องการของผู้สมัครงานทั่วประเทศ ในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2564 มีดังนี้

5 ประเภทธุรกิจมีความต้องการแรงงานมากที่สุด 1. ธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม 66,977 อัตรา องค์กรที่มีความต้องการแรงงานมากในธุรกิจนี้ เช่น บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, บริษัท ไทย อกริ ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตอาหาร เครื่องดื่ม อาหารสำเร็จรูป อาทิ อาหารกระป๋อง และอาหารแช่แข็งเพื่อการส่งออก, บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โคคา-โคล่า และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ 2. ธุรกิจยานยนต์/ชิ้นส่วนยานยนต์ 57,390 อัตรา องค์กรที่มีความต้องการแรงงานมากในธุรกิจนี้ เช่น บริษัท ท็อปเบส์ท จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนโครงสร้าง ตัวถัง ประกอบรถโดยสารและตัวถังรถบรรทุกและจัดจำหน่ายรถโดยสารและรถบรรรทุกเพื่อการพาณิชย์, MAXXIS INTERNATIONAL (THAILAND) CO.,LTD. ผู้ผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์ระดับโลก, บริษัท สยามกลการอุตสาหกรรม จำกัด ผู้นำเข้า จัดจำหน่ายและบริการซ่อมและอะไหล่ รถ Forklift ในแบรนด์ของ Unicarrier ประเทศไทย

3. ธุรกิจบริการ 51,822 อัตรา องค์กรที่มีความต้องการแรงงานมากในธุรกิจนี้ เช่น บริษัท เอ็มโอแค็ป จำกัด ซึ่งทำธุรกิจด้าน Outsourcing Contact Center, บริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำธุรกิจด้าน Customer Service Management, Thailand YellowPages ผู้บุกเบิกธุรกิจการให้บริการค้นหาข้อมูล รายชื่อ และหมายเลขโทรศัพท์ขององค์กรธุรกิจ การค้นหาสินค้า และบริการต่าง ๆ เป็นรายแรกของประเทศไทย 4. ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง - รับเหมาก่อสร้าง 50,132 อัตรา องค์กรที่มีความต้องการแรงงานมากในธุรกิจนี้ เช่น บริษัทดูโฮม จำกัด (มหาชน) ผู้จำหน่ายวัสดุก่อสร้างครบวงจร, บริษัท เจ ดับบลิว เอส คอนสตรัคชั่น จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจด้านรับเหมาก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีก่อสร้างชั้นสูงและทันสมัย, บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด แหล่งรวมสินค้าและวัสดุอุปกรณ์เพื่อการตกแต่งซ่อมแซมที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร และ 5. ธุรกิจขายปลีก 47,956 อัตรา องค์กรที่มีความต้องการแรงงานมากในธุรกิจนี้ เช่น บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด หรือโลตัส ประเทศไทย ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกธุรกิจ,บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ผู้จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค แบบครบวงจร, วัตสัน ประเทศไทย ร้านเพื่อสุขภาพและความงามอันดับ 1 ในเอเชีย

5 สายงานที่มีการเปิดรับมากที่สุด ได้แก่ 1.งานขาย 158,753 อัตรา 2.งานผลิต/ควบคุมคุณภาพ 89,279 อัตรา 3.งานช่างเทคนิค/อิเล็กทรอนิกส์ 83,440 อัตรา 4.งานธุรการ/จัดซื้อ 43,574 อัตรา และ5.งานวิศวกร 40,697 อัตรา

5 สายงานไอทีที่มีการเปิดรับมากที่สุด 1. โปรแกรมเมอร์ (Programmer) 12,296 อัตรา - ทำหน้าที่พัฒนาระบบซอฟต์แวร์ รวมถึงดูแลระบบ ให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ ทักษะที่จำเป็น : ทักษะการเขียนโปรแกรมและความรู้ด้านภาษาคอมพิวเตอร์ โดยมีความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาที่นิยมใช้ เช่น JavaScript, C#, Python และ PHP 2. ไอทีแอดมิน/เน็ตเวิร์กแอดมิน (IT Admin/Network Admin) 5,629 อัตรา – ทำหน้าที่ดูแลระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบเน็ตเวิร์ก ทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่อให้พนักงานแผนกต่าง ๆ สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น ทักษะที่จำเป็น : มีความรู้ความสามารถในเรื่องของระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์ และระบบเน็ตเวิร์ก

3. เทคนิคซัปพอร์ต (Technical Support/Help Desk) 3,598 อัตรา - ทำหน้าที่ดูแลการใช้งานโปรแกรมและอุปกรณ์ต่าง ๆ ของพนักงานภายในบริษัท และช่วยเหลือให้คำแนะนำเรื่องการใช้โปรแกรมกับลูกค้าหากเกิดปัญหาขึ้น ทักษะที่จำเป็น : มีความรู้ความสามารถในเรื่องการใช้งานและแก้ปัญหาโปรแกรมต่าง ๆ 4. วิศวกรคอมพิวเตอร์ (Computer Engineering) 2,354 อัตรา - ทำหน้าที่ออกแบบและพัฒนาระบบและสถาปัตยกรรมทางด้านคอมพิวเตอร์ครอบคลุมทั้งในส่วนฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของระบบ ทักษะที่จำเป็น : มีความรู้ด้านระบบ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และการออกแบบสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ และ 5. นักทดสอบซอฟต์แวร์ (Software Tester) 1,961 อัตรา - ทำหน้าที่ทดสอบซอฟต์แวร์ เพื่อค้นหาข้อผิดพลาด ตรวจสอบคุณภาพของระบบซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้น เพื่อให้คนใช้งานสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทักษะที่จำเป็น : ความรู้พื้นฐานทางด้าน Software Testing, การวิเคราะห์ ออกแบบการ Test

นอกจากสายงานที่กล่าวไปข้างต้นแล้วยังมีอาชีพงานไอทีที่น่าจับตามองอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น วิศวกรความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security), นักพัฒนาบล็อกเชน (Blockchain Developer), นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist), นักพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence Engineer)

โควิด-19 กระทบการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ ในแต่ละปีจะมีนักศึกษาจบใหม่เข้ามาในตลาดแรงงาน ซึ่งในปีนี้นักศึกษาจบใหม่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและผลกระทบจากโควิด-19 โดยในจ๊อบไทยมีบัญชีผู้ใช้งานที่เป็นนักศึกษาจบใหม่ 178,399 คน คิดเป็น 17.14% ของจำนวนผู้สมัครงานทั้งหมดในแพลตฟอร์ม ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

• สายงานที่เปิดรับนักศึกษาจบใหม่มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ 1.งานขาย 35,031 อัตรา 2.งานช่างเทคนิค/อิเล็กทรอนิกส์ 14,074 อัตรา 3.งานผลิต/ควบคุมคุณภาพ 11,332 อัตรา 4.งานบริการ 8,777 อัตรา และ 5.งานวิศวกร 7,677 อัตรา • สายงานที่มีนักศึกษาจบใหม่สมัครมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ 1.งานธุรการ/จัดซื้อ 60,780 คน 2.งานผลิต/ควบคุมคุณภาพ 47,137 คน 3.งานขาย 36,980 คน 4.งานวิศวกร 30,565 คน และ 5.งานขนส่ง-คลังสินค้า 28,344 คน

นักศึกษาจบใหม่ท่องเที่ยว/โรงแรม/การบินเคว้ง ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น โรงแรม หรือการบิน ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยตรง ทำให้องค์กรต่าง ๆ ไม่มีการจ้างงานในสายนี้เพิ่มมากนัก นักศึกษาจบใหม่ในสาขานี้จึงได้รับผลกระทบไปด้วย โดยข้อมูลจาก กลุ่มบนเฟซบุ๊ก “JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน” ซึ่งมีสมาชิกภายในกลุ่มกว่า 200,000 คน พบว่าประเด็นในการพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหาของเด็กจบใหม่ในสาขาดังกล่าว มีดังนี้ • การหางานด้านท่องเที่ยว โรงแรมยาก ทำให้ว่างงานนานขึ้น • คนที่ทำงานด้านท่องเที่ยว โรงแรม เช่น ไกด์ พนักงานในโรงแรม พนักงานบริษัททัวร์ ถูกลดเงินเดือน ให้ลาไม่รับค่าจ้าง ตลอดจนถูกปลด เนื่องจากบริษัทต้องหยุดดำเนินกิจการชั่วคราวหรือถาวร • ต้องหางานข้ามสายซึ่งต้องแข่งขันกับคนที่จบมาตรงสาย

ด้านข้อมูลในจ๊อบไทยพบว่า 5 สายงานที่นักศึกษาจบใหม่ด้านท่องเที่ยว / โรงแรมสมัครมากที่สุด ได้แก่ 1.งานธุรการ/จัดซื้อ 11,590 ครั้ง 2.งานบริการ 5,998 ครั้ง 3.งานขาย 5,682 ครั้ง 4.งานบุคคล/ฝึกอบรม 3,127 ครั้ง และ 5.งานการตลาด 2,633 ครั้ง

ในสถานการณ์นี้ปฏิเสธไม่ได้ว่านักศึกษาจบใหม่ในธุรกิจท่องเที่ยว / โรงแรม / การบิน ต้องเพิ่มโอกาสในการหางานจนกว่าสถานการณ์เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัว โดยต้องนำทักษะที่มีไปต่อยอดใช้กับสายงานอื่น (Transferable Skills) อย่างคนที่มีทักษะความสามารถทางภาษาอาจมองหาโอกาสในสายงานดูแลลูกค้าหรือบริการในธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับผลกระทบมาก หรือ งาน Account Executive ในเอเจนซี่ ซึ่งเป็นการใช้จุดแข็งทางด้านภาษาและการสื่อสารที่มีอยู่แล้ว และเพิ่มคอร์สเรียนเกี่ยวกับการตลาดออนไลน์ รวมทั้งการใช้ Social Media ก็จะทำให้โปรไฟล์เข้าตา HR มากขึ้นได้ หรืออาชีพเสริมอื่น ๆ เช่น ติวเตอร์สอนภาษา เนื่องจากช่วงนี้นักเรียนต้องเรียนออนไลน์ก็อาจเป็นโอกาสในการทำงานของเราได้

ที่มา: สยามรัฐ, 29/7/2564

ศูนย์ฉีดวัคซีนอมตะซิตี้ ชลบุรี เร่งฉีดวัคซีนแรงงาน ม.33 สร้างภูมิคุ้มกันหมู่

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด(มหาชน) หรือ AMATA เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อมตะได้ร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และจังหวัดชลบุรีในการจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับบุคลากรภาคอุตสาหกรรมผู้ประกันตนมาตรา 33 ณ อมตะคาสเซิล นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี โดยมีการทยอยฉีดวัคซีนให้พนักงานในสถานประกอบการอย่างต่อเนื่องตามสัดส่วนที่ได้รับการจัดสรรจากภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนภาคการผลิตที่มีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ

โดยการแพร่ระบาดโควิด-19 ตลอดเวลาที่ผ่านมาอมตะได้มีการช่วยเหลือชุมชนโดยรอบนิคมฯทั้งการแจกของอุปโภคและบริโภค โดยเฉพาะอุปกรณ์ทางการแพทย์และน้ำดื่มเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ควบคู่ไปกับการสนับสนุนภาครัฐในการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ด้วยการอำนวยความสะดวกในการจัดสถานที่จัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนในนิคมอมตะซิตี้ ชลบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยล่าสุดการฉีดวัคซีนให้แรงงานดังกล่าวมีความคืบหน้าต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมายทั้งหมดยังจำเป็นต้องประสานกับภาครัฐในการจัดหาวัคซีนให้เพียงพอประกอบด้วย

สำหรับพื้นที่จังหวัดระยองล่าสุดพบการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและสถานพยาบาลเริ่มมีไม่เพียงพอรับกับผู้ป่วยใหม่ดังนั้น กนอ. และอมตะซิตี้ ระยอง ได้ร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาและบริหารจัดการโรงงานอุตสาหกรรมให้เช่า (Ready-Built Factory) และอาคารคลังสินค้าให้เช่า (Ready-Built Warehouse) ซึ่งตั้งอยู่ภายในนิคมฯ เตรียมส่งมอบอาคารโรงงานเพื่อจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนาม ให้แก่จังหวัดระยองได้บริหารจัดการสำหรับใช้รองรับผู้ป่วยต่อไปโดยคาดว่าจะสามารถเปิดรับผู้ป่วยได้เร็ว ๆ นี้

นางบุปผา กวินวศิน ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี กล่าวว่า จากการจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนฯ ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นผลดีแก่ภาคอุตสาหกรรมที่จะยังคงมีศักยภาพในการผลิตเพื่อขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนของไทยได้อย่างต่อเนื่องแล้วยังขยายผลส่งถึงชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมด้วยเพราะประชากรภาคอุตสาหกรรมมีการพักอาศัยอยู่ในชุมชนโดยรอบ หากประชากรเหล่านี้ได้ฉีดวัคซีนอย่างต่ำ 90% ก็จะสามารถสร้างภูมคุ้มกันหมู่ในชุมชน 70% ได้ทันที

ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมเปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ที่มีประชากรอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากและทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งหากมีผู้ติดเชื้อจะสามารถแพร่กระจ่ายได้อย่างรวดเร็ว และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม

เราจึงมองการดูแลทั้งแรงงานในนิคมและชุมชนเพื่อถือว่าเป็นบ้าน ตรงนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ กนอ. หวังให้การดูแลแรงงานในนิคมจะส่งผลให้ชุมชนที่อยู่โดยรอบนิคมฯเกิดความปลอดภัยร่วมกับสถานประกอบการ สามารถจะดำเนินกิจการได้อย่างปลอดภัยสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 28/7/2564

ก.แรงงาน เตือนคนหางานทำประกันโควิดก่อนเดินทางทำงานเกาหลี

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล แจ้งข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงานไทย โดยระบุว่า แรงงานที่เดินทางไปยังสาธารณรัฐเกาหลีจะต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วย หากผลการตรวจระบุว่าพบเชื้อ แรงงานจะต้องเข้ารับการกักกัน และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการกักกันด้วยตนเอง ดังนั้น แรงงานจึงควรทำประกันโควิด-19 ที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุมระยะเวลาถึง 30 วัน หลังจากเดินทางเข้าสาธารณรัฐเกาหลีแล้ว ซึ่งหากตรวจพบเชื้อจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลด้วยตนเอง จึงควรเตรียมเงินอย่างน้อย 60,000 บาท เพื่อใช้สำรองจ่ายเมื่อต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ถึงแม้ว่าแรงงานจะทำประกันชีวิตแล้วก็ตาม โดยหลังจากนั้นสามารถนำเอกสารที่ได้รับไปยื่นขอรับเงินกับบริษัทประกันได้ ทั้งยังพบแรงงานที่เดินทางไปยังสาธารณรัฐเกาหลีในช่วงนี้ บางส่วนมีอาการป่วยเป็นโรคกลัวที่แคบ (Claustrophobia) ประมาณ 1-2 คน/เที่ยวบิน ซึ่งผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะประสบปัญหาในการกักกัน ดังนั้น แรงงานต้องทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมที่จะเข้ารับการกักกัน หรือพกยาประจำตัวในกรณีที่มีโรคดังกล่าวไปด้วย หรืออาจพิจารณาเลื่อนกำหนดการเดินทางไปทำงาน

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางาน มีภารกิจในการส่งเสริมและกำกับดูแลให้แรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งมี 5 วิธี คือ 1. กรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง 2. บริษัทจัดหางานจัดส่ง 3. นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างของตนไปทำงานต่างประเทศ 4. นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างของตนไปฝึกงานในต่างประเทศ 5. คนหางานแจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตัวเอง เพราะจะทำให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ได้ค่าจ้างที่เหมาะสม และยังได้รับการดูแลที่ดีตามสิทธิที่พึงมีด้วย

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 28/7/2564

หอการค้า จี้รัฐคัดกรองแรงงานกลับบ้าน-ตรวจโควิดเชิงรุกโรงงานอุตสาหกรรม

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมระบบทางไกล กับประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคทั้ง 5 ภาค ว่า ผู้ประกอบการในพื้นที่อยากให้ภาครัฐมีมาตรการคัดกรองเข้มข้นเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายของประชาชนในการกลับภูมิลำเนา รวมถึงความสามารถของระบบสาธารณสุขที่เริ่มมีจำกัด โดยประธานหอการค้า 5 ภาค เห็นตรงกันว่าสิ่งสำคัญเร่งด่วนในตอนนี้คือต้องมีวัคซีนจัดสรรไปเพื่อการควบคุมการระบาดให้เร็วที่สุดและต้องมีมาตรการเยียวยาควบคู่กันไป เพื่อไม่ให้สถานการณ์ในต่างจังหวัดลุกลามไปมากกว่านี้

โดยปัจจุบันแรงงานภาคอีสานที่ทำงานในกรุงเทพทยอยเดินกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก ประกอบกับหลายจังหวัดมีพื้นที่ชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ต้องเฝ้าระวังเรื่องการลักลอบเข้าประเทศ จึงอยากให้ภาครัฐมีมาตรการคัดกรองการเดินทางให้ชัดเจน

ขณะที่ในพื้นที่ภาคกลางเป็นแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมและเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดมากที่สุดของประเทศ ดังนั้น หากสามารถจัดให้มีการตรวจเชิงรุกในเขตอุตสาหกรรมก็จะช่วยให้การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นลดน้อยลงได้ นายปรัชญา สมะลาภา ประธานหอการค้าภาคตะวันออกที่มองว่าหากไม่สามารถบริหารจัดการการแพร่ระบาดในเขตโรงงานได้ อาจจะกระทบกับภาคการผลิตและการส่งออกของประเทศในที่สุด

นอกจากนี้ หอการค้า 5 ภาค ยังมีข้อเสนอเสริมจากประเด็นที่หอการค้าไทย และ 40 CEOs นำเสนอต่อรัฐบาลไว้ ซึ่งแต่ละภาคได้สอบถามความเห็นจากผู้ประกอบการและสมาชิก โดยแบ่งออกเป็น 2 มาตรการ เร่งด่วน คือ

มาตรการควบคุมการระบาด 1. การป้องกันการติดเชื้อและแพร่ระบาดในตลาด และโรงงาน 2. จัดสรรพื้นที่พักคอยสำหรับแรงงานต่างด้าว ที่จะเดินทางกับประเทศ ณ พื้นที่ชายแดน เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้น 3. การตรวจเชื้อเชิงรุกด้วย Rapid Test Kit เพื่อแยกผู้ป่วยติดเชื้อ โดยจัดให้มีการกักตัว Home Isolation และ Community Isolation และสื่อสารแนวทางปฏิบัติแต่ละอย่างให้ชัดเจน 4. ให้นำงบประมาณการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของจังหวัด (งบฉุกเฉิน) ออกมาใช้แก้ไขสถานการณ์ตามที่จำเป็น เช่น การจัดตั้งด่านควบคุมคัดกรองระหว่างจังหวัดอย่างเข้มข้น โดยใช้ Antigen test kit คัดกรองเบื้องต้น การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และศูนย์พักคอย รวมถึงสนับสนุนทรัพยากรด้านสาธารณสุข เพื่อรองรับผู้ป่วยที่เดินทางกลับภูมิลำเนาที่มีจำนวนผู้ป่วยเกินขีดความสามารถในการบริหารจัดการด้านสาธารณสุข 5. ควบคุมราคา และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงสมุนไพรที่สามารถลดอาการรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อ COVID-19 อย่างทั่วถึง อาทิ ฟ้าทะลายโจร กระชาย เป็นต้น ทั้งนี้ ควรมีหน่วยงานภาครัฐให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสรรพคุณของสมุนไพร และส่งเสริมให้เกษตรกรมีการเพาะปลูกมากขึ้น โดยมีมาตรการดูแลไม่ให้เกิดภาวะล้นตลาดหรือให้มีตลาดรับซื้อที่แน่นอน 6. ขอให้ภาครัฐมีแนวปฏิบัติให้กับสถานประกอบการทำแผนฉุกเฉิน (กรณีพนักงานในร้านติด COVID-19) เพื่อสามารถบริหารจัดการไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย โดยร้านค้าสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้โดยไม่ต้องหยุดกิจการทั้งหมด และ 7. การส่งตัวผู้ป่วยไปยังพื้นที่อื่นๆ หรือภูมิลำเนา ที่ยังมีความสามารถในการรองรับและดูแลผู้ป่วยได้ ต้องพิจารณาจากความเหมาะสมและอาการความรุนแรงของการติดเชื้อ เพื่อลดปัญหาการดูแลผู้ป่วยได้ไม่ทั่วถึง

มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ ประกอบด้วย 1. เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถประคองกิจการ และการจ้างงานต่อไปได้ จึงมีข้อเสนอสำคัญ ได้แก่ การเติมทุน, ลดค่าใช้จ่าย (ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าธรรมเนียม, การคืนเงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า) การพักชำระหนี้ และพักหนี้ โดยพิจารณาทั้งระยะเวลา จำนวนเงิน และพื้นที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมให้เหมาะสม 2. การเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ และ SMEs โดยแก้ปัญหาการเข้าถึง และเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อฟื้นฟู Soft Loan และ มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ Asset Warehousing 3. พิจารณาจัดตั้งกองทุนฟื้นฟู SMEs โดยใช้หลักการเดียวกับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 4. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับลูกหนี้ที่เป็น SMEs รวมถึง การให้ส่วนลดดอกเบี้ยเพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับลูกหนี้ที่ยังจ่ายชำระหนี้ปกติให้กับธนาคาร 5. ขยายระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ในอัตรา 2.5% จากเดิม 3 เดือน เป็น 12 เดือน เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย 6. ขยายเวลาการลดการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีป้าย และภาษีอื่น ออกไป เนื่องจากอยู่ระหว่างการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันยังได้มีการหารือ ในประเด็นการเปิดประเทศ ที่ได้มีการทยอยขยายผลจาก Phuket Sandbox ไปยังพื้นที่อื่น โดยมองว่านี่ถือว่าเป็นความสำเร็จที่ประเทศไทยยังสามารถคุมสถานการณ์ได้ที่ภูเก็ต ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยปัจจุบันชาวภูเก็ตได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว 4 แสนคน หรือคิดเป็น 87% โดยประมาณของประชากรทั้งหมด และถึงแม้ในระยะแรกจะมีปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ก็ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่จะต้องปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกันป้องกันให้พื้นที่นี้ปลอดการแพร่ระบาดเพื่อรอการฟื้นตัวของประเทศ ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญที่ในขนาดนี้คือต้องควบคุมการแพร่ระบาดในกรุงเทพฯและปริมณฑล ให้ได้เร็วที่สุดเพราะถือเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจ รวมถึงผลักดันให้มาตรการต่างๆ ที่ออกมาให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยแผนการดำเนินการของทุกมาตรการต้องมีความยืดหยุ่น พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้เป็นไปตามสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการประมวล ติดตามผลของมาตาการอย่างสม่ำเสมอ พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน กระชับและมีเอกภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจและเตรียมความพร้อมได้อย่างถูกต้อง โดยหลังจากนี้ทุกภาคส่วนต้องวางแผนการรับมือถึงสถานการณ์ที่อาจจะมีการยกระดับการควบคุมการเดินทางนานกว่าที่คาดไว้ ทั้งนี้ ข้อเสนอต่างๆ หากรัฐบาลเร่งดำเนินการออกมาจะทำให้การระบาดของ Covid-19 ลดน้อยลง และจะช่วยพยุงภาคธุรกิจให้เดินหน้าไปได้จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายต่อไป

ที่มา: TNN, 27/7/2564

ฉีดวัคซีน COVID-19 ให้กับแรงงานในแคมป์พื้นที่ กทม.แล้วกว่า 20,000 คน พร้อมเร่งฉีดวัคซีนให้แรงงานที่เหลืออีกกว่า 60,000 คน

นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน ลงพื้นที่มอบป้ายแคมป์คนงานของ 2 บริษัทย่านสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ที่ฉีดวัคซีนเรียบร้อยแล้ว

นางธิวัลรัตน์ กล่าวว่า ตั้งแต่มีมาตรการปิดแคมป์คนงานเป็นเวลา 1 เดือน กระทรวงแรงงานฉีดวัคซีน COVID-19 ให้กับคนงานในแคมป์ไปแล้วกว่า 20,000 คน เหลืออีกกว่า 60,000 คน

ทั้งนี้ มีเป้าหมายดำเนินการฉีดวัคซีน 3,000 คนต่อวัน จากแคมป์คนงานในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด 611 แคมป์ มีแรงงานทั้งหมด 83,082 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานไทย 32,471 คน และแรงงานข้ามชาติ 50,611 คน

ที่มา: Thai PBS, 27/7/2564

เปิดศูนย์ฉีดวัคซีนโควิดแรงงานก่อสร้างจนถึง 30 ก.ค.นี้ ตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 10,000 คน

นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงรุนแรง LPN ขอเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสังคมไทยและยินดีสนับสนุนเรื่องการจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีน โดยได้มอบพื้นที่อาคาร “ลุมพินี ทาวเวอร์ วิภาวดี -จตุจักร” เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมทั้งดำเนินการจัดพื้นที่ให้เหมาะสมตามมาตรฐานของศูนย์ฉีดวัคซีน โดยคำแนะนำของสำนักงานประกันสังคม และโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล รัตนาธิเบศร์ รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เข้าร่วมสนับสนุนการจัดฉีดวัคซีนตลอดระยะเวลาที่เปิดศูนย์ด้วย

โดยศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 “ลุมพินี ทาวเวอร์ วิภาวดี-จตุจักร” เปิดบริการฉีดวัคซีนแก่แรงงานก่อสร้างชาวไทยและชาวต่างด้าวจากแคมป์คนงานก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่เป็นผู้ประกันตนและผ่านการลง ทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม ระหว่างวันที่ 21-30 ก.ค. 2564 ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. โดยมีเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้กับแรงงานไม่น้อยกว่า 10,000 คนในช่วงเวลาดังกล่าว

โดยร่วมกับ สำนักงานประกันสังคม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล รัตนาธิเบศร์ ร่วมกับ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) เปิดศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ณ “ลุมพินี ทาวเวอร์ วิภาวดี -จตุจักร” เพื่อใช้เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนให้กับแรงงานก่อสร้างจากทั้งชาวไทยและชาวต่างด้าว ตามนโยบายของกระทรวงแรงงาน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 27/7/2564

เร่งแก้ปัญหามังคุดภาคใต้ ปลดล็อกล้งนำแรงงานเข้าพื้นที่รับซื้อ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งแก้ไขปัญหาฤดูกาลมังคุดภาคใต้ ที่กำลังออกสู่ตลาดช่วงเดือนก.ค.-ก.ย.2564 ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 มีการล็อกดาวน์หลายพื้นที่ ทำให้ล้งไม่สามารถเข้าไปรับซื้อในพื้นที่ได้ เพราะถ้าไป ต้องนำแรงงานเก็บคัดลงกล่องไปด้วย จึงเป็นปัญหา จึงได้จับมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด และแรงงานจังหวัดในการแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งล่าสุดอธิบดีกรมการค้าภายใน ได้ประสานผู้ว่าราชการจังหวัด โดยเฉพาะเรื่องแรงงานต้นทาง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรี ได้คุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ขอความกรุณาอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานไปกับล้ง เพื่อไปรับซื้อมังคุดที่นครศรีธรรมราชและทางจังหวัดภาคใต้ ก็ให้อำนวยความสะดวกภายใต้มาตรการกำกับดูแลโควิด-19 เพื่อให้ล้งเปิดรับซื้อได้ ราคาจะไม่กดลงไปมาก

“ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้ว จากนี้จะมีล้งไปมากขึ้น เราไม่มีปัญหาตลาดต่างประเทศ เพราะขยายตัวเกือบ 500% ในการส่งไปจีน ไปเวียดนาม และมีตลาดใหม่อีกเยอะ เช่น ล่าสุดท่านทูตชิลีบอกว่าสิ่งที่อยากนำเข้าเพิ่มที่สุด คือ ลองกองกับมังคุด ปัญหา คือ แรงงานของเรา กับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ ที่ต้องแก้และอำนวยความสะดวกให้ล้งเข้าไปรับซื้อให้มากที่สุด เพื่อเร่งดำเนินการส่งออก และได้ประสานผู้ส่งออกให้ไปตั้งจุดรับซื้อด้วยตนเอง แต่ต้องได้รับการอำนวยความสะดวกเรื่องเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามจังหวัด ซึ่งผมได้พูดกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไป 2-3 รอบแล้ว ท่านนายกรัฐมนตรีก็สั่งการให้”นายจุรินทร์กล่าว

สำหรับแนวทางการดำเนินการ ถ้าล้งไหนต้องการนำแรงงานออกจากจังหวัดจันทบุรี ก็ให้ประสานแรงงานจังหวัดจันทบุรี ซึ่งรับนโยบายแล้ว และนำเข้าจังหวัดปลายทาง ก็ประสานแรงงานนครศรีธรรมราช ซึ่งพาณิชย์จังหวัดช่วยประสานอยู่ทั้ง 2 จังหวัดนี้

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเสริมในการให้เงินอุดหนุนช่วยเหลือในเรื่องของการจัดทำกล่องฟรี 200,000 ใบ ให้ไปรษณีย์เป็นตัวกลาง ถ้าเกษตรกรขายออนไลน์ได้ ก็ไปบรรจุกล่องที่ไปรษณีย์ได้เลย มีกล่องฟรีของกระทรวงพาณิชย์อยู่ โดยค่าส่งฟรี ค่ากล่องฟรี ขอให้มีสติกเกอร์จากกรมการค้าภายใน สามารถขอได้ที่พาณิชย์จังหวัด ถ้าในนามกลุ่มประสานงานได้ไม่ยาก จะเป็นส่วนช่วยอีกทาง และยังได้ประสานกับกองทัพบก สถานีโทรทัศน์ ททบ.5 จัดกิจกรรมรณรงค์บริโภค ให้ค่ายทหารที่อยู่ในภาคใต้ลงไปช่วยรับซื้อ สำหรับเกรดรองหรือเกรดคละ เป็นการเพิ่มดีมานด์ในพื้นที่รวมทั้งเปิดจุดขายหน้าค่ายเป็นอีกหนึ่งในมาตรการเสริมด้วย

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ก่อนหน้านี้ นายจุรินทร์ได้ลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2564 เพื่อจัดการเชิงรุกก่อนผลผลิตออกสู่ตลาด รับฟังปัญหาจากเกษตรกร และมีข้อสั่งการให้ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดล่วงหน้า ทั้งเรื่องแรงงาน การจัดระเบียบล้ง การขึ้นทะเบียนล้ง รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายกำกับดูแลการซื้อขายให้เป็นธรรมต่อเกษตรกร โดยเฉพาะการให้ล้งต้องปิดป้ายแสดงราคารับซื้อตั้งแต่ 8 โมงเช้าของทุกวัน และยังให้ติดตราสินค้ามังคุดจังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ การออกใบรับรอง GAP และ GMP ก็ได้สั่งการปลัดกระทรวงเกษตรฯ มอบหมายผู้มีอำนาจในการบริหารการตรวจรับรองในพื้นที่ และเร่งดำเนินการตรวจรับรองโดยเร็ว

ส่วนมาตรการเสริม ให้สนับสนุนค่าบริหารจัดการในการรวบรวมผลไม้เพื่อการส่งออกกิโลกรัม (กก.) ละ 5 บาท เสริมสภาพคล่องโดยชดเชยดอกเบี้ยในอัตรา 3% ระยะเวลา 6 เดือน ให้องค์กรเกษตรกรและผู้ประกอบการ เพื่อรวบรวมรับซื้อผลไม้ จัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจสินค้าผลไม้สดแปรรูปและผลิตภัณฑ์เกษตรเพื่อรองรับฤดูกาลผลไม้ ภาคใต้ในรูปแบบออนไลน์ (OBM) และใช้มาตรการทางกฎหมายภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 เพื่อปิดป้ายแสดงราคารับซื้อของล้งตั้งแต่ 08.00 น. พ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัด พ.ศ.2542 ตรวจสอบ จับกุม การโกงน้าหนักและการดัดแปลงเครื่องชั่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ป้องปรามพฤติการณ์การใช้อำนาจผูกขาดโดยไม่ชอบทางการค้า การฮั้ว และการปฏิบัติการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 26/7/2564

ผลตรวจพบแรงงานในโรงงานผลิตไก่สดแช่แข็ง อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ ติดโควิดกว่า 3,000 ราย

สรุปผลการตรวจเชิงรุกแรงงานในโรงงานผลิตไก่สดแช่แข็งเพื่อการส่งออกแบบครบวงจร ที่ อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ หลังพบแรงงานเมียนมาติดเชื้อจำนวนมาก และทางจังหวัดมีคำสั่งให้ปิดโรงงาน สกัดการแพร่ระบาด จากการตรวจคัดกรองพนักงานบริษัท คนงานไทย และแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา กว่า 6,500 ราย โดยเริ่มดำเนินการตรวจมาตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 จนถึงค่ำวานนี้ (24 ก.ค.) ได้สุ่มตรวจ Antigen Test Kits ผู้ที่ลงทะเบียนทั้งหมด 6,587 ราย พบผลเป็นบวก คือ ติดเชื้อ 3,177 ราย เป็นคนงานไทย 372 ราย และแรงงานต่างด้าว 2,2805 ราย

ทีมสอบสวนโรค อ.บึงสามพัน ได้ค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในพื้นที่ชุมชนรอบบริษัทฯ 3 หมู่บ้าน 115 ราย พบติดเชื้อ 19 ราย พร้อมเตรียมวางแผนการฉีดวัคซีนเร่งด่วนให้กับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีผลการตรวจเป็นลบ ในพื้นที่รอบโรงงาน

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 25/7/2564

พนักงานรวมตัว ปิดซอยขอหยุดงาน 14วัน หลังมีในโรงงาน ติดโควิดเกือบ 400 คน ดับ 1 ราย ทวงถามหามาตรการเยียวยา

23 ก.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีพนักงานบริษัท โบว์การ์ทลินเจอรี่ ประเทศไทยจำกัด ตั้งอยู่ ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ จำนวนประมาณ 1,000 คน รวมตัวกันชุมนุบริเวณด้านในและด้านหน้าของโรงงาน เพื่อเรียกร้องขอให้ทางบริษัทหยุดงาน เนื่องจากมีพนักงานในบริษัทติด เชื้อโควิด แล้วจำนวนเกือบ 400 ราย ทำให้พนักงาน ที่ปฏิบัติงานอยู่ มีความหวาดระแวง เกรงว่าจะติดเชื้อ

หนึ่งในพนักงานกล่าวว่า บริษัท ประกอบกิจการ ผลิตชุดชั้นในสตรี มีพนักงานจำนวน 3,800 คน เป็นคนไทยทั้งหมด ขณะนี้มีพนักงานติดเชื้อโควิค แล้วจำนวนกว่า 387 ราย และมีผลการตรวจว่าพนักงานติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน พนักงานทำงานด้วยความหวาดระแวง ที่มาชุมนุมในวันนี้ เพื่อต้องการให้ทางบริษัทมีมาตรการ ช่วยเหลือเยียวยา คนที่ติดเชื้อโควิด

จากนั้นฝ่ายบุคคลของบริษัท ได้ขอให้พนักงานเดินทางกลับบ้าน โดยแจ้งว่าหากมีการรวมตัวกัน จะเกิดความไม่ปลอดภัย อาจมีการทำให้เชื้อแพร่ระบาดได้ โดยทางบริษัทได้เตรียมรถบัสมารับส่ง มารอรับอยู่ที่ด้านหน้าบริษัท มีพนักงานบางส่วนทยอยขึ้นรถบัส เมื่อรถบัสจะเคลื่อนตัวออก จากด้านหน้าบริษัท ทำให้พนักงานส่วนหนึ่งออกมาปิดถนนซอย ไม่ยอมให้รถรับส่ง ออกจากพื้นที่ แต่หากเป็นรถยนต์ที่ไม่เกี่ยวกับการรับส่งคนงาน ก็เปิดให้สัญจรได้

ต่อมานายพงศ์เทพ เพชรโสม สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ สาธารณะสุข อำเภอบางเสาธง ได้ขอให้ตัวแทนของพนักงานและตัวแทนของบริษัท เข้าไปประชุมหารือ กันภายในบริษัทเพื่อหาข้อยุติ เรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว ทั้งนี้ พนักงานบริษัท บริษัท โบว์การ์ท ลินเจอรี่ ประเทศไทยจำกัด ได้เคยมีการชุมนุมเรียกร้องเกี่ยวกับมาตรการณ์การป้องกันโรคโควิด-19 ไปแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา

ที่มา: ข่าวสด, 23/7/2564

ก.แรงงาน ปิดศูนย์คัดกรองโควิด-19 ผู้ประกันตนเชิงรุกที่สนามไทย ญี่ปุ่น ตรวจเฉียดหมื่นคน ส่งรักษาตัวใน Hospitel เกือบพันคน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยถึงสรุปภาพรวมการตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุก สำหรับผู้ประกันตนและประชาชนทั่วไป ตามโครงการแรงงาน...เราสู้ด้วยกัน ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย – ญี่ปุ่น) เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ซึ่งวันนี้เป็นวันสุดท้ายของการตรวจว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ครั้งนี้ ซึ่งมีผู้สัมผัสใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยงจำเป็นจะต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อเป็นจำนวนมาก ทำให้ขณะนี้หลายโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนเกิดความแออัด ต้องรอคิวนาน

ทั้งนี้เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกันตนและประชาชนทั่วไปให้ได้รับการตรวจอย่างรวดเร็ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย โดยกรุงเทพมหานคร และกระทรวงสาธารณสุข โดย สปสช.ดำเนินการตรวจโควิด-19 เชิงรุก ตามโครงการแรงงาน…เราสู้ด้วยกัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในวันนี้ (23 ก.ค.)เป็นวันสุดท้ายของการเปิดให้บริการ ซึ่งจากการดำเนินการตรวจโควิดเชิงรุกในครั้งนี้ภาพรวมเป็นที่น่าพอใจ

โดยภาพรวมการตรวจโควิด-19 เชิงรุก ที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย - ญี่ปุ่น) เขตดินแดง ซึ่งตั้งแต่เปิดบริการตรวจตั้งแต่วันที่ 12-22 ก.ค.64 พบว่า มีผู้มาตรวจแล้วจำนวนเกือบ 10,000 คน สำหรับผู้ที่ตรวจพบเชื้อและมีอาการจะถูกส่งตัว เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม ส่วนผู้ที่ตรวจพบเชื้อแล้วไม่มีอาการหรืออยู่ในระดับสีเหลืองตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด จะถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่ Hospitel ของประกันสังคม ซึ่งจะมีทีมแพทย์และพยาบาลดูแล ซึ่งขณะนี้ได้ส่งตัวเข้ารับการรักษาแล้วเกือบ 1,000 คน

“การตรวจโควิด-19 เชิงรุกดังกล่าวจะเป็นการชะลอการแพร่กระจายของเชื้อและควบคุมการแพร่ระบาดในช่วงที่รอการฉีดวัคซีนให้แก่แรงงานในสถานประกอบการ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในกลุ่มแรงงาน เพื่อให้ภาคแรงงานเข้มแข็งและกิจการเดินหน้าต่อไปได้โดยเร็ว”

ที่มา: สยามรัฐ, 23/7/2564

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยขอ ก.แรงงาน เร่งจัดหาวัคซีนให้ชาวต่างชาติที่ทำงานในนิคมฯ

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่าได้รับมอบหมายจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เข้าประชุมหารือร่วมกับนายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้นักลงทุนและผู้ปฏิบัติงานที่เป็นชาวต่างชาติในประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ มีนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับการสนับสนุนวัคซีนจากความร่วมมือของกระทรวงแรงงานและคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ประมาณ 36,000 คน ในการนี้จึงได้แจ้งว่า ยังมีชาวต่างชาติที่ปฏิบัติงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มของนักลงทุนบีโอไออีกประมาณ 8,000 คน จึงขอให้กระทรวงแรงงานและบีโอไอนำไปพิจารณาเพื่อขอโควต้าเพิ่มเติมจากกระทรวงสาธารณสุขให้แก่นักลงทุนและผู้ปฏิบัติงานในกลุ่มนี้เพิ่มเติม เนื่องจากเป็นบุคลากรกลุ่มสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ กนอ.มีความประสงค์ขอรับการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ผู้ประกอบการ ผู้ปฏิบัติงานชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทย ซึ่งกระทรวงแรงงานเห็นควรให้ กนอ.ประสานข้อมูลการขอรับการจัดสรรวัคซีนร่วมกับบีโอไอในคราวเดียว เพื่อให้การจัดสรรวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันท่วงที สำหรับหลักเกณฑ์การสนับสนุนวัคซีนแก่นักลงทุนต่างชาติของ กนอ.คือ ผู้บริหารและผู้ชำนาญการจากต่างประเทศ กลุ่มสมาร์ทวีซ่าที่อยู่ในไทยเกิน 6 เดือน และครอบครัวอายุ 18 ปีขึ้นไปที่ไม่เคยได้รับวัคซีนเข็มแรกที่อื่นมาก่อน

ส่วนวัคซีนที่จะนำมาฉีดให้กับกลุ่มดังกล่าวคือ วัคซีนแอสตร้าเซเนก้าที่ได้รับบริจาคจากประเทศญี่ปุ่น สถานที่ฉีดจะใช้จุดบริการที่มีอยู่แล้วของกระทรวงแรงงาน โดยกำหนดจุดในกรุงเทพมหานคร 10 จุด และในต่างจังหวัดที่ระยอง ชลบุรี สมุทรปราการ จังหวัดละ 1 จุด คาดว่าจะเริ่มทยอยฉีดได้ประมาณเดือนส.ค.นี้

“กนอ.จะพยายามติดตามความคืบหน้าในการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ให้กับบุคลากรภายใต้การกำกับดูแลให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ผู้ปฏิบัติงานในนิคมฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคนเหล่านี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการผลิตและการส่งออก และช่วยนำพาเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศให้มีความแข็งแกร่งตามไปด้วย เมื่อปัญหาโควิดบรรเทาลง” นายวีริศ กล่าว

ที่มา: ไทยโพสต์, 23/7/2564

หอการค้าประเมินขาดแคลนแรงงานเพิ่มขึ้นอีก 10-20% จากเคยประเมินไว้ว่าขาดแคลน 500,000 คน

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าได้รายงานสถานการณ์ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลให้ขาดแคลนแรงงานเพิ่มขึ้นอีก 10-20% จากก่อนหน้านี้ที่เคยประเมินไว้ว่า ขาดแคลนแรงงานอยู่ประมาณ 500,000 คน โดยหอการค้าได้เสนอแนวทาง 3 ข้อเพื่อแก้ไข ได้แก่

1) ขอให้รัฐบาลเร่งฉีดและกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับแรงงานไทยและต่างด้าวที่ถูกกฎหมายในประเทศ 2) ให้เร่งขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวกลุ่มที่ใบอนุญาตให้ทำงานสิ้นสุดลงตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ 3) เร่งรัดการเจรจาเพื่อนำเข้าแรงงานต่างด้าว MOU เข้ามาอีก 500,000 ราย พร้อมทั้งการนำเข้าแรงงานใหม่มาโดยต้องปฏิบัติตามมาตรการการกักตัวและตรวจเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

“การขาดแรงงานกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นแน่นอน โดยเฉพาะเกษตรแปรรูป อาหารต่าง ๆ แต่ปัญหาแรงงานไม่ใช่ปัญหาที่กระทรวงพาณิชย์หน่วยงานเดียวจะแก้ไขได้โดยตรง เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ทุกคนก็รับทราบอยู่แล้ว ไม่ต้องสะท้อนอะไรอีกแล้ว กระทรวงแรงงานก็รับทราบและใช้ตัวเลขเดียวกันกับหอการค้าคือ 500,000 คน แต่ข้อเสนอที่ให้ไปมันคงแก้ไขได้ยาก สิ่งที่เอกชนเสนอไป เช่น เรื่องวัคซีน ตอนนี้ก็ยังไม่มี ดังนั้นการขอวัคซีนมาฉีดแรงงานต่างด้าวคงเป็นเรื่องยากมาก เพราะขณะแรงงานถูกกฎหมายเองก็ยังฉีดไม่ครบ” นายพจน์กล่าว

ส่วนมาตรการระยะยาวก่อนหน้านี้ หอการค้าไทยได้เคยมีการเสนอให้รัฐบาลต้องจัดเตรียม “กองทุนสำหรับให้ผู้ประกอบการ” โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถกู้เพื่อนำไปลงทุนซื้อเครื่องจักรมาใช้ในการผลิตทดแทนแรงงาน ซึ่งจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมและลดปัญหาการนำเข้าแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 23/7/2564

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net