ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 29 ห้ามเผยแพร่ข้อความที่ทำให้หวาดกลัว-ให้อำนาจ กสทช.ตัดเน็ต

29 ก.ค. 2564 นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนด ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 ห้ามเผยแพร่ข้อความที่ทำให้หวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือน ให้อำนาจ กสทช. ตัดเน็ต IP address เผยแพร่ข้อความ มีผล 30 ก.ค. 2564 อย่างไรก็ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 ไม่ได้ให้อำนาจตัดการติดต่อสื่อสารของประชาชน

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) ห้ามเผยแพร่ข้อความที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร โดยหากเป็นข้อความที่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต ให้อำนาจสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พิจารณาระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ที่เผยแพร่ข้อความ มีผลบังคับใช้ 30 ก.ค. 2564

ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 29

ทั้งนี้ เนื้อความตามข้อ 1 ของข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 29 คล้ายกับข้อ 11 ในข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 27 ที่บังคับใช้เมื่อ 12 ก.ค. 2564 ซึ่งไอลอว์เคยตั้งข้อสังเกตว่า มีการตัดข้อความบางส่วนที่มุ่งเอาผิดเฉพาะข้อความที่ไม่เป็นความจริงออก โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและสมาคมวิชาชีพสื่อ 6 องค์กร เคยแสดงความกังวลว่าอาจเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนข้อกำนดดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม การระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตตามข้อ 2 อาจตีความได้ว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพในการติด่อสื่อสาร ซึ่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 ไม่ได้ให้อำนาจไว้

มาตรา 9 ระบุว่า

"ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้

(1) ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น

(2) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

(3) ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร

(4) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ

(5) ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใดๆ

(6) ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด

ข้อกำหนดตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดพื้นที่และรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุก็ได้"

ทั้งนี้ การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารบนอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ใช้วิธีให้เจ้าหน้าที่ขออำนาจศาลให้ปิดกั้น url หรือลิ้งก์ไปยังข้อความนั้น ไม่ได้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ IP address หรืออุปกรณ์ใดอุปกรณ์หนึ่ง

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 36 ยังระบุว่า

"บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกันไม่ว่าในทางใดๆ

การตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกัน รวมทั้งการกระทําด้วยประการใดๆ เพื่อให้ล่วงรู้หรือได้มาซึ่งข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกันจะกระทํามิได้ เว้นแต่มีคําสั่งหรือหมายของศาล หรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท