สุรพศ ทวีศักดิ์: โลกคู่ขนานทางความคิดในพุทธศาสน์ศึกษาไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

มีมิตรสหายแลกเปลี่ยนทางเฟสบุ๊คว่า ทำเรื่องวิพากษ์พื้นที่สำหรับพระตุ๊ดในพุทธศาสนา วุ่นวายกันตั้งแต่โครงร่างเลย โดนมองแรงเพราะเกือบ 30 ปี ของภาควิชาไม่มีคนทำแบบนี้ กรรมการนั่งแยกเป็นสองฟาก ฟากหนึ่งโอเคมาก 

แต่อีกฟากก็บรรดามหา(เก่า) นั่นแหละ วิตกจริตถึงขั้นบอกว่า “ก็แล้วแต่เลยนะครับ ถ้าคุณยืนยันจะทำ แต่ผมไม่เห็นประโยชน์ของเรื่องนี้ ยังเป็นการทำลายภาพลักษณ์พุทธศาสนาด้วยแนวคิดของนักวิชาการเกย์ที่ตายเพราะเอดส์” 

นึกถึงประสบการณ์ของตนเอง ผมเคยเสนอหัวข้อโครงการวิจัยชื่อ “ความ(ไม่)เป็นสมัยใหม่ในความคิดทางการเมืองของพุทธทาสภิกขุ” เริ่มเห็นปัญหาตั้งแต่โครงร่างเช่นกัน ผู้ทรงคุณวุฒิขีดฆ่าข้อความ, ขีดเส้นใต้ใส่เครื่องหมายคำถามเยอะแยะไปหมด (จนผมสงสัยว่าผู้ทรงฯ ที่ตรวจมาเนี่ยเชี่ยวชาญในเรื่องนี้จริงหรือไม่) 

เมื่อไปนำเสนอโครงร่างวิจัย ก็มีปัญหาตั้งแต่จะให้ผมตัดคำ “(ไม่)” ออก เพราะผู้ทรงฯ ว่าเป็นคำที่แสดง “อคติ” เหมือนต้องการจะบอกว่าความคิดทางการเมืองท่านพุทธทาสไม่มีความเป็นสมัยใหม่ จากนั้นเขาก็เทศนากันใหญ่ว่า คุณจะทำเรื่องแบบนี้ จะวิจารณ์ความคิดท่านพุทธทาสที่เป็นปราชญ์พุทธศาสนา คุณศึกษาพุทธศาสนามาดีแค่ไหน แล้วที่ปรึกษาคุณคือใคร คุณเคยอ่านงานของท่าน ป.อ. ปยุตฺโตไหม เคยอ่านงานของท่านพระไพศาล วิสาโลไหม ... แล้วคุณจะเอาความคิดตะวันตกมาวิจารณ์เนี่ย คุณศึกษาข้อดีข้อเสียของความคิดตะวันตกมาแค่ไหน ความเป็นสมัยใหม่หรือความทันสมัยแบบตะวันตกมันมีอะไรเละเทะมากมาย ไหนจะวัตถุนิยม บริโภคนิยม ฟรีเซ็กส์ ฯลฯ

สรุปคือ ผมยืนยันว่า คำว่า “(ไม่)” เป็นคำปฏิเสธธรรมดาๆ นะครับ ไม่ใช่คำแสดงอคติ ถ้างานวิจัยผมจะบอกว่าความคิดทางการเมืองของพุทธทาสเป็นหรือไม่เป็นสมัยใหม่ ผมก็ต้องแสดงเหตุผลสนับสนุนที่สมเหตุสมผล (justification) จะทำอะไรส่งเดชไม่ได้ 

แต่ผู้ทรงฯ ยืนยันให้ตัดออก ผมยืนยันไม่ตัดออก และขอถอนโครงการวิจัยนั้น อาจารย์ ตจว. อย่างผมต้องเดินออกจาก “ห้อง” นั้นอันดูเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์น่าเกรงขามของนักวิชาการผู้ทรงภูมิแห่งกรุงเทพอย่างงงๆ (ว่าตนเองเสียเวลาเดินทางไกลมา “ที่นี่” ทำไม) 

อีกประสบการณ์หนึ่ง เมื่อผมเสนอโครงการวิจัยเกี่ยวกับการปฏิรูปพุทธศาสนาไทยเปรียบเทียบกับการปฏิรูปคริสต์ศาสนา และนำแนวคิดเสรีนิยม (liberalism) และโลกวิสัย (secularism) มาวิเคราะห์ปัญหาและเสนอทางออก ผู้ทรงฯ แสดงท่าทีกังวลว่างานวิจัยนี้จะ “ไม่เป็นกลาง” อาจให้น้ำหนักกับแนวคิดตะวันตกมากว่า 

ผู้ทรงฯ เสนอว่าการวิจัยปฏิรูปพุทธศาสนาน่าจะทำเพื่อเสนอ “แนวทาง” ว่าจะจัดการปกครองสงฆ์, การศึกษาพุทธศาสนา และการเผยแพร่พุทธศาสนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร แต่ผมยังยืนยันจะทำตามจุดยืนของตนเอง และทำงานวิจัยนั้นจนเสร็จ (ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหน่วยงานที่สนับสนุนทุนเปิดกว้างพอสมควร แม้อาจจะไม่เห็นด้วยกับผู้วิจัย)

ตัวอย่างจากประสบการณ์ของมิตรสหายและของตนเองที่ว่ามา ทำให้ผมนึกถึงข้อสังเกตของไมเคิล ไรท์ที่ว่า “จะเข้าใจวัฒนธรรมทางความคิดตะวันตก ก็ต้องเข้าใจคริสต์ศาสนาแบบตะวันตก เช่นเดียวกันจะเข้าใจวัฒนธรรมความคิดในสังคมไทยก็ต้องเข้าใจพุทธเถรวาทไทย” นี่เป็นข้อสังเกตที่ดีมาก

ในตะวันตก ตั้งแต่ยุคกลางเป็นต้นมา (เป็นอย่างน้อย) เกิดโลกคู่ขนาดทางความคิดระหว่างคริสต์ศาสนากับความคิดทางโลกหรือโลกวิสัย ในแง่หนึ่งมันแสดงออกเป็นความขัดแย้งในการเชิงอำนาจนำทางการเมือง การควบคุมความจริง และศีลธรรม ในแง่หนึ่งมันคือความเหลื่อมซ้อน, การแลกเปลี่ยนและแข่งขันทางความคิด 

คริสต์ศาสนาให้พลังในการแสวงหาความจริง เพราะเป็นศาสนาที่ยืนยันว่าเราต้องรู้ความจริงเกี่ยวกับที่มาของโลก รู้ที่มาของมนุษย์ กฎศีลธรรมของชีวิตในโลกนี้ และเป้าหมายชีวิตหลังความตาย ซึ่งคริสต์ศาสนาให้ภาพอย่างสวยงามว่า โลกและสรรพสิ่งเกิดจากการสร้างสรรค์ของพระเจ้า เป็นโลกที่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน มนุษย์ถูกสร้างมาจาก “จินตภาพ” (image) ของพระเจ้า และเป้าหมายสูงสุดของชีวิตคือการกลับไปสู่สวรรค์ของพระเจ้า 

เมื่อเป็นเช่นนี้ นักปรัชญา นักวิทยาศาสตร์ที่สงสัยหรือไม่พอใจกับคำอธิบายของคริสต์ศาสนา จำเป็นต้องสร้างคำอธิบายที่ดีกว่าเกี่ยวกับความจริงของโลก สรรพสิ่ง ชีวิตมนุษย์ ระบียบทางสังคมการเมือง ศีลธรรม และเมื่อมนุษย์คือจินตภาพของพระเจ้าและทุกคนเสมอภาคกันในสายตาของพระเจ้า ความคิดนี้ท้าทายนักปรัชญาหรือนักคิดที่ไม่เห็นด้วยว่าพวกเขาจะเสนอจินตภาพใหม่ที่บ่งบอกสถานะของมนุษย์ที่ดีกว่าได้อย่างไร จะเสนอคอนเซ็ปต์ความเสมอภาคที่ดีกว่าคำสอนคริสต์ศาสนาอย่างไร และระบบการเมืองที่ดีกว่าเทวาธิปไตยคืออะไร เป็นต้น 

แต่สุดท้ายแล้ว ความคิดแบบโลกวิสัยก็สามารถยกเลิกอำนาจนำทางการเมืองของคริสต์ศาสนาแบบยุคกลาง แทนที่รัฐศาสนาด้วยรัฐโลกวิสัย คริสต์ศาสนาก็ปรับตัวอยู่ในตำแหน่งแห่งที่และมีบทบาทในพื้นที่ความเชื่อส่วนบุคคลและกิจกรรมทางสังคมเป็นด้านหลัก ไม่ก้าวก่ายการเมืองหรืออำนาจรัฐ 

ผิดกับบ้านเรา ที่ยังมีการสร้างโลกคู่ขนานทางความคิดแบบพุทธเถรวาทกับความคิดแบบโลกวิสัย เป็นโลกคู่ขนานคล้ายๆ ยุคกลาง ในแง่ที่พยายามเคลมว่าความคิดแบบพุทธเหนือกว่าหรือสูงกว่าความคิดแบบโลกวิสัย 

ขณะเดียวกันก็ “อ่อนไหว” กลัวจะเกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์พุทธศาสนา ดังอาจารย์มหาเก่ากลัวว่าการวิพากษ์ประเด็นพื้นที่พระตุ๊ดจะสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์พุทธศาสนา

การสร้างโลกทางความคิดแบบพุทธคู่ขนาดกับความคิดโลกวิสัยที่ “ตลกร้าย” อย่างหนึ่งคือ ในวงการพุทธศาสน์ศึกษาจะมี “เทรนด์หลัก” ยอดฮิตอยู่อย่างคือ “เทรนด์การเปรียบเทียบพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์” เป็นประเพณี (tradition) ที่เริ่มมาจาก ร.4 และชนชั้นนำหัวก้าวหน้าในยุคเดียวกัน เรื่อยมาถึงพุทธทาสภิกขุ, ป.อ. ปยุตฺโต, นักวิชาการพุทธแถวหน้าอื่นๆ เช่น สมภาร พรมทา, วัชระ งามจิตรเจริญ และคนอื่นๆ 

ผู้รู้พุทธเหล่านั้น เริ่มตั้งแต่เปรียบเทียบว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเหตุผล สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ เป็นศาสนาที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ เป็น “อริยวิทยาศาสตร์” ผลิตงานเปรียบเทียบปรัชญาพุทธกับกับความคิดเรื่องกาล-อวกาศ, ควอนตัมฟิสิกส์ ยังมีงานประเภท “ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น” และอื่นๆ 

คำตอบที่ได้จากงานพวกนั้นคือ พุทธะรู้ว่าโลกกลมก่อนนักวิทยาศาสตร์, รู้ความเร็วเกี่ยวกับการเกิดดับของจิตเชิงเปรียบเทียบกับความเร็วของแสง รู้เรื่องเวลาเชิงเปรียบเทียบระหว่างเวลาในโลกมนุษย์กับโลกอื่น ฯลฯ 

โอเคว่า ในวงวิชาการศึกษาพุทธศาสนาของตะวันตก็มีการศึกษาคำสอนพุทธในเชิงจิตวิทยา เปรียบเทียบคำสอนพุทธกับวิทยาศาสตร์และอื่นๆ แต่ปัญหาของบ้านเราคือ งานศึกษาเปรียบเทียบเทียบพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ ดูจะเป็นเทรนด์ประกาศศักดาความเป็นผู้รู้พุทธศาสนามาก จนกระทั่งปราชญ์พุทธเขียนหนังสือ “พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์” ก็ได้รับเสียงสาธุการกันใหญ่ ไหนจะมีงานเปรียบพุทธในเชิงชีววิทยาอีก ดูราวกับว่าความรู้พุทธศาสนาจะถูกจัดประเภทให้อยู่ใน “ความรู้แบบวิทยาศาสตร์” กรายๆ

แต่ที่จริง ทั้งในรูปคำสอนและประวัติศาสตร์พุทธศาสนา น่าจะจัดอยู่ในสังคมศาสตร์, มนุษยศาสตร์มากกว่า ทว่าพอใครจะวิพากษ์พื้นที่พระเกย์ในพุทธศาสนา หรือเอาแนวคิดเสรีนิยมและโลกวิสัยซึ่งเป็นความรู้ด้านสังคมศาสตร์, มนุษยศาสตร์มาตั้งคำถามกับความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับรัฐ วงวิชาการพุทธกลับมีปฏิกิริยาไม่โอเค อ้างว่าเสรีนิยมโลกวิสัยเป็นความคิดของตะวันตก การแยกศาสนาจากรัฐเป็นความคิดของตะวันตก เอ้า แล้ววิทยาศาสตร์ไม่ใช่ของตะวันตกหรือ 

กลายเป็นว่า เมื่อนำปรัชญา หรือวิทยาศาสตร์ตะวันตกมาเปรียบเทียบเพื่อ “ยกชู” คำสอนพุทธศาสนาให้ดูดีมีเหตุผล วงการพุทธศาสน์ศึกษาไม่มีปัญหา และถือเป็นเทรนด์หลักในการศึกษาเปรียบเทียบมายาวนาน 

แต่พอเอาความคิดปรัชญาตะวันตกมาตั้งคำถามและวิพากษ์ตัวคำสอน ระบบโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนา กลับมีปัญหา คนทำการศึกษา วิจัยในแง่นี้ต้องเผชิญ “ความเสี่ยง” ทั้งจากการประเมินของผู้ทรงฯ ที่ตรวจงานวิจัย เสี่ยงที่จะไม่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย และยิ่งเป็นการ “เสี่ยงโชค” เลยทีเดียวหากนำงานเช่นนี้ไปขอตำแหน่งทางวิชาการ

พุทธศาสนาไทยในโลกทางความคิดที่ผลิตสร้างและผลิตซ้ำในวงการพุทธศาสน์ศึกษา กลายเป็นพุทธศาสนาที่ตอบโจทย์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติด้านฟิสิกส์, ชีววิทยา, จิตวิทยาได้ทะลุปรุโปร่งกว่าใครในสามโลก 

แต่คำตอบทางสังคมศาสตร์หรือวิทยาศตร์สังคมกลับตีบตัน หรือ “แช่แข็ง” อยู่กับจุดยืนความเป็นพุทธบวกความเป็นไทยมาตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่มองว่าเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัยและการแยกศาสนาจากรัฐเป็นของตะวันตกไม่เหมาะกับสังคมไทย
 

 

ที่มาภาพ: https://www.naewna.com/likesara/343373

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท