อบจ.กับการฝ่าพายุสู้โควิด กรณีวัคซีนทางเลือก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

พลันที่เห็นมิตรสหายแชร์ข้อความเชียร์ให้ผู้ว่าฯ หมูป่าเป็นนายกฯ ของสนธิ ลิ้มทองกุล ผมในฐานะที่เป็นคนลำปางและเป็นผู้ที่สนใจเรื่องการกระจายอำนาจก็ได้แต่หัวเราะแหะๆ

จากงานวิจัยเมื่อปีที่แล้ว[1] ทำให้ได้มีโอกาสสำรวจบทบาทการจัดการโควิดในเขตภาคเหนือในแต่ละจังหวัดทำให้พอเห็นว่า การทำงานของกระทรวงมหาดไทยส่วนภูมิภาคอย่างผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอนั้นมีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อย พวกเขาไม่มีทรัพยากรเป็นของตัวเอง จะต้องพึ่งพาหน่วยงานต่างๆ อบจ.ก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ด้วยโครงสร้างเชิงอำนาจที่เหลื่อมซ้อนกันระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ทำให้ปฏิบัติการมีความประดักประเดิด นั่นคือ ผู้ว่าฯ สั่ง อบจ.ปฏิบัติ แล้วบางทีต้องของบจากอบจ.หรือท้องถิ่นอื่นๆ เข้ามาทำงานด้วย

 

เมื่อแรกเขาทำลายท้องถิ่น หลังรัฐประหาร

เราต้องเข้าใจเสียก่อนว่า อบจ.นั้นค่อยๆ เติบโตและมีผลงานที่สำคัญมาหลังรัฐธรรมนูญ 2540 อย่างไรก็ตาม หลังการรัฐประหาร 2549 และ 2557 ท้องถิ่นก็ถูกลดบทบาทลง โดยเฉพาะคสช.ที่เข้ามาปล้นอำนาจของประชาชน ด้วยการตั้งข้อหาทุจริตนายกอบจ.หลายจังหวัด และแขวนไว้ไม่ให้ทำงานในตำแหน่งนั้น โดยเฉพาะเครือข่ายการเมืองฝั่งตรงกันข้ามกับคสช. อย่างน้อยกว่า 10 จังหวัดเช่น สมุทรปราการ, อุบลราชธานี, หนองคาย, ภูเก็ต, ยโสธร, นครพนม ลำปาง, เชียงใหม่, มุกดาหาร, สกลนคร เป็นต้น ยังไม่นับระดับนายกและรองนายองค์การบริหารส่วนตำบลอีกจำนวนมาก[2] ถือว่ารัฐประหาร 2557 ยึดอำนาจประชาชนลงไปถึงในระดับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น บ่อนทำลายประชาธิปไตยอย่างถึงราก ด้วยวิธีคิดเบื้องหลังว่า เครือข่ายนักการเมืองท้องถิ่นเหล่านี้คือ เครือข่ายการเมืองที่ชั่วร้าย (กว่าตัวเอง) และในที่สุดก็ใช้เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองเพื่อให้นักการเมืองท้องถิ่นย้ายค่ายมาอยู่กับตน

 

สามเหลี่ยมชะงักภูเขาในนาม สตง. มหาดไทย และ กกต.

ท้องถิ่นนั้นเป็นที่ไม่ไว้วางใจจากส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขาดแคลนความเชี่ยวชาญในการบริหารต่างไปจากข้าราชการส่วนภูมิภาคของกระทรวงมหาดไทย การได้รับอิสระมากเกินไปจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะคอรัปชั่น ทั้งที่เราก็ทราบกันดีว่า นักการเมือง-ข้าราชการส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคนั้นเขี้ยวลากดินแค่ไหน ยิ่งในการปกครองของคณะรัฐประหารที่ไร้การตรวจสอบแล้ว นักการเมืองท้องถิ่น และกระบวนการกระจายจึงถูกเหนี่ยวรั้งไว้อย่างตั้งใจ

ในที่นี้เสนอว่า 3 องค์กรที่มีบทบาทต่อการควบคุมการทำงานพัฒนาท้องถิ่นนั่นคือ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่รู้จักกันในนาม สตง., กระทรวงมหาดไทย และ คณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กกต.) โดยโครงสร้างแล้วอาจเห็นเป็นเรื่องธรรมดาในการตรวจสอบท้องถิ่นให้อยู่ในร่องในรอย แต่กลายเป็นว่า ภายใต้การรัฐประหาร หน่วยงานจำนวนหนึ่งถูกยกเว้น องค์คณะที่เกี่ยวข้องกับรัฐประหารไม่ถูกตรวจสอบ แต่กับท้องถิ่นนั้นพวกเขาจัดการให้อย่างเต็มที่

กรณีอื้อฉาวสุดขั้วหนึ่งก็คือ ปัญหาวัคซีนพิษสุนัขบ้า พบว่า สตง.ได้ทักท้วงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่า พวกเขาไม่ได้มีภารกิจจัดหาวัคซีนให้กับประชาชน ถ้ายังดึงดันที่จะดำเนินการจะเข้าข่าย “ขัดต่อกฎหมาย” ทำให้ท้องถิ่นหยุดฉีดวัคซีนไป 1-2 ปี ขณะนั้นท้องถิ่นก็พบสัตว์ตายจากโรคพิษสุนัขบ้ามากขึ้น โดยจาการตีความว่า กฎหมายกำหนดให้ผู้ฉีดวัคซีนได้ต้องเป็นสัตวแพทย์หรือผู้ช่วยสัตวแพทย์ ทั้งการจัดงบประมาณกรมปศุสัตว์ก็ได้รับการจัดสรรไปแล้วก็ไม่ควรไปดำเนินการซ้ำซ้อน[3] ส่วนทางสตง.ก็ชี้แจงว่า เป็นเรื่องที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง อ้างว่าสตง.ได้พยายามแก้ไขปัญหาโดยปี 2558 ได้มีการดำเนินการประชุมอปท.และมีการแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดว่า อปท.สามารถจัดการได้ นอกจากนั้นก็อ้างถึงการวินิจฉัยของกฤษฎีกาว่า อปท.มีอำนาจ และมหาดไทยก็ได้ออกระเบียบว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ของอปท. พ.ศ.2560 อันสอดคล้องกับแนวที่ที่สตง.ได้เสนอไว้[4] จะเห็นว่า อุปสรรคสำหรับกรณีนี้คือ ตัวกฎหมายและวิธีคิดที่ไม่ไว้วางใจท้องถิ่นให้ดำเนินการแม้จะเป็นเรื่องสำคัญ กว่าจะมีแนวปฏิบัติก็ต้องรอการตัดสินใจจากส่วนกลางซึ่งส่งผลต่อความล่าช้าในการปฏิบัติงาน และทำให้การดำเนินการต่างๆ ชะลอตัวลง กลายเป็นแทนที่จะมุ่งแก้ไขปัญหา กลายเป็นว่าวิธีการแบบนี้ทำให้คนเกรงกลัวที่จะผิดระเบียบ การดำเนินการจึงเน้นการปกป้องตัวเองมากกว่า

กระทรวงมหาดไทย ยังมีบทบาทที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารท้องถิ่น ในปี 2561 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ได้บีบให้อปท.จัดทำคำของบประมาณจากสำนักงบประมาณได้เอง แต่ที่จริงแล้วต้องผ่านการให้ความเห็นประกอบคำขอต่ออนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยด้วย ดังนั้น ความอิสระของการใช้งบประมาณจึงถูกบั่นทอนลง ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เกณฑ์การขอโครงการของอปท.ในงบประมาณปี 2563 จะต้องมีองค์ประกอบต่างๆ เช่น ต้องน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบความคิด และต้องแจงรายละเอียดที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาภาค เมือง จังหวัด/กลุ่มจังหวัด และอปท. นั่นหมายถึง ถูกกำกับมาตั้งแต่ต้นว่าต้องอยู่ภายใต้การบริหารมหาดไทยส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อย่างผู้ว่าราชการจังหวัด ยังพบว่า มีความพยายามดึงเงินสะสมของอปท.มากระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย[5] ปี 2563 กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอตรวจสอบระบบบัญชีเงินฝากของ อปท. และกำชับไม่ให้ทุจริต ทั้งที่ปัญหาที่ผ่านมาเกิดจากกระทรวงมหาดไทยเองที่ได้ออกแนวปฏิบัติขยายเวลาชำระภาษีและการคัดค้านการประเมินภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 นั่นได้ทำให้รายได้ของอปท.ได้รับผลกระทบโดยตรง บางแห่งอาจต้องปลดพนักงานหรือชะลอรับการโอนข้าราชการในปีงบประมาณ 2564[6] แม้ว่านโยบายดังกล่าวจากการรวมศูนย์อำนาจเพื่อจัดการเรื่องโควิด มีเป้าหมายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน แต่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพื้นที่

และอีกด่านหนึ่งคือ กกต. แม้จะไม่ส่งผลกระทบมากเท่า แต่ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจที่มีอยู่เหนือการเลือกตั้งท้องถิ่น การเลือกตั้งใหญ่นายกอบจ.และสมาชิกอบจ.ทั่วประเทศเกิดขึ้นในปี 2563 หลังจากรัฐประหารปี 2557 การเลือกตั้งทั้งสนามใหญ่และสนามเล็กถูกปิดตาย กล่าวกันว่าที่มาของกกต.ชุดหลังรัฐประหาร นั้นมีปัญหาเนื่องจากถูกยึดอำนาจโดยคสช. โดยยุบชุดเดิม และให้มีการสรรหาใหม่  นอกจากนั้นยังมีการจัดทำกฎหมายเพิ่มอำนาจให้กกต.จัดการนักการเมืองได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะการแจก “ใบส้ม” หรือระงับสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งชั่วคราวไม่เกิน 1 ปี หากสงสัยว่าไม่สุจริต กล่าวได้ว่าเพียงแค่สงสัยก็อาจสามารถส่งผลต่อผู้สมัครนั้นได้ กกต.ยังมีอำนาจยุบพรรคการเมืองด้วยข้อจำกัดแสนจุกจิก เช่น จำนวนสมาชิกพรรคน้อยกว่ากำหนดตามระยะเวลา ไม่มีการประชุมพรรค ไม่ส่งสมาชิกลงเลือกตั้ง 2 ครั้ง ฯลฯ เช่นเดียวกับอำนาจการให้ใบแดง (เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัคร) และใบเหลือง (สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่) [7] กรณียุบพรรคอาจไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่นมากนัก แต่อำนาจที่ล้นเหลือของกกต.นั้น ส่งผลต่อการหาเสียงและการรับสมัครเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างปฏิเสธมิได้ ทั้งที่การเลือกตั้งมันควรจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอธิปไตย ผู้เขียนเคยเชิญผู้สมัครนายกอบจ.ลำปางมาเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ก่อนเลือกตั้ง ณ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ก็พบว่าแต่ละคนก็เกร็งกับการที่จะถูกจับตามองโดยกกต. เนื่องจากกลัวผิดกฎหมายเลือกตั้ง และยิ่งชัดเจนในเวทีแสดงวิสัยทัศน์นายกเทศมนตรีนครลำปาง เมื่อปี 2564 ที่ผู้สมัครหลายท่านไม่แสดงตัว เนื่องจากเกรงจะผิดกฎหมายเลือกตั้ง สิ่งเหล่านี้คือปัญหาของการยึดกฎหมายที่เคร่งครัดมากเกินไป จนสามารถตีความให้เป็นโทษให้กับผู้สมัคร ซึ่งหมายถึงว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งก็เสียโอกาสจะรับฟังนโยบายและวิสัยทัศน์ของผู้สมัครไปด้วย

ที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ผลการเลือกตั้งนายกอบจ.ทั่วประเทศในปี 2563 พบว่า มีจังหวัดที่ถูกแขวนมากถึง 44 จังหวัด จากทั้ง 76 จังหวัด การยังไม่สามารถให้พวกเขาปฏิบัติงานได้โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนในวิกฤตการณ์โควิด มันจึงทำให้การบริหารงานท้องถิ่นไม่สามารถเดินหน้าแก้ไขปัญหาได้อย่างเต็มกำลัง[8] กกต.ควรมีอำนาจชี้เป็นชี้ตายให้น้อยกว่านี้ สิ่งที่พวกเขาควรทำคือเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเลือกตั้ง ไม่ใช่จ้องจับผิดตามมาตรฐานของระบบราชการไทย

 

วัคซีน แสงสว่างปลายอุโมงค์จากการเอาตัวรอดของท้องถิ่น ในพายุโควิด

ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ความไม่เชื่อมั่นของวัคซีนแสดงให้เห็นจากการที่รัฐบาลใช้แอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม” พบว่ามีคนจองน้อยมาก ยอดจองสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ลำปาง 223,976 คน รองลงมาเป็น นนทบุรี 51,113 คน สมุทรปราการ 44,962 คน เชียงใหม่ 43,869 คน และ ชลบุรี 36,487 คน จังหวัด 5 อันดับสุดท้ายที่ ได้แก่ อันดับ 72 ชัยนาท (2,081 คน), อันดับ 73 สตูล (1,664 คน), อันดับ 74 แม่ฮ่องสอน (1,368 คน), อันดับ 75 ยโสธร (1,237 คน) และ อันดับ 76 มุกดาหาร คนจองคิวน้อยที่สุด อยู่ที่ 1,177 คน นี่คือ ยอดจองของวัคซีนมาตรฐานที่รัฐบาลพยายามจะจัดให้[9] การจัดสรรวัคซีนมิได้เป็นไปตามยอดจอง แม้ลำปางจะจองไปสองแสนกว่า แต่สุดท้ายก็เป็นการบริหารตามสถานการณ์อยู่ดี

สถานการณ์โควิดปี 2563 ซาลงพร้อมกับการเลือกตั้งนายกอบจ.ในปลายปี การระบาดระลอกใหม่ในช่วงปี 2564 เป็นห้วงเวลาที่นายกอบจ.จะได้พิสูจน์ความสามารถและความเป็นผู้นำในการบริหารการจัดการบนสถานการณ์อันวิกฤต ประเด็นที่รู้จักกันดีก็คือ การจัดหา “วัคซีนทางเลือก” ให้กับคนในท้องถิ่นของตน ท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่รุนแรงอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด การพูดโดยไม่คิดของทวีศิลป์ วิษณุโยธินเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ว่า “วัคซีนจะมาช้าหรือเร็ว แทบไม่ได้มีผลกับคนไทย เพราะเรามีหน้ากากอนามัยและหน้ากาผ้าในการป้องกันอนามัยส่วนตัว ไม่ต้องเจ็บจากการฉีดวัคซีน” [10] ย่อมแสดงให้เห็นถึงความประมาทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพียงใด

การจัดซื้อวัคซีนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่อยู่บนโครงสร้างการรวมศูนย์อำนาจดังเช่นเคย อบจ.ไม่ได้มีอิสระในการบริหารจัดการอย่างเท่าที่ควร ในจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัด อันเป็นส่วนภูมิภาคของกระทรวงมหาดไทย และมีคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน จริงอยู่ว่านายกอบจ.อาจเป็นกรรมการในชุดนี้ แต่ในที่สุดคนชี้ขาดและสั่งการคือ ผู้ว่าราชการจังหวัด อบจ.จึงกลายเป็นส่วนเกินของการบริหารจัดการในสถานการณ์โควิดไปโดยปริยาย การฝ่าพายุสู้โควิดของอบจ.เอง จึงทำได้ยากเมื่อตนเองเป็นเพียงแขนขาของระบบราชการส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง

การจัดซื้อวัคซีนก็เช่นกัน ต้องได้รับการอนุมัติจากเบื้องบนเสียก่อน กระบวนการที่เป็นคือ ผ่านการวินิจฉัยจากผู้ตรวจการแผ่นดิน และได้รับอนุญาตจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (กระทรวงมหาดไทย) อปท.ถึงจะจัดซื้อได้ ไม่เพียงเท่านั้น อบจ.ไม่ได้เป็นผู้ซื้อกับบริษัทโดยตรง แต่ต้องผ่านตัวกลางที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาล

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คือ หน่วยงานดังกล่าวที่มีอำนาจในการจัดซื้อ และถูกวางให้เป็นตัวกลาง ข่าวสิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 ระบุว่ามีอบจ.กว่า 62 แห่งสนใจสั่งซื้อวัคซีน “ซิโนฟาร์ม”[11] อบจ.สมุทรปราการ เป็นข่าวในเดือนมิถุนายนว่าต้องการจัดซื้อวัคซีนซิโนฟาร์ม 900,000 โดส[12] แต่ในเวลาต่อมาได้เปิดให้ลงทะเบียนฉีด พบว่า อบจ.สมุทรปราการได้รับการจัดสรรเพียงสำหรับ 99,000 คน เท่านั้น[13] เช่นเดียวกับ อบจ.นครราชสีมาได้จองไป 1 แสนโดส แต่ก็ได้มาเพียงสำหรับ 29,000 คน[14] ขณะที่อบจ.ลำปางก็เปิดให้ลงทะเบียนในจำนวน 50,000 คน[15] แต่พบว่าได้รับจัดสรรเพียง 21,700 คน[16] หลายจังหวัดได้เสนอตัวเลขไป ยังต้องรอการยืนยันจากหน่วยงานจัดซื้อว่าจะได้รับจัดสรรเท่าไหร่

เงื่อนไขการจัดซื้อจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คือ ห้ามเรียกเก็บเงินค่าวัคซีนและบริการอื่นๆ และหากได้รับจัดสรรจะต้อง “บริจาควัคซีนตัวเลือก จำนวน 10% ของจำนวนวัคซีนตัวเลือกที่ได้รับการจัดสรรจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เพื่อให้กับชุมชนผู้ด้อยโอกาส” โดยซิโนฟาร์มราคาเข็มละ 888 บาท [17] นอกจากนั้นเอกสารแนบสำหรับการจัดซื้อสะท้อนให้เห็นว่า ท้องถิ่นอยู่ภายใต้อำนาจอะไรบ้างดังนี้
 

  1. เอกสารทำแผนจัดลำดับกลุ่มก่อนหลังในการจัดสรรวัคซีนพร้อมจำนวนคนในแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มสถานการศึกษา กลุ่มอาชีพบริการ (อาหาร ตลาด สถานบริการ เป็นต้น) กลุ่มภาคการผลิต กลุ่มการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร เป็นต้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ความอิสระในการจัดวัคซีนให้กลุ่มต่างๆ ก็เป็นไปได้ยาก เพราะแต่ละจังหวัดนั้นมีกลุ่มเสี่ยงที่อาจแตกต่างกันไป
     
  2. หนังสือรับรองเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดในเรื่องความจำเป็นในการขอจัดสรรวัคซีนตัวเลือก และเห็นชอบลำดับความสำคัญของกลุ่มอาชีพหรือกิจกรรมที่จำเป็นในการควบคุมการแพร่ระบาดในท้องถิ่นท่าน ตามหนังสือจะเห็นว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการควบคุมโรคมีบทบาทสำคัญทั้งที่เป็นทรัพยากรของ อบจ.โดยตรง
     
  3. หนังสือรับรองว่าท่านใช้งบประมาณตามแนวทางของกระทรวงมหาดไทยในแนวทางการใช้เงินงบประมาณของท้องถิ่นของท่านเพื่อจัดหาวัคซีนตัวเลือกตามประกาศหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว 1608 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2563 หนังสือฉบับนี้ก็เพื่อใช้เป็นโล่ห์ป้องกันไม่ให้ท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเล่นงานในเชิงกฎหมาย
     
  4. หนังสือยืนยันว่าการดำเนินการขอจัดสรรวัคซีนของท่านเป็นไปตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2564 หนังสือนี้แสดงให้เห็นถึงอำนาจของ ศบค.ที่ครอบอยู่ในชั้นบนสุด

 

ภาพที่ 1 กราฟิกแสดงจังหวัดทีต้องการซื้อวัคซีนซิโนฟาร์ม 30 พฤษภาคม 2564


ที่มาภาพ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/940903

เร็วๆนี้ ก็มีข่าวการจัดซื้อวัคซีนทางเลือกอีกหน่วยงานหนึ่งก็คือ สภากาชาดไทยที่สั่งซื้อวัคซีนโมเดอร์นาซึ่งเป็นวัคซีน mRNA มาจำนวน 1 ล้านโดส พร้อมมากับที่องค์การเภสัชกรรมสั่งมาอีก 4 ล้านโดส[18]

สภากาชาดไทยได้มีหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เพื่อขอความร่วมมือประสานงาน และชี้ว่าแผนการจัดฉีดวัคซีนจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด[19] ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานนั่นเอง เงื่อนไขของการฉีดก็คือต้องฉีดให้ประชาชนฟรี ห้ามนำไปขายต่อและชำระเงินเต็มจำนวนภายใน 23 กรกฎาคม 2564 นั่นหมายความว่ามีเวลาให้อบจ.ดำเนินการประชุมและอนุมัติงบประมาณเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น

สภากาชาดไทยยังย้ำว่า การสนับสนุนงบประมาณค่าวัคซีน 1,300 บาทต่อโดสนั้น เมื่อหักต้นทุนและค่าบริหารจัดการตามโครงการแล้ว จะนำเงินที่เหลือไปสมทบใน “กองทุนสภากาชาดไทยเพื่อจัดหาวัคซีนโควิด -19 และยารักษาโรคโควิด -19 สำหรับประชาชน” ต่อไป[20]

ในล็อตนี้ อบจ.หลายแห่งตัดสินใจเลือกซื้อวัคซีนโมเดอร์นาแทนซิโนฟาร์ม ตัวอย่างกระบวนการที่น่าสังเกต ก็คือ อบจ.เชียงใหม่ ได้นัดประชุมวิสามัญวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เพื่อหารือและลงมติจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นาโดยอาศัยเงินกองทุนสะสมของอบจ.เชียงใหม่ จำนวน 260 ล้านบาท เพื่อได้มาซึ่งวัคซีน 2 แสนโดส โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่มคือ คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง สตรีตั้งครรภ์ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน รองลงมาคือ กลุ่มผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ที่ไม่เคยได้รับโควิด บุคลากรแพทย์และพยาบาลในถิ่นทุรกันดาร ผู้ทำงานในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูในโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนที่ไม่เคยได้รับวัคซีน และบุคคลที่ไม่ได้รับวัคซีนเนื่องจากติดขัดระเบียบหรือกฎหมาย และเพื่อป้องกันตัวเองลดข้อครหาว่าจะเป็นการนำวัคซีนมาฉีดให้พวกพ้องจะให้จังหวัดเชียงใหม่ (ในฐานะส่วนภูมิภาค) เป็นผู้บริหารแผนขอรับวัคซีนตามที่สภากาชาดไทยแจ้งมาก่อนหน้านี้[21] เหตุผลเช่นนี้คือ เกณฑ์ที่สภากาชาดไทยตั้งไว้นั่นเอง

ส่วนอบจ.อื่นๆ ที่ตัดสินใจซื้อโมเดอร์นา เท่าที่พอค้นข่าวได้ มีดังนี้ อบจ.มหาสารคาม 23,000 โดส[22], อบจ.พะเยา 15,000 โดส[23], อบจ.ร้อยเอ็ด 15,300 โดส[24], อบจ.นราธิวาส 10,000 โดส[25], อบจ.สิงห์บุรี 20,000 โดส[26] เป็นต้น อาจเปรียบเทียบข้อมูลของจังหวัดต่างๆ กับตารางข้างหน้า

ตารางแสดงการสั่งจองวัคซีนทางเลือกเทียบกับจำนวนประชากรและยอดฉีดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 20 กรกฎาคม 2564 ในบางจังหวัด

อบจ.

วัคซีนทางเลือก

จำนวนคนที่จะได้รับวัคซีน[27]

จำนวนประชากรจังหวัด[28]

ร้อยละของจำนวนคนที่จะได้รับวัคซีนทางเลือกต่อจำนวนประชากรจังหวัด

ยอดที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว[29]

เข็มที่1

เข็มที่2

เชียงใหม่

โมเดอร์นา

100,000

1,784,370

             5.60

219,419

86,092

สมุทรปราการ

ซิโนฟาร์ม

99,000

1,351,479

             7.33

529,092

95,899

ปทุมธานี

ซิโนฟาร์ม

55,000

1,176,412

             4.68

292,704

68,114

เชียงราย*

ซิโนฟาร์ม

50,000

1,295,026

             3.86

128,339

34,411

พระนครศรีอยุธยา

ซิโนฟาร์ม

34,340

819,088

             4.19

78,566

21,311

สมุทรสาคร

ซิโนฟาร์ม

33,000

586,199

             5.63

242,015

123,763

นครราชสีมา

ซิโนฟาร์ม

29,000

2,633,207

             1.10

252,928

128,736

ลำปาง

ซิโนฟาร์ม

21,700

728,964

2.98

38,570

15,811

นครปฐม

ซิโนฟาร์ม

19,000

920,729

             2.06

132,125

29,561

มหาสารคาม

โมเดอร์นา

16,500

953,660

             1.73

59,225

15,930

กำแพงเพชร*

ซิโนฟาร์ม

15,000

714,118

             2.10

39,050

11,476

ตรัง

ซิโนฟาร์ม

12,811

640,574

             2.00

61,268

16,371

สระบุรี

ซิโนฟาร์ม

12,500

643,828

             1.94

74,016

25,585

สิงห์บุรี

โมเดอร์นา

10,000

205,898

             4.86

26,784

7,253

ชัยนาท

ซิโนฟาร์ม

7,829

322,477

             2.43

21,301

6,445

ร้อยเอ็ด

โมเดอร์นา

7,650

1,298,640

             0.59

70,221

24,921

พะเยา

โมเดอร์นา

7,500

467,356

             1.60

35,393

11,359

อุดรธานี

ซิโนฟาร์ม

5,630

1,567,983

             0.36

104,212

35,306

นราธิวาส

โมเดอร์นา

5,000

804,429

             0.62

96,767

21,761

พิจิตร*

ซิโนฟาร์ม

5,000

532,310

             0.94

33,281

11,554

หมายเหตุ จังหวัดที่มีเครื่องหมาย * ยังไม่ได้รับการตอบรับจากหน่วยงานจัดซื้อ

จากกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวจะเห็นว่า อบจ.สมุทรปราการ อันเป็นเขตปริมณฑลใกล้กรุงเทพฯ ได้รับจัดสรรในสัดส่วนที่มากที่สุดคือ 7.33 และมีผู้ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้วกว่า 5 แสน ด้วยเป็นเขตโรงงานและพื้นที่เสียงทำให้สมุทรปราการได้รับวัคซีนมากกว่าแห่งอื่น อย่างไรก็ตามที่น่าสังเกตคือ อบจ.อุดรธานีที่ได้รับจัดสรรวัคซีนทางเลือกสำหรับ 5,630 คน ทั้งที่มีประชากรเกินล้าน สัดส่วนน้อยที่สุดอยู่ที่ 0.36 ไม่แน่ใจว่า ไฉนอบจ.อุดรธานีถึงสั่งจองมาน้อย อยู่ที่การประเมินความเสี่ยง หรือการไม่งบประมาณไม่เพียงพอ อุดรธานียังได้รับจัดสรรน้อยกว่า อบจ.พะเยาที่มีประชากรน้อยกว่าถึง 3 เท่าด้วย

การกระจายวัคซีนทางเลือกจึงกลายเป็นช่องทางของความเหลื่อมล้ำของแต่ละจังหวัด เนื่องจากเป็นการใช้เงินของอบจ.ในแต่ละแห่งที่มีมากน้อยแตกต่างกันไป ยังไม่นับเรื่องการต้องใช้ทักษะการประเมินและสั่งจองอย่างรวดเร็ว ทั้งที่วัคซีนเหล่านี้ควรจะเข้าถึงได้เป็นวัคซีนหลักมากกว่าต้องมาแย่งกันในฐานะวัคซีนทางเลือก ไม่เพียงเท่านั้น มีความเห็นที่น่าสนใจจาก Facebook คุณบรรณ แก้วฉ่ำที่เขาให้ข้อมูลเมื่อ 20 กรกฎาคม 2564 ว่า เมื่อจะทำการเบิกจ่ายซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มนั้น มีเจ้าหน้าที่สรรพากรแจ้งว่าต้องบวกจ่ายภาษีให้สรรพากรอีก 1% ซึ่งเจ้าตัวยืนยันว่าไม่ควรจ่าย เนื่องจากกฎหมายระดับพระราชบัญญัติกำหนดให้อปท.มีอำนาจหน้าที่ควบคุมป้องกันโรค เขายังเห็นว่า การแจ้งให้อปท.ไปขออนุญาตจากหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคก่อนการทำโครงการจัดบริการสาธารณะในพื้นที่ตนเอง เหตุใดต้องไปขออนุญาตในเมื่อกฎหมายบอกแล้วว่าอปท.สามารถทำได้[30]

พายุโควิดที่กระหน่ำพัดจนคนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า แต่ท้องถิ่นเองกลับไม่ได้มีอิสระในการจัดการอย่างที่ควรจะเป็น ไม่ได้บอกว่า จำเป็นต้องให้ท้องถิ่นมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดการ เนื่องจากว่าในยามวิกฤตการจัดการแบบรวมศูนย์ก็ยังมีความสำคัญ แต่ที่ผ่านมา ท้องถิ่นอย่างอบจ.นั้นถูกโครงสร้างอำนาจรัฐส่วนกลางและส่วนภูมิภาคซ้อนทับและกดน้ำหนักของอำนาจลงมาโดยตลอด

กรณีวัคซีนทางเลือกจึงสะท้อนให้เห็นมิติการจัดการบริหารเกี่ยวกับโควิดของรัฐ และความเหลื่อมล้ำภายใต้การดิ้นรนของท้องถิ่นในนาม อบจ.ได้เป็นอย่างดี ทั้งที่วัคซีนทางเลือกนั้นมันควรเป็นวัคซีนหลักมาตั้งแต่ต้น ถ้าพอจำได้ก่อนหน้านั้นท้องถิ่นเริ่มมีปัญหาเรื่องการจัดเก็บงบประมาณไม่เข้าเป้าด้วยวิธีการบริหารจากส่วนกลางที่ทำให้ท้องถิ่นได้รับผลกระทบโดยตรง ขณะที่ส่วนกลางก็พยายามรวบอำนาจการจัดการและทรัพยากร ช่องทางหายใจของท้องถิ่นเองจึงมีน้อยลง ทั้งปัญหาทรัพยากร และการพยายามเข้าแทรกแซงด้วยอำนาจทางการเมืองและโครงสร้างที่บั่นทอนกำลังของท้องถิ่นดังที่อภิปรายไปแล้ว

หลังจากจบวิกฤตโควิดแล้ว สิ่งหนึ่งที่ควรดำเนินการเพื่อต้องเร่งฟื้นฟูประเทศ คงไม่พ้นจากกกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น และคืนอำนาจให้ประชาชน ให้สิ่งเหล่านี้ยึดโยงกับสิ่งที่มันควรจะเป็น เพราะประเทศไทยไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ ทำเนียบรัฐบาล กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม.

 

 

 

อ้างอิง

 

[1] จัดพิมพ์เป็นบทความใน ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, “สื่อมวลชนท้องถิ่นและความเคลื่อนไหวพลเมืองใต้อำนาจรัฐเวชกรรมในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กรณีศึกษา ภาคเหนือของไทย”, ภัยโควิด วิกฤตโคโรน่า โรคอุบัติใหม่ในมิติสังคม (กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร (องค์การมหาชน), 2564)

[2] ไทยพีบีเอสนิวส์. “หน.คสช.ใช้ม.44 เด้ง 71 ขรก.ประจำ-ท้องถิ่น ปลัดทท.-อธิบดีกรมพัฒนาชุมชน-เลขาฯสปสช.”. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564 จาก https://news.thaipbs.or.th/content/3019 (25 มิถุนายน 2558) และ มติชน. “ปลดล็อก 4 นายก อบจ. ปม ‘ทุจริตหรือการเมือง’”. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.matichon.co.th/politics/politics-in-depth/news_991447 (9 มิถุนายน 2561)

[3] HFOCUS. “สตง.ท้วงท้องถิ่นทำ ‘พิษสุนัขบ้า’ ระบาดพุ่ง นายกฯ รังสิต ระบุ กม.ไม่ตรงสถานการณ์จริง”. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.hfocus.org/content/2018/03/15536 (10 มีนาคม 2561)

[4] มติชน. “สตง.แจงถูกกล่าวหาทำพิษสุนัขบ้าระบาดเป็นเรื่องเข้าใจคลาดเคลื่อน”. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_872629 (12 มีนาคม 2561)

[5] ประชาชาติธุรกิจ. “ล้วงลูกเงินท้องถิ่น 3 แสนล้าน มหาดไทยปฎิวัติเบิกจ่าย “อบจ.-อบต.””. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.prachachat.net/politics/news-364190 (26 สิงหาคม 2562)

[6] ผู้จัดการออนไลน์. “บิ๊กป๊อก” แก้ปม อปท.อ้างถังแตก สั่งผู้ว่าฯ ตรวจละเอียดยิบ! ระบบบัญชีเงินฝากท้องถิ่นทั่วประเทศ อย่าให้เกิดทุจริต”. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564 จาก https://mgronline.com/politics/detail/9630000090097 (2 กันยายน 2563)

[7] iLaw. “เลือกตั้ง 62: การเลือกตั้งไร้อิสระ - เมื่อ กกต. ถูกยึดด้วยอำนาจ คสช.”. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564 จาก https://ilaw.or.th/node/4982 (21 ตุลาคม 2561)

[8] โพสต์ทูเดย์. “เปิดรายชื่อ76 นายกอบจ.ใครโดนแขวน ใครได้รับการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง หลังได้รับการเลือกตั้งเมื่อ20ธ.ค.2563”. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.posttoday.com/politic/news/642891 (16 มกราคม 2564)

[9] กรุงเทพธุรกิจ. “ลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 'ลำปาง' นำโด่ง! คนแห่จองฉีด ผ่าน 'หมอพร้อม'”. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/937128 (10 พฤษภาคม 2564)

[10] กระปุกดอทคอม. “หมอทวีศิลป์ ชี้ ได้วัคซีนช้าไม่มีผลกับไทย เพราะมีหน้ากากอนามัย ไม่ต้องฉีดให้เจ็บตัว'”. สืบค้นเมื่อ 22 กรกฎาคม 2564 จาก https://covid-19.kapook.com/view237488.html (9 กุมภาพันธ์ 2564)

[11] กรุงเทพธุรกิจ. “62 'อบจ.' เล็งซื้อ 'วัคซีนโควิด' ชง มท.ปลดล็อกงบท้องถิ่น”. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/940903 (31 พฤษภาคม 2564)

[12] ข่าวช่องวัน. “อบจ.สมุทรปราการ ทุ่มงบ 400 ล้าน สั่งวัคซีนทางเลือก”. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.one31.net/news/detail/46944 (15 มิถุนายน 2564)

[13] เดลินิวส์. “อบจ.สมุทรปราการ เปิดลงทะเบียนฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มแล้ว!”. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.one31.net/news/detail/46944 (19 กรกฎาคม 2564)

[14] มติชน. “อบจ.โคราช ได้รับจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มแค่ 29,000 โดส จากที่จองไป 1 แสนโดส”. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2833776 (17 กรกฎาคม 2564)

[15] องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง. “ประชาชนแห่จอง “ซิโนฟาร์ม”ของ อบจ.ลำปาง เปิดวันแรก 5 ก.ค.ครึ่งวันจองเต็ม 5 หมื่นคน”. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.one31.net/news/detail/46944 (5 กรกฎาคม 2564)

[16] มติชน. “ลำปางได้ฉีดแน่! ‘ซิโนฟาร์ม’ ฟรี อบจ.จ่ายเช็ค 38.5 ล้านให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แล้ว”. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.matichon.co.th/region/news_2852466 (27 กรกฎาคม 2564)

[17] ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์. “ข้อกำหนดผู้ขอรับการจัดสรรและขั้นตอนการขอรับการจัดสรรวัคซีน ซิโนฟาร์ม ระยะที่ 1”. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.cra.ac.th/th/news_activities/view/sinopharm_2?fbclid=IwAR0uUiXIyrIT-bwpqaOZdQYP4NyV_z2HxcHTIrTdOqCou3xEu_xwCwZwA5A (9 มิถุนายน 2564)

[18] กรุงเทพธุรกิจ. “‘สภากาชาดไทย’ เปิดที่มา สั่งซื้อ ‘โมเดอร์นา’ 1 ล้านโดส ไม่เอี่ยวยอด อภ.”. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.thebangkokinsight.com/news/politics-general/covid-19/670133/ (19 กรกฎาคม 2564)

[19] บีบีซีไทย. “โควิด-19 : มติ ศบค. ให้ฉีดวัคซีนสูตรผสม ส่วนสภากาชาดไทยแจ้ง อบจ. ส่งจองยอดโมเดอร์นาล้านโดส”. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-57859873 (16 กรกฎาคม 2564)

[20] กรุงเทพธุรกิจ. “‘สภากาชาดไทย’ เปิดที่มา สั่งซื้อ ‘โมเดอร์นา’ 1 ล้านโดส ไม่เอี่ยวยอด อภ.”. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.thebangkokinsight.com/news/politics-general/covid-19/670133/ (19 กรกฎาคม 2564)

[21] กรุงเทพธุรกิจ. “เชียงใหม่ ทุ่ม 260 ล. ซื้อ 'โมเดอร์นา' จากสภากาชาดไทย”. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/949972 (20 กรกฎาคม 2564)

[22] มติชน. ““อบจ.มหาสารคาม” ทุ่ม 30 ล้าน ซื้อวัคซีนโมเดอร์นากับสภากาชาดไทย”. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.matichon.co.th/region/news_2838491 (20 กรกฎาคม 2564)

[23] เดลินิวส์. “อบจ.พะเยาไม่ธรรมดา! ซื้อโมเดอร์นาจากกาชาดฉีดปชช.ฟรี”. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.dailynews.co.th/news/78578/ (21 กรกฎาคม 2564)

[24] เนชั่นทีวี. “อบจ.ร้อยเอ็ดอนุมัติงบ20ล้าน สั่งซื้อวัคซีนโมเดอร์น่าฉีดให้ปชช”. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.nationtv.tv/news/378829761 (21 กรกฎาคม 2564)

[25] สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์. “อบจ.นราธิวาส เตรียมแผนจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นาจากสภากาชาดไทย 10,000 โดส งบประมาณ 13 ล้านบาท เพื่อฉีดฟรีให้กับประชาชน”. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564 จาก https://thainews.prd.go.th/th/news/print_news/TCATG210720105713087 (20 กรกฎาคม 2564)

[26] สำนักพิมพ์อินทรีสยาม. “สิงห์บุรี-อบจ.สิงห์บุรี อนุมัติซื้อวัคซีน โมเดอร์น่า 20,000 โดส”. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.siameagle.com/055225-2/ (20 กรกฎาคม 2564)

[27] ข้อมูลซิโนฟาร์มส่วนใหญ่ได้มาจาก พีพีทีวีออนไลน์. “เปิดรายชื่อ 54 องค์กรได้รับการจัดสรรซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์”. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564 จาก https://www. pptvhd36.com/news/สุขภาพ/151762#&gid=1&pid=1 (20 กรกฎาคม 2564) และ ผู้จัดการออนไลน์. “อปท.-อบจ.หลายจังหวัดภาคเหนือ เดินหน้าทุ่มงบรอซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มแล้วกว่า 200,000 โดส”. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564 จาก https://mgronline.com/local/detail/9640000062022 (27 มิถุนายน 2564) ส่วนอื่นถือว่าอ้างอิงไว้แล้วข้างต้น บางข้อมูลได้ปรับจากจำนวนโดสเป็นคนด้วยการหาร 2 จากหลักการว่าคนหนึ่งต้องฉีด 2 โดส

[28] “ประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 138 ตอนพิเศษ 53 ง, 10 มีนาคม 2564, หน้า 21-23

[29] กระทรวงสาธารณสุข. “จำนวนและความครอบคลุมวัคซีนโควิด 19 รายจังหวัด สะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 20กรกฎาคม 2564”. https://ddc.moph.go.th/vaccine-covid19/getFiles/9/1626854977370.pdf

[30] บรรณ แก้วฉ่ำ. “วันนี้จะเบิกเงิน 60กว่าล้านไปจ่ายค่าซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มให้กับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งขายให้ อบจ.โดสละ 888 บาท”. [เฟสบุ๊คสถานะอัพเดท]. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564 ค้นจาก https://www.facebook.com/ariyamuck/posts/1991419117687239 (20 กรกฎาคม 2564 )

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท