Skip to main content
sharethis

30 ก.ค. 2564 ศบค. แถลงพบผู้ป่วยใหม่ 17,345 คน เสียชีวิต 117 คน ในจำนวนนนี้เสียชีวิตที่บ้าน 9 คน ผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดยังคงพุ่งสูง เนื่องจากแรงงานเดินทางกลับบ้านหลังมีมาตรการล็อกดาวน์ ส่วนการติดเชื้อระลอกล่าสุดภายในภาคอุตสาหกรรมกระจาย 49 จังหวัด กระทบอุตสาหกรรมอาหารมากที่สุด

ยอดติดเชื้อพุ่ง 1.7 หมื่น เสียชีวิต 117 คน

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 30 ก.ค. 2564 ว่า พบผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่ 17,345 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 16,656 คน ติดเชื้อจากต่างประเทศ 8 คน และติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 681 คน ผู้ป่วยยืนยันสะสมทั้งหมด 578,375 คน

สถานการณ์โควิด-19 วันที่ 30 ก.ค. 2564

สถานการณ์โควิด-19 วันที่ 30 ก.ค. 2564

รายงานผู้เสียชีวิตวันที่ 30 ก.ค. 2564 ทั้งหมด 117 คน อายุระหว่าง 33-92 ปี เสียชีวิตที่บ้าน 9 คน เกือบครึ่งเสียชีวิตภายใน 6 วัน หลังทราบผลการติดเชื้อ ขณะที่ค่ากลางนับจากวันทราบผลการติดเชื้อถึงเสียชีวิตอยู่ที่ 8 วัน ผู้เสียชีวิตสะสมทั้งหมด 4,679 คน คิดเป็น 0.81% ของจำนวนผู้ติดเชื้อ

ข้อมูลผู้เสียชีวิต วันที่ 30 ก.ค. 2564

ข้อมูลผู้เสียชีวิต วันที่ 30 ก.ค. 2564

ผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ทั้งหมด 192,526 คน ในจำนวนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 4,595 คน ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,012 คน ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 3,786,244 คน คิดเป็น 5.80% ของประชากรไทย

การติดเชื้อในต่างจังหวัดแนวโน้มพุ่งสูงหลังล็อกดาวน์

โฆษก ศบค. กล่าวว่า จำนวนผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดสูงขึ้นแซงกรุงเทพมหานครและปริมาณฑลตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ก.ค. 2564 เนื่องจากแรงงานเคลื่อนย้ายกลับต่างจังหวัดหลังมาตรการล็อกดาวน์ ปัจจุบันสัดส่วนผู้ติดเชื้ออยู่ในต่างจังหวัด 57% และอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 43% และยังมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น

กราฟแสดงแนวโน้มการระบาด

กราฟแสดงแนวโน้มการระบาด

10 อันดับจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 3,231 คน, สมุทรปราการ 1,386 คน, สมุทรสาคร  1,186 คน, ชลบุรี 914 คน, นนทบุรี 587 คน, ฉะเชิงเทรา 479 คน, นครปฐม 378 คน, อุบลราชธานี 350 คน, ปทุมธานี 330 คน, และสงขลา 324 คน

10 อันดับ จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด

10 อันดับ จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด

หากแยกตามเขตสุขภาพ-จังหวัด พบว่าการติดเชื้อส่วนใหญ่มาจากการเดินทางข้ามจังหวัด สอดคล้องกับการเดินทางกลับบ้านของแรงงาน โดยเฉพาะในภาคกลางตอนบน ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยกเว้น จ.เชียงใหม่ และ จ.ตาก ที่การระบาดภายในพื้นที่สูงกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่เดินทางเข้ามา

ขณะที่ จ.นครราชสีมา เริ่มมีการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ภายในจังหวัด สูงขึ้นเกือบเท่าผู้ติดเชื้อที่เดินทางเข้ามา ส่วนภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นการระบาดภายในพื้นที่ ได้แก่ นครศรีธรรมราช, ระนอง, สุราษฎร์ธานี, ชุมพร, ภูเก็ต, พังงา, สงขลา, ยะลา, นราธิวาส, ปัตตานี, พัทลุง, ตรัง, และสตูล ยกเว้นกระบี่ ที่จำนวนผู้ติดเชื้อที่เดินทางเข้ามาสูงกว่าการระบาดภายในจังหวัด

โควิด-19 ระบาดภายในโรงงาน กระทบภาคอุตสาหกรรม

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า มีการรายงานคลัสเตอร์ใหม่ 6 แห่ง ได้แก่ บริษัทระบบกำลังไฟฟ้า อ.เมือง จ.สมุทรปราการ,  บริษัทยางรถยนต์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร, โรงงานผลิตภัณฑ์ปลา อ.เมือง จ.สมุทรสาคร, โรงงานเครื่องปรับอากาศ อ.เมือง จ.ชลบุรี, บริษัทยางรถยนต์ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี, และโรงงานแม่แบบเซรามิก อ.สะเดา จ.สงขลา

โฆษก ศบค. กล่าวว่า แม้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับภาคธุรกิจต่างๆ จะหยุดชะงัก แต่ปัจจัยที่ยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ คือ การส่งออกในภาคอุตสาหกรรม โดยข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรม ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-29 ก.ค. 2564 พบการระบาดภายในโรงงาน 518 แห่ง มีผู้ติดเชื้อ 36,861 คน ในพื้นที่ 49 จังหวัด

จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อภายในโรงงานมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เพชรบุรี 4,464 คน, เพชรบูรณ์ 3,487 คน, ประจวบคีรีขันธ์ 2,538 คน, สมุทรสาคร 2,496 คน, และสงขลา 2,209 คน

ประเภทอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมอาหาร 99 โรง, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 74 โรง, อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและอุตสาหกรรมโลหะจำนวนเท่ากันที่ 42 โรง, และอุตสาหกรรมพลาสติก 36 โรง

การระบาดในโรงงานอุตสาหกรรม

การระบาดในโรงงานอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า มีระบบตรวจสอบดูแลมาตรการต่างๆ ตามที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขออกมาตรการในการป้องกันผ่านช่องทางออนไลน์ Thai stop covid plus ที่ประเมินการเว้นระยะห่าง และการดูแลความสะอาดของสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ปัจจุบันมีโรงงานเข้าประเมินทั้งหมด 18,005 แห่ง จากทั้งหมด 64,038 แห่ง คิดเป็น 28% ของโรงงานทั้งหมด ในจำนวนนี้ มีโรงงานที่ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน 5,749 แห่ง คิดเป็น 31% ของโรงงานที่เข้ารับการประเมินทั้งหมด

กทม. อยู่ระหว่างหารือแนวทางแก้ปัญหาเชิงรุก

นอกจากนี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครยังประชุมวางแผนเรื่องการฉีดวัคซีน และการตั้งทีมแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุกในชุมชน หรือ CCRT team ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายความมั่นคง และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้าไปตรวจสอบหาผู้ติดเชื้อ ฉีดวัคซีน และนำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษา ดูแลจิตใจ และช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสหรือไร้ที่พึ่ง

ทั้งนี้ 15 หน่วยงานที่ให้การสนับสนุน ได้แก่ ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม, กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และคลิกนิกอบอุ่นใน กทม., สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย, ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.), ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), ทีมวิจัยนวัตกรรมและข้อมูลเพื่อสุขภาพ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์, สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล, ราชวิทยาลัย/สมาคมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย, สมาคมภัตตาคารแห่งประเทศไทย และ SKOOTAR, และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net