Skip to main content
sharethis

ไม่สนโควิด ‘พิจารณ์’ ซัด กมธ. งบฯ ซีกรัฐบาลรู้กัน รวบรัดผ่าน ‘งบกองทัพเรือ’ ฉลุย เมินฝ่ายค้านขอตัดงบซื้อโดรน 5,000 ล้าน

 

30 ก.ค.2564 วันนี้ (30 ก.ค. 64) ที่ อาคารรัฐสภา ในกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 ได้เกิดความวุ่นวายขึ้นในการรายงานผลการปรับลดงบประมาณของคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์และ ICT จนทำให้กรรมาธิการฝ่ายค้าน walk out จากที่ประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาเหตุเกิดจากในการพิจารณาปรับลดงบประมาณของ ‘กองทัพเรือ’ คณะอนุกรรมาธิการฯ ไม่สามารถพิจารณางบของกองทัพเรือได้เนื่องจากกองทัพเรือไม่แสดงเอกสารสัญญาในหลายฉบับที่ร้องขอไปโดยอ้างว่าเป็นความลับและเกี่ยวกับความมั่นคง เช่น เอกสารสัญญาการซื้อเรือดำน้ำลำที่ 1, เอกสารที่ไปที่มาถึงเงินงวดจ่ายเรือดำน้ำลดลง และแสดงสัญญาจัดซื้อเรือสนับสนุนเรือดำน้ำ LPD คณะอนุกรรมาธิการฯ จึงมีมติส่งเรื่องให้คณะกรรมาธิการใหญ่เป็นผู้พิจารณาปรับลดงบประมาณของกองทัพเรือ โดยในชั้นอนุฯไม่สามารถตัดงบของกองทัพเรือได้แม้แต่บาทเดียว

อย่างไรก็ตาม เมื่องบประมาณกองทัพเรือเข้าสู่การพิจารณาในคณะกรรมาธิการงบประมาณชุดใหญ่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กรรมาธิการจากสัดส่วนพรรคพลังประชารัฐได้รวบรัดด้วยการเสนอญัตติขอตัดงบประมาณทันทีเพียงแค่ 900 ล้านบาท เฉพาะส่วนที่กองทัพเรือขอเลื่อนโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ ลำที่ 2 และ 3 ไปก่อนหน้านี้ โดยงบประมาณส่วนอื่นของกองทัพเรือจะไม่มีการปรับลดเลย

ในขณะที่ ศิริกัญญา ตันสกุล กรรมาธิการจากพรรคก้าวไกล ได้เสนอญัตติเช่นกัน โดยเสนอให้ตัดงบประมาณเพิ่มเติมในอีก 5 โครงการ ได้แก่ โครงการจัดหาโดรน UAV ขนาดใหญ่ 3 ลำ รวมงบผูกพัน 4,100 ล้านบาท (จ่ายในปีงบประมาณ 65 จำนวน 880 ล้านบาท), โครงการจัดหาโดรน UAV ขนาดเล็ก 2 ลำ วงเงิน 570 ล้านบาท, โครงการจัดซื้อเรือสนับสนุนเรือดำน้ำ LPD ระยะที่ 2 งบประมาณ 519 ล้านบาท โครงการซ่อมปรับปรุงเฮลิคอปเตอร์ 25.7 ล้านบาท และงบประมาณสำหรับรถประจำตำแหน่ง พล.ร.อ. 5 คัน เป็นเงิน 8.38 ล้านบาท เนื่องจากกรรมาธิการในสัดส่วนพรรคก้าวไกลให้ความเห็นว่าโครงการเหล่านี้ยังไม่มีความจำเป็นในสถานการณ์ขณะนี้ จึงสมควรเลื่อนหรือลดงบประมาณส่วนนี้ออกไปก่อน แต่สุดท้าย กมธ. งบฯ เสียงข้างมากซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลกลับไม่สนใจและผ่านงบประมาณของกองทัพเรือไปโดยไม่มีใครสนับสนุนญัตติของ ศิริกัญญา แม้แต่เสียงเดียว ทำให้กรรมาธิการสัดส่วนจากพรรคฝ่ายค้านทำการ walk out จากที่ประชุมทันที ผลที่ตามมาคือกรรมาธิการลงมติปรับลดงบประมาณกองทัพเรือไปเพียง 908.38 ล้านบาท เท่านั้น จากงบประมาณเรือดำน้ำที่กองทัพเรือเป็นผู้ถอนออกไปเอง 900 ล้านบาท และงบประมาณจัดหารถประจำตำแหน่ง 5 คันสำหรับนายทหารระดับ พล.ร.อ. 8.38 ล้านบาท

ต่อกรณีดังกล่าว พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ อนุฯ กมธ. จากพรรคก้าวไกล ให้ความเห็นว่า จากสถานการณ์โควิด 19 ในขณะนี้ ไม่ใช่สถานการณ์ของการสู้รบ หลายโครงการจึงควรถูกปรับลดงบลง เช่น โครงการจัดหาเรือ LPD ระยะที่สอง เป็นต้น 

"โครงการจัดซื้อเรือสนับสนุนเรือดำน้ำ LPD มี 2 ระยะ ระยะแรก วงเงิน 4,385 ล้านบาท ซึ่งของบไปแล้ว โครงการปัจจุบันเป็นระยะที่ 2 ในปี 2562-2564 ตั้งงบประมาณไว้เดิม 3,200 ล้านบาท แต่กลับมีการเบิกจ่ายไปทั้งสิ้น 3,700 ล้านบาท ต่อมาปี 65 ก็ขอมาเหมือนเดิมอีก 1,170 ล้านบาท ทำให้โครงการนี้จะมีการใช้เงินเกินไป 519 ล้านบาท กรรมาธิการจึงเสนอให้ปรับลดงบประมาณที่เกินมาส่วนนี้ เพราะมีความกังวลว่าการตั้งงบประมาณเกินวงเงินที่โครงการใช้ จะเปิดช่องให้กองทัพเรือสามารถโยกงบประมาณส่วนนี้ไปจัดซื้ออาวุธอื่นๆ ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วในปี 2563 ที่กองทัพเรือใช้เงินเหลือจ่ายจากโครงการโอนไป ซื้อยานเกราะสะเทินน้ำสะเทินบก 3 ลำ วงเงิน 398 ล้านบาท โดยที่การจัดซื้อก้อนนี้ ไม่เคยถูกนำเข้ามาพิจารณาในสภาเลย"

"ถ้า กมธ. งบ 65 ผ่านงบก้อนนี้ไป เราก็กลัวว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเดิม ที่เป็นการตีเช็คเปล่าให้กองทัพ มีงบประมาณเหลือใช้ไปจัดซื้อยุทโธปกรณ์โดยไม่ผ่านการตรวจสอบจากสภาในยามที่ประชาชนทั้งประเทศกำลังยากลำบากจากสถานการณ์วิกฤต" พิจารณ์ ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net