ผู้สร้าง 'สโนว์ดรอป' แจงกรณีบิดเบือนประวัติศาสตร์เกาหลีแค่เนื้อหาบางส่วน

ผู้สร้างซีรีส์ "สโนว์ดรอป" ชี้แจงว่าคำวิจารณ์เกิดจากข้อมูลไม่ครบถ้วน หลังประชาชนเกาหลีใต้กล่าวหาว่าบิดเบือนประวัติศาสตร์การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชน และทำให้ภาพลักษณ์ของหน่วยงานความมั่นคงดูดีเกินจริง ทั้งที่หน่วยงานนี้เคยรับใช้รัฐบาลเผด็จการ

ค่ายละครบลูเฮ้าส์จากเกาหลีใต้ เจ้าของผลงานซีรีส์ "สโนว์ดรอป" (Snowdrop) ที่กำลังเป็นข้อถกเถียง แถลงข่าวต่อกรณีที่มีการล่ารายชื่อร้องเรียนเกี่ยวกับละครเรื่องนี้ ซึ่งมีแผนการจะฉายทางช่อง JTBC โดยชี้แจงว่า พวกเขาไม่ได้บิดเบือนประวัติศาสตร์โดยการทำลายภาพลักษณ์ของขบวนการประชาธิปไตย หรือยกย่องสำนักงานวางแผนด้านความมั่นคงเกาหลีใต้ (NSP) แต่อย่างใด และจะมีฉายต่อไปจนกว่าจะมีคำตัดสินจากคณะกรรมการมาตรฐานการสื่อสารเกาหลีใต้ (KCSC)

สโนว์ดรอปมีแผนการฉายในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 โดยมีจีซู สมาชิกวงแบล็กพิงค์ เป็นหนึ่งในนักแสดงนำ เรื่องนี้กลายเป็นที่ถกเถียง หลังเรื่องย่อละครระบุถึงช่วงปี 2530 ที่มีขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ โดยข้อมูลที่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตระบุว่า ตัวละครนำชายเป็นสายลับที่พยายามแทรกซึมขบวนการของนักกิจกรรม ขณะที่ตัวละครนำชายอีกคนหนึ่งเป็นหัวหน้าทีมของหน่วยงาน NSP และทำงานให้กับเผด็จการในยุคนั้น

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาส่วนหนึ่งที่นำเสนอออกมาเป็นภาพของดาราชาย จุงแฮอิน แสดงเป็นตัวละครชื่อ "ซูโฮ" นักศึกษาในมหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติที่รีบร้อนเข้าไปในหอพักหญิงขณะที่ตัวเปื้อนเลือด ส่วนจีซูรับบท "ยังโฮ" นักศีกษามหาวิทยาลัยที่ช่วยซ่อนตัวให้ซูโฮและรักษาแผลให้เขาถึงแม้ว่าจะต้องเผชิญอันตรายและการถูกสอดแนม ขณะที่นักแสดงนำอีกรายหนึ่งแสดงเป็นศัลยแพทย์ที่โรงพยาบาลของรัฐ

การล่ารายชื่อเพื่อขอให้ถอดละครเพราะบิดเบือนประวัติศาสตร์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นกับกรณีละครเรื่อง "โจซอน เอ็กซอซิสต์" (Joseon Exorcist) ที่ถูกยกเลิกหลังจากฉายไปได้ 2 ตอนทางช่อง SBS

ค่ายละครบลูเฮ้าส์แถลงกรณีละครเรื่องสโนว์ดรอป โดยอ้างอิงถึงกรณีโจซอน เอ็กซ์ซอซิสต์ โดยระบุว่า โจซอน เอ็กซอซิสต์ มีการล่ารายชื่อเรียกร้องให้ถอดถอนละครถึง 240,000 รายชื่อ พร้อมระบุว่าละครเรื่องดังกล่าวบิดเบือนประวัติศาสตร์ไปในทางที่เสนอว่ามีการยอมรับโครงการตะวันออกเฉียงเหนือของจีน

กรณีสโนว์ดรอปแล้วมีการล่ารายชื่อได้ประมาณ 220,000 รายชื่อ เรียกร้องให้ยุติการฉาย โดยอ้างเหตุผลว่าเพราะ "เป็นการดูหมิ่นขบวนการประชาธิปไตย และพยายามทำให้สำนักงานวางแผนด้านความมั่นคงแห่งชาติ (NSP) ดูน่ายกย่อง"

อย่างไรก็ตาม ค่ายละครยืนยันว่า ข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นในกรณีนี้เป็นผลมาจาก "ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน อย่างเรื่องย่อที่ไม่ได้อธิบายเนื้อเรื่องทั้งหมด และบางส่วนจากคำอธิบายตัวละคร" บลูเฮ้าส์ระบุอีกว่าละครเรื่องสโนว์ดรอปไม่ใช่เรื่องที่ทำลายชื่อเสียงของกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตย หรือทำให้การเป็นสายลับทำงานให้กับหน่วยงานความมั่นคงรัฐดูน่าชื่นชมตามที่มีการกล่าวหา

ในแถลงการณ์ของค่ายละครยังอ้างถึงมาตราที่ 4 ของกฎหมายว่าด้วยการแพร่ภาพกระจายเสียง ระบุให้รับประกันเสรีภาพของสถานีแพร่ภาพ และความเป็นอิสระของรายการแพร่ภาพ โดยรัฐบาลจะไม่สามารถเข้าไปควบคุมหรือแทรกแซงได้ ถ้าหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายนี้ และการแทรกแซงผลงานสร้างสรรค์โดยรัฐจะต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง ไม่ให้เป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน นอกจากนี้ ยังต้องเคารพความพยายามแก้ไขปรับปรุงด้วยตนเอง และการตัดสินใจอย่างเป็นอิสระของผู้สร้างสรรค์ โปรดิวเซอร์ และผู้บริโภค ในส่วนของเนื้อหาที่ขัดต่อสำนึกของความเป็นชาติ

อย่างไรก็ตาม ในกฎหมายฉบับเดียวกันระบุว่า การแพร่ภาพกระจายเสียงใดๆ ก็ตามเป็นการขาดความรับผิดชอบในต่อสาธารณะหรือละเมิดกฎเกณฑ์การกำกับดูแล เช่น การบิดเบือนประวัติศาสตร์เกินสมควร จะต้องได้รับการตรวจสอบจากคณะกรรมการมาตรฐานการสื่อสารเกาหลีใต้ (KCSC) โดยในกรณีโจซอนเอ็กซ์ซอซิสต์ มีกรณีร้องเรียนเข้าไปเกือบ 5,000 คำร้อง หลังจากออกอากาศ แต่เนื่องด้วยความล่าช้าของการตั้งทีมตรวจสอบทีมที่ 5 ของ KCSC ทำให้ยังไม่มีการพิจารณาในเรื่องนี้

แถลงการณ์ระบุว่าจะมีการวางแนวทางหารือกันว่า ละครมีการละเมิดข้อกำหนดด้านการแพร่ภาพกระจายเสียงจริงหรือไม่ และ KCSC จะพิจารณาตรวจสอบโดยปราศจากความลำเอียง และเน้นเรื่องความรับผิดชอบต่อสาธารณะผ่านทางคำร้องเรียนจากผู้ชม

นอกจากนี้ แถลงการณ์ยังระบุว่า จากนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้จะสื่อสารกับผู้สร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะและวัฒนธรรม รวมถึงประชาชนทั่วไป เพื่อให้การอภิปรายต่างๆ เกี่ยวกับงานสร้างสรรค์สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท