Skip to main content
sharethis

6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ยื่น กสม. ขอให้ตรวจสอบการใช้กฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉินจำกัดเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชน - ครป.ออกแถลงการณ์สนับสนุน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เรียกร้องรัฐบาลยุติการคุกคามเสรีภาพสื่อ

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางปรีดา คงแป้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รับเรื่องร้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ (Zoom meeting) จากผู้แทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ได้แก่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กรณีขอให้ตรวจสอบการคุกคามการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชนโดยรัฐ สืบเนื่องจากกรณีที่รัฐบาลประกาศใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 27 และ ฉบับที่ 29 ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งระบุมาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยองค์กรวิชาชีพสื่อเห็นว่า ข้อกำหนดฯ ทั้ง 2 ฉบับ เป็นการให้อำนาจรัฐใช้ดุลยพินิจอย่างกว้างขวางในการควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนตลอดจนการใช้สื่อออนไลน์ของประชาชนทั่วไป อันเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกอย่างชัดแจ้ง

ในการนี้ กสม.ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับองค์กรวิชาชีพสื่อ โดยมีความห่วงกังวลต่อการบังคับใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 27 และ ฉบับที่ 29 ซึ่งไม่เพียงจะกระทบกระเทือนต่อเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อเท่านั้นแต่ยังกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ โดยก่อนหน้านี้ กสม.เคยออกมาย้ำเตือนรัฐบาลให้ทบทวนข้อกำหนด ฉบับที่ 27 โดยเฉพาะข้อที่ 11 แล้ว อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังประกาศใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 29 ตามมาเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2564 ซึ่งมีสาระให้อำนาจรัฐครอบคลุมไปถึงการกำกับดูแลสื่ออินเทอร์เน็ตอย่างเข้มงวด และเมื่อพิจารณาประกอบกับมาตรการการจัดการข่าวปลอม หรือ Fake news ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ประกาศผ่านสื่อสังคมออนไลน์ส่วนตัวให้แต่ละหน่วยงานแก้ไขปัญหาและแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในการเผยแพร่ข่าวปลอมด้วยนั้น ยิ่งอาจทำให้การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชนต้องตกอยู่ในภาวะถูกคุกคาม และไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ซึ่ง กสม. จะได้ตรวจสอบและจัดทำรายงานข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในประเด็นดังกล่าวเสนอรัฐบาลต่อไป

“ในภาวะวิกฤต การรับรู้และส่งต่อข้อมูลข่าวสารอาจมีความคลาดเคลื่อนและไม่ถูกต้องได้ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนาของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง อย่างไรก็ดี การจำกัดการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชนและประชาชนอย่างเคร่งครัด อาจยิ่งไม่เป็นผลดีต่อการแก้ไขปัญหาของประเทศ” ประธาน กสม.กล่าว

ทั้งนี้ ในการพูดคุยกับผู้แทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ กสม.ยังได้หารือถึงแนวทางในการทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับเรื่องสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย เช่น การส่งเสริมความตระหนักรู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชน การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ไม่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) หรือละเมิดสิทธิผู้อื่น เสรีภาพในการสื่อสารและการแสดงออกของประชาชน และการกำกับดูแลกันเองของสื่อเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง

ครป.ออกแถลงการณ์สนับสนุน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เรียกร้องรัฐบาลยุติการคุกคามเสรีภาพสื่อ

31 ก.ค. 2564 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ออกแถลงการณ์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ฉบับที่ 6/2564 ขอให้รัฐบาลยุติการคุกคามสิทธิเสรีภาพสื่อ เสรีภาพการแสดงออกและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ระบุว่าคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ขอสนับสนุนจุดยืนของ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนในการยืนยันหลักการ “เสรีภาพสื่อ เสรีภาพประชาชน” ว่าการคุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชน ย่อมถือเป็นการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนด้วย

ครป. เห็นว่าการที่รัฐบาลออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) เรื่อง มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดที่ระบุว่า “การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักร” นั้นเป็นการคุกคามเสรีภาพสื่อมวลชน และคุกคามประชาชน ปิดกั้นมิให้ได้รับข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤต ถือเป็นการฉวยโอกาสในภาวะวิกฤต เพื่อปิดหู ปิดตา และปิดปากประชาชนอย่างแยบยล

ครป. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวน การออกคำสั่งใดๆ ในรูปข้อกำหนด ระเบียบ ข้อบังคับอื่นใด หรือยกเลิกการออกข้อกำหนดข้างต้น เพื่อมิให้มีการใช้ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นภารกิจการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน และการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตของประชาชน จนกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยได้เคยถูกท้วงติงมาแล้วหลายครั้งจากองค์การระหว่างประเทศ ในเรื่องการออกคําสั่งและประกาศซึ่งห้าม “การชุมนุมทางการเมืองทุกประเภท” และจํากัดการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและข้อมูลในบริบทที่คลุมเครือ เช่น “ความมั่นคงของรัฐ” “การวิจารณ์การปฏิบัติงาน คสช.” ข้อมูลซึ่ง “ก่อให้เกิดความสับสน ยุยง ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความ แตกแยกในราชอาณาจักร” หรือ “ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก หวาดกลัวแก่ประชาชน” ซึ่งมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ภายใต้พันธกรณีตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษร หรือการตีพิมพ์ ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก (ตามบทที่ 19 ของ ICCPR)  ซึ่งสิทธิดังกล่าวได้รับการรับรองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 เช่นกัน ในมาตรา 34 ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น” มาตรา 35 ได้รับรองว่า “บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดง ความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ” และ “การให้นําข่าวสารหรือข้อความใดๆ ที่ผู้ประกอบวิชาชีพ สื่อมวลชนจัดทําขึ้นไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนําไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือสื่อใดๆ จะกระทํามิได้ เว้นแต่จะกระทําในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม” และมาตรา 36 ได้รับรองว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการ ติดต่อสื่อสารถึงกันไม่ว่าในทางใดๆ” อีกด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมสหประชาชาติได้ตั้งข้อสังเกตเชิงสรุปหลังจากได้มีการทบทวนรายงานตามรอบที่ 2 (Concluding Observation at the Universal Periodic Review) ของประเทศไทย เมื่อเดือนเมษายน 2560 โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับ “การดําเนินคดีทางอาญาต่อ...นักหนังสือพิมพ์” นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 โดยมีข้อเสนอให้ประเทศไทย “ใช้มาตรการที่จําเป็นเพื่อประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ อันสอดคล้องกับข้อบทที่ 19 ของ ICCPR” และนอกจากนี้ยังระบุว่า “ข้อจํากัดนั้นจักต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขอันเคร่งครัด ที่ถูกบัญญัติไว้ในข้อ บทที่ 19(3) ของ ICCPR" ซึ่งต่อมาถูกอธิบายเพิ่มเติมโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติใน ข้อสังเกตที่ 34 เรื่องของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออก และรวมถึงจักต้องอยู่ภายใต้หลัก "ความจําเป็นและความได้สัดส่วนอย่างเคร่งครัด”  หาไม่แล้วก็จะเป็นการขัดต่อพันธกรณีทางกฎหมายระหว่างประเทศของประเทศไทยอย่างชัดแจ้ง

ดังนั้น ครป. จึงเห็นพ้องว่า ข้อกำหนดภายใต้ พรก.ฉุกเฉินฯ รวมถึงพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งผู้บังคับใช้กฎหมาย  ข้าราชการการเมือง และข้าราชการประจำ ภายใต้การกำกับของรัฐที่มีการแสดงท่าทีข่มขู่คุกคาม ฟ้องร้องดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ วิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 นั้น ย่อมเป็นการสะท้อนให้เห็นเจตนาที่ต้องการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน อันเป็นการกระทำที่มิอาจยอมรับได้

การที่นายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) ระบุว่า “ห้ามผู้ใดเสนอข่าว จำหน่ายหรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน" ... อีกทั้งการเผยแพร่ข้อความหรือข้อมูลข่าวสารในอินเตอร์เน็ตอีกด้วยนั้น เพื่อมิให้รัฐบาลใช้เป็นข้ออ้างในการจำกัดเสรีภาพการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน อันจะกระทบต่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนด้วย ดังนั้น องค์กรวิชาชีพสื่อ จึงจำเป็นต้องยืดหยัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เที่ยงตรงตามความจริง ด้วยความกล้าหาญสอดคล้องกับจรรยาแห่งวิชาชีพ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดคุกคามเสรีภาพสื่อมวลชน หยุดคุกคามเสรีภาพของประชาชน

ครป. ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียกเลิกข้อกำหนดฉบับที่ 27-29 ภายใต้ พรก.ฉุกเฉินฯ ที่ไร้ประโยชน์ ละเมิดสิทธิเสรีภาพและขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ การนิยามเรื่องข่าวสารที่ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวตามเอกสารข้อกำหนดนั้นก็มีขอบเขตที่กว้างเกินไป อันจะทำให้เกิดการใช้อำนาจโดยมิชอบ หรือเอาผิดเพื่อการกลั่นแกล้ง คุกคามเสรีภาพของสื่อสารมวลชนและประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาลได้ ซึ่งมาตรา 17 แห่ง พรก.ฉุกเฉินฯ ที่ละเว้นโทษทางปกครอง ก็ไม่ได้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่กระทำการที่เกินสมควรกว่าเหตุ เลือกปฏิบัติ หรือกระทำการไม่สุจริตและเกินความจำเป็นแต่อย่างใด

นอกจากนี้ การที่ข้อกำหนดตามฉบับที่ 29 ข้อ 2 ได้กำหนดให้  สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ต ทำการสืบค้นหาเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ของประชาชนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่ถูกระบุว่ากระทำการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้ทำการระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ต และส่งข้อมูลให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อดำเนินคดีนั้น ครป. เห็นว่า สำนักงาน กสทช. มีสถานะเป็น “องค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่” ที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560  มาตรา 60 จึงเป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ที่รัฐบาลจะออกข้อกำหนดใดเพื่อให้สำนักงาน กสทช. ต้องมาปฏิบัติตามที่รัฐบาลต้องการ และในทางหลักการแล้ว ที่อยู่ไอพี (IP address) เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่แม้แต่สำนักงาน กสทช. หรือผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตต้องระมัดระวังการเข้าไปละเมิดสิทธิและก้าวล่วง และรัฐบาลไม่อาจละเมิดสิทธิส่วนบุคคลดังกล่าวได้ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคทั้งระบบที่ไม่ใช่ผู้กระทำความผิดร่วมในระบบอินเตอร์เน็ตที่มีการใช้ร่วมกัน เนื่องจากในทางปฏิบัติ ประชาชนที่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง และส่งต่อข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) จำนวนมากนั้น ที่อยู่ไอพี(IP address) ที่ปรากฏเป็นที่อยู่ไอพีของผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ใช่ของผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตโดยตรง กรณีดังกล่าวจึงอาจเกิดความสับสนในการปฏิบัติและการตีความขอบเขตอำนาจที่มิชอบของรัฐบาลที่ไม่สามารถกระทำได้ จากการขาดวิสัยทัศน์และความรู้ในโลกดิจิตอลอย่างแท้จริง

ครป.จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 27-29 ตามมาตรา 9 ภายใต้ พรก.ฉุกเฉินฯ ที่ขัดหลักนิติธรรมนี้โดยทันที ยุติการคุกคามสิทธิเสรีภาพสื่อ เสรีภาพการแสดงออกและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน อันเป็นสิทธิมนุษยชนสากลขั้นพื้นฐานของมนุษยชนและประชาคมโลก การออกคำสั่งที่ขัดรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ จะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจโดยมิชอบจนชาติบ้านเมืองวิกฤตและล้มเหลว โดยการลาออกจากตำแหน่งโดยเร็วที่สุด ก่อนที่ประเทศไทยจะเสียหายร้ายแรงมากไปกว่าปัจจุบัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net