Planting a protest หยิบต้นกล้ามาต่อต้าน Mob lll Tree เพื่อฟื้นฟูป่าไม้รอบบริเวณเหมืองหินดงมะไฟ

ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จัดกิจกรรมปลูกป่าและชวนร่วมแคมเปญออนไลน์ Planting a protest หยิบต้นกล้ามาต่อต้าน Mob lll Tree เพื่อฟื้นฟูป่าไม้รอบบริเวณเหมืองหินดงมะไฟ จังหวัดหนองบัวลำภู อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน อังคณา หมอนิรันด์ และทราย เจริญปุระ รวมถึงภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมทั้งไทยและต่างประเทศเข้าร่วมปลูกอย่างคับคั่ง กระจายปลูกต้นกล้าได้มากถึง 1,000 ต้น หวังพัฒนาเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ของชาวบ้านในพื้นที่และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่อไป

31 ก.ค. 2564 ที่เหมืองหินดงมะไฟ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่- ผาจันได จังหวัดหนองบัวลำภู ได้จัดกิจกรรม Planting a protest หยิบต้นกล้ามาต่อต้าน Mob lll Tree  ปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูเหมืองหินดงมะไฟในพื้นที่และในรูปแแบบออนไลน์ โดยมี นางอังคณา นีละไพจิตร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ นายวสันต์ พานิช อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ น.ส.อินทิรา เจริญปุระ ดารานักแสดงฝ่ายประชาธิปไตย ตัวแทนจากสหพันธ์เกษตรภาคใต้ (สกต.) เครือข่ายขบวนการเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และตัวแทนภาคีเครือข่ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลากหลายองค์กรเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก


น.ส.มนีนุด อุทัยเรือง ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได

น.ส.มนีนุด อุทัยเรือง ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได กล่าวว่า พวกเราต่อสู้กันมาอย่างยาวนานตลอดระยะเวลา 27 ปี เป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน ซึ่งตลอดระยะเส้นทางของการต่อสู้ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนของกลุ่มเราถูกข่มขู่คุกคามฟ้องร้องดำเนิน  ข่มขู่ว่าจะสังหารและถูกลอบสังหารไปแล้วสี่คน  แต่ถึงแม้จะมีอุปสรรคและความยากลำบากในการต่อสู้มากแค่ไหนก็ไม่สามารถทำให้พลังการต่อสู้ของพวกเราลดน้อยลงได้ ซึ่งการต่อสู้ผ่านสามข้อเรียกร้องของกลุ่มคือปิดเมืองหินและโรงโม่ ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ และพัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวกำลังใกล้เข้าสู่ความเป็นจริงแล้ว  และหลังจากที่พวกเราได้รับชัยชนะก้าวแรกที่จากการเข้าปิดเหมืองหินได้แล้ว จึงเข้ามาสู่ขั้นตอนของการฟื้นฟูภูผาป่าไม้และพัฒนาดงทะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยกลุ่มได้เปิดระดมทุนเพื่อจัดหาต้นกล้าในการปลูกเพื่อฟื้นฟูป่าและทำให้ข้อเรียกร้องที่เหลืออีก 2 ข้อเกิดขึ้นได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม

ขณะนี้กลุ่มได้ปิดระดมทุนและได้ต้นกล้าที่เพียงพอต่อการปลูกเพื่อฟื้นฟูป่าแล้ว และที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาของการระดมทุนเราได้ทำการปลูกป่าไปแล้ว 3 ครั้ง ครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 4 ที่เราจะปลูกต้นไม้ฟื้นฟูพื้นที่เหมืองให้ครอบคลุมมากขึ้นเพื่อเปลี่ยนเหมืองให้กลายเป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ดังเดิม  โดยกิจกรรมของเราเริ่มตั้งแต่เวลา 08.00 น. เราจะนำกล้าไม้ทั้งหมดขึ้นหลังรถอีแต๋น และเดินทางเข้าไปยังพื้นที่จุดปลูกพร้อมกันทั้งหมด และขุดหลุมปลูกต้นไม้ทั้งหมด 1,000 ต้น ประกอบด้วย ต้นยางนา ต้นตะแบก ต้นราชพฤกษ์ ต้นสะเดา ต้นทองอุไร ต้นจามจุรีและต้นขี้เหล็ก ซึ่งแต่ละต้นก็มีประชาชนและภาคีเครือข่ายของเราเข้าร่วมจับจองในการปลูกเป็นจำนวนมาก

“หลังจากกิจกรรมปลูกต้นไม้เสร็จสิ้นแล้วเราก็จะยังคงปักหลักชุมนุมอยู่ที่ตรงบริเวณทางเข้าออกเหมืองหินเหมือนเดิม และจะดูแลต้นไม้ทุกต้นที่ได้ทำการปลูก เพื่อให้ต้นไม้เหล่านั้นเติบโตมาขึ้นมาอย่างงดงาม กลายเป็นป่าที่จะเป็นแหล่งอาหารของชาวบ้านและจะพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกต่อไปด้วย” ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได กล่าว


ต้นไม้ที่คุณอังคณา นีละไพจิตร เลือกปลูกป่าออนไลน์กับชาวบ้านดงมะไฟ

ขณะที่ นางอังคณา นีละไพจิตร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ผ่านระบบออนไลน์กล่าวว่า ผ่านมา 27 ปีที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์เขาเหล่าใหญ่- ผาจันได ได้ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในช่วงเวลายาวนานของการต่อสู้ ชาวบ้านต้องพบกับความสูญเสียมาตลอด หลายชีวิตที่ถูกฆ่าซึ่งยังไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้  ในปีนี้ เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศน์ และเพื่อคืนป่าให้ประชาชน ชาวบ้านจึงร่วมใจกันปลูกป่าเพื่อคืนความชุ่มชื้นให้แผ่นดิน และถือเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ชาวบ้านทุกคนหวังว่าผืนแผ่นดินที่หวงแหนนี้จะกลับคืนมาเป็นของชาวบ้านอีกครั้ง พร้อมกับความอุดมสมบูรณ์ ความมั่นคงทางอาหาร การมีน้ำดื่มที่สะอาด และอากาศที่บริสุทธิ์สำหรับทุกคนต่อไป

วันนี้ตนขอร่วมปลูกต้นสะเดา และต้นราชพฤกษ์ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ต้นคูณ” เพื่อเป็นร่มไม้ใหญ่ซึ่งเป็นร่มเงาแก่ผู้ผ่านไปมา ดอก ผล ใบ และเมล็ดของไม้เหล่านี้ยังเป็นประโยชน์แก่ชาวบ้านทั้งเป็นอาหารที่มีสรรพคุณยา เป็นความร่มรื่นสวยงาม และคืนความอุดมสมบูรณ์แก่แผ่นดินเขาเหล่าใหญ่ ผาจันไดอีกครั้ง

“การได้มีโอกาสร่วมกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์เขาเหล่าใหญ่- ผาจันได ครั้งนี้ดิฉันถือเป็นภาระหน้าที่ และเป็นความภาคภูมิใจในการที่มีโอกาสยืนเคียงข้างผู้หญิงที่ต่อสู่อย่างเข้มแข็ง เสียสละ และกล้าหาญในการปกป้องแผ่นดินเกิด” ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนกล่าว

ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ได้เข้าร่วมปลูกเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ผ่านระบบออนไลน์ด้วยเช่นกันกล่าวว่า ร่วมปลูกต้นไม้ในครั้งนี้กับกลุ่มด้วย โดยตนได้เลือกปลูกต้นยางนาและหวังว่าต้นยางนาต้นนี้จะเติบโตงดงามหล่อเลี้ยงชาวบ้านจากกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ผาจันไดต่อไป  ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 27 ปีในการต่อสู้ของชาวบ้าน การปลูกป่าในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญที่ชาวบ้านจะสามารถช่วงชิงผืนแผ่นดินที่เป็นทุนชีวิตและเป็นทุนทางสังคมของพวกเขากลับคืนมา นอกจากนี้การต่อสู้อย่างยาวนานเกือบ 3 ทศวรรษของชาวบ้านเพียงพอที่จะทำให้หน่วยงานรัฐได้เห็นว่าชาวบ้านเขารักและหวงแหนผืนแผ่นดินแห่งนี้ ที่ไม่ใช่เป็นแค่ผืนที่ดินหรือป่าไม้แต่เป็นทุนในชีวิตของชาวบ้านทุกคนรวมไปถึงลูกหลาน ที่เขาจะได้ใช้ประโยชน์และทำมาหากิน และเป็นสมบัติสืบทอดต่อไป 

ตนอยากให้หน่วยงานของรัฐและเอกชนได้เข้าใจว่า ชาวบ้านเองสามารถที่จะหาอยู่หากินบนพื้นฐานของการทำมาหากินบนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตนเองได้ เขาไม่ได้ตกอยู่ในวังวนของความโง่ จน เจ็บ แต่เป็นเพราะเขาถูกทำลายโอกาส ถูกทำให้เข้าไม่ถึงในเรื่องของการจัดการทรัพยากร  และเขาไม่ได้ต้องการที่จะหวังพึ่งรัฐหรือคนใจบุญสุนทาน เขาต้องการรัฐที่จะเข้ามาปกป้องสิทธิในการใช้ประโยชน์และการบริหารจัดการทรัพยากร ที่เป็นสิทธิชุมชน ในขณะที่รัฐเองข้าราชการทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น ดีเอสไอ อุตสาหกรรมจังหวัด หรือนักการเมืองใดๆก็ตาม ก็ได้ผลประโยชน์จากภาษีอากรเป็นเงินเดือนอยู่แล้วในการดำรงชีพ ดังนั้นของให้รู้ว่าเงินเดือนหรือทรัพย์สินต่างๆที่มีอยู่นั้นก็ได้มาจากประชาชน ดังนั้นท่านจึงมีหน้าที่ในการที่จะต้องช่วยกันปกป้องทรัพยากรเหล่านี้ให้ชาวบ้านต่อไป

“ในส่วนของเอกชนนั้นเราไม่ได้ปฏิเสธหรือหวงห้ามไม่ให้เขาเข้ามาพัฒนาในแนวคิดของเขา แต่เอกชนในปัจจุบันก็ต้องยึดหลักของธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน นั่นหมายความว่าต้องดำเนินการในเรื่องของการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบ และจะต้องรับผิดชอบในการฟื้นฟูหากมีการเสียหายเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้หมายความว่ารัฐและเอกชนก็ต้องปฏิบัติตามหลักนิติรัฐนิติธรรมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในเรื่องของการจัดการ ดังนั้นรัฐหรือเอกชนก็ต้องมีเจตจำนงร่วมกันในเรื่องของการที่จะมาช่วยในการฟื้นฟูและจัดการทรัพยากรตามหน้าที่ของตนเอง รัฐก็มีหน้าที่ต้องปกป้องประชาชน เอกชนก็ต้องยอมรับหลักของการปกครองตามกฎหมายและความเป็นธรรมทางสังคม ไม่อย่างนั้นแล้วท่านก็จะถูกก่นด่าและถูกพิพากษาว่าท่านเป็นคนที่ทำลายผืนแผ่นดินนี้ที่เป็นอนาคตของชาวบ้านและลูกหลานของเขาที่จะได้ประโยชน์ในผืนแผ่นดินแห่งนี้” อดีตกสม.กล่าว

สำหรับพื้นที่ดงมะไฟนั้น จังหวัดหนองบัวลำภูนั้น กว่า 27 ปี แล้วที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและสิ่งแวดล้อมกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ยืนหยัดต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) และโรงโม่หิน ที่ชุมชนได้รับผลกระทบทางด้านสุขภาพ สิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชนและมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกสังหารไปแล้วสี่คน รวมถึงการข่มขู่ถึงขั้นจะสังหารที่ปรึกษากลุ่มและนักปกป้องสิทธิฯด้านสิ่งแวดล้อม เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

จนเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2563 ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ทำการปักหลักชุมนุมปิดบริเวณทางเข้า-ออกเหมืองหินและโรงโม่ด้วยตัวเอง พร้อมเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ปิดเหมืองหินและโรงโม่ ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ และพัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและอารยธรรมโบราณคดี

และวันที่ 4 ก.ย. 2563 ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้จัดกิจกรรม ทวงคืนภูผาป่าไม้ ‘เปลี่ยนเขตเหมืองหินให้เป็นเขตป่าชุมชน’ หลังใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอยและป่านากลางหมดอายุลง และวันที่ 25 ก.ย. 2563 ก็ได้จัดกิจกรรม 26 ปี การต่อสู้ สู่ชัยชนะ ‘เปลี่ยนโรงโม่หินเป็นป่าชุมชน หยุดเหมืองหินถาวร’ เนื่องจากใบประทานบัตรเพื่อทำเหมืองหินหมดอายุลง นับว่าเป็นการปิดเหมืองหินและโรงโม่ได้สำเร็จตามข้อเรียกร้องที่ 1 และกำลังก้าวเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภูผาป่าไม้ตามข้อเรียกร้องที่ 2 ที่ได้ทำการร่วมกันปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูภูผาป่าไม้รอบบริเวณเหมืองหินในขณะนี้ และปัจจุบันชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ยังคงปักหลักชุมนุมปิดทางเข้า-ออกเหมืองหินและโรงโม่อย่างต่อเนื่อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท