Skip to main content
sharethis

พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า ชี้ กม.คุมสื่อ-พ.ร.บ.NGO ปิดปากประชาชน ทำคนตัวเล็กไร้ปากเสียง ชวนจับตา-กดดันพรรคการเมืองปัดตกร่างปิดปาก ปชช. - แนะสื่อ-NGO รวมกลุ่มฟ้องรัฐ-ยื่นศาลตีความ


พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า | แฟ้มภาพ

ทีมสื่อคณะก้าวหน้ารายงานว่าเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 นางสาวพรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า ร่วมวงเสวนาทางแอพพลิเคชั่น Clubhouse “เยาวชนในบทบาทภาคประชาสังคม ในวันที่รัฐ(พยายาม)ปิดปาก” จัดโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แลกเปลี่ยนข้อกังวลและการเดินหน้าต่อต้าน พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. … ที่เป็นกฎหมายจำกัดและควบคุมการทำงานของภาคประชาสังคม และกำลังอยู่ในช่วงของการรับฟังความคิดเห็นเวลานี้

นางสาวพรรณิการ์ ระบุว่าปัญหาของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. … มีสามประการใหญ่ ๆ ด้วยกัน กล่าวคือ

1) มีขอบเขตที่คลุมเครือ ว่าการรวมกลุ่มแบบไหนที่ต้องขอขึ้นทะเบียน ระบุเพียงว่าการรวมกลุ่มของบุคคลทุกประเภทที่ตั้งขึ้นโดยไม่แสวงหากำไรต้องไปขอขึ้นทะเบียนกับอธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สามารถถูกเพิกถอนทะเบียนได้ โดยผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 100,000 บาท ซึ่งเป็นโทษที่เกินกว่าเหตุ

2) การบังคับให้ต้องระบุรายละเอียดของที่มาของเงิน และหากได้รับเงินจากบุคคลหรือองค์กรที่ไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งในราชอาณาจักรไทย จะดำเนินกิจการได้เฉพาะที่รัฐมนตรีกำหนด ซึ่งจะครอบคลุมรวมไปถึงองค์กรที่รับการสนับสนุนจากองค์กรสหประชาชาติ รวมถึงกาชาดสากล ต้องทำกิจการตามกรอบของรัฐไทยเท่านั้น

3) กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยสามารถเข้าไปตรวจสอบ รวมถึงเข้าไปในสถานประกอบการของผู้ที่จดทะเบียนเพื่อตรวจค้น รวมถึงคัดลอกข้อมูลทางออนไลน์ โดยไม่ต้องมีหมายศาลได้ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญทั้ง มาตรา 42 เสรีภาพในการรวมตัว, มาตรา 34 เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น, และมาตรา 33 เสรีภาพในเคหสถาน

เสนอสมมุติฐาน รัฐใช้ชายแดนใต้เป็นหนูทดลอง “Deep South Sandbox” ก่อนกลายมาเป็น พ.ร.บ.NGO เตรียมใช้กับทั่วประเทศ

นางสาวพรรณิการ์กล่าวต่อไป ว่าตั้งแต่ที่เป็นพรรคอนาคตใหม่จนมาเป็นคณะก้าวหน้า เรามีสมมุติฐานว่าพฤติกรรมของรัฐไทย โดยเฉพาะในยุค คสช.เป็นต้นมา มักจะใช้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “Deep South Sandbox” กล่าวคือเมื่อรัฐไทยต้องการทดลองวิธีการ ในการบังคับ ควบคุม และละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน มักจะเริ่มจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อนเสมอ

จังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ภายใต้กฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ทำให้ทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองมีอำนาจเต็ม ไม่สามารถฟ้องร้องอะไรได้ ดังนั้น เมื่อรัฐไทยนึกจะทำอะไรก็ตาม ก็มักจะเริ่มทำจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อน และเมื่อได้ผลแล้วก็จะนำสิ่งที่ประสบความสำเร็จมาใช้กับทั่วประเทศ 

ทั้งเรื่องของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (I.O.) การเอาทหารมานั่งคอมเม้นท์ ตั้งเพจ โจมตีกลุ่มคนที่คิดต่างจากรัฐบาลหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของทหาร ก็เริ่มจากการใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อน จนปัจจุบันได้ถูกนำมาใช้กับประชาชนทั่วประเทศ

กรณี พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็เช่นกัน อ้างว่าทำเพื่อควบคุมการระบาดของโรค แต่ในความเป็นจริงทุกคนเข้าใจตรงกันว่าเป็นมาตรการเพื่อควบคุมการชุมนุมของประชาชน ซึ่งต้นแบบของการบังคับใช้ก็เกิดขึ้นจากชายแดนใต้มาก่อน

การควบคุมภาคประชาสังคมก็เช่นกัน ที่ผ่านมามีการใช้นโยบายต่างๆเพื่อบีบบังคับภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนใต้ให้ทำงานอย่างยากลำบาก ไม่สามารถดำเนินการได้ มีองค์กรภาคประชาสังคมระดับโลกหลายองค์กรต้องยุติการดำเนินการในจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งที่เป็นองค์กรที่ปฏิบัติงานในพื้นที่สงครามมามากมาย เพราะถูกจำกัดรูปแบบการดำเนินการ รวมทั้งการใช้อำนาจเข้าคุกคามองค์กรและผู้ปฏิบัติงานจนไม่สามารถดำเนินกิจกรรมต่อไปได้ หรือในบางกรณีรัฐจะใช้วิธีการให้เงินสนับสนุนภาคประชาสังคม ให้มาสนับสนุนภาครัฐแทนก็มีให้เห็นมาก่อนทั้งสิ้น

“รัฐก็คงเห็น ว่าการบีบบังคับภาคประชาสังคมในพื้นที่ให้ไม่กล้าเปิดปากวิจารณ์ทหาร หรือแม้แต่การบีบให้เข้ามาทำงานร่วมกับทหารเอง เพราะว่าอยากได้ทุน อยากได้ความสะดวกสบายในการประสานงานกับหน่วยงานรัฐ มันได้ผลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ภาคประชาสังคมกลายเป็นแขนขาของ กอ.รมน.ได้ ก็เลยจะเอามาใช้กับทั่วประเทศไทย แล้วก็ทำท่าว่าจะประสบความสำเร็จด้วย เพราะว่าเหลือแค่ขั้นตอนเข้าสู่สภา” นางสาวพรรณิการ์กล่าว

ชวนจับตา-กดดันพรรคการเมืองปัดตกร่างปิดปาก ปชช. - แนะสื่อ-NGO รวมกลุ่มฟ้องรัฐ-ยื่นศาลตีความ

นางสาวพรรณิการ์กล่าวต่อไป ว่าดังนั้น ภาคประชาสังคมรวมถึงประชาชนจะต้องร่วมกันรณรงค์เรื่องนี้อย่างแข็งขัน ร่างกฎหมายดังกล่าวจะเข้าสู่สภาในอีกไม่นานนี้ ซึ่งอย่างน้อยก็จะมีพรรคก้าวไกลที่เรามั่นใจได้ว่าจะอภิปรายเรื่องนี้อย่างดุเดือด ทุกฝ่ายจะต้องรณรงค์กดดันพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ว่าการโหวตรับเท่ากับเป็นการเห็นด้วยให้มีการละเมิดเสรีภาพของประชาชน และเป็นการประกาศสงครามกับประชาชน

นี่คือส่วนหนึ่งของความพยายามในการปิดปากประชาชนในทุกองคาพยพ เช่นเดียวกับการปิดปากสื่อมวลชน ผ่านการออกข้อกําหนดตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อวานนี้ เพราะประชาชนไม่กี่คนย่อมมีเสียงดังไม่พอเท่ากับประชาชนที่รวมตัวผ่านภาคประชาสังคมเป็นกลุ่มก้อน สะท้อนเสียงโดยอาศัยสื่อเป็นกระบอกเสียง 

นางสาวพรรณิการ์ยังเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนหรือภาคประชาสังคม ควรที่จะรวมตัวกันฟ้องเป็นกลุ่ม ทั้งฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหาย และการยื่นศาลรัฐธรรมตีความ ไม่ใช่แค่การรณรงค์บนโลกออนไลน์เพียงอย่างเดียว และร่วมกับประชาชนทั่วไปในการรณรงค์กดดันพรรคการเมืองในการโหวตที่กำลังจะมาถึงนี้ เพราะนี่เป็นการทำไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อประชาชนที่ต้องอาศัยพวกเราเป็นปากเป็นเสียง เป็นช่องทางที่จะทำให้เสียงเขาไปถึงผู้มีอำนาจในบ้านเมืองนี้ 

ประกาศกร้าว! “คณะก้าวหน้า” พร้อมต้านเต็มที่ แม้ผ่านสภาก็จะไม่ปฏิบัติตามแม้แต่ข้อเดียว!

นอกจากนี้ นางสาวพรรณิการ์ยังระบุด้วยว่า ทั้งนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวก็จะครอบคลุมมาถึงคณะก้าวหน้าด้วย ซึ่งในส่วนของคณะก้าวหน้าเอง ก็พร้อมที่จะต่อสู้อย่างเต็มที่ในเรื่องนี้ และหากร่างกฎหมายนี้ผ่านบังคับใช้ขึ้นมา คณะก้าวหน้าก็พร้อมที่จะทำอารยะขัดขืน ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดใดๆทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเรื่องของการขึ้นทะเบียนหรือขออนุญาตรัฐเพื่อดำเนินกิจกรรม 

“สำหรับคณะก้าวหน้าเอง เรา ‘don’t give a shit’ ถ้าจะจับก็จับเลย ถ้าจะปรับก็ปรับเลย ถ้าจะขึ้นศาล ถ้าจะต้องติดคุกก็เอาไปติดเลย เป็นหน้าที่ของเราที่จะต่อต้าน พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ใช่จะก้มหัวให้กับมัน ถ้าเกิดว่าเราทำแคมเปญแล้ว พยายามทุกอย่างแล้วยังจะออกกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาอีก คณะก้าวหน้าไม่สนใจ ไม่จดทะเบียน ไม่ทำตามอะไรทั้งสิ้น นี่คือจุดยืนของเรา การต่อต้านกฎหมายที่อยุติธรรมเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน หนึ่งคนทำไม่ได้ สิบคนทำไม่ได้ แต่ร้อยคนพันคน ภาคประชาสังคมสิบองค์กร ร้อยองค์กร ทำแอคชั่นฟ้องหมู่ไปเลย ให้เป็นคดีประวัติศาสตร์ ให้มันจารึกไป ถ้าเราจะแพ้คดีก็ให้มันจารึกในประวัติศาสตร์ไปเลย ว่าเราแพ้คดี ให้มันรู้ไปว่าความอัปยศจะไม่เป็นของฝั่งเราฝั่งประชาชน” นางสาวพรรณิการ์กล่าว

ทั้งนี้ นางสาวพรรณิการ์ยังได้กล่าวทิ้งท้ายอีก ว่าร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. … นี้ กำลังอยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็นบนเว็ปไซต์ของรัฐสภา ซึ่งมีเวลาในการเปิดรับความคิดเห็นเพียงอีกหนึ่งวัน (31 ก.ค.64)

ซึ่งตนเห็นว่าประชาชนต้องเข้าไปแสดงออกร่วมกันอย่างเต็มที่ ว่าไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายที่จะปิดปากประชาชน เพราะนี่ไม่ใช่กฎหมายที่กดขี่ภาคประชาสังคม แต่เป็นกฎหมายที่กดขี่และปิดปากประชาชน ไม่ต่างอะไรกับการห้ามสื่อนำเสนอข่าวที่เป็นจริง  ประชาชนเท่านั้นที่ช่วยกันได้ ขอให้เราระดมกันเข้าไปช่วยแสดงความคิดเห็นให้มากที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net