Skip to main content
sharethis

เครือข่ายทนาย-นักสิทธิมนุษยชนร่วมแถลงการณ์เรียกร้อง ขอให้ยุติการคุกคาม 'วราภรณ์ อุทัยรังษี' ทนายความสิทธิมนุษยชน ในกรณีที่อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 'ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร' แจ้งความทนายประจำคดีปู่คออี้-บิลลี่ ชี้เข้าข่ายฟ้องปิดปาก (SLAPP) ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานสอบสวน อัยการ และศาล ใช้ดุลพินิจอย่างเป็นธรรมเพื่อยุติการดำเนินคดี

31 ก.ค. 2564 เครือข่ายทนาย-นักสิทธิมนุษยชนร่วมแถลงการณ์ 'ขอให้ยุติการคุกคาม นางสาววราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความสิทธิมนุษยชน หลังอดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แจ้งความกล่าวหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานในคดีเผาบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยบน-ใจแผ่นดินเมื่อ 10 ปีที่แล้ว' โดยระบุว่าเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 สื่อมวลชนหลายสำนักเผยแพร่ข่าวอย่างต่อเนื่องทำนองว่า นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ให้ดำเนินคดีอาญากับ นางสาววราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความสิทธิมนุษยชนในข้อหาฐานความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย , แจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย, รู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้มีการกระทำความผิด , แจ้งข้อความตามมาตรา 172 หรือมาตรา 173 เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น และกระทำความผิดตามมาตรา 174 ในกรณีแห่งข้อหาว่าผู้ใดกระทำความผิดที่มีระวางโทษถึงประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 , 172 , 173 , 174 วรรค 2 และ 181 และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

สืบเนื่องจากการที่นางสาววราภรณ์ อุทัยรังษี ในฐานะทนายความที่ได้รับมอบหมายจากสภาทนายความ ได้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ในผืนป่าแก่งกระจานโดย เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2558 ปู่คออี้ หรือนายโคอิ มีมิ ผู้นำจิตวิญญาณชาวกะเหรี่ยง และนางสาววราภรณ์ฯ ผู้รับมอบอำนาจจากนายโคอิ ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพันตำรวจโทกลยุทธ วงษ์เพ็ชร พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน ให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด โดยการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น และโรงเรือนที่คนอยู่อาศัย ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 , 157 , 217 และ 218 จากกรณีที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ชุดปฎิบัติการ “ยุทธการณ์ตะนาวศรี” ได้ใช้กำลังเข้าเผาทำลายบ้านเรือน และยุ้งข้าวของชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน รวมกว่า 100 หลัง เมื่อปี 2554

จากเหตุการณ์เผาทรัพย์สิน บ้านเรือนและบังคับอพยพชาวกะเหรี่ยงในยุทธการตะนาวศรีดังกล่าว อันถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกฎหมายอย่างร้ายแรง นอกจากนายโคอิและนางสาววราภรณ์ยังได้แจ้งความให้ดำเนินคดีคดีอาญาเจ้าหน้าที่แล้ว ก่อนหน้านั้นคือในปี 2555 นายโคอิและนางสาววราภรณ์ ยังได้ ดำเนินการฟ้องร้องคดีปกครอง โดยนายโคอิและชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน รวม 6 คน เป็นผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ส. 58/2555 เพื่อเรียกค่าเสียหายจากการทำละเมิดของเจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าว ดังปรากฎรายละเอียดในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเป็น คดีหมายเลขแดงที่ อส.4/2561ว่า เจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบในการรื้อถอนเผาทำลายทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างของนายโคอิกับพวกจริง ดังนั้นกรมอุทธยานฯ ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายโคอิและพวกคนละประมาณ 50,000 บาท โดยคดีถึงที่สุด และกรมอุทยานฯ ได้ชดใช้ค่าเสียหายตามคำพิพากษาให้แก่นายโคอิและพวกชาวกะเหรี่ยงผู้ฟ้องคดีแล้ว

จากการแจ้งความร้องทุกข์โดยนายโคอิและนางสาววราภรณ์ และจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว เป็นผลให้เวลาต่อมา เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้ชี้มูลความผิด นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จากกรณีรื้อถอนเผาทำลายบ้านเรือน ยุ้งฉาง และทรัพย์สินอื่นๆ ของนายโคอิ มีมิ มีผลให้ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งลงโทษลงทางวินัย เรื่องการลงโทษปลด นายชัยวัฒน์ ออกจากราชการ ถึงรักษาการผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่ 9 (อุบลราชธานี) ให้ดำเนินการตามระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ซึ่งนายชัยวัฒน์ ได้เซ็นชื่อรับทราบตอบรับคำสั่งดังกล่าวแล้ว และมีผลให้ต้องพ้นจากราชการทันที

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กร และบุคคลตามรายนามด้านล่างนี้ ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และศาลดังต่อไปนี้

1. วิชาชีพทนายความและนักกฎหมาย มีบทบาทสำคัญในการปกป้องสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม ทนายความต้องสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีอิสระและปราศจากความหวาดกลัว รวมทั้งสามารถสื่อสารกับลูกความได้อย่างมีอิสระ โดยไม่ถูกมองว่าเป็นคู่ความเสียเอง และมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นได้อย่างอิสระ ไม่ถูกแทรกแซง ข่มขู่ดำเนินคดี และทนายความต้องปฎิบัติหน้าที่ทางวิชาชีพของตนตามมาตรฐานจริยธรรม หลักการเรื่องนี้ได้รับการรับรองไว้ในคำนำของหลักการพื้นฐานสหประชาชาติว่าด้วยบทบาททนายความ (UN Basic Principles on the Role of Lawyers) โดยหลักการพื้นฐานนี้ ได้กำหนดมาตรการป้องกันเอาไว้ว่า รัฐต้องดูแลทนายความให้ 1) สามารถปฎิบัติหน้าที่ทางวิชาชีพของตนได้โดยปราศจาคการข่มขู่ ขัดขวาง รังควาน หรือการแทรกแซงโดยมิชอบธรรม และ 2) จะต้องไม่เผชิญกับหรือได้รับการข่มขู่ว่าจะถูกดำเนินคดีหรือแทรกแซงทางการบริหาร ทางเศรษกิจ หรือทางอื่นใด จากการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวกับการปฎิบัติหน้าที่ในทางวิชาชีพตามหลักการ

2. ขอให้ยุติการดำเนินคดี ต่อนางสาววราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความสิทธิมนุษยชน อย่างไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากการปฎิบัติหน้าที่ทนายความของ นางสาววราภรณ์ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานจริยธรรมของวิชาชีพ โดยได้รับมอบหมายจากสภาทนายความ ในการให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายและคดีความให้กับชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน กรณีถูกเจ้าหน้าที่อุทธยานแห่งชาติแก่งกระจานบังคับโยกย้าย เผาทรัพย์สิน บ้านเรือนและยุ้งข้าวจนได้รับความเสียหายอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบดังที่ศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินไว้แล้ว

3. ขอให้ยุติการใช้การดำเนินคดีต่างๆ ที่เข้าข่ายการฟ้องคดีเพื่อปิดปาก (Strategic lawsuit against public participation - SLAPPs) ทนายความ นักกฎหมาย และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้ทำหน้าที่ของตนในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในฐานะนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามหลักการสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หลักการพื้นฐานสหประชาชาติว่าด้วยบทบาททนายความ และปฏิญญาว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคลและองค์กรของภาคประชาสังคมในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างสากล (ปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน) โดยเจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรมจะต้องไม่เปิดทางให้ผู้มีอิทธิพลหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน ใช้กระบวนการยุติธรรมโดยไม่สุจริตโดยเด็ดขาด

4. ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานสอบสวน อัยการ และศาล ใช้ดุลพินิจอย่างเป็นธรรม เพื่อยุติการดำเนินคดีนางสาววราภรณ์ อุทัยรังษี ซึ่งเห็นว่าเป็นการดำเนินคดีในลักษณะกลั่นแกล้ง (SLAPPs) โดยเร็วที่สุด ก่อนหน้านี้นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เคยแจ้งความดำเนินในทำนองเดียวกันกับ สมัคร ดอนนาปี อดีตผู้อำนวยการอุทยานแห่งชาติ และ วุฒิ บุญเลิศ นักวิชาการชาวกะเหรี่ยง กรณีขอให้มีการตรวจสอบการครอบครองที่ดิน “ไร่ชัยราชพฤกษ์” ของพี่ชายนายชัยวัฒน์ฯ และคดีอื่นๆ ซึ่งศาลได้ยกฟ้องไปแล้ว

ด้วยความเคารพต่อหลักการสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

1. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)
2. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
3. มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.)
4. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF)
5. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (UCL)
6. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR)
7. กาญจนา อัครชาติ ทนายความ
8. กิตติศักดิ์ กองทอง ทนายความ
9. คอรีเยาะ มานุแช ทนายความ
10. คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความ
11. จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความ
12. เฉลิมศรี ประเสริฐศรี ทนายความ
13. ณรงค์รัตน์ ขำสุวรรณ ทนายความ
14. ณัฐาศิริ เบิร์กแมน ทนายความ
15. ธีรพันธุ์ พันธุ์คีรี ทนายความ
16. นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความ
17. นีรนุช เนียมทรัพย์ ประชาชน
18. บัณฑิต หอมเกษ นักกฎหมาย
19. ปภพ เสียมหาญ ทนายความ
20. ปสุตา ชื้นขจร ทนายความ
21. ปรีดา นาคผิว ทนายความ
22. ผรัณดา ปานแก้ว ทนายความ
23. พชร คำชำนาญ ประชาชน
24. พงศ์เพชร คงหอม ทนายความ
25. พงษ์สิทธิ์ นาเมืองรักษ์ ทนายความ
26. พนม บุตะเขียว ทนายความ
27. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ นักกฎหมาย
28. พิฆเนศ ประวัง ทนายความ
29. พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความ
30. เพ็ญพิชชา จรรย์โกมล นักกฎหมาย
31. ภาวิณี ชุมศรี ทนายความ
32. มนทนา ดวงประภา ทนายความ
33. มัจฉา พรอินทร์ ประชาชน
34. มาริสา ปิดสายะ ทนายความ
35. ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ทนายความ
36. เยาวลักษ์ อนุพันธ์ุ ทนายความ
37. รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความ
38. ลดา ตรีศักดิ์ศรีสกุล ทนายความ
39. วริยา เทพภูเวียง ทนายความ
40. วีรนันท์ ฮวดศรี ทนายความ
41. วีรวัฒน์ อบโอ ทนายความ
42. ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความ
43. ศศิประภา ไร่สงวน ทนายความ
44. ศิริวรรณ เจนจบ ทนายความ
45. ศุภณัฐ บุญสด ทนายความ
46. สรวิศ บุญถึง นักกฎหมาย
47. สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ นักกฎหมาย
48. สนธยา โคตปัญญา ทนายความ
49. สุทธิเกียรติ คชโส ทนายความ
50. สุภาภรณ์ มาลัยลอย ประชาชน
51. สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความ
52. สุริยงค์ คงกระพันธ์ ทนายความ
53. เสฎฐวุฒิ โกมารกุล ณ นคร ประชาชน
54. อธิวัฒน์ เส้งคุ่ย ทนายความ
55. อธิกัญญ์ แดงปลาด ทนายความ
56. อัมรินทร์ สายจันทร์ ทนายความ
57. อานนท์ นำภา ทนายความ
58. อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ ประชาชน
59. โอฬิสา ด้วงเพียร ทนายความ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net