Skip to main content
sharethis

สปสช.แจงแนวทางการขอใบรับรองแพทย์กรณีหายจากการติดเชื้อโควิด-19 ถ้ารักษาในโรงพยาบาลให้แพทย์ผู้รักษาออกใบรับรองให้ แต่ถ้ารักษาที่บ้านหรือที่ชุมชนแบบ Home-Community Isolation ให้คลินิกหรือโรงพยาบาลที่รับดูแลเป็นผู้ออกใบรับรอง ส่วนใครที่กักตัวด้วยตัวเองไม่ได้อยู่ในระบบโรงพยาบาล หมอออกใบรับรองแพทย์ให้ไม่ได้ 

1 ส.ค. 2564 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. เปิดเผยว่า ในระยะที่ผ่านมามีประชาชนจำนวนมากโทรเข้ามาสอบถามเกี่ยวกับเรื่องการออกใบรับรองแพทย์กรณีหายจากการติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันจึงขอแจ้งรายละเอียดว่า กรณีรักษาตัวในโรงพยาบาล การขอออกใบรับรองแพทย์จะต้องให้แพทย์ผู้รักษาเป็นผู้ออกใบรับรองให้ อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้เริ่มมีการใช้ระบบการดูแลรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือในชุมชน (Community Isolation) ในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ในกรณีนี้ต้องให้คลินิกหรือโรงพยาบาลที่รับดูแลผู้ป่วยรายนั้นๆเป็นคนไข้ของตัวเอง เป็นผู้ออกใบรับรองแพทย์ให้ 

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ผู้ป่วยหรือผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงกักตัวด้วยตัวเองโดยไม่ได้ลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลหรือคลินิกชุมชนอบอุ่น แพทย์ไม่สามารถออกใบรับรองให้ได้ 

ทพ.อรรถพร กล่าวอีกว่า ในกรณีของการขอใบรับรองผลการตรวจว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่นั้น หากตรวจจากห้องปฏิบัติการ ให้ห้องปฏิบัติการที่ทำการตรวจเป็นผู้ออกใบรับรองผลให้ ส่วนกรณีผู้รับการตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วย Antigen Test Kit ตามจุดให้บริการต่างๆ ซึ่งจะมีแพทย์พยาบาลจากหลายโรงพยาบาล หลายจังหวัดมาให้บริการตรวจนั้น ในกรณีที่พบว่ามีการติดเชื้อ จะได้ใบรับรองผลการตรวจ ณ จุดคัดกรองเลย แต่กรณีที่ผลตรวจเป็นลบและต้องการใบรับรองผล หลังจากตรวจแล้ว 1 วัน สามารถเข้าไปดาวน์โหลดใบรับรองได้ที่หน้าเว็บไซต์ของโรงพยาบาลที่ทำการตรวจ หรือหากหาไม่พบว่าต้องดาวน์โหลดตรงไหนก็สามารถโทรติดต่อสอบถามไปที่โรงพยาบาลนั้นได้โดยตรง 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ตรวจด้วยตัวเองโดยใช้ Antigen Test Kit ห้องปฏิบัติการไม่สามารถออกใบรับรองให้ได้ ผู้ที่ตรวจด้วยตัวเองอาจใช้การรับรองตัวเอง เช่น ถ่ายรูปเป็นหลักฐาน อย่างไรก็ดี การใช้วิธีการการรับรองด้วยตัวเองแบบนี้จะใช้เป็นหลักฐานทำธุรกรรม เช่น เบิกประกันสุขภาพ ประกันสังคม ประกันชีวิต ได้หรือไม่ยังไม่ทราบได้ 

"ส่วนกรณีบริษัทต่างๆ ที่มีข้อกำหนดว่าต้องมีใบรับรองการติดโควิด-19 เพื่อประกอบการลางาน ให้เป็นการเจรจากันเองระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ทางเจ้าหน้าที่สายด่วน 1330 ไม่สามารถตอบแทนได้ เช่นเดียวกับนายจ้างต้องการให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ซ้ำ เพื่อขอใบรับรองแพทย์ไปยืนยันที่ทำงาน กรณีนี้เป็นการตกลงกันเองระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง สายด่วน 1330 ไม่สามารถตอบแทนให้ได้" ทพ.อรรถพร กล่าว 

ชวนคลินิกเอกชนดูแลผู้ป่วยโควิดที่บ้าน-ตรวจโควิด เชิญประชุมแจงหลักเกณฑ์ 3 ส.ค.นี้ 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง ในวันนี้เราจำเป็นต้องระดมหน่วยบริการที่มีอยู่ทั้งหมดในประเทศ ร่วมดูแลและติดตามผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะคลินิกเอกชนที่เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิที่กระจายอยู่ในทุกพื้นที่ เดิม สปสช.เชิญชวนเฉพาะคลินิกในพื้นที่กรุงเทพ แต่จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้น สปสช.จึงขอเชิญชวนคลินิกเอกชนทั้งในกรุงเทพ ปริมณฑลและต่างจังหวัด ที่อยู่นอกระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เข้าร่วมดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ซึ่งมีจำนวนราวร้อยละ 80 ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด  

ที่ผ่านมา สปสช.ในฐานะหน่วยงานหนึ่งในระบบสุขภาพ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมจัดระบบการติดตามในรูปแบบการดูแลผู้ป่วยโควิดที่บ้าน (Home Isolation : HI) เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มนี้ ให้ได้รับการติดตามและเข้าถึงระบบรักษาโดยเร็ว ขณะเดียวกันได้มีการขยายการตรวจโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit ซึ่งคลินิกเอกชนสามารถดำเนินการได้ จึงขอความร่วมมือสถานพยาบาลที่ไม่มีเตียงพักค้างคืนหรือคลินิกเอกชนทุกประเภทที่มีรหัสสถานพยาบาล 5 หลัก ไม่ว่าจะเป็นคลินิกเวชกรรม คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ คลินิกเทคนิคการแพทย์ ฯลฯ เป็นต้น มาร่วมเป็นกำลังสำคัญเพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจโควิดด้วยชุดตรวจ ATK ซึ่งคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ คลินิกเทคนิคการแพทย์ หรือคลินิกเอกชนที่มีรหัสสถานพยาบาล 5 หลัก สามารถให้บริการได้ แต่ในส่วนของการดูแลผู้ติดเชื้อที่บ้าน (Home Isolation) นั้น ต้องเป็นคลินิกที่เปิดเป็นด้านเวชกรรมด้วย ซึ่งในกรณีนี้รวมถึงคลินิกเสริมความงามที่หากท่านมีใบอนุญาตเป็นคลินิกด้านเวชกรรมด้วยก็สามารถให้บริการได้เช่นกัน  

สปสช.ขึงขอเชิญชวนคลินิกเอกชนทั่วประเทศที่สนใจ เข้าร่วมการประชุมชี้แจงระบบบริการและการขอรับค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุขฯในการให้บริการตรวจโควิดแบบชุดตรวจแอนติเจน เทสท์ คิท (Antigen Test Kit) หรือ ATK และการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้าน (Home Isolation) หรือ HI สำหรับสถานพยาบาลทีไม่มีเตียงค้างคืนพื้นที่ กทม. ในวันที่ 3 ส.ค. 2564 ระหว่างเวลา 9.00-11.00 น. ผ่านระบบ ZOOM Meeting 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ในการประชุมดังกล่าวจะมีการชี้แจงในประเด็นขอบเขตการจัดบริการ หลักเกณฑ์การจ่ายชดเชยค่าตรวจคัดกรองด้วยวิธี Antigen Test Kit และการบริการใน Home Isolation ตลอดจนวิธีการเบิกจ่ายจาก สปสช. การพิสูจน์ตัวตนเพื่อเข้ารับบริการ กรณีคัดกรองโควิด-19 ซึ่งหากหน่วยบริการมีความสนใจช่วยเหลือดูแลผู้ติดเชื้อ และหลักเกณฑ์วิธีการและอัตราการจ่ายชดเชยค่าบริการของ สปสช. เป็นอัตราที่ยอมรับได้ หน่วยบริการหรือคลินิกเอกชนก็สามารถสมัครเข้าร่วมให้บริการตรวจคัดกรองและดูแลผู้ป่วยในรูปแบบ Home Isolation กับ สปสช.ได้ทันที  

การเข้ามาร่วมให้บริการตรวจคัดกรองด้วยวิธี ATK และดูแลผู้ป่วยในระบบ HI ของคลินิกเอกชนในครั้งนี้ เป็นไปตามประกาศของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ที่ได้ออกประกาศเรื่อง “แนวทางการดูแลรักษา ป้องกัน ควบคุม และส่งต่อผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ของสถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืนและสถานพยาบาลประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน พ.ศ. 2564” โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค.2564 ที่ได้ปลดล็อกจากเดิมที่กำหนดให้หน่วยบริการตรวจที่ตรวจคัดกรองต้องรับผู้ป่วยไว้ดูแลในสถานพยาบาล”   

ทั้งนี้ คลินิกเอกชนที่ต้องการเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว สามารถลงทะเบียนได้ที่ https://forms.gle/v19y2GPZiwh2wntu5 หรือโทรติดต่อผู้ประสานงานที่หมายเลขโทรศัพท์ 061420-3025, 061-4186734 และ 089-9696492 และแสดงความจำนงเข้าร่วมให้บริการตรวจโควิดด้วยชุดตรวจ ATK และให้บริการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้าน (Home Isolation) ได้ที่ https://forms.gle/8mYC5VEGPGoSY51y6 

คลินิกที่สนใจเข้าร่วมประชุมผ่านระบบ ZOOM Meeting ได้ที่ลิงค์ https://zoom.us/j/99125203294?pwd=eXVYSXJPYjdNNW5RcG9VTlh2ZzY4QT09 

นำระบบพิสูจน์ตัวตนแบบออนไลน์ ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน ลดขั้นตอน เพิ่มความสะดวก 

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. กล่าวว่า ระบบการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้านและในชุมชน (Home Isolation/Community Isolation : HI/CI) เป็นกลไกที่สำคัญในการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มที่ไม่มีอาการหรือมีอาการไม่มากในช่วงเวลานี้ แต่ด้วยผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีจำนวนมาก ที่เป็นผลจากประชาชนเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองมาขึ้นจากการตรวจเชิงรุก จำเป็นต้องมีระบบที่เป็นการช่วยอำนวยความสะดวกในการรับบริการของผู้ติดเชื้อโควิด-19 และการให้บริการของหน่วยบริการ โดยลดขั้นตอนต่างๆ ที่ยุ่งยาก สปสช. จึงได้พัฒนาโดยนำ “ระบบพิสูจน์ตัวตนเพื่อยืนยันเข้ารับบริการ” (Authentication Code) มาใช้ในการบริการผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่กักตัวอยู่ที่บ้านหรือที่ชุมชน เพื่อได้รับการจับคู่ดูแลกับหน่วยบริการ ได้แก่ คลินิก ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือโรงพยาบาลนั้น ทางเจ้าหน้าที่ของหน่วยบริการจะโทรไปถามเพื่อสอบถามและให้ยืนยันตัวตนก่อนการเข้ารับบริการ ซึ่งจะเป็นการยืนยันตัวตนแบบออนไลน์ โดยมีขั้นตอนดังนี้  

กรณีมีโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน (Smart Phone) 

1. เพิ่มเพื่อนไลน์ @nhso บนแอปพลิเคชัน LINE   

2. กดเมนู ขอรหัสเข้ารับบริการ  

3. ใส่ข้อมูลเลขบัตรประชาชนและเบอร์โทรศัพท์ กดถัดไป 

4. กดขอรหัสเข้ารับบริการ และเปิดกล้องเพื่อสแกน QR Code ที่ท่านจะได้จากสถานพยาบาลที่ดูแล หรือเลือกรูปภาพ QR Code ที่ได้จากหน่วยบริการ กรณีสแกนไม่ได้ให้กรอกรหัสหน่วยบริการที่ท่านจะได้จากหน่วยบริการ 

5. หน้าจอจะขึ้นข้อความการเข้ารับบริการของหน่วยบริการที่ให้บริการประชาชนอยู่ในขณะนั้น พร้อมกับรหัสการให้บริการ จะถือว่าได้ยืนยันตัวตนการใช้บริการแล้ว  

ทั้งนี้สามารถใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวกัน เพิ่มบุคคลในครอบครัวได้ โดยกดเพิ่มบุคคลอื่น และกรอกเลขบัตรประชาชนของบุคคลในครอบครัวและทำตามขั้นตอนอีกครั้ง ก็จะได้รหัสการให้บริการ ซึ่งถือได้ว่าได้ยืนยันตัวตนการให้บริการแล้ว  

กรณีไม่มีโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน 

1. หากสามารถถ่ายภาพท่านพร้อมบัตรประชาชนให้ถ่ายเก็บไว้ พร้อมกับแจ้งหมายเลขบัตรประชาชน เบอร์โทรของท่าน ส่งให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยบริการที่ดูแลท่าน 

2. หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่จะขอรหัสการใช้บริการ หรือ Authentication Code จากระบบของ สปสช.เอง และบันทึกหมายเลขบัตรประชาชน เบอร์โทร แนบภาพถ่ายในระบบ (หากมี) พร้อมกับรับรองการใช้บริการให้ท่านเอง 

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า เมื่อยืนยันตัวตนการใช้บริการแล้ว ท่านก็จะเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation) หรือที่ชุมชน (Community Isolation) ทางหน่วยบริการจะมีการติดตามอาการ ให้บริการส่งยา ส่งอาหาร เอกซเรย์ ส่งอุปกรณ์ผู้ป่วย อาทิ ที่วัดไข้ เครื่องวัดค่าออกซิเจน เป็นต้น และการตรวจ  RT-PCR การส่งต่อไปรักษาต่อในโรงพยาบาลกรณีอาการเปลี่ยนแปลง ระบบนี้จะช่วยสนับสนุนการทำงานของหน่วยบริการ ทำให้การดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีความสะดวกและรวดเร็วขึ้น 

ในส่วนของหน่วยบริการซึ่งจะต้องสร้าง QR Code เพื่อให้ประชาชนใช้ยืนยันตัวตน ต้องดำเนินการตามขั้นตอนี้  

1. เข้าสู่ระบบ http://cpp.nhso.go.th/CPP  

2. เลือกบริการที่ให้บริการในขณะนั้น เช่น PG0090001 การดูแลรักษาในที่พัก (Home Isolation) หรือ PG0080001 การดูแลรักษาใน รพ.สนามในชุมชน (Community Isolation)  

3. สร้าง QR code ของแต่ละบริการและดาวน์โหลดเพื่อส่งให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่กักตัวอยู่ที่บ้านหรือที่ชุมชนนำไปใช้ในการยืนยันตัวตน กรณีประชาชนสแกน QR Code ไม่ได้ให้ส่งรหัสหน่วยบริการให้ประชาชนใช้ยืนยันตัวตน 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net