COVID-19: 1 ส.ค.64 ติดเชื้อเพิ่ม 18,027 คน หายป่วยเพิ่ม 13,402 คน เสียชีวิต 133 คน

ไทยติดเชื้อเพิ่ม 18,027 ราย ป่วยสะสม 615,314 ราย รักษาหาย 13,402 ราย สะสม 405,322 ราย เสียชีวิต 133 ราย สะสม 4,896 ราย - โฆษก กต.ชี้ 'สหรัฐฯ' ยังไม่มีนโยบายบริจาค-ขายวัคซีนส่วนเกินในสต็อก - เว็บไซด์กรมการกงสุลเปิดให้ชาวต่างชาติในไทยที่เป็นผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัวลงทะเบียนฉีดวัคซีนไฟเซอร์ - รพ.บุษราคัม Big Cleaning จุดแรกรับผู้ป่วย ปรับระบบจัดทางด่วนสำหรับกลุ่มเปราะบาง 

1 ส.ค. 2564 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ไทยติดเชื้อรายใหม่ 18,027 คน เป็นการติดเชื้อใหม่ 17,653 คน ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 374 คน ยอดติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. สะสม 586,451 คน รักษาหายเพิ่ม 13,402 คน หายป่วยสะสม 377,896 คน เสียชีวิตเพิ่ม 133 คน กำลังรักษาตัวอยู่ 205,002 คน

ทั้งนี้ ข้อมูลการฉีดวัคซีน ณ วันที่ 30 ก.ค.2564 เวลา 18.00 น. สะสม 17,491,632 โดส เป็นเข็มที่ 1 สะสม 13,640,179 คน และเข็มที่ 2 สะสม 3,851,453 คน

กทม.เร่งเพิ่มศูนย์พักคอย

ขณะที่กรุงเทพมหานคร เร่งเพิ่มศูนย์พักคอย 1 เขต 1 ศูนย์พักคอย (Community Isolation) ให้ครบ 50 สำนักงานเขต หลังผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นและหลายคนไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ ขณะนี้เปิดศูนย์พักคอยแล้ว 40 แห่ง จะทยอยเปิดให้ได้ 60 แห่ง โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมจัดตั้งศูนย์พักคอยให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่ว กทม. รองรับผู้ป่วย COVID-19 ได้ 7,499 คน ทั้งจากการตรวจหาเชื้อในระบบเฝ้าระวัง และการตรวจหาเชื้อเชิงรุก Bangkok CCRT ที่ลงพื้นที่ค้นหาผู้ป่วยในชุมชนตรวจด้วยวิธี Antigen test kit (ATK)

หากตรวจพบผู้ติดเชื้อที่ไม่สามารถแยกกักตัวรักษาที่บ้าน (Home Isolation) จะนำผู้ป่วยเข้าศูนย์พักคอยในโซนที่แยกเฉพาะสำหรับผู้ที่มีผลจาก ATK จากนั้นจะมีหน่วยตรวจ RT-PCR มาตรวจหาเชื้อซ้ำอีกครั้งที่ศูนย์พักคอย นอกจากนี้ปรับศูนย์พักคอย 7 แห่งให้เป็นโรงพยาบาลสนาม ให้สามารถรองรับผู้ป่วยเหลืองได้เพิ่มขึ้นอีก 1,036 เตียง

ปลดล็อกเคลมประกัน รองรับ Home isolation

คปภ.ออกคำสั่งนายทะเบียน ให้ผู้เอาประกันภัยที่สามารถแยกกักตัวที่บ้าน Home Isolation ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เคลมค่ารักษาพยาบาลได้ ช่วยแก้ปัญหาวิกฤตเตียงโรงพยาบาลไม่เพียงพอ

ปัญหาเตียงในสถานพยาบาลไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ติดเชื้อ COVID -19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในฐานะนายทะเบียน เรียกประชุมสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทยเพื่อรับฟังความเห็น

ทั้งนี้ยังออกประกาศคำสั่งให้ขยายความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัย จากเดิมจำกัดความคุ้มครองเฉพาะ การรักษาในโรงพยาบาล หรือ มีใบรับรองแพทย์ เป็น การคุ้มครองผู้เอาประกัน ไม่ว่าจะรักษาตัว ณ สถานที่ใดก็ตาม ในราชอาณาจักรไทย

กรมธรรม์ฯ ที่ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน ให้อนุโลมจ่ายค่ารักษาพยาบาล แบบการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยนอก ตามความจำเป็นทางการแพทย์และที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินผลประโยชน์ในกรมธรรม์ รวมทั้งสินไหมค่าชดเชยรายวัน

เช่น อยู่ในกลุ่มเสี่ยงแต่ไม่มีสถานพยาบาลรองรับ ซึ่งจ่ายเงินชดเชยรายวัน สูงสุดไม่เกิน 14 วัน นับแต่วันที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องรักษาตัว เป็นผู้ป่วยใน ในสถานพยาบาล แต่ไม่มีสถานพยาบาลรองรับ โดยมีผลบังคับใช้ ทั้งก่อนและหลังวันที่มีคำสั่ง 29 ก.ค.2564 ถึงวันที่ 30 ก.ย.2564

สอดคล้องกับ สมาคมประกันวินาศภัยทำหนังสือเวียนให้สมาชิกอนุโลมจ่ายค่าสินไหมตามความคุ้มครองกรมธรรม์ "เจอ-จ่าย-จบ" กรณีตรวจแบบ RT-PCR ที่รับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยไม่ต้องเรียกใบรับรองแพทย์เพิ่ม รองรับระบบการเข้ารับการรักษาตัวภายในบ้านของรัฐบาล

รพ.บุษราคัม Big Cleaning จุดแรกรับผู้ป่วย ปรับระบบจัดทางด่วนสำหรับกลุ่มเปราะบาง

นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม ให้สัมภาษณ์ว่า โรงพยาบาลบุษราคัม ได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ตั้งวันที่ 14 พ.ค. 2564 ข้อมูลถึงวันที่ 31 ก.ค. 2564 ให้การดูแลผู้ป่วยแล้วจำนวน 13,275 ราย โดยในเช้าวันนี้ได้จัด Big cleaning ทำความสะอาดครั้งใหญ่ในบริเวณจุดแรกรับผู้ป่วย ทั้ง 2 จุด พร้อมปรับระบบประเมินผู้ป่วยแรกรับ โดยเพิ่มทางด่วน Fast Track สำหรับผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วยที่ต้องให้ออกซิเจน เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ เป็นต้น ให้ได้รับการประเมินอาการก่อน และจัดโซนผู้ป่วยให้ง่ายต่อการดูแลรักษา เนื่องจากระยะหลังพบผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเปราะบางเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ยังได้เตรียมนำเก้าอี้รถเข็นเข้าไปยังหอผู้ป่วยจำนวน 231 ตัว และเก้าอี้นั่งสำหรับขับถ่ายข้างเตียงผู้ป่วย จำนวน 62 ตัว เก้าอี้อาบน้ำ จำนวน 5 ตัว เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ป่วย และกำลังจัดหาเตียงลมสำหรับผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยวิกฤติเพิ่มเติม ต้องขอขอบคุณทหารจิตอาสาที่ให้ความร่วมมือ สนับสนุนในการเข้าไปอำนวยความสะดวกเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและเปลี่ยนเตียงที่ชำรุด รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยที่ไม่มีอาการเป็นจิตอาสา วัดความดันโลหิต วัดค่าออกซิเจนในเลือด ประสานงานเจ้าหน้าที่กับผู้ป่วย ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี

สำหรับสถานการณ์เตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลบุษราคัมวันนี้ มีผู้ป่วยที่นอนรักษาอยู่ 3,233 ราย เป็นกลุ่มสีเหลืองอ่อน 2,771 ราย สีเหลือง 287 ราย สีแดง 175 ราย โดยมีมาตรฐานการรักษาตามแนวทางของกรมการแพทย์ ซึ่งผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย ที่รักษาหายแล้วครบ 7-10 วัน สามารถให้กลับไปกักตัวที่บ้านต่อได้เพื่อที่จะมีเตียงไว้สำหรับผู้ป่วยรายอื่น ๆ ต่อไป

โฆษก กต.ชี้ 'สหรัฐฯ' ยังไม่มีนโยบายบริจาค-ขายวัคซีนส่วนเกินในสต็อก

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2564 นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ตอบคำถามสื่อมวลชนกรณีที่มีข่าวระบุถึงวัคซีนโควิด-19 ในสต็อกคงเหลือของสหรัฐที่ไทย อาจเจรจาขอเพิ่มจากสหรัฐได้ ว่า สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ได้ตรวจสอบข้อมูลทั้งกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ และทำเนียบขาว ซึ่งได้รับแจ้งว่า วัคซีนส่วนเกินที่อยู่ในสต็อกของรัฐต่าง ๆ ยังไม่มีนโยบาย "ส่งวัคซีนเพื่อบริจาค หรือขาย" ต่อกับประเทศอื่น ๆ 

“สถานทูตไม่ได้ละความพยายาม โดยกำลังประสานกับบุคคลต่างๆ เพื่อย้ำสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย และขอรับการสนับสนุนการส่งมอบวัคซีนที่หน่วยราชการไทยได้สั่งซื้อจากบริษัทต่างๆ โดยเร็ว” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุ 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ อยู่ในระหว่างการติดต่อทำเนียบขาว กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ และประสานงานกับมิตรประเทศที่สถานทูตใกล้ชิด และมีความเห็นในทางเดียวกัน ตลอดจนประธานสมาคม ชุมชนไทยที่คอยสนับสนุนสถานทูต เพื่อช่วยผลักดันการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ที่สหรัฐฯ ไม่ได้ใช้ต่อไป

เว็บไซด์กรมการกงสุลเปิดให้ชาวต่างชาติในไทยที่เป็นผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัวลงทะเบียนฉีดวัคซีนไฟเซอร์

1 ส.ค. 2564 นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่านับตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2564 กระทรวงการต่างประเทศ ได้เปิดลงทะเบียนชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทย เพื่อรับวัคซีนโควิด-19 เป็นเข็มแรกได้แล้ว

เว็บไซด์กรมการกงสุล expatvac.consular.go.th เริ่มเปิดรับลงทะเบียนชาวต่างชาติในประเทศไทย ทุกกลุ่มอายุ และทุกจังหวัดของประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุข จะร่วมกันจัดฉีดวัคซีนให้ชาวต่างชาติที่ได้ลงทะเบียน ตามหลักเกณฑ์ความจำเป็นเร่งด่วนเดียวกับของคนไทย เช่น ผู้สูงอายุ ตั้งครรภ์ หรือผู้มีโรคร้ายแรง

ผู้ที่ลงทะเบียนไว้ จะได้รับแจ้งให้ไปรับวัคซีนตามความจำเป็นเร่งด่วนและในจังหวัดที่พำนักอาศัย ต่อไป

"ส่วนนักเรียน นักศึกษา นักกีฬา ที่มีกำหนดเดินทางไปศึกษาหรือแข่งขันกีฬาในต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุขจะได้มีการประกาศแนวทางขอรับวัคซีน ให้ทราบในโอกาสแรกต่อไป" โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุ

นายธานี กล่าวอีกว่า กระทรวงการต่างประเทศขอขอบคุณรัฐบาลสหรัฐที่ได้เอื้อเฟื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาอีกครั้งหนึ่ง

 

ที่มาเรียบเรียงจาก: Thai PBS [1] [2] | สำนักข่าวไทย | กรุงเทพธุรกิจ [1] [2]

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท