อานนท์ มาเม้า: ในรัฐที่ไม่รับผิดชอบ ประชาชนจะฟ้องร้องรัฐได้อย่างไร

การบริหารจัดการที่ผิดพลาดส่งผลให้สถานการณ์โควิด-19 ทรุดหนักลง ไม่มีคำขอโทษใดๆ จากรัฐและผู้บริหารประเทศ มีเพียงการโยนความผิดกลับมาที่ประชาชนและคำขู่ คงไม่มีทางอื่นที่จะทำให้รัฐเข้าใจความหมายของการรับผิดรับชอบหรือ Accountability ได้ นอกจากประชาชนต้องฟ้องร้องดำเนินคดี

  • ในสหรัฐฯ ประชาชนฟ้องร้องรัฐจากมาตรการต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อตนกว่า 1,000 คดีใน 3 เรื่อง ได้แก่ หลักความเสมอภาค หลักเสรีภาพ และหลักความชอบด้วยกฎหมายของการใช้อำนาจรัฐหรือหลักความสมควรแก่เหตุ
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐแบบมีเงื่อนไข หากเกินไปจากเงื่อนไขตามกฎหมายประชาชนที่ได้รับความเสียหายสามารถฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐได้ทั้งทางแพ่งและอาญา ยกเว้นคดีปกครองเนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตัดอำนาจศาลปกครองออก

ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2564 ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่ม 18,027 ราย มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 แล้ว 4,679 ราย และมีผู้ติดเชื้อสะสม 5.78 แสนราย จากที่ครั้งหนึ่งไทยเคยได้รับคำชมว่าสามารถจัดการการแพร่ระบาดได้ดี

แต่จากคลัสเตอร์ทองหล่อ ต้นทางของการระบาดระลอก 3 วัคซีนที่มีข้อกังขาด้านประสิทธิภาพ วัคซีนไม่พอ และการบริหารจัดการที่เรียกได้ว่าล้มเหลว ปากท้องผู้คนได้รับผลกระทบอย่างหนัก ภาพชวนหดหู่เกิดขึ้นทุกวี่วัน แต่สิ่งที่รัฐพยายามทำคือการข่มขู่และปิดปากประชาชน

เราในฐานะประชาชนจะทำให้รัฐต้องรับผิดชอบอย่างไรได้บ้างดังขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคมและดังถี่ขึ้น มีคนออกมาฟ้องร้องบ้างแล้วซึ่งคงต้องรอดูว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยจะดำเนินไปอย่างไร

ภาพ อานนท์ มาเม้า จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ที่มาภาพเว็บไซต์ Law TU)

‘ประชาไท’ ชวนสนทนากับ อานนท์ มาเม้า จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงวิธีและรูปแบบที่จะทำให้รัฐไทยต้องเรียนรู้สิ่งที่เรียกว่าการรับผิดรับชอบหรือ Accountability

ชาวอเมริกันฟ้องร้องรัฐกว่า 1,000 คดี

เราตั้งต้นด้วยกรณีตัวอย่างในต่างประเทศที่ระบอบประชาธิปไตยลงหลักปักฐานมั่นคง ประชาชนกระตือรือร้นต่อการปกป้องสิทธิเสรีภาพของตน และ ‘ไม่หงอ’ กับรัฐ อานนท์ กล่าวว่ามีการดำเนินคดีฟ้องร้องให้รัฐต้องรับผิดจากการบริหารจัดการที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพเกินสมควร เช่นในอังกฤษ สหภาพแรงงานของอังกฤษฟ้องให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อกติกาที่ออกมาอย่างไม่เสมอภาค มีการเลือกปฏิบัติ จากมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาระหว่างลูกจ้างชั่วคราวกับลูกจ้างทั่วไปที่ต่างกัน

หรือในสหรัฐฯ เฉพาะกรณีการบริหารจัดการโควิดมีการฟ้องร้องรัฐอย่างน้อย 1,000 คดีที่มีการรวบรวมและบันทึกเอาไว้ โดยประเด็นหลักที่ประชาชนใช้โต้แย้งรัฐมีอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่ หลักความเสมอภาค หลักเสรีภาพ และหลักความชอบด้วยกฎหมายของการใช้อำนาจรัฐหรือหลักความสมควรแก่เหตุ

“เรื่องแรกคือหลักความเสมอภาคซึ่งประชาชนชาวอเมริกายกเรื่องนี้ค่อนข้างบ่อยสำหรับกรณีที่รัฐออกมาตรการแบบเหวี่ยงแหทำให้ได้รับผลกระทบเหมือนอยู่ในเข่งเดียวกัน โดยไม่มีการประเมินว่าธุรกิจหรือภาคส่วนไหนควรจะใช้มาตรการใด ไม่ได้เจาะลงไปในแต่ละราย

“กรณีถัดมาคือข้อต่อสู้เรื่องหลักเสรีภาพ สังคมอเมริกันเป็นสังคมที่ชูเรื่องเสรีภาพเป็นหัวใจของประเทศเพราะฉะนั้นข้อต่อสู้หลายคดีก็จะพูดถึงเรื่องนี้ ยกตัวอย่างเช่นเสรีภาพในการรวมกลุ่มเพราะรัฐมีการออกมาตรการควบคุมคนในการเข้าไปในสถานที่ต่างๆ เช่นเข้าไปในโบสถ์ก็มีการฟ้องร้องกัน หรือการรวมตัวของภาคธุรกิจที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องมีการใช้คนเป็นจำนวนมาก เช่นธุรกิจพรีเวดดิ้งเขาก็ฟ้องร้องรัฐ

“หรือแม้กระทั่งในภาคส่วนของการแพทย์และการสาธารณสุขก็มีเหมือนกันเพราะอเมริกาชูเรื่องเสรีภาพในการทำแท้ง แต่ในช่วงโควิดทำให้บางรัฐออกมาตรการในการระงับหรือชะลอการทำแท้งออกไปซึ่งก็มีคนฟ้องร้อง ล่าสุดศาลได้ออกวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาเพื่อคุ้มครองสิทธิ์ประชาชนโดยบอกว่าเสรีภาพในการทำแท้งเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าระงับการทำแท้งหากผลแห่งคดีศาลตัดสินให้รัฐแพ้ เราจะเยียวยาเสรีภาพที่ขาดหายไปตรงนั้นอย่างไรเพราะถ้าไม่ยอมให้ทำแท้งเท่ากับให้เด็กเกิดมา

“อีกข้อหนึ่งคือหลักความชอบด้วยกฎหมายของการใช้อำนาจของรัฐว่ารัฐต้องใช้อำนาจอยู่บนฐานของการมีเหตุมีผล มีบางคดีที่คนอเมริกันฟ้องว่ามาตรการควบคุมกีฬาที่มีการสัมผัสเนื้อตัวกันระหว่างนักกีฬากับกีฬาที่ไม่มีการสัมผัสตัวกัน รัฐออกมาตรการที่ให้ดุลพินิจกับรัฐมากจนเกินไปและก่อให้เกิดการตีความแบบคลุมเครือ”

อานนท์กล่าวว่า บทเรียนของกรณีตัวอย่างเหล่านี้คือประชาชนพร้อมลุกขึ้นรักษาสิทธิ์ของตน ไม่หงอ ไม่ได้มองว่าการใช้อำนาจของรัฐเป็นเรื่องปกติที่จะต้องจำยอม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแม้ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่รัฐอ้างอำนาจที่มากกว่าปกติ

เอาผิดได้ทั้งทางแพ่ง อาญา และปกครอง

ในกรณีของไทย อานนท์เห็นว่ามีความเป็นไปได้ในทางกฎหมายที่จะฟ้องร้องเอาผิดจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของรัฐได้ใน 3 กรณี ประกอบด้วย คดีปกครองซึ่งมุ่งไปที่การกระทำของเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่ที่ตัวเจ้าหน้าที่ กล่าวคือเข้าไปควบคุมตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น การออกกฎ ประกาศ คำสั่งต่างๆ เป็นฉบับๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนให้ศาลปกครองยกเลิก เพิกถอน เป็นต้น

คดีอาญา กรณีนี้จะมุ่งไปที่ตัวเจ้าหน้าที่ผู้กระทำให้ต้องรับโทษในทางอาญา โดยตั้งฐานที่มาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา ‘ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ’

“เป็นการพิสูจน์เรื่องการทำงานของผู้บริหารหรือผู้ใช้อำนาจว่าตัดสินใจบนข้อมูลที่สมเหตุสมผลหรือไม่ หรือพยายามดื้อรั้นดันทุรังโดยที่หาเหตุผลอธิบายไม่ได้ มันมีกฎหมายอยู่เพียงแต่ยังไม่ได้ถูกหยิบใช้ขึ้นในสถานการณ์นี้”

และคดีแพ่งโดยมุ่งเยียวยาแก่ผู้ที่เดือดร้อนเสียหาย รักษาสิทธิ์ของประชาชนให้ต้องได้รับการชดเชยเยียวยาจากรัฐ

อย่างไรก็ตาม ด้วยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้ตัดอำนาจในการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

“ปัจจุบันเราพบว่าการกระทำหรือการใช้อำนาจของรัฐที่กระทบสิทธิ์ของประชาชนและต้องการตรวจสอบการกระทำนั้น หลักการต้องไปที่ศาลปกครอง ปรากฏว่ามันมีกฎหมายเฉพาะตัดเขตอำนาจศาลปกครองไป คำถามคือเมื่อไม่ไปศาลปกครองแล้วจะไปศาลไหน ในเมื่อศาลอื่นก็ไม่ได้ถูกกำหนดให้มีเขตอำนาจในกรณีนี้ มันก็จะถูกกวาดให้เป็นคดีแพ่ง”

ภาพ อานนท์ มาเม้า จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ที่มาภาพเว็บไซต์ Law TU)

ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

อานนท์อธิบายต่อว่า การฟ้องคดีอาญามีได้ 2 แบบคือประชาชนเป็นผู้ฟ้องโดยตรง เช่น ผู้ที่ได้รับผลเสียหายจากมาตรการเหวี่ยงแหของรัฐ กับอีกแบบคือยื่นฟ้องผ่านอัยการ

“คดีแพ่งเราต้องการให้รัฐชดเชยเยียวยาให้กับเรา เวลาที่ประชาชนจะเรียกร้องให้รัฐชดเชยเยียวยาค่าเสียหายโดยปกติคือคดีความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ไปทำการละเมิดประชาชน เช่นประมาทเลินเล่อ ไม่ควบคุมคลัสเตอร์ให้ดีทำให้เกิดการแพร่เชื้อให้กับชุมชนแบบนี้สามารถฟ้องได้ หรือออกมาตรการโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบในเชิงธุรกิจ ยกตัวอย่างอเมริกาที่ออกมาตรการแบบกวาดกองโดยไม่ดูว่ามาตรการนั้นๆ เหมาะสมกับแต่ละธุรกิจหรือไม่

“มันมีข้อกฎหมายอยู่ว่าความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่เกิดจากการใช้อำนาจ พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เขียนว่าให้ฟ้องหน่วยงาน ห้ามฟ้องตัวเจ้าหน้าที่ สำหรับวันนี้ถ้าจะฟ้อง ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) ศบค. ไม่มีสิทธิ์สถานะที่จะลงมารับผิดตรงนี้ได้ต้องไปฟ้องกระทรวงการคลัง เพราะข้อกฎหมายบอกว่าองค์กรใดไม่ได้สังกัดส่วนราชการไหนเป็นการเฉพาะ ส่วนราชการที่รองรับต้องรับผิดก็คือกระทรวงการคลัง ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ศบค. ไม่ได้เกิดขึ้นในสถานการณ์ปกติ ไม่ได้สังกัดกระทรวงใดโดยเฉพาะ นายกฯ ตั้งขึ้นมาเอง

“แต่ถ้าเป็นระดับเล็กๆ ระดับจังหวัด ศูนย์โควิดระดับจังหวัด หรือเป็นมาตรการที่ออกโดย กทม. ออกโดยผู้ว่าราชการจังหวัด พวกนี้ให้ฟ้องไปยังหน่วยงานที่คนใช้อำนาจนั้นสังกัดอยู่ เช่น ผู้ว่า กทม. ออกมาตรการให้ฟ้อง กทม. ในฐานะนิติบุคคล เพราะว่าแนวคิดของพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่เวลาที่เจ้าหน้าที่ทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่เขาให้หน่วยงานออกมารับหน้าก่อน ส่วนเจ้าหน้าที่คนนั้นจะต้องรับผิดหรือไม่จากการที่ตนได้ทำงานนั้นว่าไปในส่วนของหน่วยงานนั้น เป็นความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานกับตัวเจ้าหน้าที่ ในสถานการณ์ที่หน่วยงานจะต้องควักเนื้อจ่ายให้กับประชาชนถ้าประชาชนชนะ เจ้าหน้าที่จะต้องรับผิดมาชดใช้ให้กับหน่วยงานหรือไม่ กฎหมายก็มีหลักอยู่ว่าเจ้าหน้าที่ที่ต้องชดใช้คืนกลับให้หน่วยงานต้องจงใจใช้อำนาจนั้นละเมิดประชาชนหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง”

อานนท์ตั้งข้อสังเกตว่า

“ประเด็นที่มีคนพูดเสมอมาว่าถ้าเป็นเช่นนี้เราจะมีปัญหาเรื่องภาระทางการคลังหรือไม่ แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่เรายังไม่รู้ว่าตัวเลขจะเป็นจำนวนเท่าไหร่ เพราะวันนี้เรายังไม่เคยเห็นคดีที่ประชาชนฟ้องร้องรัฐแล้วชนะเลยในสถานการณ์โควิด เพราะฉะนั้นข้อกังวลก็มีเหตุมีผล แต่ผมเกรงว่ามันจะเป็นการตีตนไปก่อนไข้แล้วเป็นข้อที่ไปโน้นน้าวให้องค์กรตุลาการมีข้อกังวลที่จะต้องตัดสินให้รัฐต้องรับผิด แต่ผมคิดว่าอย่าเพิ่งคิดตรงนั้น เรามองในแง่ของความเป็นธรรมก่อนดีกว่า เพราะเรื่องการคลังภาครัฐมันมีวิธีแก้ไขและเยียวยาได้เสมอ รัฐมีทางหาเงินอยู่แล้ว”

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้ตัดสิทธิ์ประชาชนในการฟ้องร้อง

ประเด็นที่อานนท์ย้ำให้ตระหนักคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้ตัดสิทธิ์ประชาชนในการฟ้องร้องคดีอาญา และแม้จะตัดอำนาจศาลปกครองออกไปก็ยังสามารถฟ้องคดีแพ่งได้ เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปกป้องแบบมีเงื่อนไข

“คำว่าปกป้องต้องพูดให้ชัดหมายถึงปกป้องผู้ใช้อำนาจหรือเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นคนสั่งหรือคนถูกสั่ง ไม่ได้ปกป้องรัฐในฐานะสถาบันการเมือง ไม่ได้ปกป้องตัวหน่วยงานที่เป็นนิติบุคคลที่จะต้องรับผิดชอบในการชดใช้เยียวยา แต่ปกป้องเจ้าหน้าที่ในฐานะผู้ปฏิบัติงาน เป็นการปกป้องแบบมีเงื่อนไข เป้าประสงค์ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่ถูกสั่งให้ต้องปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉินกล้าที่จะตัดสินใจใช้กฎหมายซึ่งเป็นยาแรง แม้ว่ากฎหมายนั้นจะไปกระทบกับประชาชน จึงเขียนเงื่อนไขให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และวินัย ถ้าตนเองสุจริตไม่เลือกปฏิบัติ แล้วก็มีอีกอันหนึ่งในมาตรา 17 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น ถ้าประชาชนพิสูจน์ได้ว่ามันไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของการปกป้อง อย่างนี้ประชาชนชนะ

“พูดง่ายๆ คือถ้าเจ้าหน้าที่ลุแก่อำนาจ ใช้อำนาจโดยไม่มีสติปัญญา ไม่มีการใช้เหตุผล ยังคงดื้อรั้นดันทุรังออกมาตรการทั้งที่เห็นว่าวิธีการแบบนั้นมีปัญหา โดยส่วนตัวผมเห็นว่าเจ้าหน้าที่ยากที่จะอ้างข้ออ้างดังกล่าว มันมีช่องทางอยู่ เพียงแต่ว่าเรามักจะถูกวาทกรรมบางอย่างว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุ้มครองเจ้าหน้าที่ ผมขอยืนยันว่า พ.ร.บ.ฉุกเฉิน ไม่ได้ทำให้รัฐปราศจากการรับผิด”

อานนท์กล่าวปิดท้ายว่าเขาสนับสนุนให้ประชาชนฟ้องร้องรัฐ

.......

อย่างไรก็ตาม การฟ้องร้องรัฐและเจ้าหน้าที่จากการบริหารงานที่ผิดพลาดจะมีความเป็นไปได้ในทางกฎหมายที่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ในความเป็นจริงคงไม่ง่ายอย่างนั้น อันเนื่องมาจาก 2 ส่วน ส่วนแรก ถ้าใช้ถ้อยคำของอานนท์ ประชาชนยังกลัวที่จะฟ้องร้องรัฐและเจ้าหน้าที่ กับส่วนที่ 2 วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด (Impunity) ที่ปกป้องรัฐไม่เคยให้ต้องรับผิดใดๆ และตัวรัฐเองก็ไม่เคยยอมรับว่าตนผิด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท